สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

คลื่นลูกที่ 3 เราจะก้าวไปด้วยกัน

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์



เวลาเด็กๆ อยู่หน้าคอมพ์ พ่อแม่ต้องคอยลุ้นว่าอันตรายจากโลกออนไลน์จะทะลุออกมาทำร้ายพวกเขาตอนไหน นี่คือยุทธวิธีต่อสู้กับมันอย่างชาญฉลาด

 เทคโนโลยีคลื่นลูกที่สามที่บางคนถึงขั้นเสพติด ได้เปิดโลกอิสระ ไร้ขีดจำกัดของข้อมูลข่าวสาร เรื่องราวทั้งดีและร้ายปะปนจนผู้ใหญ่เองยังแยกไม่ออก เลยกังวลกันว่าอันตรายเหล่านั้นจะมีอิทธิพลต่อความคิดและการใช้ชีวิตของ ผู้ใหญ่ในอนาคต

 ผู้บริหารหญิงเหล็กชาวมาเลเซียแห่งวงการแอนตี้ไวรัส.. กุน ซุก ลิง กรรมการผู้จัดการภูมิภาคเอเชียใต้ แคสเปอร์สกี้ แลป  ผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการไอทีกว่า 15 ปี มือหนึ่งต้องทุ่มเทและเฉียบขาดในการทำงาน อีกมือหนึ่งต้องโอบอุ้มครอบครัวให้อบอุ่นและห่างไกลจาก ภัยไซเบอร์ที่พร้อมคุกคามเด็กทั่วโลกตลอดเวลา

 เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการทำงานและการเดินทาง คุณแม่เลี้ยงเดี่ยว หรือ Single mom คนนี้เล่าถึงวิธีดูแลครอบครัวให้ได้รับความอบอุ่น เทียบเท่ากับครอบครัวอื่น โดยพึ่งพาเทคโนโลยีไร้สายอย่างถูกวิธี

 ในเมื่อพวกเด็กๆ สนุกกับเทคโนโลยีและใช้เวลาอยู่กับมันอย่างไม่รู้เบื่อ และเธอก็รู้ว่าโลกไซเบอร์เต็มไปด้วยอันตราย ฉะนั้นวิธีป้องกันให้ลูกห่างไกลจากภัยไซเบอร์ต้องมีความรู้ด้านอินเทอร์เน็ต อยู่บ้างและให้เวลา กับความใกล้ชิดเพื่อติดตามความเคลื่อนไหวของลูก

 ก่อนอื่นต้องแบ่งเวลาของตัวเองให้สมดุล เมื่อถึงบ้านควรแยกเวลางานกับครอบครัวให้ขาด ถ้าทำไม่ได้จริงๆ ขณะทำงานสายตาควรมองลูกเสมอ เพื่อไม่ให้เขารู้สึกว่าห่างจากเรา และพร้อมอ้าแขนรับความต้องการของลูก เช่น การโอบกอด ถามตอบความเห็นของกันและกัน เป็นต้น

 เธอบอกว่าพ่อแม่จะเลี้ยงลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพ และปลอดภัยจากอาชญากรรมไซเบอร์จำเป็นต้องเปิดใจให้กว้าง ไม่ปิดกั้น หรือห้ามไม่ให้ลูกใช้เทคโนโลยีเด็ดขาด เพราะสัญชาตญาณของเด็กจะพยายามหาทางเรียนรู้ด้วยตนเองอยู่แล้ว ซึ่งอาจเรียนรู้ได้ทั้งถูกและผิด และควรถ่ายทอดทำความเข้าใจเรื่องเปิดกว้างกับครู และทางโรงเรียนด้วย

 จากนั้นควรปลูกฝังทัศนคติที่ดี พ่อแม่จำเป็นต้องคัดกรองโปรแกรม และแหล่งข้อมูลที่ดีให้ติดตัวลูก

 กุน ซุก ลิง ตัดสินใจซื้อเน็ตบุ๊คให้ลูกสาวคนโต น้อง Shanice อายุ 9 ปี โดยจะคัดเลือกโปรแกรมความรู้ต่างๆ และเกมที่ดีใส่ไว้ในเครื่อง และคอยสังเกตวิธีการเล่นของลูกเพื่อดูพัฒนาการ จากนั้นก็หาเกมหรือการเรียนรู้อื่นๆที่เหมาะ สมกับพัฒนาการของเขา เขาจะไม่เบื่อหน่ายและหันไปหาแหล่งข้อมูลและเกมอันตราย

 นอกจากนั้น ยังฝึกให้ลูกรู้จักใช้ประโยชน์จากการสื่อสารออนไลน์ ทั้งการแชทและพูดคุยกันได้ โดยไม่มีเรื่องระยะทางของซีกโลกมากั้นความผูกพัน

 ขณะเดียวกันก็พยายามหาช่องทางในการบล็อกหรือควบคุม ไม่ใช่ปล่อยให้อิสระจนเกินไป แต่ต้องรู้จักหาโปรแกรมล็อกมาใส่ไว้ในเครื่อง เป็นการป้องกันแต่เนิ่นๆ โดยแนบเนียน และอย่าล็อกมากเกินไป จนทำให้เขารู้สึกต่อต้านเรา ต้องหาวิธีอื่นเป็นเกราะป้องกันด้วย เช่น บอกให้ลูกรู้ถึงอันตรายของการทำผิดทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือผลเสียจากพวกแฮกเกอร์ เป็นต้น

 และอีกหลักการหนึ่งที่พ่อแม่มักหลงลืมไป นั่นคือ การหาความรู้ใส่ตัวให้มาก ผู้บริหารไอทีสาวเล่าว่า อย่ากังวลว่าตนเองไม่มีความรู้ด้านเทคโนโลยี เพราะทางแก้ง่ายนิดเดียว แค่ต้องอ่านและเสาะหาความรู้ให้มาก ต้องใช้เครื่องมือไอทีให้เป็น และใส่เทคนิคการสอนแบบคนในครอบครัวคุยกัน

 เธอเคยสอนเรื่องแอนตี้ไวรัสอย่างง่ายๆ เหมือนเล่านิทานให้กับลูกฟังเพื่อให้เขารู้จักจินตนาการในการหาคำตอบ สอนให้รู้จักโปรแกรมออนไลน์ชนิดต่างๆ  จนพวกเขาสามารถไปอธิบายให้คนอื่นที่ไม่รู้จนเข้าใจได้ โดยเปรียบเทียบกับไวรัสในชีวิตประจำวัน

 “เราไม่จำเป็นต้องรู้ลึก หรือละเอียดมาก แค่รู้พื้นฐาน หรือเทคนิคเล็กน้อย ที่สำคัญต้องรู้มากกว่าเขา และต้องทำในสิ่งที่เรารู้ ให้เขาเห็น ว่าเราทำได้ เหมือนเตือนว่าเรารู้ทันเขานะ เพื่อจะได้คอนโทรลลูกได้”
 
 คุณแม่ลูกสามเล่าต่อว่า ถ้าลูกถามต้องตอบได้ อย่าปล่อยให้มีข้อสงสัย หากตอบไม่ได้ เราก็ร่วมศึกษาไปพร้อมกับเขาเลย อย่าบอกว่าไม่รู้ เพราะจะทำให้ลูกควบคุมเราแทน ซึ่งพ่อแม่อาจเข้าไปเรียนรู้ได้ที่ www.kklub.net  เว็บแฟนคลับของผู้ใช้งานแอนตี้ไวรัสเพื่อจะศึกษาเรื่อเทคโนโลยีสมัยใหม่นี้ ก็ได้

 หลังจากคอนโทรลการใช้เทคโนโลยีไร้สายกับลูกแล้ว สุดท้ายคือคอยเฝ้าสังเกตการณ์  หมั่นสอนลูกให้ใช้เทคโนโลยีในทางที่ดี จับตาดูลูกอย่างตั้งใจ  และถ้าลูกเผลอเข้าไปพบอันตรายจากโลกออนไลน์ ก็อย่ากังวลกับผลร้ายที่จะเกิดขึ้นมากนัก

 เพียงแต่พ่อแม่ต้องอยู่ข้างๆ ลูก สนุกไปกับโลกออนไลน์และวิธีการเรียนรู้ที่ถูกต้องไปด้วยกัน

view