สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เปิดปม ความรู้สึกไม่เท่าเทียม ของ ณรงค์ชัย อัครเศรณี

จากประชาชาติธุรกิจ



เหมือนคำ พังเพยที่ว่าลูกไม้หล่นไม่ไกลต้นฉันใดประเทศไทยก็ฉันนั้น ถูกสร้างมาแบบไหน-อย่างไร วันนี้ดอกผลมันปรากฏให้เห็นแล้ว

การ ชุมนุมเรียกร้องในที่สุดนำมาซึ่งความวุ่นวาย การจลาจล คนขาดสติ ใช้อารมณ์มากกว่าความชอบธรรม และฆ่าฟันกันเอง

แล้วเราจะเดินไปข้าง หน้ากันอย่างไร !

"ณรงค์ชัย อัครเศรณี" ประธานกรรมการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) และที่ปรึกษาคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน แม้จะไม่ใช่ผู้ที่จะมาฟันธงว่าจะแก้ปัญหากันอย่างไร แต่ให้ความเห็นว่าวาระแห่งชาติ เรื่องความยากจน ความเหลื่อมล้ำในสังคมไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ "ความรู้สึกไม่เท่าเทียม" ต่างหากที่เราไม่ให้ความสำคัญมากพอ เราคิดว่าคนในสังคมยอมรับว่า เมื่อเป็นอย่างนี้มันก็เป็นอย่างนี้ แต่การแสดงออกในครั้งนี้ (ของผู้ชุมนุม) มันทำให้ได้ตระหนักถึง "ความรู้สึกไม่เท่าเทียม" มากกว่าเดิม

"ความรู้สึกไม่เท่าเทียม" มันเกิดในทุกกลุ่มสังคมของประเทศไทย ไม่ใช่แค่คนรวยกับคนจน แม้ในหมู่คนรวยด้วยกันเอง ไฮโซฯด้วยกันเอง ทหารด้วยกันเอง ต่างก็รู้สึกถึงความไม่เท่าเทียมระหว่างหมู่พวกเขาเอง เนื่องจากเราเป็นสังคมระดับชั้นมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว ผู้ที่คิดว่าตัวเองอยู่ชั้นเหนือกว่าก็แสดงตัวเหมือนตัวเองเหนือชั้น ผู้ที่อยู่ในชั้นที่ด้อยกว่าแสดงตัวเหมือนว่าด้อยกว่าโดยดุษฎียภาพ

"ผม เชื่อว่าไม่มีอะไรไปแก้ ความรู้สึกไม่เท่าเทียมได้ นอกจากว่าแต่ละคนต้องตระหนักกันเอง ถึงแม้ว่าสังคมเรามีความรู้สึกว่า ไม่เท่าเทียม แต่เราอย่าไปใช้ประโยชน์จากมัน ต้องตระหนักกันเอาเอง อาทิ ถ้าเราอยู่ในฐานะที่ดีกว่าก็ไม่ควรลัดคิวเขา หรือขอก่อน หรือไปเอ็ดเขา เรื่องเหล่านี้ต้องตระหนักได้เอง การจะไปทำโครงการเปลี่ยนวัฒนธรรมหรือไปสอน มันคงไม่ได้ ต้องให้แต่ละคนรู้กันเอง ทำตัวเองว่าอะไร ไม่ควรทำ ต้องตระหนักกันเอง"

พร้อมกับกล่าวว่าเรื่องนี้มันยากที่จะนำมาอยู่ใน ระบบการเรียนการสอน เพราะการที่ครูอยู่เหนือศิษย์ ห้ามศิษย์แสดงออกมากเกินไป รู่นพี่ข่มรุ่นน้อง สิ่งเหล่านี้อยู่ในระบบ จะไปเปลี่ยนอย่างไร สังคมที่เปลี่ยนความรู้สึกไม่เท่าเทียมกันได้ ต้องเกิดจาก "การปฏิวัติอย่างแท้จริง" จึงจะเกิดการเปลี่ยน อย่างจีน ญี่ปุ่น ประเทศในยุโรป รัสเซีย เป็นการปฏิวัติเพื่อให้เกิดความรู้สึกเท่าเทียมกันมากกว่าเดิม

แต่ ของไทยไม่เคยปฏิวัติที่แท้จริงที่จะทำให้เกิดความเท่าเทียมกัน ความประพฤติแบบไม่เท่าเทียมกันยังมีอยู่ในสังคม ดังนั้นการเรียกร้องของม็อบเสื้อแดงที่พูดถึงอำมาตย์ แม้อำมาตย์ไม่มีแล้วแต่ประเด็นอยู่ที่ความไม่เท่าเทียม

ผมเองไม่ได้ คิดว่าความไม่เท่าเทียมกันจะเป็นเรื่องซีเรียส แต่ผลจาก "พฤติกรรมคน" ไม่เปลี่ยน เกิดผลร้ายแรงกับระบบบริหาร การแต่งตั้งโยกย้าย การตอบแทนที่ไม่เท่าเทียมกัน ส่งผลกระทบกระเทือนกันไปหมด เช่นการซื้อขายตำแหน่งผู้บังคับบัญชาข่มเหงผู้ใต้บังคับบัญชา ผู้บังคับบัญชาเรียกร้องมากเกินไป ผมมองว่าระบบที่จะแก้ไขได้คือเรื่องธรรมาภิบาล good governance แต่จะไปบอกคนให้เปลี่ยนนิสัย มันยาก

"ธรรมาภิบาล" คือการจัดระเบียบสังคม ให้ทำสิ่งที่ถูกต้อง ถูกจังหวะทั้งหลาย

ด้วย ประสบการณ์การทำงานทั้งภาครัฐและเอกชน "ณรงค์ชัย" มองว่าในแง่ภาคเอกชน ปัจจุบันธรรมาภิบาลดีกว่าเดิมมาก มีการให้รางวัล ลงโทษ มีระเบียบ มีวินัย ดีขึ้นโดยตลอด สามารถสังเกตเห็นได้ โดยมีหลักฐานชัดเจน ส่วนทางภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ มีการพัฒนาเช่นกัน มีอยู่บ้างตรงส่วนบนของรัฐวิสาหกิจบางแห่งมีนักการเมืองมายุ่งมากไป

ทั้ง นี้ในส่วนราชการภาคบริการดีขึ้นมาตลอด อาทิ การให้บริการทำพาสปอร์ต การทำบัตรประชาชน แต่สายราชการที่เป็นสายกำกับยังเอารัดเอาเปรียบ เอาประโยชน์ ไม่เห็นพัฒนาการที่ดีขึ้น ในแง่วิธีแก้จะทำอย่างไรที่จะทำให้เรื่องการขออนุมัติ การขออนุญาตน้อยลง หรือต้องทำตามกติกามากขึ้นกว่าเดิม แต่เรื่องนี้เป็นปัญหาที่โยงไปในเรื่องการคอร์รัปชั่น โยงไปในเรื่องตำแหน่ง โยงไปในเรื่องการกดขี่ข่มเหง การเอาใจกัน เป็นจุดที่ไม่ดีที่สุดของสังคม

แม้ แต่ข้อกฎหมายของการกำกับ ยังเป็นกฎหมายที่มีข้อยกเว้น เขียนกฎหมายโดยบอกว่าขึ้นอยู่กับข้อ 1-2-3-4-5 และข้อ 6 ตามแต่ "อธิบดี" เห็นสมควร มีข้อยกเว้นอย่างนี้ ผมเห็นว่าควรจะตัดทิ้งไป ที่มีไว้เพราะคิดว่าหากถ้าคนคิดไม่รอบแล้วจะทำอย่างไร ใครจะตัดสิน ผมคิดว่าออกเป็นกฎกระทรวงได้ แต่กฎหมายส่วนใหญ่ยังไม่ดี เป็นกฎหมายที่เอื้อให้ผู้ที่มีอำนาจอนุมัติเอาไปใช้ประโยชน์ส่วนตัวได้

"ผมคิดว่านี่เป็นโจทย์ใหญ่มากของระบบสายราชการที่ใช้อำนาจในการอนุมัติ สายอำนาจบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งโยงไปถึงหน่วยงานต่าง ๆ ที่ทำให้ "ตำแหน่ง" มีค่ามาก มีขบวนการ แย่งชิงตำแหน่ง ลามไปถึงวินัย สินบน พวกพ้อง แย่งกันดุเดือด"

โดยย้ำว่า "อันนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่สุดที่เกิดการทะเลาะเบาะแว้งกัน เป็นรากของมันเลย สมัยคุณทักษิณ (ชินวัตร) อยู่ พยายามเอา อำนาจมาอยู่ในส่วนของผู้บริหารประเทศ ไปเกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งโยกย้ายในสายอำนาจเยอะมาก พอทำเช่นนั้น ทำให้คนได้เปรียบเสียเปรียบกัน เกิดการแย่งชิงอำนาจกัน การบังคับใช้กฎหมายเอื้อไม่เท่ากัน นี่เป็นรากของปัญหาใหญ่ที่กำลังพูดกันในวันนี้"

แต่การจัดระเบียบ สังคมไทย "คนก็คือคน" จะไปเปลี่ยนคนมันยาก การจะใช้ระเบียบ ระบบ มาแก้ มากำกับคน รูปแบบหรือสูตรที่เขาคิดมาไม่ได้ผล

"ณรงค์ชัย" ยกตัวอย่างแนวความคิดของ น.พ.ประเวศ วะสี และคุณอานันท์ ปันยารชุน ที่บอกว่ารัฐบาลต้องมีอำนาจมาก ๆ โดยให้ฝ่ายการเมืองตั้งองค์กรอิสระมากำกับตรวจสอบสายการเมือง 7 องค์กร อาทิ ศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการการเลือกตั้ง สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และรัฐธรรมนูญฉบับนั้น (2540) เอื้อให้พรรคการเมืองมีอำนาจมาก ๆ จะได้บริหารประเทศได้ภายใต้ 7 องค์กรอิสระ ผมไม่ทราบว่าเป็นความบกพร่องตรงไหน เมื่อองค์กรอิสระไม่อิสระจริง มีอำนาจมากแต่ตรวจสอบน้อย

ถามว่าเพราะ "คน" หรือเปล่า ระบบอะไรจะไปแก้ "คน" มันแก้ยาก ถามว่าระบบอะไรจะเหมาะสม ระบบที่คุณหมอประเวศ คุณอานันท์ทำไว้ก็เหมาะสม โมเดลที่ "รัฐบาล" เข้มแข็ง "องค์กร" อิสระเข้มแข็ง ระบบในโลกนี้ก็เป็นอย่างนั้น แต่รอบนี้ระบบนี้มัน ไม่เวิร์ก พอรัฐธรรมนูญปี 2550 แก้ไขใหม่ เป็นรัฐบาลอ่อนแอ องค์กรอิสระอ่อนแอ ทำให้องค์กรที่ไม่อิสระก็ "ลำเอียง"

"ผมคิดว่า น่าจะลองระบบรัฐบาลเข้มแข็ง องค์กรอิสระเข้มแข็ง แต่ทำอย่างไรให้องค์กรอิสระเข้มแข็ง ก็เป็นเรื่องวุฒิสภา เพราะการเสนอชื่อผู้มาเป็นองค์กรอิสระ มาจากองค์กรวิชาชีพต่าง ๆ และผู้ตัดสินเลือกคือวุฒิสภา จึงเป็นโจทย์ที่สำคัญมาก ว่าวุฒิสภาควรมีไหม ควรมาจากไหน มีอำนาจอย่างไร แต่ประเด็นของผมถ้าวุฒิสภามาจากเลือกตั้งก็ไม่ต่างจากสภาล่าง คือสภาผู้แทนราษฎร หากให้มาจากเลือกตั้งก็ไม่ควรมีวุฒิสภาก็มี ส.ส.อย่างเดียว ผมยังลำเอียงไปในทางวุฒิสภามาจากการแต่งตั้ง ไม่ใช่แต่งตั้งโดยอำมาตย์ แต่แต่งตั้งโดยกลุ่มวิชาชีพต่าง ๆ แต่อย่าใช้วิธีเลือกตั้ง มันน่าจะดีกว่า"

เพื่อให้เข้าใจถึงรากที่มา ของวุฒิสภา "ณรงค์ชัย" กล่าวว่าในสังคมไทยมีประวัติของสายชนชั้นปกครองที่ผ่านมาโดยลำดับตั้งแต่ สมัยรัตนโกสินทร์ 200 กว่าปี พวกชนชั้นปกครองถือว่าเป็นสิทธิและภาระหน้าที่ของเขาที่ต้องมีบทบาทในเรื่อง ประเทศชาติ เขาอยากแสดงบทบาทนี้ แต่จะแสดงที่ไหน มีที่เดียวคือวุฒิสภา

"ชน ชั้นปกครองเขาคิดว่าเขามีหน้าที่ว่าเขายังต้องมีหน้าที่ดูแลประเทศชาติ แม้ปัจจุบัน ทั้ง ๆ ที่เกษียณไปนานมากแล้ว เขายังมีอิทธิพลต่อการทำงานของผู้ที่อยู่ในตำแหน่งหน้าที่ อันนั้นเป็นความจริง ถามว่าเหมาะไหม ไม่ควร ที่เขาจะมายุ่ง หากเขาจะยุ่งควรไปที่วุฒิสภา"

ถามว่าระบบที่อื่นเป็นอย่างไร เขาก็ลองผิดลองถูกกันมานาน แต่ในที่สุดก็ต้องบาลานซ์กัน สหรัฐอเมริกาก็มีวุฒิสภาและสภาล่าง ของเขาวุฒิสภาก็มาจากการเลือกตั้ง แต่มาจากคนละฝ่าย แต่ของเรามีสภาผัวสภาเมีย เป็นคนในครอบครัวเดียวกัน แต่ทุกแห่งในโลกมีคานอำนาจกัน ซึ่งเราก็ต้องมีแบบนั้น

แต่เรื่องสุด ท้ายก็คือเรื่อง "คน" การที่จะเสกให้ทุกคนเป็นคนดีทั้งหมดคงยาก ก็ต้องสร้างระบบไปเรื่อย ๆ ดีแบบไหนไม่รู้ แต่คำว่า "ดี" มีสูตรอยู่ แต่ว่าคนไม่ยอมปฏิบัติมากกว่า คือพรหมวิหาร 4-เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา อันนี้คือความดี ไม่ต้องหามาตรฐานอื่น หากต้องการเป็นคนดีก็ทำ 4 ข้อนี้ หากไม่มีข้อไหน อย่างไม่มีอุเบกขา ก็อย่าไปมีส่วนในการตัดสินอะไร เป็นต้น

เพราะ ฉะนั้นมาตรฐานมีอยู่แล้วคือพรหมวิหาร 4 มนุษย์จะอยู่ด้วยกันได้ต้องมี 4 ข้อนี้ สังคมจะสงบสุข

view