สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สะพาน เชียงของจุดพลุลงทุน ราคาที่ดินพุ่ง-ผุดเมกะโปรเจ็กต์รับจีเอ็มเอส

จากประชาชาติธุรกิจ



การก่อ สร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 เชื่อมระหว่าง อ.เชียงของ จ.เชียงราย กับเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว ไม่ใช่เพียงแค่การส่งเสริมให้การคมนาคมสะดวกสบายเท่านั้น แต่ถือเป็นการเชื่อมแนวระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ของภูมิภาคนี้ หรือ North-south economic corridor ตามโครงการความร่วมมือของกลุ่มประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง หรือจีเอ็มเอส ได้แก่ ไทย พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม และจีน (มณฑลหยุนนาน) รวมทั้งยังเชื่อมถนนสายคุนหมิง เมืองเอกของมณฑลหยุนหนาน กับกรุงเทพฯ ของไทย หรือ "คุน-มั่ง กงลู่" อีกด้วย

ดังนั้นประเทศไทย สปป.ลาว และจีน จึงให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะจีนและไทยควักกระเป๋าลงทุนคนละครึ่ง มูลค่าการก่อสร้างสะพานทั้งสิ้น 1,486.5 ล้านบาท

ผู้รับเหมาก่อ สร้างคือ กลุ่มซีอาร์ 5-เคที จอยต์เวนเจอร์ ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัท ไชน่า เรลเวย์ โน.5 เอ็นจิเนียริ่ง กรุ๊ป จำกัด จากประเทศจีน กับบริษัท กรุงธนเอ็นยิเนียร์ จำกัด ของประเทศไทย ขณะนี้รอเพียงพิธีวางศิลาฤกษ์เพื่อทำการก่อสร้างเต็มรูปแบบภายใน 30 เดือน คาดว่าจะแล้วเสร็จปลายปี 2555

ปัจจุบันกรมทางหลวงยังมีโครงการ ก่อสร้างถนนเชื่อมโครงข่ายชายแดน อ.แม่จัน-เชียงแสน ระยะทาง 19.2 กิโลเมตร งบประมาณ 630 ล้านบาท โดยระหว่างรองบประมาณอีก 540 ล้านบาทเพื่อก่อสร้างช่วงที่ 1 ถนนเชื่อม อ.แม่สาย-เชียงแสน 30.6 กิโลเมตร งบประมาณ 300 ล้านบาท ถนนสาย อ.เชียงแสน-เชียงของ 59 กิโลเมตร งบประมาณ 995 ล้านบาท

รวมทั้งอยู่ระหว่างของบประมาณ 850 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างถนนสายเชียงราย-เชียงของ ช่วงที่ 3 ซึ่งเหลืออีกเพียง 25 กิโลเมตร เพื่อให้แล้วเสร็จปี 2554 ด้วย ทำให้ที่ผ่านมามีงบประมาณจากโครงการก่อสร้างถนนสายต่าง ๆ ลงสู่พื้นที่ไม่ต่ำกว่า 4,500 ล้านบาท และในปี 2554 อีกประมาณ 270 ล้านบาท โดยถนนทุกสายมุ่งสู่สะพานข้ามแม่น้ำโขงเชียงของ

ปัจจุบัน จ.เชียงราย มีจุดผ่านแดนถาวร 3 จุด ได้แก่ อำเภอแม่สาย เชียงแสน และเชียงของ ซึ่งที่ผ่านมาเชียงของถือเป็นจุดที่มีการค้าชายแดนน้อยที่สุด เนื่องจากเส้นทางคมนาคมเชื่อมระหว่างไทย- สปป.ลาว-จีน ไม่สะดวก แต่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาหลังจากถนนสายอาร์3เอ เชื่อมไทย-สปป.ลาว-จีนแล้วเสร็จ ทำให้มูลค่าการค้าชายแดนด้านนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนภาคการท่องเที่ยวก็เริ่มคึกคักมากขึ้น

โดยปี 2551 มีการนำเข้ามูลค่า 956.7 ล้านบาท ส่งออก 1,316.97 ล้านบาท ปี 2552 ส่งออก 986.3 ล้านบาท ส่งออก 1,931.04 ล้านบาท และปี 2553 (ต.ค. 52-เม.ย. 53) มีการนำเข้าแล้ว 864.5 ล้านบาท และส่งออก 1,764.04 ล้านบาท

สินค้านำ เข้าส่วนใหญ่เป็นพืชผักจากจีน ถ่านหินลิกไนต์ ดอกไม้ไม้ประดับ เมล็ดทานตะวัน เมล็ดแตงโม แก๊สอาร์ก้อน ไม้แปรรูป เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ฯลฯ ส่วนสินค้าส่งออกส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุปโภคบริโภค น้ำมันเชื้อเพลิง ผลไม้สด วัสดุก่อสร้าง รถยนต์ ยางมะตอย ฯลฯ

เมกะโปรเจ็กต์ปักธง

ขณะ นี้แม้การก่อสร้างสะพานจะราบรื่น แต่กลับพบว่าภาคเอกชนที่สนใจจะเข้าไปลงทุนใหม่ด้าน อ.เชียงของต่างอยู่ในภาวะชะงักงันจากปัญหาการเมืองไทย ที่ยังไม่ยุติ

อย่าง ไรก็ตามที่ผ่านมาก็มีกลุ่มทุนเริ่มลงทุนในบริเวณใกล้เคียงเพื่อหวังรับ อานิสงส์จากสะพานและถนนสายนี้ เช่น โครงการ Kings Romans of Laos ASEAN economic & tourism development zone ของกลุ่มดอกงิ้วคำที่มีบริษัท จินมู่เหมิน จำกัด ของจีนเป็นผู้ขับเคลื่อนสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีทั้งโรงแรม พื้นที่การเกษตร กาสิโน เขตการค้า ฯลฯ ที่เมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว ห่างจากสะพาน 58 กิโลเมตร มูลค่านับหมื่นล้านบาท บนที่ดิน 5,168.75 ไร่ ระยะเวลาเช่า 75 ปี

ส่วนที่เมืองห้วยทรายก็มีโครงการ "นาคราชนคร" บริษัท เอเอซี กรีน ซิตี้ ลาว จำกัด ซึ่งร่วมทุนระหว่างกลุ่มทุนไทยและเกาหลี ตั้งอยู่ติดคอสะพานและตรงกับแนวถนน 6 กิโลเมตรใน สปป.ลาว เนื้อที่ 1,200 ไร่ กำลังก่อสร้างถนน โรงแรม รีสอร์ต สนามกอล์ฟ พื้นที่ทางการเกษตร ฯลฯ เงินทุนกว่า 1,320 ล้านบาท

ส่วนฝั่งไทย ทางบริษัท จิ่วโจว อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เตรียมก่อสร้างโรงแรมสูง 8 ชั้น 300 ห้อง บริเวณ ต.เวียง อ.เชียงของ มูลค่าลงทุนกว่า 500 ล้านบาท แต่ปัจจุบันก่อสร้างเฉพาะส่วนที่เป็นรีสอร์ต

สำหรับในเขต อ.เมืองเชียงราย ซึ่งห่างจาก อ.เชียงของ ประมาณ 110 กิโลเมตร พบว่ามีธุรกิจใหญ่ ๆ ที่สร้างไว้รองรับ เช่น บริษัท สุดศิวิไลซ์ คอมเพล็กซ์ จำกัด ผู้ประกอบกิจการอาคารพาณิชย์รอบสถานีขนส่งผู้โดยสารเชียงราย แห่งที่ 2 ติดถนนพหลโยธินสายเชียงราย-กรุงเทพฯ โดยมีการผลักดันให้ตั้งสถานกงสุลจีนและอาคารให้เช่าธุรกิจรถโดยสารของเอกชน จีนด้วย

ขณะที่ภาคค้าปลีก เครือเซ็นทรัลก็กำลังก่อสร้างห้างสรรพสินค้าโรบินสัน ซึ่งอยู่ติดถนนพหลโยธินในเขตตัวเมืองเชียงรายเยื้องกับห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ คาดว่าจะแล้วเสร็จในอีก 1 ปีข้างหน้า

กว้าน ซื้อที่ดินดันราคาพุ่ง

ปัจจุบันก็ยังมีกลุ่มทุนเข้าไปสำรวจความ เหมาะสมเพื่อการลงทุนในอนาคต และกว้านซื้อที่ดินในพื้นที่ใกล้เคียงกับบริเวณสะพาน เช่น พื้นที่ ต.เวียง ต.สถาน ต.ทุ่งงิ้ว ในเขต อ.เชียงของ โดยเฉพาะทำเลทองเขตทุ่งสามหมอน ซึ่งเป็นทุ่งนา 16,000 ไร่ ติดถนนหมายเลข 1020 สายเชียงราย-เชียงของ ถูกถ่ายโอนจากมือของชาวบ้านที่เคยซื้อขายกันในราคาถูก ไร่ละ 30,000-50,000 บาท ไปสู่มือของกลุ่มทุนหลายสิบราย และมีการปั่นราคาซื้อขายกันไร่ละอย่างต่ำ 8 แสน-1 ล้านบาท และบางจุดสูงถึงไร่ละกว่า 1 ล้านบาท

นายวิรุณ คำภิโล ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า เมื่อสะพานแห่งที่ 4 เปิดใช้คู่กับถนนอาร์ 3 เอ จะได้เห็นการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนมากกว่านี้ เดิมเราคิดเพียงว่าจีนเป็นคู่แข่งสินค้าเกษตรของไทย แต่เมื่อค้าขายกันไปกลับพบว่าจีน ตอนใต้ยังเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์เหมาะกับการป้อนอุตสาหกรรมใน ไทย เช่น ปัจจุบันมีการนำเข้าฟลูออไรด์จากจีนตอนใต้เพื่อทำยาสีฟันมากขึ้น

ขณะ นี้กลุ่มทุนต่าง ๆ ได้จัดหาที่ดินไว้หมดแล้ว แต่รอดูสถานการณ์ในไทย ต่อไปคงจะมีการลงทุนกันอย่างคึกคัก สิ่งที่พบเห็นได้ทันทีคือ สินค้าราคาถูกจากจีนจะทะลักมา ซึ่งเราสามารถสรรหาวัตถุดิบราคาถูกมาทำการแปรรูปได้มากขึ้น ในช่วงต้น ๆ นี้คงไม่มีธุรกิจใดโดดเด่นเป็นพิเศษ ส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจโลจิสติกส์ เอ็นเตอร์เทนเมนต์ โรงแรม และท่องเที่ยวเป็นหลัก

ด้านนายสงวน ซ้อนกลิ่นสกุล รองเลขาธิการหอการค้า จ.เชียงราย กล่าวว่า เดิมคาดการณ์กันว่าธุรกิจใหญ่ ๆ จะมีความคึกคัก แต่ปัจจุบันกลับเงียบผิดปกติ โดยมีเพียงกลุ่มทุนที่เข้าไปจับจองที่ดินทำเลทองส่วนใหญ่เอาไว้หมดเพื่อรอ การลงทุนเท่านั้น ธุรกิจใหม่ ๆ ในฝั่งไทยที่เห็นในปัจจุบันจึงมีเพียงโรงแรม 1 แห่ง ที่สร้างเฉพาะ รีสอร์ตนำร่อง ส่วนที่ทุ่งสามหมอนก็มีการตั้งไซโลข้าวโพด 3 ราย ที่เหลือถมดินไว้รองการลงทุน เชื่อว่าอนาคตจะมีการลงทุนมากขึ้น เพราะนักธุรกิจชาวจีนยังเดินทางมาสำรวจช่องทางการลงทุนอย่างต่อเนื่อง

โอกาส การลงทุนเปิดแล้ว แต่ความไม่มีเสถียรภาพของการเมืองไทยกำลังฉุดรั้งการพัฒนาเมืองชายแดน

view