สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

หลัก การ กทช.เพื่อผู้บริโภค ?

จากประชาชาติธุรกิจ

บท บรรณาธิการ

คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทช. มักปรากฏภาพเป็นที่รู้จักของประชาชนทั่วไปว่า เป็นกลไกสำคัญที่เอื้อต่อการพัฒนาการสื่อสาร โทรคมนาคมของไทยในรูปแบบต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจครั้งล่าสุดของคณะกรรมการ กทช.กำลังถูกตั้งคำถามในหลายๆ แง่มุม โดยนายสุรนันท์ วงศ์วิทยกำจร กรรมการในคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เปิดเผยว่า กทช.ได้มีมติเมื่อวันที่ 28 เม.ย. 53 กำหนดให้ ผู้ประกอบกิจการโทรศัพท์มือถือคิดอัตราค่าโทร.ในโครงข่ายเดียวกัน (on net) และอัตราค่าโทร.ระหว่างโครงข่าย (off net) เป็นอัตราเดียวกัน โดย กทช.จะทำหนังสือแจ้ง ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือทุกรายรับทราบและถือปฏิบัติต่อไป ทั้งนี้ กทช.ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 57 พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 และประกาศข้อ 17 ของประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่องอัตราขั้นสูงของค่าบริการ และการเรียกเก็บเงินค่าบริการล่วงหน้าในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549

เหตุผล ประการสำคัญของมติดังกล่าว กรรมการ กทช.ระบุว่าเป็นผลมาจากการให้บริการโทรศัพท์มือถือในปัจจุบันมีรายการส่ง เสริมการขายที่หลากหลาย โดยกำหนดค่าโทร.ในโครงข่ายเดียวกันที่แตกต่างกัน เช่น ค่าโทร.ในโครงข่ายนาทีละ 0.80 บาท และโทร.ระหว่างโครงข่าย นาทีละ 1.61 บาท ซึ่งโดยปกติผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือจะไม่ทราบว่าเลขหมายที่เรียกไปนั้น เป็นการเรียกภายในโครงข่ายเดียวกันหรือไม่ ผู้บริโภคไม่ทราบว่าการใช้โทรศัพท์มือถือแต่ละครั้งเป็นการใช้บริการประเภท ใด และมีอัตราค่าบริการเท่าใด เพราะปัจจุบันเป็นโปรโมชั่นระบบเหมาจ่าย

นอก จากนี้ กทช.ยังคาดหมายว่าหลังจากที่ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือได้รับทราบมติ กทช.แล้ว ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือต้องไปปรับปรุงรายการส่งเสริมการขาย (โปรโมชั่น) ต่าง ๆ และตอบสนองความต้องการใช้ของผู้ใช้บริการมากที่สุด ซึ่งเชื่อว่าผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือจะไม่คิดค่าบริการเพิ่มขึ้นอย่างแน่ นอน โดยบอร์ด กทช.จะติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด เพื่อมิให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์ มือถือคิดค่าบริการที่เอาเปรียบผู้บริโภค

แต่ในข้อเท็จจริงดูเหมือนแนวทางของ กทช.ดังกล่าวนั้น ผู้ให้บริการไม่ว่าจะเป็นตัวแทนจากบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส, บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค และบริษัท ทรูมูฟ จำกัด (มหาชน) ต่างแสดงท่าทีว่าไม่เห็นด้วย พร้อมระบุว่าจะส่งผลให้ผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ไม่สามารถรับบริการใน ราคาต่ำเช่นเดิมได้อีก

บนเจตนารมณ์ที่ต้องการให้เกิดความเป็นธรรมใน การแข่งขัน หรือสร้างมาตรฐานที่ชัดเจนสำหรับกิจการให้บริการโทรศัพท์มือถือ อีกด้านหนึ่งที่ กทช.อาจจะต้องพิจารณาด้วยนั่นคือ ความสะดวกและผลประโยชน์ของผู้บริโภค หากบนหลักการดังกล่าวไม่สอดคล้อง หรือ ภายใต้กลไกเดิมของกติกาการแข่งขัน ภาคเอกชนผู้ให้บริการยังไม่มีความได้เปรียบเสียเปรียบกันมากเกินไป ในขณะที่ผู้บริโภคได้รับประโยชน์จากการแข่งขัน โปรโมชั่น ราคาถูก ก็น่าจะเป็นอีกจุดหนึ่งที่น่าพิจารณาเช่นกัน

view