สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

จากปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง กรีกโบราณ ถึงเศรษฐศาสตร์สังคมนิยมของมาร์กซ์

คัดลอกจาก เวปไซต์ นิด้า MBE11


จากปรัชญา "เศรษฐกิจพอเพียง" กรีกโบราณ ถึงเศรษฐศาสตร์สังคมนิยมของมาร์กซ์ (1)

คนแคระบนบ่ายักษ์ : แพทย์ พิจิตร  มติชนรายสัปดาห์  วันที่ 05 ตุลาคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 27 ฉบับที่ 1416

ความสำคัญและคำอธิบายเรื่อง "เศรษฐกิจพอเพียง" ในปรัชญาการเมืองตะวันตก (1)

เมื่อสองสัปดาห์ที่แล้วได้เล่าถึงเงื่อนไขของ การเป็นประชาธิปไตยที่ดีในความคิดของรุสโซ นักปรัชญาการเมือง แห่งศตวรรษที่สิบแปด เงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้เรามีประชาธิปไตยที่ดีได้คือ ผู้คนในสังคมจะต้องมีชีวิตเรียบง่ายพอเพียง และมีศีลธรรม เพื่อป้องกันไม่ให้มีการมุ่งหาประโยชน์ทางการค้าธุรกิจมากเกินไป อันจะนำไปสู่ความขัดแย้งกันและกัน

ความข้อนี้เข้าใจได้ไม่ยากเลย เพราะการมีวิถีชีวิตที่เรียบง่ายของผู้คนโดยทั่วไป ย่อมทำให้สังคมไม่เหลื่อมล้ำจนเกินไป เมื่อไม่สถานะไม่แตกต่างกันมากนัก ก็พอจะคุยกันรู้เรื่องได้ไม่ยาก เพราะคนที่มีฐานะไม่ต่างกันย่อมมีแนวโน้มจะเป็นมิตรกันได้ง่าย

ขณะเดียวกัน ความเรียบง่ายของชีวิตย่อมนำมาซึ่งการมีศีลธรรมในตัวมันเองอยู่แล้ว เมื่อใช้ชีวิตอย่างพอเพียง ก็คงไม่ต้องแก่งแย่งกันและกัน การมีสถานะทางเศรษฐกิจที่ไม่แตกต่างกันมาก ย่อมทำให้สังคมไม่มีปัญหาเรื่องความเสมอภาค ในเรื่องสถานะทางสังคม เศรษฐกิจและโอกาสต่างๆ เพราะถ้ามีความเหลื่อมล้ำกันมาก ก็ยากที่ผู้คนจะเสมอภาคกันในเรื่องสิทธิ และอำนาจทางการเมืองได้ รุสโซยืนยันว่า สังคมที่จะเป็นประชาธิปไตยที่ดีได้ จะต้องไม่เป็นสังคมฟุ้งเฟ้อ เพราะความฟุ้งเฟ้อเป็นผลจากความมั่งคั่ง ทำให้ความมั่งคั่งกลายเป็นเรื่องจำเป็นในชีวิตไปเสีย ความฟุ้งเฟ้อทำให้ทั้งคนรวยและคนจนเสียคน! เพราะความฟุ้งเฟ้อทำให้ทั้งคนรวย และคนจน ตกเป็นทาสของค่านิยมในวัตถุและความอวดมั่งอวดมี

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า เงื่อนไขสำคัญของสังคมที่จะเป็นประชาธิปไตยที่ดีได้คือ ความพอเพียงทางเศรษฐกิจ หรือ "เศรษฐกิจพอเพียง" นั่นเอง สังคมที่ผู้คนมีแต่ความทะยานอยากไม่มีที่สิ้นสุดย่อมยากที่จะธำรงไว้ซึ่ง สิทธิเสรีภาพอันเท่าเทียมกัน และประชาธิปไตยก็จะกลายเป็นเพียงเครื่องมือ และข้ออ้างของชนชั้นที่มีทรัพย์เอาไว้สร้างความชอบธรรม ในการตักตวงหาผลประโยชน์ใส่ตัวและพวกพ้องอย่างไม่รู้จักอิ่มจักพอ

เศรษฐกิจพอเพียงจึงเป็นรากฐานสำคัญสำหรับ ประชาธิปไตยที่ดี ดังนั้น ถ้าจะพัฒนาประชาธิปไตยให้เข้มแข็งมั่นคงยั่งยืน ก็ต้องพัฒนาควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมภายใต้หลักการเศรษฐกิจพอเพียงไปพร้อมๆ กันด้วย

กระนั้น รุสโซก็มิได้สาธยายขยายความถึงนัยความหมายของ "เศรษฐกิจพอเพียง" ไว้ในหนังสือของเขาเท่าไรนัก แต่เมื่อนึกทบทวนดูว่า จะมีนักคิดนักปรัชญาการเมืองตะวันตกท่านใด ที่พอจะกล่าวถึงเรื่องนี้ให้เข้าใจกระจ่างมากขึ้น จนเรียกได้ว่าเป็น "ปรัชญาแห่งเศรษฐกิจพอเพียง" ก็พบว่า เซโนฟอน (Xenophon) นักคิดกรีกโบราณแห่งนครเอเธนส์ ผู้มีชีวิตอยู่ในช่วงศตวรรษที่สี่ก่อนคริสตกาลได้เขียนหนังสือชื่อ "Oeconomicus"

ซึ่งกล่าวได้เลยว่าเป็นตำราสำคัญเล่มแรกของ ตะวันตกที่กล่าวถึงปรัชญาแห่งเศรษฐกิจพอเพียง

หลายคนแปลความคำว่า "Oeconomicus" ของเซโนฟอนว่าหมายถึง "เศรษฐกิจครัวเรือน" และตีความอย่างคับแคบว่า หนังสือเล่มนี้ต้องการพูดเพียงเรื่องกิจการครัวเรือน ซึ่งเป็นเรื่องส่วนตัว (private) ของแต่ละคนหรือแต่ละครัวเรือน โดยมุ่งสู่การหากำไรและประโยชน์ส่วนตัวหรือเห็นแก่ตัว

แต่ถ้าพิจารณาให้ดีแล้ว เราปฏิเสธไม่ได้ว่าเศรษฐกิจครัวเรือนนั้น เมื่อประกอบรวมกันแล้ว ย่อมเป็นรากฐานสำคัญของบ้านเมือง อีกทั้งยังทำหน้าที่ในการผลิตซ้ำของประชากรพลเมืองทั้งมวลด้วย

ดังนั้น การสร้างความเข้มแข็งให้กับครัวเรือนแต่ละครัวเรือนก็ย่อมส่งผลให้บ้านเมือง ที่มีเสถียรภาพและแข็งแกร่งตามมา และด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้แนวคิดเรื่องเศรษฐกิจครัวเรือน หรือการจัดการกับฐานะทรัพย์สินของครัวเรือน ของเซโนฟอนแยกไม่ออก จากเสถียรภาพ และความมั่นคงของบ้านเมือง

และแน่นอนย่อมแยกไม่ออกจากประเด็นทางจริยธรรม การเมืองและปรัชญาด้วย

ข้อเขียนดังกล่าวของเซโนฟอนเริ่มต้นด้วยการบอก เราว่า เราควรที่จะต้องตอบคำถามพื้นฐานให้ได้เสียก่อนว่า "อะไรที่ถือได้ว่าเป็นทรัพย์?" เพราะถ้าเราไม่รู้ว่าทรัพย์คืออะไร? หรืออะไรที่เป็นทรัพย์? เราก็คงไม่สามารถบริหารจัดการเศรษฐกิจได้ ไม่ว่าจะในระดับครัวเรือนหรือในระดับที่กว้างขวางกว่าครัวเรือน นิยามความหมายของทรัพย์ที่เซโนฟอนเขียนไว้คือ "อะไรก็ตามที่คนๆ หนึ่ง มี ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน แม้ในเมืองอื่นก็ตาม ย่อมเป็นส่วนหนึ่งของทรัพย์ของเขา"

เมื่อฟังดูแล้ว หลายคนคงคิดว่า ไม่เห็นจะมีอะไรแปลกประหลาดพิสดาร และดูจะเป็นนิยามที่ง่ายดายเกินไปเสียด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ตาม เรื่องความเข้าใจเรื่องทรัพย์มันกลับไม่ได้จบลงอย่างง่ายดาย เพราะเซโนฟอนได้ตั้งประเด็นต่อไปว่า เมื่อทรัพย์สินถูกนิยามไว้อย่างกว้างๆ ว่าคือ "อะไรก็ตามที่คนๆ หนึ่ง มี" เราควรที่จะต้องตรวจสอบว่า นิยามนี้ถูกต้องเหมาะสมเพียงใด กล่าวคือ จริงหรือที่อะไรก็ตามที่คนๆ หนึ่ง มี ควรถูกถือว่าเป็นทรัพย์สินของคนๆ นั้นทั้งหมด? เพราะสิ่งต่างๆ ที่เรามีไว้ในครอบครอง แต่ไม่ได้เป็นประโยชน์อะไรแก่เรา สิ่งของเหล่านั้นยังจะเรียกว่าเป็นทรัพย์อยู่หรือไม่?

เช่น สมมุติว่า "ชายคนหนึ่งซื้อม้ามาตัวหนึ่ง แต่ขี่ไม่เป็น ตกม้าบาดเจ็บอยู่ตลอดเวลาจากการพยายามที่จะขี่มัน การมีม้ายังถือเป็นว่าทรัพย์สินของเขาอยู่หรือ?" จากตัวอย่างนี้ เห็นได้ว่า ม้าย่อมไม่ใช่ทรัพย์สำหรับคนที่ขี่หรือไม่รู้จักใช้ประโยชน์จากการมีม้า

เซโนฟอนชี้ให้เราเห็นว่า ปัญหาดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการที่เราคิดและเชื่อตามนิยามที่ว่า สิ่งต่างๆ ที่คนๆ หนึ่ง มี ย่อมจะต้องเป็น ทรัพย์ ของคนๆ นั้นเสมอ

แต่ปัญหานี้จะหมดไป ถ้าเราเพิ่มเงื่อนไขเข้าไปเสียหน่อยว่า "ไม่ใช่ว่าอะไรที่คนๆ หนึ่ง มี จะเป็น ทรัพย์ สำหรับเขาเสียทุกอย่างเสมอไป" โดยสิ่งที่จะถือว่าเป็นทรัพย์ได้ จะต้องเป็นสิ่งที่ให้ผลประโยชน์ (profitable) แก่ผู้ที่ครอบครองสิ่งนั้น ส่วน "อะไรที่ให้ผลร้ายเป็นอันตรายต่อผู้ครอบครอง ย่อมไม่อาจถือว่าเป็น ทรัพย์ แต่มันน่าจะเป็นความเสียหายมากกว่าจะเป็นโภคทรัพย์"

เพราะอะไรที่เป็นโภคทรัพย์จะต้องเป็นสิ่งที่ดี ที่ให้ผลประโยชน์แก่ผู้ครอบครอง ไม่ใช่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนเสียหาย

ด้วยเหตุผลและวิธีคิดดังกล่าวนี้เอง เมื่อนำมาปรับใช้ในกรณีของที่ดินแลข้าวของอื่นๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่โดยปรกติคนทั่วไปทุกหนแห่งย่อมเข้าใจและยืนยันอย่างแน่นอน มั่นใจว่าเป็นทรัพย์สินหรืออสังหาริมทรัพย์

แต่ถ้าเรามองทรัพย์สินตามนัยความหมายนิยามที่ พัฒนามาจากข้อเขียนของเซโนฟอน จะพบว่า "ที่ดินย่อมไม่ใช่โภคทรัพย์ (wealth) สำหรับคนที่ไม่สามารถทำให้มันเกิดผล ที่ดินย่อมไม่ใช่โภคทรัพย์ ถ้ามันกลายเป็นภาระ หรือทำให้เราอดอยาก หรือกลับให้ผลเสียแก่เรา แทนที่จะให้ผลดีเรา" เฉกเช่นเดียวกับที่เซโนฟอนเขียนไว้ว่า "ถ้าใครมีแกะ แต่ไม่รู้วิธีเลี้ยงแกะ แกะก็ไม่เป็นโภคทรัพย์ สำหรับคนๆ นั้น"

ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า "อะไรที่คนๆ หนึ่งมี และให้ผลให้คุณคือ โภคทรัพย์ ส่วนอะไรที่คนๆ หนึ่ง มี แต่ให้ผลเสียเป็นอันตราย ไม่ใช่โภคทรัพย์"

จากที่กล่าวมานี้ ถ้าพิจารณาจากผู้คนทั่วไป เราย่อมทราบว่า คนเรามีความแตกต่างกัน มีความรู้ความสามารถต่างกัน และมีอะไรๆ อีกหลายๆ อย่างที่ต่างกันมากมาย และด้วยเหตุนี้เองที่ "สิ่งหนึ่งๆ จึงสามารถเป็นและไม่เป็นโภคทรัพย์ได้ ขึ้นอยู่กับว่าใครสามารถที่จะมีความรู้ความเข้าใจที่จะใช้มันให้เป็น ประโยชน์ได้หรือไม่" ตัวอย่างเช่น ในกรณีของเครื่องดนตรี เช่น ฟลูท (flute) "คนที่เป่าเป็น ฟลูทก็ย่อมถือเป็นโภคทรัพย์สำหรับเขา"

กระนั้น ปัญหาข้อสงสัยประการหนึ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ ในขณะที่คนๆ หนึ่งยังเป่าฟลูท ไม่เป็น แต่ซื้อมันมาเพื่อหัดเป่า ซึ่งในเบื้องต้น ย่อมจะยังไม่ทราบว่า ในที่สุดแล้ว เขาจะสามารถเป่ามันได้หรือเปล่า? ในกรณีนี้ ฟลูต จะถือว่าเป็นโภคทรัพย์สำหรับเขาคนนั้นหรือไม่? ถ้าเราถือว่าสิ่งหนึ่งไม่อาจเป็นโภคทรัพย์ได้ ถ้าผู้ครอบครองมันยังไม่สามารถใช้ประโยชน์จากมันได้ เขาย่อมไม่สมควรมีสิ่งนั้น เพราะมันไม่อาจถือว่าเป็นโภคทรัพย์สำหรับเขาได้

แต่ขณะเดียวกัน ถ้าไม่ซื้อหามาครอบครองทดลองฝึกหัด เขาก็ไม่มีวันที่จะใช้มันเป็น และ ฟลูต ก็ไม่มีวันที่จะเป็นโภคทรัพย์ได้เลย หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ในบางกรณี เราไม่มีทางที่จะรู้ว่า สิ่งๆ หนึ่งจะเป็นโภคทรัพย์หรือไม่ จนกว่าจะซื้อหามันมาครอบครองเสียก่อน เช่นเดียวกับ ความรู้ต่างๆ มันจะเป็นโภคทรัพย์หรือไม่ ก็ต่อเมื่อเรารู้จักใช้มันให้เป็นประโยชน์ แต่เราจะรู้ว่าเราสามารถใช้มันได้หรือไม่ ก็จนกว่าเราจะต้องเข้าไปเรียนรู้เสียก่อน

ต่อประเด็นปัญหาดังกล่าวนี้ เซโนฟอนได้ชี้ให้เห็นว่า โดยปรกติ คนส่วนใหญ่มักจะหาทางออกจากปัญหาดังกล่าวโดย "การขาย" นั่นเอง คนส่วนใหญ่ย่อมคิดว่า "สำหรับสิ่งของอะไรที่คนที่ใช้ไม่ได้หรือใช้ไม่เป็น อย่างน้อย ถ้ามันเป็นสิ่งที่สามารถนำไปขายได้ ก็น่าจะยังคงเป็นประโยชน์อยู่ดี" นั่นคือ สิ่งของต่างๆ ที่คนๆ หนึ่งมี แม้ว่าจะใช้ประโยชน์จากมันโดยตรงไม่ได้ แต่ถ้าขายได้ สิ่งนั้นก็น่าจะเป็นประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการซื้อขาย

ด้วยเหตุนี้ คนส่วนใหญ่จึงเชื่อว่า สิ่งของอะไรก็ตาม "หากใช้ไม่เป็น ไม่เป็นไร แต่ถ้าสิ่งนั้นนำไปขายได้ สิ่งนั้นก็ถือว่าเป็นโภคทรัพย์ได้อยู่ดี"

กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ของที่แต่ละคนมีอยู่ ย่อมเป็นประโยชน์เสมอ ถ้าสามารถนำมาขายหรือพยายามขายให้ได้ นั่นคือ พยายามทำให้มันเป็นสิ่งที่มีคุณค่าหรือเป็นที่ต้องการในสังคมขึ้นมา หรือถ้ากล่าวในสำนวนสมัยใหม่ก็คือ "แปลงสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ (หรือเป็นประโยชน์ไม่มากนักสำหรับผู้ครอบครอง) ให้เป็นสิ่งที่ขายได้-สินทรัพย์- และแปลงสินทรัพย์ดังกล่าวให้เป็นทุน" นั่นเอง

นี่ดูจะเป็นความเข้าใจของคนส่วนใหญ่ในสังคมต่อ ความหมายของ "ทรัพย์" และดูเหมือนว่า ไม่ว่าจะเป็นคนในสังคมยุคใดสมัยใดเสียด้วย โดยเฉพาะสังคมที่รู้จักการใช้เงินตราและการแลกเปลี่ยนซื้อขาย ขณะเดียวกันหลายคนก็คงจะรู้สึกคุ้นเคยกับข้อความดังกล่าวในย่อหน้าท้ายสุด นี้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะภายใต้แนวนโยบายเศรษฐกิจของอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ที่ต้องการขายทุกอย่างเท่าที่จะขายได้

ซึ่งเซโนฟอนได้วิพากษ์ทัศนะดังกล่าวในเรื่อง ทรัพย์หรือความมั่งคั่งไว้อย่างน่าสนใจ อันจักได้กล่าวเพิ่มเติมในตอนต่อไป


ความสำคัญและคำอธิบายเรื่อง"เศรษฐกิจพอ เพียง" ในปรัชญาการเมืองตะวันตก (2)

คนแคระบนบ่ายักษ์ : แพทย์ พิจิตร  มติชนรายสัปดาห์  วันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 27 ฉบับที่ 1419

ปราชญ์กรีกโบราณที่ชื่อ เซโนฟอน ได้เขียนหนังสือ Oeconomicus ไว้เมื่อสองพันสี่ร้อยกว่าปีที่แล้ว เป็นข้อเขียนที่ว่าด้วยเรื่องเศรษฐกิจครัวเรือน ลักษณะและวิธีการนำเสนอถือได้ว่า เป็นงานเขียนทางปรัชญาเศรษฐศาสตร์ชิ้นแรกของโลกตะวันตกเลยก็ว่าได้ เซโนฟอนเสนอในขั้นต้นไว้ว่า สิ่งที่แต่ละคนมีหรือครอบครอง ไม่สามารถถือได้ว่าเป็นทรัพย์หรือการแสดงถึงความมั่งคั่งของคนคนนั้นเสมอไป เพราะสิ่งที่แต่ละคน "มี" แต่ไม่ก่อให้เกิดคุณประโยชน์ใดๆ ซ้ำร้ายยังเป็นโทษเสียอีก สิ่งที่มีนั้นย่อมไม่ถือเป็นทรัพย์ได้

แต่กระนั้น เซโนฟอนก็เขียนให้ตัวละครตัวหนึ่งใน Oeconomicus โต้แย้งว่า สิ่งที่เราครอบครอง แม้ว่าจะไม่เป็นคุณประโยชน์สำหรับเรา เช่น เรามีม้า แต่ขี่ไม่เป็น ดูแลก็ไม่เป็น ใช้ประโยชน์จากมันก็ไม่เป็น แต่เราย่อมเอาม้าไปขายได้ ดังนั้น สิ่งที่เรามีในครอบครอง แม้ไม่เป็นประโยชน์ใดๆ แต่ถ้าหากทำให้มันเป็นสินค้าที่ขายได้ ก็ย่อมเป็นทรัพย์และความมั่งคั่งสำหรับเราเสมอ

"กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ของที่แต่ละคนมีอยู่ ย่อมเป็นประโยชน์เสมอ ถ้าสามารถนำมาขายหรือพยายามขายให้ได้ นั่นคือ พยายามทำให้มันเป็นสิ่งที่มีคุณค่าหรือเป็นที่ต้องการในสังคมขึ้นมา หรือถ้ากล่าวในสำนวนสมัยใหม่ก็คือ "แปลงสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ (หรือเป็นประโยชน์ไม่มากนักสำหรับผู้ครอบครอง) ให้เป็นสิ่งที่ขายได้"-สินทรัพย์-และแปลงสินทรัพย์ดังกล่าวให้เป็นทุน" นั่นเอง

และนี่ดูจะเป็นความเข้าใจของคนส่วนใหญ่ในสังคม ต่อความหมายของ "ทรัพย์" และดูเหมือนว่า ไม่ว่าจะเป็นคนในสังคมยุคใดสมัยใดเสียด้วย โดยเฉพาะสังคมที่รู้จักการใช้เงินตราและการแลกเปลี่ยนซื้อขาย ขณะเดียวกัน หลายคนก็คงจะรู้สึกคุ้นเคยกับข้อความดังกล่าวนี้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะภายใต้แนวนโยบายเศรษฐกิจของอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ต้องการขายทุกอย่างที่ขวางหน้า

ใน Oeconomicus ได้เดินเรื่องต่อไปว่า มีข้อน่าสังเกตอย่างยิ่งจากสิ่งที่กล่าวไปแล้ว ที่ว่า "สำหรับคนที่ใช้อะไรไม่เป็น อย่างน้อย ถ้ามันเป็นสิ่งที่นำไปขายได้ ก็น่าจะยังคงเป็นประโยชน์อยู่ดี" จากข้อความดังกล่าวนี้ นอกจากจะบ่งชี้ในสิ่งที่กล่าวไปในย่อหน้าก่อนนี้แล้ว ยังบ่งบอกถึงสิ่งที่เป็นที่ปรารถนาร่วมกันสำหรับคนทุกคนในสังคม นั่นคือ เงิน และด้วยอานุภาพของเงินนี่เอง ที่ทำให้เกิดกระบวน "แปลงสิ่งที่ไม่ได้มีไว้ขาย ให้กลายเป็นสินทรัพย์สำหรับขายเพื่อให้ได้เงินกลับมา และเงินได้กลายเป็นทรัพย์สินที่เป็นทุนสำคัญ และเป็นสัญลักษณ์แห่งความมั่งคั่ง"

ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า สรรพสิ่งต่างๆ ที่แต่ละคน มี ถือเป็นทุนได้เสมอ ตราบเท่าที่นำไปขายได้ แม้เขาผู้นั้นจะไม่รู้วิธีที่จะใช้ประโยชน์จากมันได้ ก็ถือว่ามันมีประโยชน์ต่อการครอบครอง

เซโนฟอนเดินเรื่องต่อไป โดยให้โสกราติสซึ่งเป็นตัวละครตัวหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่า "แต่ก็ใช่ว่า ทุกคนจะรู้วิธีที่จะขายของ ดังนั้น ประเด็นสำคัญอีกประเด็นคือ ความรู้ในการขายของ หรือรู้จักที่จะขาย"

นัยความหมายของการรู้ที่จะขายก็คือ รู้ว่าจะขายหรือแลกของที่มีอยู่เพื่อที่จะให้ได้มาซึ่งสิ่งที่จะเป็น ประโยชน์แก่เขา "เพราะถ้าขายของไป หรือแลกของไปกับสิ่งที่เขาไม่รู้ว่าจะใช้มันให้เกิดประโยชน์อะไร การขายนั้นก็หาได้แปรเปลี่ยนสิ่งของนั้นให้กลายเป็นโภคทรัพย์ (wealth) ได้"

คำถามสำคัญที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ เงิน คือสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ครอบครองหรือไม่? แค่ไหน? อย่างไร?

คนทั่วไป ทั้งในสมัยกรีกโบราณและในปัจจุบันที่อยู่ภายใต้ระบบเศรษฐกิจที่มีการใช้เงิน ตราแลกเปลี่ยน (cash economy) ย่อมสงสัยว่า จะเป็นไปได้อย่างไรที่จะขายของไปแล้ว ไม่ได้สิ่งที่เป็นประโยชน์กลับมา เพราะอย่างน้อยก็ได้ เงิน และ จะมีหรือ? คนที่ใช้เงินไม่เป็น? นอกเสียจากว่า การใช้เงินเป็นจะแตกต่างจากการใช้เงินซื้อของเป็น และการใช้เงินให้เป็นประโยชน์

เซโนฟอนให้โสกราติสกล่าวว่า "ที่ผ่านมา ท่านก็เห็นด้วยไม่ใช่หรือ ว่าโภคทรัพย์ คือ อะไรก็ตามที่เราสามารถจะได้ประโยชน์จากมัน (profit)" โดยเขายกตัวอย่างขึ้นมาว่า "ถ้าใครคนหนึ่ง ใช้เงินซื้อบริการจากหญิงงามเมือง ที่ทำให้เขาต้องเสียสุขภาพร่างกาย-จิตใจและทรัพย์-เงินที่ใช้ไปจะถือว่าเป็น สิ่งที่ให้ประโยชน์ (profitable) ได้อย่างไร?"

ดังนั้น สำหรับในประเด็นเรื่องเงินนี้ เซโนฟอนเขียนย้ำยืนยันไว้ว่า "เงินจะต้องถูกเก็บไว้ห่างๆ คนที่ไม่รู้จักใช้มัน และไม่ควรจะถูกจัดว่าเป็นโภคทรัพย์ (wealth)" เนื่องจากในระบบเศรษฐกิจแบบเงินตรา (cash economy) เงินสามารถเป็นตัวกลางที่ใช้แลกซื้อสิ่งต่างๆ ได้เกือบทุกอย่าง ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นอะไรก็ตาม มีประโยชน์และไม่มีประโยชน์แก่ผู้ซื้อ แถมยังให้โทษได้อีกด้วย เงินและสิ่งต่างๆ จะเป็นโภคทรัพย์ก็ต่อเมื่อมันให้ประโยชน์ต่อเรา

เฉกเช่นเดียวกับ "มิตร ถ้าเราสามารถใช้ประโยชน์จากเขาได้ ก็ถือว่าเป็นโภคทรัพย์ และฝูงวัวควายสามารถเป็นโภคทรัพย์มากกว่ามิตร หากฝูงวัวควายมีประโยชน์มากกว่า

ดังนั้น ข้อสรุปเบื้องต้นในประเด็น "ทรัพย์คืออะไร? อะไรถือได้ว่าเป็นทรัพย์?" คือ "เงินจะต้องถูกเก็บไว้ห่างๆ คนที่ไม่รู้จักใช้มันและไม่ควรจะถูกจัดว่าเป็นโภคทรัพย์ (wealth)" หรืออีกนัยหนึ่งคือ เงิน เป็นสิ่งที่ให้โทษมากกว่าให้คุณ คนมีเงินไม่จำเป็นต้องหมายความเป็นคนมีทรัพย์หรือเป็นคนที่มีฐานะมั่งคั่ง แต่อย่างใด และแน่นอนว่า นอกจากเงินทองแล้ว ข้าวของเครื่องใช้ ที่ดินและสิ่งอื่นๆ ต่างๆ นานา ไม่จำเป็นจะต้องเป็นทรัพย์สินหรือเครื่องบ่งชี้ความมั่งคั่ง ของฐานะทางเศรษฐกิจของคนเสมอไป หากมันไม่ได้เป็นคุณแก่เรา

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "เงิน" ซึ่งโดยปรกติ คนทั่วไปมักจะเข้าใจว่าเงินคือสัญลักษณ์ของความมั่งคั่งร่ำรวย

นอกจาก เซโนฟอน แล้ว แนวคิดที่ใกล้เคียงกันนี้ยังปรากฏในงานของ อริสโตเติล ผู้เป็นนักคิดที่จัดว่าอยู่ในกลุ่มของ "ผู้รักในปัญญาความรู้" หรือ "philosopher" เช่นเดียวกัน ในข้อเขียนเรื่อง Ethics และ Politics นอกจากอริสโตเติลจะศึกษาวิเคราะห์เรื่องจริยธรรม ชีวิตที่ดีมีสุขและการเมืองอย่างที่ทราบกันแล้ว เขายังได้กล่าวถึงปัญหาเรื่องเงินไว้ด้วย

อริสโตเติล เสนอมุมมองเกี่ยวกับสมรรถนะหน้าที่ที่ถูกต้องของเงินและประโยชน์ของเงินไว้ ใน Politics โดยเขากล่าวถึงสังคมสมัยโบราณในยุคก่อนหน้าเขาว่า

"มีความแตกต่างกันของสิ่งที่ผู้คนต้องนำมาแลก เปลี่ยนกับสิ่งที่พวกเขาต้องการ มันคือการแลกเปลี่ยนข้าวของ (barter) อย่างหนึ่ง ซึ่งยังคงประพฤติปฏิบัติกันอยู่ในหมู่ชนอื่นๆ ที่แลกเปลี่ยนข้าวของที่จำเป็นในการดำเนินชีวิต ตัวอย่างเช่น ให้หรือรับไวน์เพื่อแลกกับเงินเหรียญ เป็นต้น แต่ของจำเป็นสำหรับชีวิตหลายอย่างนั้นไม่สะดวกในการพกพา ดังนั้น ผู้คนจึงตกลงกันที่จะใช้ของบางอย่างที่มีค่าในตัวของมันเอง เพื่อความสะดวกในการประยุกต์ใช้ต่อจุดหมายในการดำเนินชีวิต ในการแลกติดต่อปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันและกัน ตัวอย่างของที่ว่านี้ ได้แก่ เงิน เหล็ก เป็นต้น

สิ่งของเหล่านี้แรกเริ่ม ใช้วิธีการประมาณค่าตามขนาดและน้ำหนัก แต่เมื่อเวลาผ่านไป ก็ได้มีการติดฉลากไว้เพื่อจะได้ไม่ต้องยุ่งยากกับการชั่งและการประมาณค่าของ มัน...ต่อมา คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าความมั่งคั่งหรือโภคทรัพย์วัดกันที่ปริมาณของเหรียญที่ มีเท่านั้น...แต่คนบางกลุ่มก็ยืนยันว่า เงินที่เป็นเหรียญนี้เป็นเพียงของมายา เป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรมชาติ แต่เป็นสิ่งที่ตกลงสมมติกันขึ้นมาเท่านั้น ซึ่งไม่มีคุณค่าหรือมีประโยชน์ใดๆ สำหรับเป้าหมายชีวิตประจำวัน ถ้าสินค้าตัวอื่นถูกแทนที่โดยผู้ใช้จริงๆ แล้ว เขาผู้ซึ่งร่ำรวยเหรียญอาจจะอยู่ในสภาพที่ขาดแคลนอาหารที่จำเป็นต่อชีวิต

เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว การมีเงินจะเป็นโภคทรัพย์ที่คนเราควรมีไว้มากๆ ได้อย่างไร ในขณะที่คนร่ำรวยแบบนี้กลับต้องม้วยมรณาไปด้วยความหิวโหย เหมือนกับนิทานเรื่องไมดาส ที่ละโมบตั้งคำอธิษฐานต่อเทพเจ้าว่า ขอพรให้สรรพสิ่งที่เขาสัมผัสกลายเป็นทองคำทั้งสิ้น"

สมปรารถนา! ไมดาสสัมผัสอะไรก็กลายเป็นทองไปหมด แม้แต่อาหารและน้ำดื่ม! และเขาก็อดตายในที่สุด!

อริสโตเติล ยังพิจารณาถึงวิธีการต่างๆ ในการหาเงิน และได้กล่าวถึงความน่ารังเกียจของการค้ากำไรจากการปล่อยเงินกู้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วไปในสังคมสมัยโบราณ

อริสโตเติล กล่าวว่า "การหาเงินที่น่ารังเกียจที่สุดคือ การปล่อยกู้โดยเก็บดอกเบี้ยอย่างขูดเลือดขูดเนื้อ"

นอกจากการปล่อยกู้เก็บดอกเบี้ยอย่างขูดเลือดขูด เนื้อแล้ว การซื้อขายหุ้น การเก็งราคาสินค้า หรือการหากำไรจากการแลกเปลี่ยนเงินตรา ย่อมไม่ถือเป็นการสั่งสมทรัพย์สินและความมั่งคั่ง อีกทั้งก็น่าจะเป็นพฤติกรรมที่น่ารังเกียจอีกด้วย จากมุมมองทางปรัชญาเศรษฐศาสตร์ของเซโนฟอนและอริสโตเติล เพราะการมีเงิน มีทอง มีหุ้น มีมือถือ และอะไรอีกร้อยแปด ก็อาจอดตายได้!

และจากที่กล่าวมานี้ทำให้นึกถึงคำอมตะของหม่อม เจ้าสิทธิพร กฤดากร ที่ว่า "เงินทองคือมายา ข้าวปลาคือของจริง"




ความสำคัญและคำอธิบายเรื่อง "เศรษฐกิจพอเพียง" ในปรัชญาการเมืองตะวันตก (๓)

คนแคระบนบ่ายักษ์ : แพทย์ พิจิตร  มติชนรายสัปดาห์  วันที่ 02 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 ปีที่ 27 ฉบับที่ 1420

ปรัชญาเศรษฐศาสตร์ของนักคิดกรีกโบราณที่ชื่อ เซโนฟอน (426-355 ก่อนคริสตกาล) ชี้ให้เห็นถึงนิยามความหมายของ "ทรัพย์ความมั่งคั่ง" ว่า สิ่งที่เป็นทรัพย์ไม่ได้หมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่เรามี เพราะสิ่งที่เรามีและคิดว่ามันเป็นทรัพย์ หากไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ ก็หาใช่ทรัพย์ไม่ ไม่ว่าจะเป็นที่ดิน ข้าวของ เครื่องใช้ต่างๆ หากเรามีในครอบครอง แต่ไม่รู้จักใช้ประโยชน์จากมัน มันก็ไม่ใช่ทรัพย์ และมันก็ไม่ได้ทำให้เราร่ำรวยมั่งคั่งแต่อย่างใด

แต่กระนั้น ข้อโต้แย้งที่ตามมาก็คือ แม้ตัวเราเองจะไม่สามารถใช้ประโยชน์จากของบางอย่างที่เรามี----เช่น มีไวโอลิน แต่เล่นไม่เป็น----แต่ไวโอลินตัวนั้น ก็ยังเป็นประโยชน์หรือเป็นทรัพย์สำหรับเราอยู่ดี ถ้าเราขายมันได้ เราก็จะได้เงินมา เมื่อได้เงินมา เราจะเอาเงินไปซื้ออะไรที่เราต้องการ หรือแม้ว่าจะไปซื้อของที่เราใช้ประโยชน์จากมันไม่ได้ แต่ถ้ายังสามารถหมุนเวียนขายมันต่อไปได้ สิ่งของเหล่านั้นก็ย่อมเป็นทรัพย์สำหรับเราอยู่ดี

และที่สำคัญ เหนือข้าวของสิ่งอื่นใด เงิน น่าจะเป็นทรัพย์สมบัติและเครื่องบ่งชี้ความมั่งคั่งที่แท้จริงในทางเศรษฐกิจ เพราะมันเอาไปแลกซื้ออะไรก็ได้ในโลกนี้ เงินย่อมเป็นประโยชน์สำหรับเจ้าของเงินเสมอ ไม่มีใครที่จะไม่รู้จักใช้เงิน

แต่ในปรัชญาเศรษฐศาสตร์ของเซโนฟอนยืนยันว่า "เงินจะต้องถูกเก็บไว้ห่างๆ คนที่ไม่รู้จักใช้มัน และไม่ควรจะถูกจัดว่าเป็นโภคทรัพย์ (wealth)" เนื่องจากในระบบเศรษฐกิจแบบเงินตรา (cash economy) เงินสามารถเป็นตัวกลางที่ใช้แลกซื้อสิ่งต่างๆ ได้เกือบทุกอย่าง ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นอะไรก็ตาม มีประโยชน์และไม่มีประโยชน์แก่ผู้ซื้อ แถมยังให้โทษได้อีกด้วย

ตัวอย่างที่เงินกลับเป็นโทษแก่ผู้ใช้มีมากมาย เริ่มตั้งแต่ เด็กๆ เอาเงินไปซื้อขนมที่ไม่มีประโยชน์อะไรเลย แถมยังทำให้ฟันผุ และยังต้องรับสารชูรสและสารกันบูดเข้าไปในร่างกาย หรือผู้ใหญ่ที่เอาเงินไปซื้อเหล้าดื่มจนเมา แล้วขับรถคว่ำเสียชีวิตทั้งของตนและผู้อื่น ฯลฯ

ขนมถุง : ให้แลกกับส้มซักลูก ก็ไม่เอา! ซาก จากที่เคยคิดว่าเป็นทรัพย์

ดังนั้น เงินและสิ่งต่างๆ จะเป็นโภคทรัพย์ก็ต่อเมื่อมันให้ประโยชน์ต่อเรา เฉกเช่นเดียวกับ "มิตร ถ้าเราสามารถใช้ประโยชน์จากเขาได้ ก็ถือว่าเป็นโภคทรัพย์ และฝูงวัวควายสามารถเป็นโภคทรัพย์มากกว่ามิตร หากฝูงวัวควายมีประโยชน์มากกว่า และจากคำกล่าวของเซโนฟอนที่ว่า "เงินจะต้องถูกเก็บไว้ห่างๆ คนที่ไม่รู้จักใช้มันและไม่ควรจะถูกจัดว่าเป็นโภคทรัพย์ (wealth)"

หรืออีกนัยหนึ่งคือ เงิน เป็นสิ่งที่ให้โทษมากกว่าให้คุณนี้

นับเป็นจุดเริ่มต้นแห่งวิวาทะระหว่างภูมิปัญญา เศรษฐศาสตร์โบราณและภูมิปัญญาเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่ นั่นคือ จากปรัชญาเศรษฐศาสตร์ใน Xenophon"s Oeconomicus ถึง ปรัชญาเศรษฐศาสตร์ใน An Inquiry Into the Nature and Causes of the Wealth of Nations ของ อดัม สมิธ (Adam Smith) และ Capital ของมาร์กซ์ (Marx) ในศตวรรษที่สิบแปด

นอกจากนี้ อริสโตเติลในฐานะที่สังกัดสำนักคิดศิษย์โสกราติส (the Socratics) เช่นเดียวกันกับเซโนฟอน แนวคิดของอริสโตเติลยังเสริมปรัชญาเศรษฐศาสตร์ของเซโนฟอน โดยเขาชี้ให้เห็นว่า เงินทอง เกิดขึ้นมาเพื่อประโยชน์แห่งความสะดวกในการแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้า มิได้หมายจะถือว่ามันเป็นโภคทรัพย์ในตัวของมันเอง

เซโนฟอนและอริสโตเติลเชื่อว่า หลายคนที่บ้าเงินบ้าทอง อาจอดตายได้ เพราะในที่สุด เมื่อไม่มีอาหารการกิน เงินทองที่มีไว้ก็เอามากินแทนข้าวไม่ได้ เปรียบได้กับปรัมปราเรื่องไมดาสราชาผู้โลภมาก ขอพรจากเทพเจ้าว่า ให้สิ่งใดก็ตามที่เขาสัมผัส ขอให้กลายเป็นทอง ในที่สุด ไมดาสก็ต้องอดตาย เพราะแม้แต่ข้าวปลาอาหารน้ำดื่มที่ร่างกายเขาสัมผัสก็กลับกลายเป็นทองไปหมด

ดังนั้น ทรัพย์และความมั่งคั่ง ย่อมไม่ได้หมายถึง ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราสั่งสมครอบครอง และย่อมไม่ใช่เงินด้วย ทรัพย์หมายถึงสิ่งที่เรามีและเป็นประโยชน์ให้ผลดีแก่เราเท่านั้น

เมื่อเราทราบถึงนิยามความหมายของ "ทรัพย์" แล้ว เซโนฟอนก็ดำเนินต่อไปในประเด็น "Oeconomicus" หรือแปลความได้ว่า "เศรษฐกิจครัวเรือน" หรือ "การบริหารจัดการทรัพย์สินครัวเรือน" ซึ่งผู้อ่านคงเข้าใจแล้วว่า ทำไม? เซโนฟอนถึงต้องเริ่มปรัชญาเศรษฐศาสตร์ (หรือ "ปรัชญาที่ว่าด้วยความมั่งคั่ง" ในความเข้าใจของคนสมัยใหม่ที่คิดว่า "เรียนเศรษฐศาสตร์" ไปเพื่อจะได้รู้วิธีบริหารความรวย) จาก "การบริหารจัดการเศรษฐกิจครัวเรือน" เพราะครัวเรือนคือพื้นฐานแรกสุดของสิ่งที่แต่ละคนมีในครอบครอง

และเซโนฟอนต้องการให้เราเริ่มต้นสำรวจว่า "สิ่งที่เรามีในครอบครองนั้น มันเป็นประโยชน์กับเรามากน้อยเพียงไร?.

เซโนฟอนให้ "โสกราติส"-----ผู้ซึ่งเป็นตัวละครในงานเขียนของเขา----เริ่มต้นอธิบายถึง

หลักการพื้นฐานของ "เศรษฐศาสตร์แห่งครัวเรือน" โดยเขายกตัวอย่างเกี่ยวกับการสร้างบ้านว่า

"คนบางคนใช้เงินมากในการสร้างบ้านที่ใหญ่โต หรูหราอย่างไร้ประโยชน์ บางคนสร้างบ้านที่สมบูรณ์ในทุกๆ อย่างแต่ใช้เงินน้อยกว่า"

การสร้างบ้านให้สมบูรณ์ในเชิงประโยชน์ใช้สอยนี้ ถือว่า เป็นหนึ่งในการกระทำที่ทำให้เกิดการจัดการอสังหาริมทรัพย์ (estate management) ของคนเรา และด้วยเหตุผลทำนองเดียวกันกับใช้เงินทองสร้างบ้านใหญ่โตหรูหรา แต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไรได้มากนัก โสกราติสชี้ไปยังอีกประเด็นหนึ่งที่เรามักจะพบได้ แม้แต่ในบ้านของเราเองด้วยซ้ำ นั่นคือ

"คนบางคนมีของมีค่ามากมาย แต่ใช้มันไม่ได้ตามต้องการ และไม่รู้ว่ามันปลอดภัยและดีหรือไม่ และดังนั้น จึงสร้างความกังวลต่อเนื่องไปสู่ผู้อื่น เช่น สร้างความกังวลให้กับคนรับใช้ ในขณะที่คนอื่น แม้ว่าจะมีไม่มาก แต่ก็มีทุกอย่างที่ต้องการ ยามจะใช้ ?"

ผู้อ่านหลายท่านเมื่อได้ฟังก็คงเข้าใจได้ว่า "ในรายของคนที่มีของมากมาย แต่เอาไปเก็บซุกเสียจนไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน ส่วนรายหลัง จัดทุกอย่างในบ้านอย่างเป็นระเบียบ?" รายแรก มีมากก็เหมือนไม่มี ส่วนรายหลัง มีน้อยแต่ใช้ประโยชน์ได้ครบ ก็ถือว่า "มี" มากกว่ารายแรกเสียอีก

ดังนั้น การสร้างบ้านให้ได้ประโยชน์จริงจัง และการ มี ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ที่จัดอย่างเป็นระเบียบถือเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการครัวเรือน

จะเห็นได้ว่า หลักพื้นฐานของเศรษฐกิจกิจพอเพียงของนักปรัชญาการเมืองกรีกโบราณก็คือ ประเด็นแรกของการจัดการครัวเรือนคือ ความเป็นระเบียบของการจัดข้าวของเครื่องใช้ หรือทรัพยากรทั่วไป ซึ่งถือเป็นเรื่องพื้นฐานของความเข้าใจทั่วไปเกี่ยวกับการจัดการดังกล่าว

ต่อมา โสกราติส กล่าวต่อไปอีกว่า "นอกเหนือไปจากนี้ ในบางบ้าน คนใช้ถูกพันธนาการ และพยายามหนีตลอดเวลา อีกบ้านหนึ่ง ไม่ต้องคุมขัง และกลับอยากจะทำงานด้วยซ้ำ อันนี้ก็น่าจะเป็นผลหนึ่งของการจัดการฐานะความเป็นอยู่ที่ดี"

ประเด็นดังกล่าวนี้ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ วิธีการดูแลผู้คนและคนงานที่อยู่ในครัวเรือน ในสมัยกรีกโบราณ นครรัฐเอเธนส์มีทาส แต่กระนั้น ก็มีความแตกต่างกันในการจัดการแรงงานทาส ประเด็นสำคัญคือ ทำอย่างไรให้ผู้คน-คนงานในครัวเรือนนั้นเกิดความรู้สึกสมัครใจและพอใจที่จะ ทำงานนั่นเอง

ดังนั้น ประเด็นสำคัญประการที่สองคือ นอกจากทรัพยากรทั่วไปแล้ว หลักเศรษฐกิจพอเพียง ยังต้องรู้จักการจัดการกับทรัพยากรมนุษย์อีกด้วย ซึ่งนับว่าความคิดของเซโนฟอนมีความทันสมัยอย่างยิ่ง เมื่อพิจารณาจากการเน้นให้ความสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (human resource development) ต่อการพัฒนาสังคมเศรษฐกิจโดยรวมในองค์ความรู้ทางรัฐประศาสนศาสตร์ และการบริหารงานบุคคลสมัยใหม่ และจากประเด็นดังกล่าวนี้ ย่อมนำไปสู่แนวความคิดเกี่ยวกับการบริหารจัดการของผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ ในการพัฒนาสังคมเศรษฐกิจโดยรวม

หรืออีกนัยหนึ่งคือ นักบริหารหรือนักปกครอง นั่นเอง




ความสำคัญและคำอธิบายเรื่อง "เศรษฐกิจพอเพียง" ในปรัชญาการเมืองตะวันตก (4)

คนแคระบนบ่ายักษ์ : แพทย์ พิจิตร  มติชนรายสัปดาห์  วันที่ 09 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 ปีที่ 28 ฉบับที่ 1421

เซโนฟอน (426-355 ก่อนคริสตกาล) ผู้ที่เราสามารถถือได้ว่าเป็นนักปรัชญาเศรษฐศาสตร์คนแรกของโลกปรัชญาตะวันตก ได้นำเสนอสิ่งที่เรียกได้ว่าเป็น "ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" ในแบบตะวันตก เขาย้ำว่า เงินไม่ใช่ทรัพย์ และ"เงินจะต้องถูกเก็บไว้ห่างๆ คนที่ไม่รู้จักใช้มัน"

สิ่งที่เป็นทรัพย์ไม่ได้หมายถึงทุกสิ่งทุกอย่าง ที่เรามี เพราะสิ่งที่เรามีและคิดว่ามันเป็นทรัพย์ หากไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ ก็หาใช่ทรัพย์ไม่ ไม่ว่าจะเป็น เงิน ที่ดิน ข้าวของ เครื่องใช้ต่างๆ หากเรามีในครอบครอง แต่ไม่รู้จักใช้ประโยชน์จากมัน มันก็ไม่ใช่ทรัพย์ และมันก็ไม่ได้ทำให้เราร่ำรวยมั่งคั่งแต่อย่างใด

มีเงินทองท่วมตัวก็อดตายได้ เพราะจริงๆ แล้ว "เงินทองคือมายา ข้าวปลาคือของจริง" ต่างหาก

การรู้วิธีจัดการกับเศรษฐกิจครัวเรือนถือเป็น หัวใจสำคัญของหลักเศรษฐกิจครัวเรือน และเศรษฐกิจครัวเรือนเป็นหัวใจของเศรษฐกิจโดยรวม ของบ้านเมือง บ้านเมืองจะอยู่ดีมีสุขได้ก็ด้วยแต่ละครัวเรือนรู้จักว่า "ทรัพย์ที่แท้คืออะไร ?" และเมื่อรู้ว่าทรัพย์ที่แท้คืออะไรแล้ว ก็ย่อมรู้ว่า ความมั่งคั่งที่แท้จริงคืออะไรตามมา และด้วยเหตุนี้เองที่เศรษฐกิจครัวเรือนแยกไม่ออกจากเรื่องการเมือง ในความหมายที่ว่า การเมืองคือวิถีแห่งการอยู่ร่วมกันของมนุษย์

เซโนฟอนยืนยันว่า ปรัชญาเศรษฐศาสตร์แยกไม่ออกจากปรัชญาการเมือง

เมื่อเข้าใจความหมายที่แท้จริงของทรัพย์ว่าหมาย ถึง สิ่งที่เรามีและต้องเป็นประโยชน์ต่อเราอย่างแท้จริง เซโนฟอนก็มุ่งไปที่การจัดการเรื่องบ้านเรือนและข้าวของในครัวเรือน บ้านที่ใหญ่โตและสร้างด้วยราคาแพง แต่ไม่เป็นประโยชน์ต่อเจ้าของ และกลับกลายเป็นภาระ ย่อมสู้การมีบ้านที่พอประมาณ และมีการจัดระเบียบข้าวของเครื่องใช้ เพื่อว่า ยามที่ต้องการใช้ ก็จะสามารถนำมันมาใช้ประโยชน์ได้

ในประเด็นนี้ เชื่อว่าหลายครัวเรือน มีข้าวของมากมาย และเก็บไว้จนไม่รู้ว่ามันอยู่ที่ไหน การมีสิ่งต่างๆ ที่ไม่รู้ว่ามันอยู่ที่ไหนยามต้องการใช้มันนั้น การมีก็เหมือนไม่มี

นอกจากการจัดการกับทรัพยากรต่างๆ ที่มีอยู่ เซโนฟอนยังเน้นให้รู้จักการใช้ทรัพยากรมนุษย์อีกด้วย โดยกล่าวว่า "นอกเหนือไปจากนี้ ในบางบ้าน คนใช้ถูกพันธนาการ และพยายามหนีตลอดเวลา อีกบ้านหนึ่ง ไม่ต้องคุมขัง และกลับอยากจะทำงานด้วยซ้ำ อันนี้ก็น่าจะเป็นผลประการหนึ่งของการจัดการฐานะความเป็นอยู่ที่ดี"

คนถือเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญ การรู้จักทำให้คนในบ้านรักบ้าน และช่วยกันดูแลข้าวของเครื่องใช้บ้านเรือน ย่อมถือเป็นส่วนสำคัญของหลักการเศรษฐกิจพอเพียงของเขาด้วย

แม้ว่าในงานเขียนที่ชื่อ Oeconomicus ของเซโนฟอนจะขึ้นต้นไว้ว่า การจัดการครัวเรือนหรือในสมัยใหม่เรียกว่า "วิชาเศรษฐศาสตร์" นี้จะถือว่าเป็นศาสตร์หรือความรู้ชนิดหนึ่งที่ไม่ต่างจากความรู้ในด้านอื่นๆ เช่น ความรู้ทางการแพทย์ ความรู้ในเรื่องการช่างต่างๆ ฯลฯ ในแง่ที่ว่าเป้าหมายสำคัญของการจัดการทรัพย์สินย่อมไม่ต่างจากภารกิจ หรือเป้าหมายของของศิลปะวิทยา การความรู้ด้านอื่นๆ

กล่าวคือ ภารกิจหรือเป้าหมายของการจัดการทรัพย์สินที่ดีก็คือ สามารถจัดการทรัพย์สินครัวเรือนของตนได้ดี

ขณะเดียวกัน ความรู้ในการจัดการทรัพย์สินที่ว่านี้ ย่อมเป็นความรู้ที่มีลักษณะสากลทั่วไป นั่นคือ ใครๆ ก็สามารถใช้ความรู้ดังกล่าวนี้จัดการกับทรัพย์สินของใครก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นทรัพย์สินเฉพาะของใครคนใดคนหนึ่ง หรือของตัวเองเท่านั้น

เพราะ "ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์ของคนอื่น ถ้าเราสามารถจัดการได้ดีเหมือนที่จัดการกับของเรา" ก็ย่อมจะได้ผลดีเช่นกัน

อย่างเช่น "ใครที่มีความรู้เกี่ยวกับงานไม้ ก็สามารถเป็นช่างไม้ให้ใครก็ได้ ผู้จัดการทรัพย์สินที่ดีที่สามารถก็น่าจะไม่ต่างกัน"

ดังนั้น ผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจในศาสตร์หรือศิลปะแห่งการจัดการทรัพย์สินครัว เรือน ย่อมสามารถจัดการใช้ความรู้ดังกล่าวในการจัดการทรัพย์สินครัวเรือนของคนอื่น แม้ว่าเขาจะไม่มีทรัพย์สินครัวเรือนของตนเองก็ตาม "แต่หาเลี้ยงชีพด้วยการจัดการทรัพย์สินของคนอื่น เหมือนกับในกรณีที่ช่างไม้สร้างบ้านให้คนอื่น" ด้วยทักษะความรู้ที่ตนมีอยู่ ดังนั้น ความรู้ดังกล่าวนี้ย่อมสามารถเป็นเครื่องมือให้ผู้รู้หาเลี้ยงชีพได้โดยการ รับจ้างดูแลทรัพย์สินให้คนอื่น

"คนๆ นั้นสามารถได้ค่าจ้างดี ถ้าเขาดูแลการใช้จ่ายทั้งหมด และเพิ่มทรัพย์สินโดยการแสดงตัวเลขที่สมดุลบัญชีในท้ายที่สุดแล้ว"

แต่ในบทต่อๆ มา เซโนฟอนกลับชี้ให้เห็นว่า ปัญหาและอุปสรรคสำคัญยิ่งในการจัดการเศรษฐกิจครัวเรือนนั้นอยู่ที่ "ตัวบุคคลนั้นๆ" และดูเหมือนว่า ผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจในศาสตร์ดังกล่าวนี้ไม่สามารถไปใช้ความรู้ทาง "เศรษฐศาสตร์" นี้ในการจัดการเศรษฐกิจครัวเรือนของคนอื่นได้ นอกจากคนๆ นั้นจะรู้จักจัดการเศรษฐกิจของเขาด้วยตัวของเขาเอง

เพราะที่ผ่านมาพบว่า มี "คนที่ไม่ประสงค์จะทำประโยชน์หรือใช้ความรู้ดังกล่าว ดังนั้น ความรู้ของเขาจึงไม่ได้ให้ประโยชน์อะไรเลย"

เพราะใครจะไปจัดการเศรษฐกิจครัวเรือนของอีกคน หนึ่งได้ ตราบเท่าที่คนๆ นั้นไม่เข้าใจและเชื่อในนัยความหมายที่แท้จริงของทรัพย์และความมั่งคั่งที่ แท้จริงด้วยตัวของเขาเอง

ด้วยเหตุนี้ แม้รัฐจะกำหนดให้เป็นนโยบายแห่งชาติ ก็ย่อมทำไม่ได้ นอกจากจะนำเสนอเป็นแนวทางให้ประชาชนไปคิดตัดสินใจเองเท่านั้น

ต่อมา โสกราติสในฐานะตัวละครในงานเขียนของเซโนฟอนกล่าวในประเด็นนี้ว่า คนประเภทนี้มีทั้งที่เป็นชนชั้นสูง และชนชั้นล่าง หรือกล่าวในบริบทสมัยกรีกโบราณก็คือ ทั้งผู้ที่เป็นนายและทาส ต่างไม่มีความสามารถ ในการจัดการเศรษฐกิจครัวเรือนของตนให้ดีได้ นั่นคือ คนที่เป็นนายและทาสไม่ต่างกัน ทั้งชนชั้นสูงและทาสไม่สามารถสั่งหรือควบคุมตัวเองได้

หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ทั้งชนชั้นสูงและทาส หากเป็นคนที่ขี้เกียจ ไม่รู้จักหาประโยชน์ ก็ไม่ต่างกัน

โสกราติสแกล้งตั้งคำถามต่อไปว่า "คนที่เป็นนายอยู่แล้ว ไฉนมากล่าวว่าไม่มีความเป็นนาย นอกจากการที่พวกเขาสวดภาวนาเพื่อความเจริญรุ่งเรือง และมีความปรารถนาที่จะทำให้เขาได้ในสิ่งดีๆ ในชีวิต หรือเป็นไปได้ว่า ความปรารถนาตั้งใจของเขาถูกขัดขวางจากผู้มีอำนาจปกครองเหนือพวกเขา?

กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ใครไปห้ามไม่ให้พวกชนชั้นสูงเหล่านี้แสวงหาหรือใช้ทักษะความรู้ที่ตนมีอยู่

น่าสงสัยอย่างยิ่งว่า ใครจะเป็นผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่าหรือมีอำนาจปกครองคนที่เป็นนายคนได้อีก? "ใครคือผู้ปกครองที่มองไม่เห็นนี้?"

โสกราติส อธิบายว่า ผู้ปกครองที่อยู่เหนือคนที่เป็นนายที่ว่านี้ ไม่ใช่สิ่งลี้ลับแต่ประการใด หรือไม่ใช่ว่าเขาจะอยู่ในสถานะที่ไม่มีใครมองเห็นได้

ผู้ปกครองที่มีอำนาจเหนือผู้คนนี้เป็นผู้ปกครอง ที่ชั่วร้ายเสียด้วย และนั่นจะเป็นอะไรอื่นไปได้นอกจาก ความขี้เกียจ (idleness) และการไม่มีความกล้าหาญทางจริยธรรม และความละเลยเพิกเฉย ซึ่งถือเป็นความชั่ว (vice)

นอกจากนี้ ยังมีผู้ปกครองอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งโสกราติสอุปมาดั่ง "นายหญิงที่หลอกลวงและเสแสร้ง" ให้ผู้คนเข้าใจว่าหล่อนคือ สิ่งที่ทำให้เกิดความสุขความพอใจ (pleasures) เช่น การพนัน การคบหามิตรที่เลว หลังจากเวลาผ่านไป เหยื่อของการหลอกลวงเหล่านี้จะพบว่า ในที่สุดแล้ว สิ่งที่คิดว่าเป็นความสุขคือ ความเจ็บปวดทุกข์ยากที่ซ่อนอยู่ภายใต้การฉาบหน้าบางๆ ไว้ด้วยสิ่งที่ดูคล้ายความสุข

สิ่งเหล่านี้นี่เองคือ "นาย" ที่ทรงอำนาจอิทธิพลเหนือผู้คน และเป็นอุปสรรคขัดขวางให้คนละเลยการทำงานที่ก่อให้เกิดผล

นอกเหนือจากการปล่อยให้ตัวเราตกเป็นทาสของ "นาย" ดังกล่าวข้างต้น ปัญหาและอุปสรรคที่ถูกยกขึ้นต่อมาก็คือ บางคนไม่ใช่เป็นคนขี้เกียจหรือขี้ขลาดทางจริยธรรม และก็ไม่ได้ตกอยู่ใต้ "นายหญิง" คนเหล่านี้ "ทั้งมุมานะขยันทำงานที่จะหาเงินหาทอง แต่กระนั้น พวกเขาก็สูญเสียทรัพย์สินที่มีอยู่และพบกับความยากลำบาก"

ในความเข้าใจของ โสกราติส คนที่แม้ว่าจะมุมานะขยันขันแข็งที่จะหาเงินหาทอง แต่ก็ยังต้องสิ้นเนื้อประดาตัวยากจน น่าจะเป็นเพราะ:

"คนเหล่านี้ก็เป็นทาสด้วยเช่นกัน และนายของพวกเขาก็โหดทีเดียว บางคนตกอยู่ในพันธนาการของความตะกละตะกลาม บางคนก็ติดกับราคะ บางคนก็ติดกับการดื่ม บางคนก็ติดกับความโง่และความทะเยอทะยานมักใหญ่ใฝ่สูงยิ่ง และตัณหา (passions) สิ่งเหล่านี้มีอำนาจเหนือผู้คนอย่างโหดร้าย โดยเฉพาะผู้คนที่ตกอยู่ภายใต้การบังคับของมัน และตราบเท่าที่มันเห็นว่า เขาแข็งแรงและทำงานได้

มันก็จะบังคับให้เขาต้องจ่ายสิ่งที่เขาหาได้มา ทั้งหมดด้วยความเหนื่อยยากไปกับความปรารถนาของเขา

ในไม่ช้า มันก็จะพบว่า เขาแก่เกินไปที่จะทำงานได้และก็จะละทิ้งเขาไปให้จมอยู่กับความทุกข์ทรมาน (misery) และไปเทียมแอกบนไหล่ของคนอื่นต่อไป"

สภาวะดังกล่าวที่เป็น "นายเหนือคนเราเหล่านี้" นี้เปรียบได้กับ "ทรราชย์" ที่กระทำต่อเราอย่างไม่มีขอบเขต ดังนั้น ในการที่จะจัดการกับทรัพย์สินให้ได้ดีนั้น เราต้องต่อสู้กับ "ทรราชย์" เหล่านี้อย่างยืนหยัดเพื่อความเป็นอิสรเสรีภาพของตัวเรา ไม่ใช่ "จน เครียด" แล้วต้องกินเหล้า หรือ "จน/เจ๊ง เครียด" แล้วต้องคิดถึงคนอื่นที่ชื่อ "ทักษิณ"

แต่เมื่อ "จน/เจ๊ง เครียด" ต้องกลับมาคิดถึงตัวตนและการจัดการครัวเรือนที่ผ่านมาในชีวิตของเราต่างหาก




ความสำคัญและคำอธิบายเรื่อง "เศรษฐกิจพอเพียง" ในปรัชญาการเมืองตะวันตก (5)

คนแคระบนบ่ายักษ์ : แพทย์ พิจิตร  มติชนรายสัปดาห์  วันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 ปีที่ 28 ฉบับที่ 1422

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของนักคิดกรีกโบราณอย่าง เซโนฟอน (426-355 ก่อนคริสตกาล) ชักชวนให้เราทำความเข้าใจในนัยความหมายของทรัพย์เสียใหม่ เขากล่าวว่า ทรัพย์และความมั่งคั่ง ย่อมไม่ใช่เงินหรืออะไรก็ตามที่เรามีไว้ในการสั่งสมครอบครอง สิ่งที่จะเป็นทรัพย์จะต้องเป็นประโยชน์จริงๆ แก่เราเท่านั้น คนที่มีเงินทองมหาศาลก็ไม่ได้แปลว่าเขาผู้นั้นคือผู้มีทรัพย์ร่ำรวย

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงยืนยันว่า "เงินจะต้องถูกเก็บไว้ห่างๆ คนที่ไม่รู้จักใช้มัน"

นอกจากนี้ การรู้จักจัดการกับบ้านเรือนข้าวของเครื่องใช้และผู้คนในบ้านถือเป็นมาตรการ สำคัญพื้นฐานสำหรับหลัก "เศรษฐศาสตร์ครัวเรือน" ทรัพยากรทั่วไปและทรัพยากรมนุษย์ต้องได้รับการจัดระเบียบให้สามารถเป็น ประโยชน์ใช้สอย และเกิดความสมัครสมานกลมกลืนของการใช้ชีวิตร่วมกันในครัวเรือน

ใครที่มีความรู้ใน "ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" ก็ใช่ว่าจะสามารถนำความรู้นั้นไปจัดการเศรษฐกิจของครัวเรือนของคนอื่น เพราะหัวใจสำคัญของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงคือ เจ้าบ้านเองจะต้องเป็นผู้มีความเข้าใจและเชื่อในนัยความหมายของ "ทรัพย์ที่แท้" ภายใต้วิธีคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มิฉะนั้นแล้ว ก็จะไม่สามารถยอมรับและเข้าใจถึง "ความมั่งคั่งที่แท้จริง" ได้

ความมั่งคั่งที่แท้จริงนั้นสามารถสรุปออกมาด้วย คำอมตะของท่านหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร บิดาแห่งการเกษตรสมัยใหม่ของไทยที่ว่า "เงินทองคือมายา ข้าวปลาคือของจริง" เพราะเงิน ทอง หุ้นหรือน้ำมันนั้นกินไม่ได้!

ดังนั้น ปัญหาและอุปสรรคสำคัญของการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้คือ "ตัวคน" นั่นเอง อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า แม้รัฐจะกำหนดให้เป็นนโยบายแห่งชาติ ก็ยากที่จะสำเร็จ ยิ่งคิดจะไปบังคับผู้คนแล้วยิ่งจะกลับจะสร้างปัญหา จะทำได้ก็เพียงนำเสนอเป็นแนวทางให้ประชาชนไปคิดตัดสินใจเองเท่านั้น

เพราะเซโนฟอนชี้ให้เห็นว่า คนที่ยังตกเป็นทาสของการใช้ชีวิตไปในทางที่เป็นโทษต่อตัวเองและครอบครัว ย่อมไม่สามารถ "ร่ำรวย" ได้ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของเขา

เซโนฟอนอธิบายว่า ไม่ว่าจะเป็นชนชั้นใดในสังคม ก็สามารถตกเป็น "ทาสการหาความสุขในทางผิดๆ" ได้ สิ่งสำคัญคือ การต่อสู้เพื่อปลดแอกตัวเองจากพันธนาการทางความคิดในเรื่องวิธีการหาความสุข ในชีวิต

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจึงแยกไม่ออกจากการต่อสู้ เพื่อความเป็นอิสระและเสรีภาพของมนุษย์ต่อกิเลสตัณหาและความยั่วยุต่างๆ โดยเฉพาะภายใต้สังคมที่เน้นบริโภคนิยมในระบบทุนนิยม-ตลาดเสรีเช่นนี้

ดังนั้น ไม่เฉพาะคนจนที่ "เครียด" แล้วร้องเรียกหาตัวช่วยแบบอัศวินควายดำ แต่คนรวยที่มีวิธีคิดแบบ "ทาส" ไม่ต่างจากชนชั้นล่างนี้ได้เช่นกัน

แม้ว่าเซโนฟอนจะบอกเราว่า ผืนแผ่นดินอาจจะไม่ใช่ทรัพย์สมบัติหรือสัญลักษณ์แห่งความมั่งคั่งร่ำรวย ถ้าเราไม่รู้จะใช้ประโยชน์ที่แท้จริงจากมัน เพราะที่ดินไม่ได้ดำรงอยู่ในโลกนี้เพื่อถูกซื้อขายเปลี่ยนมือไปมา แต่ประโยชน์ที่แท้จริงของผืนดินคือ การทำเกษตรกรรม

หลักปรัชญาเศรษฐศาสตร์ของเซโนฟอนมุ่งไปที่ความ สำคัญของผืนแผ่นดิน โดยการให้ความสำคัญกับการใช้ประโยชน์จากผืนแผ่นดินเหนือสิ่งอื่นใด และจุดนี้ก็คือความเชื่อมโยงระหว่างเศรษฐศาสตร์แห่งครัวเรือนและเศรษฐศาสตร์ แห่งบ้านเมือง

เนื่องด้วยการทำงานบนผืนแผ่นดินเป็นฐานหลัก สำคัญยิ่งในศาสตร์แห่งการจัดการสินทรัพย์ทั่วไป ดังที่ โสกราติสตัวเดินเรื่องในหนังสือ Oeconomicus ของเซโนฟอนได้ยืนยันว่า

"แม้แต่คนรวยที่สุดก็ไม่สามารถอยู่ห่างจากการ ปศุสัตว์ (husbandry) ได้ เพราะจุดมุ่งหมายที่สุดของมันนัยหนึ่งคือ ประโยชน์สุข เฉกเช่นเดียวกันกับหนทางในการเพิ่มความทรัพย์สิน"

ประโยชน์ที่แท้จริงที่เราจะได้จากผืนดินคือ การเพาะปลูกและการเลี้ยงสัตว์ นั้นประโยชน์อันเป็นคุณมากมาย นั่นคือ ประการแรก "เป็นหนทางของการฝึกฝนร่างกายในทุกด้านๆ ที่เสรีชนควรจะสามารถทำได้ เพราะในเบื้องแรก แผ่นดินจะให้ผลต่อผู้ที่หว่านผลคือ อาหารที่ทำให้คนมีชีวิตอยู่ได้ ให้สิ่งปรุงแต่งที่ให้ความสุขเพลิดเพลิน (รสชาติอาหารต่างๆ)"

ประการที่สอง ผลจากแผ่นดินยังนำมาซึ่ง "สิ่งต่างๆ ที่นำมาประดับตกแต่งได้ ภาพที่สวย กลิ่นที่หอม" และยัง "ให้เครื่องปรุงส่วนผสมต่างๆ ของอาหารอร่อยต่างๆ"

ประการที่สาม "ด้วยศิลปะการเลี้ยงดูสัตว์นั้นใกล้ชิดเชื่อมโยงกับสัตว์อื่นๆ และทำให้คนมีของไว้บูชาเทพเจ้า และมีวัวไว้ใช้ประโยชน์"

ประการที่สี่ ด้วยการทำงานบนผืนแผ่นดินให้ประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกายโดย "ปรับคนให้ต่อสู้ทนทานต่อกับฤดูร้อนหนาว ให้กำลังแข็งแรง จากการออกกำลังกาย ด้วยการลงมือลงแรงทำให้การดูแลนั้นแข็งแกร่ง ปลุกเร้าให้ตื่นแต่เช้า และเคลื่อนไหวอย่างกระฉับกระเฉง เพราะไร่นาและเมืองก็มีเวลาในการทำงานที่ตายตัวเหมือนกัน"

ประการที่ห้า ซึ่งเป็นเรื่องของบริบทสังคมสมัยโบราณ นั่นคือ เกี่ยวกับการพัฒนาศิลปะการสงคราม "ถ้าใครต้องการจะรบบนหลังม้า การทำนาเป็นคู่หูที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการเก็บรักษาม้า ถ้าเป็นทหารราบ ก็ต้องทำให้ร่างกายกระฉับกระเฉง และในบางโอกาสการทำงานบนแผ่นดินก็ช่วยในการปลุกเร้าความชอบ และความเคยชินจากการเหนื่อยยากในการล่าสัตว์ มีหมาไล่เนื้อ มีอาหารสำหรับล่าสัตว์ใหญ่ และถ้าปศุสัตว์ให้ผลดีต่อม้าและหมา มันก็ให้ผลดีต่อการทำนาไม่น้อยไปกว่ากันเลย

ม้าช่วยพาคนที่ดูแลไปทำหน้าที่แต่เช้าและสามารถ ทำให้เขากลับช้าได้ หมาดูแลสัตว์ป่าจากการไปทำลายพืชผลและแกะ"

และที่สำคัญคือ การทำงานบนแผ่นดินยังให้ความสงบสุขและสันโดษอีกด้วย"

เช่นเดียวกับการสงครามและการกีฬา ความสุขต่างๆ ที่เกิดจากการทำงานบนผืนแผ่นดินถือเป็นรากฐานสำคัญ ที่จะยังผลต่อการกระตุ้นให้มนุษย์สามารถปกป้องประเทศของตนได้ ด้วยเหตุผลข้อเดียวกับการที่ผู้ดูแลปศุสัตว์ต้องแข็งแรง โสกราติสถามท้าว่า "จะมีศิลปะใดที่จะผลิตนักวิ่ง นักเขวี้ยงและนักกระโดดได้ดีไปกว่าการทำปศุสัตว์ ? ศิลปะอะไรจะตอบแทนผู้ลงแรงอย่างกรุณาไปกว่านี้ ?"

ถ้าเป็นสมัยนี้ เราคงต้องบอกว่า ถ้าคนเราทำงานบนผืนแผ่นดิน ก็จะมีร่างกายที่แข็งแรง โดยไม่ต้องเสียเวลาเสียเงินเสียทองไปเข้าฟิตเนสที่เปิดกันมากมายเกลื่อน กรุงเทพฯและเมืองใหญ่ๆ

และประเด็นที่สำคัญยิ่งก็คือ การทำงานบนผืนแผ่นดินสอนยังให้มนุษย์ได้รู้จักความถูกต้องยุติธรรมด้วย เพราะ "แผ่นดินเต็มใจที่จะสอนเรื่องความถูกต้องยุติธรรม ให้กับคนที่สามารถเรียนรับรู้ได้ เพราะยิ่งแผ่นดินได้รับการดูแลมากเท่าไร สิ่งดีๆ ต่างๆ เธอจะให้เป็นการตอบแทนอย่างมาก"

การทำงานบนผืนแผ่นดินสอนให้เรารู้จักความอดทน และความหมั่นเพียรในการดูแลพืชผลและสัตว์เลี้ยงที่ต้องอาศัยเวลา และการรอคอย มิใช่คิดแต่จะลงทุนน้อยๆ ใช้เวลาน้อย แต่รวยเร็วๆ อย่างการเก็งกำไรจากหุ้นทุกวันทุกนาที ซึ่งการหาเงินหาทองแบบนี้มีแต่จะสอนคนให้มีนิสัยเอาแต่ได้ ใจร้อน กอบโกยและคดโกงในที่สุด

และความอยุติธรรมก็จะระบาดไปทั่วทั้งสังคม

และ "ยิ่งกว่านั้น การปศุสัตว์ช่วยสอนให้คนรู้จักร่วมมือกันทำงาน เพราะผู้คนเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการสงครามต่อสู้กับข้าศึก และการเพาะปลูกหว่านไถก็ต้องการแรงงานช่วยของคน ดังนั้น ไม่มีใครจะเป็นชาวนาชาวไร่ที่ดีได้ นอกจากเขาจะทำให้คนงานของเขากระตือรือร้น...

มีคำกล่าวอย่างสง่างามว่า การปศุสัตว์เป็นทั้งมารดาและพยาบาลแก่ศิลปะอื่นๆ เพราะเมื่อการปศุสัตว์เจริญงอกงาม ศิลปะอื่นๆ ทั้งหลายก็จะมีสถานะที่ดี แต่เมื่อไรก็ตาม ที่ที่ดินถูกทำให้ร้างว่างเปล่า ศิลปะอื่นๆ ไม่ว่าจะบนบกหรือในน้ำก็จะสูญสลายไป"

กล่าวโดยสรุป ศาสตร์แห่งการจัดการครัวเรือน "เป็นสาขาความรู้หนึ่ง และสาขาความรู้ (episteme) นี้เป็นสิ่งที่ทำให้เราสามารถเพิ่มพูนทรัพย์สินของเราให้มากขึ้นได้ โดยทรัพย์สินก็เหมือนกันกับสิ่งที่เป็นทรัพย์สมบัติทั้งหมดที่คนๆ หนึ่งครอบครอง ส่วนทรัพย์สมบัติ (property) คือสิ่งที่เป็นประโยชน์สำหรับการดำรงชีวิต และสิ่งที่เป็นประโยชน์ที่สามารถกลายเป็นอะไรทั้งหมดที่เรารู้จักวิธีการที่ จะใช้มัน"

นอกจากนี้ ปรัชญาเศรษฐศาสตร์ที่แท้จริงย่อมจะนำผู้คนไปสู่ความเป็นเสรีชน ด้วยการเป็น "นายของตัวเอง" และรู้จักทำงานสร้างประโยชน์จากผืนแผ่นดินอันให้คุณประโยชน์หลายประการดัง ที่ได้กล่าวไป




ความสำคัญและคำอธิบายเรื่อง "เศรษฐกิจพอเพียง" ในปรัชญาการเมืองตะวันตก (6)

คนแคระบนบ่ายักษ์ : แพทย์ พิจิตร  มติชนรายสัปดาห์  วันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 ปีที่ 28 ฉบับที่ 1423

ถ้าจะถามว่า ปรัชญาเศรษฐศาสตร์ที่แท้จริงเป็นอย่างไร?

คำตอบจากเซโนฟอน (426-355 ก่อนคริสตกาล) ก็คือ ความรู้ใดจะเป็นปรัชญาเศรษฐศาสตร์ที่แท้จริงได้ ย่อมต้องนำผู้คนไปสู่ความเป็นเสรีชน ด้วยการเป็น "นายของตัวเอง" และรู้จักทำงานสร้างประโยชน์จากผืนแผ่นดิน ซึ่งเป็นที่ๆ ให้คุณเอนกอนันต์แก่มนุษยชาติ

ด้วยเหตุนี้ เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบปรัชญาเศรษฐศาสตร์ที่แท้จริงกับศาสตร์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มพูนทรัพย์ สร้างความมั่งคั่ง หรืออีกนัยหนึ่งคือ "เศรษฐศาสตร์" ในความเข้าใจรับรู้ของคนทั่วไปในโลกสมัยใหม่ โสกราติส จึงกล่าวว่า ศาสตร์เหล่านั้นล้วนเป็น "ศิลปะวิทยาการที่ไม่เสริมสร้างเสรีชน หากแต่เป็น อเสรีศาสตร์ (illiberal arts) เป็นความรู้ที่ใช้ไม่ได้และน่ารังเกียจในบ้านเมืองของเรา เพราะมันทำลายร่างกายของคนงาน และหัวหน้างานบังคับให้พวกเขานั่งเฉยๆ และอยู่ในบ้าน หรือบางกรณี ใช้เวลาทั้งวันทำงานอย่างหนัก ทำให้ร่างกายอ่อนแอ ส่งผลให้จิตใจต้องอ่อนแอตามไปอย่างย่ำแย่ ยิ่งกว่านั้น อเสรีศาสตร์เหล่านี้ ยังไม่ปล่อยให้ผู้คนมีเวลาว่างสำหรับการสมาคมกับเพื่อนฝูง และมีส่วนร่วมในกิจกรรมสาธารณะ ดังนั้น ใครก็ตามที่ปฏิบัติตามอเสรีศาสตร์เหล่านี้ มักจะมีชื่อเสียงไม่ดีในการปฏิบัติกับเพื่อนฝูง และเป็นผู้ปกป้องบ้านเมืองที่แย่ ดังนั้น ในเมืองที่มีชื่อเสียงในการสงคราม จะต้องออกกฎหมายห้ามคนทำงานประเภทนี้"

ข้อความข้างต้น แม้ว่าจะเขียนขึ้นเมื่อเกือบสองพันห้าร้อยปีที่แล้ว แต่ยังคงปรับใช้กับปัจจุบันได้เป็นอย่างดี ดังที่เราทราบดีว่า "เศรษฐศาสตร์สมัยใหม่" นั้นเน้นไปที่การทำงาน "หาเงินจากเงิน" เสียเป็นส่วนใหญ่

บัณฑิตเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เมื่อสำเร็จการศึกษา แล้ว ก็มักมุ่งเข้าทำงานในบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์หรือธนาคาร ทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ทั้งวันทั้งคืน สุขภาพร่างกายเสื่อมโทรมตามๆ กัน อีกทั้งจิตใจของคนที่ทำงานเหล่านี้มาเป็นเวลานาน ก็จะกังวลกับ "เวลาที่เป็นเงินเป็นทอง" ของพวกเขา

คนที่อยู่ภายใต้การทำงานแบบนี้ จึงยากที่จะมีเวลาว่างสำหรับตนเอง ครอบครัวและมิตรสหาย เศรษฐศาสตร์ที่พวกเขาเรียนไปนั้น กลับสร้างพันธนาการทั้งทางกายและจิตวิญญาณให้แก่ตัวพวกเขาเอง

เซโนฟอนเขียนไว้ว่า แม้ว่าคนเราจะไม่สามารถเรียนรู้ศาสตร์ทุกศาสตร์ได้ทั้งหมด แต่ที่แน่ๆ คือ ศาสตร์แห่งการทำงานในผืนแผ่นดินย่อมเป็นพื้นฐานสำคัญ และในบ้านเมืองที่ผู้ปกครองมีความเข้าใจใน "ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" นี้ ย่อมปฏิเสธศิลปะศาสตร์อื่นๆ ที่ไม่เสรี (illiberal arts) นั่นคือ "ศาสตร์ที่ไม่เหมาะสม ไม่ทำคนให้เป็นเสรีชน เพราะมันปล่อยปละละเลยไม่ช่วยพัฒนาทั้งร่างกายและจิตใจ"

Oeconomicus ของเซโนฟอนให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเป็น "เสรีชน" แต่อย่างที่ทราบกันทั่วไปว่า ไม่ว่าจะเป็นสมัยโบราณและโดยเฉพาะอย่างยิ่งสมัยนี้ เงื่อนไขสำคัญที่เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเป็น "เสรีชน" คือ การทำมาหากินเลี้ยงชีพ การเป็นมนุษย์เงินเดือน ดังนั้น หลักปรัชญาเศรษฐศาสตร์ที่แท้ดังกล่าวไปแล้วเท่านั้น ที่จะช่วยพัฒนาร่างกายและจิตใจของคนให้เสรี เงินทองสิ่งของต่างๆ ที่คนเรามีนั้น จะไม่ถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินหรือเป็นความมั่งคั่ง หากมันไม่สามารถให้ประโยชน์ที่แท้จริงแก่ผู้ครอบครองได้

ที่ดินก็เช่นกัน หากไม่สามารถรู้จักที่จะทำประโยชน์ได้ การมีที่ดินก็กลับจะเป็นโทษเสียมากกว่า ขณะเดียวกัน ในทางกลับกัน หากเรารู้จักที่จะสร้างประโยชน์ที่แท้จริงจากผืนแผ่นดิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลี้ยงชีพจากการใช้ผืนแผ่นดิน การมีที่ดินก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะการทำงานหาเลี้ยงชีพจากผลผลิตทางการเกษตร และเลี้ยงสัตว์ จะทำให้ร่างกายมีพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรง ขณะเดียวกัน การทำงานในผืนแผ่นดินนั้น หากทำมากก็จะได้มาก ทำน้อยได้น้อย จึงนับเป็นการเรียนรู้ความยุติธรรมจากการใช้แรงงาน อีกทั้งยังทำให้เสรีเป็นนายตัวเอง และที่สำคัญยังช่วยพัฒนาคนผู้นั้นให้มีคุณสมบัติกล้าต่อสู้เพื่อเสรีภาพ

และคุณสมบัติที่กล่าวมานี้คือนัยความหมายของ ความเป็นเสรีชนภายใต้ปรัชญาเศรษฐศาสตร์ที่อาจเรียกได้ว่าเป็น ต้นกำเนิด "ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" ของโลกตะวันตก

แนวความคิดดังกล่าวนี้ยังทรงอิทธิพลต่อมาถึงยุค กลาง ดังปรากฏในงานของ นิโคล โอเรสมี บิชอบแห่งลิซูก (Nicole Oresme, bishop of Lisieux) ซึ่งถือได้ว่าเป็นนักคิดคนแรกในสมัยกลางที่ยกประเด็นเรื่องคุณค่าของเงิน ขึ้นมากล่าว

โอเรสมี พยายามหาคำตอบเกี่ยวกับปัญหาทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับการเติบโตของเมืองต่างๆ ที่เริ่มปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน เขานำแนวคิดของ อริสโตเติล มาขยายโดยกล่าวถึงเงินในฐานะที่เป็น "เครื่องมือที่ถูกสร้าง (an artificial instrument) หรือประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อความสะดวกในการแลกเปลี่ยนโภคทรัพย์"

โอเรสมี ยังย้ำเตือนว่า ผู้คนไม่ควรที่จะหลงไปในความคิดที่เชื่อกันทั่วไปในการมองว่าเงินเป็น รูปธรรมเดียวเท่านั้น ของโภคทรัพย์ความมั่งคั่ง ด้วย "เงินทั้งหลายเป็นโภคทรัพย์ที่ไม่จริง (artificial) เพราะมันอาจจะมีกรณีที่คนๆ หนึ่งมีเงินมากมายมหาศาล แต่ก็ต้องอดตายด้วยความหิวโหย"

โอเรสมี ยังได้ยกตำนานไมดาสที่ อริสโตเติล ได้กล่าวไว้ใน Politics ขึ้นมาเป็นอุทธาหรณ์ เพื่อยืนยันทัศนะดังกล่าวของเขาด้วยเช่นกัน และยังได้ชี้ให้เห็นอีกถึงเหตุผลที่แท้จริงที่ทำให้ทองและเงิน กลายเป็นวัตถุที่เหมาะสมที่สุดสำหรับใช้ตัวกลางแลกเปลี่ยนค้าขาย

ขณะเดียวกันก็อธิบายให้เห็นถึงความเสียหายและ ความเลวร้ายต่างๆ ที่เป็นผลพวงจากการทำให้เงินกลายเป็นเรื่องอันชั่วร้าย

ต่อมาในปลายศตวรรษที่สิบหก เมื่อความเป็นสมัยใหม่เริ่มก่อตัวขึ้น ปัญหาเศรษฐกิจก็ได้กลายเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจอย่างจริงจัง

ในช่วงเวลาเดียวกันนี้เองที่ในอังกฤษ ฝรั่งเศสและอิตาลี ได้มีการตีพิมพ์ข้อเขียนที่ถือได้ว่าเป็นงานชิ้นแรกๆ ที่ว่าด้วยเศรษฐกิจสมัยใหม่ กล่าวได้ว่า ทฤษฎีการค้าพาณิชย์ได้ก่อตัวขึ้นในจิตใจของผู้คนโดยไม่รู้ตัว และจากการรับรู้อย่างผิวเผินโดยทั่วไปต่อปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ทำให้ผู้คนเริ่มมองว่า เงินเหรียญหรือโลหะที่มีค่านี้ (the precious metals) เป็นสัญลักษณ์รูปแบบเดียวที่รวมศูนย์ของความมั่งคั่งหรือโภคทรัพย์ทั้งหมด (the concentrated form of all wealth)

ซึ่งทัศนะดังกล่าวนี้ย่อมสวนทางกับวิสัยทัศน์ อันแหลมคมของ เซโนฟอน-อริสโตเติล และนักคิดคนอื่นๆ ต่อๆ มาที่ได้รับอิทธิพลจากจากพวกเขา ในประเด็นดังกล่าวนี้

ในช่วงเวลาดังกล่าวของยุโรป กล่าวได้ว่า กระแสความกระตือรือร้นต่อการค้าพาณิชย์พุ่งขึ้นควบคู่ไปกับการเริ่มเติบโต ขยายตัว ของตลาดโลก และจากการที่ผู้คนได้ประจักษ์ถึงผลกำไรมหาศาลที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการทาง การค้าที่ต่อเนื่อง ทำให้นำมาซึ่งข้อสรุปที่ว่า แหล่งที่มาของความมั่งคั่งก็คือการค้าหรือการแลกเปลี่ยน และเงินคือสัญลักษณ์หรือตัวแทนชนิดเดียวที่เป็นศูนย์รวมของความมั่งคั่ง

ระบบพาณิชย์นิยมจึงได้แพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว โดยเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงระบบนี้คือ แนวคิดที่ว่าด้วยเรื่องดุลการค้า

ซึ่งกล่าวว่าประเทศหนึ่งจะมั่งคั่งรุ่งเรืองทาง เศรษฐกิจได้ ประเทศนั้นต้องมีการส่งออกมากกว่านำเข้า ซึ่งหมายถึงเงินจำนวนนับล้านๆ จะไหลเข้าสู่ประเทศ แต่ถ้าเกิดขึ้นในทางกลับกัน ก็หมายถึงว่า ประเทศนั้นกำลังประสบกับภาวะขาดทุนการค้า

ราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้นสืบเนื่องจากการที่ เงินและทองจำนวนมาก หลั่งไหลเข้าสู่ประเทศภายหลังการค้นพบทวีปอเมริกา ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น กับความสัมพันธ์ทางการค้าในยุคสมัยนั้น และทำให้คนเริ่มคิดถึงลักษณะของกระบวนการทาง "เศรษฐศาสตร์สมัยใหม่" มากขึ้น ขณะเดียวกันความพยายามของรัฐบาลที่จะลดค่าของเงินเหรียญสกุลของตนลง โดยหวังว่าจะเพิ่มความมั่งคั่ง

โดยความเชื่อในทฤษฎีการค้าพาณิชย์ ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญอีกครั้ง ที่นำไปสู่ข้อถกเถียงอย่างหลากหลายตามมา

ในศตวรรษที่สิบหกนี้ ฌอง โบแด็ง (Jean Bodin) นักคิดทางการเมืองชาวฝรั่งเศสผู้เป็นเจ้าของทฤษฎี "อำนาจอธิปไตยสมัยใหม่" และเจ้าของผลงานชื่อ Six Books on the State ("Les Six livres de la R?publique"---หนังสือหกเล่มว่าด้วยรัฐ) ได้เขียนความเรียงเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์ขึ้นชิ้นหนึ่ง ซึ่งถือว่าเป็นงานชิ้นที่สำคัญที่สุดของเขา ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นทางเศรษฐศาสตร์ เป็นงานเขียนชิ้นสั้นๆ ที่โต้เถียงกับความคิดที่ปฏิเสธว่า ในสามศตวรรษที่ผ่านมา ราคาสินค้าไม่ได้เพิ่มขึ้นโดยทั่วไป

แต่สิ่งที่ โบแด็ง พยายามชี้ให้เห็นในความเรียงดังกล่าวนี้ก็คือ ราคาสินค้าได้เพิ่มสูงขึ้นจริง และสาเหตุที่ราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้นก็คือ

"ปริมาณของเงินและทองที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล (ที่ถือเป็นความมั่งคั่งของประเทศ) คือคำอธิบายบางส่วนของราคาข้าวของที่เพิ่มขึ้น : เนื่องจากหากในอดีตกาลที่ผ่านมา เงินและทองเป็นของหายาก ก็แน่นอนว่าสิ่งอื่นๆ จะต้องมีราคาถูกลงมาก เมื่อเงินและทองมีราคาแพงขึ้น"

ไปๆ มาๆ ข้าวปลาอาหารกลับแพงขึ้นไม่ใช่เพราะหายากหรือมีน้อย แต่กลับแพงขึ้นเพราะการแลกเปลี่ยนด้วยเงิน-ทอง และเป็นเงิน-ทองที่กลับมีค่ามากกว่าข้าวปลาอาหาร! และถูกปั่นราคาด้วยธุรกรรมตลาดหุ้น




ความสำคัญและคำอธิบายเรื่อง "เศรษฐกิจพอเพียง" ในปรัชญาการเมืองตะวันตก (7)

คนแคระบนบ่ายักษ์ : แพทย์ พิจิตร  มติชนรายสัปดาห์  วันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 ปีที่ 28 ฉบับที่ 1424

เมื่อ "เงินทอง" ได้กลายเป็นตัว "ทรัพย์และความมั่งคั่ง" แทนข้าวปลาอาหารและทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ ไปๆ มาๆ ข้าวปลาอาหารกลับแพงขึ้นไม่ใช่เพราะหายากหรือมีน้อย แต่กลับแพงขึ้นเพราะการแลกเปลี่ยนด้วยเงิน-ทอง และเป็นเงิน-ทองที่กลับมีค่ามากกว่าข้าวปลาอาหาร!

เมื่อเป็นเช่นนี้ การสร้างความมั่งคั่งร่ำรวยให้กับประเทศก็คือ การทำอย่างไรก็ตามที่จะทำให้มีเงินทองหลั่งไหลเข้าประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการทำการค้าระหว่างประเทศ หรือการลดค่าเงิน!

ผู้เขียนขอหยิบยกตัวอย่างของการวิพากษ์และปัญหา ที่เกิดจากแนวคิดและวิธีกา รที่ให้ความสำคัญกับเงินทอง ในฐานะที่เป็นทรัพย์สินและความมั่งคั่งที่ปรากฏในงานของนักคิดหลายท่าน ตั้งแต่ศตวรรษที่สิบหก ซึ่งนักคิดเหล่านี้ได้เผชิญกับปัญหาดังกล่าวที่เพิ่งเริ่มเกิดขึ้นให้เห็น ชัดในยุโรป

คนแรกเป็นนักคิดชาวอังกฤษในศตวรรษที่สิบหกที่ ชื่อ วิลเลี่ยม แสตฟฟอร์ด (William Stafford) ได้ให้คำอธิบายไว้ว่า "ราคาข้าวของที่เพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากการหลั่งไหลเข้ามาของเงินและทองจาก ทวีปอเมริกาที่เพิ่งถูกค้นพบใหม่"

นักคิดอีกท่านหนึ่งที่เขียนถึงประเด็นปัญหา เดียวกันดังกล่าวนี้ด้วย คือ แบร์นาโด ดาวานซาติ (Bernado Davanzati) เขาเขียนโจมตีการลดค่าของเงินเหรียญ (debasement of the coinage) ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีการที่จะทำให้มีเงินสั่งสมมากขึ้น

หลังจากนั้นไม่นาน อันโตนิโอ แซร์ร่า (Antonio Serra) ได้ตีพิมพ์งานเขียนชิ้นสั้นๆ ว่าด้วยสาเหตุที่ก่อให้เกิดปริมาณของเงิน และทองอย่างล้มหลามในตลาดการค้าพาณิชย์ระหว่างประเทศ แทนที่จะแต่ละประเทศจะมีข้าวปลาอาหาร และทรัพยากรที่เป็นประโยชน์จริงๆ

ต่อมา นักคิดชาวฝรั่งเศสที่ชื่อว่า แอ็ง เครเตียง เดอ วัตเตอวิลล์ (M. Chratien de Watteville) ได้เขียนงานที่มีชื่อว่า ความเรียงว่าด้วยเศรษฐศาสตร์การเมือง (Treatise on Political Economy) โดยเขาได้อธิบายแจกแจง ให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมเกี่ยวกับระบบพาณิชย์นิยมในสมัยนั้น ซึ่งเป็นระบบเดียวกันกับที่ โทมัส มัน (Thomas Mun) พ่อค้าชาวอังกฤษได้ดำเนินการอยู่

โทมัส มัน เป็นผู้หนึ่งที่สนับสนุนปกป้องระบบนี้อย่างแข็งขัน เขามีงานเขียนที่สำคัญสองชิ้น ชิ้นแรกเกี่ยวข้องกับการค้าในประเทศอินเดียตะวันออกเมื่อต้นศตวรรษ และชิ้นที่สองมีชื่อว่า England"s Treasure by Foreign Trade ซึ่งเขียนขึ้นในปี ค.ศ.1664

งานชิ้นหลังนี้ถือเป็นบทสรุปหลักการของสำนัก พาณิชย์นิยมได้เป็นอย่างดี นั่นคือ "วิธีการแบบสามัญทั่วไปที่ใช้เพิ่มความมั่งคั่ง และเงินคงคลัง ก็คือการค้ากับต่างประเทศ ที่เราจะต้องปฏิบัติตามกฎนี้ ในการขายให้แก่คนแปลกหน้าในแต่ละปี เพื่อให้ได้มูลค่ามากกว่าที่เราบริโภคของของพวกเขา"

และ "เราไม่มีหนทางอื่นที่จะได้มาซึ่งเงินคงคลังนอกจากการค้ากับต่างประเทศ"

เขาเรียกร้องให้ออกกฎหมายควบคุมการบริโภคสิ่ง ของนำเข้า (sumptuary laws) "เพื่อที่ว่ามนุษย์จะได้มีสติ และงดเว้นจากการบริโภคข้าวของเครื่องใช้ อาหารการกินและจ่ายเงินให้แก่ต่างประเทศ ซึ่งเมื่อคิดว่ากระแสเห่อตามกันเหล่านี้ เปลี่ยนแปลงเร็วมากและก่อให้เกิดการสูญเสียและค่าใช้จ่ายที่มีมูลค่าสูงขึ้น เรื่อยๆ และความชั่วร้ายของมันจะยิ่งรุนแรงมากกว่าที่เคยเป็นมาในยุคก่อนๆ"

เมื่อเป็นดังนี้ วัตเตอวิลล์คิดว่าการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศควรต้องลดลงและปริมาณความ มั่งคั่ง (เช่นเงินคงคลังที่ได้รับในแต่ละปี) ควรต้องเพิ่มขึ้นกว่าเดิม

อย่างไรก็ดี เขาก็ยอมปรับระบบความคิดของตนบางส่วน นั่นคือ ในส่วนที่ยอมให้นำเงินออกจากประเทศได้บ้างในบางโอกาส แต่ทั้งนี้ต้องให้แน่ใจว่าเงินที่นำออกไปนั้นจะก่อให้เกิดดอกผลงอกเงยขึ้น เป็นเงินตราที่จะถูกนำกลับคืนสู่ประเทศอีกครั้งในที่สุด

อย่างไรก็ตาม จะว่าไปแล้ว ประเด็นความผิดพลาดของระบบคิดแบบพาณิชย์นิยม (mercantile system) ไม่ได้อยู่ที่การที่ระบบนี้เชื่อว่า เงินคือสิ่งเดียวกันหรือสิ่งที่แทนกันได้กับความมั่งคั่ง แต่อยู่ที่หลัก การความคิดที่เชื่อว่า ความมั่งคั่งจะได้มาก็ด้วยการค้าขายเท่านั้น

ซึ่งนักคิดชาวอังกฤษยุคหลังๆ ต่างก็ตระหนักดีถึงความจริงข้อนี้ และนับวันความจริงนี้ก็ยิ่งเป็นที่ประจักษ์ชัดขึ้น

ในปี ค.ศ.1672 เซอร์ วิล เลี่ยม เทมเปิล (William Temple) ได้เขียนงานที่ชื่อว่า Observations upon the United Provinces of the Netherlands เขากล่าวว่า : "เวลาที่เหล่าผู้อุตสาหะทั้งหลายออกแรงทำงาน นั่นคือ การผลิตสินค้าโภคภัณฑ์พื้นเมือง ของทุกประเทศ" และ ชาร์ลส์ เดฟแนนท์ (Charles Davenant) ผู้กล่าวไว้ในงานของเขาที่ชื่อ Works ที่เขียนขึ้นในปี ค.ศ.1696 ว่า

"ความอุตสาหะและทักษะในการปรับปรุงคุณภาพของดิน และสถานการณ์ให้ใช้ประโยชน์ได้ดีขึ้นคือ ความร่ำรวยที่จริงแท้ยิ่งกว่าการได้ครอบครอบเหมืองแร่เงินและแร่ทองคำเสีย อีก"

ในประเทศอังกฤษ บุคคลสำคัญอีกท่านหนึ่งที่คัดค้านทฤษฎีความคิดในการสั่งสมเงินทองในฐานะ ทรัพย์และความมั่งคั่งนี้คือ เซอร์ วิลเลี่ยม เพ็ตตี้ (Sir William Petty) ผู้ถือได้ว่าเป็นบุคคลสำคัญที่สุดในสาขาเศรษฐศาสตร์การเมืองในศตวรรษที่สิบ เจ็ด แม้เขาจะไม่มีข้อเขียนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเศรษฐศาสตร์โดยตรงก็ตาม

แต่เพ็ตตี้ถือเป็นคนแรกที่เสนอว่า เราควรเข้าใจว่า แรงงาน (labour) คือพื้นฐานของคุณค่า (value) อันสำคัญ เขากล่าวว่า "แรงงานคือบิดาและหลักการที่นำไปสู่ความมั่งคั่ง ส่วนที่ดินนั้นถือเป็นมารดา"

และ "ถ้าคนๆ หนึ่งสามารถขุดแร่เงินจำนวนหนึ่งออนซ์ขึ้นมาจากผืนดินในประเทศเปรู และนำมันมายังกรุงลอนดอน ในเวลาเดียวกันกับที่เขาสามารถผลิตข้าวโพดได้หนึ่งถัง ถ้าเช่นนั้น สิ่งหนึ่งต้องเป็นราคาธรรมชาติ (natural price) ของอีกสิ่งหนึ่ง

และถ้าหากมีการใช้การในการทำเหมืองแร่แบบใหม่ ที่ง่ายขึ้นกว่าเดิม ทำให้คนสามารถขุดเอาแร่เงินขึ้นมาได้ เป็นจำนวนสองออนซ์โดยใช้แรงมากเท่ากับที่เขาเคยใช้ขุดแร่เงินจำนวนหนึ่ง ออนซ์ ก็จะเท่ากับว่าข้าวโพดจะมีราคาถูกลง นั่นคือราคาจะอยู่ที่สิบชิลลิ่งต่อถัง จากที่ก่อนหน้านี้มีราคาที่ห้าชิลลิ่งต่อถัง"

เพ็ตตี้ ยังดูเหมือนจะเสนอทฤษฎีว่าด้วย ค่าเช่าทางเศรษฐกิจ (economic rent) ไว้ด้วย แม้จะยังไม่ใช่ความเข้าใจที่สมบูรณ์นักก็ตาม ดังที่ปรากฏอยู่ในข้อความต่อไปนี้

"สมมติว่าคนๆ หนึ่ง สามารถปลูกข้าวโพดได้ด้วยมือของเขาเองเต็มพื้นที่แปลงหนึ่ง สามารถขุดหรือพรวนดินหว่านเมล็ดข้าวโพด ถอนวัชพืช เก็บเกี่ยวผลผลิตและนำกลับบ้านไปทำการร่อนจนได้ผลผลิตสุดท้ายออกมา กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ทำทุกอย่างที่จะทำให้ที่ดินนี้ได้ผลผลิต...

และเมื่อชายผู้นี้หักเอาเมล็ดพันธุ์พืชของเขา ออกจากกระบวนการเก็บเกี่ยว รวมทั้งหักสิ่งที่เขาบริโภคเข้าไป และนำไปแลกเปลี่ยนกับคนอื่นเพื่อได้มาซึ่งเสื้อผ้าและเครื่องใช้ไม้สอยที่จำ เป็นสำหรับชีวิตประจำวันแล้ว ถือได้ว่าข้าวโพดจำนวนที่เหลืออยู่นั้นเองคือค่าเช่าตามธรรมชาติและค่าเช่า ที่แท้จริงสำหรับปีนั้น"

ความคิดในเรื่องทรัพย์และความมั่งคั่งของเพ็ต ตี้ถือว่าเป็นความพยายามที่จะดึง "ทรัพย์และความมั่งคั่ง" กลับมาสู่ความเป็นจริง นั่นคือ การเน้นไปที่ทักษะ แรงงานและผืนแผ่นดิน โดยวิพากษ์แนวคิดความเชื่อในเรื่อง "เงินทองคือทรัพย์"

ในบรรดานักเศรษฐศาสตร์ทั้งหมดในศตวรรษที่สิบ เจ็ด กล่าวได้ว่า เซอร์ ดัดลี่ย์ นอร์ธ (Sir Dudley North) ถือเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงโด่งดังและอิทธิพลต่อคนรุ่นหลังรองลงมาจาก เพ็ตตี้ ในงานที่ชื่อ Discourse upon Trade ตีพิมพ์ในปี ค.ศ.1691

เขาอธิบายไว้อย่างชัดเจนว่า การพาณิชย์ (commerce) หมายถึงการแลกเปลี่ยนสินค้าโภคภัณฑ์ และสิ่งที่คนต้องการเมื่อคนเราทำการค้า ไม่ได้มุ่งที่ตัวเงิน แต่มุ่งที่สินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ สำหรับมาใช้แลกเปลี่ยนกับสินค้าอื่นต่อไป

นอร์ธแสดงทัศนะไว้ว่า "ดังเช่นที่กล่าวกัน คือ การค้าและพาณิชย์เกิดขึ้นครั้งแรกจากแรงงานของมนุษย์ แต่เมื่อปริมาณหุ้น (stock) เพิ่มขึ้น การค้าและพาณิชย์ก็กลับยิ่งเจือจางลง

ถ้าลองสมมติว่า ประเทศๆ หนึ่งไม่มีอะไรอยู่เลย นอกจากผืนดินและผู้อยู่อาศัย ก็จะเห็นได้อย่างแจ่มแจ้งว่า ในตอนเริ่มต้น คนมีเพียงแต่ผลผลิตที่ผืนดินมอบให้และแร่ธาตุที่มาจากแอ่งต่างๆ บนผืนดินนั้น การค้าขายสิ่งของกัน ไม่ว่าจะกระทำโดยขนสินค้าเข้าไปยังส่วนต่างๆ ของยุโรป หรือขายให้แก่ผู้ที่เดินทางมาซื้อมัน และขณะเดียวกันก็ได้สินค้าอื่นที่เป็นที่ต้องการจากต่างประเทศกลับคืนมา

ในกระบวนการค้าขายเช่นนี้ แร่เงินและทองก็ไม่ต่างจากสินค้าอื่นๆ แต่จะถูกเอาไปจากคนที่มีมาก และนำไปให้แก่คนที่ต้องการหรือปรารถนาที่จะได้มัน โดยทำกำไรให้แก่ผู้ค้าขายได้ดีเท่าๆ กับสินค้าแบบอื่น

ดังนั้น ประเทศที่รอบคอบและขยันขันแข็งก็จะยิ่งร่ำรวยขึ้น ขณะที่ประเทศที่อืดอาดเชื่องช้า ก็จะยิ่งจนลง ดังนั้น จึงไม่อาจมีนโยบายอื่นใด นอกเหนือไปจากนี้ที่ควรถูกนำมาใช้และปฏิบัติเพื่อการเพิ่มปริมาณการค้าและ ความมั่งคั่ง

แต่ข้อเสนอนี้ ทั้งที่มันออกจะเรียบง่ายและมีอยู่เพียงข้อเดียวนี้เอง กลับมักจะไม่ค่อยเป็นที่เข้าใจกันนัก ถ้าพูดถึงมนุษยชาติโดยทั่วๆ ไป พวกเขามักจะคิดว่าควรใช้กฎหมายเพื่อเก็บรักษาแร่เงินและทอง ที่ได้มาจากการค้ากับต่างประเทศไว้ภายในประเทศ และหวังที่จะร่ำรวยขึ้นอย่างรวดเร็วทันควัน

แต่สิ่งนี้เป็นความผิดพลาดทางเหตุผลอย่างมหันต์ ทีเดียว"




ความสำคัญและคำอธิบายเรื่อง "เศรษฐกิจพอเพียง" ในปรัชญาการเมืองตะวันตก (8)

คนแคระบนบ่ายักษ์ : แพทย์ พิจิตร  มติชนรายสัปดาห์  วันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 28 ฉบับที่ 1427

ความแตกต่างสำคัญระหว่าง "เศรษฐศาสตร์สมัยใหม่กระแสหลัก" กับ "เศรษฐกิจพอเพียง" ในปรัชญาการเมืองกรีกโบราณของเซโนฟอน (426-355 ก่อนคริสตกาล) อยู่ที่ประเด็นความเข้าใจเรื่อง "ทรัพย์และความมั่งคั่ง" ตามความเข้าใจของคนทั่วไป เศรษฐศาสตร์สมัยใหม่ถือ "เงินทอง" เป็นดัชนีบ่งบอกถึงความมั่งคั่ง แต่ "เศรษฐกิจพอเพียง" กรีกโบราณไม่คิดเช่นนั้น

จากเซโนฟอนถึงอริสโตเติลและเรื่อยมาจนถึงนักคิด ในยุคกลางของยุโรปยังยึดในหลักการของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และตอกย้ำวิพากษ์ผู้คนที่เห็น "เงินทอง" สำคัญกว่า "ข้าวปลาอาหาร" จนกระทั่งถึงศตวรรษที่สิบเจ็ด เซอร์ ดัดลี่ย์ นอร์ธ (Sir Dudley North) ของอังกฤษวิพากษ์ระบบเศรษฐกิจแบบพาณิชย์นิยมที่เป็นจุดเริ่มต้นของการก่อตัว ของเศรษฐศาสตร์สมัย

นอร์ธโจมตีระบบพาณิชญ์นิยมที่เน้นการสั่งสมเงิน ตราและทองในฐานะที่เป็นสัญลักษณ์ของความมั่งคั่งของประเทศ โดยผลกระทบที่ตามมาก็คือ ข้าวปลาอาหารกลับมีราคาผันแปรไปตามเงินทอง ทั้งๆ ที่เงินทองนั้นกินไม่ได้!

เซอร์ ดัดลี่ย์ นอร์ธ วิพากษ์วิธีคิดเรื่องความร่ำรวยโดยเอาเงินไปตัวตั้งว่า "คนเหล่านี้ต้องการอะไรจากการเรียกร้องอยากจะได้เงินทองมากๆ...เงินไม่ใช่ สิ่งที่พวกเขาต้องการ แต่มันคือราคาสำหรับข้าวโพดและปศุสัตว์ที่พวกเขาจะขายได้หรือไม่ได้ต่างหาก"

นอร์ธได้สรุปหลักการทั้งหมดของเขาไว้ใน ปัจฉิมลิขิตอันมีใจความว่า "ไม่มีใครเลยที่ร่ำรวยได้โดยเพียงอาศัยนโยบายต่างๆ แต่สิ่งสำคัญคือสภาวะสันติภาพ (สภาวะที่ทุกคนจะสามารถทำงานสร้างฐานะ-ไม่ใช่สภาวะสงครามจลาจล) ตลอดจนความอุตสาหะและเสรีภาพที่นำมาซึ่งการค้าและความมั่งคั่ง ไม่ใช่สิ่งอื่นใดนอกเหนือจากเลยนี้"

ในปี ค.ศ.1707 หนึ่งในบรรดาผู้คัดค้านลัทธิพาณิชย์นิยมคือ บารอน เล เพรสเตอร์ เดอ เวาแบน (Le Prestre de Vauban) นายพลแห่งกองทัพฝรั่งเศส เวาเบนแสดงความเกลียดชังต่อความก้าวหน้าของการค้าและชนชั้นพ่อค้า และเหนือสิ่งอื่นใดคือ เขาเกลียดชังนโยบายของผู้แทนของชนชั้นเหล่านี้

เวาแบน เสนอให้มีการเก็บภาษีจากคนทุกคนที่มีรายได้โดยไม่เลือกหน้า โดยจ่ายในรูปของพืชผักสำหรับเกษตรกร และในรูปของเงินสำหรับพ่อค้าและผู้ผลิตต่างๆ ส่วนภาษีอื่นๆ ควรยกเลิกไปทั้งหมด เขายืนยันว่า

"...ความมั่งคั่งที่แท้จริงของประชาชนอยู่ที่ การมีข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิต ที่พวกเขาไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้โดยปราศจากมันอยู่อย่างบริบูรณ์"

และ "มันคือประชาชนคนชั้นล่างที่แรงงานและการทำค้าขายของพวกเขาและรวมถึงสิ่งที่ พวกเขาจ่ายให้แก่องค์กษัตริย์ ที่ทำให้ทั้งองค์กษัตริย์และอาณาจักรของพระองค์มั่งคั่งร่ำรวยขึ้น มันคือคนเหล่านี้ที่ประกอบการค้าพาณิชย์ และทำการผลิตสิ่งของให้แก่ราชอาณาจักรที่ช่วยเพิ่มเสริม (furnish) ผลผลิตของผู้ใช้แรงงาน ผู้ผลิตเหล้าองุ่น ผู้ไถหว่านผืนดิน ผู้ดูแลปศุสัตว์ ผู้หว่านเมล็ดข้าวโพดและเก็บเกี่ยวมัน ผู้ดูแลต้นองุ่นและผลิตไวน์

กล่าวโดยสรุป มันคือคนที่ทำสิ่งต่างๆ ทั้งเล็กน้อยและใหญ่โตในประเทศและในเมือง แต่พวกเขาคือ พลเมืองของชาติที่ทั้งมีประโยชน์เหลือเกิน และก็น่าชิงชังเหลือเกิน (ข้อความหลังนี้ เวาเบนต้องการประชนชั้นสูง!) ผู้ซึ่งต้องเผชิญกับความทุกข์ยากมานานและก็ยังคงเผชิญอยู่จนถึงปัจจุบัน"

ในช่วงกลางของศตวรรษที่สิบแปด ทฤษฎีพาณิชย์นิยมแบบเข้มข้นก็ต้องยอมอ่อนข้อให้แก่ข้อวิจารณ์ และการโจมตีที่มาจากหลายทิศทาง ผู้สนับสนุนลัทธิพาณิชย์นิยมชาวอังกฤษคนสุดท้ายคือ จอห์น กี (John Gee) ซึ่งเขียนหนังสือชื่อ Trade and Navigation of Great Britain Considered ซึ่งฉบับตีพิมพ์ครั้งที่สองปรากฏขึ้นในปี ค.ศ.1730 ที่เขาเรียกร้องว่า

"คนจำนวนมากพากันเข้าใจผิด และผิดมากเสียจนกระทั่งพวกเขามองไม่เห็นความแตกต่างระหว่าง การมีทรัพย์สินคงคลัง เป็นเงิน และทองจำนวนมหาศาลอยู่ในราชอาณาจักร และเหรียญกษาปณ์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่แท้จริงเพียงหนึ่งเดียว ของทรัพย์สมบัติและความมั่งคั่งร่ำรวย กับการที่เงินดังกล่าวถูกนำออกนอกประเทศ แต่พวกเขากล่าวว่า เงินคือสินค้าเช่นเดียวกันสิ่งอื่นๆ ทั้งหมด และคิดว่าพวกเขาจะไม่มีวันจนลงจากสิ่งที่ชาติส่งออกเป็นประจำนี้"

อย่างไรก็ตาม แม้โดยทางปฏิบัติ ทฤษฎีพาณิชย์นิยมจะถูกทำลายลง แต่นโยบายที่มีพื้นฐานอยู่บนทฤษฎีชนิดนี้ ยังคงดำรงอยู่ต่อไปจนกระทั่งหลังยุคสมัยของ อดัม สมิธ (Adam Smith) นโยบายนี้คือความพยายามโดยอาศัยการออกกฎหมายหรือวิธีการอื่นๆ ที่จะได้มาและรักษาไว้ซึ่งดุลการค้าของประเทศใดประเทศหนึ่ง

ระบบนี้มีหลักใหญ่คือการปกป้องทางการค้า (protection) เพราะการปกป้องนี้ทำให้ประเทศ มีการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศลดลง แม้สินค้าที่ส่งออกจะไม่เพิ่มขึ้นก็ตาม

เป้าหมายสำคัญของชนชั้นปกครอง-ซึ่งส่วนใหญ่มา จากชนชั้นกลาง-ในขณะนั้นคือ การได้มาซึ่งการผูกขาดทางการค้า ขณะเดียวกัน กล่าวได้ว่า แนวคิดที่ว่าประเทศสามารถผูกขาดทางการค้าได้โดยการใช้วิธีการ เช่น มาตรการกำแพงภาษี หรือวิธีการอื่นๆ เป็นซากความคิดและวิธีปฏิบัติที่ตกทอดมาจากผู้คุมอำนาจทางเศรษฐกิจ และการเมือง ในสมัยยุคกลาง

แต่นโยบายดังกล่าวในยุคสมัยนี้ถูกนำมาใช้เพื่อ ประโยชน์ของชนชั้นกลางที่มีหลักคิดแบบใหม่ ที่แตกต่างจากของยุคกลางอย่างแทบจะเป็นตรงกันข้ามทีเดียว

จากนั้น แนวคิดทฤษฎีทางเศรษฐกิจของชนชั้นกลางและตัวชนชั้นกลางเองก็ได้พัฒนา ควบคู่กันไปสู่ความสมบูรณ์ ที่จะพัฒนาไปสู่เศรษฐศาสตร์สมัยใหม่มากขึ้นในเวลาต่อมา และส่งผลให้เริ่มเห็นชัดว่า ขณะที่มันตอบสนองผลประโยชน์เฉพาะหน้าของปัจเจกบุคคลที่เป็นตัวแทนของชนชั้น พ่อค้า แต่ในระยะยาวหลักการเสรีทางการค้านี้กลับจะเป็นอุปสรรคที่ทำให้ชนชั้นดัง กล่าว ทั้งชนชั้น หรือ ในฐานะชนชั้นหนึ่ง ไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ แม้แต่ตัว อดัม สมิธ เองก็ดูจะตระหนักถึงข้อเท็จจริงนี้อยู่เป็นนัยๆ

ดังจะเห็นได้จากการที่เขากล่าวโจมตีการปกป้อง คุ้มครองทางการค้าอยู่บ้างเป็นบางครั้งบางคราว

ซึ่ง สมิธ เชื่อว่าเขากำลังโจมตีผลประโยชน์เฉพาะพิเศษของชนชั้นพ่อค้า ขณะที่จริงๆ แล้ว สิ่งที่เขาทำ กลับกลายเป็นการวางพื้นฐานทางทฤษฎีที่หนักแน่นน่าเชื่อถือให้แก่ผลประโยชน์ ของชนชั้นเหล่านั้นอยู่ต่างหาก

ปฏิกิริยาต่อหลักการพื้นฐานของระบบพาณิชย์นิยม ที่ว่า เงินคือแหล่งสะสมเดียวของความมั่งคั่ง (the sole repository of wealth) และหลักการข้างเคียงที่ว่า การค้าคือหนทางเดียวที่จะได้มาซึ่งเงินนั้น ปรากฏในประเทศฝรั่งเศสในรูปของระบบฟิสิโอแครต (physiocratic) ซึ่งเป็นระบบที่ถือว่าที่ดินหรือผืนแผ่นดินที่บุคคลครอบครองเท่านั้นที่เป็น แหล่งสะสมแห่งเดียวของความมั่งคั่ง

และหลักการข้างเคียงที่ว่า การเกษตรกรรมคือหนทางเดียวที่จะทำให้ความมั่งคั่งจากผืนดินเกิดขึ้นจริงได้

แนวคิดของสำนักนี้เริ่มต้นที่พ่อค้าชื่อ คองติลยง (Cantillon) แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจอย่างจริงจัง

(--คองติลยงเขียนหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ "Essay on the Nature of Commerce in General" หรือ "ความเรียงว่าด้วยธรรมชาติของการค้าทั่วไป" ซึ่งไม่มีใครให้ความสำคัญมากนักจนกระทั่งครบรอบ 250 ปีของหนังสือดังกล่าวในปี พ.ศ.2548 นักวิชาการปัจจุบันถึงยอมรับและยกย่องว่า คองติลยงเป็นนักคิดคนแรก ที่สร้างระเบียบวิธีการศึกษาทางเศรษฐศาสตร์ และได้นำเสนอตัวแบบทางทฤษฎีในการทำความเข้าใจเศรษฐกิจ--)

จนกระทั่งถึง ฟรังซัว เควสเนย์ (Francois Quesnay) และ ฌัง เดอ กูร์เนย์ (Jean de Gournay) ซึ่งเป็นสมาชิกระดับหัวหน้าของกลุ่ม "นักเศรษฐศาสตร์" (the Economicists) หรือ นักฟิสิโอแครต (Physiocrats) ได้ช่วยกันพัฒนาความคิดขึ้นอย่างเป็นระบบและมีรายละเอียดมากขึ้น

แต่จุดเริ่มต้นของระบบความคิดนี้มีปรากฏตั้งแต่ ในงานของ คองติลยง แล้ว จากที่เขากล่าวว่า "ผืนแผ่นดินคือที่มาหรือวัตถุที่ความมั่งคั่งทั้งหลายถูกดึงออกมา ส่วนแรงงานของมนุษย์คือเครื่องมือที่ผลิตมันขึ้น"

ซึ่งความคิดนี้ได้ถูกนำมาขยายความอย่างละเอียด โดย เควสเนย์ ใน Tableau Economique (1755) และ Maximes g?n?rales de Gouvernement Economique d"un Royaume Agricole (1758) ซึ่งงานชิ้นหลังประกอบด้วยคติแนวคิดจำนวนมาก ที่ถูกนำไปใช้การกำหนดทิศทางของผู้ปกครองและประชาชน ตัวอย่างจากคติเหล่านี้ ได้แก่

"คติที่ 3: ผู้ปกครองและชาติต้องถูกทำให้ไม่ลืมว่าผืนดินคือแหล่งที่มาเดียวของความ มั่งคั่ง และการเกษตรกรรมคือสิ่งที่ช่วยเพิ่มขนาดและจำนวนของความมั่งคั่ง

เนื่องจากความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นเป็นสิ่งยืน ยันว่าในบรรดาประชาชน มนุษย์ และความมั่งคั่งทำให้การเกษตรกรรมเจริญรุ่งเรือง ทำให้การค้าขยายตัว กระตุ้นอุตสาหกรรม และส่งเสริมและผลักดันให้ความมั่งคั่งดำรงอยู่ตลอดไป และความสำคัญในการปกครองทุกๆ ส่วนของชาติก็ขึ้นอยู่กับแหล่งที่มาอันอุดมสมบูรณ์นี้เอง"

และ "คติที่ 25: จงรักษาไว้ซึ่งเสรีภาพอย่างเบ็ดเสร็จสมบูรณ์ในการทำการค้า เนื่องจากสิ่งที่จะปกป้องการค้าพาณิชย์ ทั้งภายในและภายนอก- อันเป็นสิ่งที่แน่นอนที่สุด และสร้างผลกำไรมากที่สุดแก่ชาติและรัฐ-ได้อย่างแน่นอนที่สุดก็คือ เสรีภาพที่จะแข่งขันอย่างไม่มีขีดจำกัดนั่นเอง"

จะเห็นได้ว่า แนวคิดเศรษฐศาสตร์ของพวกฟิสิโอแครตนั้นมีประเด็นที่น่าสนใจในเรื่องนัยความ หมายของ "ความมั่งคั่ง" ที่เน้นไปที่ที่ดิน เกษตรกรรมและแรงงานมากว่าเงินทอง แต่กระนั้น ภายใต้บริบทของเศรษฐกิจ ที่กำลังขยายตัวไปสู่การเป็นตลาดโลกนั้น ทำให้พวกเขามุ่งเน้นไปที่การแข่งขันทางการค้า อย่างไม่มีขีดจำกัด หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ "ไม่เคยพอ" นั่นเอง

ดังจะเห็นได้จากงานของ Tableau Economique ของเควสเนย์ ที่เสนอคติที่ว่า Pauvres paysans, pauvre royauame; pauvre royaume, pauvre roi. ซึ่งในเวลาต่อมาได้กลายเป็นที่มาของคติพจน์ที่ว่า Laissez faire et laissez passer, le monde va de lui meme----"Let do and let pass, the world goes on by itself!"

ปล่อยให้มันดำเนินไป ปล่อยให้มันเป็นไป โลกมันจะเดินไปได้ด้วยตัวของมันเอง อันเป็นที่มาของหลักแห่งการค้าเสรีนั่นเอง




จากปรัชญา "เศรษฐกิจพอเพียง" กรีกโบราณถึงเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่ของอดัม สมิธ (9)

คนแคระบนบ่ายักษ์ : แพทย์ พิจิตร  มติชนรายสัปดาห์  วันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 28 ฉบับที่ 1428

แนวคิดเศรษฐกิจสมัยใหม่ที่เรียกว่า "พาณิชย์นิยม" ถือเงินตราและทองคำเป็นดัชนีชี้วัดความมั่งคั่งร่ำรวย ในขณะที่ปรัชญาเศรษฐกิจของเซโนฟอนเมื่อสองพันปีที่แล้วเน้นความเป็นเศรษฐกิจ พอเพียงที่ไม่ถือว่าการมีเงินมากๆ เป็นความมั่งคั่ง

ขณะเดียวกัน แม้ว่าแนวคิดเศรษฐกิจสมัยใหม่อีกแนวหนึ่งหรือที่เรียกว่า "ฟิสิโอแครต" ที่พัฒนาต่อจาก "พาณิชย์นิยม" จะให้ความสำคัญกับที่ดิน เกษตรกรรมและแรงงานในฐานะสัญลักษณ์ของความมั่งคั่งร่ำรวยมากกว่าเงินทอง แต่กระนั้น พวกฟิสิโอแครตก็เน้นไปที่การแข่งขันทางการค้าอย่างไม่มีขีดจำกัด ซึ่งสวนทางกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

เพราะพวกฟิสิโอแครตไม่เห็นความจำเป็นของ "ความพอเพียง"

พวกฟิสิโอแครตเป็นต้นกำเนิดแห่งคติพจน์ของการ ค้าเสรี นั่นคือ Laissez faire et laissez passer, le monde va de lui meme----"Let do and let pass, the world goes on by itself!" ปล่อยให้มันดำเนินไป ปล่อยให้มันเป็นไป โลกมันจะเดินไปได้ด้วยตัวของมันเอง อันเป็นที่มาของหลักแห่งการค้าเสรีนั่นเอง

ศิษย์คนสำคัญที่สุดของสำนักฟิสิโอแครตคือ มิราโบ (Mirabeau) และทูร์โก (Turgot) ซึ่งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ ที่ได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวาง มิราโบได้เขียนงานหลายชิ้น ที่อธิบายระบบความคิดของฟิสิโอแครต หนึ่งในนั้นคือ La Philosophie Rurale (1763) ที่กล่าวว่า

"ช่างฝีมือผู้ถักทอใยผ้า พ่อค้าผู้ค้าขายสิ่งเหล่านี้ ผู้ขนส่งผู้ให้บริการขนส่งใยผ้าที่ถักทอแล้ว ช่างตัดเสื้อผู้ตัดเย็บมันให้เป็นเสื้อผ้า ทนายผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษในคดีความ ผู้รับใช้ซึ่งคอยบริการเขา คนเหล่านี้สามารถบริโภคได้ ก็เพราะค่าตอบแทนที่ผู้ว่าจ้างของเขาหรือลูกค้าผู้ซื้อผลผลิตของพวกเขาจ่าย ให้แก่เขา เนื่องจากสิ่งที่แรงงานของพวกเขาและผลผลิตของพวกเขามอบให้แก่พวกเขาทั้งหมด ก็คือ ค่าตอบแทนนี้ ซึ่งตัวมันเองก็จะกลายไปเป็นค่าใช้จ่ายต่อไป เมื่อเขาจ่ายเงินให้แก่ผู้อื่น

ซึ่งถ้าสืบย้อนกลับไปถึงแหล่งที่มาของมัน ก็จะพบว่าเงินจำนวนนี้มาจากสิ่งเดียวเท่านั้นคือ ผืนแผ่นดิน ซึ่งผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ทั้งหมดที่เราใช้"

ส่วนทูร์โกต์ คือผู้ที่อธิบายแจกแจงความคิดของนักเศรษฐศาสตร์กลุ่มฟิสิโอแครตไว้อย่างเป็น ระบบระเบียบ และชัดเจนสมบูรณ์แบบที่สุด ในงานเขียนของเขาที่ชื่อ Reflexions sur la formation et la Distribution des Richesses (1766) เป็นการวิจัยและรวบรวมศาสตร์ที่ว่าด้วยเศรษฐศาสตร์การเมืองทั้งหมดไว้โดยย่อ แต่สมบูรณ์ ซึ่งเริ่มต้นในลักษณะเดียวกับงานของ อดัม สมิธ

นั่นคือ การชี้ให้เห็นถึงข้อดีและความจำเป็นของการแบ่งงานกันทำ และผลลัพธ์ที่จะตามมาจากการทำเช่นนี้ในรูปของการแลกเปลี่ยนสินค้าโภคภัณฑ์ อย่างเป็นระบบ เขากล่าวว่า "ทุกคนผูกพันตัวเองเข้ากับงานประเภทใดประเภทหนึ่งและประสบความสำเร็จได้ดี กว่าในบทบาทนั้น

เกษตรกรผู้เลี้ยงปศุสัตว์สามารถได้ผลผลิตปริมาณ มากที่สุดเท่าที่ที่นาของเขาจะสามารถผลิตได้ และสามารถได้มาซึ่งทุกสิ่งที่เขาต้องการได้อย่างสะดวกและง่ายดายมากขึ้นโดย การแลกเปลี่ยนผลผลิตส่วนเกินของเขากับคนอื่นๆ มากกว่าที่เขาจะสามารถได้มาด้วยแรงงานของตัวเขาเองทั้งหมด

ช่างตัดรองเท้าโดยการผลิตรองเท้าให้แก่เกษตรกร ผู้นี้ก็จะได้มาซึ่งผลผลิตทางการเกษตรที่เพียงพอสำหรับตัวเขาใช้

คนทำงานทุกคนใช้แรงงานของตนเพื่อตอบสนองความ ต้องการของคนทำงานที่อยู่ในสาขาอาชีพอื่น

ซึ่งในทางกลับกัน คนเหล่านั้นในแง่หนึ่งก็ทำงานหนักเพื่อเขาเช่นกัน"

จากนี้ ทูร์โกต์ อธิบายต่อไปว่า แรงงานที่เกษตรกรใช้กับที่ดินของเขาคือ แหล่งที่มาแรกสุดของความมั่งคั่งทั้งหลายทั้งปวง เนื่องจากอาหารคือสิ่งจำเป็นพื้นฐานประการแรกสำหรับมนุษย์ แต่เนื่องจากการที่เขาเป็นพวกฟิสิโอแครต ทำให้ ทูร์โกต์ สรุปอย่างไม่ถูกต้องว่า มีแต่ที่ดินเท่านั้นที่สามารถก่อให้เกิดความมั่งคั่งได้

ดังที่เขาได้กล่าวอย่างเชื่อมั่นว่า "เกษตรกรคือคนเพียงกลุ่มเดียวที่ความอุตสาหะของพวกเขา ก่อให้เกิดผลผลิตที่มีมูลค่าสูงกว่าค่าจ้างแรงงานของพวกเขา ดังนั้น เขาจึงเป็นเพียงที่มาเดียวเท่านั้นของความมั่งคั่ง"

ทูร์โกต์ ชี้ให้เห็นว่า เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ ค่าจ้างแรงงานจะต้องถูกลดทอนให้อยู่ในระดับที่เพียงพอสำหรับการเลี้ยงชีวิต เท่านั้น ซึ่งตรงนี้ทำให้เขาเองก็ไม่ต่างจาก เพ็ตตี้ และ สมิธ ที่ได้เคยกล่าวไปในตอนก่อนๆ แล้ว เพราะเขายังไปไม่ถึงความเข้าใจเรื่องค่าเช่าทางเศรษฐกิจ (conception of economic rent) ด้วย

ทูร์โกต์ กล่าวว่า "ผืนดินทุกผืนไม่ได้มีความอุดมสมบูรณ์อย่างเท่าเทียมกัน : คนสองคนที่มีผืนดินขนาดเท่ากันอาจเก็บเกี่ยวผลผลิตได้จำนวนไม่เท่ากัน

นี่คือแหล่งที่มาประการที่สองของความไม่เสมอ ภาค"

ทูร์โกต์ เข้าใจเรื่องมูลค่าในการแลกเปลี่ยน (exchange value) อย่างถูกต้องดังจะเห็นจากการที่เขาอธิบายว่า "การค้าพาณิชย์ [กำหนด] ราคาที่เป็นปัจจุบันให้กับสินค้าทุกชนิด เมื่อเทียบกับสินค้าชนิดอื่นๆ ทำให้สิ่งที่ตามมาคือสินค้าทุกชนิดกลายมามีมูลค่าที่สมมาตรกับสินค้าชนิด อื่นๆ ในปริมาณหนึ่งๆ และเราสามารถยึดถือมูลค่านี้เป็นประดุจคำสัญญาสำหรับใช้แทนสินค้านั้น สินค้าทุกชนิดจึงอาจถูกใช้เป็นสเกล (scale) หรือมาตรวัดสำหรับใช้ร่วมกัน และสำหรับเปรียบเทียบมูลค่าของสินค้าชนิดอื่นๆ"

แต่จากนั้นเขากลับอธิบายว่า เงินทั้งหมดจัดเป็นสินค้า (money is merchandize) และเขายังให้เหตุผลที่แร่โลหะ มีค่าสมควรถูกใช้เป็นเงิน นอกจากนี้ ทูร์โกต์ ยังเข้าใจเห็นว่า มันคือแหล่งที่มาและตัวทุน (capital) ไม่ต้องสงสัยเลยว่างานชิ้นนี้ของมีอิทธิพลอย่างยิ่งในการแผ้วทางความคิดให้ แก่งานเขียนทางเศรษฐศาสตร์อันยิ่งใหญ่อย่าง The Wealth of Nations ของนักเศรษฐศาสตร์การเมืองที่มีชื่อเสียงที่สุดอย่าง อดัม สมิธ

ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ในประเทศอังกฤษ ถือได้ว่า ทัคเกอร์ ฮูมว์ และสจ๊วต (Tucker, Hume, and Stewart) เป็นผู้แผ้วทางทางปัญญาความคิดให้กับ อดัม สมิธ ในงานเขียนของ เซอร์ เจมส์ สจ๊วตเรื่อง Inquiry into the Principles of Political Economy (1767) เผยให้เห็นถึงเค้ารางโครงความคิดหลายประการ ที่ในเวลาอีกสิบปีต่อมา ได้ถูกนำมาแจกแจงและอธิบายไว้อย่างละเอียดโดย อดัม สมิธ ขณะเดียวกันสาธุ คุณโจเซีย ทัคเกอร์ ได้เขียนงานชิ้นสำคัญของเขาคือ Questions on Commerce ในปี ค.ศ.1755

ซึ่งในงานเขียนชิ้นนี้เขาได้โต้แย้งนักทฤษฎี พาณิชย์นิยมทั้งหลาย และให้เห็นผลสนับสนุนการค้าเสรี ส่วน ฮูมว์ ในงานชื่อ Political Discourse (1752) ได้ระบุถึงความจริงทางเศรษฐกิจบางประการไว้ เช่น เมื่อเขากล่าวว่า

"แรงงานที่ชาติหนึ่งมีคือ ทั้งหมดที่เป็นอำนาจและความมั่งคั่งแท้จริงของชาตินั้น"

และในที่สุด เมื่อ The Wealth of Nations ของ อดัม สมิธ ได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกในปี ค.ศ.1776 ก็ได้รับการยกย่องว่าเป็นข้อเขียนทางเศรษฐศาสตร์การเมือง ที่มีความเป็นวิทยาศาสตร์อย่างแท้จริงเล่มแรก ที่ถือกำเนิดขึ้นในโลก

ส่วนสำคัญของหนังสือเล่มนี้อยู่ที่หนังสือเล่ม ที่สาม (Book Three) อันถือได้ว่าเป็นหนึ่งในความพยายามแรกเริ่มในการทำความเข้าใจ และหาทางจัดการกับปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมจากมุมมองทางประวัติศาสตร์ และด้วยเหตุนี้ที่ทำให้ The Wealth of Nations กลายเป็นงานที่สร้างประวัติศาสตร์ (epoch-making) เลยทีเดียว

กล่าวได้ว่า The Wealth of Nations มีพื้นฐานอยู่บนระบบเศรษฐกิจแบบการผลิตอุตสาหกรรม และมีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อการปฏิวัติอุตสาหกรรมซึ่งเกิดขึ้นเพียงไม่กี่ปี หลังจากที่ สมิธ เสียชีวิต งานชิ้นนี้ก่อให้เกิดผลกระทบที่สำคัญอย่างยิ่งในเวลาต่อมาคือ

การล้มล้างแนวคิดความเชื่อเรื่องการปกป้องการ ค้าภายในประเทศ รวมทั้งการสถาปนาแนวคิดแบบการค้าเสรีขึ้นมาเป็นปรัชญาทางเศรษฐศาสตร์สมัย ใหม่ สำหรับคนชั้นกลางโดยทั่วไป

สรุปได้ว่า เมื่อเข้าสู่โลกสมัยใหม่ กล่าวได้ว่า ได้เกิดกระบวนทัศน์เกี่ยวกับ องค์ความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ในฐานะที่เป็นสาขาของการเรียนรู้ที่เป็นของสมัย ใหม่ อันเป็นผลให้มีการนิยาม "เศรษฐศาสตร์" ว่าเป็นศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการผลิต การจัดสรรและการแลกเปลี่ยนสินค้าอุปโภคบริโภค ส่วนแนวคิดเศรษฐศาสตร์ในยุคกรีกโบราณ ถูกมองว่าเป็นเพียงแค่ภาพลางๆ ทางความคิดแบบคร่าวๆ ของความเข้าใจในองค์ความรู้ทางเศรษฐศาสตร์เท่านั้น

และในยุคกลางเอง ก็ถูกมองว่าไม่มีความก้าวหน้าใดๆ ในแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์เกิดขึ้นเลยเนื่องจากยังคงอยู่ภายใต้อิทธิพลปรัชญา เศรษฐศาสตร์ของ เซโนฟอน-อริสโตเติล อยู่ การผลิตเกือบทั้งหมดเป็นไปเพียงเพื่อการใช้สอย ขณะที่การค้าขายแลกเปลี่ยนมีการพัฒนาน้อยมาก

และเมื่อถึงปลายศตวรรษที่สิบสี่ รากฐานของเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่ก็ได้เริ่มถือกำเนิดขึ้นในรูปของทฤษฎีพาณิชย์ นิยม ที่มีผู้ยอมรับนับถือกันจนถึงยุคสมัยของ อดัม สมิธ ซึ่งก่อนหน้า สมิธ ก็มีนักคิดหลายคนที่พยายามโจมตี การอ้างเหตุผลที่ผิดพลาดเด่นชัดของทฤษฎีที่ว่านี้ และเริ่มมีการเสนอแนวคิดหลายอย่าง ที่บางแนวคิดก็มีความสำคัญมากในฐานะที่เป็นการแผ้วทางไปสู่แนวคิดทาง เศรษฐศาสตร์สมัยใหม่ที่สำคัญๆ ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นในเวลาต่อมา

โดยแนวคิดเรื่องความพอเพียงและการระมัดระวังไม่ ให้เงินทองเป็นสัญลักษณ์ของความมั่งคั่งเริ่มเสื่อมสลายหายไป




จากปรัชญา "เศรษฐกิจพอเพียง" กรีกโบราณถึงเศรษฐศาสตร์สามานย์สมัยใหม่ (10)

คนแคระบนบ่ายักษ์ : แพทย์ พิจิตร  มติชนรายสัปดาห์  วันที่ 04 มกราคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 28 ฉบับที่ 1429

พัฒนาการขององค์ความรู้ที่เรียกว่า "เศรษฐศาสตร์สมัยใหม่" (modern economics) นับตั้งแต่ยุคสมัยของ อดัม สมิธ เป็นต้นมาได้นำมาสู่แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ที่แตกแขนงออกไป ได้แก่ หนึ่ง แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์แบบคลาสสิคที่เสนอโดย เดวิด ริคาร์โด (David Ricardo) มัลธัส (Malthus) เซย์ (J. B. Say) และเจมส์ มิลล์ (James Mill) ซึ่งเป็นแนวคิดกระแสหลักที่มีอิทธิพลครอบงำอยู่ช่วงหนึ่ง

และ สอง แนวคิดที่ถูกนักวิชาการบางกลุ่มเรียกว่าเป็นเศรษฐศาสตร์แบบสามานย์ (vulgar economy) ที่เสนอโดยนักคิดอย่าง วากเนอร์ ลาฟลี เจวอนส์ และซิดวิกค์ (Wagner, Laveleye, Jevons, and Sidgwick) ที่เป็นการดัดแปลงเศรษฐศาสตร์แบบคลาสสิก ให้อยู่ในรูปแบบที่ยินยอมให้รัฐเข้าแทรกแซงเสรีภาพ ในการผลิตแบบทุนนิยมสมัยใหม่มากขึ้น โดยใช้วิธีการออกกฎหมาย และ สาม แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์แบบสังคมนิยมที่เสนอโดยคาร์ล มาร์กซ์และนักคิดในสำนักของเขา

ในกลุ่มที่หนึ่งมี โทมัส โรเบิร์ต มัลธัส (Thomas Robert Malthus : 1746-1834) เป็นหนึ่งในนักคิดทางสังคมศาสตร์ที่สนใจศึกษาปัญหาทางเศรษฐศาสตร์ด้วย มัลธัส เสนอทฤษฎีเกี่ยวกับประชากร (theory of population) อันเป็นป้อมปราการหรือกันชนอย่างดีให้แก่ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์แบบคลาสสิคของชน ชั้นกลาง ในการต่อสู้กับการโจมตีของนักเศรษฐศาสตร์สังคมนิยมที่เรียกร้อง ให้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างถอนรากถอนโคน ตลอดจนการเรียกร้องเงื่อนไขใหม่ๆ

ซึ่งเป็นสิ่งที่ลำพังแนวคิดแบบที่เน้นสำนึก ทางมนุษยธรรม (humanitarian sentimentalism) ที่แพร่หลายอยู่ระหว่างศตวรรษที่สิบแปดไม่สามารถตอบสนองได้

ปัญหาที่ถูกโจมตีคือสภาพชีวิตอันย่ำแย่ของคน ชั้นล่าง อันเกิดจากการขยายตัวอย่างรวดเร็วของเครื่องจักรกล และการทดแทนแรงงานมนุษย์ด้วยเครื่องจักร ซึ่งทำให้คนหลายพันหลายหมื่นคนต้องตกงาน และจมอยู่ในความยากจนข้นแค้นและทุกข์ยากอย่างแสนสาหัส

ปัญหาดังกล่าวนี้ถูกยกขึ้นมาเพื่อเรียกร้องคำ อธิบายจากนักเศรษฐศาสตร์

จากข้อเขียนที่ชื่อ Essay on the Principle of Population มัลธัส เชื่อว่าเขาได้ค้นพบคำอธิบายนี้ในทฤษฎีของเขาที่ว่าการเจริญเติบโตของ ประชากร มักจะเกิดขึ้นเร็วกว่าการเพิ่มขึ้นของปริมาณอาหารที่มีอยู่สำหรับตอบสนอง การบริโภค ดังนั้น การขจัดปัญหาความยากจนจึงสามารถทำได้โดยการจำกัดจำนวนประชากรโลก

ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์คลาสสิกส่วนใหญ่ยอมรับความ คิดนี้ของ มัลธัส ประดุจดั่งทฤษฎีแม่บทที่ไม่ต้องมีการพิสูจน์ (axiom) แต่อย่างใด และแม้แต่นักเศรษฐศาสตร์แบบสามานย์เองก็ยังยอมรับทฤษฎีนี้ในระดับหนึ่ง จวบจนกระทั่งถึงปัจจุบัน

นั่นคือ ปัญหาเศรษฐกิจในโลกเกิดจากความไม่พอเพียงของทรัพยากรสำหรับจำนวนประชากรที่ เพิ่มมากขึ้นกว่าในอดีตกาล

สําหรับ เดวิด ริคาร์โด (David Ricardo : 1772-1823) ผู้สืบทอดคนสำคัญของ อดัม สมิธ ในกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์คลาสสิค เขาตีพิมพ์งานเขียนชิ้นสำคัญคือ Principles of Political Economy ในปี ค.ศ.1817 ที่เสนอความคิดใหม่ว่า ความมั่งคั่งไม่ว่าจะอยู่ในรูปของทุนหรือรูปของสิ่งอื่นก็ตาม เป็นเพียงผลผลิตสะสม (accumulated product) ของแรงงาน และรวมทั้งการยืนยันจุดยืนของ อดัม สมิธ ที่ว่า แรงงานคือ พื้นฐานเพียงประการเดียวของมูลค่า ร่วมกับความคิดที่สัมพันธ์ไปด้วยกันที่ว่า "ราคาธรรมชาติ" (Natural price) ของสินค้าชนิดหนึ่ง แสดงออกถึงแรงงานทางสังคมทั้งหมดที่แฝงอยู่ภายในสินค้านั้น

นอกจากนี้ ริคาร์โด ยังเป็นคนแรกที่สร้างทฤษฎีเรื่องค่าเช่าทางเศรษฐกิจ (economic rent) ไว้อย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม โดยค่าเช่าดังกล่าวหมายถึงผลผลิตส่วนเกิน หรือผลผลิตที่ได้จากที่ดินใดก็ตาม ที่เกินไปกว่าผลผลิตที่จะได้จากที่ดินที่ใช้เพาะปลูกได้เลวที่สุด

กล่าวได้ว่า สมิธ มัลธัส และริคาร์โดเป็นเสมือนเทพเจ้าสามองค์ของแนวคิดเศรษฐศาสตร์คลาสสิก แนวคิดหลักที่พวกเขาวางรากฐานไว้ต่อมาได้ถูกขยาย--ให้อรรถกถาธิบายและทำให้ เข้าใจง่ายขึ้นโดยนักวิชาการกลุ่มหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วย เจมส์ มิลล์, แมคคัลลอค (McCulloch) และซีเนียร์ (Senior)

ก่อนจะกล่าวถึงแนวที่สามหรือแนวเศรษฐศาสตร์แนว สามานย์ (vulgar economics) นักคิดที่สำคัญอีกคนหนึ่งที่ควรจะกล่าว ถึงคือ จอห์น สจ๊วต มิลล์ (1806-1873) แม้จะไม่ใช่นักคิดที่เสนอแนวคิดแปลกใหม่เป็นของตัวเอง แต่ มิลล์ จัดเป็นนักคิดทางเศรษฐศาสตร์การเมืองที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคนหนึ่ง

งานเขียนของเขาที่ชื่อ Principles of Political Economy ซึ่งตีพิมพ์ในปี ค.ศ.1848 แม้เนื้อหาสาระจะเทียบได้กับเพียงแค่คู่มือของแนวคิดเศรษฐศาสตร์แบบคลาสสิค แต่สิ่งที่ทำให้งานชิ้นนี้มีความโดดเด่นและมีอิทธิพลอย่างกว้างขวางคือ บทสะท้อนที่แสดงออกถึงความเห็นอกเห็นใจอย่างยิ่ง และการชี้ให้เห็นว่า จิตสำนึกหรือสิ่งที่มักเข้าใจกันว่าเป็นกฎทางเศรษฐศาสตร์ (economic laws)-

หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ การนิรนัย (deductions) ข้อสรุปใดๆ เกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์การเมืองจากข้ออ้างคือเงื่อนไขที่เป็นอยู่ของสังคม-ไม่ ได้มีลักษณะที่ต้องเป็นจริงอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ดังที่ผู้สนับสนุนความเป็นศาสตร์แห่งเศรษฐศาสตร์มักจะอ้างกัน

มิลล์ต่อต้านข้อสรุปที่ตายตัวและปราศจากความ ยืดหยุ่นที่ได้มาอย่างง่ายๆ รวมทั้งกฎของเศรษฐศาสตร์แบบคลาสสิค แต่ขณะเดียวกัน เขาก็มองไม่เห็นหนทางที่จะหลีกหนีข้อสรุปและกฎเหล่านี้

ซึ่งทำให้งานเขียนชิ้นดังกล่าวนี้ของเขามี ลักษณะที่เปลี่ยนกลับไปกลับมา ระหว่างการอธิบายทัศนะทางเศรษฐศาสตร์ของยุคสมัย กับความพยายามที่ค่อนข้างสับสนในการจะหลีกหนีข้อสรุปที่เป็นผลลัพธ์ของทัศนะ เหล่านี้

สํานักเศรษฐศาสตร์สามานย์ (vulgar economics) ได้แก่ สำนักคิดทางเศรษฐศาสตร์กลุ่มหนึ่ง ที่เรียกกันในประเทศเยอรมนีที่ชื่อว่า "Katheder-Sozialisten" ซึ่งหมายถึงนักวิชาการทางเศรษฐศาสตร์แนวสังคมนิยม ที่ไม่ได้ต่อสู้เพื่อหลักการสังคมนิยมในทางปฏิบัติอย่างจริงจังแท้จริง เท่าไร ถ้ากล่าวในบริบทของไทย ก็น่าจะหมายถึง "พวกนักวิชาการที่วันๆ อยู่แต่ในห้องทำงานติดแอร์" (Socialists of the Professorial Chair)

นักวิชาการสายนี้วิพากษ์ทั้งฐานคิด (premises) และข้อสรุป (conclusions) ของเศรษฐศาสตร์คลาสสิค แต่ก็ตระหนักยอมรับหลักการพื้นฐานของเศรษฐศาสตร์คลาสสิคนี้อยู่ดี และพยายามประนีประนอมหลักการดังกล่าวเข้ากับการปฏิเสธลัทธิความเชื่อแบบ laissez-faire รวมทั้งการเข้าควบคุมแทรกแซงความสัมพันธ์ในระบบอุตสาหกรรมโดยรัฐ

นักคิดตัวแทนของกลุ่มนี้ได้แก่ เฮลด์ (Held) รอส์เลอร์ (Rosler) และวากเนอร์ (Wagner) สำนักคิดนี้ไม่ได้จำกัดตัวอยู่แต่เฉพาะในประเทศเยอรมันเท่านั้น แต่ยังมีผู้สนับสนุนในประเทศอื่นๆ ในทวีปยุโรปและในประเทศอังกฤษด้วย

ในบรรดานักคิดกลุ่มนี้ที่ไม่ใช่ชาวเยอรมัน ได้แก่ ลาฟลี (Laveleye) ซึ่งเป็นชาวเบลเยี่ยมและนักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษอย่าง เจวอนส์ (Jevons) และซิดวิกค์ (Sidwick)

จุดเด่นของ ลาลีฟ คือ เขาปฏิเสธความคิดความเชื่อที่ว่า เราสามารถกำหนดเส้นทางพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่แน่นอนชัดเจนได้ รวมทั้งไม่เห็นด้วยว่า องค์ความรู้ทางเศรษฐศาสตร์คลาสสิคถือเป็นองค์ความรู้ที่เป็นวิทยาศาสตร์

ลาลีฟ ไม่เชื่อว่า ทางออกสำหรับปัญหาทางเศรษฐกิจทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับการที่ปัจเจกบุคคลต้องมี จิตใจที่ดีอย่างที่ มิลล์ เสนอ ซึ่งเป็นจุดยืนที่ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นวิธีการเชิงประวัติศาสตร์หรือวิทยา ศาสตร์ได้โดยสิ้นเชิง และแนวทางดังกล่าวนี้ถูกวิจารณ์ว่า มีความเหมาะสมมากกว่าสำหรับนักสังคมนิยมแบบคริสเตียนหรือนักสังคมนิยมที่ เน้นอารมณ์ทางศีลธรรม (sentimentalist)

นอกจาก ลาฟลี (Laveleye) แล้ว นักคิดคนสำคัญที่สุดอีกคนหนึ่งในกลุ่มนี้คือ เฮนรี่ ซิดวิค (Henry Sidgwick) ซิดวิค ปวารณาตัวที่จะบรรลุเป้าหมายคือการดัดแปลงเศรษฐศาสตร์แบบ laissez-faire (laissez-faire economy) ให้มีพื้นที่มากขึ้นสำหรับการแทรกแซงของรัฐในความสัมพันธ์ทางอุตสาหกรรม งานของเขาตีพิมพ์เมื่อปี ค.ศ.1883

นักคิดอีกคนหนึ่งนอกเหนือจากซิดวิค คือ จีวอนส์ ผู้ซึ่งเสนอความคิดเรื่องมูลค่าที่เขาเรียกว่า "อรรถประโยชน์ท้ายสุด" (final utility) ของสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งหมายถึงระดับที่สินค้านั้นเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคในขณะช่วงเวลาใด ขณะเวลาหนึ่ง

จีวอนส์ เห็นว่าระดับของอรรถประโยชน์นี้จะถูกกำหนดโดยอุปทาน ขณะที่อุปทานจะถูกกำหนดโดยต้นทุนการผลิตหรือแรงงานที่ใช้ในการผลิต

ซึ่งจะว่าไปแล้วทฤษฎีนี้ไม่ต่างจากทฤษฎีแรงงาน ของ อดัม สมิธ และ ริคาร์โด มากนัก เพียงแต่เขียนในรูปของภาษาทางคณิตศาสตร์ซึ่งค่อนข้างจำเจ น่าเบื่อหน่ายและหลายครั้งก็ไร้ความหมาย สมการบางสมการมีประโยชน์เพราะช่วยประหยัดคำอธิบาย ส่วนสมการอื่นๆ กลับดูเหมือนชี้ให้เห็นความเป็นไปไม่ได้ของการพูดถึงความคิดที่เป็นนามธรรม โดยใช้กระบวนการทางคณิตศาสตร์เท่านั้น



จากปรัชญา "เศรษฐกิจพอเพียง" กรีกโบราณ ถึงเศรษฐศาสตร์สังคมนิยมของมาร์กซ (11)

คนแคระบนบ่ายักษ์ : แพทย์ พิจิตร  มติชนรายสัปดาห์  วันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 28 ฉบับที่ 1430

ในขณะที่ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตะวันตกที่เริ่ม ขึ้นจากนักปรัชญาการเมืองกรีกโบราณที่ชื่อเซโนฟอนมุ่งชี้ให้เห็นว่า ความมั่งคั่งมิได้วัดกันที่ปริมาณของเงินทองหรือที่ดิน เศรษฐศาสตร์สมัยใหม่กลับปฏิเสธความคิดดังกล่าว และมองว่าความคิดดังกล่าวเป็นผลผลิตจากบริบทการผลิตและเศรษฐกิจแบบโบราณดั้ง เดิมที่ยังมุ่งผลิตเพื่อยังชีพ (subsistent economy) มากกว่าการพาณิชย์

หนึ่งในแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องของคุณค่าหรือความ มั่งคั่งของเศรษฐศาสตร์สามานย์สมัยใหม่คือ นักเศรษฐศาสตร์อย่าง จีวอนส์ ผู้ซึ่งเสนอทฤษฎีที่เน้นว่า เกณฑ์สุดท้ายสำหรับตัดสินเกี่ยวกับมูลค่า คือการประเมินที่เป็นปัจจุบันเกี่ยวกับสินค้า หรือถ้ากล่าวในภาษาของจีวอนส์ ก็คือ "ระดับของอรรถประโยชน์ขั้นสุดท้าย"

ทฤษฎีที่ว่านี้ก็เช่นเดียวกับทฤษฎีอื่นๆ ที่ก่อให้เกิดความสับสนระหว่างคุณค่าที่เป็นแก่นหรือเนื้อหาที่จำเป็น (essence or substance) ของสิ่งสิ่งหนึ่งกับคุณค่าที่เป็นลักษณะหรือการแสดงออกที่ปรากฏของมันเท่า นั้น

แม้ว่าจะไม่มีใครปฏิเสธว่าอุปสงค์และอุปทานมี ส่วนอย่างมากในการกำหนดมูลค่า (value) หรือราคา (price) ในขณะหนึ่งของทุกสิ่งทุกอย่าง แต่การยอมรับเช่นนี้เป็นคนละเรื่องกันกับการยอมรับว่า การแสดงออกของมูลค่าในกรณีเฉพาะหรือตัวอย่างเฉพาะหนึ่งๆ คือ สิ่งเดียวกับสิ่งที่เป็นแก่นหรือเนื้อหาของวัตถุทางเศรษฐศาสตร์นั้นๆ

และการแสดงออกดังกล่าวคือ สิ่งที่หากขาดหายไปแล้ว วัตถุนั้นจะยังคงเป็นวัตถุเดิมอยู่ได้

ไม่มีใครปฏิเสธว่า "อุปสงค์และอุปทาน" คือ ratio existendi หรือสาเหตุเชิงประจักษ์ของมูลค่าของสินค้าอุปโภคบริโภคหนึ่งๆ แต่กระนั้น มันก็ไม่ได้แตะข้อเท็จจริงที่ว่า พื้นฐาน (ground) ของแก่นหรือตัวตนเชิงแก่น (ratio existendi) ของสิ่งที่ว่านั้นคือ "แรงงาน"

มูลค่าทางเศรษฐกิจนี้เกี่ยวข้องกับความแตกต่าง กันในราคาสินค้าซึ่งเกิดจากความผันผวนในตลาด หรือความไม่เท่าเทียมกันระหว่างอุปสงค์และอุปทาน เมื่อใดก็ตาม อุปสงค์และอุปทานของสินค้าหนึ่งมีความสมดุลกัน จะถือว่าสินค้านั้นมีมูลค่าที่แท้จริง และไม่ว่าตลาดจะมีความผันผวนเพียงใด ก็ยังเชื่อกันว่าสินค้าต่างๆ สามารถมีมูลค่าที่ว่านี้ได้

ระบบตลาดแบบผสม เช่น ระบบแบบ "Katheder-Sozialisten" ในประเทศเยอรมนี และนักเศรษฐศาสตร์การเมืองนอกกระแสหลัก (non-orthodox) ในประเทศอื่นๆ ซึ่งมีทัศนะใกล้เคียงกันนี้เองคือกลุ่มที่เรียกรวมๆ กันได้ว่า เศรษฐศาสตร์แบบสามานย์

สำหรับสำนักเศรษฐศาสตร์สำนักสุดท้ายในตระกูลของ เศรษฐศาสตร์สมัยใหม่คือ สำนักสังคมนิยม ซึ่งมี คาร์ล มาร์กซ์ เป็นหัวหอกสำคัญที่สุด แม้มาร์กซ์จะยอมรับแนวคิดเรื่องราคาของ สมิธ และ ริคาร์โด แต่เขาได้ข้อสรุปที่แตกต่างจากนักเศรษฐศาสตร์คลาสสิค (เศรษฐศาสตร์สมัยใหม่ก่อนหน้าเขา) อย่างสิ้นเชิง

อย่างไรก็ตาม แม้ อดัม สมิธ จะคาดการณ์ไม่ถูกต้องในหลายเรื่องเกี่ยวกับทฤษฎีของเขา ด้วยเงื่อนไขทางบริบทหลายประการที่แตกต่างไปจากยุคสมัยที่เขาเขียน The Wealth of Nations แต่กระนั้น สมิธ ก็ไม่หวั่นเกรงที่จะยอมรับผลที่จะตามมาจากความคิดของตน

ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ที่ไม่ใช่แนวสังคมนิยมใน ปัจจุบันที่ต้องเผชิญกับความน่ากลัวของกระแสสังคมนิยมที่เกิดขึ้นมา และที่ยังคงดำรงเป็นกระแสอยู่บ้างนั้น กลับมีแนวโน้มจะระมัดระวังในการเอ่ยถึงข้อสรุปของตนมากกว่าสมิธ ผู้เป็นปฐมบุรุษแห่งกระแสธารความคิดทางเศรษฐศาสตร์แนวคลาสสิค

ยกตัวอย่างแนวคิดที่เห็นว่า แรงงานคือพื้นฐานของมูลค่านั้น ในปัจจุบันนี้นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ต่างยอมรับร่วมกัน ในเรื่องของการขจัดพื้นฐานการให้ความชอบธรรม (justification) ทางทฤษฎีใดๆ ออกจากธรรมชาติของวัตถุปัจจัยทางเศรษฐศาสตร์ที่ใช้ในการสนับสนุนการทำ งานอย่างอิสระ ของนักทุนนิยมดังที่เคยเชื่อกันมาโดยตลอด

เราจึงเห็นนักเศรษฐศาสตร์สามานย์ต่างพากันปรับ แก้หรือเปลี่ยนแปลงคำนิยามศัพท์แสงทางเศรษฐศาสตร์คลาสสิคเสียใหม่ เพื่อเลี่ยงนัยหรือข้อสรุปที่อาจเป็นอันตรายต่อทฤษฎีของพวกเขากันมากขึ้น

มาร์กซเองได้รับอิทธิพลจากทฤษฎีมูลค่าแรงงานของ ริคาร์โด ในการสร้างข้อสรุปต่อไปนี้ นั่นคือ ประการแรก มูลค่าของสินค้าโภคภัณฑ์คือ พลังแรงงาน (labour power) ที่แฝงอยู่ในสินค้านั้น ประการที่สอง รูปแบบดั้งเดิมที่สุดของการแลกเปลี่ยนคือการแลกเปลี่ยนมูลค่าที่แฝงอยู่ใน สินค้าโภคภัณฑ์ซึ่งสมมาตรกัน

ประการที่สาม เงินคือสินค้าอุปโภคบริโภคชนิดหนึ่งซึ่งมูลค่าของมันมาจากพลังแรงงานที่แฝง อยู่ภายในเช่นกัน ประการที่สี่ ในการนำสินค้าโภคภัณฑ์มาแลกเปลี่ยนเป็นเงินและนำเงินมาแลกเปลี่ยนเป็นสินค้า โภคภัณฑ์ เช่น การซื้อและการขาย รูปแบบดั้งเดิมที่สุดของการแลกเปลี่ยนยังคงเป็นเหมือนเดิม คือการแลกเปลี่ยนระหว่างมูลค่าที่เท่าเทียมกัน

ประการที่ห้า ในรูปแบบการแลกเปลี่ยนที่มีลักษณะ "เชิงพาณิชย์" ที่ "แลกเปลี่ยนกลับไปมาซึ่งกันและกัน" (inverted) จะไม่เป็นเช่นนั้น เพราะเงินจะถูกนำมาแลกเปลี่ยนเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ และสินค้าโภคภัณฑ์ จะถูกแลกเปลี่ยนกลับเป็นเงินเพื่อเพิ่มปริมาณเงินให้สูงขึ้นที่เรียกว่า มูลค่าส่วนเกิน

และประการสุดท้าย อำนาจของเงินที่สามารถเพิ่มขึ้นได้โดยการแลกเปลี่ยนนี้เองที่เปลี่ยนให้เงิน กลายเป็นทุน (capital)

แต่ถ้าเช่นนั้นคำถามต่อไปคือ แล้วมูลค่าส่วนเกินนี้มาจากที่ใด? เป็นไปได้อย่างไรที่เงินจะเพิ่มปริมาณตัวมันเองได้ ในแบบที่สินค้าโภคภัณฑ์อื่นไม่อาจทำได้? คนที่มีสามัญสำนึกทั่วไปจะอธิบายเรื่องนี้ว่า การแลกเปลี่ยนที่เกิดขึ้นคือการปั่น (swindling) ที่นายทุนได้สินค้าโภคภัณฑ์มาในปริมาณมากกว่าราคาที่เขาจ่ายไป และได้รับเงินเป็นราคาสำหรับสินค้าโภคภัณฑ์มากกว่าราคาจริงที่เขาขายไป

แต่มาร์กซ์ กล่าวว่า "ชนชั้นนายทุนทั้งหมดในประเทศหนึ่งไม่มีทางที่จะเอาชนะเหนือระบบทุนนิยมของ ตัวเองได้" เพราะ "การเปลี่ยนแปลงในมูลค่าที่เกิดขึ้นในกรณีของเงินที่ถูกตั้งใจให้แปรสภาพ เป็นทุนไม่อาจเกิดขึ้นได้ภายในตัวเงินเอง

การที่จะสามารถดึงเอามูลค่าออกมาจากการบริโภค สินค้าโภคภัณฑ์หนึ่งๆ ถุงเงินที่เป็นเพื่อนของเราต้องมีโชคดีพอที่จะพบสินค้าโภคภัณฑ์ชนิดใดชนิด หนึ่งที่หมุนเวียนอยู่ภายในตลาด ซึ่งมูลค่าการใช้สอยของมันมีคุณสมบัติแปลกประหลาดเฉพาะตัวที่สามารถเป็น แหล่งที่มาของมูลค่าได้ ที่ซึ่งการบริโภคแท้จริงของสินค้านั้นย่อมต้องแฝงไว้ด้วยมูลค่าของแรงงาน ด้วย จึงเป็นสิ่งที่ให้กำเนิดแก่มูลค่าใหม่ขึ้น

ผู้เป็นเจ้าของเงินจะพบสินค้าพิเศษชนิดนั้นได้ ถ้ามันมีความสามารถทางแรงงานหรือ พลังแรงงาน"

มูลค่าส่วนเกินจึงมีที่มาจากที่กล่าวมานี้ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง มูลค่าส่วนเกินคือแรงงานที่ไม่ได้รับค่าจ้าง มาร์กซ์พัฒนาความคิดนี้ไว้อย่างละเอียดลออ และชัดเจนมาก โดยเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ความคิด ของนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก สมัยใหม่ก่อนหน้าเขาในผลงานระดับอภิมหากาลที่สั่นสะเทือนโลกเทียบเท่าหรือ เหนือว่า The Wealth of Nations ของ อดัม สมิธ เลยนั่นคือ หนังสือชื่อ Capital (ส่วนแรกของหนังสือตีพิมพ์ ค.ศ.1867 : มีแปลเป็นภาษาไทยแล้วสองส่วนโดย เมธี เอี่ยมวรา)

กล่าวได้ว่า หัวใจสำคัญของ Capital คือการนำเสนอความเข้าใจอย่างเป็นระบบและข้อวิพากษ์ต่อธรรมชาติ พัฒนาการ และอนาคตของระบบทุนนิยม ดังนั้น จึงมีการเจาะลงไปในประเด็นทางเศรษฐกิจให้เห็นเป็นสำคัญ ประเด็นที่เห็นได้ชัดเจนในทางเศรษฐกิจที่มาร์กซ์ได้กล่าวถึง ได้แก่ ประเด็นเกี่ยวกับธรรมชาติของสิ่งที่เรียกว่า "สินค้า" (commodities) ค่าจ้าง (wages) และความสัมพันธ์ระหว่างคนงานกับนายทุน (the worker-capitalist relationship)

โดยส่วนใหญ่ Capital พยายามที่จะชี้ให้เห็นถึงวิธีการที่คนงานถูกกดขี่ในวิถีการผลิตแบบทุนนิยม ในขณะเดียวกัน มาร์กซ์ยังได้แสดงให้เห็นถึงการกดขี่ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาด้วย เขายืนยันให้เหตุผลว่า ระบบทุนนิยมนั้น ท้ายที่สุดแล้วไม่มั่นคง ด้วยเหตุที่ว่า มันไม่สามารถคงไว้ซึ่งการกำไรอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ซึ่งในแง่หนึ่งก็ดูจะไม่ต่างจากข้อคิดของปรัชญา เศรษฐกิจพอเพียงของกรีกโบราณอย่างน่าอัศจรรย์




จากปรัชญา "เศรษฐกิจพอเพียง" กรีกโบราณถึงเศรษฐศาสตร์สังคมนิยมของมาร์กซ์ (12)

คนแคระบนบ่ายักษ์  :  แพทย์ พิจิตร  มติชนรายสัปดาห์  วันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 28 ฉบับที่ 1431

ปรัชญาเศรษฐศาสตร์สังคมนิยมของ คาร์ล มาร์กซ์ วิพากษ์การให้ค่าความมั่งคั่งที่ตัวเงิน และกำไรของเศรษฐศาสตร์กระแสหลักสมัยใหม่ ไม่ต่างจากหลักปรัชญา "เศรษฐกิจพอเพียง" ของเซโนฟอนและอริสโตเติลเมื่อสองพันกว่าปีที่แล้ว

งานเขียนชิ้นอมตะของเขาคือ Capital ที่วิพากษ์ทุนนิยมได้อย่างถึงรากถึงโคน โดยมาร์กซ์ได้อธิบายว่า เศรษฐกิจทุนนิยมกำหนดให้สิ่งที่เป็นสินค้ามีค่าสองลักษณะ นั่นคือ ค่าในการใช้งาน (use-value) และค่าในการแลกเปลี่ยน (exchange-value) โดยค่าในการแลกเปลี่ยนของสินค้าต่างๆ นั้นมีฐานอยู่ที่กำลังแรงงานที่ใช้ไปในสินค้าเหล่านั้น

ในสมัยก่อน ผู้คนจะซื้อสินค้าเพื่อนำมันไปใช้ประโยชน์ แต่ในยุคสมัยใหม่ นายทุนใช้สินค้าแตกต่างไปจากอดีตที่ผ่านมา เนื่องด้วยเป้าหมายสุดท้ายของนายทุนคือการเพิ่มพูนผลกำไร

ดังนั้น พวกนายทุนจึงนำเงินออกมาและใช้จ่ายซื้อหาสินค้า เพื่อที่จะได้นำไปขายให้ได้กำไร แล้วมันก็จะเกิดเป็นวงจรของการซื้อขายสินค้าเพื่อเงินและกำไรเช่นนี้ โดยในที่สุดวงจรดังกล่าวนี้ก็จะหมุนกลับซ้ำรอยตัวมันเองต่อไปเรื่อยๆ

เหตุผลสำคัญที่ทำให้นายทุนสามารถทำกำไรได้คือ เพียงจ่ายค่าแรงคนงานเพื่อให้พวกคนงานยังทำงานให้ต่อไป ทั้งที่แท้จริงแล้ว คนงานผลิตมากเกินกว่าจำนวนที่ผลิตได้ต่อวัน ดังนั้น คนงานจึงถูกกดขี่ ส่วนนายทุนสามารถกดขี่ได้ก็เพราะมีอำนาจมากกว่าและควบคุมปัจจัยการผลิต (means of production)

ยิ่งกว่านั้น คนงานได้รับผลกระทบในทางลบจากระบบทุนนิยม พวกเขาไม่สามารถเป็นเจ้าของผลผลิตที่เกิดขึ้นจากแรงงานของตัวเอง และลักษณะงานที่ต้องทำซ้ำๆ อยู่ตลอดทำให้พวกเขาไม่ต่างอะไรจากเครื่องจักร และยังมีความแปลกแยกกับผลผลิตที่พวกเขาเป็นผู้สร้างขึ้นมาด้วย

ขณะเดียวกัน ความแปลกแยกหรือ "alienation" นี้เป็นอาการสำคัญยิ่งในสังคมทุนนิยม และที่สำคัญ คนส่วนใหญ่ไม่ตระหนักถึงอาการและสาเหตุของความแปลกแยกที่เกิดขึ้นกับตนผ่าน การกดขี่ขูดรีดของระบบทุนนิยม

มาร์กซ์ ต่อต้านแนวคิดเศรษฐกิจกระแสหลักที่เป็นที่ยอมรับกัน ด้วยเขากล่าวว่า กระบวน การเศรษฐกิจแบบการตลาดแบบธรรมดาจะทำลายผู้มีทรัพย์น้อยที่เคยอยู่อย่างอิสระ ไม่ขึ้นกับใคร (independent small property) และสร้างกลุ่มประชากรมหาศาลที่ต้องขึ้นอยู่กับค่าจ้างแรงงาน (wage labour)

มาร์กซ์ เชื่อว่า จากเงื่อนไขดังกล่าว จะทำให้ผู้ใช้แรงงานที่ถูกกดขี่จากระบบทุนนิยมในประเทศต่างๆ รวมตัวกันเพื่อต่อสู้ล้มล้างระบบทุนนิยม ซึ่งในแง่นี้แม้ว่าข้อสรุปในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจการเมืองของ มาร์กซ์ จะต่างจากเศรษฐศาสตร์กระแสหลักสมัยใหม่

ด้วยฝ่ายหนึ่งเชื่อว่าการค้าเสรีเป็นคำตอบต่อ ปัญหาทั้งมวล ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งเชื่อว่าการปฏิวัติระบบทุนนิยม เพื่อนำไปสู่การยกเลิกระบบกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินส่วนตัวในระบบสังคมนิยม คือทางออกที่แท้จริงแต่มาร์กซ์ กลับไม่ต่างจาก อดัม สมิธ ในการมีทัศนะที่ดีเกินไปเกี่ยวกับการก้าวข้ามความเกลียดชังและความหลากหลาย ทางชาติ

จากที่กล่าวมาทั้งหมด 11 ตอน เราสามารถสรุปว่า หากพิจารณาถึงข้อวิวาทะระหว่างภูมิปัญญาโบราณ และภูมิปัญญาสมัยใหม่ในประเด็นที่เกี่ยวกับองค์ความรู้ทางเศรษฐศาสตร์แล้ว จะพบว่าองค์ความรู้เศรษฐศาสตร์สมัยใหม่ทั้งกระแสหลักและกระแสวิพากษ์นั้น ได้ละเลยความสำคัญขององค์ความรู้เศรษฐศาสตร์โบราณที่เน้นให้ความสำคัญต่อ เศรษฐศาสตร์ครัวเรือนอย่างสิ้นเชิง

กล่าวคือ องค์ความรู้เศรษฐศาสตร์สมัยใหม่กระแสหลักถือว่าการสะสมเงินตราคือรูปธรรมที่ แท้จริงของความมั่งคั่ง การแลกเปลี่ยนทางการค้ามิได้มีจุดประสงค์เพื่อได้มาซึ่งประโยชน์ใช้สอย เท่ากับกำไรที่จะต้องแสวงหาเพิ่มพูนอย่างไม่มีที่สิ้นสุดภายใต้ตลาดการค้า เสรีทั่วโลก และมีความเชื่อในการปรับตัวสู่สภาวะดุลยภาพของกลไกตลาด

กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ เศรษฐศาสตร์กระแสหลักสมัยใหม่เชื่อว่า ของที่แต่ละคน มี อยู่ ย่อมเป็นประโยชน์เสมอ ถ้าสามารถนำมาขายหรือพยายามขายให้ได้ นั่นคือ พยายามทำให้มันเป็นสิ่งที่มีคุณค่าหรือเป็นที่ต้องการในสังคมขึ้นมา หรือถ้ากล่าวในสำนวนสมัยใหม่ก็คือ "แปลงสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ (สำหรับผู้ครอบครอง) ให้เป็นสิ่งที่ขายได้-สินทรัพย์-และแปลงสินทรัพย์ดังกล่าวให้เป็นทุน" นั่นเอง

ขณะเดียวกันเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่กระแสวิพากษ์แนว สังคมนิยมของ คาร์ล มาร์กซ์ หรือมาร์กซิสม์ก็วิพากษ์เศรษฐศาสตร์สมัยใหม่กระแสหลักได้อย่างถึงรากถึงโคน อันทำให้เกิดความเข้าใจในประเด็นเรื่องมูลค่าส่วนเกินและการกดขี่ค่าจ้างแรง งาน และตรรกะในการนำไปสู่การทำลายตัวเองของระบบ ทุนนิยมที่อิงอยู่กำไรอันไม่มีที่สิ้นสุดและกลไกของการค้าภายใต้ตลาดเสรี โดยกุญแจดอกสำคัญที่จะไขไปสู่ทางออกของปัญหาคือการปฏิวัติสังคมนิยมและการยก เลิกกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินส่วนบุคคล ซึ่งจะทำให้ความมั่งคั่งร่ำรวยส่วนบุคคลจบสิ้นลง ประเด็นปัญหาสำคัญแห่งยุคสมัยที่ปัจเจกบุคคลถูกลดทอนให้เป็นเพียงส่วนหนึ่ง ของสังคมทั้งหมดอันแบ่งแยกไม่ได้

และความแปลกแยก (alienation) ในหมู่มนุษยชาติก็จะมลายหายสิ้นไปพร้อมๆ กับความต้องการจำเป็นของการดำรงของรัฐด้วย

อย่างไรก็ตาม ในท่ามกลางปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจการเมืองที่เกิดขึ้นทั่วโลก กระแสทางเลือกหรือทางออกมิได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะ "กำไรและตลาดเสรี" หรือ "การปฏิวัติสังคมนิยมและการสิ้นสุดของระบบกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินส่วนตัว"

หากเราหันมาพิจารณาข้อเสนอจากภูมิปัญญาโบราณที่ ให้ความสำคัญต่อเศรษฐกิจครัวเรือน ซึ่งถูกละเลยจากนักเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่กระแสหลักและกระแสวิพากษ์ และการกลับไปพิจารณาการทำความเข้าใจในประเด็นพื้นฐานสำคัญๆ ในทางเศรษฐศาสตร์ของนักคิดกรีกโบราณอย่าง เซโนฟอน และรวมถึง อริสโตเติล นี้ก็จะช่วยให้เราสามารถเข้าใจถึงที่มาของสภาพปัญหาทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน ที่กำลังรุมเร้าประชากรส่วนใหญ่ทั่วโลก

ไม่ว่าจะในฐานะปัจเจกบุคคล ครัวเรือนและสังคมการเมืองอยู่อย่างถึงรากถึงโคน

ขณะเดียวกัน ยังนับได้ว่าเป็นการเปิดโอกาสในการทำความเข้าใจตัวตนของเรา (know thyself) อันจะนำไปสู่การกำหนดทางเลือก ในการดำรงชีวิตต่อไปอย่าง "มีเสรีภาพและมีความมั่งคั่ง" ได้อย่างแท้จริง ด้วยตัวของเราเองในที่สุด สิ่งเหล่าสามารถเกิดขึ้นได้ผ่านกระบวนการเรียนรู้ ที่เริ่มจากการหันกลับไปทบทวนประเด็นคำถามพื้นฐานร่วมกันกันอีกครั้งอย่าง เป็นระบบว่า "อะไรคือทรัพย์ ?" "อะไรคือความมั่งคั่ง?" "ชีวิตที่ดีมีความสุขเป็นอย่างไร ?" และ "เศรษฐศาสตร์ที่แท้ ที่จะช่วยให้เรามีชีวิตที่ดีนั้นมีเนื้อหาหลักการอย่างไร?"

และนี่ก็คือจุดเริ่มต้นของการจัดการกับ "ทรราชในใจ" ของเราเอง ทั้งนี้ เพื่อบรรลุถึง "ความพอเพียง" ตามระดับความเหมาะสมของวิถีชีวิตของแต่ละคนในที่สุด

สำหรับส่วนสุดท้ายของประเด็นเรื่อง "ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" นี้ ผู้เขียนจะขอนำแนวคิดวิเคราะห์ทางปรัชญาของ คอลลิงวูด นักปรัชญาประวัติศาสตร์ในต้นศตวรรษที่ยี่สิบมานำเสนอ โดยผู้เขียนเชื่อว่า ส่วนหนึ่ง แนวคิดดังกล่าวนี้จะช่วยขยายภาพให้เห็นถึงความสำคัญของแนวการศึกษาทางปรัชญา ที่มีต่อการทำความเข้าใจ และวิพากษ์องค์ความรู้ทางเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่

และผู้เขียนเชื่อว่า แนวการวิเคราะห์ทางปรัชญาดังกล่าวนี้ แม้ว่าจะเป็นผลผลิตในต้นศตวรรษที่ยี่สิบ แต่ก็ยังมีร่องรอยบางส่วนที่ชัดเจนที่สามารถเชื่อมโยงกลับไปสู่ปรัชญา เศรษฐศาสตร์ของนักคิดกรีกโบราณอย่าง เซโนฟอน และ อริสโตเติล ได้

จะว่าไปแล้ว ในหมู่นักปรัชญาประวัติศาสตร์ช่วงต้นศตวรรษที่ยี่สิบ คอลลิงวูด (Robin George Collingwood : 1889-1943) ดูจะไม่เป็นที่รู้จักสำหรับนักวิชาการและนักศึกษาทั่วไปเท่าไรนัก แต่กระนั้น นักวิชาการรุ่นต่อมาได้กล่าวยกย่องเขาว่าเป็น "นักคิดที่ดีที่สุดที่ถูกละเลยในปัจจุบัน" (The best known neglected thinker of our time.)

ในช่วงเวลาสามสิบปีที่ผ่านมา ผลงานของเขาได้เป็นที่รู้จักและได้รับการอ้างอิงมากมายกว้างขวาง โดยเฉพาะตำราเกี่ยวกับปรัชญาประวัติศาสตร์ ปรัชญาการเมือง สุนทรียศาสตร์ อย่างไรก็ตาม คอลลิงวูด ก็ยังไม่พ้นจากความเป็น "นักคิดที่ดีที่สุดที่ถูกละเลยในปัจจุบัน" อยู่ดี เพราะยังมีผลงานความคิดของเขาที่คนส่วนใหญ่ยังไม่รู้จัก หรือไม่ได้ให้ความสำคัญเท่าที่ควรเมื่อเทียบกับงานด้านอื่นๆ

และผลงานที่ว่านี้คือข้อเขียนเกี่ยวกับปรัชญา เศรษฐศาสตร์ของเขาที่ชื่อ "Economics as a Philosophical Science" ที่ตีพิมพ์ในวารสาร International Journal of Ethics ปี ค.ศ.1925 เป็นบทความสั้นๆ ความยาวเพียง 23 หน้า แต่มีเนื้อหาที่น่าสนใจและให้ข้อคิดมุมมองเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์อย่างลึกซึ้ง

ซึ่งจักได้นำเสนอในตอนต่อไป




จากปรัชญา "เศรษฐกิจพอเพียง" กรีกโบราณถึงปรัชญาเศรษฐศาสตร์ของคอลลิงวูด (13)

คนแคระบนบ่ายักษ์ : แพทย์ พิจิตร  มติชนรายสัปดาห์  วันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 28 ฉบับที่ 1432

ข้อเขียนของคอลลิงวูดที่ชื่อ Economics as a Philosophical Science ที่ตีพิมพ์ในวารสาร International Journal of Ethics ปี ค.ศ.1925 เป็นบทความสั้นๆ ความยาวเพียง 23 หน้า มีเนื้อหาและข้อคิดมุมมองเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์อย่างลึกซึ้ง ซึ่งบางประเด็นมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงและคล้ายคลึงกับมุมมองของปรัชญา "เศรษฐกิจพอเพียง" ของนักปรัชญาการเมืองกรีกโบราณอย่างเซโนฟอนและอริสโตเติลอย่างน่าสนใจยิ่ง

ในบทความดังกล่าว วิธีคิดที่เหมือนกันประการแรกคือ คอลลิงวูด ให้ทัศนะว่า เราไม่มีทางที่จะตอบคำถาม และรวมถึงแก้ปัญหาพื้นฐาน (fundamental questions) ทางเศรษฐศาสตร์ได้ จนกว่าเราจะได้ทำการวิเคราะห์ทางปรัชญา เกี่ยวกับมโนทัศน์หรือคำสำคัญๆ ที่ นักเศรษฐศาสตร์ใช้ เช่น มโนทัศน์เรื่องค่า (value) ความมั่งคั่ง (wealth) การแลกเปลี่ยน (exchange) ราคา (price) ทุน (capital) และเงิน (money) เพื่อจะให้เห็นว่าจริงๆ แล้ว มโนทัศน์เหล่านี้หมายถึงอะไรกันอย่างแน่ ซึ่งเซโนฟอนก็เริ่มต้นด้วยการเชื้อชวนให้ทำความเข้าใจกับนัยความหมายของความ มั่งคั่ง (wealth, estate) เป็นเบื้องแรก

ในการตอบคำถามดังกล่าว คอลลิงวูดกล่าวว่า ในขณะที่นักเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่ส่วนใหญ่ใช้มโนทัศน์เหล่านี้ พวกเขาใช้มันในความหมาย (conception) ที่ไม่ได้สรุปมาจากข้อเท็จจริงที่มีอยู่โดยตรง ซึ่งก็เท่ากับว่าเป็นทัศนคติหรือความเข้าใจที่พวกเขามีต่อข้อเท็จจริงต่างๆ

นั่นคือ คอลลิงวูด กำลังวิพากษ์แนวคิดในแบบประจักษ์นิยม (empiricism) โดยรวม โดยชี้ว่า นักเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่กระแสหลักทึกทักเอาเองว่า เราสามารถแยกข้อมูลออกจากการตีความข้อมูล (fact versus value) ได้ ทั้งๆ ที่ในทางปฏิบัติ เราไม่สามารถแบ่งแยกเช่นนั้นได้

เพราะเมื่อผู้ที่ใช้ศาสตร์แบบประจักษ์นิยมเข้า ใจว่าตนรู้ข้อเท็จจริง (ตามแบบที่โลกเป็น) แต่ในความเป็นจริงแล้ว พวกเขาหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องเอาความเข้าใจแบบอัตวิสัยของตนเข้าไปจับข้อ เท็จจริงนั้น

คอลลิงวูด เห็นว่า ทัศนคติแบบเชิงประจักษ์ที่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ใช้ ไม่ใช่แนวทางที่สามารถให้ความกระจ่างแก่มโนทัศน์เหล่านี้ได้ เพราะทัศนคติเช่นนี้มีแนวโน้มที่จะเข้าใจวัตถุ หรือสิ่งที่ถูกศึกษาในรูปของสิ่งหรือสสาร (thing or substance) ที่สามารถบรรยายถึงความเป็นไปได้ แต่ไม่สามารถอธิบายได้ (inexplicable) ซึ่งเท่ากับว่าให้คำจำกัดความที่แน่ชัดไม่ได้ นอกจากทึกทักเอาว่า "คงหรือน่าจะเป็นเช่นนั้น"

ดังนั้น ที่ถูกต้องแล้ว มโนทัศน์ทางเศรษฐศาสตร์จึงควรถูกทำให้กระจ่างแจ้งขึ้น โดยอาศัยการวิเคราะห์ในทางปรัชญา ซึ่งเป็นการมองในระดับที่ลึกลงไปในเรื่องของคำจำกัดความ (definition)

และการมีทัศนคติเชิงปรัชญาต่อการสร้างองค์ความ รู้ทางเศรษฐศาสตร์ในความคิดของ คอลลิงวูด มีข้อดีตรงที่ปรัชญามองสิ่งที่ถูกศึกษาในรูปของกิจกรรม (activity) ทำให้มองเห็นมิติที่หลากหลาย รอบด้านและลุ่มลึกมากกว่า

จากนั้น คอลลิงวูด ชี้ว่า ถ้าเรามีทัศนคติเชิงปรัชญาต่อเศรษฐศาสตร์ ก็จะพบว่าโดยเนื้อแท้แล้ว สาขาวิชานี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ การกระทำทางเศรษฐกิจ และมโนทัศน์ทางเศรษฐศาสตร์ต่างๆ อาทิเช่นเรื่องการแลกเปลี่ยนมูลค่าและความมั่งคั่ง นั้น จำเป็นต้องถูกเข้าใจภายใต้กรอบปรัชญานี้ด้วย กล่าวคือต้องทำความเข้าใจอย่างเชื่อมโยงกับการกระทำทางเศรษฐกิจ โดย คอลลิงวูด เห็นว่า เราจำเป็นต้องตอบคำถามดังกล่าวต่อไปให้ได้ว่า 1) การกระทำทางเศรษฐกิจนี้มีลักษณะเช่นไร ? 2) ต่างจากการกระทำแบบอื่นอย่างไร ? และ 3) การเข้าใจเศรษฐศาสตร์ว่าเกี่ยวข้องกับการกระทำทางเศรษฐกิจนั้น มีนัย (implications) ต่อปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐศาสตร์อย่างไร ?

สำหรับประเด็นแรก : "การกระทำทางเศรษฐกิจมีลักษณะเช่นไร?" คอลลิงวูด อธิบายว่า เราอาจแบ่งการกระทำของมนุษย์ออกได้เป็นสามแบบกว้างๆ นั่นคือ การกระทำเพื่อตอบสนองความต้องการเฉพาะหน้า การกระทำทางเศรษฐกิจ และการกระทำทางศีลธรรม ซึ่งการกระทำทั้งสามแบบนี้มีจุดเน้นและลักษณะพื้นฐานที่แตกต่างกัน

การกระทำแบบแรกเน้นเรื่องการตอบสนองความต้องการ หรือความปรารถนาที่มีอยู่เฉพาะหน้าหรือเป็นปัจจุบัน ส่วนการกระทำทางเศรษฐกิจเน้นเรื่องการกระทำเพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ต้องการ อย่างสะดวกดายที่สุด ได้ซึ่งประโยชน์และกำไร (profitable) ซึ่งสะท้อนวิธีคิดแบบประโยชน์นิยม (utilitarian) อย่างหนึ่ง ขณะที่การกระทำทางศีลธรรมมีจุดเน้นที่เรื่องการทำหน้าที่ (duty)

สำหรับประเด็นที่สอง คือ การขยายความประเด็นแรก โดย คอลลิงวูด อธิบายว่าการกระทำทางเศรษฐกิจต่างจากการกระทำอีกสองแบบ ตรงที่เน้นเรื่องการมุ่งผลประโยชน์ การทำกำไรและความรอบคอบ (prudent) เป็นสำคัญ ทำให้ต่างจากการกระทำเพื่อตอบสนองความต้องการเฉพาะหน้า เช่น การที่เด็กร้องตะโกนขึ้นมาแค่เพราะรู้สึกอยากทำเช่นนั้นหรือการที่คนโกรธและ เตะเก้าอี้กระเด็นไปเพราะความโกรธ

การกระทำแบบหลังนี้ไม่ได้เกิดจากการคิดคำนวณของ ตัวผู้กระทำว่าตนทำไปเพื่อหวังผลอะไร หรือทำแล้วจะเกิดประโยชน์อะไรตามมา หรือจะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายที่แท้จริงของตนได้อย่างไร

ขณะที่การกระทำทางเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อ บุคคลที่กระทำนั้นลงมือทำบางสิ่งที่เขา (อาจ) ไม่ต้องการในขณะที่กำลังทำอยู่นั้น แต่ทำมันไปเพื่อเป็นเครื่องมือบรรลุถึงอีกสิ่งหนึ่งซึ่งเป็นสิ่งที่เขาต้อง การแท้จริงในอนาคต แต่ในอีกแง่หนึ่ง หากเด็กร้องตะโกนไม่ใช่เพราะรู้สึกอยากร้อง แต่เป็นเพราะต้องการให้พ่อแม่มาสนใจ หรือ ชายที่โกรธเตะเก้าอี้ไม่ใช่เพราะรู้สึกอยากเตะ แต่เป็นเพราะคิดตรองแล้วว่านี่เป็นวิธีที่ดี ในการระบายความอัดอั้นตันใจของตนออกมา แทนที่จะเก็บกดเอาไว้

การกระทำสองอย่างหลังนี้จะเข้าข่ายการกระทำทาง เศรษฐกิจทันที เพราะมันมีแง่มุมที่เป็นการกระทำ เพื่อหวังประโยชน์ที่มากกว่าแค่ประโยชน์เฉพาะหน้าจากการได้ทำสิ่งนั้นในตัว มันเอง

คอลลิงวูด ยอมรับว่า การกระทำสามแบบนี้มีแง่หนึ่งที่ไม่อาจแยกจากกันได้โดยเด็ดขาด เนื่องจากการกระทำทางเศรษฐกิจจำเป็นต้องถูกผลักดันขับเคลื่อนด้วยความต้อง การบางอย่างเสมอ ทำให้มีบางอย่างคาบเกี่ยวอยู่กับการกระทำตามความต้องการเฉพาะหน้า ขณะเดียวกันการกระทำทางเศรษฐกิจก็คาบเกี่ยวกับการกระทำทางศีลธรรมด้วย เนื่องจากสามารถถูกประเมินได้แบบเดียวกับการประเมินการกระทำทางศีลธรรม เช่น

การซื้อหุ้นบริษัทแห่งหนึ่งเพื่อทำกำไรนอกจากจะ ประเมินได้ว่าเป็นการตัดสินใจที่ฉลาดหรือคุ้มแล้วหรือไม่ ยังสามารถประเมินได้ว่าถูกศีลธรรมหรือไม่ด้วยโดยพิจารณาจากว่าบริษัทที่ไปลง ทุนนั้นดำเนินธุรกิจที่ถูกศีลธรรมหรือไม่

แต่คอลลิงวูดเน้นว่า จากลักษณะที่การกระทำทางเศรษฐกิจเป็นเรื่องของการไตร่ตรองเกี่ยวกับเป้าหมาย ที่ต้องการในอนาคต (end) และวิธีการที่ทำในปัจจุบันเพื่อบรรลุเป้าหมายนั้น (means) ทำให้การกระทำชนิดนี้มีลักษณะเด่นเฉพาะตัว ที่แยกมันออกจากการกระทำอีกสองแบบที่เหลือได้อย่างมีนัยสำคัญ

กล่าวคือ เราสามารถแยกการกระทำที่คนเดือดดาลจนถึงขั้นเตะเก้าอี้ (การกระทำเพื่อตอบสนองความต้องการเฉพาะหน้า) ออกจากการกระทำที่คนโกรธและตัดสินใจอย่างมีสติรู้ตัวที่จะเตะเก้าอี้เพื่อ ระบายความโกรธ โดยรู้ว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นเพียงเครื่องมือเพื่อระบายโทสะของตนออกมา (การกระทำทางเศรษฐกิจ)

ขณะเดียวกันเราก็สามารถแยกคนที่ลงทุนในหุ้น เพราะสำนึกในหน้าที่ที่ตนต้องหาเงินมาเลี้ยงดูครอบครัวให้อยู่สุขสบาย (การกระทำทางเศรษฐกิจ) ออกจากการกระทำที่คนเลือกลงทุนในหุ้นที่มีพื้นฐานดีเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่ คุ้มค่า (การกระทำทางศีลธรรม) ได้

นอกจากนี้ คอลลิงวูด ยังชี้ให้เห็นลักษณะอีกประการหนึ่งของการกระทำทางเศรษฐกิจ คือ การกระทำเช่นนี้โดยเนื้อแท้แล้วเป็นเรื่อง ภายใน บุคคลมากกว่า ระหว่าง บุคคล โดยปรกติเรามักเข้าใจว่า การกระทำทางเศรษฐกิจเป็นการกระทำต่อกันระหว่างผู้กระทำสองคน (เช่น ผู้ซื้อกับผู้ขาย) และ เป็นประโยชน์ กับทั้งสองฝ่ายในแง่ที่ให้สิ่งที่ทั้งสองฝ่ายต่างพอใจ (reciprocate) และ รอบคอบ ในแง่ที่ทั้งคู่แสวงหาในสิ่งที่ตนต้องการสูงสุดจากอีกฝ่าย

แต่ คอลลิงวูด กลับชี้ให้เห็นว่า จริงๆ แล้ว การกระทำทางเศรษฐกิจเป็นเรื่องของตัวบุคคลที่เป็นผู้กระทำการแต่ละคน มากกว่าเป็นเรื่องระหว่างบุคคล!




จากปรัชญา "เศรษฐกิจพอเพียง" กรีกโบราณถึงเศรษฐศาสตร์สังคมนิยมของมาร์กซ์ (14)

คนแคระบนบ่ายักษ์ : แพทย์ พิจิตร  มติชนรายสัปดาห์  วันที่ 01 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 ปีที่ 28 ฉบับที่ 1433

"เศรษฐศาสตร์ในฐานะศาสตร์ทางปรัชญา" (economics as a philosophical science) ของคอลลิงวูด (R.G. Collingwood) ชี้ให้เห็นว่า เราจำเป็นต้องตอบคำถามดังกล่าวต่อไปให้ได้ว่า 1) อะไรคือการกระทำทางเศรษฐกิจ? 2) ต่างจากการกระทำแบบอื่นอย่างไร? และ 3) การเข้าใจเศรษฐศาสตร์ว่าเกี่ยวข้องกับการกระทำทางเศรษฐกิจนั้น มีนัย (implications) ต่อปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐศาสตร์อย่างไร? การตอบคำถามทั้งสามประการนี้เป็นเงื่อนไขสำคัญในการเข้าใจ "เศรษฐศาสตร์" ที่แท้จริงได้

คอลลิงวูดแบ่งการกระทำของมนุษย์ออกเป็นสาม ประเภทใหญ่ๆ นั่นคือ หนึ่ง การกระทำเพื่อตอบสนองความต้องการเฉพาะหน้า สอง การกระทำทางเศรษฐกิจ และสาม การกระทำทางศีลธรรม ซึ่งการกระทำทั้งสามแบบนี้มีจุดเน้นและลักษณะพื้นฐานที่แตกต่างกัน

การกระทำประเภทแรกเน้นเรื่องการตอบสนองความต้อง การหรือความปรารถนาที่มีอยู่เฉพาะหน้าหรือเป็นปัจจุบัน ส่วนการกระทำทางเศรษฐกิจเน้นเรื่องการกระทำเพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ต้องการ อย่างสะดวกดายที่สุด ได้ซึ่งประโยชน์และกำไร (profitable) ซึ่งสะท้อนวิธีคิดแบบประโยชน์นิยม (utilitarian) ในระดับหนึ่ง ส่วนการกระทำทางศีลธรรม มีจุดเน้นที่เรื่องการทำหน้าที่ (duty) ซึ่งมุมมองประการหลังนี้ เข้าใจว่า คอลลิงวูดน่าจะได้รับอิทธิพลจากค้านท์ (Kant)

ตัวอย่างการกระทำเพื่อตอบสนองความต้องการเฉพาะ หน้า ได้แก่ การที่เด็กร้องตะโกนขึ้นมาแค่เพราะรู้สึกอยากทำ หรือการที่คนโกรธและเตะเก้าอี้กระเด็นไปเพราะความโกรธ ซึ่งในแง่หนึ่ง การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่ไม่ได้เกิดจากการคิดคำนวณของตัวผู้กระทำว่า ตนทำไปเพื่อหวังผลอะไร หรือทำแล้วจะเกิดประโยชน์อะไรตามมา หรือจะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายที่แท้จริงของตนได้อย่างไร

ขณะเดียวกัน การที่เด็กร้องตะโกนขึ้นมาอาจจะกลายเป็นการกระทำทางเศรษฐกิจได้ หากเด็กคนนั้นร้องตะโกนขึ้นมาเพื่อให้การร้องตะโกนนั้น เป็นเพียงเครื่องมือที่จะบรรลุถึงอีกสิ่งหนึ่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาต้องการแท้จริงในเวลาต่อมา นั่นคือ เด็กร้องตะโกนไม่ใช่เพราะรู้สึกอยากร้อง แต่เป็นเพราะต้องการให้พ่อแม่มาสนใจ หรือชายที่โกรธเตะเก้าอี้ ไม่ใช่เพราะรู้สึกอยากเตะ แต่เป็นเพราะคิดตรองแล้วว่านี่เป็นวิธีที่ดีในการระบายความอัดอั้นตันใจของ ตนออกมา แทนที่จะเก็บกดเอาไว้

การกระทำสองอย่างหลังนี้เป็นกระทำทางเศรษฐกิจ ด้วยมันมีแง่มุมที่เป็นการกระทำ เพื่อหวังประโยชน์ที่มากกว่าแค่ประโยชน์เฉพาะหน้าจากการได้ทำสิ่งนั้นในตัว มันเอง

คอลลิงวูด ยอมรับว่า การกระทำสามแบบนี้มีบางแง่ที่ไม่อาจแยกจากกันได้โดยเด็ดขาด เนื่องจากการกระทำทางเศรษฐกิจจำเป็นต้องถูกผลักดันขับเคลื่อนด้วยความต้อง การบางอย่างเสมอ ทำให้มีบางอย่างคาบเกี่ยวอยู่กับการกระทำตามความต้องการเฉพาะหน้า

ขณะเดียวกันการกระทำทางเศรษฐกิจก็คาบเกี่ยวกับ การกระทำทางศีลธรรมด้วย เนื่องจากสามารถถูกประเมินได้แบบเดียวกับการประเมินการกระทำทางศีลธรรม

เช่น การซื้อหุ้นบริษัทแห่งหนึ่งเพื่อทำกำไรนอกจากจะประเมินได้ว่าเป็นการตัดสิน ใจที่ฉลาดหรือคุ้มแล้วหรือไม่ ยังสามารถประเมินได้ว่าถูกศีลธรรมหรือไม่ด้วย โดยพิจารณาว่า บริษัทที่ไปลงทุนนั้นดำเนินธุรกิจที่ถูกศีลธรรมหรือไม่

นอกจากนี้ ลักษณะอีกประการหนึ่งของการกระทำทางเศรษฐกิจ คือ การกระทำเช่นนี้โดยเนื้อแท้แล้วเป็นเรื่อง ภายใน บุคคลมากกว่า ระหว่าง บุคคล โดยปรกติเรามักเข้าใจว่าการกระทำทางเศรษฐกิจเป็นการกระทำต่อกันระหว่างผู้ กระทำสองคน (เช่น ผู้ซื้อกับผู้ขาย) และ เป็นประโยชน์ กับทั้งสองฝ่ายในแง่ที่ให้สิ่งที่ทั้งสองฝ่ายต่างพอใจ (reciprocate) และ รอบคอบ ในแง่ที่ทั้งคู่แสวงหาในสิ่งที่ตนต้องการสูงสุดจากอีกฝ่าย แต่คอลลิงวูด กลับชี้ให้เห็นว่า จริงๆ แล้ว การกระทำทางเศรษฐกิจเป็นเรื่องของตัวบุคคลที่เป็นผู้กระทำการแต่ละคน มากกว่าเป็นเรื่องระหว่างบุคคล!

เขายกตัวอย่างเรื่องการแลกเปลี่ยน (exchange) เช่น ในกรณีที่ นาย ก. ขายขนมปังให้แก่ นาย ข. เพื่อแลกกับนม ตามความเข้าใจทั่วไป มักคิดว่า ในการกระทำเช่นนี้ นาย ก. ให้ขนมปังของตนแก่ นาย ข. ซึ่งต้องการขนมปังนั้น เพื่อแลกกับนมของ นาย ข. จุดเน้นจึงอยู่ที่ นาย ก. ให้ขนมปังแก่ นายข. และ นาย ข. ให้นมแก่ นาย ก. กลับคืนมา

แต่ คอลลิงวูด ชี้ว่า จริงๆ แล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นในการแลกเปลี่ยนทุกครั้งก็คือ คนที่แลกเปลี่ยน (ในที่นี้คือ นาย ก. และ นาย ข.) ไม่ได้นำสิ่งของมาแลกเปลี่ยนกัน แต่ทั้งคู่ทำการแลกเปลี่ยนกับตัวเอง โดย นาย ก. แลกเปลี่ยน "การที่ตนจะได้กินขนมปัง" ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาต้องการน้อยกว่าเมื่อเทียบกับ "การที่ตนจะได้กินนม" ส่วน นาย ข. ก็เช่นเดียวกัน ที่แลกเปลี่ยน "การที่ตนจะได้กินนม" ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาต้องการน้อยกว่าเมื่อเทียบกับ "การที่ตนจะได้กินขนมปัง"

และด้วยคำอธิบายเช่นนี้ของ คอลลิงวูด ทำให้เขาสามารถอธิบายต่อไปได้ว่า การกระทำทางเศรษฐกิจ เป็นการกระทำที่ประโยชน์ต่อตัวบุคคลผู้กระทำ ในแง่ที่ช่วยให้เขาสามารถได้มาซึ่งบางสิ่งบางอย่างที่เขาปรารถนา และขณะเดียวกันก็ รอบคอบ ในแง่ที่บุคคลผู้นั้นกระทำสิ่งที่เขาทำอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งอาจไม่ใช่สิ่งที่เขาชอบหรือต้องการ แต่ทำไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอีกสิ่งหนึ่งซึ่งเป็นเป้าหมายที่แท้จริงที่เขาต้อง การได้มาในอนาคต

เช่นเดียวกัน ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ (conflicts of interests) ใดๆ ที่เกิดขึ้นย่อมไม่ใช่ความขัดแย้งระหว่างผลประโยชน์ของคนสองคน เท่ากับผลประโยชน์ของคนๆ เดียว ระหว่างวิธีการกับเป้าหมาย กล่าวคือ คนๆ นั้นต้องการบรรลุเป้าหมายแบบหนึ่ง แต่ไม่สามารถใช้วิธีการที่จะนำไปสู่เป้าหมายนั้นได้ คอลลิงวูด กล่าวถึง ความขัดแย้งที่ว่านี้ว่า :

"ไม่ใช่ความขัดแย้งระหว่างบุคคลกับบุคคล ; มันคือความขัดแย้งระหว่างสิ่งเฉพาะหน้าที่บุคคลกระทำ กับสิ่งที่เป็นเป้าหมายในอนาคต ของการกระทำทางเศรษฐกิจเช่นนั้น และมันเป็นปัญหาสำคัญของชีวิตทางเศรษฐกิจของคนอย่าง โรบินสัน ครูโซ เท่าๆ กับที่เป็นปัญหาสำหรับพ่อค้าปลารายย่อย ; ชีวิตทางเศรษฐกิจประกอบขึ้นจาก ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่ว่านี้เอง เนื่องจากชีวิตทาง เศรษฐกิจคือการแลกเปลี่ยน และการแลกเปลี่ยนเป็นเรื่องของการถ่วงดุล ระหว่างวิธีการกับเป้าหมายในแบบที่จะทำให้ได้ผลตอบแทนกลับคืนมา มากที่สุดจากสิ่งที่ลงทุนไป"

สําหรับประเด็นต่อมา คอลลิงวูดชี้ให้เห็นว่า เมื่อเราเข้าใจแล้วว่าการกระทำทางเศรษฐกิจมีลักษณะต่อไปนี้ นั่นคือ 1) ต่างจากการกระทำที่เป็นการตอบสนองความต้องการเฉพาะหน้าและการกระทำทาง ศีลธรรม 2) เป็นเรื่องภายในบุคคล และ 3) เป็นเรื่องของการสร้างประโยชน์ทำกำไรหรือการตัดสินใจด้วยความรอบคอบเพื่อให้ ได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการแล้ว นัยที่ตามมาซึ่งจะมีผลอย่างยิ่งในการตอบปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐศาสตร์ ตัวอย่างคือ เรื่องราคา ค่าแรง หรืออัตราดอกเบี้ย

กล่าวคือ เราไม่สามารถคิดถึงปัญหาเหล่านี้โดยนำมโนทัศน์ทางศีลธรรม----เช่น เรื่องความยุติธรรมหรือแนวคิดอื่น----เข้ามาปะปนได้

คอลลิงวูด กล่าวว่าเราไม่สามารถนำมโนทัศน์ทางศีลธรรมเข้ามาใช้กำหนด หรือเป็นจุดอ้างอิงสำหรับการกระทำทางเศรษฐกิจได้ เพราะมันเป็นการกระทำคนละประเภทกันตั้งแต่ต้น เขาอธิบายว่า :

"มันจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะกำหนดราคาของสิ่งต่างๆ โดยอ้างอิงแนวคิดเรื่องความยุติธรรมหรือความเข้าใจทางศีลธรรมแบบอื่นๆ ราคาที่เป็นธรรม ค่าแรงที่เป็นธรรม อัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรมเป็นคำที่ขัดแย้งในตัวเอง (contradiction in terms) คำถามว่าอะไรคือสิ่งที่บุคคลหนึ่ง ควรได้รับเพื่อตอบแทนสำหรับสินค้าและแรงงานของเขานั้น เป็นคำถามที่ปราศจากความหมายโดยสิ้นเชิง คำถามเดียวที่สามารถถามได้คือ อะไรคือสิ่งที่เขาสามารถได้รับเพื่อตอบแทนสำหรับสินค้าหรือแรงงานของเขา และเขาควรขายสิ่งเหล่านั้นหรือไม่ต่างหาก"

คอลลิงวูด อ้างว่า ในการแลกเปลี่ยนบางครั้งที่ผู้กระทำการฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้กระทำจากเหตุผล ทางเศรษฐกิจ คือ ไม่ได้ทำโดยคำนึงถึงประโยชน์ที่จะได้รับกลับคืน แต่กระทำจากเหตุผลทางศีลธรรม เช่น ยอมรับในสิ่งที่ตนต้องการน้อยกว่า เพื่อให้อีกฝ่ายหนึ่งได้ในสิ่งที่เขาจำเป็น (need)

ยกตัวอย่าง นาย ก. สามารถเลือกได้ระหว่างจะกินขนมปังหรือดื่มนม ตัว นาย ก. เองต้องการกินขนมปังมากกว่าดื่มนม แต่ตัดสินใจดื่มนมเพราะเห็นว่าอีกฝ่ายหนึ่งคือ นาย ข. จำเป็นต้องได้กินขนมปังเพื่อที่จะมีชีวิตรอด

ในกรณีนี้ คอลลิงวูด เห็นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ถือว่าเป็นการแลกเปลี่ยน (และจึงไม่จัดว่าเป็นการกระทำทางเศรษฐกิจ) แต่เป็นการให้ (gift) แบบหนึ่ง ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่า นาย ก. ได้รับนมกลับคืนจากการตัดสินใจเช่นนั้นหรือไม่ แต่อยู่ที่สิ่งที่ นาย ก. ได้รับกลับคืนคือ นม นั้นไม่ใช่เหตุผลที่ทำให้ นาย ก. ยอมแลกขนมปังกับนมตั้งแต่ต้น การกระทำนี้จึงไม่มีลักษณะเป็น การกระทำทาง เศรษฐกิจตามการวิเคราะห์เศรษฐศาสตร์ในแนวปรัชญาของคอลลิงวูด

และนี้เองน่าจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ในเวลาต่อมา บทความเรื่อง "Economics as a Philosophical Science" จึงถูกจัดให้เป็นหนึ่งในบทความและเป็นบทความแรกของหนังสือ "รวมบทความทางปรัชญาการเมือง" ของ R.G. Collingwood ("Essays on Political Philosophy by R.G. Collingwood," โดยมี David Boucher เป็นบรรณาธิการ, Oxford, Clarendon Press, 1995)!



จากปรัชญา "เศรษฐกิจพอเพียง" กรีกโบราณถึงปรัชญาเศรษฐศาสตร์ของคอลลิงวูด (15)

มติชนรายสัปดาห์  วันที่ 08 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 ปีที่ 28 ฉบับที่ 1434

ก่อนที่จะกล่าวถึง "ปรัชญาเศรษฐศาสตร์ของคอลลิงวูด" ต่อจากคราวที่แล้ว ผู้เขียนขอแก้ไขชื่อเรื่องของคอลัมน์นี้ที่ตีพิมพ์ในมติชนสุดสัปดาห์ฉบับวัน ที่ ๒25 มกราคม เพราะในฉบับดังกล่าว จั่วหัวเรื่องว่า "จากปรัชญา "เศรษฐกิจพอเพียง" กรีกโบราณถึงเศรษฐศาสตร์สังคมนิยมของคอลลิงวูด" ซึ่งจริงๆ แล้ว จะต้องเป็น "ปรัชญาเศรษฐศาสตร์ของคอลลิงวูด" ไม่ใช่ "เศรษฐศาสตร์สังคมนิยม" ผู้เขียนตรวจสอบกับต้นฉบับในไฟล์ที่ส่งไป ก็ไม่ผิด แต่ไม่ทราบว่า ไปเกิดผิดพลาดในขั้นตอนไหนของการพิมพ์ก็ไม่ทราบ จึงขอเรียนชี้แจงมาเพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจและจดจำไปอย่างผิดๆ

จากปรัชญาเศรษฐศาสตร์ของคอลลิงวูดใน "Economics as a Philosophical Science" (ค.ศ.1925) คอลลิงวูด อธิบายว่า ในการแลกเปลี่ยนสิ่งของหรือซื้อขายบางครั้งที่ผู้กระทำการฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่ได้กระทำจากเหตุผลทางเศรษฐกิจ คือ ไม่ได้ทำโดยคำนึงถึงประโยชน์ที่จะได้รับกลับคืน แต่กระทำจากเหตุผลทางศีลธรรม เช่น ยอมรับในสิ่งที่ตนต้องการน้อยกว่า เพื่อให้อีกฝ่ายหนึ่งได้ในสิ่งที่เขาจำเป็น (need)

ยกตัวอย่าง นาย ก. สามารถเลือกได้ระหว่างจะกินขนมปังหรือดื่มนม ตัวนาย ก. เองต้องการกินขนมปังมากกว่าดื่มนม แต่ตัดสินใจดื่มนมเพราะเห็นว่าอีกฝ่ายหนึ่งคือ นาย ข. จำเป็นต้องได้กินขนมปังเพื่อที่จะมีชีวิตรอด

ในกรณีนี้ คอลลิงวูด เห็นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ถือว่าเป็นการแลกเปลี่ยน (และจึงไม่จัดว่าเป็นการกระทำทางเศรษฐกิจ) แต่เป็นการให้ (gift) แบบหนึ่ง ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่า นาย ก. ได้รับนมกลับคืนจากการตัดสินใจเช่นนั้นหรือไม่ แต่อยู่ที่สิ่งที่ นาย ก. ได้รับกลับคืนคือ นม นั้นไม่ใช่เหตุผลที่ทำให้ นาย ก. ยอมแลกขนมปังกับนมตั้งแต่ต้น

การกระทำนี้จึงไม่มีลักษณะเป็น การกระทำทาง เศรษฐกิจตามการวิเคราะห์เศรษฐศาสตร์ในแนวปรัชญาของ คอลลิงวูด

ในกรณีของค่าแรงก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน คอลลิงวูด เห็นว่า การว่าจ้างแรงงานจะเป็น การกระทำทางเศรษฐกิจก็ต่อเมื่อทั้งสองฝ่ายเห็นว่าการแลกเปลี่ยนเป็นวิธีการ ที่จะทำให้ตนได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการอย่างแท้จริง นั่นคือ ค่าแรงสำหรับลูกจ้างและแรงงานสำหรับนายจ้างตามที่ตกลงกัน แต่เขายอมรับว่าอาจมีบางสถานการณ์ที่มีลักษณะพิเศษออกไป นั่นคือ

"เราอาจไม่สามารถวิจารณ์ค่าแรงที่ลูกจ้างผู้อาบ เหงื่อต่างน้ำได้รับในเชิงเศรษฐศาสตร์ได้ เพราะลูกจ้างเต็มใจที่จะทำงานเพื่อค่าแรงจำนวนดังกล่าว แม้ว่า เขาก็อยากจะได้รับมากกว่านั้น แต่เหตุผลที่ทำให้เขาเต็มใจที่จะทำงานเพื่อค่าแรงจำนวนนั้นก็เพราะเขายากจน มาก และทำให้ในกรณีนี้คำถามที่ควรจะเกิดขึ้นก็คือ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว สมควรหรือไม่ที่เขาจะได้รับของบริจาค (gift) แทนที่จะเป็นค่าแรง?"

คอลลิงวูด ตอบคำถามข้างต้นนี้ว่า หากมีเหตุผลที่ดีที่จะเชื่อว่ามีสถานการณ์พิเศษเช่นนี้เกิดขึ้นจริงๆ ที่ลูกจ้างถูกบังคับด้วยความยากจน ให้ต้องยอมเสนอขายแรงงานของตนในตลาดเสรี เพื่อค่าแรงที่ต่ำเกินไปเพียงเพื่อจะมีชีวิตรอด เราก็อาจเรียกร้องให้รัฐออกกฎหมาย แต่ไม่ใช่กฎหมายที่จะมากำหนดหรือควบคุมค่าแรงโดยตรง หากทว่าเป็นกฎหมายที่จะทำให้เงื่อนไขของตลาด เป็นไปในทางที่จะทำให้การซื้อขายแลกเปลี่ยนแรงงานตามอุปสงค์และอุปทาน เป็นไปอย่างเป็นธรรมมากขึ้น โดยไม่ต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับตัวอุปสงค์และอุปทานโดยตรง

คอลลิงวูดเห็นว่า ถ้านอกเหนือไปจากนี้ คือ ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเรียกร้องให้รัฐเข้ามากำหนดหรือควบคุมค่าจ้างแรงงานโดย ตรง ข้อเรียกร้องนั้นย่อมไร้เหตุผล เนื่องจากเท่ากับเราเรียกร้องให้การกระทำทางเศรษฐกิจ (การซื้อขายแรงงาน) ต้องอยู่ภายใต้มาตรฐานที่ไม่ใช่มาตรฐานของการกระทำทางเศรษฐกิจ และยังจะทำให้ต้องสูญเสียลักษณะทางเศรษฐกิจของมันไปอีกด้วย

ส่วนในกรณีของความมั่งคั่ง (wealth) คอลลิงวูดวิเคราะห์ไว้ว่า เนื่องจากเนื้อหาสาระที่จำเป็นทั้งหมดของทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ สามารถสร้างขึ้นโดยอ้างอิงจากแต่ละบุคคลเท่านั้น ทำให้การพูดถึงความมั่งคั่ง ในความหมายของสิ่งที่สามารถถ่ายโอนจากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่งได้นั้น เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน

ดังนั้น ความมั่งคั่ง เมื่อมองจากกรอบที่คอลลิงวูดใช้ก็คือความสามารถในการดำเนินกิจกรรมตามที่ตน ปรารถนาได้ (enjoyment of a desired activity) ซึ่งสิ่งนี้ไม่อาจถ่ายโอนจากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่งได้ แบบเดียวกับที่ "การที่ นาย ก. ได้กินขนมปังซึ่งเป็นสิ่งที่เขาต้องการ" ไม่สามารถถ่ายโอนไปยัง นาย ข. ได้

คอลลิงวูดเห็นว่า สิ่งเดียวที่ นาย ก. ทำให้ นาย ข. ได้ในการแลกเปลี่ยนก็คือ ยอมไม่ทำอะไรบางอย่าง เพื่อที่จะตนได้รับอีกสิ่งหนึ่งตอบแทนกลับมาในอนาคต ซึ่งในการทำเช่นนั้น ถ้ามองจากแง่มุมของ นาย ข. แล้วมันทำให้ นาย ข. สามารถทำบางสิ่งที่ นาย ข. เองต้องการได้เท่านั้น

กล่าวโดยสรุป สิ่งที่เราได้รับจาก คอลลิงวูด ในภาพรวมคือความเข้าใจว่าเราไม่สามารถเข้าใจเศรษฐศาสตร์ และตอบปัญหาพื้นฐานของเศรษฐศาสตร์ เช่น เรื่องการแลกเปลี่ยน ราคา ค่าแรง และความมั่งคั่ง รวมทั้งมโนทัศน์อื่นๆ ได้ โดยปราศจากการวิเคราะห์ทางปรัชญาที่เริ่มต้นจากคำถามที่ว่า เศรษฐศาสตร์คืออะไร? และมโนทัศน์ทางเศรษฐศาสตร์ต่างๆ นั้นยึดโยงกันอยู่อย่างไร?

ทั้งนี้ ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยกับการวิเคราะห์ของ คอลลิงวูด หรือไม่ก็ตาม

นอกจากนี้ เหตุผลหนึ่งที่อาจทำให้คนทั่วไปรู้สึกไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอทางทฤษฎีของคอ ลลิงวูดที่ปรากฏในงานชินนี้ ก็คือ ดูเหมือนเขาจะเชื่อในตัวแบบของทุนนิยมและเสรีนิยมที่ว่าการแลกเปลี่ยนเสรี เป็นรูปแบบที่ดีที่สุดจนเกินไป

แต่อย่างไรก็ตาม ความเข้าใจอันลึกซึ้ง (insight) ต่อมโนทัศน์ทางเศรษฐศาสตร์ที่มีความเชื่อมโยง กับกรอบการวิเคราะห์ทางปรัชญานี้ ก็ได้สะท้อนให้เห็นถึงคุณประโยชน์สำคัญต่อองค์ความรู้ในเรื่องอย่างมีนัย สำคัญยิ่ง โดยเฉพาะในแง่ของการเปิดวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลกว่ากรอบทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน และกำลังสร้างปัญหาอย่างร้ายแรงต่อการดำรงอยู่ร่วมกันของมวลมนุษยชาติ โดยมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้อย่างเท่าเทียมกันตามสิทธิขั้นพื้นฐานแห่งความเป็น มนุษย์

ด้วยเหตุนี้ จึงกล่าวได้ว่าวิธีการศึกษาหาความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ที่เชื่อมโยงกับองค์ความ รู้ทางปรัชญานี้ ทำให้เราสามารถมองเห็นอีกมิติหนึ่งของเศรษฐศาสตร์ เป็นเศรษฐศาสตร์ในแบบที่เรามักไม่ได้พบจากที่อื่น แม้แต่จากการศึกษาที่กระทำโดยนักเศรษฐศาสตร์เอง

รวมทั้งชี้ให้เห็นว่าทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ใดๆ ที่จะมีพลังในการอธิบายอย่างเพียงพอได้นั้น จำเป็นต้องมีพื้นฐานทางปรัชญา (philosophical foundation) รองรับในระดับหนึ่ง ดังที่ คอลลิงวูด ได้ให้ไว้แก่ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์แบบตลาดเสรีในงานชิ้นนี้

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเด็นความมั่งคั่งของเขาที่ชวนให้เราต้องขบคิดตีความให้ดีว่า ทำไมเขาถึงเห็นว่า ความมั่งคั่งไม่อาจถ่ายโอนจากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่งได้ แบบเดียวกับที่ "การที่ นาย ก. ได้กินขนมปังซึ่งเป็นสิ่งที่เขาต้องการ" ไม่สามารถถ่ายโอนไปยัง นาย ข. ได้!?

บทสรุปที่สำคัญยิ่งที่เราได้จากปรัชญา เศรษฐศาสตร์ของเซโนฟอน-อริสโตเติลและปรัชญาเศรษฐศาสตร์ของคอลลิงวูด คือ มุมมองที่ว่า การสั่งสมเงิน ที่ดินและสิ่งของต่างๆจึงไม่จำเป็นต้องเป็นดัชนีชี้วัดความมั่งคั่งร่ำรวย ของคนในสังคม กิจกรรมทางเศรษฐกิจและความมั่งคั่งย่อมเป็นเรื่องที่แต่ละคนจะพิจารณาด้วยตน เองตามความพึงพอใจของแต่ละคน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งความเป็นเสรีชนของแต่ละคน

และขอกล่าวย้ำอีกครั้งในตอนท้ายนี้ว่า บทสรุปทางปรัชญาเศรษฐศาสตร์ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เองที่กล่าวได้ว่าเป็น จุดเริ่มต้นแห่งวิวาทะระหว่างภูมิปัญญาโบราณและภูมิปัญญาสมัยใหม่ จาก Xenophon"s Oeconomicus ถึง An Inquiry Into the Nature and Causes of the Wealth of Nations ของ Adam Smith และ Capital ของ มาร์กซ์ ในศตวรรษที่สิบแปด-สิบเก้า




จากเศรษฐศาสตร์ในฐานะศาสตร์ทางปรัชญาของคอ ลลิงวู้ด สู่ทฤษฎีการเลือกอย่างมีเหตุผลและทฤษฎีเกม (16)

คนแคระบนบ่ายักษ์ : แพทย์ พิจิตร  มติชนรายสัปดาห์  วันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 ปีที่ 28 ฉบับที่ 1436

การวิเคราะห์เศรษฐศาสตร์เชิงปรัชญาของคอลลิงวู้ ด---ที่ว่า การกระทำทางเศรษฐกิจ จริงๆ แล้ว คือการที่คนแลกเปลี่ยนกับตัวเองมากกว่าจะแลกเปลี่ยนกับคนอื่น ในแง่ที่ เมื่อเขาเอาข้าวไปแลกกับเนื้อของคนอื่น นั่นคือ เขาแลกเปลี่ยนโอกาสที่ตนจะได้กินข้าวกับโอกาสที่ตนจะได้กินเนื้อ (ซึ่งเป็นสิ่งที่ชอบมากกว่า) เพื่อให้ตัวเองได้รับความพอใจสูงสุด---ถือเป็นการวิเคราะห์ที่มีนัยทั้งลึก ซึ้งและกว้างไกลต่อเศรษฐศาสตร์อย่างยิ่ง

นั่นคือ ประการแรก มันช่วยให้เราเข้าใจคำกล่าวที่ว่า มนุษย์เป็นสัตว์เศรษฐกิจ (economic man หรือ homo economicus) ได้อย่างลึกซึ้งขึ้นว่า มันไม่ได้หมายความแค่มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องแลกเปลี่ยนกับมนุษย์คน อื่นเพื่อความอยู่รอด แต่มนุษย์ยังมีความสามารถที่จะแลกเปลี่ยนสิ่งที่ตนต้องการน้อยกว่ากับสิ่ง ที่ตนต้องการมากกว่าได้

หรือพูดอีกอย่างคือ มนุษย์มีความสามารถที่จะแสวงหาความพึงพอใจสูงสุด (maximizing utility)

ประการที่สอง มันบ่งชี้ว่า การศึกษาทางเศรษฐศาสตร์จำเป็นต้องเริ่มที่การทำความเข้าใจคนแต่ละคน (individual) ก่อน เพราะกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในระดับสังคม ล้วนประกอบขึ้นมาจากการตัดสินใจเลือก และกระทำการทางเศรษฐกิจครั้งย่อยๆ ของคนแต่ละคนนั่นเอง

ตัวอย่างง่ายๆ เช่น ท่านที่เคยซื้อสินค้าจากรายการประเภทโฮมช็อปปิ้งคงสังเกตเห็นว่า เจ้าหน้าที่รับโทรศัพท์ที่คอยรับการสั่งสินค้า จะถามคุณเสมอว่า คุณทราบข่าวสินค้าชิ้นนี้จากไหน? ที่เขาถามเช่นนั้น เนื่องจากผู้ขายในฐานะผู้กระทำการทางเศรษฐกิจรายหนึ่ง จำเป็นต้องรู้ถึงสิ่งที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจบริโภค ของผู้ซื้อให้มากที่สุดที่จะทำได้ เพื่อที่ตนจะสามารถตัดสินใจทางธุรกิจ (ในที่นี้คือ ตัดสินใจเกี่ยวกับสื่อโฆษณา) ได้อย่างฉลาดและเกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับตนเอง

นั่นหมายความว่า การตัดสินใจของผู้ซื้อจะมีผลกำหนดการตัดสินใจเกี่ยวกับการทำตลาด ซึ่งเป็นการกระทำทางเศรษฐกิจรูปแบบหนึ่งของผู้ขายในขั้นต่อไป ซึ่งจะไปส่งผลต่อราคาในที่สุด

บางคนอาจสงสัยว่า ถ้าเป็นเช่นนี้ หากผู้ซื้อส่วนใหญ่เกิดนึกสนุกแกล้งให้ข้อมูลผิดๆ กับทางผู้ขายสินค้า ฝ่ายหลังมิแย่หรอกหรือ? ในทางเศรษฐศาสตร์นั้น เชื่อกันว่า ผู้ซื้อโดยทั่วไปคงไม่คิดที่จะทำเช่นนั้น เนื่องจากลึกๆ แล้ว ผู้ซื้อก็คือ คนที่มีเหตุผล (rational) ที่รู้ว่าถ้าขืนให้ข้อมูลผิดๆ ไป เช่น บอกว่าทราบเกี่ยวกับสินค้านั้นจากยูบีซี ทั้งที่ที่บ้านดูแต่ช่องเจ็ด ก็จะเท่ากับว่า ในที่สุดแล้วผลเสียจะตกอยู่กับผู้ซื้อนั่นเอง

เพราะถ้าผู้ขายเชื่อเช่นนั้นจริงๆ และทุ่มลงโฆษณาทางช่องยูบีซี ก็จะกลายเป็นว่า หากตนต้องการเข้าถึงสินค้าน่าซื้อได้ง่ายๆ อีกในอนาคต ก็ต้องเสียเงินติดตั้งยูบีซีก่อน เท่ากับเป็นการเพิ่มทั้งความลำบากและต้นทุนให้แก่ตัวเอง ดังนั้น สู้บอกความจริงไปดีกว่า ง่ายดี และได้ประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย

ดังนั้น สมมติฐานข้อหนึ่งของเศรษฐศาสตร์คือ ความเป็นสัตว์เศรษฐกิจของมนุษย์ แยกไม่ค่อยออกจากความมีเหตุผล (rationality) ข้อความนี้แม้จะดูเหมือนพื้นๆ ไม่สลักสำคัญอะไร แต่กลับเป็นต้นกำเนิดของสาขาวิชาย่อยสาขาหนึ่งขึ้นในวิชาเศรษฐศาสตร์ ที่ชื่อว่า ทฤษฎีการเลือกของสังคม (social choice theory) ที่ต่อมาได้ไปเติบใหญ่ได้ดิบได้ดี ในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องอีกสาขาหนึ่งคือ รัฐศาสตร์

โดยถูกนำไปใช้ในการวิเคราะห์เกี่ยวกับพฤติกรรม ทางการเมือง เช่น การลงคะแนนเสียง (voting) การเลือกตั้ง รวมถึงพฤติกรรมทางสังคมต่างๆ เช่น การร่วมมือกันของคนในสังคมว่าเป็นไปได้ด้วยปัจจัยอะไรบ้าง

และทฤษฎีการเลือกอย่างมีเหตุผลนี้ ต่อมายังได้แตกหน่อออกเป็นสาขาย่อยอีกสาขาหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญไม่น้อยไป กว่ากัน คือ ทฤษฎีเกม (game theory) ถึงขั้นที่นักทฤษฎีชั้นแนวหน้าคนหนึ่งในสาขานี้ คือ โทมัส ซี เชลลิ่ง (Thomas C. Schelling) ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์สำหรับทฤษฎีเรื่อง "focal points" ของเขาในปี ค.ศ.2005

คำถามคือ อะไรทำให้ทฤษฎีการเลือกของสังคมมีบทบาทค่อนข้างสูง ทั้งที่เป็นแค่สาขาวิชาย่อยสาขาหนึ่ง ของเศรษฐศาสตร์เท่านั้น?

คำตอบคือ เพราะสาขาวิชานี้ศึกษาในเรื่องที่ชาติตะวันตกถือว่ามีความสำคัญที่สุดเรื่อง หนึ่ง ในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับมนุษย์

โดยเฉพาะมนุษย์ที่มาอยู่ร่วมกันเป็นสังคม และต้องมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน ทั้งที่อาจมีความคิด ความชอบ หรือคุณค่าที่ยึดถือไม่เหมือนกัน คือ เรื่องความมีเหตุผล (rationality) ที่ได้กล่าวไปในตอนแรก

วัฒนธรรมตะวันตกมีประเพณียาวนานมานับเป็นพันๆ ปี (เริ่มจากสังคมกรีกโบราณ) ที่เชื่อว่า ลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งของมนุษย์คือ เหตุผล (reason)

เหตุผล เป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์เจริญขึ้น ทั้งทางจิตใจ ปัญญา และวัตถุ แต่คำอธิบายเรื่องเหตุผลในสมัยก่อนค่อนข้างคลุมเครือ เช่น เพลโตบอกว่า เหตุผลทำให้เราสามารถนำมาควบคุมแรงปรารถนา (passion) ที่มักก่อให้เกิดผลเสียแก่ชีวิตเราเองภายหลัง โดยเฉพาะแรงปรารถนาที่จะทำสิ่งที่เลว

อริสโตเติล ลูกศิษย์ของเพลโตเองก็ชี้ว่า แรงปรารถนาที่อยู่ในรูปของอารมณ์บางอย่าง ก็เป็นสิ่งที่ควรส่งเสริม ไม่ใช่ไปปิดกั้น เช่น ความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะเล่นงานเมื่อเห็นคนหนึ่งกระทำผิด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของปัญญาและเหตุผล

ดังนั้น บุคคลที่สมบูรณ์ จึงต้องมีทั้งเหตุผลและอารมณ์ (ที่ถูกต้อง) คู่กันไป ไม่ใช่มีแต่เหตุผลอย่างเดียว แต่ขณะเดียวกันนักปรัชญากลุ่มสโตอิก (stoic) เช่น เซเนก้า (Seneca) และซิเซโร (Cicero) ต่างเสนอว่า การมีเหตุผลในความหมายของการควบคุมตัวเองไม่ให้ตกเป็นทาสของอารมณ์ (self-control) ต่างหาก ที่เป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับมนุษย์

โดยบางคนถึงกับเสนอว่า เมื่อแพ้สงครามและต้องไปหาฝ่ายตรงข้ามเพื่อขอหย่าศึก คนฉลาดจะเอาสำลีอุดหูไปก่อนเพื่อที่จะไม่ต้องได้ยินคำเยาะเย้ยถากถางที่อาจ ทำให้โกรธจัดจนเสียเรื่องได้

คุณูปการของนักทฤษฎีการเลือกของสังคมต่อเรื่อง นี้คือ ขจัดความคลุมเครือไปจากความคิดนี้ และสกัดเอาเฉพาะแง่มุมที่จับต้องสัมผัสได้จริงออกมาเท่านั้น

พวกเขาได้ทำการศึกษาค้นคว้าเพื่อหาว่า การกระทำหรือพฤติกรรมทางเศรษฐกิจ (และทางสังคม) ที่มีเหตุผลควรมีลักษณะอย่างไร และสร้างเป็นแบบจำลองขึ้น

โดยแบบจำลองของนักทฤษฎีกลุ่มนี้กล่าวว่า การกระทำที่มีเหตุผลคือ การที่คนแต่ละคนเลือกทำในสิ่งที่ให้ความพึงพอใจสูงสุด และมีต้นทุนต่ำที่สุดสำหรับตนภายในขอบเขตที่สถาบันพื้นฐาน ระบบกฎหมายและบรรทัดฐานทางสังคมยินยอมให้กระทำได้ โดยเชื่อว่า คนทุกคนสามารถจัดลำดับของสิ่งที่ตนต้องการ (preference) ในชีวิตได้อย่างเป็นระบบและไม่ขัดแย้งกันเอง

และทางเลือกที่สมเหตุสมผลที่สุด ก็คือ ทางเลือกที่เป็นที่ต้องการมากที่สุด (ซึ่งหมายความว่า เป็นทางเลือกที่ให้ความพึงพอใจสูงสุด) และ มีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่อยู่ในรูปของเวลา ตัวเงินและทรัพยากรอื่นๆ น้อยที่สุด

ยกตัวอย่าง นาย ก. เป็นแรงงานพลัดถิ่นเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศหนึ่ง นาย ก. มีตัวเลือกอยู่สามอย่างคือ 1) ให้รัฐบาลอนุญาตให้นาย ก. มีใบอนุญาตให้พำนักอาศัยอยู่ชั่วคราวในประเทศไทยได้โดยไม่ผิดกฎหมาย แต่ทั้งนี้ นาย ก. ต้องจ่ายเงินเป็นค่าวิ่งเต้นก้อนใหญ่ หรือไม่เช่นนั้นก็ต้องไปร่วมเดินขบวนกดดันรัฐบาลที่หน้าสถานทูตต่างประเทศ บางแห่ง ซึ่งเสี่ยงต่อการถูกจับ

2) ให้องค์กรเอกชนที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนเข้ามาเรียกร้องให้แทน แต่ทั้งนี้ นาย ก. ก็ต้องเข้าไปร่วมทำงาน แบบไม่มีค่าตอบแทน ให้แก่องค์กรที่ว่านี้สักระยะหนึ่งก่อน ซึ่งหมายถึง นาย ก. จะไม่สามารถหาเงินเลี้ยงตัวเองไปได้พักใหญ่

หรือ 3) หนีไปทำงานในภาคประมงที่จังหวัดไกลๆ ที่ตำรวจตามไปจับไม่ถึง แต่ทั้งนี้ นาย ก. จะได้รับเงินเดือนน้อยกว่า และต้องทำงานหนักกว่าในสองกรณีแรก ทฤษฎีการเลือกของสังคมบอกว่า นาย ก. ต้องชั่งน้ำหนักข้อดีข้อเสีย ของทั้งสามทางเลือก แล้วดูว่าตนชอบ (prefer) ทางเลือกไหนมากที่สุด ยกตัวอย่าง หากนาย ก. พบว่า ถ้าต้องเลือกระหว่างเสียเงินเป็นค่าวิ่งเต้นก้อนใหญ่ หรือไปร่วมเดินขบวน หรือ ทำงานฟรีให้กับองค์กรเอกชนหลายๆ เดือน ตนเลือกทำงานแบบได้ค่าจ้างต่ำๆ และงานหนักหน่อยดีกว่า ในกรณีนี้ สิ่งที่นาย ก. เลือกในขั้นสุดท้าย หลังจากนำตัวแปรทุกตัวที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมพิจารณาแล้ว

ก็คือ ทางเลือกที่มีเหตุผลหรือสมเหตุสมผลที่สุดสำหรับนาย ก.

นี่คือตัวอย่างง่ายๆ ของสิ่งที่ทฤษฎีการเลือกของสังคมเสนอ ซึ่งเราสามารถสังเกตนัยทางรัฐศาสตร์ของความคิดนี้ ได้อย่างง่ายดาย กล่าวคือ ถ้าผู้ลงคะแนนเสียงแต่ละคนจัดลำดับความต้องการของตัวเองได้อย่างชัดเจน ผลการเลือกที่ออกมาก็สามารถพูดได้ว่า สะท้อนสิ่งที่คนในสังคมต้องการออกมาเป็นการเลือกของสังคม เท่ากับยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว

นั่นคือ ได้ตัดสินใจอย่างสมเหตุสมผลด้วย ได้เป็นประชาธิปไตยด้วย

สาขาวิชานี้มีชื่อเรียกเฉพาะว่า ทฤษฎีการเลือกของสังคม หรือ Social Choice Theory โดยมีนักคิดคนสำคัญคือ Kenneth Arrow ซึ่งก็ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ค.ศ.1972 จาก "Impossibility Theorem" ที่เขาเป็นผู้เสนอ (นอกจาก Schelling และ Arrow จะได้รับรางวัลโนเบลทั้งคู่แล้ว ทั้งสองยังเกิดปีเดียวกันอีกด้วย!)

อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีการเลือกของสังคมนี้ก็มีปัญหาและถูกวิจารณ์พอสมควร ซึ่งจะขยายความในตอนต่อไป




จากเศรษฐศาสตร์ในฐานะศาสตร์ทางปรัชญาของคอ ลลิงวูด สู่ทฤษฎีการเลือกอย่างมีเหตุผล: Jon Elster (17)

คนแคระบนบ่ายักษ์ : แพทย์ พิจิตร  มติชนรายสัปดาห์  วันที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 ปีที่ 28 ฉบับที่ 1437

จากที่กล่าวไปในตอนที่แล้วว่า ปรัชญาเศรษฐศาสตร์ของคอลลิงวูดนั้น ได้ส่งอิทธิพลมาสู่แนวคิดทฤษฏีทางเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่ในปัจจุบันคือ อิทธิพลดังกล่าวจากคอลลิงวูด คือ การช่วยให้เราเข้าใจคำกล่าวที่ว่ามนุษย์เป็นสัตว์เศรษฐกิจ (economic man หรือ homo economicus) ได้อย่างลึกซึ้งขึ้นว่า มันไม่ได้หมายความแค่มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องแลกเปลี่ยนกับมนุษย์คน อื่นเพื่อความอยู่รอด แต่มนุษย์ยังมีความสามารถที่จะแลกเปลี่ยนสิ่งที่ตนต้องการน้อยกว่ากับสิ่ง ที่ตนต้องการมากกว่าได้

หรือพูดอีกอย่างคือ มนุษย์มีความสามารถที่จะแสวงหาความพึงพอใจสูงสุด (maximizing utility) และมันบ่งชี้ว่าการศึกษาทางเศรษฐศาสตร์จำเป็นต้องเริ่มที่การทำความเข้าใจคน แต่ละคน (individual) ก่อน

ด้วยเหตุนี้เองที่สมมติฐานข้อหนึ่งของ เศรษฐศาสตร์จึงเชื่อว่า ความเป็นสัตว์เศรษฐกิจของมนุษย์ แยกไม่ค่อยออกจากความมีเหตุผล (rationality) อันเป็นต้นกำเนิดของสาขาวิชาย่อยในวิชาเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่ นั่นคือ ทฤษฎีการเลือกของสังคม (social choice theory) ซึ่งมีอิทธิพลต่อการศึกษาทางรัฐศาสตร์ด้วย

โดยทั่วไป นัยของแนวคิดหรือทฤษฎีทางเลือกของสังคมเริ่มต้นจากสมมติฐานที่ว่า เราในฐานะที่เป็น "มนุษย์เศรษฐกิจ" (economic man หรือ homo economicus-หรือใครจะเรียกว่า "สัตว์เศรษฐกิจ" เพื่อล้อกับ "สัตว์การเมือง" ของอริสโตเติลก็ได้) ย่อมจะแสวงหาความพึงพอใจสูงสุด (utility maximization) เสมอ

ซึ่งจากมุมมองนี้ นักทฤษฎีการเลือกของสังคมได้ให้คุณูปการที่สำคัญมากประการหนึ่งไว้แก่สาขา สังคมศาสตร์- ตั้งแต่เศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์ ไปจนถึงจิตวิทยาและจิตวิทยาสังคม-นั่นคือ ความคิดเรื่อง "pre-commitment" หรือ การที่คนผูกมัดตัวเองไว้กับบางสิ่งบางอย่างล่วงหน้าเพื่อเป็นหลักประกันว่า จะไม่เผลอไผลไปกับสิ่งยั่วยวนเฉพาะหน้า- หรือในบางครั้ง อาจจะรวมถึงอนาคตด้วยก็ได้-ที่อาจทำให้ตนสูญเสียผลประโยชน์ที่ใหญ่กว่าหรือ จำนวนมากกว่าในอนาคตไปได้ ซึ่งในสำนวนเรียก "pre-commitment" ของฝรั่งนี้ว่า "ไม่ให้เสียการใหญ่" นั่นเอง

ความคิดเรื่องการผูกมัดตัวเองล่วงหน้านี้ถือ กำเนิดขึ้นในงานเขียนชื่อ "Myopia and inconsistency in dynamic utility maximization" ตีพิมพ์ในวารสารที่ชื่อ Review of Economic Studies 23 (1956), 166-180 ของ R. Stortz และถูกพูดถึงอีกครั้งในงานชื่อ "Specious reward" ในวารสาร Psychological Bulletin 82 (1975), 463-496 ของนักจิตวิทยาชื่อ จอร์จ แองส์ลี่ (George Ainslie)

แต่คนที่นำแนวคิดมาพูดถึงจนเป็นที่รู้จักโด่ง ดังไปทั่วคือ จอน เอลสเตอร์ (Jon Elster) นักทฤษฎีการเมืองชาวนอรเวย์ ผู้เชี่ยวชาญแนวปรัชญามาร์กซิสม์แบบวิเคราะห์ (Analytic Marxism) และทฤษฎีการเลือกอย่างมีเหตุผล (rational choice theory) ในหนังสืออันโด่งดังของเขาที่ชื่อ Ulysses and the Sirens: Studies in Rationality and Irrationality ตีพิมพ์ในปี ค.ศ.1979 ซึ่งนักรัฐศาสตร์ส่วนใหญ่น่าจะเคยอ่านหรือได้ยินกิตติศัพท์ของเขา ส่วนผู้เขียนมีโอกาสได้อ่านงานของเขาครั้งแรก สมัยเรียนอยู่ที่สหรัฐอเมริกา เมื่อกว่ายี่สิบปีที่แล้ว

ปัจจุบัน เอลสเตอร์ดำรงตำแหน่ง Robert K. Merton Professor of Social Sciences และมีตำแหน่งในคณะรัฐศาสตร์ และปรัชญา ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย อีกทั้งมีตำแหน่ง professeur attach? ที่ College de France ด้วย

เอลสเตอร์เชื่อมั่นในทฤษฎีการเลือกอย่างมี เหตุผลของเขาอยู่พักใหญ่ จนเมื่อปี ค.ศ.1991 เขาได้เริ่มเห็นและยอมรับจุดอ่อน และข้อด้อยในพลังการอธิบายของทฤษฎีของเขา แต่กระนั้น เราก็ควรทำความรู้จักประเด็นสำคัญของทฤษฎีของเขาไว้

เอลสเตอร์เริ่มต้นโดยอธิบายว่า สิ่งที่ทำให้มนุษย์ต่างจากสิ่งมีชีวิตแบบอื่นๆ คือ การมีขีดความสามารถ ที่จะมีเหตุผลได้อย่างสมบูรณ์แบบ (perfect rationality) โดยลักษณะสำคัญที่สุดของความมีเหตุผลชนิดนี้คือ มันทำให้มนุษย์บรรลุความพึงพอใจสูงสุดได้ด้วยวิธีการก้าวกระโดด (global maximization) เขาเปรียบเทียบความมีเหตุผลชนิดนี้กับความมีเหตุผลที่อาจพบได้ในสัตว์ชนิด อื่นๆ

โดยเขากล่าวว่า "ขณะที่สิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในโลกอาจรู้จักทำในสิ่งที่จะทำให้ตัวมันได้ประโยชน์ แต่สิ่งที่มันไม่มี แต่สามารถพบได้ในมนุษย์ก็คือ การสามารถ รอคอย (waiting) และ เดินทางอ้อม (indirect strategy) เพื่อที่จะทำให้ตนได้ประโยชน์สูงสุดหรือประโยชน์ที่ดียิ่งกว่า"

การรอคอยหมายถึง การยอมเสียโอกาสที่จะได้มาซึ่งอะไรบางอย่างที่ดีน้อยกว่าในปัจจุบัน เพื่อให้ได้มาซึ่งอีกสิ่งหนึ่งที่ดีกว่าในอนาคต ยกตัวอย่าง สมมุติว่า มีสิ่งสามสิ่ง คือ ก. ข. และ ค. โดย ค. เป็นสิ่งที่ดีที่สุด ส่วน ข. ดีรองลงมา และ ก. ดีน้อยที่สุด เนื่องจากมนุษย์แสวงหาความพึงพอใจสูงสุด มนุษย์จึงย่อมต้องการ ค.

แต่ปัญหาคือ จากขีดจำกัดบางอย่างของมนุษย์ทำให้มนุษย์ต้องเดินจาก ก. ตรงไปยัง ข. หรือ เดินจาก ก. ตรงไปยัง ค. เลย แต่ไม่สามารถเดินสองต่อคือ จาก ก. ไป ข. แล้วค่อยจาก ข. ไป ค.

ซึ่งหมายความว่า ถ้ามนุษย์ใจเร็วด่วนได้รีบเดินจาก ก. ไป ข. ก็จะหมดโอกาสได้ ค.

เอลสเตอร์เห็นว่า ในกรณีแบบนี้ มนุษย์สามารถรอได้ คือ รอที่จะไม่เดินจาก ก. ไป ข. เพื่อที่จะเดินจาก ก. ไป ค. แทน เพื่อที่ตนจะได้รับประโยชน์สูงสุด ตัวอย่างของการรอคอยที่เอลสเตอร์พูดถึงไว้ เช่น การต่อต้านการรณรงค์เคลื่อนไหวต่างๆ ในวันนี้ที่อาจกลายมาเป็นอุปสรรคต่อการรณรงค์เคลื่อนไหวในอนาคต (การรอคอยทางการเมือง) และการใช้ระบบลิขสิทธิ์หรือสิทธิบัตรในวันนี้เพื่อกระตุ้นการคิดค้นด้าน เทคโนโลยีในอนาคต (การรอคอยทางเศรษฐกิจ)

การเดินทางอ้อม หมายถึง การยอมทนกับอะไรบางอย่างที่แย่กว่าในปัจจุบัน เพื่อให้ได้มาซึ่งอีกสิ่งหนึ่งที่ดีกว่าในอนาคต ยกตัวอย่าง สมมุติว่า มีสิ่งสามสิ่ง คือ ก. ข. และ ค. โดย ค. ดีที่สุด ส่วน ก. ดีรองลงมา และ ข. ดีน้อยที่สุด และเนื่องจากมนุษย์ย่อมแสวงหาความพึงพอใจสูงสุด มนุษย์จึงต้องการ ค. แต่ปัญหาคือ ทางเดินกำหนดให้ต้องเดินจาก ก. ไป ข. (ซึ่งหมายถึงว่า ต้องเดินถอยหลังไปยังจุดที่ดีน้อยกว่า) และจาก ข. ไป ค. แต่จะเดินจาก ก. ไป ค. โดยตรงไม่ได้

เอลสเตอร์เห็นว่า ในกรณีแบบนี้ มนุษย์ต่างจากสัตว์ตรงที่ยอมเดินทางอ้อมหรือเดินถอยหลัง คือ จาก ก. ไป ข. แล้วค่อยเดินต่อจาก ข. ไป ค. ได้

ตัวอย่างของการเดินทางอ้อมที่เอลสเตอร์ให้ไว้ ได้แก่ การต่อต้านการปฏิรูปทางสังคมทีละน้อยๆ ที่ให้ประโยชน์ไม่มากนักหรือเป็นการแหวกหญ้าให้งูตื่น โดยยอมทนอยู่กับสภาพเดิมที่ไม่น่าพึงใจไปก่อน จนกว่าสถานการณ์ที่สุกงอมสำหรับการปฏิวัติจะมาถึง (นั่นคือ การเดินทางอ้อมทางการเมือง)

หรือ การลงทุนที่ยอมสละเงินสำหรับจับจ่ายในปัจจุบันเพื่อผลประโยชน์ที่สูงกว่าใน อนาคต (หรือ การเดินทางอ้อมทางเศรษฐกิจ)

ซึ่งทั้งคู่ล้วนมีลักษณะเป็น การ "ยอมถอยหลังหนึ่งก้าว เพื่อเดินไปข้างหน้าสองก้าว"

สำหรับเอลสเตอร์ การกระทำเหล่านี้จะถือเป็นตัวอย่างของการมีเหตุผลอย่างสมบูรณ์แบบได้ก็ต่อ เมื่อ กระทำด้วยความจงใจและเห็นเป้าหมายอยู่ล่วงหน้าแล้ว เช่น เมื่อพ่อแม่ตกลงใจที่จะมีบุตรน้อยลง (ซึ่งหมายถึงโอกาสในการเจริญเผ่าพันธุ์ที่น้อยลงในรุ่นลูกด้วย) เพื่อให้ตนสามารถเลี้ยงดูบุตรให้แข็งแรงทางร่างกายและสติปัญญาสูงสุด จนสามารถเจริญพันธุ์ได้ดียิ่งขึ้นในรุ่นหลานและเหลนต่อไป

กระนั้น การอธิบายดังกล่าวข้างต้นอาจชวนให้เข้าใจว่า ทฤษฎีการเลือกอย่างมีเหตุผลไม่เปิดโอกาสให้คนมีเหตุผล สามารถเลือกทำอะไรอย่างส่งเดชเลย (random choice) ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ก็คงยากที่จะหาตัวอย่าง คนมีเหตุผลอย่างสมบูรณ์แบบ มายืนยันความเป็นไปได้ของทฤษฎีความมีเหตุมีผลของเขาได้

แต่จริงๆ แล้ว เอลสเตอร์ไม่ได้ปฏิเสธว่าคนมีเหตุผลจะไม่เลือกทำอะไรอย่างส่งเดช เพียงแต่เขาเน้นว่า คนมีเหตุผลอาจคิดชั่งน้ำหนักแล้วพบว่า การเลือกส่งเดชสำหรับกรณีเล็กน้อยที่ไม่สำคัญนักอาจเป็นหนทางที่มีเหตุมีผล ที่สุด เพื่อจะได้มีพลังเหลือพอสำหรับใช้คิดและชั่งน้ำหนักข้อมูลอย่างถี่ถ้วนใน เรื่องที่สำคัญจริงๆ

เพราะถ้าต้องคิดและตัดสินใจทุกเรื่องโดยใช้การ ชั่งน้ำหนักหมดอาจไม่คุ้มค่าทั้งในแง่เวลาและงบประมาณ ในการได้มาซึ่งข้อมูล และประเมินข้อ มูลเหล่านั้นเพื่อหาทางเลือกที่ดีที่สุด

โดยเขายกตัวอย่าง ผู้จัดการที่มีปัญญาอาจเลือกที่จะให้อิสระแก่นักวิทยาศาสตร์ในการทำสิ่งที่ พวกเขาอยากทำ เนื่องจากนโยบายนี้จะช่วยให้องค์กรสามารถคัดสรรนักวิทยาศาสตร์ระดับชั้นหัว กระทิเข้ามาทำงานด้วยมากที่สุด และได้ผลงานที่มีความคิดสร้างสรรค์ที่สุด ที่จะทำให้ผลลัพธ์สุดท้ายที่ออกมาเป็นประโยชน์แก่องค์กร มากกว่าที่จะบงการนักวิทยาศาสตร์ทุกเรื่อง

จนในที่สุดแล้ว จะมีแต่นักวิทยาศาสตร์หัวปานกลางเท่านั้นที่ยอมมาทำงานด้วย และได้แต่ผลงานระดับกลางออกมา

เอลสเตอร์ยอมรับว่า สัตว์บางชนิดอาจมีความสามารถทางเหตุผลแบบที่กล่าวมานี้ในระดับหนึ่ง แต่เขาก็ยืนยันว่า มันเป็นคนละอย่างกับความสามารถทางเหตุผลแบบที่มนุษย์มี เพราะมนุษย์สามารถรอคอย และใช้วิธีแบบทางอ้อมได้ในทุกสถานการณ์ที่แปลกใหม่ที่ตนต้องเจอ แต่สำหรับสัตว์ แม้จะทำแบบนั้นได้ แต่ก็เฉพาะในสถานการณ์ที่เฉพาะเจาะจงและมีลักษณะแน่ชัดบางแบบเท่านั้น

ซึ่งตัวอย่างรูปธรรมที่เอลสเตอร์ยกมาเป็นอย่าง ไรนั้น จะขอยกไว้ในตอนต่อไป




จากเศรษฐศาสตร์ในฐานะศาสตร์ทางปรัชญาของคอ ลลิงวูด สู่ทฤษฎีการเลือกอย่างมีเหตุผลของ Jon Elster (18)

คนแคระบนบ่ายักษ์ : แพทย์ พิจิตร  มติชนรายสัปดาห์  วันที่ 07 มีนาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 28 ฉบับที่ 1438

จากปรัชญาเศรษฐศาสตร์ของคอลลิงวูดที่เป็นจุด เริ่มต้นแห่งกระบวนการคิด และการทำความเข้าใจ ในเรื่องกิจกรรมทางเศรษฐกิจของมนุษย์---โดยเฉพาะแนวคิดที่ว่า การกระทำทางเศรษฐกิจ จริงๆ แล้ว คือการที่คนแลกเปลี่ยนกับตัวเองมากกว่าจะแลกเปลี่ยนกับคนอื่น---ได้พัฒนาต่อ มาจนถึงทฤษฎีการเลือกอย่างมีเหตุผลที่มี จอน เอลสเตอร์ (Jon Elster) ศาสตราจารย์ทางสังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์และปรัชญาแห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบียเป็นเจ้าพ่อ

ประจักษ์พยานของความโดดเด่นในผลงานของเอลสเตอร์ คือ การที่เขาได้รับรางวัล Jean Nicod ซึ่งเป็นรางวัลที่วงการวิชาการฝรั่งเศสมอบให้ทุกปีสำหรับผู้ที่มีผลงานดี เด่นทางปรัชญาจิต (philosophy of mind) หรือทางวิทยาศาสตร์การรับรู้ (cognitive science) ซึ่งเอลสเตอร์ได้รับรางวัลนี้ในปี ค.ศ.1997

ต่อมาในปี ค.ศ.2000 นักปรัชญาที่โด่งดังอีกคนหนึ่งก็ได้รับรางวัลนี้เช่นกัน นั่นคือ จอห์น เซิร์ล (John Searle) ศาสตราจารย์ทางด้านปรัชญา แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย-เบิร์กลีย์ ซึ่งผู้เขียนจะได้เล่าถึงสาระสำคัญที่โดดเด่นของปรัชญาของ จอห์น เซิร์ล ในโอกาสต่อไป

Jon Elster (หนุ่ม) (ค.ศ.1940-) Jon Elster (ปัจจุบัน)

สาระสำคัญของทฤษฎีการเลือกอย่างมีเหตุผลของเอ ลสเตอร์ มีประเด็นที่ตั้งมั่นไว้ว่า สิ่งที่ทำให้มนุษย์ต่างจากสิ่งมีชีวิตแบบอื่นๆ คือ การมีขีดความสามารถที่จะมีเหตุผลได้อย่างสมบูรณ์แบบ (perfect rationality) โดยลักษณะสำคัญที่สุดของความมีเหตุผลชนิดนี้คือ มันทำให้มนุษย์บรรลุความพึงพอใจสูงสุดได้ด้วยวิธีการก้าวกระโดด (global maximization)

เอลสเตอร์เปรียบเทียบความมีเหตุผลชนิดนี้ (ของคน) กับความมีเหตุผลหรือสิ่งที่เรียกได้ว่า "เหตุผล" ที่อาจพบได้ในสัตว์ชนิดอื่นๆ โดยเขากล่าวว่า "ขณะที่สิ่งมีชีวิต-สัตว์อื่นๆ ในโลกอาจรู้จักทำในสิ่งที่จะทำให้ตัวมันได้ประโยชน์ แต่สิ่งที่สิ่งมีชีวิตอื่นๆ ทั้งหลายไม่มี แต่สามารถพบได้ในมนุษย์ก็คือ ความสามารถในการรอคอย (waiting) และเดินทางอ้อม (indirect strategy) เพื่อที่จะทำให้ตนได้ประโยชน์สูงสุดหรือประโยชน์ที่ดียิ่งกว่า"

อย่างไรก็ตาม จากปัญหาที่ทิ้งท้ายไว้ในตอนที่แล้ว เอลสเตอร์เองยอมรับว่า แม้ว่าสัตว์บางชนิด อาจมีความสามารถทางเหตุผลในระดับหนึ่ง แต่เขาก็ยืนยันว่า มันเป็นคนละอย่างกับความสามารถทางเหตุผลแบบที่มนุษย์มี เพราะมนุษย์สามารถรอคอยและใช้วิธีแบบทางอ้อมได้ในทุกสถานการณ์ที่แปลกใหม่ ที่ตนต้องเจอ

แต่สำหรับสัตว์ แม้จะทำแบบนั้นได้ แต่ก็เฉพาะในสถานการณ์ที่เฉพาะเจาะจง และมีลักษณะแน่ชัดบางแบบเท่านั้น

เอลสเตอร์ยกตัวอย่างการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับ พฤติกรรมของสัตว์ที่เป็นผู้ล่า กับสัตว์ที่ถูกล่าของ เอ็ม เอ็ดมันส์ และ อี คูริโอ (M. Edmunds and E. Curio) ซึ่งพบว่า สัตว์ที่ถูกล่า สามารถรอคอยได้ ส่วนสัตว์ผู้ล่า สามารถทั้งรอคอยและเดินทางอ้อมได้ ยกตัวอย่างในกรณีของเหยื่อ เช่น กวางกับสิงโต การที่กวางตัวหนึ่งหนีสิงโตที่ไล่ล่า อาจช่วยให้มันพ้นจากอันตรายเฉพาะหน้าได้ แต่ในระยะยาวจะก่อให้เกิดผลลัพธ์คือ ทำให้ผู้ล่ารู้ว่ามีฝูงกวางอยู่ตรงไหน และทำให้กวางทั้งฝูงตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะถูกจับกินเป็นอาหารสูงขึ้นตามมา

ดังนั้น เมื่อเวลาผ่านไป สัตว์ที่ถูกล่าจะ "เรียนรู้" ที่จะไม่ตื่นตระหนกและรีบเผ่นหนีเมื่อเจอผู้ล่า ซึ่งทำให้ฝ่ายผู้ล่าล่าได้ยากขึ้น

ในทำนองเดียวกัน สัตว์ผู้ล่าก็สามารถรอคอยได้เช่นกัน เช่น สิงโตรู้จักที่จะค่อยๆ เดินแบบครุ่นคิดเข้าไปหาเหยื่อของตน แทนที่จะวิ่งเต็มฝีเท้า ซึ่งอาจทำให้เหยื่อตกใจและวิ่งหนีไปก่อน หรือ สัตว์นักล่าอีกจำนวนหนึ่ง ที่รู้จักที่จะสำรวจเส้นทางหลบหนีของเหยื่อไปด้วยระหว่างออกปฏิบัติการตาม ล่า ทำให้ถ้าครั้งแรกไม่สำเร็จ ก็จะสามารถตามไปจับเหยื่อทันได้ในภายหลัง

ขณะที่เหยื่อเองก็เรียนรู้ที่จะใช้วิธีวิ่งหนี สลับทิศทางไปมาแบบคาดเดาไม่ได้ จนทำให้ผู้ล่างุนงงและตามไม่ทัน ซึ่งวิธีนี้ใช้ได้ผลกับสัตว์ผู้ล่าเกือบทุกชนิด

ยกเว้นเพียงเสือชีต้าที่มีเทคนิคเฉพาะในการลด ความเร็วของฝีเท้าลง เพื่อจับตามองการหักเหเปลี่ยนทิศทางการวิ่งของเหยื่อได้ตลอด อันทำให้มันล่าสำเร็จเสียเป็นส่วนใหญ่

ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ ใกล้เคียงกับพฤติกรรมของผู้เข้าร่วมการทดลองวิจัยในเรื่องการเลือกอย่างมี เหตุผล (rational choice) ที่เรียกว่า "เกมโชเฟอร์ตีนผี" (the homicidal chauffeur game)

การทดลองที่ว่านี้ สมมุติให้คนกลุ่มหนึ่งขับรถพุ่งชนคนเดินถนนในลานจอดรถ แต่รถขยับลำบาก เพราะอยู่ใกล้เป้าหมายเกินไปทำให้เลี้ยวโค้งไม่ได้ ผู้เข้าร่วมการทดลองเหล่านี้จะเลือกใช้วิธีเดียวกันหมด ซึ่งเป็นวิธีที่ดีที่สุดในสถานการณ์นี้คือ ขับถอยห่างจากคนที่จะต้องชนไประยะหนึ่งก่อน พอให้มีพื้นที่ที่จะเลี้ยวรถกลับมาได้ แล้วจึงค่อยขับพุ่งกลับมาด้วยความเร็วสูงสุดเพื่อเข้าชนเป้าหมายของตน

อันแสดงให้เห็นว่า ผู้ทดลองเหล่านี้เข้าใจหลักการเรื่องการถอยหลังหนึ่งก้าว เพื่อไปข้างหน้าสองก้าวได้เป็นอย่างดี

หากท่านผู้อ่านสนใจใฝ่รู้เกี่ยวกับตัวแบบทดลอง "เกมโชเฟอร์ตีนผี" นี้ ในรายละเอียดสามารถดูได้จากหนังสือชื่อ Advances in Dynamic Games: Applications to Economics, Finance, Optimization, and Stochastic Control (Annals of the International Society of Dynamic Game) ที่มี Andrzej S. Nowak และ Krzysztof Szajowski เป็นบรรณาธิการร่วม (Birkhauser Boston: 2004)

หนังสือเล่มนี้มีตัวแบบต่างๆ ที่น่าสนใจ!

นอกจากนี้ เอลสเตอร์ยังอธิบายว่า ความมีเหตุผลอย่างสมบูรณ์ในมนุษย์ ประกอบด้วยลักษณะที่สำคัญมากอีกประการหนึ่ง นั่นคือ การตระหนักว่า มนุษย์คนอื่นก็คิดได้แบบมีเหตุมีผลเหมือนกันกับตน และสามารถแสดงพฤติกรรมบางอย่าง ตอบโต้การกระทำของตนที่กระทบต่อผลประโยชน์ของพวกเขาได้ทั้งในแง่ดีและแง่ ร้าย

ในแง่นี้ คนที่มีเหตุผลจึงคิดถึงความคาดหวังของคนอื่นเสมอก่อนตัดสินใจกระทำบางสิ่ง เพื่อบรรลุเป้าหมายที่ตนต้องการ และจึงมักไม่พลาดในการบรรลุเป้าหมายเหล่านั้น

ในทางตรงกันข้าม ถ้าความมีเหตุผลไม่มีคุณลักษณะดังที่กล่าวไป คนแต่ละคนก็จะไม่สามารถจินตนาการถึงความคาดหวัง และปฏิกิริยาที่จะตอบกลับมาจากการกระทำเพื่อบรรลุเป้า หมายบางอย่างของเขาได้ ส่งผลให้การกระทำนั้น มีแนวโน้มจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่วิปริตผิดเพี้ยนไปจากที่ตั้งใจ เมื่อเผชิญกับการตอบโต้จากคนอื่น ที่เขาไม่ได้คาดหวังไว้ ซึ่งอาจเป็นผลเสียทั้งต่อประโยชน์ของตัวเขาเอง หรือประโยชน์ส่วนรวม

เอลสเตอร์ยกตัวอย่างพฤติกรรมที่แสดงความไร้ เหตุผลแบบนี้ที่ส่งผลกระทบต่อประโยชน์ของส่วนรวมในกรณีของสัตว์ เช่น ปลาที่อยู่รวมกันเป็นฝูง ซึ่งปลาแต่ละตัวมีแนวโน้มจะเบียดแทรกเข้าไปอยู่ตรงกลางของฝูงปลา แทนที่จะอยู่ตามรอบนอก เพราะการอยู่ตอนใน ย่อมจะปลอดภัยมากกว่าอยู่รอบนอก ซึ่งเสี่ยงต่อการถูกนักล่าจับกินสูง

แต่ในแง่ของประโยชน์ส่วนรวม การทำเช่นนั้นจะก่อให้เกิดผลเสียคือ ฝูงปลาจะมีขนาดเล็กลง เบียดกันแน่นมากขึ้น และพื้นที่ระหว่างตอนในกับรอบนอกก็จะบีบเข้าหากันมากขึ้น ทำให้ปลาทั้งฝูง เสี่ยงต่อการถูกจับกินมากขึ้นในที่สุด

เอลสเตอร์ชี้ว่า ลักษณะข้อนี้ของความมีเหตุผลที่สมบูรณ์ในมนุษย์มีความสำคัญมาก เนื่องจากมันช่วยทำให้มนุษย์ สามารถหาทางออกได้ ซึ่งหลักๆ ก็คือ โดยการเจรจาต่อรองในสถานการณ์ที่เป็นการเผชิญหน้า ระหว่างคนสองคน ที่ไม่มีทางออกที่ดีและเห็นเด่นชัดที่สุด โดยทำให้ทั้งสองฝ่ายสามารถค้นพบจุดลงตัว (equilibrium point) ที่จะทำให้ทั้งคู่ได้ประโยชน์มากกว่าที่จะตัดสินใจแบบอื่น

ทฤษฎีการเลือกอย่างมีเหตุผลของศาสตราจารย์ จอน เอลสเตอร์ นี้ยังมีประเด็นที่น่าขบคิดสนใจอยู่ไม่น้อย กรุณาติดตามในตอนต่อไป




จากปรัชญาเศรษฐศาสตร์ของคอลลิงวูดสู่ทฤษฎี การเลือกอย่างมีเหตุผล และทฤษฎีเกมของ Jon Elster (19)

คนแคระบนบ่ายักษ์ : แพทย์ พิจิตร  มติชนรายสัปดาห์  วันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 28 ฉบับที่ 1440

ในครั้งที่แล้ว ผู้เขียนได้อธิบายฐานความคิดในทฤษฎีการเลือกอย่างมีเหตุผล (rational choice theory) ของ จอน เอลสเตอร์ (Jon Elster) ฐานคิดที่ว่านี้คือ ความเชื่อใน "ความมีเหตุผลสมบูรณ์ (perfect rationality)" ที่มนุษย์สามารถมีได้ และแถมยังเป็นคุณสมบัติหนึ่งที่ทำให้มนุษย์แตกต่างจากสัตว์อื่นๆ ด้วย ความมีเหตุผลสมบูรณ์ของมนุษย์ที่ว่านี้ มีคุณลักษณะที่เด่นชัดสองประการ นั่นคือ ประการแรก มนุษย์จะแสวงหาประโยชน์หรือความพึงพอใจสูงสุด (utility maximization) ขณะเดียวกันก็รู้จักเลือกหาวิธีที่ดีที่สุดจะได้มาซึ่งสิ่งที่ปรารถนาที่จะ ให้ประโยชน์หรือความพึงพอใจสูงสุด โดยมนุษย์จะพยายามค้นหาจากวิธีการหรือตัวเลือกแบบต่างๆ

ยกตัวอย่างเช่น นาย ก. ต้องการเก็บเงินได้ก้อนใหญ่ที่สุด แต่ไม่ชอบความเสี่ยง ดังนั้นเมื่อต้องเลือกระหว่าง การนำเงินเก็บที่มีอยู่ไปฝากธนาคารเพื่อกินดอกเบี้ยในอัตราไม่สูงนัก กับ การนำไปลงทุนในประกันชีวิต ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าและเสี่ยงน้อยกว่า (เพราะได้รับประกันดอกเบี้ยที่อัตราคงที่ทุกปี) กับ การนำไปลงทุนในหุ้นที่อาจให้ผลตอบแทนสูงกว่าแต่ทว่าก็มีความเสี่ยงสูงกว่า ด้วย

นาย ก. จะรู้ว่า การนำเงินไปลงทุนในประกันชีวิต ซึ่งให้ผลตอบแทนสูงกว่าธนาคาร และเสี่ยงน้อยกว่าหุ้น น่าจะเป็นวิธีที่ทำให้ตัวเองไปถึงเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ได้ดีที่สุด

คุณลักษณะประการที่สองของความสามารถในการใช้ เหตุผลของมนุษย์ คือ การที่มนุษย์รู้ว่าคนอื่น ก็เป็นคนที่มีเหตุผลเหมือนกับตน นั่นคือ คนอื่นๆ หรือคนทุกคนก็รู้จักที่จะแสวงหา และรู้วิธีที่จะทำให้ตัวเอง ได้ประโยชน์หรือความพึงพอใจสูงสุดจากทางเลือกที่มีอยู่

เมื่อเป็นเช่นนี้ คนมีเหตุผลจึงมีแนวโน้มที่จะไม่คิดว่าตัวเอง "ฉลาดกว่าใคร" หรือจะสามารถฉกฉวยประโยชน์ จากการเลือกแต่ละครั้ง มาไว้กับตัวเองคนเดียวได้ เพราะตระหนักอยู่เสมอว่า คนอื่นก็มีเหตุผลเหมือนกัน และคนเหล่านั้นย่อมแสวงหาผลประโยชน์สูงสุดอยู่เหมือนกัน และย่อมรู้ด้วยว่าคนอื่นๆ ที่มีเหตุผลก็จะทำแบบเดียวกันนี้

ยกตัวอย่างเช่น นาย ก. อยากลงทุนผลิตและขายสินค้าบางอย่างเพื่อทำกำไร และเขารู้ว่าสินค้านั้น มีผู้จำหน่ายรายอื่นครองตลาดอยู่ก่อน ซึ่งถ้าเขาเข้าไปลงทุนก็หมายความว่า เขาจะต้องไปแย่งตลาดมาจากคนอื่นเขา และจะต้องทำให้ผู้มาก่อนต้องเสียผลประโยชน์ และแน่นอนว่า ผู้ที่ครองตลาดอยู่ ซึ่งแสวงหาผลประโยชน์สูงสุด ย่อมต้องทำทุกอย่างเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ใช้มาตรการเพื่อกีดกันผู้มาใหม่ไม่ให้เข้าถึงผู้จำหน่าย (suppliers) และลูกค้าเดิมของตน

ดังเคยมีประวัติมาแล้วว่า เจ้าของบริษัทเคเบิ้ลทีวีรายใหญ่บางเจ้าในอดีต เล่นงานคู่แข่งที่เพิ่งเข้าสู่ตลาดใหม่ โดยใช้วิธีสกปรกบีบให้สายส่งของตนไม่ส่งหนังให้แก่คู่แข่งเลย จนทำให้คู่แข่งไม่มีหนังฝรั่งฉาย และต้องฉายแต่หนังจีน (กำลังภายใน) กับทำรายการเพลงอยู่หลายปี จน กระทั่งเจ๊งไปในที่สุดเพราะคนไม่ดู

เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้ลงทุนรายใหม่ซึ่งเป็นคนมีเหตุผล ก็จะต้องคิดถึงมาตรการบางอย่างไว้ล่วงหน้า เพื่อตอบโต้มาตรการปกป้องตลาดของเจ้าของตลาดเหล่านี้ เช่น อาจชิงยื่นข้อเสนอให้มาร่วมกันฮั้วเพื่อครองตลาด (cartel) แบบเดียวกับที่ผู้ผลิตน้ำมันในตลาดโอเปคทำ ซึ่งจะทำให้ทั้งคู่สามารถทำกำไรได้อย่างเต็มเม็ดเต็มเหนี่ยว โดยผลักภาระมายังผู้บริโภคแทนในรูปค่าสมาชิกที่แพงขึ้น ด้วยวิธีนี้ ผู้มาใหม่กับเจ้าของตลาดเดิมก็สามารถอยู่ร่วมกันได้

ในทางกลับกัน ถ้าผู้มาใหม่ไม่ได้คิดเรื่องนี้ และไม่ได้เตรียมรับมือกับมาตรการตอบโต้ของเจ้าของตลาดไว้ก่อน ก็เป็นไปได้อย่างยิ่งว่า เขาน่าจะต้องลงเอยด้วยความสูญเสียยับเยิบเหมือนที่นักลงทุน ผู้บังอาจท้าทายเจ้าของตลาดเคเบิ้ลทีวีรายนั้นโดนมาแล้ว

เอลสเตอร์อ้างต่อไปอีกว่า ต่อเมื่อคนมีเหตุผลสมบูรณ์ครบตามคุณลักษณะสองประการนี้เท่านั้น ที่การร่วมมือกันในแบบที่ต่างฝ่ายต่างจะได้ประโยชน์ (collective action) จึงจะเกิดขึ้น และเป็นไปได้ ขณะเดียวกัน ในทางกลับกัน ถ้าคนมีเหตุผลมีแค่คุณลักษณะอย่างแรก แต่ไม่มีคุณ ลักษณะอย่างที่สอง ความร่วมมือกันก็จะเกิดขึ้นได้ยาก เพราะทุกฝ่ายต่างแสวงหาประโยชน์สูงสุดโดยไม่สนใจคนอื่น และก็มีหลายสถานการณ์ในชีวิตประจำวันเสียด้วย ที่การไม่ร่วมมือกันนั้น กลับให้ประโยชน์มากกว่าการร่วมมือ

เช่น การแซงคิว ถ้าทำได้สำเร็จคนแซงก็จะได้ประโยชน์มากกว่าเพราะไม่ต้องเสียเวลารอเหมือนคน อื่น หรือการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ถ้าคนอื่นๆ ทำแต่ตัวเองไม่ทำ ตัวเองย่อมได้ประโยชน์สองต่อ นั่นคือ ตัวเองไม่ต้องลงทุน เพราะการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นการกระทำที่ต้องลงทุน ยกตัวอย่าง การใช้ตะกร้าจ่ายของให้ความสะดวกสบาย น้อยกว่าการใช้ถุงพลาสติก การปลูกต้นไม้ ก็มองได้ว่าเป็นการเสียเวลาทำงานหาเงิน ฯลฯ แต่กลับจะได้ประโยชน์จากการลงทุนลงแรง ของคนอื่นด้วย นั่นคือ ได้อากาศบริสุทธิ์ไว้หายใจ ส่งผลดีต่อสุขภาพของตนเอง สบายไป เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การอ้างดังกล่าวข้างต้นของเอลสเตอร์มีจุดอ่อนจริงๆ แล้ว มีจุดอ่อนอยู่เต็มไปหมด! ซึ่งตัวเอลสเตอร์เองก็ทราบดี

จุดอ่อนที่เห็นได้ ได้แก่ ประการแรก สมมุติฐานของทฤษฎีการเลือกอย่างมีเหตุผลที่เชื่อว่า "คนมีเหตุผลรู้ว่าอะไร คือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับตน และรู้ว่าทำอย่างไรจึงจะได้สิ่งนั้นมา" แต่ปัญหาคือ ความอ่อนแอทางจิตใจ หรือ "จิตตก" (weakness of will) ที่พบในคนจำนวนมากที่แม้รู้ทั้งรู้ว่าผลประโยชน์จริงๆ ของตนคืออะไร และควรทำอะไรเพื่อให้ได้มาซึ่งประโยชน์นั้น แต่เจ้าตัวก็ยังกลับแพ้ใจตัวเองหลงไปตามความต้องการเฉพาะหน้า จนทำบางสิ่งที่ทำให้ตนสูญเสียประโยชน์สูงสุดหรือสิ่งที่ดีกว่าไป

(อาการจิตตกนี้ ทำให้นึกถึงท่อนหนึ่งของเพลงทะเลใจของแอ๊ด คาราบาว: "คืนนั้นคืนไหน ใจแพ้ตัว คืนและวันอันน่ากลัวตัวแพ้ใจ ท่ามกลางแสงสีศิวิไลซ์ อาจหลงทางไปไม่ยากเย็น")

ในตอนแรกๆ ที่เอลสเตอร์เสนอทฤษฎีของเขานั้น ดูเหมือนว่าเขาจะมองข้ามปัญหาเรื่อง "จิตตก" ที่ว่าไป เพราะเขาเชื่อมั่นว่า มนุษย์ที่มีเหตุผลจะมีลักษณะที่ "ยอมถอยหลังหนึ่งก้าว เพื่อจะเดินไปข้างหน้าสองก้าว" โดยมีตัวอย่างที่รู้จักกันดี นั่นคือ

กรณีของชาวประมงที่รู้ว่าเครื่องมือจับปลาแบบ เดิมที่ตนใช้อยู่นั้นเริ่มจะมีประสิทธิภาพลดลง นั่นคือ จับปลาได้น้อยลง และตัดสินใจว่าจะทำเครื่องมือจับปลาแบบใหม่ที่จะทำให้ตนจับปลาได้เพิ่มมาก ขึ้น แต่ก็มีข้อเสียคือ เครื่องมือจับปลาแบบใหม่นี้ต้องใช้เวลานานในการทำ และถ้าต้องการให้เครื่องมือเสร็จเร็วๆ เพื่อที่จะสามารถจับปลาได้จำนวนมากๆ ในเวลาที่น้อยลง เขาต้องทุ่มเวลาทั้งหมดไปกับการทำเครื่องมือนี้ โดยระหว่างนั้นจะต้องไม่ออกไปจับปลาด้วยเครื่องมือเก่าอีกเลย เพราะจะทำให้เสียเวลา

เอลสเตอร์อธิบายว่า ถ้าชาวประมงมีเหตุผล นั่นคือ อดทนรอได้ เขาย่อมเลือกที่จะทุ่มเวลาทั้งหมด ให้กับการทำเครื่องมือใหม่ และยอมอดอาหารเป็นระยะสั้นๆ (ถอยหลังหนึ่งก้าว) เพื่อที่จะสามารถจับปลาด้วยเครื่องมือใหม่ได้เร็วขึ้น และได้ปลาจำนวนมากขึ้น (เดินไปข้างหน้าสองก้าว)

แต่ปัญหาคือ แล้วเอลสเตอร์จะอธิบายอย่างไรกับชาวนาที่ทนหิวไม่ไหว แล้วยอมกลับไปใช้เครื่องมืออันเก่าจับปลา จนทำเครื่องมือจับปลาอันใหม่ไม่เสร็จเสียที และจะมองว่า คนเหล่านี้ไม่มีเหตุผลก็คงไม่เชิงนัก เนื่องจากถ้าออกไปจับปลาไม่ได้จนอดตาย ก็อดใช้เครื่องมือจับปลาใหม่อยู่ดี ดังนั้น ถ้าฟันธงลงไปว่าคนเหล่านี้ไม่มีเหตุผลไม่ได้ ก็แสดงว่า มันคงต้องมี "ความมีเหตุผล" (rationality) ในแบบที่ทฤษฎีของเอลสเตอร์ไม่สามารถอธิบายได้ !?

แต่อย่างไรก็ตาม เอลสเตอร์และนักทฤษฎีทางเลือกทางสังคมส่วนใหญ่ ได้พยายามหาทางตอบคำถาม เพื่อแก้โจทย์ปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าวข้างต้น ซึ่งจักได้เล่าสู่กันฟังในครั้งต่อไป




บทวิพากษ์ทฤษฎีการเลือกอย่างมีเหตุผลและ ทฤษฎีเกมของ Jon Elster (20)

คนแคระบนบ่ายักษ์ : แพทย์ พิจิตร  มติชนรายสัปดาห์  วันที่ 04 เมษายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 28 ฉบับที่ 1442

จากคราวที่แล้ว ที่พูดถึงปัญหาเรื่อง "จิตตก" (weakness of will) ซึ่งเป็นจุดอ่อนในทฤษฎีการเลือกอย่างมีเหตุผลของเอลสเตอร์ โดยได้ยกตัวอย่างกรณีของชาวประมงที่รู้ว่าเครื่องมือจับปลาแบบเดิมที่ตนใช้ อยู่นั้นเริ่มจะมีประสิทธิภาพลดลง นั่นคือ จับปลาได้น้อยลง และตัดสินใจว่าจะทำเครื่องมือจับปลาแบบใหม่ที่จะทำให้ตนจับปลาได้เพิ่มมาก ขึ้น แต่ก็มีข้อเสียคือ เครื่องมือจับปลาแบบใหม่นี้ต้องใช้เวลานานในการทำ และถ้าต้องการให้เครื่องมือเสร็จเร็วๆ เพื่อที่จะสามารถจับปลาได้จำนวนมากๆ ในเวลาที่น้อยลง เขาต้องทุ่มเวลาทั้งหมดไปกับการทำเครื่องมือนี้ โดยระหว่างนั้นจะต้องไม่ออกไปจับปลาด้วยเครื่องมือเก่าอีกเลย เพราะจะทำให้เสียเวลา

ซึ่งเอลสเตอร์เชื่อว่า ถ้าชาวประมงมีเหตุผล จะต้องอดทนรอได้ และย่อมเลือกที่จะทุ่มเวลาทั้งหมดให้กับการทำเครื่องมือใหม่แ ละยอมอดอาหารเป็นระยะสั้นๆ (ถอยหลังหนึ่งก้าว) เพื่อที่จะสามารถจับปลาด้วยเครื่องมือใหม่ได้เร็วขึ้น และได้ปลาจำนวนมากขึ้น (เดินไปข้างหน้าสองก้าว)

แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นหรือที่เรียกว่า "อาการจิตตก" (weakness of will) คือ กรณีที่ชาวนาทนหิวไม่ไหว เลยยอมกลับไปใช้เครื่องมืออันเก่าจับปลา จนทำเครื่องมือจับปลาอันใหม่ไม่เสร็จเสียที ซึ่งเราจะบอกว่า คนเหล่านี้ไม่มีเหตุผลก็คงไม่เชิงนัก เนื่องจากถ้าออกไปจับปลาไม่ได้จนอดตาย ก็อดใช้เครื่องมือจับปลาใหม่อยู่ดี ดังนั้น ถ้าฟันธงลงไปว่าคนเหล่านี้ไม่มีเหตุผลไม่ได้ ก็แสดงว่า มันคงต้องมี "ความมีเหตุผล" (rationality) ในแบบที่ทฤษฎีของเอลสเตอร์ไม่สามารถอธิบายได้!?

ซึ่งเอลสเตอร์และนักทฤษฎีการเลือกอย่างมีเหตุผล จะต้องหาทางตอบโจทย์แก้ปัญหาดังกล่าวนี้ให้ได้

นักทฤษฎีการเลือกของสังคม (social choice) ส่วนใหญ่ (ยกเว้นส่วนหนึ่ง และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง จอร์จ แอนส์ลี่ย์---George Ainslie ซึ่งจะกล่าวถึงในโอกาสต่อไป) รวมทั้งเอลสเตอร์ได้ตอบคำถามในเรื่องนี้ไว้ว่า พฤติกรรมดังกล่าวแค่นี้ยังบอกไม่ได้ว่าชาวประมงคนนี้ไร้เหตุผล เพราะความมีเหตุผลยังมีลักษณะอีกอย่างหนึ่งคือ รู้จักหักลดค่าของผลลัพธ์ในอนาคต (future discounting) ในอัตราส่วนที่เหมาะสม

ซึ่งเราสามารถเข้าใจเรื่องนี้ได้ง่ายๆ ดังนี้คือ การให้ค่าของผลลัพธ์ที่ดีกว่าในอนาคต (ในกรณีนี้คือการมีเครื่องมือใหม่ ใช้จับปลาได้ดีกว่าเดิม) น้อยกว่าค่าของผลลัพธ์ที่ดีในปัจจุบัน---(ในกรณีนี้คือการมีปลากินโดยไม่อด )---เป็นสิ่งที่สมเหตุสมผลแล้ว เมื่อคิดว่าอนาคตเป็นสิ่งไม่แน่นอน ขณะที่ปัจจุบันเป็นของจริงที่จับต้องได้ ดังนั้น ความสุขเฉพาะหน้า (ที่ได้จากการมีปลากิน) ในปัจจุบันจึงย่อมต้องมีค่าสูงกว่าการมีเครื่องมือจับปลาได้มากขึ้นในอนาคต

แต่การหักลบค่าผลลัพธ์ที่จะเกิดในอนาคตจะ ต้องกระทำอย่างได้สัดส่วนและคงที่ด้วย นั่นคือ การหักลดในอัตรายกกำลังหนึ่งเท่า สำหรับทุกๆ ปีนับจากปัจจุบันไปจนถึงเวลาที่ผลลัพธ์นั้นจะเกิดขึ้น ดังนั้น เว้นเสียแต่ถ้าการหักลดเป็นไปอย่างผิดส่วนมากๆ เช่น

ชาวประมงยังกินปลาอย่างไม่บันยะบันยังทุกวัน แทนที่จะกินปลาให้น้อยลงและแปรรูปเนื้อปลาสดเป็นปลาร้า หรือปลาหมัก สำหรับกินในช่วงที่ออกหาปลาไม่ได้ แบบนี้จึงจะเรียกได้ว่าชาวประมงคนนั้นไม่ค่อยมีเหตุผล

และยิ่งถ้าชาวประมงคนนั้นกินปลาอย่างไม่บันยะ บันยังจนเหมือนคนเสพติด (ทางอารมณ์) ของการได้กินปลา มากกว่าจะมาจากความต้องการของร่างกายจริงๆ แบบนี้เท่ากับเขายิ่งหักลดค่าของผลลัพธ์ที่ดีในอนาคต ในอัตราที่ผิดส่วนจากที่ควรจะเป็นมาก จนไม่ต่างไปจากคนที่ติดยาเสพติดหรือติดการพนันแบบโงศีรษะไม่ขึ้นเท่าไหร่

และแบบนี้เขาก็ยิ่งมีเหตุผลน้อยลงไปอีก

สําหรับจุดอ่อนประการที่สองของสมมุติฐานของ ทฤษฎีการเลือกอย่างมีเหตุผลที่เชื่อว่า "คนมีเหตุผลรู้ว่าอะไร คือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับตน และรู้ว่าทำอย่างไรจึงจะได้สิ่งนั้นมา" มีประเด็นดังนี้คือ

จากการที่เอลสเตอร์อ้างว่า ถ้าคนมีเหตุผลมีลักษณะแค่แสวงหาประโยชน์สูงสุด แต่ไม่รู้จักคาดคะเนล่วงหน้าถึงปฏิกิริยาที่คน (ที่มีเหตุผล) คนอื่นจะมีต่อการกระทำของเขา คนเหล่านี้ย่อมมีแนวโน้มที่จะไม่ร่วมมือกัน ในเงื่อนไขที่คิดว่า ถ้าไม่ร่วมมือกัน ตนน่าจะได้ประโยชน์มากกว่า แต่เราก็อาจสงสัยได้ว่า แม้จะเป็นเช่นนั้น ก็ไม่มีหลักประกันว่า ถ้าคนที่มีเหตุผลรู้จักที่จะคาดคะเนปฏิกิริยาคนอื่นล่วงหน้าได้ แล้วเขาจะมีแนวโน้มทำในสิ่งที่ร่วมมือกันมากกว่า เพราะเป็นไปได้ที่คนมีเหตุผลอาจใช้ลักษณะประการที่สอง

นั่นคือ การที่มนุษย์รู้ว่าคนอื่นก็เป็นคนที่มีเหตุผลเหมือนกับตน นั่นคือ คนอื่นๆ หรือคนทุกคนก็รู้จักที่จะแสวงหา และรู้วิธีที่จะทำให้ตัวเองได้ประโยชน์หรือความพึงพอใจสูงสุดจากทางเลือกที่ มีอยู่--- นี้เองเป็นเครื่องมือส่งเสริมผลประโยชน์ของตัว แทนที่จะเป็นเครื่องจำกัดขอบเขต (constraint) ของการแสวงหาผลประโยชน์

อย่างไรก็ตาม เอลสเตอร์ให้อรรถาธิบายว่า การร่วมมือกัน (collective action) อาจเป็นไปได้ยากด้วยเงื่อนไขต่างๆ เช่น ขาดข้อมูลข่าวสารที่ทำให้ต่างฝ่ายต่างไม่รู้ว่าควรทำอย่างไรจึงจะได้ ประโยชน์ด้วยกันทุกฝ่าย

โดยเขายกตัวอย่างคนกลุ่มหนึ่งที่อาศัยและทำมาหา กินอยู่บนที่ดินแปลงใหญ่แปลงเดียวกันที่ล้อมรอบด้วยทะเลสาบใหญ่ และเนื่องจากแต่ละคนต่างตั้งหน้าตั้งตาตัดต้นไม้ในแปลงของตน เพื่อให้มีที่ว่างเพาะปลูกมากขึ้น นับวันทำให้ที่ดินเหล่านี้ยิ่งถูกกัดเซาะและเสี่ยงต่อภาวะดินถล่มมากขึ้น เรื่อยๆ ทางออกเดียวสำหรับหยุดปัญหาการกัดเซาะนี้คือ พวกเขาต้องหยุดตัดต้นไม้และปลูกต้นไม้ทดแทนเป็นจำนวนมาก

เอลสเตอร์ชี้ว่าในขั้นแรก ปัญหาที่คนเหล่านี้ต้องประสบคือ จะสื่อสาร "ทางออก" ที่ว่านี้ให้ทุกคนได้รับรู้ได้อย่างไร? ปัญหานี้ดูเผินๆ ดูเหมือนจะง่าย แต่ถ้าคิดให้ตลอดรอดฝั่งแล้วจะพบว่า มันไม่ง่ายเลยแม้แต่นิดเดียว เนื่องจากมันครอบคลุมตั้งแต่วิธีค้นหา ไปจนถึงการ "สื่อสาร" ความรู้เกี่ยวกับทางออกต่างๆ ที่เป็นไปได้ทั้งหมด

(ลำพังแค่หัวข้อนี้อย่างเดียว ก็มีหนังสือออกมาเป็นร้อยๆ เล่มเพื่อจะเสนอทางแก้ปัญหาว่า รูปแบบการจัดการและระดมความรู้ในสังคมควรเป็นแบบใดจึงจะเอื้อต่อการค้นหาและ "สื่อสาร" ทางออกของสังคมได้ดีที่สุด และก็มีผู้เสนอว่า ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ [deliberative democracy] คือ คำตอบหรือทางเลือกทางหนึ่งในการจัดการระดมความคิด และสื่อสารหาทางออกของสังคมสำหรับปัญหานี้เช่นกัน)

แต่ถึงแม้แก้ปัญหานี้ได้ นั่นคือ แม้จะสื่อสารทางออกของสังคมให้แก่ทุกคนได้แล้ว แต่ก็ยังมาติดอยู่ที่อีกปัญหาหนึ่ง ที่สำคัญยิ่งกว่าสำหรับเอลสเตอร์และนักทฤษฎีการเลือกอย่างมีเหตุผล นั่นคือ ความขัดแย้งระหว่างปัญหาเรื่องผลประโยชน์ส่วนตัว กับผลประโยชน์ของสังคมหรือส่วนรวม

จากการทฤษฎีนี้เริ่มต้นจากสมมติฐานที่ว่า คนเราถูกขับเคลื่อนด้วยผลประโยชน์ส่วนตัว มากกว่าผลประโยชน์ส่วนรวมตั้งแต่ต้น ดังนั้น จากตัวอย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้น นอกจากคนเหล่านั้นจะต้องปลูกต้นไม้เพิ่มแล้ว ยังต้องหยุดตัดต้นไม้เพื่อได้ที่ดินทำกินเพิ่มอีกด้วย ซึ่งหมายความว่า พวกเขาจะปลูกพืชได้เท่าเดิม หรือน้อยลงถ้าดินเดิมเสื่อมคุณภาพ

ซึ่งเอลสเตอร์ยอมรับว่า ในกรณีนี้ การสื่อสารอย่างเดียวไม่พอ เพราะอาจมีบางบ้านที่แม้รู้ทั้งรู้แต่ก็ยัง (หน้าด้าน!) ไม่ยอมเสียประโยชน์ของตน นั่นคือ ไม่ยอมหยุดตัดต้นไม้ และหวังแต่จะให้เพื่อนบ้านเป็นคน ยอมสละประโยชน์โดยยอมหยุดตัดต้นไม้แทน

ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้นานๆ เข้า บ้านที่เหลือ (ซึ่งมีเหตุผลและแสวงหาประโยชน์สูงสุดเหมือนกัน) ย่อมรู้สึกว่าตนถูกเอาเปรียบ และอาจหันกลับมาตัดต้นไม้เหมือนเดิม ซึ่งจะทำให้ผลประโยชน์ส่วนรวม (ในที่นี้คือ การป้องกันดินถล่ม) เสียหายได้ในที่สุด

จะเห็นได้ว่า ปัญหาโลกร้อนของยุคปัจจุบันก็มีโครงสร้างแบบเดียวกับที่เอลสเตอร์อธิบายมา นั่นคือ ประเทศอุตสาหกรรมขนาดใหญ่บางประเทศไม่ยอมหยุดการกระทำที่เป็นสาเหตุของปัญหา เนื่องจากจะทำให้ตัวเองเสียประโยชน์ ขณะเดียวกันประเทศที่ยอมเสียประโยชน์ก็รู้สึกว่าตัวถูกเอาเปรียบ

และแม้นวัตกรรมการแก้ปัญหาใหม่ๆ ที่นำมาใช้ เช่น คาร์บอนเครดิต ก็ไม่อาจเกิดประโยชน์แท้จริงได้ ตราบใดที่ปัญหาเรื่องความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวนี้ยังแก้ไม่ได้ เพราะประเทศอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ก็ยังหาทางซิกแซ็กกับนวัตกรรมนี้ เพื่อหาประโยชน์ส่วนตัวของตนต่อไปได้อยู่ดี

แต่ที่น่าสนใจคือ นวัตกรรมนี้สอดคล้องกับการวิเคราะห์ของเอลสเตอร์ที่ว่า ทางแก้ปัญหาอาจอยู่ที่การเพิ่มต้นทุน (cost) สำหรับคนที่ไม่ยอมร่วมมือ เช่น บทลงโทษทางกฎหมาย (เช่น จับหรือปรับ) หรือการลงโทษทางสังคม (social sanction) เช่น ไม่คบ ไม่ทำการค้าด้วย หยุดความสัมพันธ์ทางการทูต หรือแม้แต่การอาศัยขนบประเพณี วัฒนธรรมและศาสนา เช่น ไม่ให้ร่วมงานบุญ หรือเข้าวัด

นอกจากการเพิ่มต้นทุน วิธีการแก้ปัญหาอีกวิธีหนึ่งคือ การเพิ่มรางวัล (reward) แก่คนที่ร่วมมือ ซึ่งเป็นได้ทั้งในรูปตัวเงิน หรือ รางวัลทางจิตวิทยาอื่นๆ เช่น คำชม การสรรเสริญ โบนัส เป็นต้น

แต่คำถามก็คือ ทางออกที่เอลสเตอร์เสนอมานี้ มันเพียงพอหรือน่าพอใจแล้วหรือ? เป็นไปได้ที่เราจะจินตนาการถึงสถานการณ์ที่คนมีเหตุผลสองคนมีปฏิสัมพันธ์ทาง สังคมกัน โดยทั้งคู่ต่างแสวงหาผลประโยชน์สูงสุด แต่ก็มีเหตุผลและรู้ว่า คนอื่นก็ฉลาดเหมือนกันกับตน ในกรณีนี้ เราจะพบว่า ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจใช้ประโยชน์จากความมีเหตุผลของคนอื่นได้ ด้วยวิธีง่ายๆ คือ ปิดบังเป้าหมายแท้จริงของตนไม่ให้อีกฝ่ายรู้

ทฤษฎีการเลือกอย่างมีเหตุผลปิดกั้นสิ่งนี้ไม่ ได้ เพราะบอกเพียงว่า คนมีเหตุผลจะแสวงหาผลประโยชน์สูงสุด แต่ไม่ได้บอกว่าผลประโยชน์นั้นสำหรับคนแต่ละคนคืออะไร เมื่อเป็นเช่นนี้เพียงแค่ฝ่ายหนึ่ง จงใจสื่อผลประโยชน์ที่แท้จริงของตนออกมาอย่างบิดเบือน ก็สามารถหลอกล่อให้ฝายตรงข้ามตอบโต้ออกมาผิดทางได้แล้ว

หรือแม้แต่ในสัตว์ เราก็ได้เห็นมาแล้วว่า สัตว์ที่ถูกล่ายังมีความสามารถวิ่งหนีสลับไปมาจากทิศนี้ไปทิศนั้น จนทำให้สัตว์ผู้ล่างงงวยได้ แล้วคนเล่าจะทำไม่ได้หรือ? แถมยังอาจจะทำได้มากกว่าสัตว์ด้วย เพราะเอลสเตอร์เองก็บอกไม่ใช่หรอว่า "คนฉลาดกว่าสัตว์"!




บทวิพากษ์ทฤษฎีการเลือกอย่างมีเหตุผลและ ทฤษฎีเกมของ Jon Elster (21)

คนแคระบนบ่ายักษ์ : แพทย์ พิจิตร  มติชนรายสัปดาห์  วันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 28 ฉบับที่ 1443

จุดอ่อนของทฤษฎีการเลือกอย่างมีเหตุผล (rational choice) ของ Jon Elster มีหลายประการ และตัวเขาเองก็พยายามหาทางแก้ไขจุดอ่อนต่างๆ เหล่านั้น กรณีหนึ่งที่กล่าวไปตอนที่แล้ว นั่นคือ เราจะพบว่า ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจใช้ประโยชน์จากความมีเหตุผลของคนอื่นได้ ด้วยวิธีง่ายๆ คือ ปิดบังเป้าหมายแท้จริงของตนไม่ให้อีกฝ่ายรู้

แต่ทฤษฎีการเลือกอย่างมีเหตุผลเน้นไม่ให้ปิด กั้นสิ่งนี้ โดยยืนยันเพียงว่า คนมีเหตุผลจะแสวงหาผลประโยชน์สูงสุด แต่ไม่ได้บอกว่าผลประโยชน์นั้นสำหรับคนแต่ละคนคืออะไร?

เมื่อเป็นเช่นนี้เพียงแค่ฝ่ายหนึ่งจงใจสื่อผล ประโยชน์ที่แท้จริงของตนออกมาอย่างบิดเบือน ก็สามารถหลอกล่อให้ฝายตรงข้าม ตอบโต้ออกมาผิดทางได้แล้ว เพราะแม้แต่ในสัตว์ เราก็ทราบว่า สัตว์ที่ถูกล่ายังมีความสามารถวิ่งหนีสลับไปมา จากทิศนี้ไปทิศนั้นจนทำให้สัตว์ผู้ล่างงงวยได้ แล้วคนเล่าจะทำไม่ได้หรือ? แถมยังอาจจะทำได้มากกว่าสัตว์ด้วย เพราะเอลสเตอร์เองก็บอกไม่ใช่หรอว่า "คนฉลาดกว่าสัตว์"!

ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมามีกรณีมากมายที่ผู้ แสดง (actor) ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจงใจหลอกลวงผู้แสดงอีกฝ่ายหนึ่ง ด้วยวิธีการดังกล่าว ในช่วงสงครามเย็นระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต มีข่าวที่โจษกันว่า ประธานาธิบดีนิกสันจงใจแสดงหรือแสร้งว่า ตัวเป็นคนไร้เหตุผล หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ พร้อมที่จะทำอะไรบ้าๆ ได้ตลอดเวลากับขีปนาวุธนิวเคลียร์ เพียงแค่เขาเกิดความ "รู้สึกระแวง" ว่าโซเวียตกำลังคิดแผนการร้ายบางอย่างอยู่

ซึ่งวิธีนี้นักวิเคราะห์บางรายชี้ว่าได้ผล เพราะทำให้รัฐบาลสหรัฐในยุคนั้นมีความสัมพันธ์ที่ค่อนข้างราบรื่นทีเดียว กับรัฐบาลโซเวียต ซึ่งผิดกับสมัยประธานาธิบดีเคนเนดี ที่ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศตึงเครียดมาก ซึ่งหากมองจากกรอบดังกล่าวนี้ก็คือ ประธานาธิบดีเคนเนดีเล่นเกม "หลอกและลวง" ฝ่ายตรงข้ามไม่เป็นนั่นเอง

อีกตัวอย่างหนึ่ง ได้แก่ สมมติว่า นาย ก. อยากให้ นาย ข. ช่วยให้ตนมีอำนาจ แต่ นาย ก.ไม่ต้องการให้ นาย ข. สงสัยหรือรู้ทันตัวเขา วิธีหนึ่งที่ นาย ก. อาจทำได้คือทำให้ นาย ข. หลงเข้าใจว่าจริงๆ สิ่งที่ นาย ก. ต้องการคือ "มิตรภาพ" หรือ "การตอบแทน-ให้คืนให้แก่ นาย ข. ด้วยความเป็นธรรม" ไม่ใช่ต้องการคบ นาย ข. เพียงเพื่อหวัง "ตำแหน่ง"

ด้วยวิธีนี้ นาย ก. ก็จะสามารถทั้ง "หลอก" ให้ นาย ข. เข้าใจผิด และ "ลวง" ให้ นาย ข. เดินหมากผิดได้ โดยใช้ความมีเหตุผลของนาย ข. เองเป็นเครื่องมือ

ซึ่งหากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน และกับคนบางคนที่มีลักษณะเป็น "พ่อพระ" คือ "พร้อมทำเพื่อคนอื่น" หรือ "ยอมเสียประโยชน์ได้โดยไม่คิดหวังอะไรมาก" อย่างที่ภาษาอังกฤษเขาเรียกคนพวกนี้ว่า altruists ก็คงไม่เป็นปัญหาอะไรมากนัก

แต่สำหรับทฤษฎีการเลือกอย่างมีเหตุผลที่เริ่ม ต้นจากความเชื่อที่ว่า คนทุกคนแสวงหาผลประโยชน์สูงสุดสำหรับตนเอง (egoist) เรื่องนี้ย่อมมีปัญหาแน่ เพราะ ถ้าเกิดคนอย่าง นาย ข. มารู้เข้าว่าตัวถูกหลอกใช้ การรับรู้ของ นาย ข. เกี่ยวกับผู้คนที่ตนมีปฏิสัมพันธ์กับตนก็อาจเปลี่ยนไปในแง่ลบ ในลักษณะที่ ในสถานการณ์ที่ไม่อาจรู้เขารู้เราได้อย่างแน่นอน นาย ข. อาจไม่ยอมร่วมมือกับใครก่อนเลย

และถ้าสังคมมีคนแบบ นาย ข. มากขึ้นเรื่อยๆ การร่วมมือกันยิ่งจะเป็นไปได้ยาก เพราะทุกคนล้วนตั้งการ์ดใส่กัน และจะไม่ยอมร่วมมือกัน ถ้าตัวเองต้องเป็นผู้เสียประโยชน์ก่อน ซึ่งในภาษาของเอลสเตอร์เขาเรียกสิ่งนี้ว่า "individually inaccessible"

นั่นคือ คนแต่ละคนไม่มีแรงจูงใจที่จะสละผลประโยชน์ส่วนตัวเพื่อร่วมมือกันทำบางสิ่ง ที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม

ยกตัวอย่างง่ายๆ คือ การเดินทางไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ซึ่งถ้าคนไม่มีสำนึกเรื่องการเมืองมากพอ หรือรู้อยู่แล้วว่าผู้สมัครที่ตนชอบมีคนเชียร์เยอะ ก็อาจจงใจไม่ออกจากบ้านไปลงคะแนนเสียงเสียเฉยๆ เพราะคิดว่า ไปก็แค่นั้น ถึงขาดคะแนนของฉันไปซักหนึ่งคะแนน คนที่ฉันชอบก็ยังจะชนะอยู่ดี ซึ่งผลลัพธ์ที่จะตามมาก็คือ ถ้าทุกคนคิดแบบนี้ ทำไปทำมาผู้สมัครที่ว่าๆ มีกองเชียร์เยอะ ก็อาจปิ๋วได้ง่ายๆ เหมือนกัน

กรณีดังกล่าวนี้ ดูเหมือนว่าจะเคยเกิดขึ้นกับนักการเมืองท่านหนึ่งที่เคยเป็น ส.ส. หลายสมัยของจังหวัดสมุทรสงคราม เมื่อเกือบยี่สิบปีที่แล้ว ที่มีอยู่ครั้งหนึ่ง เกิดสอบตก เพราะกองเชียร์ต่างคิดว่า มีคะแนนเสียงดีอยู่แล้ว ขาดไปสักคะแนนคงไม่เป็นไร!

เมื่อมาถึงกรณีการเมืองแบบประชาธิปไตย เรื่องก็ยิ่งสลับซับซ้อนมากขึ้น เพราะความคิดแบบมีเล่ห์เหลี่ยมนี้เอง จะกลับมาหักล้างทฤษฎีการเลือกแบบมีเหตุผลในระดับสังคม กล่าวคือ ทฤษฎีการเลือกของสังคม (ที่เป็นส่วนหนึ่งของทฤษฎีการเลือกอย่างมีเหตุผล) มีสมมติฐานว่า คนแต่ละคนจะลงคะแนนเสียงตามความพอใจแท้จริงของตน

การเลือกเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะจึงทำได้ง่ายๆ เพียงแค่ให้คนแต่ละคนใช้เหตุผลจัดลำดับความพอใจ หรือความต้องการของตนเป็นลำดับต่ำสูงสุด แล้วลงคะแนนเสียง จากนั้นจึงค่อยนำผลลัพธ์จากการลงคะแนนของทุกคน เช่น ก-ข-ค-ง สำหรับคนที่หนึ่ง ข-ง-ก-ค สำหรับคนที่สอง มารวมกัน แล้วดูว่าตัวเลือกไหนได้รับคะแนนสูงสุด ก็ถือว่าตัวเลือกนั้นคือสิ่งที่คนในสังคมชอบที่สุด

ซึ่งก็ดูเหมือนง่ายๆ ไม่ซับซ้อนอะไร แค่คนแต่ละคนรู้ว่า ตัวเองต้องการอะไรมากกว่าอะไร และมีซอฟต์แวร์ที่บวกเลขได้ ก็สามารถหาคำตอบของสังคมได้แล้ว

แต่ถ้าในความเป็นจริง คนมีผลประโยชน์ที่จะนำเสนอความพอใจของตนอย่างบิดเบือน (false preferences) เพื่อให้ได้ในสิ่งที่ตนต้องการ นั่นย่อมเท่ากับว่าผลลัพธ์ที่ได้จากกระบวนการลงคะแนนเสียงประชาธิปไตย ไม่จำเป็นต้องบอกถึงความพอใจหรือวินิจฉัย (judgment) ที่แท้จริงของประชาชน เพราะคนทุกคนอาจลงคะแนนเสียง แบบมีเล่ห์เหลี่ยม เช่น เชียร์ นาย ก. แต่เกลียดนาย ข. และ นาย ก. มีโอกาสชนะน้อย ขณะที่ นาย ข. คะแนนสูสีกับ นาย ค. ดังนั้น คนที่ลึกๆ แล้วเชียร์ นาย ก. อาจตัดสินใจลงคะแนนเสียงให้ นาย ค. แทนก็ได้ เพราะหวังสกัดไม่ให้ นาย ข. ได้รับเลือกเข้ามา

แต่ถ้าเป็นเช่นนี้จริง นี่ย่อมเท่ากับเป็นการหักล้างแนวคิดแบบประชาธิปไตย (หรืออย่างน้อยๆ ประชาธิปไตยแบบที่มีการลงคะแนนเสียง) ในระดับฐานรากอย่างแท้จริง เพราะเอาเข้าจริงๆ เท่ากับประชาธิปไตย สามารถตกเป็นเครื่องมือของปฏิบัติการแบบ ลับ-ลวง-พราง ได้ไม่ต่างจากปฏิบัติการทางการเมืองแบบอื่นๆ ที่ประชาธิปไตยชิงชังนักหนา

เมื่อมาถึงจุดนี้ หลายคนคงอยากทราบว่า นักคิดสายการเลือกอย่างมีเหตุผลเขาหาทางแก้ปัญหาดังกล่าวนี้อย่างไร? โปรดติดตามต่อในคราวหน้า และขอบอกไว้ล่วงหน้าเลยว่า หลักแหลมพอๆ กับอ่านสามก๊กเกินสามเที่ยวทีเดียว




บทวิพากษ์ทฤษฎีการเลือกอย่างมีเหตุผลและ ทฤษฎีเกมของ Jon Elster (22)

คนแคระบนบ่ายักษ์ : แพทย์ พิจิตร  มติชนรายสัปดาห์  วันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 28 ฉบับที่ 1444

ทฤษฎีการเลือกอย่างมีเหตุผล (rational choice) มีสมมุติฐานสำคัญประการหนึ่งคือ เชื่อในการแสดงออก ซึ่งความต้องการของคนอย่างชัดเจนและตรงไปตรงมา แต่เราพบว่า ในทางปฏิบัติ ผู้คนจำนวนไม่น้อย ที่ซ่อนความต้องการที่แท้จริงของตนไว้ อย่างที่ผู้ที่วิจารณ์ทฤษฎีการเลือกอย่างมีเหตุผลเรียกว่า "false preferences" นั่นคือ คนมีผลประโยชน์ที่จะนำเสนอความพอใจของตนอย่างบิดเบือน (false preferences) เพื่อให้ได้ในสิ่งที่ตนต้องการ เช่น

ในการเลือกตั้ง มีคนบางคนที่เชียร์ นาย ก. แต่เกลียดนาย ข. แต่ นาย ก. มีโอกาสชนะน้อย ขณะที่ นาย ข. คะแนนสูสีกับ นาย ค. ดังนั้น คนที่เชียร์ นาย ก. อาจตัดสินใจลงคะแนนเสียงให้ นาย ค. แทนก็ได้ เพราะหวังสกัดไม่ให้ นาย ข. ได้รับเลือกเข้ามา ซึ่งเท่ากับว่าผลลัพธ์ที่ได้จากกระบวนการลงคะแนนเสียงประชาธิปไตยไม่จำเป็น ต้องบอกถึงความพอใจหรือวินิจฉัย (judgment) ที่แท้จริงของประชาชน เพราะคนทุกคนอาจลงคะแนนเสียงแบบมีเล่ห์เหลี่ยม

ปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้ย่อมเท่ากับเป็นการหัก ล้างแนวคิดแบบประชาธิปไตย (หรืออย่างน้อยๆ ประชาธิปไตยแบบที่มีการลงคะแนนเสียง) ในระดับฐานรากอย่างแท้จริง เพราะเอาเข้าจริงๆ เท่ากับประชาธิปไตยสามารถตกเป็นเครื่องมือของปฏิบัติการแบบ ลับ-ลวง-พราง ได้ไม่ต่างจากปฏิบัติการทางการเมืองแบบอื่นๆ ที่ประชาธิปไตยชิงชังนักหนา

ต่อปัญหาเรื่อง "false preferences" นี้ มิได้ทำให้เอลสเตอร์และพลพรรคนักทฤษฎีการเลือกอย่างมีเหตุผล ต้องถึงขนาดจนมุมแต่อย่างใด พวกเขามีทางออกที่แหลมคมทีเดียวสำหรับข้อวิจารณ์ดังกล่าวนี้ ด้วยตัวเอลสเตอร์เองก็ตระหนักว่า ทฤษฎีของเขายังมีจุดอ่อนอยู่ ซึ่งต่อมา เขาได้หันมาเน้นเรื่องความมีเหตุผลที่ไม่สมบูรณ์แบบ (imperfect rationality) แทน

โดยความคิดหลักของประเด็น "imperfect rationality" นี้มีว่า ด้วยเพราะคนรู้ว่าตัวเองไม่ได้มีเหตุผลสมบูรณ์ เขาจึงรู้จักใช้วิธีบางอย่าง เช่น การผูกมัดตัวเองไว้กับบางสิ่งล่วงหน้า เพื่อจำกัดทางเลือกในอนาคต (pre-commitment) เพื่อปกป้องผลประโยชน์สูงสุดของตน

เอลสเตอร์อธิบายว่า ความมีเหตุผลแบบนี้คือ เมื่อรู้ตัวดีว่า เป็นคนประเภทที่เผลอไม่ได้ เป็นต้องแพ้ใจตัวเอง คนประเภทนี้จะรู้จักทำบางสิ่ง "ดัก" ไว้ล่วงหน้า เพื่อที่จะทำให้ตัวเองไม่สามารถเผลอใจไปทำเรื่องที่ตัวต้องเสียใจภายหลังได้

เช่น นาย ก. อยากเลิกบุหรี่เพื่อจะได้มีสุขภาพดี แต่รู้ว่าตัวเองมักเผลอใจทุกครั้งเมื่อเห็นบุหรี่ จึงทำสัญญากับหัวหน้าแผนกว่า ถ้าตนกลับไปสูบบุหรี่อีกเมื่อไหร่จะยอมให้หักเงินเดือน 1% หรือ คนติดยาที่สมัครใจเข้ารับการบำบัด แต่รู้นิสัยตัวเองว่าทนอยู่ไม่ได้จนตลอดรอดฝั่ง เลยทำสัญญากับทางโรงพยาบาลยินยอมให้โรงพยาบาลกักตัวตนไว้ได้ จนกว่าจะครบกำหนด แล้วค่อยปล่อยกลับบ้าน

ตัวอย่างของวิธีคิดแบบนี้ ได้แก่ การออกกฎหมาย Mental Health Protection Act ของประเทศนอร์เวย์

ความคิดเรื่องนี้ของเอลสเตอร์ขัดแย้งกับทฤษฎี การเลือกอย่างมีเหตุผลแบบดั้งเดิม วิธีคิดในเรื่องเหตุผลแบบดั้งเดิมดังกล่าวนี้ ปรากฏในงานเขียนที่ชื่อ "The Economic Approach to Human Behavior" ของ ศาสตราจารย์ แกรี่ เบคเคอร์ (Gary S. Becker) นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันแห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ปี ค.ศ.1992 เขาเป็นอาจารย์สอนถึงสามคณะในเวลาเดียวกัน นั่นคือ เศรษฐศาสตร์ สังคมวิทยา และบริหารธุรกิจ

ศาสตราจารย์ Gary S. Becker (ค.ศ. ๑๙๓๐-)

หนังสือเล่มที่ว่านี้ของเขาออกสู่สาธารณะครั้ง แรกในปี ค.ศ.1976 ถือเป็นงานชิ้นแรกๆ ที่พยายามอธิบายว่าพฤติกรรมด้านอื่นๆ ของมนุษย์ก็มีลักษณะเดียวกับการตัดสินใจทางเศรษฐศาสตร์ ซึ่งกล่าวว่า มนุษย์ที่มีเหตุผลย่อมแสวงหาความพึงพอใจสูงสุด และจะไม่ทำในสิ่งที่จำกัดทางเลือกของตัวเองในอนาคต

ซึ่งขัดแย้งกับความคิดเรื่อง pre-commitment ที่มีนัยยะว่า คน ยินดีที่จะผูกมัดตัวเองกับบางสิ่ง ที่จะสามารถกลับมาจำกัดทางเลือกของตนเองในอนาคต ด้วยถ้าทำเช่นนั้นแล้ว จะช่วยให้เขามีเหตุผลสมบูรณ์ขึ้น ในแง่ที่ช่วยให้เขาสามารถทำในสิ่งที่จะให้ประโยชน์สูงสุดแก่ตัวเองในระยะยาว ได้

จากประเด็นที่กล่าวมานี้ เราอาจมองพฤติกรรมการสาบานที่คนไทยมักทำกันว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของ pre-commitment ได้เหมือนกัน ในแง่ที่การสาบานคือ การที่คนคนหนึ่งกล่าววาจาที่เป็นการผูกมัดตัวเองล่วงหน้าว่าจะไม่ทำบางสิ่ง เช่น คอร์รัปชั่นเงินแผ่นดินในอนาคต แม้โอกาสจะเปิดให้ก็ตาม โดยในกรณีนี้แทนที่จะอาศัยความช่วยเหลือ จากสถาบันที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้ เช่น ระบบปรับเงินสำหรับผู้สูบบุหรี่หรือการเข้าโรงพยาบาลประสาท ก็กลับไปอาศัยความช่วยเหลือจากสิ่งศักดิ์สิทธ์แทน

แต่ทั้งนี้ ตามความเข้าใจของเอลสเตอร์ การสาบานกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ว่าจะไม่คอร์รัปชั่นจะถือเป็น pre-commitment ได้ก็ต่อเมื่อตัวผู้สาบานต้องเชื่อและหวาดกลัวในอำนาจที่จะลงโทษของสิ่ง ศักดิ์สิทธิ์จริงๆ อยู่ก่อนด้วย เพราะไม่เช่นนั้น การสาบานก็ไม่ต่างจากการพูดพล่อยๆ ที่ไม่สามารถจำกัดทางเลือกใดๆ ของผู้สาบานได้ทั้งสิ้น

ซึ่งตรงนี้ชวนให้นึกไปว่า ถ้าการสาบานอาจมีช่องโหว่ในเรื่องการมีศรัทธาความเชื่อจริงๆ หรือเปล่า มันก็อาจจะถูกทดแทนด้วยกลไกทางสังคมที่รุนแรง เช่น การปฏิเสธไม่คบค้าสมาคมด้วยโดยเด็ดขาด

ซึ่งปรากฏการณ์ที่น่าสนใจและค่อนข้างแปลกก็คือ คนไทยเราดูเหมือนช่างแข็งขันและพร้อมที่จะลงโทษทางสังคม (social sanction) ต่อบุคคลสาธารณะที่เป็นดารา เช่น ในกรณีของ หนูแหม่ม แคทลียา แมคอินทอช แต่ก็กลับไม่กล้าที่จะทำแบบเดียวกันกับบุคคลสาธารณะที่เป็นนักการเมือง เพราะจะเห็นได้ว่า แม้คนเหล่านี้จะถูก "เปิดโปง" ยับเยินขนาดไหนระหว่างการอภิปรายในสภาผู้แทนฯ พวกเขาก็ยังกลับมาได้เสมอในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

ซึ่งถ้าดูจากมุมมองของทฤษฎีการเลือกของสังคม แล้ว ก็ออกจะแปลกอยู่มากเหมือนกัน

การ pre-commitment นี้ยังเป็นไปได้ในระดับสังคมด้วย ยกตัวอย่าง การที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ในบางมาตราของรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ.2550 ว่า ผู้ที่เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญไม่สามารถลงสมัคร ส.ส. หรือ ส.ว. ได้ภายในสองปีเพื่อไม่ให้มีข้อครหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน

เราสามารถมองประเด็นดังกล่าวนี้ได้เหมือนกันว่า คณะกรรมธิการยกร่างฯ ใช้วิธี pre-commitment โดยอาศัยรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือ เพื่อจำกัดทางเลือกของตนไม่ให้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองในระยะสั้น อันจะเป็นเหตุให้ร่างรัฐธรรมนูญที่ตนมีส่วนร่างขึ้นขาดความน่าเชื่อถือ ซึ่งย่อมกลับมาเป็นรอยด่างพร้อยต่อความน่าเชื่อถือ ของบุคคลผู้ร่างเองในที่สุด

ถ้าทฤษฎีนี้ของเอลสเตอร์ถูกนำไปประยุกต์ใช้ได้ ผลสำเร็จ ก็จะมีคุณูปการอย่างเหลือล้นในทางรัฐศาสตร์ ในแง่ที่สามารถอธิบายเหตุผลรองรับการมีอยู่ของหลายสิ่งหลายอย่างที่อาจดูไม่ ค่อย "เข้าท่านัก" สำหรับประชาธิปไตยก็ได้ กล่าวคือ มันจะช่วยอธิบายว่า เหตุที่สถาบันที่ดูไม่เป็นประชาธิปไตยเท่าไรนัก---อย่างเช่น องค์กรอิสระทั้งหลาย รวมทั้งวุฒิสภาและธนาคารแห่งประเทศไทย---ควรมีอยู่

ก็เพราะสถาบันเหล่านี้เป็นสิ่งที่ประชาชนใน ระบอบประชาธิปไตยที่ "มีเหตุผล" จะเลือกให้มีไว้ เพื่อเป็นหลักประกัน ไม่ให้ตัวประชาชนเอง (โดยผ่านนักการเมืองที่เป็นตัวแทนโดยตรงของตน) ทำไม่ดีไม่งามกับผลประโยชน์ที่สำคัญ แบบคอขาดบาดตายของคนทั้งชาติ เช่น เอาอัตราดอกเบี้ยไปใช้เป็นเครื่องมือต่อรองทางการเมือง หรือ ตัดสินใจออกกฎหมาย หรือกำหนดนโยบาย ที่อาจกลับมาสร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนเองในที่สุด

ซึ่งวิธิคิดดังกล่าวนี้ก็ปรากฏในความคิดของบิดา ผู้สร้างชาติอเมริกัน หรือผู้วางรากฐานรัฐธรรมนูญการปกครองของสหรัฐอเมริกา อย่าง เจมส์ เมดิสัน (James Madison) ที่ได้กล่าวไว้ว่า ข้อดีของรัฐธรรมนูญอเมริกันก็คือ "the total exclusion of the people in their collective capacity from any share in the government." ซึ่งไม่ต่างจากการที่คนอย่าง นาย ก. ยอมเข้าโปรแกรมหักเงินเดือนลูกจ้างที่สูบบุหรี่ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ที่ดีกว่าในระยะยาว นั่นคือ สุขภาพที่ดีกว่าของตน

อย่างไรก็ตาม ลองเป็นฝรั่งแล้ว เขาก็ไม่เคยยอมรับอะไรกันง่ายๆ แม้แต่ความคิดของตัวเอง! ดังนั้น ในภายหลัง ตัวเอลสเตอร์ได้หันมาตั้งคำถามกับความคิดเรื่อง pre-commitment ของเขาเองทั้งในระดับของบุคคลและระดับสังคม ซึ่งคำถามดังกล่าวสรุปได้ง่ายๆ ว่า แล้วใครควรเป็นผู้มีความชอบธรรมที่จะตัดสินใจทำ pre-commitment ในทั้งสองกรณี? นั่นคือ ในระดับบุคคล และในระดับสังคม

ต่อประเด็นการกำหนด pre-commitment ในระดับบุคคล หลายคนคงเกิดอาการงงต่อคำถามที่ว่า ใครเป็นคนกำหนดในระดับตัวบุคคล เพราะคำตอบก็น่าจะชัดอยู่แล้วว่า เจ้าตัวเองนั่นแหละที่น่าจะเป็นผู้ตัดสินใจให้ตัวเอง มันไม่น่าจะต้องมีอะไรให้คิดมากเลย!?

แต่คนช่างคิดอย่างเอลสเตอร์กลับมองเห็นมิติที่ สลับซับซ้อนต่อประเด็นการกำหนด pre-commitment ในระดับตัวบุคคล ซึ่งจะสลับซับซ้อนซ่อนเงื่อนอย่างไร โปรดติดตามต่อไป




บทวิพากษ์ทฤษฎีการเลือกอย่างมีเหตุผลและ ทฤษฎีเกมของ Jon Elster (23)

คนแคระบนบ่ายักษ์ : แพทย์ พิจิตร  มติชนรายสัปดาห์  วันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 28 ฉบับที่ 1445

ทฤษฎีการเลือกอย่างมีเหตุผล (rational choice theory) เป็นทฤษฎีที่มีฐานคิดที่เชื่อว่า มนุษย์ทุกคนย่อมใช้เหตุผลตัดสินใจเลือกกระทำ ในสิ่งที่จะให้ประโยชน์แก่ตัวเขามากที่สุด ซึ่งฐานคิดที่ว่านี้ มีจุดอ่อนอย่างที่คนทั่วไปก็ย่อมจะมองเห็นได้ นั่นคือ คนเราไม่ได้สามารถมีเหตุผลอย่างสมบูรณ์แบบกันเท่าไรนัก (imperfect rationality) บางคนแม้จะรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่เป็นประโยชน์กับตนจริงๆ แต่หลายครั้งหลายคราก็แพ้ใจแพ้อารมณ์ตัวเอง (weakness of will) เกิดอาการที่เรียกว่า "จิตตก" ไม่สามารถที่จะมุ่งมั่นกระทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์แท้จริงๆ สำหรับตัวเอง เช่น คนติดบุหรี่ อยากเลิกแต่เลิกไม่ได้ เพราะแพ้ใจตัวเอง เป็นต้น

ในกรณีดังกล่าวนี้ พวกนักทฤษฎีการเลือกอย่างมีเหตุผลซึ่งมี จอน เอลสเตอร์ (Jon Elster) เป็นหัวหอกสำคัญมิได้ยอมแพ้ล่าถอยต่อสภาพการณ์ดังกล่าว (imperfect rationality and weakness of will) โดยพวกเขาได้เสนอแนวคิดในเรื่อง "pre-commitment" นั่นคือ การผูกมัดตัวเองไว้กับบางสิ่งล่วงหน้า เพื่อจำกัดทางเลือกในอนาคต (pre-commitment) เพื่อปกป้องผลประโยชน์สูงสุดของตน

ซึ่งถือว่าเป็นการใช้เหตุผลในการตัดสินใจเลือก กระทำการบางอย่างเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของตนอยู่ดี

อย่างเช่นในกรณีคนติดบุหรี่ดังกล่าว พวกนักทฤษฎีการเลือกอย่างมีเหตุผลก็จะชี้ว่า คนติดบุหรี่ที่รู้ตัวว่าใจอ่อน แต่ก็อยากเลิกบุหรี่ เมื่อรู้ตัวดีว่าเป็นคนประเภทที่เผลอไม่ได้ เป็นต้องแพ้ใจตัวเอง คนประเภทนี้จะรู้จักทำบางสิ่ง "ดัก" ไว้ล่วงหน้า เพื่อที่จะทำให้ตัวเองไม่สามารถเผลอใจไปทำเรื่องที่ตัวต้องเสียใจภายหลังได้ เช่น

นาย ก. อยากเลิกบุหรี่เพื่อจะได้มีสุขภาพดี แต่รู้ว่าตัวเองมักเผลอใจทุกครั้งเมื่อเห็นบุหรี่ จึงทำสัญญากับหัวหน้าแผนกว่า ถ้าตนกลับไปสูบบุหรี่อีกเมื่อไหร่จะยอมให้หักเงินเดือน 1% หรือคนติดยาที่สมัครใจเข้ารับการบำบัด แต่รู้นิสัยตัวเองว่าทนอยู่ไม่ได้จนตลอดรอดฝั่ง เลยทำสัญญากับทางโรงพยาบาล ยินยอมให้โรงพยาบาลกักตัวตนไว้ได้จนกว่าจะครบกำหนด แล้วค่อยปล่อยกลับบ้าน

ตัวอย่างของวิธีคิดแบบนี้ ได้แก่ การออกกฎหมาย Mental Health Protection Act ของประเทศนอร์เวย์ ดังนั้น แนวคิดเรื่อง "pre-commitment" จึงดูจะเป็นทางออกของปัญหาดังกล่าว

แต่กระนั้นก็ตาม พวกนักทฤษฎีการเลือกอย่างมีเหตุผลก็ไม่ชะล่าใจที่จะคิดว่า ข้อเสนอดังกล่าวของตน จะสมบูรณ์ไม่มีปัญหาแล้ว เพราะต่อมาเอลสเตอร์ได้หันมาตั้งคำถามกับความคิดเรื่อง pre-commitment ของเขาเองทั้งในระดับของบุคคลและระดับสังคม คำถามดังกล่าวมีอยู่ง่ายๆ ดังนี้ ใครคือมีผู้สิทธิอันชอบธรรมที่จะตัดสินใจทำ pre-commitment ในทั้งสองกรณี?

ในระดับบุคคล คำถามนี้อาจฟังแล้วงงๆ เพราะคำตอบก็ชัดอยู่แล้วว่า ก็เจ้าตัวนั่นไงที่น่าจะเป็นผู้ตัดสินใจสำหรับตัวเขาเอง แต่เอลสเตอร์ชี้ว่า กรณีนี้สามารถมองได้ว่าเกี่ยวข้องกับคนสองคน นั่นคือ นาย ก. ที่เวลา 1 (เวลาที่ทำ pre-commitment) กับ นาย ก. ที่เวลา 2 (ตอนถูกล่อด้วยความต้องการเฉพาะหน้าให้ฝ่าฝืน pre-commitment) หรือคิดอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นก็คือ

นาย ก. ตอนตัดสินใจซื้อประกันชีวิตมีระยะเวลา 20 ปีเพื่อบังคับให้ตัวเองไม่ลาออกจากงานแค่เพราะเกลียดขี้หน้าเจ้านาย

กับ นาย ก. ตอนตัดสินใจลาออกจากงานอย่างปุปปับหลังมีปากเสียงกับเจ้านาย) หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ นาย ก. ตอนฉลาดและมีเหตุผล กับ นาย ก. ตอนบุ่มบ่ามและใช้อารมณ์ โดยสามัญสำนึกแล้ว เราก็คงตอบคำถามนี้ว่า ก็ นาย ก. ตอนมีสติและมีเหตุผลนั่นแหละที่ควรจะมีสิทธิอันชอบธรรมที่จะตัดสินใจทำ pre-commitment

แต่จากการที่เอลสเตอร์ได้รับอิทธิพลจากนัก จิตวิทยาอย่าง จอร์จ แอนส์ลี่ย์ (George Ainslie) เจ้าของทฤษฎีเรื่อง "marketplace of desires" เห็นว่าปัญหาเรื่องนี้จริงๆ ยากกว่านั้น เพราะทฤษฎีดังกล่าวของแอนส์ลี่ย์อธิบายว่า ในจิตใจลึกๆ ของมนุษย์ไม่ได้มีใครปกครองใครได้แบบที่ผู้คนมักเข้าใจ เช่น จิตฝ่ายดีปกครองจิตฝ่ายชั่ว หรือเหตุผลปกครองอารมณ์

เพราะคนเรามีแต่ความต้องการแบบต่างๆ (desires) และในแต่ละครั้งที่เรารู้สึกสองจิตสองใจ (หรือหลายใจ)

นั่นคือความต้องการที่ขัดแย้งกันมันกำลังแก่ง แย่งแข่งขันกันเรียกร้องความสนใจจากเรา และความต้องการที่ชนะก็คือ อันที่ประสบความสำเร็จสามารถผลักดันให้เราลงมือทำในสิ่งที่เติมเต็มมันได้

ดังนั้น ถ้านาย ก. สองจิตสองใจระหว่างความอยากลงทุนในธุรกิจพื้นฐานดีที่จะทำให้เงินเก็บของตน เติบโตอย่างมั่นคง (โดยการลงทุนแบบเน้นคุณค่า หรือ value investment) แต่ก็โลภอยากทำกำไรก้อนโตด้วย (โดยลงทุนแบบเก็งกำไรในหุ้นที่กำลังขึ้นราคา) ถ้าในที่สุด นาย ก. ตัดสินใจเล่นหุ้นแบบเก็งกำไร

แอนส์ลี่ย์ก็จะอธิบายว่า ในกรณีนี้ ความโลภของ นาย ก. ชนะความอยากมีเงินเก็บอย่างมั่นคง แต่ก็เป็นไปได้ที่ในสถานการณ์อื่น ความอยากมีเงินเก็บอย่างมั่นคงอาจพลิกกลับมาชนะได้

ดังนั้น เราจึงสรุปไม่ได้ว่าแท้จริงแล้ว นาย ก. มีแนวโน้มเป็นคนโลภหรือไม่ แต่เราสามารถสรุปได้แค่ว่า ในศึกครั้งนี้ ความอยากได้เงินก้อนโตของ นาย ก. ชนะความอยากมีเงินเก็บที่มั่นคงของเขา

ซึ่งผลลัพธ์ที่ตามมาจากทฤษฎีนี้ของแอนส์ลี่ย์ก็ คือ เราสรุปไม่ได้ว่า ความมีเหตุผลคือตัวตนที่เหนือกว่าและปกครองตัวตนที่ไร้เหตุผล และก็สรุปต่อไปไม่ได้อีกด้วยว่า ตัวตนที่มีเหตุผลมีสิทธิอันชอบธรรมที่จะทำ pre-commitment เพื่อขัดขวางไม่ให้ตัวตนที่ไม่มีเหตุผล "ทำเสียเรื่อง"

(แอนส์ลี่ย์ยังได้สอนเทคนิคบังคับใจไว้สำหรับคน ที่ชอบแพ้ใจตัวเองด้วย เทคนิคดังกล่าวเรียกว่า "Private Side Bet" ซึ่งจะยังขอไม่กล่าวถึงในที่นี้ แต่ถ้าใครสนใจ สามารถหาอ่านได้จากหนังสือชื่อ Breakdown of Will ของเขา)

นอกจากนี้ มันก็ยังอาจเป็นไปได้ด้วยว่า ความต้องการของ นาย ก. ในขณะที่ทำ pre-commitment นั้น ไม่ได้ มีเหตุผลกว่าความต้องการของ นาย ก. ตอนที่ต้องการยกเลิก pre-commitment

ยกตัวอย่างเช่น นาย ก. เป็นนักแสดงที่ไม่สบายเป็นโรคประสาท จึงตัดสินใจเข้ารับรักษาตัวในโรงพยาบาล โดยเซ็นเอกสารล่วงหน้าไว้ว่าจะไม่ออกจากโรงพยาบาลจนกว่าจะได้รับยาครบสูตร แต่ระหว่างนั้นเขาเกิดไปอ่านเจอวารสารการแพทย์ที่ตีพิมพ์ข้อค้นพบว่า โรคประสาทที่ตนเป็น คืออาการที่เรียกว่า "borderline syndrome" หรือการมีอารมณ์เหวี่ยงไปเหวี่ยงมาระหว่างดีสุดกับร้ายสุดนั้นเป็นสิ่งที่ดี และเหมาะสมกับอาชีพนักแสดงของตน เพราะทำให้สวมบทบาทที่หลากหลายได้อย่างเป็นธรรมชาติกว่านักแสดงที่มีสภาพจิต และบุคลิกปรกติ ทำให้ปรับให้เข้ากับบทที่หลากหลายได้ยากกว่า

คำถามที่เกิดขึ้นคือ ในกรณีนี้ สามัญสำนึกของเราบอกว่าโรงพยาบาลควรตัดสินใจทำอย่างไรกับ นาย ก.?

เอลสเตอร์ชี้ว่า ถ้าเราเห็นว่าโรงพยาบาลไม่ควรปล่อย นาย ก. นั่นคือ เคารพ pre-commitment ที่เขาทำไว้ การตัดสินใจไม่ปล่อยก็จะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ผิดเพี้ยนอย่างยิ่ง ในแง่ที่เหตุผลรองรับสำหรับ pre-commitment หรือความอยากหายจากโรคประสาทนั้นมันไม่มีอยู่แล้ว เหตุใดจึงยังควรเคารพมันอีก?

นอกจากนั้น แนวคิดเรื่อง pre-commitment ซึ่งถูกสร้างขึ้นเพื่อปกป้องความมีเหตุผล แต่มันกลับมาทำร้ายคนมีเหตุผล (คนหลัง) เสียเอง เท่ากับว่าจริงๆ แล้วมันคือการกระทำที่ "โง่" มากกว่าจะมีเหตุผลด้วยซ้ำ (ถ้าเข้าใจแบบนี้แล้ว เราก็อาจเห็นใจคนที่อ้างว่าตนต้อง "ตระบัดสัตย์เพื่อชาติ" ขึ้นอีกนิด คนเหล่านี้อาจดูแล้วไม่มีเกียรติก็จริง แต่ก็ไม่จำเป็นว่าเขาจะต้องไม่มีเหตุผล เพียงแต่เกียรติกับเหตุผลอาจบังเอิญไปด้วยกันไม่ได้ในกรณีนี้เท่านั้น)

ในทางกลับกัน ถ้าโรงพยาบาลตัดสินใจปล่อย นาย ก. ก็ย่อมเป็นการทำให้ pre-commitment กลายเป็นสิ่งที่หละหลวมมากและไม่สามารถผูกมัดอะไรจริงๆ ได้เลย เพราะมันสามารถถูกยกเลิกได้ง่ายๆ เมื่อคนเปลี่ยนความตั้งใจ มันจึงไม่สามารถใช้แก้ปัญหาเรื่องความมีเหตุผลไม่สมบูรณ์แบบ (imperfect rationality) ตามที่เอลสเตอร์ตั้งใจไว้ได้

ถึงตรงนี้ หลังจากที่เอลสเตอร์ทำในสิ่งที่ปราชญ์กรีกโบราณอย่างเฮราไคลตุสชอบทำ นั่นคือ วิพากษ์แม้แต่ความคิดของตัวเองก็ได้ ("I practice self-critique.": Heraclitus : fragment 101) หลายคนคงคิดว่า มาถึงขนาดนี้แล้ว เจอปัญหาที่ดูเหมือนจะเป็นทางตันของความเชื่อในเรื่องของเหตุผลแล้ว เอลสเตอร์น่าถึงคราวยอมถอดใจยอมแพ้? (ไม่ได้แพ้ใจ! แต่แพ้การใช้เหตุผลล่าสุดของตัวเองที่วิพากษ์การใช้เหตุผลของตนในอดีต!)

เขาจะลงเอยอย่างไร? โปรดติดตามในตอนต่อไป




บทวิพากษ์ทฤษฎีการเลือกอย่างมีเหตุผลและ ทฤษฎีเกมของ Jon Elster (24) : การร่างรัฐธรรมนูญ

คนแคระบนบ่ายักษ์ : แพทย์ พิจิตร  มติชนรายสัปดาห์  วันที่ 09 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 28 ฉบับที่ 1447

นักทฤษฎีการเลือกอย่างมีเหตุผลเสนอแนวคิดเรื่อง pre-commitment ขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาคนที่มักจะไม่สามารถใจแข็งพอ ที่จะเลือกกระทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์จริงๆ สำหรับตัวเขาเอง เช่น กรณีคนที่อยากมีสุขภาพดี แต่ติดบุหรี่และอยากเลิกบุหรี่ แต่เลิกไม่ได้สักที เพราะใจอ่อน ดังนั้น การตัดสินใจกำหนดอนาคตตัวเองไว้ล่วงหน้า (pre-commitment) เช่น ยอมเข้าโรงพยาบาล และเซ็นสัญญาว่า ขอให้โรงพยาบาลไม่ปล่อยตัวเขาออกมา จนกว่าจะเลิกบุหรี่ได้

ซึ่งฟังดูก็น่าจะแก้ปัญหาได้ เพราะ pre-commitment ทำให้นักทฤษฎีการเลือกอย่างมีเหตุผลยังสามารถยืนยันการมีเหตุผล หรือการใช้เหตุผลในการตัดสินใจเพื่อผลประโยชน์ที่แท้จริงของคนได้ ซึ่งความเชื่อว่า มนุษย์ย่อใช้เหตุผลในการตัดสินใจ เพื่อประโยชน์สูงสุดของตัวเอง (self-interest) นั้นเป็นฐานสำคัญ (premise) ของทฤษฎี "rational choice"

ถ้าฐานนี้มีปัญหาหรือไม่แข็งแรงแล้ว ตัวทฤษฎีทั้งหมดก็มีสิทธิ์ล้มทั้งยืนได้ พังครืนลงมาได้

กระนั้น ก็ใช่ว่าปัญหาจะหมดไป แม้ว่าพวกนักทฤษฎีการเลือกอย่างมีเหตุผลจะเป็นผู้เสนอแนวคิด "pre-commitment" เพื่อแก้ปัญหาที่คนอื่นตั้งแง่วิจารณ์มา แต่พวกเขาก็ยังกลับที่จะตั้งแง่ตรวจสอบทฤษฎีของตัวเองอีกด้วย โดยสมมุติตัวอย่างที่กล่าวไปครั้งที่แล้วว่า นาย ก. เป็นนักแสดงที่ไม่สบายเป็นโรคประสาท ตัดสินใจเข้ารับรักษาตัวในโรงพยาบาล เซ็นเอกสารล่วงหน้าไว้ว่าจะไม่ออกจากโรงพยาบาลจนกว่าจะได้รับยาครบสูตร

แต่ระหว่างนั้นเขาเกิดไปอ่านเจอวารสารการแพทย์ ที่ตีพิมพ์ข้อค้นพบว่า โรคประสาทที่ตนเป็น คืออาการที่เรียกว่า "borderline syndrome" หรือการมีอารมณ์เหวี่ยงไปเหวี่ยงมาระหว่างดีสุดกับร้ายสุดนั้นเป็นสิ่งที่ดี และเหมาะสมกับอาชีพนักแสดงของตน เพราะทำให้สวมบทบาทที่หลากหลายได้อย่างเป็นธรรมชาติกว่านักแสดงที่มีสภาพจิต และบุคลิกปรกติ ทำให้ปรับให้เข้ากับบทที่หลากหลายได้ยากกว่า

คำถามที่เกิดขึ้นคือ ในกรณีนี้ สามัญสำนึกของเราบอกว่าโรงพยาบาลควรตัดสินใจทำอย่างไรกับ นาย ก.?

ซึ่งในกรณีนี้ เอลสเตอร์ชี้ว่า เราสามารถยกเลิก pre-commitment ที่ทำไว้ได้ เพราะแนวคิดเรื่อง pre-commitment ถูกสร้างขึ้นเพื่อปกป้องความมีเหตุผล แต่ถ้ามันกลับมาทำลายผลประโยชน์ของตัวเองเสีย เท่ากับว่าจริงๆ แล้วมันคือการยึดถือ pre-commitment เป็นการกระทำที่ "โง่" มากกว่าจะมีเหตุผลด้วยซ้ำไป

แต่กระนั้น ในทางกลับกัน ถ้าโรงพยาบาลตัดสินใจปล่อย นาย ก. ก็ย่อมเป็นการทำให้ pre-commitment กลายเป็นสิ่งที่หละหลวมมากและไม่สามารถผูกมัดอะไรจริงๆ ได้เลย เพราะมันสามารถถูกยกเลิกได้ง่ายๆ เมื่อคนเปลี่ยนความตั้งใจ มันจึงไม่สามารถใช้แก้ปัญหาเรื่องความมีเหตุผลไม่สมบูรณ์แบบ (imperfect rationality) ตามที่เอลสเตอร์ตั้งใจไว้ได้

หลายคนอาจสงสัยว่า เจอปัญหาถึงขนาดนี้แล้ว เอลสเตอร์จะถอดใจกับทฤษฎี rational choice ของเขาหรือไม่?

คำตอบคือ เอลสเตอร์กลับสามารถทำให้วิกฤตินี้กลายเป็นโอกาสได้อย่างน่าอัศจรรย์ เพราะเมื่อในที่สุด เขาตระหนักว่า ความมีเหตุผลมีลักษณะเป็นเรื่อง "เฉพาะตน" (subjective) ค่อนข้างมาก เขาจึงหันไปให้ความสำคัญกับการศึกษาปัจจัย ที่กำหนดแรงจูงใจ (motivation) ของคน เช่น ความต้องการและโอกาส (หรือชุดทางเลือกที่คนมีอยู่) และได้สร้างทฤษฎีที่มีคุณูปการต่อสังคมศาสตร์และปัญหาทางปรัชญาการเมือง เรื่องความยุติธรรมทางสังคม (social justice) ขึ้นมาอีกทฤษฎีหนึ่ง

นั่นคือ ทฤษฎีองุ่นเปรี้ยว (Soul Grapes) หรือชื่อเป็นทางการคือ Adaptive Preference Formation & Change---นั่นคือ "การก่อรูปและเปลี่ยนแปลงความพอใจที่เป็นการปรับตัวรับกับสถานการณ์ที่เป็น อยู่" ซึ่งเอลสเตอร์ได้เขียนไว้ในหนังสือชื่อ Sour Grapes : Studies in the Subversion of Rationality (Cambridge : 1985)

Jon Elster (สมัยหนุ่ม)

ผู้เขียนจะได้กลับมาอภิปรายถึงทฤษฎีนี้ของเอ ลสเตอร์อีกครั้ง หลังเสร็จสิ้นการอภิปรายปัญหาเรื่อง pre-commitment ในระดับสังคมและทางแก้ที่เอลสเตอร์ได้พัฒนาไว้ ก่อนที่จะจบบทวิพากษ์ทฤษฎีการเลือกของสังคมของเอลสเตอร์ลงหลังจากนั้น

ขอกลับมาที่คำอธิบายเรื่องการตัดสินใจในระดับ สังคมของเอลสเตอร์ที่ค้างไว้แต่คราวก่อนโน้น สำหรับในระดับของสังคม โดยจะยกกรณีการร่างรัฐธรรมนูญของไทยที่ผ่านมาเป็นตัวอย่างสำหรับการประยุกต์ ใช้ทฤษฎีของเอลสเตอร์ เชื่อว่า ในตอนแรก เอลสเตอร์น่าจะมองว่า กระทำของกลุ่มผู้ร่างรัฐโดยการออกกฎหมายมาจำกัดทางเลือกของตัวเองเพื่อผล ประโยชน์ระยะยาว

(ยกตัว อย่างเช่น เรื่อง ส.ส.ร. ต้องไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ว. ภายในสองปี เพื่อรักษาความน่าเชื่อถือของรัฐธรรมนูญ และของตนในฐานะผู้ร่าง)

แต่ตอนหลัง เขาน่าจะยอมรับว่า เราสามารถมองให้เป็นปัญหาได้ว่า จริงๆ แล้วสิ่งที่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญทำคือ ออกกฎหมายพื้นฐานมาจำกัดทางเลือกของคนอื่นๆ ในสังคมเพื่อส่งเสริมผลประโยชน์ของตัวเอง ทำให้สิ่งที่คนเหล่านี้ทำไม่มีพื้นฐานชอบธรรมรองรับ

ด้วยตัวเอลสเตอร์เองก็ได้ยกตัวอย่างบิดาผู้ร่าง รัฐธรรมนูญของประเทศสหรัฐอเมริกา และชี้ว่าการที่คณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นคนรวยมีทรัพย์สินที่ดินเยอะ กำหนดให้กฎหมายใดๆ ที่จะออกมาจะต้องเคารพกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของบุคคล ซึ่งเราสามารถมองได้สองแบบว่า ก) คนเหล่านี้กระทำจากเหตุผลเพื่อส่วนรวมในการนำระบบกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล ในฐานะอุดมคติที่ดีงามมาใช้กับคนทั้งประเทศ

หรือ ข) คนเหล่านี้ทำเหตุผลส่วนตัวล้วนๆ คือ ต้องการกีดกันไม่ให้คนที่ยากจนไร้ทรัพย์สินทั้งในยุคนี้และในยุคหน้า มายุ่งกับทรัพย์สินของตนและของลูกหลานตน

อีกตัวอย่างหนึ่งที่มองได้สองแบบเหมือนกันก็คือ การที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้การแก้ไขกฎหมายใดๆ ต้องอาศัยเสียงส่วนใหญ่ ถึงสองในสาม หรือ 67% ขณะที่รัฐธรรมนูญนั้นผ่านมาด้วยเสียงส่วนใหญ่เกินครึ่ง ของคณะผู้ร่าง ซึ่งก็เป็นเพียงคนกลุ่มน้อยในสังคมเท่านั้น สามารถมองได้ว่าทั้งว่าคนเหล่านี้ กำลังทำเพื่อสังคมส่วนรวม โดยกำหนดเงื่อนไขในการแก้รัฐธรรมนูญให้ยากไว้ เพื่อคนจะได้ไม่สามารถเปลี่ยนเนื้อหารัฐธรรมนูญได้ง่ายๆ ตามใจชอบ

(ถ้ามาเจอบางประเทศที่ไม่แค่เปลี่ยนเอาดื้อๆ แต่ถึงกลับ "พลิก" เนื้อหารัฐธรรมนูญจากหน้ามือเป็นหลังมือ แบบนี้คณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญที่ไหนมาเจอก็คงมึนหนักเหมือนกัน)

หรือจะมองเป็นว่า คนส่วนน้อยไม่ได้ผูกมัดตัวเอง แต่ผูกมัดการจำกัดทางเลือก และกำหนดชะตากรรมของคนส่วนใหญ่ของประเทศ โดยผ่านทางรัฐธรรมนูญต่างหาก ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ชอบธรรม

แต่สิ่งสำคัญที่ต้องทำความเข้าใจจากกรณีข้างต้น ก็คือ เอลสเตอร์ไม่ได้บอกว่า สิ่งที่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญทำ จะต้องเป็นการกระทำเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวเสมอไป แต่เป็นไปได้ที่คนเหล่านี้จะทำจากเหตุผลเพื่อส่วนรวมจริงๆ แต่ปัญหาที่หนีไม่พ้นก็คือ ถ้าเราตั้งต้นจากทฤษฎีแบบ rational choice ที่เชื่อว่าคนทุกคนทำเพื่อประโยชน์หรือความพอใจสูงสุด หรือเพื่อชีวิตที่ดีของตัวเองแล้ว ข้อสงสัยเรื่องประโยชน์ส่วนตัวก็เป็นสิ่งที่มีน้ำหนักรับฟังได้ (well-founded) ในเกือบทุกกรณีเลยทีเดียว

เมื่อเป็นเช่นนี้ pre-commitment ในฐานะหลักประกันความมีเหตุผลในระดับสังคม จึงยังใช้ไม่ค่อยได้เช่นเดียวกับในระดับบุคคล ด้วยเหตุที่ว่า ยังไม่มีเหตุผลที่ดีพอที่จะรองรับการจำกัดทางเลือก (หรืออีกนัยหนึ่งคือการลิดรอนเสรีภาพ) ของตัวเองหรือคนอื่นที่เกิดจากการทำเช่นนั้น

เมื่อมาถึงจุดนี้ กระนั้นก็ดี ยังไม่ถือว่า ทฤษฎีการเลือกอย่างมีเหตุผลนั้นล้มเหลวไปเสียทีเดียว เพราะถ้ายังจำกันได้ ทฤษฎีนี้อธิบายความมีเหตุผลไว้สองแบบ ได้แก่ 1) แสวงหาประโยชน์หรือความพอใจสูงสุด และ 2) รู้จักคิดเชิงยุทธศาสตร์ (strategic) หรือการรู้ทันความคิดคนมีเหตุผลคนอื่น และสามารถปรับพฤติกรรม ให้สอดรับกับคนเหล่านั้น เพื่อรักษาไว้ซึ่งประโยชน์สูงสุด หรืออย่างน้อยเพื่อไม่ให้ตนต้องเสียเปรียบในปฏิสัมพันธ์

มาในตอนนี้เราพบแล้วว่า ลักษณะข้อแรกประสบปัญหา เมื่อมาถึงการกระทำในระดับสังคม เพราะถ้าคนแสวงหาประโยชน์สูงสุด ทุกคนก็จะทำเพื่อตัวเอง การร่วมมือจึงเป็นเพียงคราบบังหน้า ของการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวเท่านั้น และบนพื้นฐานนี้ เราไม่อาจแน่ใจได้ว่า คนที่มีอำนาจหรือทรัพยากรมากกว่า จะไม่เบียดเบียนคนอื่นให้ยิ่งเสียเปรียบ ความหวังของทฤษฎีนี้จึงอยู่ที่ลักษณะที่สอง นั่นคือ การคิดเชิงยุทธศาสตร์

จะสมหวังหรือผิดหวังอย่างไร? โปรดติดตามตอนต่อไป (ขอกระซิบว่า การคิดเชิงยุทธศาสตร์นี้มี ฐานรากจากทฤษฎีที่แวดวงบริหาร และสังคมศาสตร์ไทยมักพูดติดปากกันโก้ๆ อยู่เสมอ นั่นคือ Game Theory นั่นเอง)




บทวิพากษ์ทฤษฎีการเลือกอย่างมีเหตุผลและ ทฤษฎีเกมของ Jon Elster (25)

คนแคระบนบ่ายักษ์ : แพทย์ พิจิตร  มติชนรายสัปดาห์  วันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 28 ฉบับที่ 1449

นักทฤษฎีการเลือกอย่างมีเหตุผลได้พัฒนาแนวคิด ต่างๆ เพื่อพัฒนาจุดแข็งแก้ไขจุดอ่อนในทฤษฎีของตนอยู่ตลอด นับตั้งแต่การเสนอแนวคิดเรื่อง pre-commitment หรือ "การตัดสินใจกำหนดอนาคตตัวเองไว้ล่วงหน้า" เพื่อแก้ปัญหาการแพ้ใจตัวเอง (weakness of will) หรืออาการที่คนคนหนึ่งพ่ายแพ้ต่อผลประโยชน์หรือความสุขเฉพาะหน้าที่ จริงๆ แล้วมิได้เป็นผลประโยชน์ที่แท้จริงต่อตัวเขาเลย เช่นในกรณีของคนที่อยากเลิกบุหรี่เพื่อสุขภาพของตน แต่ใจไม่แข็งพอ เป็นต้น

การตัดสินใจกำหนดอนาคตตัวเองไว้ล่วงหน้าโดยการ ยอมให้โรงพยาบาลกักตัวไว้บำบัดจนกว่าจะเลิกบุหรี่ได้ จึงเป็นวิธีการหนึ่งที่จะรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์ที่แท้จริงของคนเราได้ แต่กระนั้น อย่างที่กล่าวไปในตอนก่อนๆ ว่า นักทฤษฎีการเลือกอย่างมีเหตุผลก็ทำตัวเป็นเฮราไคลตุส (Heraclitus) หรือโสกราติสที่ตั้งคำถามวิพากษ์ความคิดทฤษฎีของตัวเองจนพบข้อบกพร่อง และหาทางพัฒนาต่อยอดให้สมบูรณ์ต่อไป

การหาทางออกของปัญหาในทฤษฎีการเลือกอย่างมี เหตุผลที่ยกระดับขึ้นมาอีกขั้นหนึ่ง คือ การนำเสนอแนวทางที่เรียกว่า "การคิดเชิงยุทธศาสตร์" นั่นคือ การรู้ทันความคิดคนอื่นๆ ที่มีเหตุผลเช่นกัน และสามารถปรับพฤติกรรมให้สอดรับกับคนเหล่านั้น เพื่อรักษาไว้ซึ่งประโยชน์สูงสุดหรืออย่างน้อยเพื่อไม่ให้ตนต้องเสียเปรียบ ในปฏิสัมพันธ์

กระนั้นก็ดี นักทฤษฎีการเลือกอย่างมีเหตุผลตระหนักว่า การคิดเชิงยุทธศาสตร์นี้เปรียบเสมือนดาบสองคม ในแง่ที่จะนำไปสู่การต่อสู้เอาชนะคะคานกันก็ได้ หรือจะนำไปสู่การร่วมมือกันก็ได้

จริงๆ แล้ว การคิดเชิงยุทธศาสตร์นี้ถือกำเนิดมาจากทฤษฎีเกม (Game Theory) โดยกลุ่มผู้บุกเบิกได้แก่ จอห์น ฟอน นูมาน (John Von Neumann) ศาสตราจารย์สาขาคณิตศาสตร์ชาวอเมริกัน เชื้อสายฮังแกเรียนแห่งมหาวิทยาลัยปรินซตัน เป็นหนึ่งในสี่คนที่ได้รับเลือกเป็นคณาจารย์รุ่นแรกแห่ง Institute for Advanced Study

(อีกสองท่านที่ได้รับเกียรตินี้คือ อัลเบิร์ต ไอสไตน์ และเคิร์ต โกเดล (Kurt Godel) ศาสตราจารย์ทางคณิตศาสตร์ และปรัชญาชาวอมริกันเชื้อสายออสเตรียน-ฮังแกเรียน)

นอกจากนูมานแล้ว ยังมี ออสคาร์ มอร์เกนสเติร์น (Oskar Morgenstern) ศาสตราจารย์ทางเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันเชื้อสายเยอรมัน ที่เกิดในออสเตรีย เขาค้นคว้าวิจัยร่วมด้วยช่วยกันกับนูมาน ในการตั้งทฤษฎีเกมในทางคณิตศาสตร์ที่สถาบัน Institute for Advanced Study และ ดันแคน ลูซ (R. Duncan Luce) และ โฮวาร์ด ไรฟ์ฟา (Howard Raiffa)

ลูซเป็นศาสตราจารย์ทางด้าน Cognitive Sciences (Distinguished Research Professor of Cognitive Sciences) แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย-เออไวน์ (UC-Irvine) เขาเคยได้รับเกียรติให้ดำรงตำแหน่ง Alferd North Whitehead Professor of Psychology ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เขาจบปริญญาตรีทางวิศวการบินจาก M.I.T. และต่อมาหันมาศึกษาคณิตศาสตร์จนจบปริญญาเอกที่ M.I.T. เช่นกัน

ส่วนไรฟ์ฟาดำรงตำแหน่ง Frank P. Ramsey Professor (Emeritus) ทางเศรษฐศาสตร์การจัดการ สอนทั้งที่คณะบริหารธุรกิจและคณะรัฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (the Business School and the Kennedy School of Government)

ลูซและไรฟ์ฟาได้ร่วมกันแต่งตำราชื่อ Games and Decisions: Introduction and Critical Survey (ค.ศ.1957) ซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในหมู่ผู้ศึกษาทางเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ รวมทั้งในประเทศไทยเองด้วย

และแน่นอนว่า ผู้ร่วมบุกเบิกสร้างทฤษฎีเกมคนสำคัญอีกคนหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือ ศาสตราจารย์ โทมัส เชลลิ่ง (Thomas C. Shelling) ผู้ที่เอลสเตอร์ยกย่องอย่างยิ่งที่เคยกล่าวไปบ้างแล้ว

ผู้เขียนจะอภิปรายถึงความคิดของคนเหล่านี้โดย สังเขปในโอกาสต่อไป แต่สำหรับคราวนี้ ผู้เขียนจะขอเสนอความคิดเชิงยุทธศาสตร์เรื่อง "เทคโนโลยี (technology) ของความร่วมมือ" (technology of collective action-rational cooperation) ของเอลส์เตอร์ โดยความน่าสนใจในเรื่องนี้อยู่ตรงที่ การที่เขาเรียกมันว่า เทคโนโลยี

ซึ่งหมายถึงว่า ถ้าคนที่เข้าใจและใช้มันเป็น ก็จะสามารถระดมคนที่ห่วงแต่ประโยชน์ของตัว (egoist) ให้ยอมสละผลประโยชน์ส่วนตัวและมาร่วมกันทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมได้

ซึ่งมีนัยยะว่า ใครที่ใช้เทคโนโลยีนี้เป็นก็สามารถเป็นนักจัดตั้งมวลชนได้

เอลสเตอร์เริ่มต้นโดยอธิบายว่า สำหรับสถานการณ์ความร่วมมือที่ผู้กระทำเป็นคนกลุ่มเดียวและปัญหาก็เป็นปัญหา แบบเดิมๆ การร่วมมือกันเกิดขึ้นได้ถ้าทุกฝ่ายใช้ยุทธวิธีแบบยอมไปก่อน คือยอมร่วมมือไปก่อนตราบใดที่ทุกคนยังร่วมมือ แต่ถ้าถูกหักหลังแม้แต่ครั้งเดียว ให้หยุดร่วมมือทันที

ยกตัวอย่างประเทศในกลุ่มโอเปคแต่ละประเทศถ้า ต้องการผลักราคาน้ำมันขึ้นไปสูงๆ โดยอาศัยการจำกัดปริมาณการผลิต ก็จำเป็นต้องใช้ยุทธวิธีนี้ โดยแต่ละประเทศต้องยอมจำกัดปริมาณการผลิตของประเทศตนไว้ตามโควต้าที่กลุ่ม กำหนดให้ก่อน และทำเช่นนั้นไปเรื่อยๆ โดยไม่หักหลังไปแอบผลิตและจำหน่ายน้ำมันเพิ่มเพียงฝ่ายเดียว

เพราะถ้ามีประเทศใดแอบทำ ประเทศอื่นๆ ย่อมรู้สึกว่าถูกหักหลังและอาจหยุดร่วมมือ โดยหันไปเพิ่มปริมาณการผลิตเกินโควต้าบ้าง ทำให้ในที่สุดแผนร่วมมือกันเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองทางราคาของกลุ่มก็จะต้อง ล่ม

ข้อจำกัดของยุทธวิธีนี้คือ ใช้ได้กับแค่ไม่กี่กรณี กรณีความร่วมมืออื่นๆ เช่น สหภาพแรงงานก็ใช้ไม่ได้ถ้าลูกจ้างไม่มีสิทธิเลือกว่าจะต่ออายุใหม่ (อีกนัยหนึ่งคือร่วมมือกันต่อ) ทุกๆ ปี และก็ใช้กับกรณีของการรวมกลุ่มก่อกบฏหรือรัฐประหารก็ไม่ได้ด้วย

ลองนึกดูนะครับว่า ถ้าสมาชิกคนหนึ่งในคณะกบฏเกิดโลภและยอมขายเพื่อน เพื่อแลกกับบำเหน็จรางวัล โดยนำรายชื่อไปให้กับผู้กุมอำนาจในปัจจุบัน สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ ทุกคนจะถูกจับโดยไม่มีโอกาสหยุดร่วมมือ ที่เป็นเช่นนี้เกิดจากการที่สถานการณ์ความร่วมมือในกรณีนี้เป็นแบบทำทีเดียว และม้วนเดียวจบ (one-shot collective action suituation)

ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่น่าหนักใจที่สุดสำหรับนัก ทฤษฎีการเลือกอย่างมีเหตุผลดังที่จะได้อธิบายต่อไป

และยุทธวิธีนี้ก็ยังใช้ไม่ได้กับสถานการณ์ความ ร่วมมือแบบที่ขาดโครงสร้างชัดเจนทำให้เมื่อเกิดการหักหลังขึ้นก็ยากที่จะรู้ เช่น ในสงครามขนาดใหญ่ที่มีการตะลุมบอนกันนัวเนียหรือในการใช้รถใช้ถนนที่คับคั่ง ที่อาจมีทหารคนหนึ่งคนใดหนีทัพ หรือใครสักคนขับรถฝ่าไฟแดงโดยคนอื่นไม่รู้

ยุทธวิธีแบบที่สองที่อาจนำมาใช้เพื่อทำให้คน เห็นแก่ตัวยอมร่วมมือกันได้ก็คือ การหาคนกลาง ซึ่งจะเป็นคนหรือองค์กรก็ได้ มาทำหน้าที่กำหนดและบังคับใช้บทลงโทษ (แรงๆ) กับคนที่หักหลังและตบรางวัลให้แก่คนที่ร่วมมือ

ยกตัวอย่าง การมีรัฐ (คนกลาง) คอยออกกฎหมายมาลงโทษคนที่ทำลายสมบัติสาธารณะ หรือ การมีหัวหน้าพรรคที่ใจถึงและเงินหนาคอยแจกเงินไม่อั้นสำหรับลูกพรรคที่ซื่อ สัตย์จงรักภักดีแม้ในยามตกอับ เป็นต้น

แต่เอลสเตอร์ก็ชี้ว่า ปัญหาของยุทธวิธีนี้คือ อำนาจของคนกลางต้องเป็นอำนาจแบบรวมศูนย์ด้วย การใช้กลไกการลงโทษและให้รางวัลจึงจะทำได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดจริง ซึ่งเท่ากับว่า ในสถานการณ์ที่อำนาจอยู่แบบกระจัดกระจายและไม่ได้รวมศูนย์อยู่ที่ใครโดย เฉพาะเจาะจง เช่น

ในสังคมประชาธิปไตยที่กลุ่มต่างๆ ถูกเสริมสร้างความเข้มแข็ง (empowered) ทางการเมืองกันหมด วิธีนี้จะใช้ไม่ได้ เพราะการหักหลังโดยคนคนหนึ่งอาจถูกลงโทษจากศูนย์อำนาจหนึ่ง แต่ก็ไปได้รับรางวัลจากอีกศูนย์อำนาจหนึ่ง เป็นการชดเชยแทน

ถ้าใครอยากพิสูจน์ความจริงของข้อนี้ ลองดูตัวอย่างใกล้ๆ ตัวจากการเมืองไทยของเราเองก็ได้

และที่สำคัญที่สุดคือ การตัดสินใจว่า จะรับระบบที่มีอำนาจรวมศูนย์แบบนี้หรือไม่นั้น ตัวมันเองก็เป็นปัญหาเรื่องการร่วมมือกันแบบหนึ่งด้วย เพราะในบรรยากาศแบบประชาธิปไตย คนเห็นต่างกันในเรื่องนี้ โดยบางคนอาจชอบระบบรวมศูนย์ แต่อีกหลายคนนิยมการกระจายอำนาจ การนำยุทธวิธีนี้มาใช้จึงไม่ใช่เรื่องง่ายตั้งแต่แรก




Jon Elster (26) : เอลสเตอร์สอนก่อ "ม็อบ"!

คนแคระบนบ่ายักษ์ : แพทย์ พิจิตร  มติชนรายสัปดาห์  วันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 28 ฉบับที่ 1450

อีกยุทธวิธีหนึ่งในการหาทางให้คนเห็นแก่ตัวมา ร่วมมือกัน (technology of collective action-rational cooperation) ของนักทฤษฎีการเลือกอย่างมีเหตุผลอย่าง จอน เอลส์เตอร์ (Jon Elster) คือ การตัดสินใจที่จะมอบอำนาจแบบรวมศูนย์ ให้กับบุคคลที่สาม

แต่กระนั้น ตัวอย่างที่สำคัญที่เป็นปัญหาให้ขบคิดปวดหัวคือ ในกรณีของรัฐ เพราะรัฐต้องเผชิญกับปัญหา ในการหาทางทำให้ผู้คนมาสมานฉันท์ร่วมมือกัน

และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในบรรยากาศที่เป็น ประชาธิปไตย ที่ไม่ใช่ประชาชน ทุกคนจะเห็นว่ารัฐควรมีอำนาจมาก และยินยอมให้รัฐสามารถบีบบังคับให้ประชาชน ทิ้งผลประ โยชน์ส่วนตัวมาทำกิจกรรมเพื่อส่วนรวมได้

ส่วนตัวแบบสถานการณ์ความร่วมมือที่เอลสเตอร์ให้ ความสนใจเป็นพิเศษก็คือ การร่วมมือที่เป็นการกระทำแบบม้วนเดียวจบ (one-shot collective action situation) และที่ศูนย์อำนาจอยู่กันแบบกระจาย (decentralized one-shot collective action) เช่น การระดมพลังประชาชนไปร่วมประท้วงขับไล่หรือเชียร์รัฐบาลในประเทศที่ปกครองใน ระบอบประชาธิปไตย

ทำให้ต้องครุ่นคิดว่าจะทำสำเร็จได้อย่างไร? จะต้องเริ่มต้นอย่างไร และจะสามารถประคับประคอง ให้ดำเนินต่อไปโดยไม่แผ่วปลายได้อย่างไร?

ข้อสังเกตประการแรกคือ เอลสเตอร์ไม่คิดว่า การระดมพลังที่ว่านี้ไม่สามารถกระทำได้ด้วยการจ่ายเงินจ้างวาน ด้วยเหตุผลข้อแรกคือ ต้นทุนการร่วมมือไม่ได้มีแค่เรื่องเงิน แต่ยังรวมถึงเวลาและความเสี่ยงต่อคุกต่อตาราง ซึ่งในบริบทของประเทศที่ประชาธิปไตยพัฒนาก้าวหน้าแล้ว ถือเป็นเรื่องต้องห้าม คอขาดบาดตายกันเลยทีเดียว (แต่ในบริบทสังคมไทย เป็นอย่างไร ก็ลองคิดกันเองก็แล้วกัน)

ในสังคมประชาธิปไตยก้าวหน้า ผู้คนที่มีเหตุผลคือคนที่ตระหนักในคุณค่าของเวลา และเป็นผู้มีแผนการสำหรับชีวิตของตน ดังนั้น ถ้าจำนวนเงินที่ให้ไม่สูงพอ คนเหล่านี้ก็อาจไม่ร่วมมือ

นอกจากนี้ ด้วยความสามารถในการคิดเชิงยุทธศาสตร์ ทำให้คนเหล่านี้มีแนวโน้มจะ "รู้ทัน" คนที่พยายามจะซื้อเขา เช่น รู้จักถามตัวเองว่า คนคนนี้หวังประโยชน์อะไรจากเรา จึงมาจ่ายเงินจ้างวานกันแบบนี้?

ดังนั้น ผู้ซื้อจึงต้องพบกับปัญหากลืนไม่เข้าคายไม่ออกว่า "ถ้าจ่ายเงินน้อยไป ก็ซื้อความร่วมมือไม่ได้ แต่ถ้าจ่ายเงินมากไป ก็จะถูกระแวงว่า สงสัยคิดจะเอาคืนยิ่งกว่านี้อีกหลายเท่า"

นอกจากนี้ คนที่มีเหตุผลผสมโลภบางคน อาจคิดเลยเถิดไปว่า โก่งค่าตัวดีไหม? เช่น จากสองร้อย ขอเพิ่มเป็นสองพัน หรือจะไปฮั้วกับมวลชนคนอื่นๆ อีกเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองดีไหม จะได้ชัวร์ว่าได้เงินคุ้ม?

สรุปก็คือ การต่อรองเจรจากับคนที่มีเหตุผลด้วยเงินไม่ใช่เรื่องง่าย และถ้าทำพลาดแม้เพียงนิดเดียวก็อาจเสียแผนทั้งหมดได้

ดังจะเห็นว่า โครงสร้างของกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงจริงๆ มักมีคนอยู่ตรงยอด (เชื่อไว้ก่อนว่าเป็นคนมีเหตุผล) เพียงไม่กี่คน และจึงเป็นเครื่องบ่งชี้อย่างหนึ่งว่า คนมีเหตุผลไม่กี่คนร่วมงานกันได้ง่ายกว่าคนมีเหตุผลหลายคน

ส่วนประชากรกลุ่มผู้ชุมนุมที่เหลือจำนวนมากนั้น ผู้เขียนจะยังไม่ขอจัดประเภทในขณะนี้ แต่ถ้าท่านผู้อ่านติดตามไปเรื่อยๆ ก็จะพบเองว่า คนประเภทหลังนี้น่าจะอยู่ในคนกลุ่มไหนในความคิดของเอลสเตอร์

ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งคือ กรณีที่ผู้มาร่วมชุมนุมประท้วงมีความสัมพันธ์ระยะยาวบางอย่าง เช่น ความสัมพันธ์ในระบบอุปถัมภ์หรือการต่างตอบแทนกันบางอย่างนั้นไม่จัดว่าเข้า ข่ายกรณีนี้ที่เอลสเตอร์สนใจศึกษา นั่นคือ ไม่ถือว่าเป็นความร่วมมือแบบม้วนเดียวจบ (one-shot collective action situation) แต่เป็นความร่วมมือแบบต่อเนื่อง (repetitive) หรือความร่วมมือแบบรวมศูนย์อำนาจ (centralized) อยู่ในตัวผู้อุปถัมภ์

ส่วนกรณีที่เอลสเตอร์สนใจนั้นคือ การร่วมมือระหว่างคนแปลกหน้าที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน หรือคนกันเองนี่แหละ แต่ที่รู้ๆ กันอยู่ว่าไอ้นี้ไว้ใจไม่ได้ เช่น สืบสายพันธุ์มาจากปลาไหล เป็นต้น

ในที่สุด ก็มาถึงคำตอบหรือข้อสรุปของเอลสเตอร์ในประเด็นปัญหาดังกล่าวข้างต้นนี้ โดยกำหนดเป็นเงื่อนไขความคิดดังนี้คือ ประการแรก ถ้าทุกคนเป็นคนมีเหตุผลหมด คือแสวงหาประโยชน์สูงสุดและเล็งผลเลิศ (outcome-oriented) ในแง่ที่ถ้าไม่มีแนวโน้มจะสำเร็จมากกว่าล้มเหลว ก็จะไม่ทำ และทุกคนรู้ข้อนี้ ความร่วมมือจะไม่อาจเกิดขึ้นได้

ประการที่สอง ความร่วมมือจะเกิดขึ้นได้ระหว่างคนที่มีแรงจูงใจหลากหลายแบบปะปนกันอยู่เท่า นั้น (mixed-motive interaction) โดยแรงจูงใจแต่ละประเภทจะทำงานแบบรับช่วงกันไปเป็นทอดๆ จนถึงจุดที่ทำให้ขบวนกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงเริ่มต้นและดำเนินต่อไปได้โดย พลังในตัวของมันเอง (momentum)

ดังนั้น จากเงื่อนไขดังกล่าว เอลสเตอร์เห็นว่า ขั้นแรกคือ ต้องหาคนที่มีแรงจูงใจแบบแรก แบบที่เรียกว่า ประโยชน์นิยม หรือคนที่เน้นทำเพื่อประโยชน์สูงสุดสำหรับส่วนรวม ซึ่งแบ่งได้อีกเป็นสองประเภทย่อย คือ พวกประโยชน์นิยมแบบพ่อพระ (selfless utilitarian) กับพวกประโยชน์นิยมเต็มรูปแบบ (full utilitarian)

พวกประโยชน์นิยมแบบพ่อพระ คือ คนที่พร้อมจะยอมสละเวลาและแรงกายแรงใจของตน หากเชื่อว่า การทำเช่นนั้นแล้วจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่สังคม (แม้จะต้องเข้าเนื้อตัวเองก็ตาม) แต่ปัญหาของคนพวกนี้คือ ถ้าพบว่าการร่วมมือในครั้งนั้นอาจก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี เช่น อาจพาคนจำนวนมากไปตายก่อนจะประท้วงเสร็จ คนเหล่านี้ก็อาจถอนตัวหรือไม่ร่วมมือตั้งแต่ต้น

แต่ถ้าการร่วมมือครั้งนั้นมีแนวโน้มจะก่อให้ เกิดผลดีมากกว่าผลเสีย และคนเหล่านี้มีจำนวนมากพอ การระดมมวลชนก็อาจก้าวไปถึงขั้นต่อไปได้

พวกประโยชน์นิยมเต็มรูปแบบ คือ คนที่พร้อมจะยอมสละเวลาและแรงกายแรงใจของตนทำงานเพื่อส่วนรวม หากเชื่อว่าการทำเช่นนั้นจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ต้องการได้ ซึ่งหลักประกันที่คนพวกนี้จะต้องการเป็นอันดับแรก ก็คือ ต้องแสดงให้เห็นก่อนว่า มีคนมาร่วมประท้วงมากพอ

ประเด็นของเอลสเตอร์ตรงนี้คือ ถ้ามีคนที่เป็นประโยชน์นิยมแบบพ่อพระมากพอ คนเหล่านี้จะสามารถกระตุ้นให้พวกประโยชน์นิยมเต็มรูปแบบ เข้ามาร่วมม็อบด้วยได้ ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมมีขนาดใหญ่ขึ้นและมีพลังมากขึ้น

แต่ในกรณีที่ หาคนพวกแรกสองกลุ่มนี้ไม่ได้ หรือหาได้แต่กลุ่มแรก หรือหาได้ทั้งสองกลุ่ม แต่ยังมีจำนวนไม่พอ สิ่งที่ต้องทำขั้นต่อไปคือ ต้องหาคนที่มีแรงจูงใจแบบที่สอง ที่เอลสเตอร์เรียกว่า นักร่วมมืออย่างไม่มีเงื่อนไข (unconditional cooperators) ซึ่งได้แก่ คนอย่างนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนหรืออุดมการณ์สูงส่งต่างๆ

ประเภทที่เป็นคล้ายกับพระหรือนักบุญ (saints) หรือคนที่มีธรรมชาติเป็นวีรชน (hero) ชอบช่วยเหลือผู้อ่อนแอกว่า หรืออุดมการณ์รองบ่อนเป็นประจำ ประเภททนเห็นอะไรไม่ถูกต้องเป็นไม่ได้ เข้าทำนองได้ยินเสียงปี่เสียงกลองต้องออกท่าออกทางทันที

หรือพวกคลั่งอุดมการณ์แบบสุดโต่ง (fanatics) รวมถึงคนวิกลจริต (mad) ด้วย!

ซึ่งเอลสเตอร์เห็นว่า คนกลุ่มนี้เหมาะจะเป็นผู้จุดชนวนการชุมนุมประท้วงที่สุด เพราะเป็นผู้ที่ไม่ได้ตัดสินใจ จากพื้นฐานของการคาดคะเนความเป็นไปได้ของผลลัพธ์ที่คาดหวัง และอาจไม่สนใจด้วยซ้ำว่าคนที่เข้าร่วมมีอยู่กี่คน

(ในทัศนะของผู้เขียน คนอีกพวกที่อาจจัดไว้ด้วยในกลุ่มนี้ได้แก่ คนหัวรั้น รวมทั้งพวกที่ชอบหลอกตัวเอง และมองโลกด้านเดียว)

เมื่อได้คนสองพวกนี้แล้ว การระดมมวลชนก็จะก้าวหน้าไปจนถึงขั้นต่อไปที่สามารถกระตุ้นให้คนที่มีแรงจูง ใจประเภทที่สาม นั่นคือ สามารถทำให้คนที่เห็นคนอื่นทำแล้วต้องทำตามเข้ามาร่วมวงด้วย

แรงจูงใจประเภทนี้อาจเกิดได้จากการเชื่อฟัง หรืออย่างน้อยก็เป็นพวกไม่อยากขัดบรรทัดฐานเรื่องความเป็นธรรม (norm of fairness) เช่น เมื่อเห็นคนอื่นๆ จำนวนมากกำลังเสียสละเพื่อประโยชน์ของสังคม แต่ตัวเองไม่ทำอะไรเลย ก็รู้สึกละอายใจ หรืออาจเกิดจากการเชื่อฟังหรือไม่กล้าขัดบรรทัดฐานของคนหมู่มาก เช่น กลัวว่า ถ้าคนอื่นเข้าร่วมการชุมนุมประท้วงกันหมด ซึ่งถ้าตัวเองไม่เข้าร่วม ก็อาจจะถูกอัปเปหิออกจากกลุ่มหรือเลิกคบ

คนที่อาจต้องเผชิญกับแรงกดดันประเภทนี้ก็เช่น คนที่ทำงานในที่ทำงานเดียวกัน หรืออยู่ในก๊วนแวดวงเดียวกัน เป็นต้น

เมื่อดำเนินมาถึงจุดนี้แล้ว เมื่อคนที่เข้าร่วมชุมนุมประท้วงมีจำนวนมากขึ้น มันก็จะนำไปสู่ขั้นที่จะสามารถดึงคนที่มีแรงจูงใจแบบที่สี่ให้เข้าร่วมด้วย คือ คนที่มาเพราะความสนุก หรือความมันส์ หรือต้องการปลุกจิตสำนึกทางสังคมของตน

ซึ่งสำหรับคนประเภทที่สี่นี้ แรงจูงใจทั้งหมดที่เข้าร่วม ล้วนแต่เป็นเรื่องของสิ่งที่อยู่ในกระบวนการการชุมนุม ไม่ใช่จุดประสงค์ของการชุมนุมประท้วงตั้งแต่ต้น (ทั้งนี้ ไม่นับพวกที่ขายอาหาร-น้ำดื่ม ฯลฯ และขายแผ่นพลาสติกรองนั่งในบริบทไทยๆ)

และท้ายที่สุด สำหรับปรากฏการณ์ที่เมื่อขนาดของกลุ่มผู้ชุมนุมใหญ่ขึ้น ก็ยิ่งมีแรงดึงดูดให้คนที่มีแรงจูงใจแตกต่างกัน เข้ามาร่วมมากขึ้น เป็นผลให้ขนาดของฝูงชนยิ่งใหญ่ขึ้นและมีพลังมากขึ้น เอลสเตอร์เรียกว่า ผลกระทบแบบลูกบอลหิมะ (snowball effect) ที่ระหว่างที่ลูกหิมะกลิ้งไปก็กวาดหิมะเข้ามาเพิ่มมากขึ้น จนยิ่งมีขนาดใหญ่ขึ้นสามารถทับคนตายและบ้านเรือนพังได้ในที่สุด!

ไม่รู้ว่า ที่ว่ามานี้จะเป็น "คัมภีร์ก่อม็อบ" หรือเป็นเพียง "สอนจระเข้ให้ว่ายน้ำ" สำหรับนักเคลื่อนไหวในบ้านเรา?




บทวิพากษ์ทฤษฎีการเลือกอย่างมีเหตุผลและ ทฤษฎีเกมของ Jon Elster (27)

คนแคระบนบ่ายักษ์ : แพทย์ พิจิตร  มติชนรายสัปดาห์  วันที่ 06 มิถุนายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 28 ฉบับที่ 1451

ในการอธิบายยุทธศาสตร์การก่อตัวของกลุ่มผู้ ชุมนุมประท้วงของ จอน เอลสเตอร์ ในคราวที่แล้ว ซึ่งแบ่งประเภทของผู้คนออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่

คนที่มีแรงจูงใจแบบแรก แบบที่เรียกว่า ประโยชน์นิยม หรือ คนที่เน้นทำเพื่อประโยชน์สูงสุดสำหรับส่วนรวม ซึ่งแบ่งได้อีกเป็นสองประเภทย่อย คือ พวกประโยชน์นิยมแบบพ่อพระ (selfless utilitarian) กับพวกประโยชน์นิยมเต็มรูปแบบ (full utilitarian)

คนที่มีแรงจูงใจแบบที่สอง ที่เอลสเตอร์เรียกว่า นักร่วมมืออย่างไม่มีเงื่อนไข (unconditional cooperators) ซึ่งได้แก่ คนอย่างนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนหรืออุดมการณ์สูงส่งต่างๆ ประเภทที่เป็นคล้ายกับพระหรือนักบุญ (saints) หรือคนที่มีธรรมชาติเป็นวีรชน (hero) ชอบช่วยเหลือผู้อ่อนแอกว่าหรืออุดมการณ์รองบ่อนเป็นประจำ ประเภททนเห็นอะไรไม่ถูกต้องเป็นไม่ได้ เข้าทำนองได้ยินเสียงปี่เสียงกลองต้องออกท่าออกทางทันที

หรือพวกคลั่งอุดมการณ์แบบสุดโต่ง (fanatics) รวมถึงคนวิกลจริต (mad) ด้วย!

คนที่มีแรงจูงใจประเภทที่สาม นั่นคือ สามารถทำให้คนที่เห็นคนอื่นทำแล้วต้องทำตามเข้ามาร่วมวงด้วย แรงจูงใจประเภทนี้อาจเกิดได้จากการเชื่อฟังหรืออย่างน้อยก็เป็นพวกไม่อยาก ขัดบรรทัดฐานเรื่องความเป็นธรรม (norm of fairness)

คนที่มีแรงจูงใจแบบที่สี่ให้เข้าร่วมด้วย คือ คนที่มาเพราะความสนุก หรือความมันส์ หรือต้องการปลุกจิตสำนึกทางสังคมของตน ซึ่งสำหรับคนประเภทที่สี่นี้ แรงจูงใจทั้งหมดที่เข้าร่วมล้วนแต่เป็นเรื่องของสิ่งที่อยู่ในกระบวนการการ ชุมนุม ไม่ใช่จุดประสงค์ของการชุมนุมประ ท้วงตั้งแต่ต้น (ทั้งนี้ไม่นับพวกที่ขายอาหาร-น้ำดื่ม ฯลฯ และขายแผ่นพลาสติกรองนั่งในบริบทไทยๆ)

และท้ายที่สุด สำหรับปรากฏการณ์ที่เมื่อขนาดของกลุ่มผู้ชุมนุมใหญ่ขึ้น ก็ยิ่งมีแรงดึงดูดให้คนที่มีแรงจูงใจแตกต่างกัน เข้ามาร่วมมากขึ้น เป็นผลให้ขนาดของฝูงชนยิ่งใหญ่ขึ้นและมีพลังมากขึ้น เอลสเตอร์เรียกว่า ผลกระทบแบบลูกบอลหิมะ (snowball effect) ที่ระหว่างที่ลูกหิมะกลิ้งไปก็กวาดหิมะเข้ามาเพิ่มมากขึ้น จนยิ่งมีขนาดใหญ่ขึ้นสามารถทับคนตายและบ้านเรือนพังได้ในที่สุด!

จากที่กล่าวมานี้ ผู้เขียนหวังว่า การอภิปรายความคิดเกี่ยวกับการก่อตัวของกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงของเอลสเตอร์ ในครั้งที่ผ่านมา คงจะช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจลักษณะความเป็นไปของกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงที่เคย เกิดขึ้นมามากขึ้น เช่น เหตุใดผู้นำการชุมนุมประท้วงจึงมักเชิดชูอุดมการณ์ที่สูงส่งบางอย่าง? ก็เพื่อกระตุ้นคนที่เป็นประเภทนักเคลื่อนไหวเพื่ออุดมการณ์ หรือ พวกยึดมั่นในอุดมการณ์อย่างเข้มแข็ง

หรือเหตุใดผู้นำการชุมนุมประท้วงจึงมักอ้างผล ประโยชน์ส่วนรวม จนเป็นเหตุให้หลายครั้งเกิดเหตุการณ์พิลึกพิลั่นว่า กลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงสองกลุ่มที่ขัดแย้งกัน ต่างอ้างว่าทำเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมด้วยกันทั้งคู่ ทั้งนี้ก็เพื่อกระตุ้นผู้คนที่มีแนวคิดในแบบประโยชน์นิยมนั่นเอง

หรือเหตุใดเวทีการชุมนุมประท้วงจึงต้องมีการ แสดงเช่น ร้องเพลง งิ้ว ฯลฯ? คำตอบก็คือ เพื่อกระตุ้นประเภทของคน ที่จะมาเพราะความบันเทิงสนุกสนาน เช่น เราอาจเคยได้ยินว่า คนไทยจะทำอะไรต้องมีความสนุก มีอาหารกิน หรือไม่ก็ คนไทยชอบดูคนตีกัน เป็นต้น

หรือบางครั้ง เหตุใดบางกลุ่มชุมนุมประท้วงจึงต้องนำโดยพระสงฆ์หรือผู้เคร่งศีล (เช่น การนำโดย "กองทัพธรรม" ในกรณีของพันธมิตรฯ)? และทำไมคนที่ไปร่วมชุมนุมเดียวกัน มีหลายคนที่มาจากที่ทำงาน (เป็นกรณีสากลทั่วไป) หรือเป็นสมาชิกฟิตเนสแห่งเดียวกัน? (ในกรณีนี้ มักจะเป็นของฝรั่ง) ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องบรรทัดฐานเรื่องความเป็นธรรม หรือบรรทัดฐานของคนหมู่มากนั่นเอง

แต่ส่วนกรณีที่เอลสเตอร์น่าจะจนปัญญาตอบไม่ได้ จริงๆ ก็คือ ทำไมจึงยังมีการกล่าวหาว่าผู้ไปร่วมชุมนุมบางกลุ่มไปเพราะถูกจ้างวานหรือรับ เงินอยู่อีก? ซึ่งก็บอกไปหลายครั้งแล้วว่า คนมีเหตุผลสำหรับเอลสเตอร์ซื้อไม่ได้ด้วยเงิน

แต่สำหรับคนบางกลุ่มในสังคมไทย คงเข้าข่ายเป็นข้อยกเว้นทางทฤษฎีสำหรับเอลสเตอร์ เพราะเท่าที่ทราบมาว่า ในการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในวันอาทิตย์ที่ 25 พฤษภาคมที่ผ่านมานั้น บรรดาผู้ร่วมชุมนุมฝ่ายพันธมิตรที่ถูกฝ่ายอะไรก็ไม่รู้กุ้มรุมทำร้าย และถูกตะคอกก่อนจะเจ็บตัวว่า "พวกมึงรักชาติดีนัก ตายเสียให้หมดก็ดี!"

ทำให้ต้องเก็บมาขบคิดตีความว่า ถ้าทั้งสองฝ่ายต่างอ้างเรื่องผลประโยชน์ส่วนรวมหรือ "ทำเพื่อชาติ" ทั้งคู่ คำกล่าวนี้ก็ไม่น่าจะมาจากปากของฝ่ายที่คิดว่าตัวเองก็รักชาติเหมือนกัน มันคล้ายกับอาการหมั่นไส้ ในความรักชาติโดยไม่เน้นผลประโยชน์ส่วนตัวมากกว่า

พูดง่ายๆ ก็คือ เป็นไปได้ว่า ฝ่ายอะไรก็ไม่รู้นั้น รับเงินมาจัดตั้งม๊อบและหาทางใช้ความรุนแรง และคิดว่า การทำอะไรเพื่อเงินและผลประโยชน์ของตนนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องจริงๆ

แต่กระนั้น ภาพที่ประจักษ์ให้เห็นกับตาของตัวเองว่า ฝ่ายพันธมิตรส่วนใหญ่นั้น ดูแล้ว ก็ไม่เหมือนจะรับจ้างมา ส่วนใหญ่มาเป็นครอบครัว เพื่อนฝูง บ้างอุ้มลูกจูงเล็กมาด้วย บางรายมาเป็นครอบครัวใหญ่ ตั้งแต่ปู่อายุ 70 จนถึงหลานอายุไม่กี่ขวบ (ที่แถมยังรู้ความเสียด้วยว่ามาทำอะไรกัน?!)

แต่กระนั้น ก็มีคนบอกผู้เขียนว่า ไม่จำเป็นที่ฝ่ายอะไรก็ไม่รู้นั้นจะถูกจ้างวานมา แต่ที่พวกเขาตะคอกไปแบบนั้น ก็เพราะเป็นคนพูดไม่เก่ง มีความจำกัดในภาษาและศัพท์แสง ถ้าจำกัดขนาดนั้น พูดอะไรออกมาได้แค่นั้น ก็น่าคิดว่า จะคิดอะไรในเชิงอุดมการณ์และผลประโยชน์ส่วนรวมได้ขนาดไหน!

หรือไม่ก็ถูกจ้างให้พูดคำนั้นออกมา เพื่อจะได้ขู่ให้คนที่มาเพราะ "รักชาติ" เกิดรักตัวกลัวเจ็บตัวด้วยน้ำมือของพวกเขา

อย่างไรก็ตาม กลับมาที่ทฤษฎีของ จอน เอลสเตอร์ กันดีกว่า เราจะเห็นได้ว่า ลักษณะประการหนึ่งของ จอน เอลสเตอร์ ที่น่าจะเป็นเรื่องดีมาก หากปรากฏในนักวิชาการบ้านเราด้วย ก็คือ เมื่อเขารับทฤษฎีหนึ่งๆ มาใช้ ตัวเอลสเตอร์เองก็สามารถให้คุณูปการบางอย่างเพิ่ม แก่ทฤษฎีที่ว่านั้นด้วย ทำให้มันสามารถแตกกิ่งก้านสาขาออกไปได้อีกมาก

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คือ ทฤษฎีการเลือกอย่างมีเหตุผล ที่ในปัจจุบันไม่มีใครสามารถพูดถึงทฤษฎีนี้ได้ โดยไม่พูดถึงความคิดของเอลสเตอร์ ส่วนอีกตัวอย่างหนึ่งก็คือทฤษฎีเกม (game theory) ที่เอลสเตอร์เองก็รับมาใช้ค่อนข้างมากเช่นกัน

ความแตกต่างระหว่างทฤษฎีการเลือกอย่างมีเหตุผล ที่ผ่านมือเอลสเตอร์แล้วกับทฤษฎีเกมอยู่ตรงที่ว่า ทฤษฎีเกมพูดถึง การตัดสินใจของคนมีเหตุผลในสภาพแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ (strategic environment) ที่มีลักษณะสองประการ คือ

ประการที่หนึ่ง การกระทำ (action) ของคนแต่ละคนขึ้นอยู่กับการกระทำของคนอื่นๆ เช่น ผู้ทำธุรกิจทีวีดาวเทียมเจ้าใหม่อย่าง นาย ก. ติดต่อขอฮั้วกับเจ้าของตลาดเก่าอย่าง นาย ข. เพราะนาย ก. รู้ว่าถ้าไม่ทำแบบนั้น นาย ข. ซึ่งหวงตลาดราวกับงูหวงไข่คงต้องเล่นงานตนด้วยกลยุทธราคาหรือสายส่งเพื่อบีบ ให้ตนต้องแพ้และออกจากตลาดไปแน่ และ

ประการที่สอง รางวัล (reward) ที่จะเกิดขึ้นสำหรับการกระทำของแต่ละคนนั้นต้องขึ้นกับการกระทำของคนทุกคน หรือโดยส่วนใหญ่เท่านั้น หรือที่เรียกว่า "collective action" เช่น การแก้ปัญหาโลกร้อน หรือการแก้ปัญหาความมั่นคงด้านพลังงานและอาหารที่ได้เคยกล่าวไปบ้างแล้วว่า จะได้ผลก็ต่อเมื่อทุกคนร่วมมือกัน ไม่ใช่คนครึ่งหนึ่งร่วมมือโดยยอมเข้าเนื้อ แต่คนอีกครึ่งหนึ่งยังดื้อด้านทำเพื่อประโยชน์ของตนเองอยู่

ส่วนทฤษฎีของเอลสเตอร์ที่จะพูดต่อไปในคราวหน้า เป็นอีกทฤษฎีหนึ่งของเขาที่นักวิชา การไทยมักรู้จักมักจี่กันแต่ชื่อ เพราะชื่อทฤษฎีดังกล่าวนี้เป็นชื่อหนังสือของเขาด้วย นั่นคือ ทฤษฎีองุ่นเปรี้ยว (sour grapes) ในหนังสือชื่อ Sour Grapes: Studies in the Subversion of Rationality (Cambridge:1983) ที่ผู้เขียนได้เคยเกริ่นไว้ตั้งแต่เดือนก่อนโน้น สิ่งที่น่าสนใจในทฤษฎีองุ่นเปรี้ยวนี้คือ เอลสเตอร์ได้ชี้ให้เห็นว่า ยังมีวิธีการตัดสินใจหรือแรงจูงใจในการตัดสินใจของคนอีกสองลักษณะที่ทฤษฎี เกมอันยิ่งใหญ่คิดไม่ถึง

จะเป็นอย่างไร โปรดติดตามต่อไป




บทวิพากษ์ทฤษฎีการเลือกอย่างมีเหตุผลและ ทฤษฎีเกมของ Jon Elster (28)

คนแคระบนบ่ายักษ์ : แพทย์ พิจิตร  มติชนรายสัปดาห์  วันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 28 ฉบับที่ 1452

ทฤษฎีของจอน เอลสเตอร์ (Jon Elster) ที่จะกล่าวถึงในครั้งนี้คือ ทฤษฎีองุ่นเปรี้ยว ซึ่งมาจากหนังสือ Sour Grapes: Studies in the Subversion of Rationality (Cambridge:1983) ของเขา ท่านผู้อ่านบางคนคงจำได้ว่า ผู้เขียนได้ติดค้างมาหลายสัปดาห์แล้ว โดยในทฤษฎีองุ่นเปรี้ยวนี้ เอลสเตอร์ชี้ว่า การตัดสินใจของคนยังมีลักษณะอื่นๆ อีกสองแบบที่ทฤษฎี เกมไม่ได้พูดไว้ นั่นคือ การตัดสินใจภายใต้เงื่อนไขที่ว่า ผลตอบแทนหรือรางวัลที่คนคนหนึ่งจะได้รับนั้น อาจขึ้นอยู่กับผลตอบแทนหรือรางวัลที่คนอื่นๆ หรือทุกคนได้รับด้วย

คนที่จะตัดสินใจแบบนี้มีได้ 2 แบบ นั่นคือ มีได้ทั้งที่เป็นคนชอบเสียสละเพื่อความสุขของผู้อื่น (altruist) หรือไม่ก็เป็นคนขี้อิจฉาแบบทนเห็นคนอื่นได้ดีไม่ได้ และสะใจเวลาเห็นคนอื่นเป็นทุกข์ (envy & spite)

คนที่เคยอ่านนิยายหรือดูภาพยนตร์เรื่อง One Flew Over the Cuckoo"s Nest ของ Ken Kesey คงพอนึกภาพออก ที่ตัวเอกของเรื่องคือ McMurphy (นำแสดงโดย แจ๊ก นิโคลสัน) ยอมทำทุกอย่างเพื่อโค่นล้มหัวหน้านางพยาบาลใหญ่ (the Big Nurse) ของแผนกคนไข้โรคจิตที่เป็นตัวแทนแห่งอำนาจ

ทั้งๆ ที่ McMurphy รู้ว่าทำแบบนั้นแล้วตนจะต้องพบจุดจบอย่างน่าอนาถ แต่ก็ยังทำ ก็ด้วยความรู้สึกสองอย่างคือ อยากปลดปล่อยเพื่อนคนไข้โรคจิตของตนให้เป็นอิสระ และขณะเดียวกัน ก็เกลียดชังนางพยาบาลใหญ่อย่างเข้ากระดูกดำ และทนเห็นหล่อนเป็นผู้ชนะในขั้นสุดท้ายไม่ได้

เอลสเตอร์เห็นว่า กรณีข้างต้นนี้ ไม่สามารถอธิบายด้วยทฤษฎีเกมทั้งแบบคลาสสิคของ จอห์น ฟอน นิวแมน (John Von Neumann) และแบบยุทธศาสตร์การต่อรองของ โทมัส เชลลิ่ง (Thomas Schelling) ได้ เพราะพระเอกทำในสิ่งที่คนมีเหตุผลปรกติจะไม่ทำ นั่นคือ ยอมทำลายตัวเองเพื่อให้อีกฝ่ายหนึ่งตายตกไปตามกัน

(เน้นว่าทำจริงๆ ไม่ใช่แค่ขู่ เพราะถ้าเป็นแค่การขู่ ทฤษฎีเกมยังสามารถอธิบายได้อยู่!)

จากกรณีของ McMurphy หลายคนย่อมฟันธงลงไปว่า วิธีคิดตัดสินใจของเขานั้นเข้าข่าย การตัดสินใจภายใต้เงื่อนไขที่ว่า "ผลตอบแทนหรือรางวัลที่คนคนหนึ่งจะได้รับนั้นอาจขึ้นอยู่กับผลตอบแทนหรือ รางวัลที่คนอื่นๆ หรือทุกคนได้รับด้วย"

แต่กระนั้น ก่อนที่จะสรุปเช่นนั้น ตัวอย่างของ โฮเวิร์ด เรย์ฟ่า (Howard Raiffa) ก็อาจทำให้หลายคนต้องคิดมากกว่าที่คิดอยู่!

โฮเวิร์ด เรย์ฟ่า (Howard Raiffa) ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ให้กำเนิดทฤษฎีเกม ได้กล่าวถึงเกมประเภทหนึ่ง ที่เขาเคยเล่นกับเพื่อนสองคนสมัยเรียนมหาวิทยาลัย เขาตั้งชื่อเกมนี้ว่า "Escalation Game"

วิธีเล่นเป็นดังนี้ คือ ให้ผู้เล่นสองคนแข่งกันให้ราคา (พูดง่ายๆ คือ ประมูล) รางวัลคือธนบัตรมูลค่า 100 ดอลลาร์หนึ่งใบ โดยใครที่ให้ราคาสูงกว่าอีกคนหนึ่ง ก็จะได้รางวัลที่ว่าไป (หลังหักจำนวนเงินที่ประมูลไปแล้ว) ผู้เล่นทั้งคู่มีสิทธิให้ราคาแข่งกันไปเรื่อยๆ จนกว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะถึงจุดที่สู้ต่อไม่ไหวและขอถอนตัว

ยกตัวอย่าง ผู้เล่นคนแรกอาจเริ่มต้นให้ราคา 10 ดอลลาร์ และผู้เล่นคนที่สองให้ราคาเพิ่มเป็น 20 ซึ่งถ้าผู้เล่นคนแรกยังอยากสู้ต่อ ก็ให้ราคาใหม่ที่สูงกว่า 20 บาท แต่ถ้าไม่อยากสู้แล้ว ก็ถอนตัวไป ผู้เล่นคนที่สองก็จะเป็นผู้ชนะ

เรย์ฟ่าเล่าว่า ผลลัพธ์ที่ออกมาของเกมนี้ทำให้เขาถึงกับอึ้ง!

เนื่องจากผู้เล่นทั้งสองรายที่เป็นเพื่อนของเขา เองนั้น ต่างแข่งกันประมูลธนบัตร 100 ดอลลาร์ใบนั้นอย่างเอาเป็นเอาตาย จนราคาขึ้นไปสูงถึง 310 ดอลลาร์ นั่นคือ เกินราคาของธนบัตรไปนั้นไปแล้วสองเท่าตัวนิดๆ ทั้งคู่มุ่งมั่นจะเอาชนะกันและกันมากเสียจนเรย์ฟ่าเห็นท่าไม่ดี จึงเสนอให้ยุติและเก็บเงินจากเพื่อนคนละ 200 ดอลลาร์เป็นค่าประมูลแทน!

เรย์ฟ่าเล่าว่า เพื่อนทั้งคู่ท่าทางฉุนสุดขีด ไม่ใช่เพราะถูกเก็บเงินจริง แต่เพราะถูกขัดจังหวะขณะที่ยังไม่ทันรู้แพ้รู้ชนะ

หลายคนคงงงว่า เรย์ฟ่ามีสิทธิและมีเหตุผลอะไรที่ไปเรียกเก็บเงินจากเพื่อนมาคนละ 200 ดอลลาร์ ทั้งๆ ที่ตัวเรย์ฟ่าเป็นคนไปยุติการประมูลเอง การเรียกเก็บเงิน 200 นี้ ก็เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงต้นทุนจริงที่ย่อมจะต้องเกิดขึ้นในการทำอะไรก็ตาม เพื่อแข่งขันกันที่จะชิงของที่เป็นเป้าหมาย

สมมติว่า เปลี่ยนโจทย์จากธนบัตรใบละ 100 เป็นหญิงสาวสวยคนหนึ่ง ที่บิดาประกาศไปว่า ชายคนใดที่สามารถยกของได้หนักที่สุด จะได้ลูกสาวของเขาเป็นศรีภริยา ปรากฏว่า ทั้งหนุ่มทั้งแก่ต่างเข้ามาแข่งขันกันยกของที่มีน้ำหนักมากขึ้นเรื่อยๆ และไม่มีใครยอมกัน

จนกระทั่งในที่สุด คนที่ยกได้หนักที่สุดหลังเสีย (แม้จะได้สาวเจ้ามาเป็นภริยา แต่ก็ไม่สามารถเชยชมนางได้เหมือนคู่ผัวตัวเมียปรกติ) ส่วนคนที่รองลงมาก็หลังหัก (ไม่ได้อะไร แถมยังหลังหัก พิการไปตลอดชีวิต)

การที่เรย์ฟ่าเก็บเงินจากเพื่อนก็เพื่อจะชี้ให้ เห็นถึงต้นทุน (cost) ที่จะต้องเกิดขึ้นจริง ไม่ใช่ประมูลด้วยลมปาก เพราะถ้าประมูลกันด้วยลมปาก อีตาพ่อก็คงไม่มีวันยกลูกสาวให้จริงๆ เช่นกัน หรือไม่ก็ไม่รู้จะยกให้ใคร เพราะทุกคนสามารถประมูลด้วยลมปากกันไปถึงนับไม่ถ้วนอสงไขย

นอกจากนี้ การที่เรย์ฟ่าต้องยุติการประมูล เพราะเขาเห็นว่า การแข่งขันประมูลของเพื่อนทั้งสองของเขานั้น มันไร้เหตุผลเสียหายกันไปใหญ่ ถ้าย้อนกลับมาในกรณีของการแข่งขันยกน้ำหนักชิงลูกสาว ตัวพ่ออาจเห็นว่า คู่แข่งขันที่เหลือทั้งสองนั้น มันไม่ไหวกันทั้งคู่แล้ว และถ้าไม่เลิก ก็คงตายหรือพิการแน่ ลูกสาวตนก็ไม่รู้จะเอาชายพิการไปทำผัวทำไม ตัวพ่อจึงยุติการแข่งขัน แต่ไม่ต้องเก็บเงินจากบรรดาชายที่เข้าแข่งขัน เพราะผู้เข้าแข่งขันต่างก็ต้อง "ลงแรง" กันไปแล้ว

ต่อมา เรย์ฟ่าก็ได้ทดลองเกมนี้กับนักศึกษาอีกจำนวนมากและพบว่า ราคาประมูลส่วนใหญ่ขึ้นไปถึง 130 หรือ 140 ซึ่งเกมที่ว่านี้เป็นที่รู้จักกันในหมู่นักทฤษฎีเกมในชื่อที่ว่า "เกมกับดัก" (entrapment game) หรือ "เกมคนโง่" โดยคนที่ถูกชวนเล่นเองก็รู้ว่าเกมนี้เป็นกับดัก และถ้าจะให้ดีแล้วไม่ควรเล่นเลยตั้งแต่ต้น

แต่หลายคนก็ยังอดเผลอใจไม่ได้

เพราะลึกๆ ก็แอบลุ้นว่าอีกฝ่ายจะมีเหตุผลและถอนตัวไปก่อน (เช่น ตั้งแต่ที่ราคา 80) ทำให้คนที่เล่นต่อยังมีโอกาสได้กำไรบ้าง

แต่ถ้าคิดแบบนี้ ต่างก็คิดกันได้ทั้งคู่ ผลก็คือไม่มีใครยอมใครจนราคาทะลุ 100 ไปและทำให้ทั้งคู่หมดโอกาสทำกำไร

การแข่งขันต่อจากนี้ จึงอาจไม่ใช่เรื่องทำกำไรอีกต่อไป แต่กลายเป็นเรื่องความแค้นแทนประเภทว่า "อ๋อ อยากชนะนักใช่มั้ย งั้นก็ได้ ฉันจะเอาแกให้หมดตัว!"

ผลน่ะหรือ? ก็ต่างคนต่างเข้าเนื้อแถมพาลจะเสียเพื่อนอีก และคนชนะในที่สุดก็หนีไม่พ้นคนที่กระเป๋าหนักกว่า ที่สามารถทุ่มเงินได้โดยขนหน้าแข้งร่วงน้อยกว่า

จากกรณีดังกล่าว ถ้าพูดแบบเอลสเตอร์ก็คือ เมื่อราคาประมูลพุ่งสูงเกิน 100 ไปแล้ว รางวัลของผู้เล่นทั้งสองคนจะไม่ได้อยู่ที่ประโยชน์สูงสุดของตนในรูปตัวเงิน อีกแล้ว แต่คือการพยายามเอาชนะเพื่อให้อีกฝ่าย "เจ็บ" โทษฐานที่ไม่ยอมแพ้ดีๆ ตั้งแต่แรก ซึ่งเท่ากับว่า ในกรณีนี้ เป้าหมายของการเอาชนะไม่ได้มาจากความสุขที่ได้ชนะ เท่ากับมาจากความสะใจที่อีกฝ่ายแพ้

ซึ่งการต่อสู้ของ McMurphy ก็อาจจะเข้าข่ายนี้ด้วยก็เป็นได้!?

จําได้ว่า ตอนสมัยประถม 2 ผู้เขียนเองเคยตกอยู่ในสถานการณ์คล้ายที่ว่าแต่ไม่เหมือนเสียทีเดียว ในการประมูลซื้อจิ้งหรีดตัวหนึ่ง โดยเริ่มจาก 1 บาทไปจนถึง 20 บาท ทั้งๆ ที่มีเงินในกระเป๋าเพียง 1 บาท แต่เนื่องจากผู้เขียนได้เงินค่าขนมวันละ 2 บาท จึงคาดว่า ถ้าทุ่มถึง 2 บาท ก็น่าจะชนะ แต่ปรากฏว่า มีเพื่อนอีกคนหนึ่งก็สู้ตายเหมือนกัน (ซึ่งไม่รู้ว่ามันเตี๊ยมกันกับเจ้าของจิ้งหรีดหรือเปล่าก็ไม่รู้?)

ในที่สุด เมื่อถึง 20 บาท ผู้เขียนก็ชนะ อิ่มใจหน้าใหญ่อยู่สองวินาทีแต่ก็หน้าซีดลงทันที หลังจากที่เจ้าของจิ้งหรีดคาดคั้นว่าจะต้องเอาเงินมาให้มันวันรุ่งขึ้น โดยมันเก็บ 1 บาทไปแล้วในวันนั้น

ในที่สุด เรื่องก็จบลงด้วยการที่ผู้ปกครองของผู้เขียนมาสลายพันธะสัญญาที่โรงเรียน และครูก็สั่งห้ามไม่ให้ประมูลอะไรแบบนี้อีก และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตัวเจ้าของจิ้งหรีด ซึ่งมีลักษณะรู้มากและเป็นนักเลงในห้องถูกเพ่งเล็งจากครูเป็นพิเศษ แต่ครูก็เอาผิดอะไรกับมันไม่ได้ เพราะมันบอกว่า มันไม่ได้บังคับใครให้ซื้อ

แถมมันยังบอกว่า มันเป็นคนช่วยยุติให้ราคาอยู่ที่ 20 บาทด้วย มิฉะนั้นแล้ว ผู้เขียนคงเป็นหนี้มันถึงร้อยบาทแน่

(แสบเจ้าเล่ห์ตั้งแต่เล็ก ไอ้หมอนี่! ส่วนตัวผู้เขียน ก็เป็นอย่างอื่นใดไม่ได้ นอกจากโง่มาตั้งแต่เล็กนั่นเอง)

ด้วยเหตุนี้เองที่นักปรัชญาการเมืองชื่อก้องบาง รายถึงย้ำนักย้ำหนาว่า พลเมืองในสังคมที่แสวงหาเสรีภาพและความเสมอภาค ควรเป็นผู้ที่สนใจแต่ประโยชน์ของตัวเองเป็นหลัก และไม่ควรสนใจประโยชน์ของชาวบ้านมากนัก เพราะเราไม่สามารถมีหลักประกันว่า ถ้ายินยอมให้ประโยชน์ของคนอื่นเข้ามาเป็นข้อพิจารณาด้วยแล้ว มันจะมาในแบบหวังดี (altruism) หรือมุ่งร้าย (envy & spite) กันแน่!

ว่าแต่การเมืองบ้านเราขณะนี้ มีใครกำลังเล่น "เกมกับดัก" ที่เรย์ฟ่าพูดถึงอยู่หรือเปล่า? และจะสู้กันไปถึงแค่ไหน? ต้นทุน รางวัล มันคุ้มกันหรือไม่? มันวัดกันยากมาก

ฝ่ายหนึ่งคือ ทักษิณต้องขึ้นศาล (ความยุติธรรมในสังคมการเมือง-นามธรรมมาก แต่ก็มีค่ายิ่งสำหรับคนกลุ่มหนึ่ง)

อีกฝ่ายหนึ่ง ทักษิณไม่ต้องขึ้นศาล (ความอยู่รอด-อำนาจและอิทธิพล ผลประโยชน์ ไม่นามธรรมเท่าไร และก็มีค่าสำหรับคนบางกลุ่ม)

หากใกล้หายนะกันหมด "ใคร" คือ ผู้จะมายุติการต่อสู้นี้?




บทวิพากษ์ทฤษฎีการเลือกอย่างมีเหตุผลและ ทฤษฎีเกมของ Jon Elster (29)

คนแคระบนบ่ายักษ์ : แพทย์ พิจิตร  มติชนรายสัปดาห์  วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 28 ฉบับที่ 1453

ต่อจากคราวที่แล้ว ได้กล่าวถึงทฤษฎี Sour Grapes: Studies in the Subversion of Rationality (Cambridge:1983) ของ จอน เอลสเตอร์ (Jon Elster) หรือทฤษฎีองุ่นเปรี้ยว ที่เอลสเตอร์ชี้ให้เห็นว่า การตัดสินใจของคนยังมีลักษณะอื่นๆ อีกสองแบบที่ทฤษฎีเกมไม่ได้พูดไว้ นั่นคือ นอกจากการตัดสินใจในแบบที่ "ผลตอบแทนหรือรางวัลที่คนคนหนึ่งจะได้รับนั้น อาจขึ้นอยู่กับผลตอบแทนหรือรางวัลที่คนอื่นๆ หรือทุกคนได้รับด้วยแล้ว" การตัดสินใจของคนเรายังมีลักษณะอีกแบบหนึ่ง

นั่นคือ แบบที่ "สิ่งที่แต่ละคนอยากได้หรืออยากทำ (desires) ขึ้นอยู่กับการกระทำของคนอื่น หรือทุกคนในสังคมที่กำหนดโอกาสในการได้หรือทำสิ่งนั้นของเขาด้วย"

ที่ผ่านมาเราได้เห็นแล้วว่า ความอิจฉาของคนหนึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อสิ่งที่อีกคนหนึ่งได้รับ และ อมาตยา เซ็น (Amartya Sen) นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล และ ไบรอัน แบร์รี่ (Brian Barry) ศาสตราจารย์ด้านปรัชญาการเมือง (California Institute of Technology ในขณะนั้น ต่อมาเป็น Lieber Professor Emeritus of Political Philosophy ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย และ Professor Emeritus of Political Science ที่ the London School of Economics) ก็ได้ช่วยกันพูดไว้ถึง "ความพอใจชนิดจุ้นเรื่องชาวบ้าน" (nosy preference)

ที่ดูคล้ายจะเป็นความ หวังดีแบบหนึ่ง แต่จริงๆ แล้ว คือ ความหวังดีที่ไม่ได้รับเชิญ ที่ทำให้เหยื่อผู้ได้รับความหวังดีต้องถูกปิดโอกาสในการแสวงหาความสุขความพอ ใจตามแบบของเขา เช่น

นาย ก. ผู้มีศีลธรรมจัดทนไม่ได้ที่เห็นนาย ข. ผู้เสเพลนั่งอ่านนิยายลามกทั้งวี่ทั้งวัน นาย ก. เลยต้องการให้รัฐออกกฎหมายมาหยุดพฤติกรรมของ นาย ข. จึงเลือก ส.ส. เข้าไปออกกฎหมายเซ็นเซอร์หนังสือลามกทุกชนิด ทำให้ นาย ข. หมดโอกาสหาความสุขด้วยวิธีแบบเดิมๆ ได้อีกต่อไป

แต่กรณีที่เอลสเตอร์พูดถึงนี้แตกต่างออกไป เนื่องจากไม่ใช่เรื่องการกระทำของ นาย ก. ต่อนาย ข. เท่ากับเป็นเรื่องของปฏิกิริยาทางจิตวิทยาของ นาย ข. ที่เกิดจากถูกกระทำจาก นาย ก. หรือคนอื่นๆ ที่เป็นไปในแบบที่เอลสเตอร์เรียกว่า องุ่นเปรี้ยว (sour grapes) หรือชื่อเป็นวิชาการคือ adaptive preference หรือการที่ นาย ก. ปรับเปลี่ยนความพอใจของตนไปตามโอกาสที่เขามี ซึ่งถูกกำหนดจากพฤติกรรมของ นาย ก. หรือคนอื่นๆ ในสังคม

คงทราบกันดีว่า คำว่า "องุ่นเปรี้ยว" นี้มาจากนิทานอีสป ที่เล่าถึงสุนัขจิ้งจอกที่เดินผ่านไปเห็นพวงองุ่นน่ากินบนต้นไม้ และรู้สึกอยากกินแต่รู้แน่ว่า มันไม่มีทางปีนขึ้นไปเอามากินได้และไม่ต้องการรู้สึกไม่ดีกับสภาพการณ์ดัง กล่าวของตน เลยทำให้มันสร้างกลไกทางความคิดขึ้นมา บอกตัวเองหรือกล่อมจนตัวเองเชื่อว่า องุ่นพวงนั้นมีรสเปรี้ยวและกินไม่อร่อยจริงๆ เพื่อที่ตัวเองจะได้ไม่ต้องรู้สึกเสียดายที่ต้องอดกิน ทั้งที่จริงๆ ถ้าสถานการณ์เปลี่ยนและองุ่นนั้นอยู่ในวิสัยที่มันจะกินได้ สุนัขจิ้งจอกก็คงจะเอามากินไปแล้ว

ปัญหาจึงอยู่ที่ว่า สุนัขจิ้งจอกคิดว่าองุ่นเปรี้ยว ก็เพราะมันไม่มีโอกาสจะกินองุ่นนั้นต่างหาก

เอลสเตอร์อธิบายว่า กล่าวโดยรวมๆ "องุ่นเปรี้ยว" เป็นปฏิกิริยาที่คนบางคนมีเมื่อเผชิญกับความไม่ลงรอยด้านการรับรู้ (cognitive dissonance) คำว่าความไม่ลงรอยด้านการรับรู้นี้ถูกใช้ครั้งแรกโดย ลีออง เฟสทินเจอร์ (Leon Festinger) ผู้เสนอว่า เมื่อใดก็ตาม ที่คนเรามีการรับรู้ในบางเรื่องที่ขัดแย้งกัน เราจะเกิดความเครียด และเรามักขจัดความเครียดนี้โดยการทิ้งการรับรู้อันใดอันหนึ่งไปเพื่อให้จิต ใจกลับมาสบายเหมือนเดิม

เราจะสามารถเข้าใจเรื่องนี้ได้ดีขึ้น โดยการตระหนักว่า จริงๆ แล้ว คนเรานั้นรับรู้สิ่งรอบตัวผ่านทางหลายทาง เช่น ผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้า ทางความคิด ความเข้าใจ และคนเรายังมีความหวัง ความต้องการ ความกลัวสารพัด และสิ่งเหล่านี้ที่ประกอบขึ้นเป็นจิตใจมนุษย์ในแต่ละช่วงเวลาอาจลงรอยหรือ ขัดแย้งกันก็ได้ ยกตัวอย่าง สิ่งที่เราหวังให้เป็นหรือหวังให้เกิดขึ้น อาจขัดแย้งกับความเชื่อลึกๆ ในใจเราที่รู้ว่าสิ่งนั้นเป็นไปไม่ได้

ซึ่งเอลสเตอร์ได้นำประเด็นนี้มาขยายความต่อใน ทฤษฎีของเขาเพื่อดูว่า ในกรณีที่ความหวัง หรือความอยากให้เป็นในเรื่องหนึ่งของคนคนหนึ่งเกิดขัดแย้งกับความเชื่อหรือ ความเข้าใจของเขา คนคนนั้นจะทำอย่างไรได้บ้าง?

ยกตัวอย่าง นาย ก. อยากให้ลูกชายสุดสวาทของตนเป็นคนดี แต่เมื่อดูจากพฤติกรรมแล้วก็ออกจะเชื่ออยู่ว่าลูกชายคนนี้ "นรกส่งมาเกิด" เอลสเตอร์ชี้ว่า ปฏิกิริยาของ นาย ก. อาจเป็นได้ 5 แบบคือ 1) พยายามเปลี่ยนโลกเพื่อให้ความหวังนั้นเป็นจริง เช่น จับลูกชายบวชเพื่อให้เรียนรู้พระธรรมจนกว่าจะยอมเปลี่ยนนิสัย 2) ยอมรับและเชื่อว่าลูกชายของตนนั้น "นรกส่งมาเกิด" จริงๆ และพยายามจัดการไปตามที่เห็นจะสมควร

3) หลอกตัวเองจนเชื่อว่าลูกชายสุดสวาทเป็นคนดีจริงๆ เช่น เอาภาพสมัยลูกยังเป็นเด็กฉี่รดผ้าอ้อมมานั่งดู และบอกตัวเองว่าลูกฉันไร้เดียงสาจะตาย เด็กน่ารักแบบนี้ไม่มีวันทำร้ายใครได้หรอก 4) เปลี่ยนความหวังโดยเลิกหวัง ให้ลูกชายเป็นคนดี

และสุดท้ายคือ 5) เปลี่ยนความหวังโดยนอกจากจะเลิกหวังให้ลูกเป็นคนดีแล้ว ยังหวังให้ลูกเป็นคนเลวมากขึ้นแทน โดยหลอกตัวเองว่า คนเลวนี่แหละคือ คนฉลาด แน่ เก่ง เพื่อปลอบใจตัวเอง

และปฏิกิริยาแบบที่ 5 นี่เองที่เอลสเตอร์เรียกว่า "องุ่นเปรี้ยว" ขอให้สังเกตว่าปฏิกิริยาชนิดนี้ต่างจากแบบที่ 1, 2 และ 4 ซึ่งมีลักษณะของการยอมรับความจริง และคล้ายกับแบบที่ 3 ตรงที่เป็นการหลอกตัวเองด้วยกันทั้งคู่

กล่าวคือ แบบที่ 3 คือการหลอกตัวเองให้เชื่อแต่เฉพาะในสิ่งที่ตนหวังให้เป็นจริงเท่านั้น ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า wishful thinking ส่วนแบบที่ 5 คือการหลอกตัวเองให้เกลียดในสิ่งที่ไม่มีวันได้มาครอบครอง หรือพูดเพราะๆ คือ เกลียดสิ่งที่อยู่นอกชุดทางเลือกที่เป็นไปได้ของตน (feasible set of options)

ซึ่งทั้งสองแบบนี้ เอลสเตอร์เชื่อว่า เป็นวิธีที่ "ไม่ฉลาด" และอาจก่อให้เกิดผลเสียในระยะยาวทั้งต่อตนเองและสังคมได้

มีบางกรณีที่ดูเผินๆ อาจคล้าย "องุ่นเปรี้ยว" แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ ได้แก่

1. คนหนึ่งสมัครใจไปอยู่ในสถานการณ์ที่ทำให้ตนหมดโอกาสทำบางสิ่งเพื่อหวังผลที่ ดีกว่าหรือใหญ่กว่า ซึ่งก็คือ pre-commitment นั่นเอง เช่น นาย ก. เป็นมนุษย์เงินเดือนที่ยอมทำงานหนักจนไม่มีโอกาสเที่ยวเตร่หาความสุขใน วันนี้ เพื่อเก็บเงินก้อนใหญ่สำหรับไปเที่ยวทั่วโลกในวัยสี่สิบ แบบนี้ไม่ใช่องุ่นเปรี้ยว

2. นาย ก. ตอนแรกไม่สนตำแหน่งอธิบดี แต่พอ นาย ข. ที่เป็นคู่แข่งได้ตำแหน่งนี้ไปก็โกรธ กรณีนี้เข้าข่าย counter-adaptive preference คือ ยิ่งไม่มีโอกาส ยิ่งอยากได้ ยิ่งห้ามยิ่งยุ ยิ่งยากยิ่งอยาก

3. นาย ก. เคยชอบชีวิตในเมืองมากกว่าชีวิตในชนบท แต่วันหนึ่งเมื่อได้มาอยู่ในชนบทแล้วพบว่าสงบ และสบายกว่าที่คิด เลยเปลี่ยนใจไม่อยากกลับไปอยู่ในเมืองอีกแล้ว กรณีนี้เข้าข่ายของ informed preference คือเมื่อได้เรียนรู้โลกมากขึ้น ความต้องการก็เปลี่ยนตาม ขณะที่ถ้าเป็น "องุ่นเปรี้ยว" ก็คือ รู้ว่าตนไม่มีปัญญาจากชนบทไปอยู่ในเมือง เลยพาลเกลียดเมืองและปวารณาตัวขออยู่ในชนบทไปจนวันตาย

4. กรณีที่ นาย ก. เป็นคนงานในโรงงานนรกที่ต้องทนกับการกดขี่ขูดรีดและค่าแรงแค่เพียงหยิบมือ เพราะไม่มีทางเลือกที่จะไปทำอย่างอื่น แต่ในใจของ นาย ก. นั้นเกลียดงานของตนเป็นที่สุด

อนึ่ง ควรต้องเข้าใจด้วยว่า ทฤษฎีเรื่ององุ่นเปรี้ยวนี้ไม่ได้ลบล้างทฤษฎีการเลือกอย่างมีเหตุผลทั้งหมด เพราะเอลสเตอร์ยังเชื่อเรื่องการเลือก (choice) อยู่ว่าคนแต่ละคนมีส่วนเป็นผู้เลือกว่าตนจะกระทำอะไรและด้วยเหตุผลอะไร แต่ก็ยอมรับว่าเหตุผลนั้นอาจมีบางส่วนที่เกิดจากอิทธิพลของปัจจัยอื่นภายนอก ตัวเขาด้วย

และนัยของทฤษฎีนี้ของเอลสเตอร์ก็คือ มันชวนให้คนในสังคมเสรีประชาธิปไตยอย่างเราต้องตั้งคำถามว่า ถ้าสิ่งที่คนเราหวังหรืออยากให้เป็นนั้น จริงๆ แล้วถูกกำหนดจาก "โอกาส" ที่เขามีอยู่ ทำให้คนที่มีโอกาสน้อยก็มีความต้องการน้อย แต่ถ้ามีโอกาสมาก ก็อาจมีความต้องการมากขึ้นตามนั้น

ควรแล้วหรือที่เราจะใช้ความหวังหรือความอยากแบบ นี้ของคนเป็นสิ่งกำหนดทางเลือกของสังคม? และผลลัพธ์ที่ได้จากการทำเช่นนั้นสามารถเรียกว่าเป็นความยุติธรรมได้หรือ?

สุนัขจิ้งจอกไม่ได้ไม่อยากกินองุ่น เพราะองุ่นนั้นไม่ดี แต่มันไม่อยากกินองุ่น ก็เพราะรู้ตัวว่าถึงอยากก็กินไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ เป็นเรื่องสมควรหรือที่การตัดสินใจเลือกของสังคมจะเริ่มต้นจากความอยากที่มี ที่มาแบบนี้? และทำอย่างไรจึงจะเปลี่ยน adaptive preferences ให้กลายเป็น informed preference หรือความพอใจที่มีพื้นฐานจากการเรียนรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องได้

เพื่อให้ระบอบประชาธิปไตยเป็นระบบที่นำคนไปสู่ อิสรภาพในความหมายของการกำหนดตนเอง (autonomy) ได้อย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่อิสรภาพที่ได้มาจากการหลอกตัวเอง?



บทวิพากษ์ทฤษฎีการเลือกอย่างมีเหตุผลและ ทฤษฎีเกมของ Jon Elster (30)

คนแคระบนบ่ายักษ์ : แพทย์ พิจิตร มติชนรายสัปดาห์ วันที่ 04 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 28 ฉบับที่ 1455

ครั้งนี้จักได้กล่าวถึงประเด็นสุดท้ายที่ค้าง ไว้ตั้งแต่เมื่อหลายสัปดาห์ก่อน นั่นคือ วิธีที่เอลสเตอร์ (Jon Elster) นักทฤษฎีการเลือกอย่างมีเหตุผลได้นำทฤษฎีเกมมาใช้แก้ปัญหาเรื่องความร่วมมือ ในสังคม แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้น เราจำเป็นต้องทำความเข้าใจคร่าวๆ กับความคิดของบิดาของทฤษฎีเกมอย่างจอห์น ฟอน นิวแมน (John Von Neumann) และโทมัส ซี เชลลิ่ง (Thomas C. Shelling) กันก่อน เพราะความคิดเหล่านี้จะปูพื้นไปสู่คำตอบของเอลสเตอร์ในที่สุด

จอห์น ฟอน นิวแมน เป็นนักคณิตศาสตร์ผู้ที่หลายคนคิดว่าเป็นบุคคลผู้มีมันสมองปราดเปรื่องที่ สุดในโลก เทียบได้กับ ไอน์สไตน์ ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมเรียนของเขาที่มหาวิทยาลัยปรินซ์ตัน

ฟอน นิวแมน มีความสามารถรอบด้าน เขาเชี่ยวชาญตั้งแต่วิชาตรรกศาสตร์ ไปจนถึงทฤษฎีเซ็ต เรขาคณิต และคณิตศาสตร์เกือบทุกรูปแบบ ทั้งยังมีบทบาทในการพัฒนากลศาสตร์แบบควอนตัม อาวุธนิวเคลียร์ และคอมพิวเตอร์ด้วย

แต่ในที่นี้เราสนใจเฉพาะบทบาทของเขาในการริ เริ่มทฤษฎีเกม

ทฤษฎีเกมของ ฟอน นิวแมน โดยเนื้อแท้คือ ทฤษฎีว่าด้วย "การตัดสินใจของคนที่ขึ้นต่อกันและกัน" ทฤษฎีนี้เกี่ยวข้องกับคำสำคัญสองคำ นั่นคือ ยุทธศาสตร์เด่น (dominant strategy) กับ จุดดุลยภาพ (equilibrium)

ทฤษฎีเกมค้นหายุทธศาสตร์เด่นสำหรับปฏิสัมพันธ์ แบบต่างๆ ระหว่างคนตั้งแต่สองคนขึ้นไป โดยมองว่าปฏิสัมพันธ์ของคนก็เหมือนเกมไพ่โป๊กเกอร์ ที่ผู้เล่นต่างฝ่ายต่างต้องตัดสินใจโดยการ "เดาใจ" ฝ่ายตรงข้ามว่า จะเลือกใช้ยุทธศาสตร์ชนิดใด เช่น "จะหมอบ หรือ จะบลั๊ฟ" ที่จะทำให้เขาได้ประโยชน์สูงสุด

การเดาใจนี้เป็นไปได้บนสมมติฐานสองข้อ คือ ประการแรก ผู้เล่นทุกคนมีความรู้อย่างครบถ้วน เกี่ยวกับผลลัพธ์ที่จะอยู่ในรูปของโครงสร้างรางวัล (structure of reward) ที่ผู้เล่นแต่ละฝ่าย จะได้รับหากเลือกใช้ยุทธศาสตร์แต่ละแบบ และประการที่สอง ผู้เล่นทุกคนเป็นคนมีเหตุผล และสามารถจัดลำดับผลลัพธ์ที่จะตามมาจากยุทธศาสตร์แต่ละแบบได้ว่า ผลลัพธ์ใดที่ตนพอใจที่สุด

ส่วนยุทธศาสตร์เด่นนั้น หมายถึง ยุทธศาสตร์ที่ดีที่สุดที่จะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดสำหรับผู้เล่นแต่ละคน ไม่ว่าผู้เล่นคนอื่นๆ ที่เหลือจะใช้ยุทธศาสตร์เดียวกันหรือไม่ก็ตาม

ส่วนจุดดุลยภาพ (equilibrium) หมายถึง ยุทธศาสตร์ชุดหนึ่ง (ที่รวมยุทธศาสตร์ของผู้เล่นทุกรายไว้ด้วยกัน) ที่ไม่มียุทธศาสตร์อื่นใดอีกแล้วที่จะให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า

ทฤษฎีเกมเชื่อว่า ในปฏิสัมพันธ์ที่มีจุดดุลยภาพ (ไม่ใช่ทุกปฏิสัมพันธ์มีจุดดุลยภาพ) ผู้เล่นทุกคนในปฏิสัมพันธ์นั้นจะเลือกใช้ยุทธศาสตร์ที่สอดรับกับยุทธศาสตร์ ที่คนอื่นๆ ใช้ ซึ่งทำให้ทุกคนได้รับผลลัพธ์ที่ดีที่สุดจากการมีปฏิสัมพันธ์นั้น

จุดดุลยภาพสามารถมีได้ต่อเมื่อผู้เล่นแต่ละราย ต่างมียุทธศาสตร์เด่นของตนอยู่แล้วในสถานการณ์นั้นๆ ยกตัวอย่าง นาย ก. กับ นาย ข. มีปฏิสัมพันธ์กันโดยบังเอิญเนื่องจากขับรถอยู่บนถนนเส้นเดียวกัน ซึ่งถ้าใช้หลักทฤษฎีเกมเราสามารถเขียนโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่าง นาย ก. และ นาย ข. ได้ดังนี้

นาย ก./นาย ข. ระวัง ไม่ระวัง

ระวัง 5,5 2,3

ไม่ระวัง 3,2 1,1

นาย ก.และนาย ข. สามารถเลือกใช้ยุทธศาสตร์ได้สองแบบ นั่นคือ ระวังกับไม่ระวัง ซึ่งในกรณีของรถสองคัน อุบัติเหตุจะเกิดขึ้นต่อเมื่อมีอย่างน้อยฝ่ายหนึ่งประมาท และถ้าประมาทด้วยกันทั้งคู่ อุบัติเหตุจะยิ่งรุนแรง

จากตารางข้างบนจะเห็นว่า ถ้า นาย ก. และ นาย ข. ระวังด้วยกันทั้งคู่ ผลลัพธ์ที่ตามมาคือ 5,5 ซึ่งสูงสุด หมายถึงไม่เกิดอุบัติเหตุเลย แต่ถ้า นาย ก. และ นาย ข. ต่างไม่ระวังทั้งคู่ ผลลัพธ์ที่ตามมาคือ 1,1 ซึ่งต่ำสุด หมายถึงเกิดอุบัติเหตุร้ายแรง ในสถานการณ์แบบนี้ ถ้านาย ก. และนาย ข. คิดถึงโครงสร้างผลลัพธ์สักหน่อยก็จะรู้ว่าตัวเองควรระวัง

ดังนั้น การระวังจึงเป็นยุทธศาสตร์เด่นสำหรับทั้งคู่ และเมื่อผู้เล่นทั้งคู่มียุทธศาสตร์เด่นอันเดียวกัน "การระวัง VS การระวัง" จึงเป็นจุดดุลยภาพด้วย

ทีนี้ ลองมาดูอีกกรณีหนึ่ง ระหว่าง นาย ก. ที่ขับรถ กับ นาย ข. ที่เป็นคนเดินถนน ยุทธศาสตร์ที่เป็นไปได้ยังเหมือนเดิมคือ "ระวังกับไม่ระวัง" แต่ในกรณีนี้ ยุทธศาสตร์เด่นจะเปลี่ยนไปและจุดดุลยภาพก็เปลี่ยนไปด้วย ดังนี้

นาย ก./นาย ข. ระวัง ไม่ระวัง

ระวัง 0,2 0,3

ไม่ระวัง 1,2 1,1

ในกรณีระหว่างคนขับรถกับคนเดินถนน อุบัติเหตุจะเกิดขึ้นต่อเมื่อทั้งสองฝ่ายประมาท แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วคนที่เดือดร้อนจริงๆ คือ คนเดินถนน จากตารางข้างบนจะเห็นว่า ถ้า นาย ก. และ นาย ข. ระวังทั้งคู่ อุบัติเหตุจะไม่เกิดและ นาย ข. จะได้ประโยชน์ (รางวัล = 2) ขณะที่ นาย ก. ได้ประโยชน์น้อยกว่า เพราะถึงเกิดอุบัติเหตุ นาย ก. ก็คงไม่บาดเจ็บหรือเสียชีวิตเหมือน นาย ข. (รางวัล = 0)

ในแง่นี้ นาย ก. ที่แสวงหาประโยชน์สูงสุดจึงจะไม่ระวัง แต่เมื่อยุทธศาสตร์เด่นของ นาย ก. คือ ไม่ระวัง เมื่อ นาย ข. รู้เรื่องนี้ แล้วก็ต้องเป็นคนระวังแทน เพราะไม่เช่นนั้นโอกาสจะเกิดอุบัติเหตุยิ่งสูง ในกรณีนี้ "การไม่ระวัง VS ระวัง" จึงเป็นจุดดุลยภาพ

ในแง่นี้ เราจึงอุ่นใจได้ในระดับหนึ่งว่าถ้าเรามีเหตุผลพอ โอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนก็จะลดลง และนี่อาจช่วยให้เราเข้าใจมากขึ้นว่าทำไมอุบัติเหตุจึงเกิดบ่อยเป็นพิเศษใน ช่วงสงกรานต์ ก็เพราะผู้ใช้รถใช้ถนนพากันประมาท

เราได้เห็นแล้วว่าในกรณีของรถกับรถ แค่ฝ่ายหนึ่งประมาท อุบัติเหตุก็เกิดขึ้นได้แล้ว และช่วงสงกรานต์ที่คนกำลังอยู่ในอารมณ์คึกคักอยากไปเที่ยว โอกาสที่คนขับรถประมาทสองคนจะมาเจอกันย่อมสูงกว่าในยามปรกติ

และนี่เองคือเหตุผลที่ว่า ทำไมอุบัติเหตุบนท้องถนนจึงชุกเป็นชุกพิเศษในฤดูกาลนี้




บทวิพากษ์ทฤษฎีการเลือกอย่างมีเหตุผลและ ทฤษฎีเกมของ Jon Elster (31)

คนแคระบนบ่ายักษ์ : แพทย์ พิจิตร มติชนรายสัปดาห์ วันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 28 ฉบับที่ 1457

ได้อธิบายไปในครั้งที่แล้วแล้วว่า ทฤษฎีเกมโดยเนื้อแท้เกี่ยวข้องกับ "การตัดสินใจของคนที่ขึ้นต่อกันและกัน" โดยความคิดหลักก็คือ ในบางสถานการณ์ ผลประโยชน์ของคนคนหนึ่งผูกโยงอยู่กับการกระทำของคนอื่นๆ ด้วย และนั่นทำให้คนมีเหตุผลต้องคาดคะเนล่วงหน้าถึงการกระทำของอีกฝ่ายก่อน เพื่อเลือกทำในสิ่งที่จะให้ประโยชน์สูงสุดแก่ตัวเอง

ทฤษฎีเกมสอนว่า เมื่อเราเจอสถานการณ์ที่เข้าข่ายนี้ มีสองสิ่งที่เราควรมองหาคือ ยุทธศาสตร์เด่น (dominant strategy) ที่หมายถึง ยุทธศาสตร์ที่ดีที่สุดที่จะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดสำหรับผู้เล่นแต่ละคน ไม่ว่าผู้เล่นอีกคนหนึ่งจะเลือกใช้ยุทธศาสตร์เดียวกันหรือไม่ก็ตาม

และ จุดดุลยภาพ (equilibrium) ที่หมายถึง ยุทธศาสตร์ชุดหนึ่ง (ที่รวมยุทธศาสตร์เด่นของผู้เล่นทุกคนไว้ด้วยกัน) ที่ไม่มียุทธศาสตร์อื่นใดอีกแล้วที่จะให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่านี้ได้ เพราะเมื่อผู้เล่นคนหนึ่งทำตามยุทธศาสตร์เด่น นั่นคือเขาจะได้รับผลประโยชน์สูงสุดจากสถานการณ์นั้น และนั่นคือจุดดุลยภาพ เพราะทั้งสองฝ่ายจะได้รับประโยชน์สูงสุดที่เป็นไปได้จากการปฏิสัมพันธ์

ยุทธศาสตร์เด่นของสองฝ่ายไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่ง เดียวกัน และจุดดุลยภาพอาจเอนเอียงเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็ได้ ยกตัวอย่าง ปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนขับรถกับคนเดินถนนที่แสดงไปในครั้งที่แล้วชี้ว่า ยุทธศาสตร์เด่นของคนขับรถคือ ไม่ระวัง ขณะที่ยุทธศาสตร์เด่นของคนเดินถนนคือ ระวัง

ซึ่งดูๆ แล้วก็เหมือนคนเดินถนนเสียเปรียบ เพราะต้องแบกภาระในการระวังไว้คนเดียวในโครงสร้างปฏิสัมพันธ์แบบนี้

ซึ่งถ้ามองกันจริงๆ แล้ว โครงสร้างนี้ยังพบได้ในสถานการณ์อื่นๆ อีกด้วย เช่น ระหว่างคู่รักหรือสามีภรรยาที่ฝ่ายหนึ่งถือไพ่เหนือกว่า เช่น รวยกว่า หน้าตาดีกว่า (หรือบางกรณีแค่เป็นผู้ชายก็พอแล้ว)

หรือห่วงใยความอยู่ดีกินดีของลูกๆ น้อยกว่า เพราะฝ่ายที่ถือไพ่ต่ำกว่าต้องทนกล้ำกลืนเอาอกเอาใจ หรือยอมแบกภาระในการดูแลลูกไว้มากกว่า (เพราะขืนตัวเองไม่ทำ อีกฝ่ายก็ไม่ทำเหมือนกัน)

และยังพบได้ระหว่างพรรคการเมืองเสียงข้างมาก เกินครึ่งนิดๆ กับพรรคการเมืองเสียงข้างน้อยต่ำกว่าครึ่งนิดๆ ที่ฝ่ายหลังอาจต้องยอมยกมือช่วยฝ่ายแรกบ่อยครั้งกว่า เพื่อแลกกับการให้ฝ่ายแรก ยกมือสนับสนุนให้บ้างในวาระที่ตนเห็นว่าสำคัญจริงๆ

การวิเคราะห์เช่นนี้ชวนให้สงสัยขึ้นมาว่า ตกลงแล้ว อุดมคติเรื่องความเสมอภาค (equality) ที่นอกเหนือไปจากความเสมอภาค ภายใต้กฎหมาย (ซึ่งเป็นสิ่งสมมติแบบหนึ่ง) นั้นเป็นจริงได้หรือไม่ แต่ทฤษฎีเกมไม่สนใจเรื่องนี้

ประเด็นของทฤษฎีคือ เราสามารถใช้เหตุผลตัดสินใจเพื่อให้ได้มาซึ่งประโยชน์สูงสุดได้ ในสถานการณ์ที่ต้องเกี่ยวโยงกับบุคคลอื่นๆ ตราบใดที่ข้อมูลมีความโปร่งใสพอในแง่ที่ผู้เล่นทั้งสองฝ่าย รู้ว่าใครทำอะไรแล้วจะได้อะไร

ความสำคัญตรงนี้จึงอยู่ที่ เรื่องความโปร่งใสของข้อมูล

แต่ปัญหาของทฤษฎีเกมประการหนึ่งอยู่ตรงที่ เกมบางเกมมีจุดดุลยภาพ ไม่ใช่เพราะผู้เล่นทุกคนมียุทธศาสตร์เด่น (เกมบางเกมไม่มียุทธศาสตร์เด่น เกมแบบนี้เรียกว่ากรณีความไม่แน่นอน (indeterminacy) เพราะมียุทธศาสตร์ที่ดีพอๆ กันอยู่มากกว่าหนึ่งยุทธศาสตร์ที่สามารถเลือกใช้ได้)

แต่เพราะในเกมเหล่านี้มี "ปฏิกิริยาตอบสนองที่ดีที่สุด" สำหรับการตัดสินใจแต่ละแบบอยู่

ยกตัวอย่าง มีบริษัทสองแห่งผูกขาดการขายสินค้าชนิดหนึ่งอยู่ในตลาด สมมติบริษัทหนึ่ง เกิดตัดสินใจผลิตน้อยลงเพื่อโก่งราคาสินค้านั้นให้สูงขึ้น ปฏิกิริยาตอบสนองที่ดีที่สุดของอีกบริษัทหนึ่งก็คือผลิตเพิ่ม เพื่อฉวยโอกาสทำกำไรจากราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น

แต่ปฏิกิริยาตอบสนองนี้บางครั้งก็ไม่ทำให้ทั้ง สองฝ่ายได้ประโยชน์สูงสุด

เป็นที่รู้กันดีว่า การแข่งขันโดยการลด-เพิ่มอุปทานซึ่งมีผลต่อราคา เป็นกับดักแบบหนึ่งที่อาจทำให้คู่แข่งขัน ต้องเสียประโยชน์มหาศาลในระยะยาว มีวิธีที่ทั้งสองฝ่ายจะได้ประโยชน์กว่าก็คือการฮั้วหรือทำ cartel โดยจำกัดปริมาณการผลิตของทั้งคู่ให้อยู่ต่ำกว่าระดับดุลยภาพ แต่ดังที่จะได้ชี้ให้เห็นต่อไปว่า ทั้งๆ ที่รู้ว่าการแข่งขันด้านราคาเป็นกับดัก และการร่วมมือกันต่างหากที่จะให้ประโยชน์มากกว่า

แต่ปัญหาคือจะทำความตกลงร่วมกันได้อย่างไรใน ชั้นแรก

ปัญหาที่สร้างความสับสนงุนงงที่สุดให้กับทฤษฎี เกมคือ "ปัญหากลืนไม่เข้าคายไม่ออกของนักโทษ" หรือ "Prisoner"s Dilemma" ที่เป็นที่รู้จักกันทั่วไป นั่นคือ สมมติว่ามีนักโทษสองคนถูกจับ และถูกสอบสวนแยกกัน ตำรวจพยายามเกลี้ยกล่อมให้แต่ละคนรับสารภาพและให้การซัดทอดอีกคน โดยเสนอรางวัล เช่น ตั้งแต่ลดโทษจนถึงยอมปล่อยตัวคนที่รับสารภาพ ขอให้ลองดูตารางต่อไปนี้

นาย ก./นาย ข. ร่วมมือ ไม่ร่วมมือ

ร่วมมือ ติดคุกคนละ 2 ปี ติดคุกสิบปี/ได้รับการปล่อยตัว

ไม่ร่วมมือ ได้รับการปล่อยตัว/ติดคุกสิบปี ติดคุกคนละห้าปี

ภายใต้เงื่อนไขว่า 1) ทั้งสองฝ่ายรู้โครงสร้างรางวัล 2) ทั้งสองฝ่ายต้องตัดสินใจพร้อมกันว่าจะร่วมมือหรือไม่ร่วมมือ (ร่วมมือคือปากแข็งไม่รับสารภาพ และไม่ร่วมมือคือสารภาพ ซึ่งเท่ากับขายเพื่อน) และ ๓) ไม่มีการพูดคุยก่อนหน้าที่จะตัดสินใจ ถามว่า ถ้าคุณเป็น นาย ก. หรือ นาย ข. คนใดคนหนึ่ง คุณจะเลือกร่วมมือหรือไม่ร่วมมือ?

ถ้าคุณเป็น นาย ข. คุณจะพบว่าไม่ร่วมมือเป็นยุทธศาสตร์เด่น เพราะถ้าคุณไม่ร่วมมือ (สารภาพ) และ นาย ก. ร่วมมือ (ไม่ยอมสารภาพ) คุณจะได้รับปล่อยตัว นาย ก. ติดคุกสิบปี หรือถ้าคุณทั้งคู่ไม่ร่วมมือ (สารภาพทั้งสองคน) คุณ และ นาย ก. จะติดคุกคนละห้าปี

แต่พอคิดมาถึงตรงนี้ และคุณย้อนกลับไปดูแถวแรกคอลัมน์แรก จะเห็นว่าถ้าคุณทั้งคู่ร่วมมือ คือปากแข็งไม่ยอมสารภาพจนถึงที่สุด ทั้ง คุณ และ นาย ก. จะติดคุกคนละแค่ 2 ปี ซึ่งดีกว่าสารภาพแล้วติดคุก 5 ปีอย่างแน่นอน เมื่อเป็นเช่นนี้ ถ้า คุณ และ นาย ก. ฉลาด คุณทั้งคู่จะต้องเลือกร่วมมือ คือไม่สารภาพ

สมมติต่อไปว่า คุณเป็น นาย ก. และเดาว่า นาย ข. คงคิดแบบที่อธิบายมาข้างต้นนี้และสรุปว่าอย่างไรเสีย นาย ข. คงร่วมมือ คือไม่สารภาพเพื่อจะได้ติดคุกแค่คนละสองปี คุณจึงตัดสินใจเลือกที่จะร่วมมือด้วยเหมือนกัน

ปัญหาจะเกิดขึ้นตรงนี้ว่า กลับไปสมมติว่า คุณ เป็น นาย ข. อีกครั้งและคุณรู้ว่า นาย ก. คิดแบบนี้ ย่อมมีเหตุผลอย่างที่สุดที่คุณจะเลือกหักหลัง นาย ก. เพราะนั่นจะทำให้คุณรอดไปได้ฟรีๆ โดยไม่ต้องติดคุกและนาย ก. ต้องรับโทษแทน

แต่ถ้า นาย ข. คิดแบบนี้ได้ และ นาย ก. เป็นคนมีเหตุผลเหมือนกันและคาดเดาถึงปฏิกิริยาของ นาย ข. อยู่ตลอด ทำไม นาย ก. จะไม่รู้ครับว่า ในที่สุดการใช้เหตุผลจะพา นาย ข. มาที่ข้อสรุปว่าควรหักหลัง ดังนั้น ในที่สุดแล้ว นาย ก. ย่อมเลือกทำในสิ่งที่ปลอดภัยไว้ก่อนคือ ไม่ร่วมมือ ผลก็คือทั้งคู่ก็ติดคุกกันไปคนละสองปี

เกมนี้สร้างความกระอักกระอ่วนใจให้ทฤษฎีเกม เนื่องจากมันชี้ให้เห็นว่า ทั้งๆ ที่รู้ว่าการไม่ร่วมมือเป็นกับดักแบบหนึ่งที่จะขัดขวางไม่ให้คุณและอีกฝ่าย ได้ประโยชน์สูงสุด แต่คุณก็ออกจากกับดักนี้ไม่ได้ เพราะไม่สามารถแน่ใจได้เลยว่า อีกฝ่ายจะ "ตลบหลัง" คุณหรือไม่เมื่อโอกาสเปิดให้

ที่เป็นเช่นนี้ เอลสเตอร์วิเคราะห์ว่า เพราะผู้เล่นในทฤษฎีเกมมีแรงจูงใจอีกสองอย่างอยู่ด้วย นั่นคือ อยากได้ประโยชน์แบบไม่ต้องลงแรง และขณะเดียวกัน ก็กลัวเสียท่าเป็นคนโง่ให้อีกฝ่ายเอาเปรียบ

ในกรณีของสหภาพแรงงาน จะเห็นได้ว่าปัญหาผลภายนอกด้านลบ (negative externalities) ที่กลไกตลาดครอบคลุมไม่ถึงก็มีโครงสร้างแบบที่กล่าวมานี้นั่นเอง การสมัครเป็นสมาชิกสหภาพอาจให้ประโยชน์สูงสุดก็จริง เพราะทำให้องค์กรเข้มแข็งและสามารถต่อรองค่าจ้างได้สูงขึ้น แต่ก็มีต้นทุนคือค่าสมัครและค่าบำรุงที่ต้องจ่ายประจำปี

ดังนั้น ยุทธศาสตร์ที่ดีที่สุดสำหรับกรรมกรแต่ละคนจึงได้แก่การไม่สมัครเป็นสมาชิก แต่คอยรับประโยชน์แบบพวกตีตั๋วฟรี (free-rider) ทำให้มีสหภาพคอยเป็นกระบอกเสียงเรียกร้องผลประโยชน์ให้โดยไม่ต้องลงทุนลงแรง

หรือกรณีของการฮั้วก็เช่นกัน ประเทศผู้ผลิตน้ำมันถ้าไม่เป็นสมาชิกของโอเปคและสามารถผลิตน้ำมันได้ปริมาณ ไม่จำกัด ย่อมได้ประโยชน์มหาศาลจากสถานการณ์น้ำมันแพงในปัจจุบัน

อีกตัวอย่างหนึ่งของกับดักของนักโทษก็คือ การสอบหรือทำงานในวิชาที่อาจารย์ตัดเกรดตาม curve นั่นเองครับ ที่ยิ่งนักเรียนแต่ละคนแข่งกันทำคะแนน ช่วงคะแนนที่ตัดเกรดยิ่งสูงขึ้น ผลก็คือ คนที่ได้ A จะเหลือน้อยลง

ปัญหานี้ส่งผลต่อทฤษฎีเกมและทฤษฎีการเลือกอย่าง มีเหตุผลด้วย โดยชี้ว่ามีความผิดปรกติบางอย่างกับการใช้เหตุผล ที่ในบางสถานการณ์ดูเหมือนบอกให้เราเลือกทำในสิ่งที่ให้ผลลัพธ์ที่ด้อยกว่า ทั้งที่โดยหลักแล้ว การใช้เหตุผลก็เพื่อให้ตัดสินใจได้ดีที่สุด ฉลาดที่สุด และได้รับผลลัพธ์สูงสุด

โทมัส เชลลิ่ง (Thomas Schelling) ซึ่งเป็นหนึ่งในคนแรกๆ ร่วมกับเพื่อนๆ ของเขาที่ Rand Corperation มองเห็นข้อจำกัดของทฤษฎีเกมของ ฟอน นิวแมน จากปัญหาข้างต้น และพยายามแก้ปัญหาดังกล่าว

โดยเชลลิ่งชี้ว่า ทฤษฎีเกมของ ฟอน นิวแมน พูดถึงแต่เกมชนิดที่คู่ต่อสู้ทั้งสองฝ่ายต่างห้ำหั่นเพื่อแย่งชิงผลประโยชน์ ก้อนเดียวกัน (pure-conflict zero-sum game) เท่านั้น แต่ไม่ใช่เกมทุกเกมจะมีลักษณะเช่นนี้ ตรงกันข้าม ในเกมส่วนใหญ่ ผู้เล่นสองฝ่ายแม้จะมีความขัดแย้งระหว่างกัน แต่ก็มีผลประโยชน์ร่วมกันบางอย่างแอบแฝงอยู่ด้วย

เมื่อเป็นดังนี้ เกมส่วนใหญ่ที่เราเล่นกันจึงมีลักษณะเป็นเกมต่อรองอยู่ในที (tacit bargaining game) มากกว่าเป็นเกมความขัดแย้งแย่งชิงผลประโยชน์ล้วนๆ

เขายกตัวอย่างประเทศคู่สงคราม ที่แม้จะเกลียดกันและต้องการเอาชนะกันเพื่อประกาศศักดาของตนแค่ไหน แต่ถ้าทั้งคู่ฉลาดพอก็จะรู้ว่า ถ้าปะทะกันอย่างจริงจังเมื่อไหร่ด้วยแสนยานุภาพล้นฟ้าที่ทั้งคู่มี เห็นจะต้องวอดวายกันไปทั้งคู่แบบเกมกับดักที่เคยกล่าวถึงไปแล้ว

เท่ากับว่าแม้จะมีความขัดแย้งกันอยู่ แต่ทั้งสองฝ่ายก็มีผลประโยชน์ร่วมกันอยู่ด้วย คือการหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการกระทบกระทั่งบานปลาย จนส่งผลเสียหายร้ายแรงแก่ทั้งสองฝ่าย (ผู้อ่านบางคนคงเดาได้ว่า ทฤษฎีนี้คิดขึ้นมาในช่วงยุคสงครามเย็นระหว่างโซเวียตกับอเมริกา)

ซึ่งจะได้อธิบายขยายความในคราวต่อไป




บทวิพากษ์ทฤษฎีการเลือกอย่างมีเหตุผลและ ทฤษฎีเกมของ Jon Elster (32)

คนแคระบนบ่ายักษ์ : แพทย์ พิจิตร มติชนรายสัปดาห์ วันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 28 ฉบับที่ 1458

ที่เล่าไปครั้งที่แล้วคือ โทมัส เชลลิ่ง และเพื่อนของเขาที่ Rand Cooperation ออกมาแย้งคำอธิบายทฤษฎีเกมของฟอน นิวแมน ว่า เกมที่พบส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นเกมแก่งแย่งผลประโยชน์แบบที่ยิ่งฝ่ายหนึ่งได้ อีกฝ่ายยิ่งต้องเสียหรือที่เรียกและรู้จักกันทั่วไปว่า zero-sum game

แต่การแข่งขันที่พบกันส่วนใหญ่ในความเป็นจริงมี ลักษณะเป็นเกมการต่อรองในที (tacit bargaining) และประสานงานกันในที (tacit coordination) ที่ทั้งสองฝ่ายต่างได้ประโยชน์ร่วมกัน

โดยประโยชน์ร่วมในที่นี้ อยู่ที่การหลีกเลี่ยงไม่ให้ความขัดแย้งบานปลาย เป็นการปะทะขั้นรุนแรง ที่นำความเสียหายใหญ่หลวงมาให้แก่ทั้งคู่

ดังที่เห็นจากการขับเคี่ยวระหว่างสหรัฐอเมิรกา และโซเวียตรัสเซียในช่วงสงครามเย็นที่ผ่านมา

เหตุผลสนับสนุนของเชลลิ่งมีอยู่ว่า ถ้าหากเป็นเกมหรือการแข่งขันกันในแบบ zero-sum ฟอน นิวแมน จะคาดการณ์ว่า ผู้เล่นทั้งสองฝ่ายจะพยายามปกปิดยุทธวิธีของตนไว้เป็นความลับสุดยอด เพื่อไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามไหวตัวและเตรียมตั้งรับได้ทัน

ดังเช่นตัวอย่างของคณะปฏิวัติรัฐประหารที่มัก กระทำการอย่างเงียบเชียบที่สุด เพื่อไม่ให้ฝ่ายรัฐบาลรู้ตัวก่อนที่จะกระทำการสำเร็จ และการแพร่งพรายความลับใดๆ เกี่ยวกับยุทธวิธีที่ใช้ออกไปอาจทำให้แผนที่วางมาทั้งหมดล่มได้ในชั่วอึดใจ เดียว

แต่เราจะพบว่ามีหลายกรณีที่คู่ขัดแย้งสองฝ่าย ต่างออกมาโพนทะนายุทธวิธี ความเคลื่อนไหวสำคัญๆ หรือแม้แต่ไม้ตายของตัวเองให้อีกฝ่ายรู้ เช่น แสดงให้เห็นว่า ขณะนี้ฝ่ายตนกำลังพยายามสร้างฐานอำนาจในกองทัพ โดยผูกมิตรกับนายพลคนสำคัญอยู่ (หรือในกรณีของไทยคือ ผู้บัญชาการทหารบก)

การเปิดเผยยุทธวิธีที่ตนจะใช้เช่นนี้ ย่อมผิดคอนหลักการทฤษฎีเกมของ ฟอน นิวแมน ที่เน้นว่า ความสำเร็จของเกมขึ้นอยู่กับการรักษาความลับไม่ให้รั่วไหล เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบ จากการทำให้อีกฝ่ายคาดคะเนไม่ได้ถึงแผนขั้นต่อไปของตน

จากเหตุผลดังกล่าวนี้ เชลลิ่งจึงสรุปว่า การที่ทั้งสองฝ่ายออกมา "ข่มขวัญ" กันแบบนี้แสดงว่าพวกเขาไม่ได้กำลังเล่นเกมแย่งชิงผลประโยชน์แบบที่ ฟอน นิวแมน อธิบาย

เพราะการขู่สะท้อนว่าคู่ขัดแย้งต้องการสื่อสาร ไปยังอีกฝ่ายว่า ตัวเองมีแสนยานุภาพที่น่ากลัวขนาดไหน ก็เพื่อให้ฝ่ายตรงข้ามเกรงกลัว จะได้ไม่บุ่มบ่ามทำอะไรลงไปจนทำให้ความขัดแย้งลุกลามเป็นการปะทะขั้นรุนแรง และนำความเสียหายร้ายแรงมาให้แก่ทั้งสองฝ่าย (เช่นในรูปของสงครามนิวเคลียร์)

ซึ่งถ้าคิดกลับกันว่าทั้งสองฝ่ายต่างมั่นใจสุด สุดในแสนยานุภาพของตนว่า ปะทะกันเมื่อไหร่ จะสามารถบดขยี้อีกฝ่ายให้แหลกคามือได้ ย่อมไม่มีประโยชน์อะไร (ซ้ำจะเป็นผลร้ายด้วยซ้ำ) ที่จะออกมาโพนทะนาแบบนั้น และการขู่ย่อมไม่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้น

การขู่จึงเป็นสิ่งที่บอกถึงความกลัวของทั้งสอง ฝ่าย และชี้ว่าจริงๆ แล้ว ลึกๆ ทั้งคู่แสวงหาความร่วมมือจากกันและกันอยู่

การวิเคราะห์ทฤษฎีเกมแบบเกมต่อรองของเชลลิ่ง ไม่ได้มีนัยว่าคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่าย ฉลาดน้อยกว่าในทฤษฎีเกมของ ฟอน นิวแมน เลย

ตรงกันข้าม คู่ขัดแย้งที่เล่นเกมต่อรองเป็น จริงๆ แล้ว กลับจะฉลาดกว่าด้วยซ้ำ

เหตุผลก็คือ ในทฤษฎีเกมของ ฟอน นิวแมน ผู้เล่นทั้งสองคนจะใช้ความฉลาดในการอ่านใจอีกฝ่ายให้ออก โดยเริ่มจากการเข้าใจว่าผู้เล่นคนอื่นก็เป็นคนมีเหตุผลเหมือนกัน ซึ่งหมายความว่าอะไรที่ตนคิดได้ คนอื่นก็คิดได้

หัวใจของชัยชนะในเกมชนิดนี้จึงอยู่ที่การคิดนำ หน้าอีกฝ่ายไปหนึ่งก้าว (หรือหลายก้าว) เพื่อที่ฝ่ายตนจะเลือกใช้ยุทธวิธีได้อย่างถูกต้องในแง่ที่เดาได้ถูกว่าอีก ฝ่ายจะใช้ยุทธวิธีอะไร แล้วจึงใช้ยุทธวิธีตอบสนองที่เหมาะสมที่สุด ทำให้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดตกเป็นของฝ่ายตน

แต่ในกรณีเกมต่อรองของเชลลิ่ง การทำแค่นี้ยังไม่พอ เพราะนอกจากจะอ่านใจฝ่ายตรงข้ามได้แล้ว และรู้ว่าตนจะทำอะไร แล้ว ยังต้องสามารถสื่อสารความในใจของตนออกไปให้ถึงอีกฝ่ายด้วย แม้จะต้องพบกับอุปสรรคนานาประการ

ทีนี้คงเข้าใจกันแล้วว่า ทำไมคนถึงพยายามแย่งชิงอำนาจในการใช้และควบคุมสื่อกันนัก ก็เพราะสื่อมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการต่อรอง ฝ่ายที่พยายามขู่เพื่อบีบให้อีกฝ่ายร่วมมือ แต่หาทางติดต่อสื่อสารกับอีกฝ่ายไม่ได้ ก็ไม่อาจต่อรองตามที่ต้องการได้

ทำนองเดียวกัน คนที่เปิดวอล์กแมนดังลั่นหรือเล่นเปียโนแบบไม่สนใจใคร (ใครเอ่ย!) เวลามีคนมาตะโกนด่าหน้าบ้าน คือคนที่เข้าใจหลักการนี้เป็นอย่างดี เพราะเมื่อตัดช่องทางสื่อสารเสียแล้ว ก็ไม่อาจรู้สึกถึงการกดดันหรือคุกคามใดๆ ได้อีก

และทฤษฎีจุดรวมความคิด (focal points) นี่เองที่ทำให้เชลลิ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ซึ่งทฤษฎีดังกล่าวนี้ก็เกิดมาจากความเข้าใจข้อนี้นั่นเอง

นอกจากนี้ ในทฤษฎีเกมของ ฟอน นิวแมน การใช้เหตุผลมีเป้าหมายเพียงอย่างเดียวคือ เพื่ออ่านใจอีกฝ่าย และยุทธวิธีของอีกฝ่ายให้ออก จะได้เลือกใช้ยุทธวิธีตอบสนองได้อย่างถูกต้องทำให้ได้ผลลัพธ์สูงสุด

แต่ในทฤษฎีการต่อรองของเชลลิ่ง การใช้เหตุผลมีเป้าหมายเพื่อค้นหาจุดรวมความคิด (focal points) ที่เป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับทั้งสองฝ่ายในสถานการณ์ต่อรอง หรือสถานการณ์ที่ต้องอาศัยการประสานงานกัน

โดยเชลลิ่งเชื่อว่า จุดรวมความคิดนี้แฝงอยู่ในตัวสถานการณ์อยู่แล้ว และถ้าใช้ความคิดจริงๆ คนที่มีเหตุผลก็จะสามารถค้นพบมันได้

ตัวอย่างจากประสบการณ์จริงของเขาคือ เมื่อเชลลิ่งและเพื่อนออกเดินทางไปเที่ยวยุโรปสมัยเรียนจบมหาวิทยาลัยใหม่ๆ พวกเขาถามคำถามหนึ่งว่า ถ้าเกิดพลัดหลงกัน ควรไปรอกันที่ไหน เวลาใด ทุกคนแยกย้ายกันกลับไปคิดคำตอบของตัวเอง และกลับมาเจอกันใหม่ในอีกหลายชั่วโมงต่อมา

ผลก็คือ ทุกคนได้ข้อสรุปเหมือนกันว่า ให้ไปเจอกันที่สถานีรถไฟเวลาเที่ยงตรง โดยให้เหตุผลว่า เพราะเมืองทุกเมืองต้องมีสถานีรถไฟเป็นศูนย์รวมการคมนาคม และเวลาเที่ยงตรงเป็นเวลาที่เหมาะที่สุดเพราะเป็นตอนกลางวัน ทั้งยังเป็นเวลาแรกสุดที่ผุดขึ้นในหัวของทุกคน

ในกรณีนี้ เวลาเที่ยงตรงที่สถานีรถไฟฟ้าจึงเป็นจุดรวมความคิดของทุกคน

ท่านผู้อ่านคงเคยดูหนังฝรั่งประเภทฆาตกรรมสืบ สวนสอบสวน ที่นักสืบฝึกหัดหลงทางอยู่ในป่าหรือทะเลทรายและทิ้งร่องรอย (เช่น ลูกปัดจากสร้อยข้อมือ หรือ ก้อนหิน) ไว้เพื่อให้นักสืบรุ่นลายครามที่เป็นคู่หูตามรอยมาเจอจนได้นั้น

กรณีนี้ การทิ้งลูกปัดหรือก้อนหินไว้ก็เป็นจุดรวมความคิดแบบหนึ่ง

ลูกปัดที่โรยไว้เป็นทางตามป่ามีค่าความสะดุดตา (salience) ที่เกิดจากการอยู่ผิดที่ผิดทาง ทำให้ไม่ว่าใครก็ตามต้องสะดุดใจเมื่อได้พบเห็น นักสืบรุ่นหลานฉลาดเพราะรู้ว่าถ้านักสืบรุ่นลายครามเห็นสิ่งนี้จะรู้ว่า นี่คือสัญญาณที่ตนส่งให้ เพื่อจะได้ประสานการทำงานกันถูกเพราะนักสืบรุ่นลายครามเองก็ฉลาดเหมือนกัน

และถ้าอยู่ในสถานการณ์นี้ก็อาจจะทำแบบเดียวกัน นี้ด้วย

ตัวอย่างจากสามก๊กก็เช่น ตอนที่ขงเบ้งมอบถุงสามใบให้กับจูล่งเมื่อเล่าปี่จะเดินทางไปเมืองเกงจิ๋วตาม คำเชิญของซุนกวน จนลงเอยด้วยการได้น้องภรรยาของซุนกวนเป็นฮูหยินคนใหม่ ขงเบ้งเดาได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับเล่าปี่ในสถานการณ์นั้น

พฤติกรรมของเล่าปี่จึงเป็นเหมือนจุดรวมความคิด (focal points) ของขงเบ้ง ทำให้เขาสามารถเตรียมรับมือได้อย่างถูกต้องจนสามารถช่วยเล่าปี่กับจูล่งให้ พ้นจากอันตรายได้ ถึงแม้ตัวจะไม่ต้องไปอยู่ที่นั่นเองเลยก็ตาม

คำว่า จุดรวมความคิด (focal points) ก็บอกแล้วว่า นี่คือสิ่งที่ผู้เล่นเกมทั้งสองฝ่ายต้องคิดถึงและหาให้เจอ เชลลิ่งได้ทำการทดลองที่พิสูจน์ว่า แม้ไม่มีโอกาสสื่อสารกันเลย ทั้งสองฝ่ายก็ยังสามารถค้นพบจุดรวมความคิดได้ โดยการพยายามอ่านใจกันและกัน และโดยเข้าใจธรรมชาติของคนว่าจะแสวงหาประโยชน์สูงสุด

ยกตัวอย่าง การทดลองหนึ่งเป็นการจับคู่โยนเหรียญและเลือกหัว-ก้อย โดยไม่ให้ผู้เล่นทั้งสองมีโอกาสพูดคุยกัน โดยกติกามีอยู่ว่า ถ้าผู้เล่นทั้งสองคนเลือกหัว ผู้เล่นคนแรกจะได้ 30 บาทและผู้เล่นคนที่สองจะได้ 20 บาท แต่ถ้าทั้งสองคนเลือกก้อย ผู้เล่นคนแรกจะได้ 20 บาทส่วนผู้เล่นคนที่สองจะได้ 30 บาท ผลก็คือ ผู้เล่นกลุ่ม ก. 16 คนจากทั้งหมด 22 คน และผู้เล่นกลุ่ม ข. 15 คนจากทั้งหมด 22 คนต่างเลือกหัว

คำอธิบายก็คือ ผู้เล่นกลุ่ม ข. รู้ดีว่า อย่างไรเสียผู้เล่นกลุ่ม ก. ก็จะเลือกหัว (30 บาท) ดังนั้น ทางที่ดีที่สุดสำหรับผู้เล่นกลุ่ม ข. ก็คือเลือกหัวด้วย เพื่อให้ตนได้ 20 บาทแทนที่จะดันทุรังเลือกก้อย ซึ่งถ้าผู้เล่นกลุ่ม ก. เลือกหัว ทั้งคู่จะไม่ได้อะไรเลย

ในกรณีนี้หัวจึงเป็นจุดรวมความคิด เพราะถ้าผู้เล่นทั้งคู่คิด ความคิดนั้นจะมาบรรจบกันที่การเลือกหัวนี่เอง




บทวิพากษ์ทฤษฎีการเลือกอย่างมีเหตุผลและ ทฤษฎีเกมของ Jon Elster (33)

คนแคระบนบ่ายักษ์ : แพทย์ พิจิตร มติชนรายสัปดาห์ วันที่ 01 สิงหาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 28 ฉบับที่ 1459

นักทฤษฎีเกมสายคลาสสิคบางรายไม่เห็นด้วยกับวิธี "ปัญหากลืนไม่เข้าคายไม่ออกของนักโทษหรือ "Prisoner"s Dilemma" ของโทมัส เชลลิ่ง (Thomas Schelling) เพราะมองว่าวิธีการของเขาค่อนข้างจะเป็นการหนีปัญหา กล่าวคือ แทนที่จะพยายามตอบปัญหาในกรอบของทฤษฎีเกมที่ว่าด้วย "ยุทธศาสตร์เด่น" (dominant strategy) ในกรณีนี้จะเป็นไปได้อย่างไร

เช่นที่ จอห์น ฟอร์บ แนช จูเนียร์ (John Forbes Nash, Jr.) พยายามคิดค้นหาคำตอบ จนกระทั่งทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์ไป ในปี พ.ศ.2537 ร่วมกับนักทฤษฎีเกมอีกสองคนคือ ไรน์ฮาร์ด เซลเทน (Reinhard Selten) และ จอห์น ฮาร์ซานยี (John Harsanyi)

แต่เชลลิ่งกลับเปลี่ยนสมมติฐานเสียใหม่จนทำให้ ปัญหานี้ลดความสำคัญลงไป โดยอธิบายว่าความขัดแย้งแบบ zero-sum ชนิดที่จะนำไปสู่ปัญหานี้จริงๆ เป็นสิ่งที่พบได้น้อย เพราะความขัดแย้งส่วนใหญ่เป็นแบบต่อรองในที (tacit bargaining) และการประสานงานกันในทีมากกว่า

นั่นคือ คู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายมีประโยชน์ร่วมกันในการควบคุมความขัดแย้งให้อยู่ใน ระดับต่ำๆ ไปตลอด มากกว่าจะให้ระเบิดเปรี้ยงปร้างและทำลายทุกอย่างจนราบคาบ

ซึ่งหมายความว่า ทั้งคู่ต้องพยายาม "อ่านใจ" (ไม่ใช่ "เดาใจ" ที่ฟังดูเหมือนใช้สัญชาตญาณมากกว่าเหตุผลและข้อมูล) ฝ่ายตรงข้าม รวมทั้ง "อ่านสถานการณ์" ได้อย่างถูกต้องว่าอะไรที่เป็นจุดรวมความคิดของตนและอีกฝ่าย เพื่อปรับพฤติกรรมให้ตรงกันทำให้การต่อรองและการประสานงานเป็นไปได้อย่างราบ รื่น

เราอาจมองตรงข้ามกับนักทฤษฎีเกมสายคลาสสิคได้ ว่า จริงๆ แล้วสิ่งที่เชลลิ่งเสนอนั้นมีคุณูปการมากในแง่ที่ทำให้คู่อริ หรือคู่กรณีในความขัดแย้งมองเห็นทางออกที่เป็นไปได้กว้างขวางกว่าเดิม

เพราะถ้าเราลองกลับไปคิดถึง "เกมกับดัก หรือ เกมคนโง่" (entrapment game) ที่เคยกล่าวไปแล้วว่า หากผู้เล่นทั้งสองมีทัศนะแบบ zero-sum game ย่อมเป็นไปได้สูงที่ผลลัพธ์จะออกมาในแบบที่เรย์ฟ่า (Howard Raiffa) เจอมา นั่นคือ ผู้เล่นทั้งสองฝ่ายขับเคี่ยวจะเอาชนะกันจนเข้าเนื้อด้วยกันทั้งคู่

แต่ในทางกลับกัน ถ้าผู้เล่นทั้งสองฝ่ายใช้มุมมองแบบการต่อรองและประสานงานอย่างที่เชลลิ่งพูด ถึง โอกาสที่พวกเขาจะถลำลึกจนเข้าเนื้อและฉิบหายทั้งคู่ย่อมเป็นไปได้น้อยกว่า และแม้เกมนี้จะมีผู้ชนะและผู้แพ้ก็จริง แต่ผู้แพ้ก็ไม่ได้สูญเสียอะไร

เพราะแม้จะชนะการประมูลเหรียญไม่ได้ (ดูมติชนสัปดาห์ที่ 13 มิถุนายน 2551) แต่พวกเขาก็ยังไม่ได้แย่ไปกว่าเมื่อตอนก่อนที่จะเล่นเกม เหมือนกับในกรณีของผู้เล่นทั้งสองคนในเกมของเรย์ฟ่า

ปัจจุบันในโลกตะวันตกให้ความสำคัญกับทักษะด้าน การต่อรองและการประสานงานอย่างมาก ซึ่งส่วนหนึ่งก็เกิดจากผลงานของนักวิจัยที่ Rand Cooperation อย่างเชลลิ่งและเรย์ฟ่า (ทั้งคู่เป็นเพื่อนกันด้วย) มหาวิทยาลัยหลายแห่งในอเมริกาและยุโรปเปิดสอนหลักสูตรด้านการต่อรองโดยเฉพาะ ทุกๆ วันนักเรียนต้องเข้าชั้นเรียนและฝึกต่อรองตามแบบฝึกหัดที่อาจารย์มอบให้ และจะได้คะแนนหรือเกรดตามผลลัพธ์ที่ได้จากการต่อรอง

และที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือ คะแนนนี้จะให้เป็นคู่ ไม่ใช่เป็นรายบุคคล

โดยหลักมีอยู่ว่า นักเรียนคู่ไหนที่ต่อรองกันแล้วได้ผลลัพธ์ออกมา เป็นประโยชน์สูงสุดสำหรับทั้งสองฝ่าย จะได้คะแนนสูงสุด หรือถ้าจะยกตัวอย่างหยาบๆ ก็คือ ถ้าอาจารย์กำหนดให้การต่อรอง ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด นั่นคือ ทั้งสองฝ่ายได้กันไปคนละ 50 : 50 แล้ว นักเรียนคู่ ก. ได้ผลลัพธ์ออกมาเท่ากับ 80 : 20 คู่นี้จะได้คะแนนน้อยกว่านักเรียนคู่ ข. ที่ต่อรองกันแล้วได้ผลลัพธ์ออกมาเป็น 45 : 55 เพราะฝ่ายหลังทำได้ใกล้เคียงกับการต่อรองที่มีประสิทธิภาพสูงสุดมากกว่า

แต่ในทางกลับกัน ถ้ามองในแง่ของการเค้น (squeeze) เอาผลประโยชน์ที่เป็นไปได้ออกมามากที่สุด นักเรียนคู่ ก. จะถือว่าทำได้ดีกว่านักเรียนคู่ ค. ที่ได้ผลการต่อรองออกมาเป็น 30 : 15 ซึ่งหมายถึงการต่อรองของคู่นี้ได้ประโยชน์น้อยมาก และอาจไม่คุ้มกับค่าเสียเวลาที่จะไปทำอย่างอื่น เช่น การก่อกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วง เป็นต้น

แม้จะมีข้อดีดังที่กล่าวมา แต่ทฤษฎีจุดรวมความคิด (focal points) ของ เชลลิ่ง ก็ยังมีจุดอ่อนอยู่สองข้อ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขก่อนที่จะนำไปใช้ในระดับที่สูงขึ้นไป เช่น ในกรณีของการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมและการเมือง

จุดอ่อนประการแรก เกี่ยวกับการหาจุดรวมความคิด กล่าวคือ ความเด่นสะดุดตา (salience) นั้นมีได้หลายแบบ เช่น เด่นเพราะหายาก (ลองคิดถึงนางเอกสาวหน้าอกคัพดีในปัจจุบันนี้คุณนึกถึงใคร?) เด่นเพราะความโด่งดังหรือความเคยชิน (ลองคิดถึงพิธีกรชายในรายการข่าวภาคเช้าคุณคิดถึงใคร?) เด่นเพราะความแปลก ฯลฯ

ซึ่งจากกรณีดังกล่าว ทำให้เวลามองหาสิ่งที่เด่น ผู้เล่นทั้งสองฝ่ายอาจมองเห็นความเด่นคนละแบบ ทำให้อ่านใจกันผิดและการประสานงานไม่ประสบความสำเร็จตามความมุ่งหมาย

เชลลิ่งเองพูดไว้กว้างมากว่าจุดรวมความคิดใน สถานการณ์หนึ่งอาจอยู่ที่ลักษณะภายนอก เช่น รูปร่างหน้าตา สีสัน ไปจนถึงขนบธรรมเนียมประเพณีและกฎหมาย แต่ถ้าจุดรวมความคิดมีมากเกินไป ก็เท่ากับว่า มันเหมือนกับไม่มีเลย ดังนั้น ถ้าจะให้ความคิดนี้กระชับรัดกุมขึ้นและใช้ได้จริง เราจำเป็นต้องนิยามจุดรวมความคิดที่ว่านี้ให้แคบลง ซึ่งนี่คือสิ่งที่เอลสเตอร์ (Jon Elster) ทำ ดังจะได้อธิบายในตอนต่อไป

ส่วนจุดอ่อนประการที่สองคือ จุดรวมความคิดที่เชลลิ่งพูดถึงอาจมีหรือไม่มีมิติทางศีลธรรมก็ได้ การทดลองบางอย่างของเขาแสดงให้เห็นว่า แม้แต่ในสถานการณ์ที่จุดรวมความคิดไม่เป็นธรรม (unfair) ในแง่ที่เอนเอียงเข้าข้างผลประโยชน์ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง มากเป็นพิเศษ อีกฝ่ายที่เสียเปรียบก็ยังสามารถค้นพบและยอมรับมันได้ เพราะอย่างน้อยก็ยังดีกว่าไม่ได้อะไรเลย

ยกตัวอย่าง เขาให้กระดาษที่เขียนตัวอักษร ก. ข. และ ค. แก่ผู้ร่วมทดลองสามคน และให้ทั้งสามคนเขียนอักษรสามตัวนี้ เรียงกันในรูปใดก็ได้ (เช่น ก. ข. ค. หรือ ข. ก. ค ฯลฯ) แต่ถ้าทั้งสามคนเขียนเรียงลำดับอักษรนี้ออกมาเป็นแบบเดียวกัน พวกเขาจะได้รางวัลเป็นเงิน 600 บาท และให้แบ่งกันตามกติกาดังนี้คือ :

300 บาทสำหรับคนที่ตัวอักษรของเขาอยู่หน้าสุดในลำดับอักษรของทั้งสามคน; 200 บาท สำหรับคนที่ตัวอักษรของเขา อยู่ลำดับที่สอง; และ 100 บาท สำหรับคนที่ตัวอักษรอยู่ลำดับที่สาม

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นก็คือ 9 จาก 12 คน ที่ได้ตัวอักษร ก. 10 จาก 12 คนที่ได้ตัวอักษร ข. และ 14 จาก 16 คน ที่ได้ตัวอักษร ค. เลือกที่จะเรียงลำดับอักษรนี้ในรูป "ก. ข. ค." เหมือนกัน ทำให้ได้รางวัลไปแบ่งกันโดยคนที่เป็นเจ้าของตัวอักษร ก. ก็ได้มากที่สุด และคนที่เป็นเจ้าของตัวอักษร ค. ได้น้อยที่สุด

เชลลิ่งเองไม่ได้สนใจกับประเด็นเรื่องความเป็น ธรรมมากนัก ความสนใจแรกเริ่มของเขาคือ จะหาทางออกให้กับปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลได้อย่างไรโดยมองหา "เงื่อนงำ" เกี่ยวกับทางออกที่ดีที่สุดจากภายในสถานการณ์นั้นๆ

ซึ่งบางครั้งคำตอบก็มาจากธรรมเนียมปฏิบัติที่มี อยู่แล้วที่อาจเป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรมก็ได้ และอาจสมใจผู้เล่นทั้งสองฝ่าย หรือไม่ก็ได้ แต่ถ้าจะใช้ประโยชน์จากความคิดดังกล่าวนี้ของเขา โดยนำไปใช้กับกรณีการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมและการเมือง ซึ่งเรียกร้องความชอบธรรมเป็นพิเศษ เพราะเกี่ยวข้องกับอำนาจบังคับที่สามารถกำหนดความเป็นไปของชีวิตคนได้ (โดยเฉพาะฝ่ายที่เสียเปรียบ)

เราก็จำเป็นต้องทำให้จุดรวมความคิดนี้มีมิติทาง ศีลธรรมที่ทุกคนยอมรับได้ด้วย

และคนที่ช่วยแก้จุดอ่อนนี้ให้แก่เชลลิ่งก็คือ จอห์น รอลส์ (John Rawls)

John Rawls (ค.ศ. ๑๙๒๑-๒๐๐๒)

จอห์น รอลส์ เป็นศาสตราจารย์ทางด้านปรัชญาการเมืองแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เสียชีวิตไปเมื่อปี พ.ศ.2545 ขณะที่เขาสิริอายุรวมได้ 81 ปี รอลส์มีชื่อเสียงโด่งดังมากจาก A Theory of Justice ตำราที่เขาแต่งขึ้นและตีพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ.2514 (ทบทวนแก้ไขในปี พ.ศ.2518 และ 2542)

วงการวิชาการอมริกันยกย่องขนาดว่า ตั้งแต่เพลโตเขียนเรื่องความยุติธรรมใน the Republic ก็มี A Theory of Justice ของรอลส์นี่แหละที่เทียบเท่า! (ซึ่งก็ดูจะเกินเลยไปที่ชื่นชมกันขนาดนั้น) และได้รับการยกย่องว่า เป็นผู้ทำให้ปรัชญาการเมืองกลับมามีชีวิตชีวาขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ เขาเป็นนักปรัชญาการเมืองคนสำคัญของโลกตะวันตกแห่งศตวรรษที่ 20 โดยเครื่องมือทางความคิดที่เขาใช้ก็คือ ทฤษฎีสัญญาประชาคม (social contract) ที่ทุกคนที่เคยเรียนรัฐศาสตร์มา คงรู้จักกันเป็นอย่างดีอยู่แล้ว

คุณูปการของรอลส์จะเป็นอย่างไร และแสดงอัจฉริยภาพของเขาขนาดไหน ที่ทำให้รอลส์ถูกขนานนามว่า คือผู้พลิกฟื้นให้ปรัชญาการเมืองกลับมามีชีวิตใหม่อีกครั้ง หลังจากซบเซาไปหลายสิบปี ภายใต้อิทธิพลของรัฐศาสตร์ยุคพฤติกรรมศาสตร์ รวมทั้งการเป็นนักวิชาการที่ความคิดของเขาถูกเอ่ยอ้างถึงมากที่สุด ในการอภิปรายแลกเปลี่ยนในสภา และศาลยุติธรรม ของทั้งอังกฤษและอเมริกา

เราจะมาคุยถึงความคิดของ จอห์น รอลส์ กันในตอนสุดท้ายของ "บทวิพากษ์ทฤษฎีการเลือกอย่างมีเหตุผลและทฤษฎีเกมของ Jon Elster" ซึ่งผู้เขียนเห็นว่า มันชักจะยาวเกินไปแล้วนี้ หลังจากอธิบายทางออกของเอลสเตอร์แล้ว




บทวิพากษ์ทฤษฎีการเลือกอย่างมีเหตุผลและ ทฤษฎีเกมของ Jon Elster (34)

คนแคระบนบ่ายักษ์ : แพทย์ พิจิตร มติชนรายสัปดาห์ วันที่ 08 สิงหาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 28 ฉบับที่ 1460

จอน เอลสเตอร์ (Jon Elster) นักทฤษฎีการเลือกอย่างมีเหตุผล (rational choice theory) ไม่เคยปิดบังความนับถือยกย่องที่เขามีต่ออัจฉริยภาพของ โทมัส เชลลิ่ง (Thomas Schelling) นักเศรษฐศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบล ผู้พัฒนาทฤษฎีเกมให้ก้าวหน้ามากขึ้น งานของเอลสเตอร์เกือบทุกชิ้นจะอ้างงานของเชลลิ่ง ซึ่งแสดงถึงความให้เกียรติอย่างมาก

และที่สำคัญที่สุด เอลสเตอร์ได้ใช้ทฤษฎีจุดรวมความคิด (focal points) ของเชลลิ่งเป็นฐานสำหรับพัฒนาทฤษฎี เรื่องบรรทัดฐานทางสังคม (social norms) ขึ้นมาในฐานะที่เป็นทางออกสำหรับปัญหาความร่วมมือกัน ของปัจเจกบุคคลที่แต่ละคนมุ่งแสวงหาประโยชน์ส่วนตัว (หรือจะเรียกว่าเห็นแก่ตัวก็ย่อมได้)

รวมทั้งเป็นกาวใจที่สร้างความสมานฉันท์ (The cement of society) ให้แก่คนในสังคมที่มีผลประโยชน์--ความคิดเห็น และจุดมุ่งหมายชีวิตที่หลาก หลายแตกต่างกัน

อย่างที่บอกไปแล้วว่า เอลสเตอร์เลือกบรรทัดฐานทางสังคมขึ้นมาจากจุดรวมความคิดหลายๆ แบบที่เชลลิ่งได้กล่าวถึงไว้ เขาเชื่อว่าสิ่งนี้เท่านั้นที่จะเป็นซีเมนต์ (cement) ที่สามารถเชื่อมโยงคนในสังคมและทำให้ทุกคนปรับพฤติกรรมเข้าหากันได้ ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องเข้าใจก่อนว่า บรรทัดฐานนี้หมายถึงอะไร มันแตกต่างจากสิ่งอื่นๆ เช่น ความมีเหตุผล บรรทัดฐานทางกฎหมาย บรรทัดฐานทางศีลธรรมหรือศาสนาอย่างไร

สำหรับความมีเหตุผล เอลสเตอร์อธิบายว่า ขณะที่ความมีเหตุผลเกี่ยวข้องกับการบรรลุเป้าหมายที่คนคนหนึ่งตั้งไว้ โดยเป็นสิ่งที่บอกว่า ถ้าคนคนหนึ่งมีเป้าหมายแบบนี้ ควรทำสิ่งนี้ หรือใช้สิ่งนี้เป็นเครื่องมือเพื่อบรรลุเป้าหมายนั้น

แต่บรรทัดฐานทางสังคมจะไม่ได้บอก ถึงเครื่องมือสำหรับบรรลุเป้าหมาย แต่จะมาในรูปของประโยคคำสั่งที่บอกว่า "จงทำสิ่งนี้" "ห้ามทำสิ่งนั้น" หรือถ้าซับซ้อนขึ้นกว่านั้นก็คือ "จงทำสิ่งนี้ถ้าคนอื่นก็ทำสิ่งนี้" หรือ "ห้ามทำสิ่งนี้ถ้าทุกคนทำสิ่งนี้" รวมถึง "จงทำสิ่งนี้ถ้าเป็นเรื่องดีถ้าทุกคนจะทำมัน"

สำหรับบรรทัดฐานทางกฎหมาย การเชื่อฟังกฎหมายมีแนวโน้มจะเกิดจากความมีเหตุมีผลของคน นั่นคือ เชื่อฟังกฎหมายเพราะไม่อยากถูกลงโทษ เช่น จำคุก กักขัง หน่วงเหนี่ยว ปรับ หรือริบทรัพย์ที่จะทำให้ตัวผู้ฝ่าฝืนเองต้องเสียประโยชน์มากกว่าได้

แต่บรรทัดฐานทางสังคมจะไม่มีลักษณะของการใคร่ ครวญถึงประโยชน์ที่จะได้รับ หรือความสูญเสียเสรีภาพ หรือทรัพย์สินที่จะตามมาจากการกระทำ เพราะเหตุผลที่กระทำนั้นไม่ได้มุ่งที่ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น เท่ากับหลีกเลี่ยงความรู้สึกไม่ดีบางอย่างที่จะตามมาจากการฝ่าฝืน ดังที่จะได้อธิบายต่อไป

สำหรับบรรทัดฐานทางศีลธรรม บรรทัดฐานชนิดนี้มีทั้งแบบหวังผลและแบบไม่หวังผล แบบที่หวังผลแน่นอนว่าต่างจากบรรทัดฐานทางสังคมที่ไม่ได้ทำเพราะหวังผล ส่วนแบบที่ไม่หวังผลอาจจะคล้ายบรรทัดฐานทางสังคมมากกว่า แต่จะเป็นบรรทัดฐานทางสังคมได้ต่อเมื่อคนทั้งสังคมต้องยึดถือบรรทัดฐานนี้ ร่วมกันด้วย

ซึ่งเป็นเรื่องยากสำหรับสังคมที่ประกอบด้วยระบบ ศีลธรรมหลายแบบ

จะเห็นว่าเอลสเตอร์ไม่พูดถึงบรรทัดฐานทาง ศีลธรรมที่มาจากศาสนา ซึ่งก็เป็นธรรมเนียมของโลกตะวันตก ที่แยกเรื่องทางโลกกับศาสนาออกจากกัน

คำถามคือ ถ้ามันต่างจากสิ่งเหล่านี้ที่มีพลังผลักดันการกระทำของคนได้ แล้วบรรทัดฐานทางสังคม สั่ง ให้เราทำหรือไม่ทำบางสิ่งบางอย่างได้อย่างไร?

เอลสเตอร์อธิบายว่า บรรทัดฐานทางสังคมก็คือ ความคาดหวังของสังคมที่ว่า คนทุกคนในสังคมนั้นควรแสดงพฤติกรรมที่ตรงกับบรรทัดฐานที่ทุกคนยึดถือร่วมกัน กำหนดไว้

โดยสังคมในที่นี้ไม่ได้หมายถึงอะไรบางอย่างที่ เป็นองค์รวมจับต้องไม่ได้แต่รู้ว่ามีอยู่ แต่หมายถึงผลรวมของปัจเจกบุคคลแต่ละคนที่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน และมีพฤติกรรมซึ่งส่งผลกระทบต่อกัน ไม่ว่าทางบวกหรือทางลบ ความคาดหวังของสังคมจึงมีได้ต่อเมื่อคนแต่ละคนมีความคาดหวังเกี่ยวกับ พฤติกรรมของกันและกัน ว่าควรเป็นไปในทางที่ทุกคนเห็นว่าพึงปรารถนา

ยกตัวอย่างเช่น บรรทัดฐานทางสังคมเกี่ยวกับการแสดงความโอบอ้อมอารีต่อเด็ก และคนชรา จะมีได้ต่อเมื่อคนแต่ละคน มีคาดหวังให้คนอื่นๆ (รวมทั้งตัวเองด้วย) แสดงพฤติกรรมที่โอบอ้อมอารีต่อผู้อ่อนแอกว่าเหล่านี้

ในแง่นี้ บนรถเมล์ที่คนทุกคนหรืออย่างน้อยคนส่วนใหญ่ คาดหวังให้ชายฉกรรจ์ที่แข็งแรงสละที่นั่งให้เด็กหรือคนชรา และจะแสดงอาการรังเกียจเดียดฉันท์ชายฉกรรจ์ที่แกล้งหลับ หรือนั่งเฉยแม้จะเห็นเด็ก หรือคนชราถูกรถเมล์เหวี่ยงไปเหวี่ยงมาอยู่ต่อหน้า

อย่างนี้ก็ถือได้ว่าบรรทัดฐานทางสังคมทำงานอยู่ บนรถเมล์คันนั้น ส่วนบนรถเมล์อีกคันที่ผู้โดยสารทุกคนไม่ใส่ใจ ว่าชายฉกรรจ์จะลุกให้เด็กหรือคนชรานั่งหรือไม่นั้น ไม่อาจถือได้ว่ามีบรรทัดฐานทางสังคมทำงานอยู่เหมือนบนรถเมล์คันแรก

มีคนรู้จักคนหนึ่งเรียนปริญญาเอกที่ฝรั่งเศส อยู่หลายปี เจอกันครั้งล่าสุด เขาเล่าเรื่องให้ฟังเรื่องหนึ่ง ซึ่งสะท้อนความคิดเรื่องบรรทัดฐานทางสังคม ของเอลสเตอร์ได้อย่างชัดเจนมาก

เรื่องมีอยู่ว่า ครั้งหนึ่งบนรถโดยสารสาธารณะ มีหญิงสาววัยรุ่นผู้หนึ่ง ฝ่าฝืนกฎห้ามสูบบุหรี่บนรถ และยืนพ่นควันบุหรี่ปุ๋ยๆ ใส่ผู้โดยสารคนอื่นอย่างไม่ยี่หระใคร ไม่นานนักเจ้าหน้าที่ตรวจตั๋วได้เดินเข้าไปตักเตือนวัยรุ่นสาวผู้นี้ให้หยุด สูบ โดยบอกว่าเธอทำไม่ถูกต้องเพราะสร้างความเดือดร้อนให้ผู้โดย สารท่านอื่น

หญิงสาวผู้นั้นตอบกลับมาทำนองว่า อย่ามายุ่งเรื่องของฉัน เจ้าหน้าที่จึงพูดกลับไปว่า เพราะมีคนอย่างเธอประเทศของเรา ถึงไม่ก้าวไปไหน ถ้าเธอยังไม่ยอมดับบุหรี่เพื่อเห็นแก่คนอื่น ก็ลงจากรถคันนี้ไป

ปรากฏว่าผู้โดยสารทั้งคันรถพากันปรบมือเสียงดัง ลั่น ให้กับเจ้าหน้าที่ท่านนี้เป็นทำนองว่า เขาได้ทำในสิ่งที่ถูกต้องแล้ว ทำให้วัยรุ่นสาวรายนั้นต้องรีบลงจากรถที่ป้ายต่อไปในที่สุด

ในความคิดของเอลสเตอร์ บรรทัดฐานทางสังคมจึงต้องถูกค้ำจุนด้วยคนทุกคนในสังคม เพราะหากบรรทัดฐานนี้ หย่อนยานเนื่องจากทุกคนเห็นคนฝ่าฝืนแล้วก็เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ แทนที่จะลุกขึ้นมาจัดการแบบที่เจ้าหน้าที่รถสาธารณะท่านนี้ ทำในระยะยาว สังคมก็จะขาดจุดรวมความคิด (focal point) สำหรับใช้ประสานพฤติกรรมให้เป็นไปในทางที่สอดคล้องกัน และรักษาระดับความตึงเครียดในสังคมไม่ให้บานปลายเป็นความแตกแยกรุนแรงได้

และถ้าจะให้ดี บรรทัดฐานนี้ควรมีลักษณะที่เด่นชัดมองเห็นได้ง่ายในแบบที่เชลลิ่งพูดไว้ นั่นคือ ไม่เพียงตัวบุคคล ที่ฝ่าฝืนบรรทัดฐานเท่านั้นที่ต้องถูกตำหนิติเตียน (ซึ่งอาจรุนแรงถึงเลิกคบไม่ทำสังฆกรรมด้วยโดยเด็ดขาด) แต่บุคคลที่ปล่อยให้ผู้ฝ่าฝืนบรรทัดฐานเหล่านั้นลอยนวลก็ต้องถูกตำหนิ ติเตียน หรือเลิกคบด้วยเช่นกัน กรณีที่การฝ่าฝืนมีความรุนแรงมาก

เพราะด้วยวิธีนี้เท่านั้นที่บรรทัดฐานทางสังคม จะมีความเข้มแข็ง จนสามารถเป็นจุดรวมความคิดสำหรับคนทั้งสังคม

เราอาจลองคิดเล่นๆ ว่า แล้วสังคมไทยมีอะไรเป็นบรรทัดฐานทางสังคม ที่เด่นชัดขนาดเป็นจุดรวมความคิดสำหรับทุกคนได้? ตัดกฎหมายรัฐธรรมนูญออกไปได้ เพราะเป็นบรรทัดฐานทางกฎหมาย ศีลห้าก็คงไม่ใช่เพราะเป็นบรรทัดฐานทางศีลธรรม ส่วนการรณรงค์เรียกร้องโดยกลุ่มผลประโยชน์ในบางเรื่องก็คงไม่ใช่ เพราะถ้าเป็นบรรทัดฐานทางสังคม สิ่งนี้ต้องชัดเจนจนไม่จำเป็นต้องมีการรณรงค์

ซึ่งถ้าเราคิดเท่าไหร่ก็ยังคิดไม่ออก นั่นอาจเป็นเพราะบรรทัดฐานทางสังคมที่เราเคยมีนั้นสูญเสียความเด่นชัดไปแล้ว

และถ้าเป็นเช่นนั้นตามคำอธิบายของเอลสเตอร์ก็ คือ โครงการสร้างความสมานฉันท์ที่พูดกันปาวๆ อยู่ทุกวันนี้ ท้ายที่สุดก็ไม่น่าจะประสบความสำเร็จได้ เพราะกาวดีๆ สำหรับใช้ในการสมานฉันท์นี้มันไม่เหนียวเหมือนเดิมอีกต่อไป

ไม่ต้องดูอะไรไกล ขนาดทางม้าลาย ก็ยังใช้บรรทัดฐานทางกฎหมายบังคับไม่ได้ ดังนั้น บรรทัดฐานทางสังคมยิ่งไม่ต้องพูดถึง คงเหลือแต่เรื่องบาปบุญหรือศีลธรรมทางศาสนา ที่คนขับรถบางคนจะยอมจอดตรงทางม้าลาย หากมีพระสงฆ์กำลังจะข้ามถนน สงสัยจะกลัวบาปและอยากได้บุญกระมัง หรือไม่ก็จอดให้ยายแก่ตาแก่หรือคนพิการขนาดหนักข้าม ก็น่าจะเข้าข่ายเมตตากรุณามากกว่าจะเคารพกฎหมายหรือบรรทัดฐานทางสังคม!



จาก Jon Elster ถึง John Rawls (34)

คนแคระบนบ่ายักษ์ : แพทย์ พิจิตร มติชนรายสัปดาห์ วันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 28 ฉบับที่ 1461

จุดอ่อนประการหนึ่งของทฤษฎีจุดรวมความคิด (focal points) ของ โทมัส เชลลิ่ง นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ผู้พัฒนาทฤษฎีเกมจนเป็นที่เลื่องลือคือ การขาดมิติด้านศีลธรรมที่ชัดเจนในการกำกับการตัดสินใจและการกระทำ

เนื่องจากเชลลิ่งไม่ได้สนใจว่า สิ่งที่เป็นจุดรวมความคิดหรือทางออกในปฏิสัมพันธ์หนึ่งๆ นั้นมีความยุติธรรม หรือเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่ายที่เกี่ยวข้องหรือไม่ ประเด็นของเขามีแค่ว่ามันมีจุดรวมนี้อยู่ และทั้งสองฝ่ายสามารถหามันพบได้ ในบางกรณีมันอาจตอบสนองเงื่อนไขความเป็นธรรมด้วย

เช่น เมื่อผลการทดลองออกมาว่า คนสองคนที่มีเงินเดือน 15,000 และ 10,000 บาท ทั้งสองต่างตกลงกันได้ว่า ควรแบ่งกันรับผิดชอบภาษีจำนวน 2,500 บาทโดยคนแรก (ซึ่งมีเงินเดือน 15,000 บาท) จ่าย 1,500 บาทและคนที่สอง (ซึ่งมีเงินเดือน 10,000 บาท) จ่าย 1,000 บาท ซึ่งดูแล้วค่อนข้างเป็นธรรม เพราะสัดส่วนภาษีสอดคล้องกับระดับเงินเดือนของแต่ละฝ่าย

แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า มันไม่จำเป็นต้องเป็นเช่นนี้ในทุกกรณี เพราะในกรณีอื่นๆ ผู้คนอาจตกลงกันที่จุดอื่น ซึ่งมีประสิทธิภาพแต่ไม่เป็นธรรมก็ได้

คนที่ช่วยแก้จุดอ่อนนี้ให้แก่เชลลิ่งก็คือ จอห์น รอลส์ (John Rawls : ค.ศ.1921-2002) ศาสตราจารย์ทางด้านปรัชญาการเมือง แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ในฐานะนักทฤษฎีสัญญาประชาคม รอลส์เองก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับปฏิสัมพันธ์ย่อยๆ ระหว่างบุคคลเช่นกัน แต่เน้นไปที่ตัวสถาบันโครงสร้างพื้นฐานทางสังคม เช่น กฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายลูกที่เกี่ยวข้อง รวมถึงนโยบายที่จะถูกนำไปใช้โดยสถาบันทางการเมืองที่สำคัญๆ เช่น ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหารและตุลาการต้องมีความยุติธรรม

เพราะสิ่งนี้ครอบคลุมปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล กับบุคคล ทั้งยังมีอำนาจบังคับเหนือผู้คน และสามารถก่อให้เกิดผลกระทบแก่ชีวิตของคนในรัฐได้อย่างที่ไม่มีใครคนใดคน เดียวทำได้

ความน่าทึ่งของรอลส์อยู่ตรงที่ เขาพยายามอธิบายว่า ในกรณีที่เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ขึ้น ระหว่างคนกลุ่มต่างๆ ในสังคมประชาธิปไตยที่ไม่มีใครมีอำนาจเหนือใคร เราสามารถใช้ทฤษฎีสัญญาประชาคม มาเป็นเครื่องช่วยหาหลักการพื้นฐาน ที่จะทำหน้าที่เป็นจุดรวมความคิด (focal points) ให้แก่คนในสังคมได้

แต่ก่อนอื่น เราต้องทำความเข้าใจว่า เดิมที ตัวทฤษฎีสัญญาประชามคมนี้เกี่ยวข้องกับสัญญาจัดตั้งรัฐร่วมกัน โดยคนที่เสรีและเสมอภาค แต่รอลส์ได้นำทฤษฎีดังกล่าวนี้มาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างสถานการณ์การเลือก (choice situation) ที่มีลักษณะพิเศษที่ทำให้อ้างได้ว่าหลักการที่คนจะเลือกรับภายใต้สถานการณ์ นี้คือ หลักที่ยุติธรรมจริงๆ

รอลส์เสนอให้เราใช้สถานการณ์การเลือกนี้เพื่อ รับมือกับผลประโยชน์ที่หลากหลาย โดยชี้ว่า แม้แต่คนที่มีผลประโยชน์ขัดแย้งกัน หากแต่ละคนคิดว่าตนต้องเลือกหลักความยุติธรรม มาเป็นหลักบังคับทางการเมืองในสถานการณ์การเลือก ที่เขาอธิบายก็ยังจะหาจุดรวมความคิดกันได้อยู่ โดยก่อนอื่นทุกคนต้องใช้จินตนาการ หรือทำการทดลองทางความคิดว่า ถ้าตัวเองคือหนึ่งในคณะบุคคล (คิดเล่นๆ ว่าเป็นคณะราษฎร์ไปก่อนก็ได้) ที่กำลังมาร่วมกันตัดสินใจว่า ในการวางโครงสร้างและสถาบันพื้นฐานของสังคมนั้นๆ เช่น กฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นๆ

โดยต้องคิดว่า สถาบันต่างๆ เหล่านี้ควรถูกกำกับด้วยหลักการใด แล้วเขาจะเลือกหลักชนิดไหน?

แต่แค่นี้ยังไม่พอ ทุกคนต้องจินตนาการต่อไปด้วยว่า ตอนที่เลือกนั้นเราไม่รู้ว่าตัวเราเป็น "ใคร" จะเป็นชายหรือหญิงก็ยังไม่รู้ ไม่รู้ว่าเราจะมีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมอยู่ในขั้นใด จะฉลาดหรือโง่ก็ไม่รู้ จะมีทักษะความรู้ความสามารถอะไรก็ไม่รู้ ฯลฯ แต่เรารู้แค่ว่าเราอาจจะมีความชอบและแผนการณ์บางอย่างสำหรับชีวิต แต่ไม่รู้ว่าสิ่งนั้นคืออะไร

และสุดท้ายเรารู้ดีว่า โลกนี้มีความไม่เสมอภาคอยู่ตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นเรื่องของโชคหรือความบังเอิญ และเราอาจโชคร้าย เกิดมาอยู่ในกลุ่มคนยากไร้ที่สุดในสังคมหรือคนพิการก็ได้

ต่อจากนั้น ให้เราเลือกหาหลักการพื้นฐานสำหรับใช้จัดระเบียบทางสังคม ชนิดที่เราคิดว่าจะส่งเสริมผลประโยชน์ของเรามากที่สุด ไม่ว่าในที่สุดแล้วเราจะเป็น "ใคร" ก็ตาม

มาถึงตรงนี้ บางคนอาจอยากจะคัดค้านรอลส์เต็มแก่ ว่าคิดอะไรไม่เข้าท่า เป็นไปได้อย่างไรที่จะบอกได้ว่า อะไรคือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเรา ทั้งๆ ที่เราก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองเป็น "ใคร" และ "อย่างไร"

แต่ที่รอลส์ให้เราต้องสมมติเช่นนี้ก็เพราะ ถ้าทุกคนเป็นคนที่เสรีและเสมอภาคเหมือนกัน แต่ลักษณะอื่นนอกนั้นต่างกันหมด ย่อมเป็นไปได้ยากที่ทุกคนจะหาจุดรวมความคิดเจอ เพราะแม้แต่หลักที่เป็นสากลนามธรรมที่สุด คนที่มาจากต่างพ่อต่างแม่ก็ยังเห็นขัดแย้งกันได้

ตัวอย่างเช่น คนที่เห็นแตกต่างกันในทางการเมือง โดยฝ่ายหนึ่งเป็นผู้นิยมอุดมการณ์แบบเสรีนิยม (Liberalism) ที่เน้นสิทธิเสรีภาพของปัจเจกบุคคล กับอีกฝ่ายเป็นผู้นิยมอุดมการณ์ประชาธิปไตย ที่เน้นการมีส่วนร่วมทางการเมือง ของประชาชนในฐานะผู้กระทำการร่วมกัน ดังนั้น ถ้าทุกคนสมมติว่าตนต้องเลือกหลักการพื้นฐาน สำหรับใช้จัดระเบียบสังคมแบบที่ตนพอใจ แน่นอนว่า ย่อมไม่มีทางหาจุดรวมความคิดพบ หรือถ้าพบ ก็เป็นจุดรวมความคิดที่ขาดมิติทางศีลธรรมทางการเมือง (ในสายตาของคนจำนวนไม่น้อย)

เช่น ทางออกคือ รัฐประหาร เพราะเคยทำตามกันมาแบบนั้นเมื่อถึงทางตัน หรือการไม่ขัดขืนการทำรัฐประหาร เพราะเคยชินกับการยอมจำนนต่ออำนาจที่เหนือกว่า แทนที่คนทั้งสองฝ่ายจะคิดหาทางออกร่วมกันเพื่อให้ก้าวข้าม "ทางออก" เดิมๆ ที่เคยทำกันมา

ถ้าเป็นในกรณีของการปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล อย่างของเชลลิ่ง ย่อมจะเห็นว่า การคิดแบบนี้ชอบกลอยู่ แต่ในกรณีของการใช้อำนาจทางการเมืองที่เป็นอำนาจบังคับเหนือชีวิตคน ยิ่งมีความจำเป็นมากขึ้น ที่ต้องมีความชอบธรรมจากมุมมองของคนที่ถูกบังคับด้วย และความชอบธรรมนี้จะได้มาก็ต่อเมื่อ ทุกคนยอมรับหลักการที่รองรับการใช้อำนาจนั้น

และเราจะยอมรับหลักนี้ได้ก็ต่อเมื่อ เราได้ใช้เหตุผลไตร่ตรองอย่างเต็มที่แล้ว และพบว่าหลักนี้ส่งเสริมผลประโยชน์ของเรา

จุดรวมความคิดนี้ จึงต้องไปไกลกว่าอุดมการณ์ส่วนบุคคล แต่ขณะเดียวกัน ก็ยังไม่ทิ้งข้อพิจารณาเรื่องผลประโยชน์ส่วนตัว (self-interest) ในแง่ที่แม้แต่ละคนจะยังไม่รู้อะไรเท่าไหร่ว่า ตนจะเกิดมาสูงต่ำดำขาวยากดีมีจนฉลาดโง่ ฯลฯ แต่ทุกคนก็ยังคงจะหาทางเลือกเพื่อสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับตัวเอง ทั้งๆ ไม่รู้ว่าตนจะเป็น "ใคร"

การเลือกอย่างมีเหตุผลในที่นี้จึงมีนัยถึงการมี สายตายาวไกล การไม่ชอบความเสี่ยง (risk aversion) และการคิดถึงความเป็นไปได้ของชีวิตที่หลากหลายด้วย

เช่น คิดเผื่อไปว่า ตอนเราเกิดมาอาจไม่ได้เป็นแบบที่เป็นอยู่นี้ เช่น อาจเกิดเป็นคนผิวดำ ผิวเหลือง เป็นยิว เป็นมุสลิม เป็นฟาหลุนกง หรือยากจนข้นแค้น ไม่ฉลาด พิการ หรือมีรสนิยมรักร่วมเพศ

หรือในอนาคต อาจเกิดเหตุที่ทำให้เราเป็นเช่นนี้ได้ เช่น ล้มละลายหรือประสบอุบัติเหตุ หรืออาจไม่มีสิ่งเหล่านี้เลย แต่มีวิกฤตความเชื่อเกิดกับชีวิตเรา ที่ทำให้เราเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับตัวเองหรือเกี่ยวกับโลกไปโดยสิ้นเชิง เราอาจจะเห็นว่า รักร่วมเพศเป็นสิ่งที่ดี แต่สังคมส่วนใหญ่ยังเป็นรักต่างเพศอยู่ กล่าวอีกนัยหนึ่งนั่นคือ เราอาจกลายเป็นเราอีกคนหนึ่งที่ต่างจากเราตอนนี้

และสิ่งที่เราต้องคิดคือ ถ้าความเป็นไปได้เหล่านี้อาจเกิดกับเรา สังคมที่จัดระเบียบแบบใดที่จะเป็นประโยชน์กับเราที่สุด

จุดสุดยอด (climax) อยู่ตรงที่รอลส์ประกาศว่า ถ้าเราจินตนาการตามที่เขาเสนอ ในที่สุดแล้ว เราจะพบจุดรวมความคิดได้ที่หลักสองประการ นั่นคือ ข้อแรกกล่าวว่า คนทุกคนต้องมีสิทธิเสรีภาพอย่างเต็มที่ที่สุด และอย่างเท่าเทียมกันเสมอ ข้อที่สองกล่าวว่า ความอยุติธรรมทางเศรษฐกิจจะยอมรับได้ต่อเมื่อมีแล้ว มันช่วยให้คนที่ลำบากที่สุดในสังคมมีชีวิตที่ดีขึ้น และช่วยให้ทุกคน มีโอกาสเข้าถึงตำแหน่งหน้าที่ทางการเมืองอย่างเท่าเทียมกัน

รอลส์เรียกหลักสองข้อนี้ว่า "ความยุติธรรมในฐานะความเป็นธรรม" (Justice as Fairness) ไม่ใช่เพราะหลักที่ได้มันเป็นธรรมในสายตาของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เพราะมันคือ หลักการที่คนมีเหตุผลทุกคนจะเลือก ถ้าได้เลือกในสถานการณ์เริ่มแรกที่เป็นธรรม (โดยความเป็นธรรมนี้ เรานิยามจากการที่ทุกคนเป็นคนเสรี เท่าเทียมกันและไม่รู้เกี่ยวกับสิ่งที่ตนได้มาเพราะโชคหรือความบังเอิญ)

เพราะรอลส์ได้เล็งเห็นแล้วว่า หากนำหลักนี้มาใช้ ทุกคนจะได้รับโอกาสเท่าเทียมกันที่จะดำเนินชีวิตของตน ไปสู่จุดสูงสุดของความปรารถนาที่ตั้งไว้ ไม่ว่าคนนั้นจะอยากเป็นชาวนาที่ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง หรือเป็นนักธุรกิจที่ใช้ชีวิตหรูหราฟุ้งเฟ้อ

หรือเป็นเอ็นจีโอที่สู้เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม ให้ดีขึ้น หรือเป็นข้าราชการที่แสวงหาความมั่นคงในชีวิต หรือรับจ้างส่วนตัวที่แสวงหาอิสระก็ตาม

ภายหลังรอลส์ได้ขยายความว่า การมีจุดรวมความคิดดังกล่าวนี้ยังทำให้การใช้เหตุผลสาธารณะแบบประชาธิปไตย เป็นไปได้ด้วย นั่นคือ เพราะเมื่อคนรู้ว่าคนอื่นๆ ถึงจะคิดหรือมีผลประโยชน์ต่างไปจากตน แต่ต่างก็ยังรับหลักความยุติธรรมนี้ ทุกฝ่ายก็จะเกิดความรู้สึกที่ดีตามมาว่า คนอื่นก็คิดถึงตนอย่างคนที่เสมอภาคและมีศักดิ์ศรีเท่ากัน สิ่งนี้จะสร้างมิตรภาพที่เป็นปึกแผ่นขึ้นระหว่างพลเมือง อันเอื้อต่อเสถียรภาพของระบอบประชาธิปไตยในระยะยาวต่อไป

ในแง่นี้ ความยุติธรรมในฐานะความเที่ยงธรรมของรอลส์ จึงทำหน้าที่เป็นกาวใจให้กับความสัมพันธ์ทางการเมือง ระหว่างพลเมืองแบบเดียวกับที่บรรทัดฐานทางสังคมของเอลสเตอร์ ทำกับความสัมพันธ์ทางสังคมนั่นเอง

ความขัดแย้งที่กำลังดำเนินอยู่ในสังคมไทยมองแง่ หนึ่งคือ สิ่งที่ไม่พึงประสงค์สำหรับหลายๆ คน แต่ในอีกแง่หนึ่ง มันก็สะท้อนให้เห็นถึงสภาวะสุญญากาศบางอย่าง ที่รอวันที่จะได้รับการเติมให้กลับเต็มขึ้นใหม่อีกครั้ง

นี่จึงเป็นจังหวะเหมาะที่เราสามารถเลือกได้ว่า เราจะเติมสิ่งใดเข้าไป ที่มันจะเป็นตัวกำหนดว่า อีกสิบหรือยี่สิบปีข้างหน้าคนไทยเรา จะอยู่และมีความสัมพันธ์กันอย่างไร บนพื้นฐานแบบใด ปัญหาความขัดแย้ง หรือความไม่ร่วมมือกัน ระหว่างผู้คนที่ต้องใช้ชีวิตด้วยกันไม่ใช่ปัญหาแค่ของเมืองไทย แต่คือปัญหาของมนุษยชาติทั้งหมด

และจุดประสงค์ที่เขียนบทความนี้ก็เพื่อเร่งเร้า ให้คนไทยเราได้คิดถึงปัญหานี้ และพยายามหาทางออกกันอย่างจริงจัง เราไม่จำเป็นต้องเชื่อคำตอบของเอลสเตอร์หรือของรอลส์ แต่อย่างน้อยเราควรเชื่อว่า ปัญหาที่คนพวกนี้พยายามแก้ เป็นปัญหาที่มีอยู่จริง และจะยิ่งจริงมากขึ้นต่อไปในอนาคต!




จาก Jon Elster ถึง John Rawls (จบ)

คนแคระบนบ่ายักษ์ : แพทย์ พิจิตร มติชนรายสัปดาห์ วันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 28 ฉบับที่ 1462

ข้อเขียนครั้งนี้ถือเป็นบทส่งท้ายของเรื่อง ทฤษฎีการเลือกอย่างมีเหตุผล คราวที่แล้วผู้เขียนได้เล่าถึงข้อเสนอ เรื่องความยุติธรรมของ จอห์น รอลส์ (John Rawls) ที่สามารถใช้เป็นจุดรวมความคิด (focal points) อันชอบธรรมสำหรับสังคมประชาธิปไตย

ด้วยความที่รอลส์เป็นนักปรัชญาการเมือง เขาจึงไม่ได้ใช้เหตุผลเชิงประสบการณ์ สนับสนุนความคิดของเขา แต่กระนั้น ก็มีการทดลอง ของนักเศรษฐศาสตร์เชิงพฤติกรรม และนักจิตวิทยา ที่สนับสนุนความคิดดังกล่าวของรอลส์ โดยผู้เขียนจะยกมาเล่าสักสองการทดลอง

การทดลองแรกกระทำโดยนักเศรษฐศาสตร์เชิงพฤติกรรม เพื่อศึกษาการทำงานของบรรทัดฐานเรื่องความเป็นธรรม (fairness) ในการตัดสินใจร่วมมือกันระหว่างคนสองคน ซึ่งการทดลองที่ว่านี้อยู่ในรูปของเกมที่ชื่อว่า "เกมยื่นคำขาด" (Ultimatum Game) ซึ่งมีกติกาดังนี้:

มีผู้เล่นสองคน ผู้เล่นเบอร์หนึ่งจะรับบทเป็นผู้ยื่นข้อเสนอ และจะได้รับเงินจำนวนหนึ่งจากผู้ทำการทดลอง สำหรับนำไปเสนอแบ่งกันกับผู้เล่นเบอร์สองที่รับบทผู้รับข้อเสนอ ถ้าทั้งคู่ตกลงกันได้ ก็จะได้เงินก้อนนั้นไป แต่ถ้าทั้งคู่ตกลงกันไม่ได้ ซึ่งเป็นไปได้ในกรณีเดียว นั่นคือ ผู้เล่นคนที่สองไม่ยอมตกลงด้วย ผู้ทำการทดลองก็จะริบเงินก้อนนั้นคืนไป

นักเศรษฐศาสตร์ที่ทำการทดลองนี้มีสมมติฐานสอง ข้อ ข้อแรกคือ เงินก้อนนั้น จะทำหน้าที่เป็นเครื่องล่อใจให้ทั้งสองฝ่ายพยายามตกลงกันให้ได้ (สมมติฐานเรื่องความมีเหตุผล) และข้อที่สองคือ แต่ผู้เล่นเบอร์สองจะยอมตกลงด้วยก็ต่อเมื่อผู้เล่นเบอร์หนึ่งยื่นข้อเสนอที่ เขาเห็นว่ายอมรับได้

นั่นคือ จำนวนเงินจะต้องไม่น้อยจนเกินไป และจะไม่ยอมตกลง หากผู้เล่นเบอร์หนึ่งเสนอจำนวนเงินที่จะแบ่งให้น้อยเกินไป (สมมติฐานเรื่องบรรทัดฐานความเป็นธรรม)

ผลการทดลองออกมาเป็นดังนี้:ผู้เล่นเบอร์หนึ่ง ที่เสนอแบ่งเงินให้ 200 บาทจากทั้งหมด 1,000 บาทถูกปฏิเสธ ส่วนผู้เล่นที่เสนอจะแบ่งเงินให้ตั้งแต่ 200 บาทขึ้นไป ได้คำตอบตกลง ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้ว ผู้เล่นเบอร์หนึ่งที่เสนอแบ่งเงินให้แก่ผู้เล่นเบอร์สองประมาณ 400-500 บาทจาก 1,000 บาท จะได้รับคำตอบตกลง

ผลทดลองที่ได้ทำให้ผู้ทดลองสรุปได้ว่า ผู้เล่นเบอร์สองของเกมไม่ได้แค่ "หิวเงิน" ในแง่ที่เสนอให้เท่าไหร่ก็เอา แต่ "หิวความเป็นธรรม" ด้วย คือจะไม่ยอมรับข้อเสนอของผู้เล่นเบอร์หนึ่งที่เขาเห็นว่าดูแล้วเหมือนหยาม น้ำหน้ากัน (ในกรณีนี้คือ แบ่งให้ต่ำกว่า 200 บาท)

ความเป็นธรรมจึงมีบ่อเกิดมาจากความรู้สึกเคารพ ตัวเอง (self-respect) ของผู้เล่นเบอร์สอง ที่มองว่าตนเองก็เป็นคนที่เสมอภาคและมีศักดิ์ศรีเท่ากับผู้เล่นเบอร์หนึ่ง และดังนั้นจึงควรได้รับข้อเสนอที่สมศักดิ์ศรีจากอีกฝ่ายด้วย ไม่เช่นนั้นก็จะไม่ยอมร่วมมือ

ถึงแม้ว่าผลของการไม่ร่วมมือนี้จะทำให้ทั้งคู่ ต้องเสียประโยชน์ด้วยก็ตาม หรือเข้าทำนอง "ยอมอดแต่ไม่ยอมเสียศักดิ์ศรี" นั่นเอง

ที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้นคือ นักประสาทวิทยาบางคนอยากรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในสมองของผู้เล่นเกมลักษณะนี้ โดยเฉพาะผู้เล่นเบอร์สอง จึงออกแบบการทดลองขึ้นมาเพื่อทดสอบ

การทดลองนี้กระทำโดยใช้เครื่องสแกนสมองของผู้ เล่นเบอร์สอง ขณะที่เขาตัดสินใจลงโทษผู้เล่นเบอร์หนึ่ง นั่นคือ บอกปัดข้อเสนอที่ยื่นให้ทำให้ผู้เล่นเบอร์หนึ่งอดได้เงิน หรือ ใช้สิทธิปรับผู้เล่นเบอร์หนึ่ง โดยผู้เล่นเบอร์สองเองยอมเข้าเนื้อรางวัลด้วย

(กรณีหลังนี้อยู่ในอีกเกมหนึ่งชื่อว่า "เกมความไว้เนื้อเชื่อใจ" หรือ Trust Game) และผลที่ได้จากการสแกนสมองคือ ขณะที่ผู้เล่นเบอร์สองลงโทษผู้เล่นเบอร์หนึ่ง ส่วนที่เป็นศูนย์ความสุข (pleasure centre)

ในสมองของเขาจะทำงาน นั่นหมายความว่า คนเรารู้สึกมีความสุขเวลาที่ได้ลงโทษ คนอีกคนหนึ่งที่เขารู้สึกว่าปฏิบัติต่อเขาอย่างไม่เป็นธรรม และผู้ทดลองยังพบด้วยว่า ยิ่งได้ลงโทษหนักเท่าไหร่ ศูนย์ความสุขก็ยิ่งทำงานมากขึ้นเท่านั้น และผลนี้เป็นกับผู้เล่นเบอร์สองแทบทุกคน ไม่ใช่แค่คนหรือสองคนเท่านั้น

การทดลองนี้สนับสนุนความคิดของรอลส์ที่ว่า ความยุติธรรมในฐานะความเป็นธรรมของเขา สามารถเป็นจุดรวมความคิดให้แก่คนในสังคมประชาธิปไตยได้ เนื่องจากสังคมที่เสรีและเสมอภาคมีแนวโน้มจะสร้างประชาชนที่มีความรู้สึก เคารพตัวเอง และความรู้สึกนี้จะเรียกร้องให้เขาแสวงหาความเป็นธรรม

ความยุติธรรมของรอลส์ตอบโจทย์นี้ได้ดีที่สุด เพราะมันมีหัวใจที่ความต้องการของคนแต่ละคน ที่จะแสวงหาเงื่อนไขความร่วมมือกันที่เป็นธรรมสำหรับคนทุกคนในสังคมนั่นเอง

การทดลองชิ้นที่สองกระทำโดยนักจิตวิทยาสองคน ชื่อ ดาเนียล คาห์เนแมน (Daniel Kahneman) และ อามอส ทเวิรส์กี้ (Amos Tversky) เนื่องจากทั้งคู่สงสัยในความถูกต้องของทฤษฎีการเลือกอย่างมีเหตุผล และคิดว่าในความเป็นจริง คนเราตัดสินใจด้วยอคติมากกว่าด้วยเหตุผล

ดังนั้นจึงร่วมกันออกแบบการทดลองเพื่อค้นหาว่า อคติประเภทใดบ้างที่แฝงอยู่ในการตัดสินใจของคนทั่วๆ ไป และอคตินี้มันแสดงตัวออกมาในรูปของหลักการ หรือ เครื่องมือช่วยตัดสินใจชนิดใดที่คนมักใช้กัน

ในที่สุดทั้งคู่ได้พบหลักการทางจิตวิทยา บางอย่างที่มีผลต่อการตัดสินใจของเรา ใครอยากทราบว่ามีหลักอะไรบ้างก็ลองหางานของทั้งคู่อ่านดูได้ รับรองว่ามีประโยชน์มากจริงๆ

แต่ที่จะพูดถึงตรงนี้คือ หลักหรือเครื่องมืออันหนึ่งที่ทั้งคู่เรียกว่า การตีกรอบ (framing) ซึ่งก็คือ การที่การตัดสินใจของคนเราถูกกำหนดจากวิธีการตั้งโจทย์ หรือคำถามที่จะต้องตัดสินใจที่โจทย์หรือคำถามนี้ จะกลายมาเป็นกรอบในการรับรู้ปัญหา และการประเมินทางเลือก ตลอดจนความน่าจะเป็นของผลลัพธ์ต่างๆ ที่จะตามมาจากตัวเลือกแต่ละอย่างของเรา

คาห์เนแมนและทเวิร์สกี้ได้ข้อสรุปนี้มาจากการ ทดลองอันหนึ่ง ที่กระทำกับนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด และมหาวิทยาลับบริติช โคลัมเบีย โดยให้นักศึกษาเหล่านี้ตอบแบบสอบถามสั้นๆในชั้นเรียน ซึ่งคำตอบที่ได้เผยให้เห็นแบบแผนบางอย่างในการตัดสินใจค ลองมาดูคำตอบของสองคำถามต่อไปนี้

คำถามแรกถามว่า ถ้าให้คุณจินตนาการว่าสหรัฐอเมริกากำลังเตรียมรับมือกับโรคระบาดใหญ่จากทวีป เอเชีย ที่คาดว่าจะคร่าชีวิตคนทั้งสิ้น 600 คน และต้องเลือกว่าจะใช้แผนการใดรับมือกับโรคระบาด ระหว่าง ก) แผน ก. ที่จะช่วยคนได้แน่ๆ 200 คน และ ข) แผน ข. ที่มีความเป็นไปได้หนึ่งในสาม (33%) ที่จะช่วยคนทั้งหมด 600 คน และความเป็นไปได้สองในสาม (66%) ที่จะช่วยไม่ได้แม้แต่คนเดียว ?

ผลลัพธ์ที่ได้คือ นักศึกษา 72% ที่ตอบคำถามข้อนี้เลือกข้อ ก) ขณะที่นักศึกษาอีก 28% เลือกข้อ ข)

ลองมาดูอีกคำถามหนึ่งที่ถามว่า ถ้าคุณตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกับคำถามแรก และต้องเลือกว่าจะใช้แผนการใดรับมือกับโรคระบาดนั้น ระหว่าง ค) แผน ค. ที่จะทำให้ 400 คนต้องตายแน่ๆ และ ง) แผน ง. ที่มีความเป็นไปได้หนึ่งในสาม (33%) ที่จะไม่ทำให้ใครตายเลยแม้แต่คนเดียว และความเป็นไปได้สองในสาม (66%) ที่จะทำให้คนทั้ง 600 คนตายหมด

ผลลัพธ์ที่ได้สำหรับคำถามที่สองนี้คือ นักศึกษา 22% เลือกข้อ ค) ขณะที่อีก 78% เลือกข้อ ง)

คาห์เนแมนและทเวิรสกี้ชี้ว่า ผลลัพธ์นี้แสดงว่า การตัดสินใจของเราเปลี่ยนไปได้ตามการตั้งคำถาม เพราะแท้จริงแล้ว คำถามสองข้อนี้คือ คำถามเดียวกันที่มองจากต่างมุมกัน คำถามที่หนึ่งมองจากมุมของประโยชน์ที่จะได้รับ ขณะที่คำถามที่สองมองจากมุมของความสูญเสียที่ต้องประสบ แผน ก) กับ แผน ค)

และ แผน ข) กับ แผน ง) ก็คือแผนเดียวกันที่มองจากต่างมุมกันเท่านั้น และผลการทดลองนี้แสดงว่า เมื่อมุมมองเปลี่ยน สิ่งที่คนจะตัดสินใจเลือกก็เปลี่ยนไปด้วย และสิ่งนี้หักล้างความคิดของทฤษฎีการเลือกอย่างมีเหตุผลที่ว่า คนมีเหตุผลจะตัดสินใจแบบคงเส้นคงวา!

นอกจากข้อสรุปนี้แล้ว อีกข้อสรุปหนึ่งที่คาห์เนแมน และทเวิรสกี้ดึงออกมาจากการทดลองนี้ที่มีนัยยะต่อความคิดของรอลส์ด้วยก็คือ เมื่อคนต้องเลือกระหว่างสองทางเลือกที่จะให้ประโยชน์ด้วยกันทั้งคู่ คนส่วนใหญ่มีแนวโน้มจะเลือกแบบไม่กล้าได้กล้าเสีย คือ คว้าอะไรที่มันแน่นอนไว้ก่อน แทนที่จะเสี่ยงเพื่อหวังลาภก้อนโตกว่า

ดังจะเห็นว่าในกรณีนี้ นักศึกษาส่วนใหญ่เลือกโปรแกรมที่จะช่วยคนได้แน่ๆ 200 คนแทนที่จะเลือกโปรแกรมที่อาจช่วยคนได้หมด แต่ก็อาจช่วยไม่ได้เลยแม้แต่คนเดียวเช่นกัน

ในทางกลับกัน ถ้าต้องเลือกระหว่างสองทางเลือกที่จะนำความสูญเสียมาให้ คนส่วนใหญ่กลับมีแนวโน้มจะเลือกแบบกล้าได้กล้าเสียมากกว่า คือ แทนที่จะเลือกความสูญเสียที่แน่นอนและน้อยกว่า พวกเขาจะยอมแบกรับความเสี่ยงที่จะเสียหนักกว่านั้นหรือไม่เสียเลย เหมือนกับที่นักศึกษาเลือกแผน ง. แทนที่จะเป็นแผน ค. ที่ต้องตายแน่ๆ 400 คน

จากการที่รอลส์เชื่อว่า คนมีเหตุผลทุกคนจะเลือกหลักความยุติธรรม ในฐานะความเป็นธรรม (justice as fairness) เมื่อต้องเลือกหลักการสำหรับใช้ควบคุมการจัดสรรสิทธิประโยชน์ และภาระที่เกิดจากการร่วมมือกันในสังคม เขามีสมมติฐานข้อหนึ่งว่า คนที่มีเหตุผลมีแนวโน้มที่จะไม่ชอบเสี่ยง (risk aversion) เมื่อต้องเลือกในสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอน ซึ่งการทดลองของคาห์เนแมนและทเวิรส์กี้ยืนยันว่าความคิดนี้น่าจะถูกต้อง

ถ้าในสถานการณ์การเลือกนี้ เราคิดจากประโยชน์หรือสิ่งดีๆ ที่เราจะได้รับหากสังคมถูกจัดระเบียบด้วยหลักความยุติธรรม ในทางตรงกันข้าม ถ้าในสถานการณ์นั้น เรามัวแต่ห่วงประโยชน์ส่วนตัว ที่จะเสียเมื่อสังคมมีความเป็นธรรมมากขึ้น เมื่อนั้นเราก็คงไม่เลือกหลักของรอลส์มาเป็นจุดรวมความคิด และทฤษฎีของรอลส์ก็จะผิด

แล้วตัวคุณหละ คิดในด้านบวกหรือด้านลบ?




จาก Jon Elster กลับไปสู่ Hobbes และนักปรัชญาการเมืองกรีกโบราณ

คนแคระบนบ่ายักษ์ : แพทย์ พิจิตร มติชนรายสัปดาห์ วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 28 ฉบับที่ 1466

ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้สาธยายเรื่องราวของทฤษฎีการเลือกอย่างมีเหตุผล (rational choice theory) หลายสิบตอน แต่ไม่ได้กล่าวถึงสายธารต้นกำเนิดของกรอบความคิดของตัวทฤษฎีดังกล่าว

แม้จะเป็นที่เข้าใจรับรู้กันว่าทฤษฎีการเลือก อย่างมีเหตุผลเป็นทฤษฎีที่เกิดขึ้นในศตวรรษที่ยิ่สิบ ซึ่งว่าถือเป็นทฤษฎีการเมืองและสังคมสมัยใหม่ (modern social and political theory) แต่กระนั้นสายธารต้นกำเนิดของทฤษฎีการเลือกอย่างมีเหตุผลนี้ มีบรรพชนต้นกำเนิดความคิด จากความคิดทางการเมืองสำนักอรรถประโยชน์นิยม (utilitarianism) ในศตวรรษที่สิบเก้า ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากปรัชญาการเมืองของ โทมัส ฮอบส์ (Thomas Hobbes: ๑๕๘๘-๑๖๗๙) ในศตวรรษที่สิบเจ็ดอีกทีหนึ่ง

ดังนั้น จึงถือได้ว่ารากเหง้าสำคัญของทฤษฎีการเลือกอย่างมีเหตุผลคือปรัชญาการเมือง ของโทมัส ฮอบส์นั่นเอง

ในประวัติศาสตร์ความคิดทางการเมือง กล่าวได้ว่า ฮอบส์ได้ชื่อว่าเป็นนักคิดที่มีอิทธิพล ที่สร้างผลกระทบเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งยวด ต่อทฤษฎี และความคิดทางการเมืองที่ต่อจากเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ สังคมและการเมืองในอังกฤษ และสำนักคิดที่ได้รับอิทธิพลที่ชัดเจนโดยตรงที่สุดคือ สำนักอรรถประโยชน์นิยม อิทธิพลสำคัญที่อรรถประโยชน์นิยม และรวมทั้งทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ได้รับจากฮอบส์ก็คือ แนวคิดของฮอบส์ในเรื่องธรรมชาติมนุษย์ที่เชื่อว่า การกระทำของมนุษย์ถูกขับเคลื่อนหรือถูกจูงใจด้วยความปรารถนาต้องการ (passions and desires) ให้มุ่งตอบสนองความต้องการส่วนตัวอย่างรุนแรงและรวมทั้งแนวคิดจริยธรรม คุณธรรมในแบบสุขนิยม

อิทธิพลดังกล่าวของฮอบส์ที่ปรากฏในแนวคิดอรรถ ประโยชน์นิยมคือคำกล่าวของ เจเรมี เบนแธม (Jeremy Bentham) บิดาแห่งสำนักอรรถประโยชน์ในหนังสือของเขาที่ชื่อว่า "Introduction to the Principles of Morals and Legislation" โดยเขาได้กล่าวว่า

"ธรรมชาติได้กำหนดให้มนุษยชาติอยู่ภายใต้การ ปกครองของสองผู้ยิ่งใหญ่ (two sovereign masters), นั่นคือ ความทุกข์ยากเจ็บปวดและความสุขความพอใจ (pain and pleasure)

ทั้งสองนี้เท่านั้นที่ชี้ว่าเราต้องทำอะไร เช่นเดียวกันที่กำหนดว่าเราควรจะทำอะไร

อีกด้านหนึ่ง มาตรฐานถูกและผิดอยู่บนด้านหนึ่งของสายโซ่ที่มีสาเหตุ และผลอยู่อีกด้านหนึ่ง ถูกผูกติดไว้ที่บัลลังก์ของผู้ยิ่งใหญ่ทั้งสองนี้อย่างแข็งแรง มันปกครองควบคุมการกระทำของเราทุกอย่าง ในทุกอย่างที่เราพูด ที่เราคิด ความพยายามทุกวิถี ทางของเราที่จะสลัดพันธนาการนี้ออกไป ก็ไม่เป็นผลอะไร นอกจากเป็นการยืนยันและแสดงให้เห็นถึงพลังของมัน"

ซึ่งข้อความดังกล่าวนี้ถือเป็นหลักการสำคัญตั้ง ต้นของแนวคิดอรรถประโยชน์นิยมเลยทีเดียวก็ว่าได้

นอกจากอรรถประโยชน์นิยมจะใช้ฐานคิดเรื่องแรงขับ ในเรื่องของความทุกข์ และความสุขความพึงพอใจนี้ ในการอธิบายการกระทำของมนุษย์แล้ว ยังใช้ในการกำหนดคุณค่าความหมายทางจริยธรรมศีลธรรมด้วย

นั่นคือ ความดีคือสิ่งที่ทำให้เรามีความสุขความพึงพอใจ และอะไรก็ตามที่นำมาซึ่งความทุกข์ความเจ็บปวดคือ ความชั่ว ซึ่งกล่าวได้ว่า จริยธรรมของสำนักอรรถประโยชน์นิยมนี้เป็นแนวสุขนิยม (hedonism) นั่นเอง

และจากแนวคิดดังกล่าวนี้เอง ทำให้อรรถประโยชน์ยืนยันอีกด้วยว่า "ในหัวใจของมนุษย์ทุกคน... การคิดถึงผลประโยชน์ส่วนตัวมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดเหนือผลประโยชน์สังคม ผลประโยชน์ส่วนตัวของแต่ละคนอยู่เหนือผลประโยชน์ของคนอื่นๆ ทุกคนรวมกัน" (Bentham:The Book of Fallacies)

สิ่งที่เป็นแก่นสำคัญของธรรมชาติและการกระทำของ มนุษย์แต่ละคนก็คือ ความอยู่ดีกินดีของเขา และมนุษย์แต่ละคนจะใช้เหตุผล-ซึ่งเป็นความสามารถโดยธรรมชาติของมนุษย์ทุก คน---เป็นเครื่องมือหาหนทางที่จะให้ได้มันมา

ผู้ที่คุ้นเคยกับความคิดทางการเมืองของฮอบส์ ย่อมทราบดีว่า วิธีคิดของสำนักอรรถประโยชน์นิยมที่กล่าวมานี้ แทบไม่ต่างจากความคิดของฮอบส์เลย เพราะฮอบส์เชื่อว่า ความดี คือ คำๆ หนึ่งที่แต่ละคนใช้เรียกสิ่งที่ชอบหรือปรารถนา และสิ่งที่แต่ละคนชอบนั้นถูกกำหนดโดยกิเลสตัณหา (passions and desires) ของเขา ความชั่วก็เป็นเพียงมุมกลับของความดีในทำนองเดียวกันที่กล่าวมา

ส่วนเหตุผลคือ การคิดคำนวณคาดคะเนหาวิธีการที่จะบรรลุสิ่งที่ปรารถนาอย่างรวดเร็ว ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูงสุด และขณะเดียวกัน เหตุผลก็คิดคำนวณหาวิธีการที่จะหลีกเลี่ยงสิ่งที่ไม่ปรารถนาอย่างรวดเร็ว ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูงสุดเช่นกัน

ความสุขหมายถึงการได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการ ทั้งปริมาณและระยะเวลาตามที่ปรารถนา

เมื่อเหตุผลเป็นเพียงการคิดคำนวณคาดคะเนหาวิธี การที่จะบรรลุสิ่งที่ปรารถนา และสิ่งที่ปรารถนา ย่อมถูกกำหนดด้วยกิเลสตัณหาเสมอ ดังนั้น เหตุผลจึงเป็นเพียงเครื่องมือรับใช้ (instrumental reason) กิเลสตัณหา

เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ปรัชญาการเมืองของฮอบส์และอรรถประโยชน์นิยม จะไม่เชื่อในสภาวะวัตถุวิสัยทางจริยธรรมศีลธรรมหรือความดีอันสมบูรณ์สูงสุด และอิสระ

ขณะเดียวกัน ก็ยืนยันว่า ไม่มีใครหรือกลุ่มคนใดที่จะมีความชอบธรรมในการกำหนด หรือผูกขาดนัยความหมายของจริยธรรมศีลธรรมที่ถูกต้องเด็ดขาดได้ เพราะการประเมินการกระทำของมนุษย์ ไม่สามารถแยกออกจากผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำ

นั่นคือ การกระทำใดจะดีหรือไม่นั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวการกระทำนั้นเท่ากับผลจากการ กระทำ นั่นคือ ประสบการณ์ที่แต่ละคนพึงพอใจ

กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ความคิดของฮอบส์ อรรถประโยชน์นิยมและทฤษฎีการเลือกอย่างมีเหตุผลเชื่อว่า ธรรมชาติมนุษย์ทุกคนเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว (self-interest) เสมอ ไม่มีใครไม่เห็นแก่ตัว ไม่มีใครจะมีธรรมชาติที่พิเศษสูงส่งกว่าคนอื่น ไม่มีใครจะทรงคุณธรรมเหนือคนทั่วไป คนทุกคนไมว่าสูงต่ำดำขาวต่างเท่าเทียมกันด้วยความเห็นแก่ตัวนั่นเอง แรงจูงใจสำคัญในการที่คนแต่ละคน ตัดสินใจเลือกที่จะกระทำหรือไม่กระทำการใดๆ นั้นคือ ผลประโยชน์ของตัวของเขาเอง

เมื่อเป็นดังนี้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องยอมรับและเคารพการตัดสินใจเลือก (choice) ของเขาแต่ละคน เพราะแต่ละคนจะเลือกในสิ่งที่จะสนองตอบความต้องการของเขามากที่สุดหรือลด หลั่นลงมาตามเงื่อนไขสถานการณ์ขณะนั้น

และนี่คือรากฐานส่วนหนึ่งของทฤษฎีการเลือกอย่าง มีเหตุผลที่เกิดขึ้นในศตวรรษที่ยี่สิบ

และนักทฤษฎีการเลือกอย่างมีเหตุผลยึดหลักการที่ ว่านี้ และพยายามสร้างกรอบกติกาในการให้ทุกคนในสังคม สามารถมีปฏิสัมพันธ์อยู่ร่วมกันได้ ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันต่อรอง หรือร่วมมือกันภายใต้แรงจูงใจในผลประโยชน์ส่วนตัวของแต่ละคน หรือแต่ละกลุ่ม หรือแต่ละประเทศ

พูดง่ายๆ ก็คือ นักทฤษฎีการเลือกอย่างมีเหตุผลเชื่อว่า แม้ว่าคนแต่ละคนจะเห็นแก่ตัว (ซึ่งเป็นคุณสมบัติตามธรรมชาติของมนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้) แต่ก็สามารถอยู่ร่วมกันได้ภายใต้กรอบกติกาหรือตัวแบบ (model) หนึ่งๆ

ตัวอย่างเช่น อย่างที่ได้กล่าวไปในตอนก่อนๆ ถึงการต่อรองแบบในที (tacit bargaining) ที่ไม่ต้องการต่อสู้กันอย่างเอาเป็นเอาตายแหลกลาญไปข้างหนึ่ง เพราะนั่นหมายถึง ความหายนะ หรือการสูญเสียอย่างรุนแรงในผลประโยชน์ของฝ่ายตนด้วย

ดังในกรณีของสงครามเย็น จะเห็นได้ว่า ด้วยความเห็นแก่ตัวและรักตัวกลัวตายของแต่ละฝ่าย ทำให้การต่อสู้อยู่ในระดับที่จะไม่รุนแรงจนเกินไป มีลักษณะต่อรองยอมรับกันอยู่ในที

หรือการพยายามหาจุดศูนย์รวมความคิด (focal points) ยุทธศาสตร์เด่น (dominant strategy) หรือเกมกับดัก-เกมคนโง่ (entrapment game) ต่างสะท้อนให้เห็นถึงกรอบการอยู่ร่วมกันที่มีฐานอยู่ที่ความเห็นแก่ประโยชน์ ส่วนตัวทั้งสิ้น

ปรัชญาการเมืองของฮอบส์ และสำนักคิดที่ได้รับอิทธิพลจากปรัชญาการเมืองเขาอย่างอรรถประโยชน์นิยม และทฤษฎีการเลือกอย่างมีเหตุผลให้ความชอบธรรมต่อ "ตัวเลือก" (choice) ที่คนแต่ละคนตัดสินใจเลือก ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของหรือการกระทำต่างๆ ความชอบธรรมนี้มาจากฐานคิดที่เชื่อว่า ทุกคนย่อมตัดสินใจเลือกในสิ่งที่ดีสำหรับตัวเขาเสมอ

แน่นอนว่า ฐานคิดที่ว่านี้ย่อมได้รับการสนับสนุนจากทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์โดยเฉพาะ เศรษฐศาสตร์แนวเสรีทุนนิยม เพราะสินค้าใดที่ผลิตขึ้นมาและเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค ย่อมถือว่าเป็นสินค้านั้นเป็นสิ่งที่ "ดี" เสมอ เพราะการตัดสินว่าอะไรดีไม่ดีขึ้นอยู่กับการเป็น "ตัวเลือก" ของผู้คนหรือลูกค้า คุณค่าในตัวสินค้าเองย่อมไม่สำคัญเท่ากับผลที่เกิดขึ้นตามมา

นั่นคือ มันสามารถสร้างความพอใจหรือความสุขให้กับผู้บริโภคหรือไม่

ถ้าจะถามว่า ฐานคิดดังกล่าวนี้ของฮอบส์เป็นนวัตรกรรมทางความคิดทางการเมืองหรือไม่? ส่วนหนึ่งคงต้องยอมรับว่า ใช่ แต่กระนั้น ก็ยังมีข้อสงวนอยู่ เพราะถ้าย้อนกลับไปอ่านข้อความบรรทัดที่สามของย่อหน้าแรกในหนังสือ Politics ของอริสโตเติลที่เขียนขึ้นก่อนหน้าฮอบส์เกือบสองพันปี จะพบว่า อริสโตเติลได้เขียนไว้ว่า

"การกระทำทั้งหลายทั้งปวงของมนุษย์ล้วนเกิดขึ้น จากการที่พวกเขาคิดว่า การกระทำนั้นเป็นสิ่งที่ดีสำหรับเขา"

จะเห็นได้ว่า ความคิดของฮอบส์ในศตวรรษที่สิบเจ็ด และความคิดของนักทฤษฎีการเลือกอย่างมีเหตุผลในศตวรรษที่ยี่สิบนั้น ย่อมไม่ได้สร้างความแปลกใหม่หรือแปลกใจให้กับอริสโตเติลเลย

ยิ่งกว่านั้น สิ่งที่พึงสังเกตในข้อความของอริสโตเติลก็คือส่วนที่ว่า "พวกเขาคิดว่า การกระทำนั้นมันเป็นสิ่งที่ดีสำหรับเขา"

นั่นคือ การที่คนๆ หนึ่งคิดว่า สิ่งๆ หนึ่งนั้นดีสำหรับเขา ก็ไม่ได้หมายความว่า สิ่งๆ นั้นหรือการกระทำนั้นๆ จะเป็นสิ่งที่ดีจริงๆสำหรับเขาเสมอไป

และถ้ากลับไปอ่านบทสนทนาของเพลโตด้วยแล้ว เราจะพบว่า จริงอยู่ที่ มนุษย์ทุกคนปรารถนาสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับชีวิตของเขา แต่ปัญหาคือ ไม่ใช่มนุษย์ทุกคนจะรู้ว่า อะไรคือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับความเป็นมนุษย์ของเขา


 

view