สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เอสเอ็มอีมือโปร:ตัวจริงและตัวสำรอง

จาก โพสต์ทูเดย์

การมีผู้เล่นตัวจริงที่เก่ง และออกหน้าได้ดี เป็นเรื่องสำคัญสำหรับองค์กร แต่ถ้าจะดีกว่านั้น ก็ต้องมีทีมสำรอง หรือทีมสนับสนุนที่ดีพร้อมด้วย

โดย...อานนท์

ก่อนที่จะลงมือเขียนบทความเรื่องนี้ ผมนั่งดูการถ่ายทอดฟุตบอลทางโทรทัศน์อยู่ครับ แล้วก็นึกขึ้นมาได้ว่า เกมฟุตบอล หรือจะว่าไป เกมกีฬาต่างๆ มีลักษณะคล้ายกับการประกอบธุรกิจอยู่มากทีเดียว โดยเฉพาะการเล่นในระบบทีม และสิ่งที่เรียกว่า ทีมเวิร์ก
สิ่งหนึ่งที่เราเห็นได้ชัดเจนจากการเล่น กีฬาประเภททีมก็คือ ทุกชนิดกีฬามีสิ่งที่เราเรียกกันว่า “ตัวจริง” และ “ตัวสำรอง”

หรือแม้แต่ในกีฬาที่เป็นการเล่นเดี่ยว เช่น มวย เทควันโด แบดมินตัน ฯลฯ เราก็คงทราบกันดีเป็นการทั่วไปว่าจะต้องมีสิ่งที่เรียกว่า “คู่ซ้อม”

อันว่า “ตัวสำรอง” และ “คู่ซ้อม” นี่เองครับที่ผมอยากนำมากล่าวถึงในวันนี้

ก่อนจะไปถึงเรื่องที่ผมกำลังจะกล่าวถึง ผมขอให้เราลองมองภาพไปที่องค์กรธุรกิจก่อนนะครับ โดยมากแล้ว ตำแหน่งที่ถูกจับตามอง และมีค่าตอบแทนพิเศษให้ มักจะเป็นฝ่ายขาย ซึ่งผมขอยกมาเป็นตัวอย่างสำหรับวันนี้

หากเรากำลังมององค์กรธุรกิจแห่งหนึ่ง ที่มีฝ่ายขายอันทรงประสิทธิภาพ ด้วยระบบที่เอื้ออำนวยให้พนักงานฝ่ายขายได้ทำงานกันอย่างเต็มกำลังความ สามารถ นั่นคือ ระบบเงินเดือน บวกค่าคอมมิชชัน ซึ่งโดยทั่วไปแล้วเป็นระบบที่จูงใจให้พนักงานขายขยันทำงาน เพราะยิ่งขายได้มาก ก็ยิ่งได้ค่าคอมมิชชันมาก

ในกรณีอย่างนี้ ผมอยากเรียกพนักงานฝ่ายขายเหล่านี้ว่า “ตัวจริง” นั่นหมายถึง เป็นผู้ที่ถูกฝึกปรือมาอย่างเชี่ยวชาญ เพื่อให้เป็นผู้ออกสู่สมรภูมิแห่งการค้า เป็นเหมือนตัวแทนพนักงานทั้งหมด เป็นตัวแทนองค์กร ที่จะทำให้การขายประสบผลสำเร็จ ซึ่งหมายถึงการนำเงินเข้าสู่บริษัท พนักงานตัวจริงเหล่านี้จึงเป็นด่านหน้าที่จะทำให้องค์กรอยู่รอดได้ด้วยการ เป็นผู้หารายได้ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ตัวจริงเหล่านี้|เป็นผู้เล่นที่สำคัญขององค์กร

แต่จะสำคัญที่สุดหรือไม่ เราต้องมาดูกัน

ย้อนกลับไปที่การชกมวย หากเรามีนักมวยที่หมัดหนักขยันชก แถมมีความสามารถในการหลบหลีกเป็นเยี่ยม แค่นั้นไม่เพียงพอต่อการคว้าเข็มขัดแชมป์หรอกครับ เพราะหากไม่มีคู่ซ้อม นักมวยสุดอัจฉริยะของเราก็จะได้แต่ชกลมวืดวาด หรือชกกับกระสอบทราย ที่ไม่สามารถช่วยฝึกทักษะในการ|หลบหลีก ไม่สามารถสร้างปฏิกิริยาตอบสนองได้เหมือนการมีคู่ซ้อมที่เสมือนเป็นคู่ชกใน สังเวียนจริงๆ ฯลฯ

ด้วยประการต่างๆ เหล่านี้ เราเห็นชัดแล้วว่า ไม่มีนักมวยระดับแชมป์คนไหนที่จะสามารถไต่เต้าไปคว้าเข็มขัดในฐานะผู้ชนะบน เวทีผ้าใบได้ หากไม่มีองค์ประกอบเบื้องหลัง ที่เราเรียกว่า “คู่ซ้อม”

เมื่อมองลึกลงไป องค์ประกอบของชัยชนะยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกครับ เช่น พี่เลี้ยง ผู้ให้น้ำ เทรนเนอร์ผู้ช่วยฝึกฝน หรือในกรณีของนักมวยเด่นๆ ในหลายๆ ประเทศ ยังมีตำแหน่งอื่นๆ อีก เช่น นักโภชนาการที่ดูแลเรื่องอาหารการกิน เป็นต้น

รวมความแล้ว เบื้องหลังในการคว้าแชมป์ยังมีผู้เกี่ยวข้องอีกหลายคน แต่เรามีพระเอกที่ออกหน้าชัดๆ เพียงคนเดียว ที่จะได้รับไปหมด ทั้งเงินทอง ชื่อเสียง เกียรติยศ แต่เชื่อเถอะครับว่า พระเอกคนนี้ไม่สามารถฝึกตามลำพังได้ ไม่สามารถขึ้นชกเพียงคนเดียวโดยไม่มีทีมงานสนับสนุนได้ ดังนั้นทีมงานผู้อยู่เบื้องหลังอื่นๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญ

เช่นเดียวกับกีฬาระบบทีม ลองนึกภาพว่า หากเรากำลังแข่งขันฟุตบอลด้วยนักค้าแข้งตัวจริง 11 ตัวหลักที่เก่งกันทุกคน แล้ววันหนึ่งนักเตะตัวเก่งคนหนึ่งเกิดบาดเจ็บ หรือมีเหตุให้ไม่สามารถลงเตะได้ เราจะทำอย่างไรหากไม่มีตัวสำรอง เราก็ต้องเล่นต่อแบบ 10 คน แล้วเสียเปรียบคู่ต่อสู้น่ะซิครับ ดังนั้นตัวสำรองจึงเป็นส่วนสำคัญที่จะเติมเต็มทีม และทำให้เกิดเป็นทีมเวิร์กที่สำคัญ

ทั้งหมดที่ผมกล่าวมานี้ เพราะจะบอกกับทุกท่านว่า ทุกเกมกีฬา ทุกเกมธุรกิจ เรามีตัวจริงที่ออกหน้าไปทำสงครามการค้า แต่เราจะต้องมีทีมระวังหลัง ทีมสนับสนุน ทีมสำรองที่ครบพร้อมด้วย ผู้เล่นตัวจริงจึงจะออกศึกได้อย่างพรั่งพร้อม และในขณะเดียวกันผู้เล่นตัวจริงก็จะต้องหันมามอง และเข้าใจคนอื่นๆ ในทีมด้วยว่า เพื่อช่วยให้ตัวจริงได้เจิดจ้าในสนามรบแล้ว ยังมีไพร่พลอื่นๆ ข้างหลังอีกมากแค่ไหนที่ต้องร่วมมือกัน

ย้อนกลับไปที่ฝ่ายขายซึ่งผมยกมาเป็นตัวอย่าง หากเราต้องการให้มีฝ่ายขายที่ดีไปออกหน้า เราก็จะต้องมีทีมสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นการผลิตสินค้าที่ดีพร้อม ตัวอย่างสินค้าที่มีให้หยิบไปนำเสนอลูกค้าได้เสมอ พนักงานธุรการที่จะช่วยทำเอกสารเสนอขาย เอกสารสรุปยอด และที่สำคัญคือ เอกสารเพื่อเบิกค่าคอมมิชชัน ซึ่งหากไม่มีพนักงานธุรการ ฝ่ายขายก็ไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

การมีผู้เล่นตัวจริงที่เก่ง และออกหน้าได้ดี เป็นเรื่องสำคัญสำหรับองค์กร แต่ถ้าจะดีกว่านั้น ก็ต้องมีทีมสำรอง หรือทีมสนับสนุนที่ดีพร้อมด้วย และเป็นหน้าที่ของผู้บริหาร ที่จะต้องให้ทีมทั้งหมดนี้เล่นเกมการค้าให้ “เข้าขา” กัน ไม่ปัดแข้งปัดขากันเอง จึงจะสามารถนำชัยชนะมาสู่องค์กรได้ครับ

view