สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สร้างสภาประชาชนถ่วงดุลสภาผู้แทน

จาก โพสต์ทูเดย์   

โจทย์ใหญ่ของประเทศนี้ คือ จะทำอย่างไรให้สังคมไทยหันมาปรองดอง แก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดการสุมไฟ แบ่งขั้วห้ำหั่นทำลายล้างที่รุนแรงอีกครั้ง

โดย...ทีมข่าวการเมือง 

แม้ม็อบเสื้อแดงจะยอมสลายการชุมนุม แต่คำถามใหญ่ที่ทิ้งเชื้อให้กับสังคมไทย คือ “เราจะอยู่กันอย่างไร”

โจทย์ใหญ่ของประเทศนี้ คือ จะทำอย่างไรให้สังคมไทยหันมาปรองดอง แก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดการสุมไฟ แบ่งขั้วห้ำหั่นทำลายล้างที่รุนแรงอีกครั้งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์ “ผู้นำทางสังคม” ที่หลายคนเรียกขานอย่างยกย่องว่า “เจ้าติดดิน” หรือ “เจ้าสลัม” เพราะเจ้าตัวได้ทำงานเพื่อคนจน เป็นหัวแรงแข็งขันในการต่อสู้เพื่อให้คนยากไร้ ชุมชน ชาวสลัม ได้รับความเป็นธรรมมายาวนานร่วมค่อนชีวิต

ปัจจุบันบทบาทสำคัญของ ม.ร.ว.อคิน คือ “ประธานคณะกรรมการมูลนิธิชุมชนไท” แม้สุขภาพจะไม่กระฉับกระเฉงเหมือนแต่ก่อน แต่ก็ยังอุทิศชีวิตให้กับคนยากคนจนจนถึงทุกวันนี้

 

โดยเฉพาะวิกฤตความขัดแย้งครั้งนี้ ม.ร.ว.อคิน พร้อมด้วยเอ็นจีโอกลุ่มหนึ่งเดินทางเข้าพบ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เพื่อเสนอโมเดลแก้ปัญหาการปฏิรูปประเทศไทยที่เห็นว่าจะเป็นทางออกอย่าง ยั่งยืน

บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้มีขึ้นก่อนเกิดเหตุ “พฤษภาวิกฤต” แต่ยังอยู่ในช่วงม็อบแดงคุกรุ่นที่ราชประสงค์ และมียอดผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นทุกวัน ขณะที่ระเบิดเอ็ม 79 ก็ปะทะกับทหารอย่างต่อเนื่อง

“ในใจผมเห็นว่านักการเมืองมันแย่งอำนาจกันตลอดเวลา และก็ตกลงกันไม่ได้ ยุบไม่ยุบสภา ที่อยากยุบก็คิดว่าตัวเองจะได้ขึ้นมามีอำนาจ ที่ไม่อยากให้ยุบก็กลัวเสียอำนาจ นี่แหละนักการเมือง แต่คนที่มาชุมนุมเสื้อแดงเขามาด้วยความเดือดร้อน มีปัญหาเรื่องความไม่เท่าเทียม ไม่ยุติธรรม แต่เรื่องพวกนี้สังเกตว่าเขาไม่เอาขึ้นมาพูดบนเวที เรื่องที่สองวันนี้คนในสังคมแตกแยกกันมาก การจะปรองดองกันได้มันต้องหาเรื่องที่ทั้งสองฝ่ายจะมาทำร่วมกันได้ นั่นคือการปฏิรูปประเทศไทย ปฏิรูปสังคมให้เป็นประเทศที่น่าอยู่ มีธรรมะ”

ม.ร.ว.อคิน บอกว่า หนทางสำคัญคือการสร้าง “สภาประชาชน” ที่ มาจากคนหลายฝ่าย รวมทั้งเครือข่ายชาวบ้าน เพื่อให้ภาคประชาชนมีอำนาจต่อรองกับรัฐในการแก้ปัญหาชุมชนที่ถูกทุนและรัฐ เอาเปรียบมาช้านาน

“ผมคิดว่าปัญหาจริงๆ คือ แรกเริ่มเราต้องการพัฒนาอุตสาหกรรม เราไปเอาทรัพยากรจากชาวบ้าน ทำให้เขาเดือดร้อนมานาน และที่มาปะทุเพราะนักการเมืองเขาใช้ความทุกข์ยากลำบากเพื่อเป็นเครื่องมือ ให้เขาไต่เต้าไปหาอำนาจ มันเลยเป็นปัญหาที่สะสมมานาน”

“ดังนั้นเราต้องสร้างพลังของชุมชนให้เป็นสภาประชาชน แล้วเอาปัญหาที่ชาวบ้านประสบขึ้นมาพิจารณา แล้วองค์กรนี้จะจัดปัญหาของชาวบ้านเพื่อแก้ไขบ้านเมืองร่วมกัน ว่าจะช่วยลดปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำ สร้างความยุติธรรมได้อย่างไร โดยให้มีกรรมการอาวุโสชุดหนึ่ง เช่น คุณอานันท์ ปันยารชุน ที่สนใจในเรื่องบ้านเมือง ทีนี้จากชุมชนข้างล่างก็จะ

ประชุมถึงปัญหาที่ควรได้รับการแก้ไข และผู้นำแต่ละแห่งที่จะมาเป็นสภาประชาชนจะมาพิจารณาร่วมกันและเสนอไปที่ผู้ อาวุโสเพื่อบอกกับรัฐบาลให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ นี่ก็เป็นการปฏิรูป”

ม.ร.ว.อคิน บอกว่า สภาประชาชนจะเป็นกลไกหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาในระยะยาวได้ เพราะจะคอยถ่วงดุลกับสภาผู้แทนราษฎร สภาประชาชนจะเลือกมาจากกลุ่มองค์กรต่างๆ ซึ่งไม่ว่ารัฐบาลไหนขึ้นมา เสียงอันนี้จะแรง จะบอกว่ารัฐบาลควรทำเรื่องไหนเพื่อสังคม ก็สามารถบีบหรือช่วยรัฐบาล

 

สิ่งสำคัญที่อาจารย์อคินอยากเห็นคือ สภาประชาชนซึ่งหากเกิดขึ้นจริงจะต้องดึงสื่อมาเป็นแนวร่วม เพื่อคอยดูว่าพฤติกรรมแบบไหนที่|สส. และรัฐบาลควรทำหรือไม่ควรทำ

“สภาประชาชนจะทำให้ สส.ไม่กล้าทำอะไรฉาวโฉ่ ร้ายกาจ ปัญหาของบ้านเราที่เกิดการคอร์รัปชัน หรือความไม่ยุติธรรม คือเรื่องใหญ่ในบ้านเรา ถ้าไปถามชาวบ้านลึกๆ มันเป็นความขัดแย้งระหว่างกลุ่มทุนกับท้องถิ่นที่มีการยื้อแย่งทรัพยากรกัน อย่างที่ดิน เช่น ในภูเก็ตมีโฉนดอะไรแปลกๆ ออกมาประจำ หรือมาบตาพุดที่เป็นเรื่องของโรงงาน ธุรกิจ นายทุนที่ไปทำให้เกิดมลพิษ สร้างความเสียหายกับท้องถิ่น หรือโรงงานบางแห่งทำน้ำเสีย”

“ถ้าเรามีสภาประชาชน ปัญหาเหล่านี้ก็อาจช่วยได้ มันจะเปลี่ยนจากความขัดแย้งมาเป็นการต่อรองและการตกลงกัน เพราะเวลาพวกทุนมีปัญหากับชาวบ้าน สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้น เจ้าหน้าที่ ข้าราชการมักจะเข้าข้างนายทุน แต่สภาประชาชนจะบีบให้เขาทำงานให้ตรงกรอบได้ อันนี้เราในฐานะนักพัฒนาเคยทำสำเร็จมาแล้ว เช่น ที่คลองอู่ตะเภา ที่สุดท้ายนำไปสู่การไกล่เกลี่ยพูดจากัน”

และปัญหาของประชาธิปไตยไทยคืออะไร เพราะดูจะ “ไปไม่ถึงไหน” ซักที ม.ร.ว.อคิน วิเคราะห์ว่า ปัญหาหลักอยู่ที่ระบบประชาธิปไตยแบบตัวแทน ที่ทำให้ไม่เป็นประชาธิปไตยจริงๆ โดยเฉพาะการเลือกตั้งที่ประเทศไทยรับเอาเฉพาะพิธีกรรมของประชาธิปไตยตะวันตก เช่น รูปแบบการเลือกตั้งมาใช้ โดยที่เนื้อหายังไม่เป็นประชาธิปไตย

“คุณจะเห็นได้ว่าถ้าไม่มีเลือกตั้งอเมริกาเขาก็โวยเลยว่าไม่เป็น ประชาธิปไตย เหมือนอย่างพม่าที่พยายามจะทำเลือกตั้งหลอกๆ เพื่อให้เห็นว่ามันเป็นประชาธิปไตย (หัวเราะ) คือขอให้มันมีเลือกตั้งก็เป็นประชาธิปไตย เพราะคิดว่าฝรั่งคิดแบบนั้น

“ทีนี้การเลือกตั้งในเมืองไทยมันมีปัญหา ผมเชื่อว่าในอดีตจนถึงปัจจุบันสังคมไทยมีระบบอุปถัมภ์มาก ในประเทศนี้มันต่างกัน บางแห่งมีมาก บางแห่งมีน้อย คือ ระบบอุปถัมภ์เกิดมาจากความสูงต่ำในสังคม มีผู้ใหญ่ ผู้น้อย อีกอย่างที่สำคัญมาก คือ คนไทยคิดว่าตัวเองไม่ได้ก้าวหน้าเพราะความสามารถของตัวเอง เช่น ทำดีเท่าไรก็ไม่เจริญก้าวหน้า คุณจะเจริญก้าวหน้าคุณต้องมีเส้น”

ม.ร.ว.อคิน ขยายความว่า การเลือกตั้งหลายแห่งที่เลือกกัน เป็นการเลือกผู้อุปถัมภ์ ไม่ได้เลือกผู้แทนที่แท้จริง แต่เลือกคนที่จะช่วยเหลือเขาได้ ถึงมีการซื้อเสียงได้ง่าย ฉะนั้นจึงไม่คิดว่าการเลือกตั้งในประเทศไทย เราจะได้ผู้แทนที่ดี จนกว่าสังคมไทยจะพึ่งตัวเองได้ เหมือนฝรั่งที่ทำได้เพราะพึ่งตัวเองเป็นหลัก

ไม่ได้หวังให้คนที่มีเส้นสายเขามาช่วย

ถ้าอย่างนี้การเลือกตั้งจะแก้วิกฤตได้ก็อาจแค่หยุดทะเลาะกัน อย่างนั้นหรือ?...

ใช่ อย่างมากที่สุดเสื้อแดงก็หยุดเท่านั้น แต่พอบอกว่าจะมีการเลือกตั้งจริงแล้วจะเกิดอะไรขึ้น ผมคิดว่าฆ่ากันอุตลุดเลย อย่างฟิลิปปินส์เลือกตั้งตายไป 30 กว่าคน

“ถามว่าถ้าเลือกตั้งพรรคประชาธิปัตย์ไปหาเสียงที่อีสานหรือภาคเหนือได้ ไหม โอกาสที่จะตายสูงมาก ดีไม่ดีเขาไม่สามารถไปหาเสียงได้ด้วยซ้ำ แล้วเหลืองกับแดงก็ปะทะกันอีก และบางแห่งที่มีทั้งเหลืองทั้งแดงในท้องถิ่นก็ยิ่งปะทะกันใหญ่เลย ฉะนั้นการปล่อยให้ยุบสภาจะปล่อยให้ประชาชนตีกันเองแน่ การเลือกตั้งใหม่จะเป็นอย่างนั้นนะ เพราะธรรมดาของการเลือกตั้งทุกแห่งทำให้คนแตกแยกทั้งนั้น จะต้องแบ่งออกเป็นพวกและต้องตีกัน ไม่มีการเลือกตั้งที่ไหนที่ทำให้เกิดความสามัคคีขึ้นมาได้”

“ที่ฝรั่งมันเลือกตั้งได้เพราะว่าคนในประเทศของเขายึดถือกติกาอันเดียว กัน เชื่อในของอย่างเดียวกัน แต่เราไม่ได้เชื่ออย่างนั้นนะ ไม่ได้ยึดกติกานั้น อย่างรัฐธรรมนูญเราก็เปลี่ยนเรื่อยเลย เพราะคนไม่ได้ยึดตามนั้น วันนี้พรรคการเมืองก็มาเถียงกันเรื่องเขตเล็กเขตใหญ่ ซึ่งมันไม่มีความหมายอะไรกับประชาชน นอกจากนักการเมืองคิดว่าเขตเล็กเราเอาเงินไปให้ง่าย นักการเมืองพวกนี้ไม่ได้คิดถึงประเทศไทยเลย”

ม.ร.ว.อคิน สรุปว่า ในระยะสั้นการแก้ปัญหาความขัดแย้งเป็นเรื่องความมั่นคงที่รัฐบาลต้องรับผิด ชอบ และต้องจัดการให้ได้ แต่ไม่รู้สติปัญญาของรัฐบาลจะทำได้แค่ไหน ปัญหาคือรัฐบาลใช้เครื่องมืออะไรไม่ค่อยได้ มันแตกไปหมด

ข้อสรุปคือ ทุกคนต้องร่วมกันปรองดองแล้วช่วยเหลือกัน แก้ไขปัญหาที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ สร้างธรรมะขึ้นมาในสังคม สร้างความเสมอภาค แต่ความเสมอภาคจริงๆ มันไม่มี ทุกสังคมมันมีคนรวยคนจนทั่วโลก แต่เราต้องทำให้ได้โอกาสเท่ากันให้มากที่สุด

*****************************

สังคมไม่ล่มสลาย แต่...?

เป็นเจ้าที่ติดดินจริงๆ ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์ ในวัย 78 ปี วันนี้ยังเป็นผู้ใหญ่ที่คุยสนุก หัวเราะร่าเริง ไม่ถือตัว แต่เดินไม่คล่องเพราะปัญหาสุขภาพ เจ้าตัวบอกว่า เป็นเบาหวานและโรคหัวใจแต่ทำบอลลูนมา 10 ปีแล้ว นอกจากนี้ช่วงหนึ่งเป็นเนื้องอกที่ไขสันหลัง
ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์ เกิดปี พ.ศ. 2476 เป็นโอรสใน มจ.เพลิงนภดล รพีพัฒน์ (พระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์และหม่อมอ่อน) กับ หม่อมเจ้าหญิงทรงอัปสร รพีพัฒน์ (กิติยากร) (พระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ กรมพระจันทบุรีนฤนาถกับหม่อมเจ้าหญิงอัปสรสมาน เทวกุล

ม.ร.ว.อคิน จบการศึกษาปริญญาตรี สาขากฎหมายจากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด และปริญญาโทและปริญญาเอกสาขามานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยคอร์เนล ก่อนจะกลับมาสอนหนังสือในไทย

หลายคนสงสัยเป็นถึงเชื้อพระองค์ ทำไมถึงลงมาคลุกดินทำงานกับชาวบ้าน ม.ร.ว.อคิน เล่าอย่างอารมณ์ดีว่า

“ผมไปเรียนที่อังกฤษ จบกฎหมายที่นั่น รวมอยู่อังกฤษ 10 ปี ตอนนั้นผมถูกบังคับให้เรียนในวิชาที่ผมไม่ชอบ คือ ตระกูลผมเป็นตระกูลกฎหมาย พ่อผมให้เรียนกฎหมาย แต่ผมไม่ชอบ แต่ก็พอจบได้ กลับมาเมืองไทย พ่อผมเอามาฝากไว้ที่ตำรวจ เขาให้ผมทำงานที่ศาลแขวงที่กรุงเทพฯ นี่แหละ ซึ่งก็ทำคดีการพนัน โสเภณี ทำให้ผมเริ่มต้นสนใจชุมชนแออัดในเมือง”

จากนั้น ม.ร.ว.อคิน ได้ทุนร็อกกี้เฟลเลอร์ไปศึกษาด้านมานุษยวิทยา ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อกลับเมืองไทยก็พบกับจุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้ง คือ การได้มาสนิทกับอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาชนบทลุ่มน้ำแม่กลองขณะนั้น ถือเป็นการเปิดหูเปิดตาโลกชนบทเต็มตัว

“ตอน 6 ตุลา ผมยังทำงาน อาจารย์ป๋วยยังมีคนในธรรมศาสตร์ ส่งรายชื่อให้ตำรวจ บอกว่าผมฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ จากนั้นทหารตรวจรายชื่อเขารู้จักพ่อผม เขายืนยันว่า ไม่ใช่แน่” เขาเล่าอย่างอารมณ์ขัน

ม.ร.ว.อคิน เดินย่ำลงพื้นที่ช่วยเหลือ คนชนบทเกือบทุกตารางนิ้วในประเทศไทยยังมองว่าการต่อสู้ของแกนนำเสื้อแดงตลอด 2 เดือนที่ผ่านมาได้ปลุกมวลชน “คนชั้นล่าง” สู้รบคนชั้นกลางและคนชั้นสูง โดยใช้วาทกรรม “ไพร่” กับ “อำมาตย์” เพื่อเป็นการปลุกกระแสสร้างคะแนนนิยมให้ตัวเอง

“ถ้าเขาตั้งใจนะ เขาจะต้องเอาข้อเรียกร้องอย่างเช่น การปฏิรูปที่ดิน เรื่องสวัสดิการต่างๆ มาพูดในเวทีเสื้อแดง แต่ผมฟังแล้ว ไม่เห็นมีเลย มีแต่เรื่องการเมือง เรื่องที่เขาจะเอาอำนาจ แย่งอำนาจมาพูด เขาไม่เรียกร้องพวกนั้น”

“นักการเมืองเขาถือโอกาสใช้คำว่า ไพร่ อำมาตย์ เรียกข้าราชการว่า อำมาตย์เพราะคำว่า อำมาตย์ มันไม่เหมือนคำว่า “นาย” มันไปผูกกับสถาบัน เขาดึงเข้ามาแบบนั้นว่าสถาบันเป็นหัวหน้าของพวกอำมาตย์ คือ เขาต้องการดึงขึ้นมาเพื่อโจมตีทางนั้น อันนี้กระเทือนสังคมไทยมาก”

สังคมไทยจะล่มสลายไหม เราจะถอยหลังหรือก้าวหน้า อาจารย์อคินนิ่งคิดอยู่นาน

“มันจะไม่ล่มสลาย แต่มันจะสูญเสียสถาบันในหลายสถาบัน หรือมันอาจมีภาวะจลาจล การแตกแยก หรือถ้าสังเกตดีๆ มันมีความแตกต่างระหว่างภาคอยู่นะ ภาคใต้กับกรุงเทพฯ เหนือกับอีสานก็อีกอย่าง ที่สุดประเทศไทยอาจแตกเป็นหลายประเทศก็ได้ แต่ผมหวังว่ามันไม่ไปถึงขนาดนั้น มันมีปัญหาเหมือนกันนะ แต่ถ้าไม่มีสถาบันหลักอย่างสถาบันพระมหากษัตริย์ก็อาจมีการทะเลาะฆ่ากันมาก ขึ้น คนเราต้องมีอะไรที่ยึดโยง ฉะนั้นสถาบันพระมหากษัตริย์สำคัญมากๆ”

อาจารย์คิดว่า ยุคนี้สถาบันถูกโจมตีจริงไหม?...

“ถูกโจมตีจริง ผมดูจากหลายอย่าง แต่ผมคิดว่าแม้จะถูกโจมตี แต่ตราบใดที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์นี้ยังอยู่ ผมคิดว่าไม่เป็นไร คนส่วนมากยังจงรักภักดีและยังรักท่าน แม้แต่ในพวกเสื้อแดงเองก็ตาม ส่วนมากก็จงรักภักดี มีน้อยนะที่ต่อต้านสถาบัน”

“ชาวบ้านยังจงรักภักดี แต่ว่ากลุ่มคนที่ไม่ชอบสถาบัน จะมีกลุ่มหนึ่งที่ผมสังเกตนะ คือ พวกอดีตนักศึกษา 6 ตุลา 2519 เขาจะรู้สึกและก็พวก 6 ตุลา ก็เยอะที่มาทำงานกับคุณทักษิณ เขาน่ากลัวอยู่นะ มีคนพูดแรงๆ อยู่หลายคน”

กระนั้น ม.ร.ว.อคิน ก็ยอมรับว่าขบวนการล้มเจ้ามีจริง ไม่ต่างกับขบวนการคอมมิวนิสต์ ที่เมื่อก่อนมีความพยายามเชื่อมโยงกับเครือข่ายต่างประเทศ เช่น หนังสือเรื่อง “เดอะคิงส์เนเวอร์สไมล์” ที่เชื่อมโยงกัน

แล้วชนชั้นล่างตื่นตัวจริงหรือยัง?...

ความตื่นตัวทั่วประเทศไม่เหมือนกัน ถ้าเราจะพูดที่กรุงเทพฯ กับในชนบทแถวเชียงราย หรืออีสานจะต่างกันเพราะการพัฒนาของประเทศมันไม่เท่ากัน และถ้าพูดจริงๆ ส่วนใหญ่ยังไม่ตื่นตัวจริงๆ

view