สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ทัวร์ธรรมะ ที่พึ่งทางใจยุคคนไทยสุดเครียด

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

ทัวร์ธรรมมะที่พึ่งยามคนไทยเครียด
       ความปั่นป่วนวุ่นวายในเมืองไทยที่เกิดขึ้นจากการกระทำของคนกลุ่ม หนึ่งที่เห็นแก่ตัวอย่างร้ายกาจในช่วงนี้ นอกจากจะสร้างความสูญเสียต่อชีวิต เลือดเนื้อ ทรัพย์สิน และภาพลักษณ์ของประเทศชาติแล้ว ยังส่งผลให้ดัชนีความเครียดของคนไทยพุ่งขึ้นสูงปรี๊ด
       
       ใครหลายคนจึงเลือกเข้าวัด เข้าวา เดินหน้าเข้าหาธรรมะ เพื่อเป็นที่พึ่งทางจิตใจ ทำให้ที่ผ่านมารูปแบบการท่องเที่ยวเชิงศาสนา หรือ"ทัวร์ ธรรมมะ" หรือ"ทัวร์บุญ" ได้รับความนิยมอย่างสูง โดยมีรูปแบบการท่องเที่ยวที่หลากหลาย อาทิ การไปนั่งปฏิบัติธรรมในวัด การทัวร์ไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไหว้เทพเจ้า การทัวร์ทำบุญ ฟังเทศน์ ฟังธรรม การเที่ยวตามวัดดังต่างๆ เที่ยวตามประเพณีสำคัญทางศาสนา และการไหว้พระ 9 วัด ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างมากในรอบ 5-6 ปีที่ผ่านมา

ว.วชิรเมธี
       พระมหาวุฒิชัย หรือ ว.วชิรเมธี ให้ความเห็นว่า การปฎิบัติธรรมหรือการเข้าถึงธรรมมะไม่จำเป็นต้องเข้าวัดอย่างเดียว ขึ้นอยู่กับความสมัครใจของผู้ปฎิบัติว่าพอใจในรูปแบบไหน การท่องเที่ยวไทยทางธรรมถือเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการเข้าถึงธรรม เพื่อเปลี่ยนความคิดทัศนคติของตัวเองให้ดีขึ้น เน้นการเปลี่ยนตัวเองเป็นหลักอันนำไปสู่การเข้าถึงพระธรรมอย่างแท้จริง
       
       ในขณะที่หมอต้อง สมพล รุ่งกิติพงศ์พันธ์ พิธีกรรายการ"ต้องจิต ติดจรวด" ช่องซุปเปอร์บันเทิง ASTV ผู้ที่คุ้นเคยกับการทัวร์ธรรมะเป็นอย่างดี กล่าวว่า จากอดีตถึงปัจจุบันการท่องเที่ยวทางธรรมเป็นวิถีปกติของคนไทย เพราะคนไทยมีวัฒนธรรมการเข้าวัด ทำบุญ ไหว้พระ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าจุดประสงค์ของการเข้าวัดและไปเที่ยวทัวร์ธรรมมะ เพื่ออะไรเท่านั้นเอง

การเข้าวัดฟังธรรม วิถีที่อยู่กับคนไทยมาช้านาน
       "การทำบุญนั้น ทำได้อย่างอย่าง หลายรูปแบบ แล้วแต่ว่าใครจะถนัดอย่างไร เช่น ไปปฎิบัติธรรมก็ได้ ไปทำนุบำรุงวัดก็ถือว่าเป็นการทำความดีเหมือนกัน อย่างน้อยหลักธรรมคำสอนทางศาสนา ในหลายๆมุมมอง มาปรับใช้ในชีวิตจริงได้ ทั้งยังสามารถเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ให้มีสติในการทำงาน คิดทำอะไรได้ดีขึ้น และมีความอดทนกับปัญหาต่างๆ ส่งผลทำให้หาทางออกของปัญหาที่เกิดขึ้นได้" หมอต้องกล่าว
       
       ทั้งนี้ในการเลือกวัดทัวร์ธรรมะนั้น หมอต้องเสนอว่า ถ้าเป็นไปได้ควรเลือกวัดที่ต้องการความช่วยเหลือในที่กันดาร ห่างไกลเจริญ แต่ต้องเป็นวัดที่น่าเชื่อถือ น่าศรัทธา เพราะการไปทำบุญช่วยเหลือวัดเหล่านั้นถือเป็นการช่วยทำนุบำรุงศาสนาอีกทาง หนึ่ง

แห่เทียนอุบลฯ ทัวร์ธรรมะกับประเพณีสำคัญทางศาสนา
       "ธรรมมะกับการท่องเที่ยว สามารถเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของคนเรา คนเราเมื่อเหนื่อยกับความวุ่นวายรอบๆตัว ก็ย่อม หาหนทางออก ถือว่าเป็นโชดดีของคนไทย ที่มีธรรมมะเป็นที่พึ่ง และยังมีสถานที่ท่องเที่ยวเชิงศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม ที่เป็นมรดกของคนไทย ไว้ให้รุ่นลูกรุ่นหลานได้เรียนรู้ และเที่ยวชม" หมอต้องกล่าว
       
       ด้าน อ. คฑา ชินบัญชร พรีเซ็นเตอร์โครงการ "ทัวร์ ธรรมมะ เที่ยวทั่วไทย สุขใจเสริมมงคล" โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศ ไทย(ททท.) เปิดเผยว่า เหตุที่ทัวร์ธรรมมะในปัจจุบันได้รับความนิยมอย่างสูง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์ความวุ่นวายของบ้านเมืองในปัจจุบัน

อ. คฑา ชินบัญชร
       อย่างไรก็ดีด้วยความนิยมที่เพิ่มขึ้นทำให้ทัวร์ธรรมมะกลายเป็นกระแส นิยมไป ซึ่งบางครั้งแทบไม่ได้ประโยชน์อะไร เช่น การไปรีบเร่งชะโงกทัวร์ไหว้พระ 9 วัด ภายในวันเดียว โดยไม่ได้ซึมซับ เรียนรู้ ในหลักธรรมคำสอนของศาสนา
       
       เรื่องนี้ อ.คฑา กล่าวว่า การทำบุญไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนวัดแต่อยู่ที่จิตใจของเรา แต่อย่างน้อยการไหว้พระ 9 วัดก็เป็นจุดเริ่มต้นของการทำความดีอาจทำให้รู้จักตัวตนของเราได้
       
       "อยากให้หลายหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องเข้ามาปรับปรุงรูปแบบการจัดทัวร์ธรรมะให้มีรูปแบบหลากหลายมาก ขึ้น เพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชนที่สนใจ เช่น การท่องเที่ยวทางธรรมแบบตามรอยพระดำรัสของในหลวงที่เป็นแหล่งเรียนรู้ชุมชน หรือชาวบ้าน การไปปฏิบัติธรรม การศึกษาคำภีร์พระไตรปิฏก การไปสถานที่ประวัติศาสตร์ที่มีเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาเพื่อ เพิ่มคุณค่าของเรื่องราวต่างๆให้มีความน่าสนใจ และมีวิธีคิดใหม่ๆซึ่งสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตจริงได้ อีกทั้งเพื่อสืบทอดเจตนารมณ์และความดีของพระพุทธศาสนาให้คนรุ่นหลังเก็บ รักษาไว้ต่อๆไป" อ.คฑา เสนอแนะ

การปฏิบัติธรรม อีกหนึ่งแนวทางของทัวร์ธรรมะ
       ทั้งนี้ในการเลือกวัดเพื่อการท่องเที่ยวนั้น อ.คฑา กล่าวว่า ควรเลือกวัดที่มีความน่าสนใจ น่าศรัทธา น่าเชื่อถือ เพราะการเริ่มต้นทำความดี ส่วนหนึ่งก็ขึ้นอยู่กับสถานที่และเรื่องราวที่ศึกษา เพื่อทำให้เราทำความดีได้ตามจุดมุ่งหมายที่เรากำหนดไว้ ซึ่งปัจจุบันทัวร์ธรรมมะกลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยไปแล้ว
       
       "การท่องเที่ยวทัวร์ธรรมมะนี้ ไม่ใช่การท่องเที่ยวเพื่อความสนุกแค่เพียงอย่างเดียว แต่หลักธรรมคำสอนและแนวคิดทางพระพุทธศาสนา สามารถนำมาปรับใช้ในชีวิตจริงได้ นอกจากนี้ยังเป็นที่พึ่งทางใจ ก่อให้เกิดกำลังใจในการดำเนินชีวิต" อ.คฑากล่าวทิ้งท้าย
       
       * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

วัดโพธิ์
       วัดควรเป็นแหล่งท่อง เที่ยวหรือไม่?
       
       การท่องเที่ยวเชิงศาสนาหรือทัวร์ธรรมะที่ได้รับความนิยมขึ้นเป็น ลำดับในสังคมไทย ทำให้เกิดข้อถกเถียงขึ้นในสังคมว่า "วัดควรเป็นแหล่งท่องเที่ยวหรือไม่?" เพราะมองว่าวัดสมควรเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ สถานที่อยู่ของสงฆ์ และสถานที่เผยแผ่ศาสนา ซึ่งหากไม่มีการศึกษาการจัดการที่เหมาะสม จะทำให้วัดสูญเสียคุณค่าของความเป็นวัดไป
       
       สำหรับในเรื่องนี้ "พัชรินทร์ อิ่มพิทักษ์" ได้เขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์ traveler leisure&Business คอลัมน์ Travel in Trend โดยอ้างอิงจากโครงการวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยวไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) "เรื่องรูปแบบการพัฒนาแหล่ง ท่องเที่ยวประเภทวัดในกรุงเทพ มหานคร"
       ที่มีพระมหาสุทิตย์ อาภากโร สังกัดวัดสุทธิวราราม เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย เพื่อศึกษาเกี่ยวกับรูปแบบการพัฒนาท่องเที่ยวประเภทวัดในกรุงเทพมหานครว่า วัดควรเป็นแหล่งท่องเที่ยวหรือไม่ อย่างไร โดยหาความเหมาะสมในการจัดการท่องเที่ยววัด โดยได้มีการศึกษาจากวัดจำนวน 9 แห่ง ที่มีความเหมาะสมในการจัดการการท่องเที่ยว อาทิ วัดพระเชตุพนวิมลฯ(วัดโพธิ์) วัดอรุณฯ วัดสุทัศน์ฯ วัดชนะสงครามฯ เป็นต้น
       
       โดยบทความนี้มีเนื้อหาสำคัญคือ จากผลการศึกษาจากพระสงฆ์และผู้ที่เกี่ยวข้อง พบว่า วัดมีความเหมาะสมที่จะเป็นแหล่งเรียนรู้และเที่ยวชมในด้านวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม พุทธศิลปกรรม และการเรียนรู้ทางพระพุทธศาสนา แต่ควรมีการจัดการในเชิงพื้นที่และผลกระทบต่อวิถีของชาวพุทธและพระสงฆ์ ขณะที่การเรียนรู้จากการท่องเที่ยวจะเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ แต่กระบวนการจัดการจะต้องตั้งอยู่บนพื้นที่ฐานของพุทธศาสนา วัฒนธรรมประเพณีของไทย และความเคารพต่อสถานที่และวิถีชาวพุทธ และการเที่ยวชมวัดและความงดงามของศิลปกรรมจะนำไปสู่การเรียนรู้ในด้านอื่นๆ ดังนั้น ควรมีการใช้สื่อสัญลักษณ์ที่เหมาะสม และการเรียนรู้จากภายในและความเป็นตัวตนของวัดและชุมชน
       
       อย่างไรก็ดี จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างประเทศรวม 800 คน พบว่า คนไทย ที่เดินทางเที่ยววัดส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย อายุระหว่าง 21-30 ปีมากที่สุด รองลงมาคือ 31-40 ปี การศึกษาระดับปริญญาตรีมากที่สุด รองลงมาเป็นมัธยมศึกษาตอนปลาย และอนุปริญญาตามลำดับ เหตุผลหลักในการท่องเที่ยว คือ พักผ่อน ไหว้พระพุทธรูป ชมวัด 
       
       สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ พบว่าส่วนใหญ่เป็นผู้ชายอายุประมาณ 21-30 ปีมากที่สุด รองลงมา คือ 31-40 ปี การศึกษาอยู่ในระดับอนุปริญญามากที่สุด รองลงมา คือมัธยมศึกษาตอนปลาย ส่วนใหญ่เดินทางมาเที่ยวเป็นครั้งแรก 52.1% ครั้งที่ 2 ประมาณ 28.3% และครั้งที่ 3 ประมาณ 19.5% การท่องเที่ยวจะเป็นการเที่ยวชมความงดงามด้านศิลปกรรมเจดีย์ พระปรางค์ พระอุโบสถ และยังสนใจกิจกรรม การสวดมนต์ การนั่งสมาธิ
       
       อย่างไรก็ดี จากการสำรวจยังพบว่าวัดโพธิ์ เป็นวัดที่นักท่องเที่ยวนิยมไปมากสุดจำนวน 8.15 ล้านคน/ปี ความนิยมอันดับที่ 24 ของโลก วัดอรุณ จำนวน 5 ล้านคน/ปี วัดระฆัง 1 ล้านคน/ปี วัดสระเกศ ประมาณ 5-7 แสนคน/ปี ขณะเดียวกันยังให้คะแนนวัดโพธิ์ ในเรื่องของการจัดกิจกรรมมากที่สุด รองลงมาเป็นวัดระฆัง และวัดเบญจมบพิตร
       
       ขณะที่ปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการท่องเที่ยวในวัด มีมากมายตั้งแต่การแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมต่อสถานที่ โอกาส และวัฒนธรรมอันดีงามของไทยและระเบียบวัด โดยส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ , การไม่ช่วยรักษาสภาพแวดล้อม และขาดความเป็นระเบียบในการเที่ยวชม โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวไทย, การรุกล้ำของร้านขายสินค้าและบริการภายในวัด จนเกิดข้อขัดแย้งกับชุมชน ไปจนถึงการแสวงหาผลประโยชน์ของผู้ให้บริการบางกลุ่ม
       
       ทั้งนี้ผลการศึกษาจากกลุ่มตัวอย่างนักท่องเที่ยวชาวไทยส่วนใหญ่มี ความเห็นว่า วัดทั้ง 9 วัด สามารถเป็นสถานที่ท่องเที่ยวได้ โดยวัดสามารถจัดการเพื่อรองรับทางการท่องเที่ยวได้ เช่น มีการดูแลและอนุรักษ์โบราณวัตถุ โบราณสถาน และสถาปัตยกรรมภายในวัดในระดับดี รองลงมา ได้แก่ มีการใช้ประโยชน์จากแหล่งท่องเที่ยวภายในวัดเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ด้าน วัฒนธรรม การจัดพื้นที่ภายในวัด เช่น สถานที่ไหว้พระ สถานที่ถ่ายรูป หรือที่นั่งสมาธิ ไหว้พระ สวดมนต์ การให้นักท่องเที่ยวมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมของวัดหรือทางพระพุทธศาสนา การกำหนดเขตพื้นที่ในการรองรับนักท่องเที่ยวและการเที่ยวชมภายในวัด
       
       ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่า วัดถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศไทย แต่ก็จะต้องมีการวางระบบการจัดการให้เหมาะสม เพื่อการพัฒนการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

view