สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เปิด โจทย์หิน รัฐบาลอภิสิทธิ์ ฟื้นฟูประเทศ ดึงต่างชาติกลับมาลงทุน

จากประชาชาติธุรกิจ

ภาพลักษณ์ประเทศไทย หลังสงครามกลางเมืองผ่านไป เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง นับจากนี้ไปรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะฟื้นความเชื่อมั่นให้กลับมาได้อย่างไร "ประชาชาติธุรกิจ" เปิดข้อเสนอจาก 4 นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำ เราเชื่อว่า ถ้ารัฐบาลเปิดใจให้กว้าง อาจยังพอมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์

แผนดึงนักลงทุนต้องไม่ใช่ "เดิม ๆ"


ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็นว่า เหตุการณ์ชุมนุมที่บานปลายถึงขั้นเกิดจลาจลเผาอาคารทรัพย์สินต่าง ๆ กระทบต่อการลงทุนโดยตรงจากภาคเอกชนค่อนข้างมาก และก่อนหน้านี้ความเชื่อมั่นถูกกระทบไปมากแล้วตั้งแต่กรณีมาบตาพุด ในปีนี้คงไม่เห็นการลงทุนเพิ่ม แต่เหตุการณ์ครั้งนี้จะซ้ำเติมกระทบการลงทุนระยะยาวมากกว่า ไม่ใช่เฉพาะการลงทุนจากต่างประเทศเท่านั้น แต่รวมถึงการลงทุนของคนไทยด้วย 

ดร.เศรษฐพุฒิระบุว่า การลงทุนโดยตรง โดยเฉพาะการลงทุนผลิตเพื่อส่งออกที่ใช้แรงงานจำนวนมาก ช่วงหลังได้หนีไปลงทุนที่อื่นค่อนข้างมาก อาทิ เวียดนาม และเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นเรื่องความปลอดภัย เรื่องการดูแลเรื่องสินทรัพย์ ทำให้นักลงทุนมีความกังวล อาจเป็นสาเหตุทำให้นักลงทุนย้ายฐานการผลิต

ฉะนั้นการจูงใจการลง ทุนไม่ควรใช้วิธีการเดิม ๆ คือให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุน เนื่องจากวิธีนี้เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แต่สิ่งที่รัฐบาลควรทำหลัก ๆ คือ การรักษาเรื่องความสงบ เรื่องความปลอดภัย และการรักษากฎหมาย กฎเกณฑ์กติกาต่าง ๆ ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องจลาจลที่เกิดขึ้น แต่กลับมาที่เรื่องมาบตาพุดด้วย

"ผลกระทบ จากเหตุการณ์ครั้งนี้ ในระยะสั้นห่วงที่สุดคือเรื่องการท่องเที่ยวที่ฟื้นขึ้นมาแล้วในไตรมาสแรกปี นี้ก็คงจะหายไปอีก ส่วนระยะยาวห่วงเรื่องการลงทุน เพราะถ้าการลงทุนไม่ฟื้น เศรษฐกิจจะไม่สามารถเติบโตต่อเนื่องได้" ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว
ทั้งนี้การที่เศรษฐกิจไทยไม่ค่อยโต หรือขยายตัวได้ไม่ค่อยดีในช่วงที่ผ่านมา ดร.เศรษฐพุฒิระบุว่า หลัก ๆ เป็นเพราะการลงทุนไม่ฟื้นกลับมา แต่ที่เศรษฐกิจโตได้ในช่วงที่ผ่านมาเพราะการส่งออก ขณะนี้การลงทุนของไทยอยู่ในระดับ 2 ใน 3 ของการลงทุนในปี 2539 ก่อนเกิดวิกฤต 2540 ผ่านมากว่า 10 ปีถือว่าเครื่องยนต์การลงทุนยังไม่ติดยังไม่ฟื้น ดังนั้นเมื่อมองไปข้างหน้าไม่ค่อยสดใสนัก 

ลดต้นทุนความ ปลอดภัย


  ดร.วิรไท สันติประภพ รองผู้จัดการ สายงานพัฒนาและวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มองว่า นักลงทุนไทยและต่างประเทศไม่มั่นใจในการลงทุนหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะตลาดทุน เขาจะมองเศรษฐกิจ ในแง่การจ้างงาน ดีมานด์ของธุรกิจในประเทศจะมากน้อยแค่ไหน ซึ่งคาดว่า 1-2 เดือนข้างหน้า การจ้างงานลดลงในหลายธุรกิจ อาทิ ธุรกิจท่องเที่ยว ค้าปลีก และธุรกิจบันเทิง

ส่วนการลงทุนผลิตเพื่อการส่งออก นักลงทุนเริ่มกังวลเรื่องความปลอดภัยและความมั่นคงในสังคมไทย เป็นเรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลควรทำคือ มาตรการคุ้มครองความปลอดภัยที่เป็นรูปธรรม เพื่อสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนหรือนักธุรกิจทั้งของคนไทยและคนต่างชาติ และเพื่อให้ธุรกิจเดินต่อไปได้

"ประเทศไทยถือเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของหลาย ๆ ธุรกิจ และช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาการส่งออกดีมาก เพราะฉะนั้นยังมีความต้องการจะลงทุน ขยายการผลิต แต่จะมีการตัดสินใจดำเนินการต่อหรือไม่ยังมีความกังวลอยู่ ซึ่งไม่ใช่เรื่องต้นทุนค่าแรงและต้นทุนทางการเงิน แต่เป็นต้นทุนความปลอดภัย" ดร.วิรไทกล่าว 

ตัวอย่าง เช่น รัฐบาลทำประกันให้กับนักท่องเที่ยวที่ได้รับบาดเจ็บหรือผลกระทบจากการจลาจล ในกรณีนี้รัฐบาลอาจต้องขยายวงกว้างให้ความคุ้มครองมาสู่ธุรกิจทั้งของคนไทย และต่างประเทศ หรือการให้ความช่วยเหลือเรื่องการซื้อประกันเมื่อเกิดจลาจล เพราะประกันบางแห่งเขาไม่รับประกันเหตุจลาจล หรือถ้ารับค่าเบี้ยประกันภัยจะแพงมาก เหมือนสหรัฐอเมริกาในช่วง 911 (ตึกเวิลด์เทรดถล่ม) ที่รัฐบาลให้ความช่วยเหลือเรื่องเบี้ยประกันภัย

นอกจากนี้ ดร.วิรไทเห็นว่า เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้ทุกคนต้องระมัดระวังมากขึ้นในการใช้ชีวิต และทุกคนควรปรับวิถีชีวิต รวมถึงปรับวิถีการทำธุรกิจด้วย โดยทุกภาคส่วนควรตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทย และควรช่วยกันสร้างภูมิต้านทาน หรือภูมิคุ้มกันให้มากขึ้น จะหวังพึ่งรัฐบาลอย่างเดียวไม่ได้ แต่ภาคธุรกิจ เอกชน ประชาชน ผู้บริโภค ต้องช่วยกันทำแม้จะทำได้เล็ก ๆ น้อย ๆ
"ภาคธุรกิจไทยมีความสามารถในการปรับตัว สูงในเชิงธุรกิจ แต่ต่อไปปรับตัวคงไม่ใช่เพื่อความอยู่รอด หรือเพื่อกำไรสูงสุดเท่านั้น แต่ต้องทำอะไรให้สังคมได้ประโยชน์ด้วย และสามารถอยู่ร่วมกันได้ เช่น การทำ CSR (corporate social respond) ต้องมากกว่าการใช้เงิน แต่ต้องมีเป้าหมายเพื่อส่วนรวมที่ชัดเจน" ดร.วิรไทกล่าว


ดร.วิรไทย้ำว่า การสร้างภูมิคุ้มกัน หรือภูมิต้านทานให้สังคมไทย เป็นเรื่องสำคัญ นี่คือโจทย์ใหม่ที่ธุรกิจไทยและสังคมไทยต้องคิด ที่สำคัญต้องทำให้เป็นรูปธรรมด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการลดความแตกต่างด้านรายได้ การมีจริยธรรม มีความเมตตา และได้ผลประโยชน์ร่วมกัน เพื่อลดปัญหาความขัดแย้ง

เรื่อง ใหญ่ ต้องแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ


ขณะ ที่ ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจส่วนรวมและการกระจายรายได้ ฝ่ายการวิจัยนโยบายเศรษฐกิจส่วนรวม มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) มองว่า ช่วง 2-3 เดือนนี้คงไม่มีนักลงทุนรายใดกล้าเข้ามาลงทุน หรือตัดสินใจลงทุน เนื่องจากยังมีความไม่แน่นอน โดยเฉพาะการลงทุนใหม่ เพราะถ้าวิเคราะห์ในระยะต่อไป เชื่อได้ว่ารัฐบาลจะเดินหน้าแผนปรองดอง 5 ข้อ ดังนั้นต้องมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นแน่นอน ซึ่งอาจเป็นวันที่ 14 พ.ย. 53 หรือขยายเวลาออกไปอีกก็ตาม แต่คำถามสำคัญคือ มีความพร้อมในการเลือกตั้งหรือไม่ และถ้าไม่ยังพร้อม ก็มีความไม่แน่นอนอาจมีความรุนแรงเกิดขึ้นอีก ดังนั้นนักลงทุนไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนไทยหรือต่างชาติคงไม่กล้าเข้ามาลงทุน โดยเฉพาะการลงทุนขนาดใหญ่
สำหรับทางออก ถ้าต้องการให้นักลงทุนกลับมาจริง รัฐบาลต้องปฏิรูปประเทศเพื่อแก้ไขความขัดแย้ง โดยเฉพาะการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ รวมทั้งต้องมีกฎหมายที่ดูแลเรื่องสื่อ และเสรีภาพของสื่อควรมีกรอบว่าเสรีภาพระดับไหน ที่สำคัญสื่อต้องตั้งคำถามและรายงานข้อมูลข่าวสารอย่างสร้างสรรค์ ไม่ใช่โยนประเด็นแบบปิงปองให้คนทะเลาะกัน

นอกจากนี้เรื่องการตรวจสอบข้อ เท็จจริงต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดความรุนแรงและความสูญเสียเกิดขึ้น ให้ปรากฏความเป็นจริงต่อสังคม เรื่องนี้เป็นวาระเร่งด่วนที่ต้องชำระประวัติศาสตร์อย่างทันที ทุกเรื่องที่เกิดขึ้นควรมีคำตอบหรือคำอธิบาย ไม่เช่นนั้นจะฝังความรู้สึกโกรธแค้น และถูกนำมาใช้เป็นข้อถกเถียงกันไม่จบ 

"ทักษิณ-อภิสิทธิ์" ต้องเสียสละ


ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร และนายคริส เบเคอร์ ได้แสดงความคิดเห็นผ่านบทความเรื่อง "การเสียสละในกรุงเทพ" (Sacrifices in Bangkok) ซึ่งตีพิมพ์ในวอลล์สตรีต เจอร์นัล ฉบับวันที่ 21-23 พฤษภาคม โดยได้เรียกร้องให้ทั้งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร เสียสละเพื่ออนาคตของประเทศไทย

นักวิชาการทั้งสองได้ตั้งข้อ สังเกตว่า จากผลสำรวจความคิดเห็นหลายครั้งเมื่อเร็ว ๆ นี้ต่างแสดงให้เห็นว่า คนไทยส่วนใหญ่เชื่อว่าระบบตุลาการที่ยุติธรรม สื่อที่เปิดกว้าง และประชาธิปไตยจากการเลือกตั้ง เป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดสำหรับแก้ความขัดแย้งในสังคม ดังนั้นจึงได้เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จำเป็นต้องสร้างความมั่นใจว่า การดำเนินการทางกฎหมายต่อทุกฝ่ายจะต้องเป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยผู้นำกลุ่มเสื้อเหลืองซึ่งสนับสนุนรัฐบาลจะต้องรับผิดชอบกับการปิดสนาม บินเมื่อปลายปี 2551 เช่นเดียวกับการดำเนินคดีกับกลุ่มเสื้อแดง

รวมทั้งรัฐบาลยังจำเป็นต้องยก เลิกการควบคุมสื่อเสื้อแดง และรัฐบาลต้องไม่แอบสนับสนุนกลุ่มเสื้อเหลืองให้แก้แค้นกลุ่มเสื้อแดง

นอก จากนี้ นายกรัฐมนตรีต้องกลับมาพิจารณาการเลือกตั้งก่อนกำหนดอีกครั้ง พร้อมขจัดเงื่อนไขต่าง ๆ ที่ทำให้ข้อเสนอก่อนหน้านี้ดูไม่น่าเชื่อถือ ทั้งนี้เนื่องจากมีความเป็นไปได้สูงที่พรรคประชาธิปัตย์ของนายอภิสิทธิ์จะ แพ้การเลือกตั้ง ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวถือเป็นการเสียสละ

ขณะเดียวกันตอนนี้ เป็นโอกาสยิ่งใหญ่สำหรับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หลังจากการเคลื่อนไหวซึ่งเขาช่วยปลุกปั่น ได้กลายเป็นเสือที่คลุ้มคลั่ง หากเขากลับมาและขี่หลังเสือต่อไป ก็มีความเป็นไปได้ที่จะถูกขย้ำเสียเอง พ.ต.ท.ทักษิณน่าจะรู้อยู่แก่ใจถึงเรื่องนี้ ดังนั้นนี่คือโอกาสที่เขาจะลงจากหลังเสือ ในสังคมพุทธแบบเมืองไทย

"การสละผลประโยชน์ของตนเองเป็นสิ่งที่น่า สรรเสริญอย่างยิ่ง หากเขาประกาศที่จะสละความตั้งใจที่จะนำทรัพย์สินที่ถูกยึดคืนมา พร้อมกลับมาเมืองไทยเพื่อรับโทษจำคุก 2 ปี ย่อมถูกมองเป็นการแสดงออกของผู้กล้า"

ดร.ผาสุกได้ตบท้ายในบทความว่า ชาวไทยจำนวนมากได้เสียสละแล้วในสัปดาห์ที่ผ่านมา อนาคตของเมืองไทยขึ้นอยู่กับว่าทั้งสองท่านนี้จะยอมเสียสละหรือไม่

view