สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

รม ต.แย่งซีนชิงธงเยียวยาม็อบแดง งัดสารพัดโครงการขอเงินรัฐ1,000ล.จัดงานซ้ำซ้อน

จากประชาชาติธุรกิจ

ชาญชัย-พรทิวา-อลงกรณ์แข่ง กันแย่งซีน กำหนดมาตรการของบประมาณช่วยเหลือผู้ประกอบการ เหยื่อผลกระทบเหตุการณ์การชุมนุม งัดสารพัดโครงการ ทั้งธงฟ้า-เรนโบว์ โปรเจ็ค-คาราวาน SMEs แต่ดันไม่เคยหารือร่วมกันมาก่อน


หลังจากสถานการณ์ทางการเมือง ได้คลี่คลายลงไประดับหนึ่ง แต่ผลกระทบของภาคธุรกิจและผู้ประกอบการ จากชุมนุมเผาบ้านเผาเมือง ยังคงเป็นปัญหาหนักอยู่ ส่งผลให้หลายหน่วยงานภาครัฐ ที่มีนักการเมืองจากพรรคต่าง ๆ เป็น "รัฐมนตรี" ได้ออกหน้า พยายามหามาตรการออกมาช่วยเหลือผู้ประกอบการ ด้วยการวางแผนขอ "งบประมาณ" มาสนับสนุนโครงการเยียวยาต่าง ๆ โดยไม่ดูภาพรวมของการดำเนินการช่วยเหลือทั้งหมด โดยมีตัวอย่างที่เห็นชัดเจน ได้แก่การดำเนินการของกระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงพาณิชย์

ผู้ สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานเข้ามาว่า ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ได้เร่งเตรียมเสนอของบประมาณฉุกเฉิน เพื่อใช้ในการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมอย่างคึกคัก โดยมีการเสนอของบประมาณในส่วนของนางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จากพรรคภูมิใจไทย และนายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ จากพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนใหญ่จะเน้นไปที่ "มาตรการเร่งด่วน" ในการจัดหาพื้นที่ขาย เพื่อระบายสินค้าในสต๊อกของภาคเอกชน

พรทิวาขอ 300 ล.จัดงานธงฟ้า

ใน ช่วงแรก ก่อนที่ม็อบเสื้อแดงจะยุติการชุมนุม นางพรทิวาได้มอบหมายให้นายประพล มิลินทจินดา เลขานุการ รมว. พาณิชย์ ประชุมรับเรื่องร้องเรียนจาก ผู้ประกอบการในพื้นที่ชุมนุมกว่า 70 ราย เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2553 ได้ข้อสรุปว่า จะจัดงานไทยแลนด์ แกรนด์ เซล แต่ถูกเบรกโดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีที่มีความเห็นว่า การช่วยเหลือควรเป็นการบูรณาการในภาพรวม กระทรวงพาณิชย์จึงได้เบนเข็มเปลี่ยนเป็นจัดงานธงฟ้าแทน แต่จนขณะนี้ การจัดงานยังเป็นแบบฉุกละหุก ไม่มีการวางแผน เพราะแผนที่กำหนดไว้ต้องปรับไปเรื่อย ๆ จากสาเหตุเงินที่จะมาสนับสนุนการจัดงานจะนำมาจากที่ไหน

จากการตรวจ สอบไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ปรากฏว่า ครม.ยังไม่มีการอนุมัติงบประมาณให้กับกระทรวงพาณิชย์แต่อย่างใด ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้ได้มีการให้ข่าวออกมาว่า กระทรวงพาณิชย์จะขอเงิน 300 ล้านบาท จากงบประมาณที่ใช้ในการเยียวยา 5,000 ล้านบาท มาบริหารจัดการเอง โดยส่วนใหญ่จะขอไปใช้ในโครงการจัดงานแสดงสินค้าและงานธงฟ้าให้มากขึ้น เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ เป็นช่องทาง ที่จะนำสินค้าค้างสต๊อกมาจำหน่ายในงานที่จัดขึ้น รวมทั้งเป็นการช่วยเหลือประชาชน เพื่อลดภาระค่าครองชีพอีกทางหนึ่ง

"จริง ๆ แล้ว ครม.ยังไม่ได้อนุมัติงบประมาณใดตามที่ขอมา เพราะต้องมีกระบวนการและคณะกรรมการ ซึ่งมีนาย กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เป็นประธาน ดังนั้น กระทรวงพาณิชย์จึงต้องเกลี่ยงบฯจาก ส่วนอื่นมาใช้จัดงาน เช่น มหกรรมรวมพลังเพื่อวันใหม่ ซึ่งจัดขึ้นวันที่ 28 พฤษภาคม 2553 ที่ย่านสีลม ซึ่งหากสิ้นสุดงานนี้แล้วยังไม่ได้งบฯ ก็จะไม่สามารถจัดงานธงฟ้า หรืองานอื่น ๆ เพื่อช่วยผู้ประกอบการระบาย สต๊อกได้อีก ทาง รมว.พาณิชย์จึงต้องหารือเป็นการภายในกับนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการคลัง เพื่อขอเงินมาใช้จัดงานเพิ่มขึ้น" แหล่งข่าวกล่าว

นอก จากนี้ นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้อนุมัติเงินกองทุน 410 ล้านบาท เมื่อวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา ใช้จัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์และสร้างความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยกิจกรรมหลักที่จัดอย่างยิ่งใหญ่ ได้แก่โครงการไทยแลนด์ แฟชั่น เอ็กซ์โป ทู บี นัมเบอร์ วัน ช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนนี้ บริเวณ ย่านการค้าราชประสงค์

อลงกรณ์งัดเรนโบว์ โปรเจ็ค

ขณะ ที่นายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ก็พยายามเสนอมาตรการเยียวยาเช่นกัน โดยเร่งให้หน่วยงานในกำกับของตน อย่างกรมพัฒนาธุรกิจการค้า จัดโครงการเรนโบว์ โปรเจ็ค เพื่อฝึกอาชีพให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากม็อบ รวมถึงการจัดประชุมร่วมกับตัวแทนสมาคมการค้า 150 คน เมื่อวันจันทร์ที่ 24 พฤษภาคมที่ผ่านมานี้

"เป็นที่น่าสังเกตในหมู่ข้าราชการผู้ปฏิบัติงาน ว่า รมต.ทั้ง 2 คนอยู่กระทรวงเดียวกัน แต่ไม่มีการหารือประสานงานเรื่องนี้กันมาก่อน ต่างคนต่างทำ พอให้เรียกประชุมผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ และสะท้อนปัญหาที่อยากให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือออกมา ส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในอำนาจของกระทรวงพาณิชย์ อาทิ เรื่องกองทุน หรือภาษี จนการเรียกประชุม ครั้งหลัง ๆ ผู้ประกอบการแทบไม่สนใจที่จะเข้าประชุม เพราะรู้ดีว่า ข้อเสนอไม่ได้รับการตอบสนอง เป็นเพียงการช่วงชิงการทำมากกว่า" แหล่งข่าวกล่าว

อย่างไรก็ตาม มาตรการที่กระทรวงพาณิชย์ให้การช่วยเหลือที่พอจะเป็นรูปธรรมบ้าง ได้แก่การอำนวยความสะดวกทางการค้า เช่น เปิดขยายระยะเวลาให้บริการในการออกเอกสารต่าง ๆ การขยายระยะเวลายื่นส่งงบดุลของนิติบุคคลปี 2552 ในเขตปทุมวัน สาทร และบางรัก ออกไปอีก 30 วัน ไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน และการให้ความช่วยเหลือแจกถุงยังชีพ 4,000 ถุง ให้กับประชาชนในชุมชนเคหะบ่อนไก่ ชุมชนริมทางรถไฟมักกะสัน ชุมชนพัฒนาบ่อนไก่ และชุมชนจารุรัตน์ (หลังโรงแรมอินทรา)

ขอเติม อีก 1,000 ล.จัดคาราวาน SMEs

ด้านกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานภายหลังการประชุมผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม เกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการชุมชนทางการ เมือง โดยนายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีในการจัดงบประมาณช่วยเหลือผู้ประกอบ การประมาณ 1,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นการดำเนินการของ 3 หน่วยงานหลัก ได้แก่ 1) กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เสนอแนวทางการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบการภาคการผลิต วงเงิน 100 ล้านบาท

2) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เป็นหน่วยงานกลางในการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการ ใช้งบประมาณ 500 ล้านบาท แบ่งเป็นการจัดโครงการกองทุนการฟื้นฟูกิจการผู้ประกอบการ (SMEs Phoenix Fund) วงเงิน 350 ล้านบาท ดอกเบี้ยถูกกว่าสถาบันการเงินปกติ 2% ระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี และมาตรการอื่น ๆ อีก ในวงเงิน 150 ล้านบาท ได้แก่จัดคาราวานตลาดนัดสัญจร "SMEs ยิ้มสู้", โครงการสร้างผู้ประกอบการใหม่ สำหรับผู้ที่ถูกเลิกจ้าง เป็นต้น

และ 3) สถาบันอาหาร เสนอแนวทางแก้ไขปัญหา ใช้วงเงินประมาณ 400 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นการให้ความช่วยเหลือ ใน 2 ช่วง ได้แก่ช่วงที่ 1 เดือนมิถุนายน-กันยายน 2553 (4 เดือน) จัดกิจกรรมจำหน่ายสินค้าอาหารของผู้ประกอบการ งบประมาณ 100 ล้านบาท และช่วงที่ 2 ตุลาคม 2553-กันยายน 2554 (12เดือน) เพื่อจัดคลินิกอุตสาหกรรมเคลื่อนที่ มุ่งให้ความรู้ด้านวิชาชีพด้านอาหาร ให้คำปรึกษาด้านการผลิต การตลาด และเงินทุน พัฒนาสินค้าใหม่ ยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ปลอดภัย ภายใต้งบประมาณ 300 ล้านบาท

view