สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

คิด แง่ลบ หรือคิดแง่ร้าย คิดอย่างไหนดี ?

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ องค์กรแห่งการเรียนรู้และการจัดการความรู้

โดย ผศ.ดร.มงคลชัย วิริยะพินิจ Mongkolchai@acc.chula.ac.th




เมื่อไม่ นานมานี้ได้สอนนิสิตในระดับปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจ หรือ MBA และได้สนทนากันระหว่างผมกับเหล่านิสิตในห้องเรียน ผมได้ยกเรื่องของ positive thinking มาเป็นประเด็นในการสนทนา เพื่อชี้ให้เห็นว่าเป็นสิ่งที่นิสิตพึงจะต้องตระหนักไว้เพื่อการเป็นผู้ บริหารที่จะสามารถจัดการกับความขัดแย้งให้ได้ดี การที่ผมได้สนทนากับนิสิตเหล่านั้น ได้ทำให้ผมได้เรียนรู้จากนิสิตมากมาย และสิ่งหนึ่งที่เป็นคำสำคัญที่ได้เรียนรู้และอยากนำมาแบ่งปันให้ท่านผู้อ่าน ได้ทำความเข้าใจมากขึ้น คือ คำว่า "คิดแง่ลบ" และคำว่า "คิดแง่ร้าย"

ใน ชีวิตของเราทุกคนนั้น ย่อมมีอันต้องเจอะเจอกับปัญหาเป็นเรื่องธรรมดา ในการสอนหนังสือนั้นผมมักบอกนิสิตเสมอว่า อย่ากลัวปัญหา เพราะคนที่กลัวปัญหานั้น บางทีก็อาจถูกมองได้ว่าเป็นคนที่รักความสมบูรณ์แบบ หรือ perfectionist คนที่เป็นคนที่รักความสมบูรณ์แบบ มักจะเป็นคนที่ทำทุกวิถีทางที่จะต้องไม่ผจญกับปัญหา เป็นผู้ที่มิอาจทนกับความรู้สึกของการสูญเสียหรือของการเป็นผู้แพ้ อีกนัยหนี่งก็คือว่า ชีวิตจะต้องโรยไปด้วยกลีบกุหลาบ จะต้องประสบความสำเร็จอยู่ตลอดเวลา ถ้าท่านผู้อ่านจะพิจารณาดูแบบผิวเผิน ท่านอาจมองว่าคนเหล่านี้มองโลกในแง่บวก หรือเป็นคนที่มี positive thinking เพราะคิดว่าหนทางข้างหน้าสำหรับตนเองจะต้องสดใสอยู่เรื่อย ๆ

แต่ถ้า ท่านผู้อ่านจะพิจารณากันให้ลึกซึ้งต้องบอกว่า กลุ่มคนที่เป็น perfectionist นั้นจริง ๆ แล้วมิได้มี positive thinking แต่ผมกลับคิดว่าคนเหล่านี้มีความเป็น negative thinking อยู่ในตัว ทีนี้ลองมาพิจารณาคำว่า negative thinking ที่ผมกล่าวอ้างถึงในที่นี้ว่าเป็นการคิดแง่ลบ หรือคิดแง่ร้ายกันแน่ สำหรับผมนั้นคิดว่าการคิดในแง่ลบนั้นเป็นสิ่งที่แตกต่างจากการคิดแง่ร้ายโดย สิ้นเชิง และอยากจะแนะนำให้ท่านผู้อ่านว่าท่านควรคิดแง่ลบแต่ไม่ควรคิดแง่ร้าย ที่กล่าวเช่นนี้ก็เพราะว่าอยากในท่านผู้อ่านทุกท่าน โดยเฉพาะท่านที่อยู่ในวัยกลางคนตอนปลายที่เป็นผู้ใหญ่เต็มตัว ที่หลาย ๆ ท่านอาจจะกำลังบอกกับตัวเองอยู่ว่า ทำไมถึงได้เกิดมาโชคร้ายเช่นนี้ เพราะวัยกลางคนตอนปลายเป็นวัยที่กำลังเจอปัญหาที่รุมเร้าเข้ามาแบบที่ว่ารอบ ตัวจริง ๆ อาทิ คนคนหนึ่งที่จำเป็นจะต้องดูแลพ่อแม่ที่เจ็บไข้ได้ป่วยเพราะอยู่ในวัยชรา ในขณะเดียวกันก็ต้องเอาใจใส่บุตร ธิดา ที่กำลังอยู่ในวัยรุ่น ซึ่งต้องได้รับการเข้าใจและการใส่ใจจากผู้เป็นบุพการีเพื่อไม่ให้เดินไปใน ทางที่ผิด ขณะเดียวกันในที่ทำงานก็อาจจะมีปัญหาความขัดแย้งกับเจ้านาย ลูกน้อง หรือเพื่อนร่วมงาน

ซึ่งถ้าเป็นคนที่มิได้เป็น perfectionist จะมองว่าปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องธรรมดา ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นนั้นสามารถมองได้ทั้งในด้านบวกและด้านลบ คนที่มีพื้นฐานความคิดเช่นนี้ถือเป็นคนที่มี positive thinking เพราะไม่ยึดติดว่าทุกอย่างจะต้องเป็นไปในด้านดีเสมอไป และเมื่อเกิดอะไรที่ไม่ดีขึ้นคนเหล่านี้จะไม่ทุกข์ใจมาก เพราะได้เตรียมใจพร้อมที่จะเรียนรู้ในสิ่งที่เกิดขึ้นว่าจะต้องมีทั้งมุมบวก และมุมลบ แต่ในทางตรงกันข้ามผู้ที่เป็น perfectionist นั้นกลับจะมองเห็นในทุกสิ่งที่เกิดขึ้นให้เห็นในมุมบวกแต่เพียงอย่างเดียว หรืออีกนัยหนึ่งมองแต่ในมุมที่ตัวเองคิดเห็นอย่างเดียวว่าจะต้องเป็นเช่น นั้นเช่นนี้ และเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นหรืออยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ได้เป็นไปตามที่ตนเองคิด ทำให้ตนเองเป็นฝ่ายที่ล้มเหลวหรือพ่ายแพ้ คนเหล่านี้จะเป็นคนที่ตกอยู่ในสภาพที่ทุกข์ใจ เศร้าใจได้ง่าย เพราะเป็นการมองสิ่งที่เกิดขึ้นในแง่ร้ายมากกว่าจะมองสิ่งร้าย ๆ ที่เกิดขึ้นกับตนเองว่านี่ก็เป็นแต่เพียงแค่มุมลบของทุกสิ่งทุกอย่างในโลก แห่งนี้ที่มักจะต้องมีทั้งมุมบวกคู่กับมุมลบอยู่เสมอ

และถ้ามองใน เชิงของการบริหารจัดการความรู้ หรือในแนวคิดเรื่ององค์กรแห่งการเรียนรู้ ก็ต้องบอกว่าการเป็นคนที่มี positive thinking หรืออีกนัยหนึ่งเป็นผู้ที่มีพื้นฐานความคิดของการมองทุกอย่างในเชิงบวกและ เชิงลบไปพร้อม ๆ กันนั้น จะเป็นผู้ที่พร้อมจะเรียนรู้อยู่เสมอ คนเหล่านี้ไม่กลัวว่าตนเองจะแพ้ หรือเสียหน้า หรือล้มเหลว เพราะมีความคิดที่ว่า คนเรานั้นมีชนะบ้างก็ต้องมีแพ้บ้าง มีได้มีเสีย มีขึ้นมีลง คนเหล่านี้จะเป็นคนที่พร้อมที่จะลองคิดลองทำ พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ โดยที่มีพื้นฐานความคิดที่ว่า สิ่งที่ตนได้ลองทำนั้นอาจจะดีหรืออาจจะแย่ แต่สิ่งสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด คือ องค์ความรู้ที่เกิดจากประสบการณ์จากการได้ลองทำ ถ้าสิ่งที่ลองทำนั้นเป็นสิ่งที่นำมาซึ่งความสำเร็จก็จะกลายเป็นองค์ความรู้ ที่นำมาคิดต่อยอดเป็นองค์ความรู้อื่น ๆ ต่อไปเรื่อย ๆ เพื่อเป็นการสร้างพัฒนาการในลำดับต่อ ๆ ไป ในขณะที่ถ้าสิ่งที่ได้ลองทำเป็นสิ่งที่นำมาซึ่งความล้มเหลว สิ่งนี้ก็จะกลายเป็นองค์ความรู้ในเชิงอุทาหรณ์ว่า มิให้กระทำเช่นนั้นอีกต่อไปในอนาคต

คนที่เป็น perfectionist หรือคนที่มี negative thinking เชิงที่คิดในแง่ร้ายนั้นถือว่าเป็นคนที่ไม่เปิดโอกาสให้ตนเองได้พัฒนาตนเอง หรือเรียนรู้ หรือสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ ให้กับตนเอง เพราะคนเหล่านี้จะคอยระแวงมากกว่าที่จะระวัง คนที่ระแวงคือคนที่คิดว่าสิ่งร้าย ๆ จะต้องเกิดขึ้น จึงเป็นการยากสำหรับคนเหล่านี้ที่คิดจะลอง คิดจะสร้างสรรค์อะไรใหม่ ๆ เพราะมักจะคิดว่าการสร้างสรรค์จะเป็นการนำมาซึ่งปัญหา และจะนำมาซึ่งการทำลายความสมบูรณ์แบบ หรือความเป็น perfectionist ที่ตนเป็นอยู่ และแทนที่จะได้องค์ความรู้จากการที่ได้ลอง หรือจากความพยายามสร้างสรรค์ โลกทัศน์ของผู้เป็น perfectionist ก็จะวนเวียนอยู่ในถ้ำมืด ๆ ที่ประกอบไปด้วยองค์ความรู้เดิม ๆ ที่ประกอบขึ้นมาจากความคิดแบบเดิม ๆ ที่ตนคิดว่าจะเป็นตัวที่สามารถธำรงไว้ซึ่งความเป็น perfectionist

ท้าย นี้จึงอยากขอแนะนำให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบว่า มิใช่เรื่องดีนักที่จะทำตัวเป็น perfectionist มิใช่เรื่องดีนักที่จะมองโลกในแง่ร้าย แต่น่าจะเป็นการดีถ้าท่านจะเป็นผู้ที่มี positive thinking หรือเป็นผู้ที่มองทุกอย่างในเชิงที่เป็นทั้งบวกและลบ เพราะท่านจะได้สามารถดำเนินชีวิตไปอย่างระวังแทนที่จะเป็นอย่างระแวง ท่านจะสามารถสนุกกับการใช้ชีวิตมากขึ้น ชีวิตของท่านจะเป็นชีวิตที่น่าสนใจมากขึ้น เพราะจะเป็นชีวิตที่พยายามจะหาสิ่งใหม่ ๆ ให้กับตัวเอง ให้กับครอบครัวของท่านเอง ให้กับกิจกรรมที่เกี่ยวกับหน้าที่การงานของท่านเอง และท่านจะเป็นคนที่มีความเก่งอย่างแท้จริง เป็นผู้มีปัญญาอย่างแท้จริง และคนอื่น ๆ จะได้มองว่าท่านนั้นเป็นผู้ที่สมบูรณ์แบบ หรือเป็น perfectionist อย่างแท้จริง แทนที่ตัวท่านจะสำคัญตนผิดไปเอง

view