สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

คน ทำงานยุค ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (1)

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ หนึ่งคิดหนึ่งทำ

โดย สันติ โยนกพันธ์, ชนายุส ตินารักษ์



กลุ่ม ประเทศอาเซียนกำลังก้าวสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community-AEC) การพัฒนาดังกล่าว ไม่เพียงรวม 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน (พม่า, ลาว, กัมพูชา, เวียดนาม, มาเลเซีย, สิงคโปร์, บรูไน, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์ และไทย) ยังเพิ่มขอบเขตความร่วมมือออกไปเป็น AFTA+3 คือ รวมจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น กับ AFTA+6 เพิ่มอินเดีย นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย อีกทั้งเตรียมขยายไปทั่วทวีปเอเชีย

การก้าวสู่ AEC สอดคล้องกับจังหวะเวลาของเอเชีย

ยุคสมัยแห่งเอเชีย

ทวีป เอเชียมีบทบาทในเศรษฐกิจโลกมากขึ้นเรื่อย ๆ สร้างยุคสมัยของเอเชีย (Age of Asia) ขึ้น ภาพรวมพิจารณาได้จากส่วนแบ่ง GDP โลกที่เอเชียมีเพิ่มขึ้น ข้อมูลระหว่าง พ.ศ. 2541 กับ พ.ศ. 2552 มีดังนี้ พ.ศ. 2541 จีดีพีกลุ่ม G3 (สหรัฐ อียู และญี่ปุ่น) มีส่วนแบ่งสูงถึง 72.7 ของจีดีพีโลก ขณะที่เอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) มีสัดส่วนร้อยละ 9.7 ตะวันออกกลางร้อยละ 1.6 และอื่น ๆ ร้อยละ 16 พอถึง พ.ศ. 2552 สัดส่วนของ G3 ลดลงเหลือร้อยละ 62 เอเชียเพิ่มเป็นร้อยละ 16.3 ตะวันออกกลางร้อยละ 2.8 อื่น ๆ ร้อยละ 18.9 ในช่วงเวลาเดียวกันสัดส่วนการนำเข้าของเอเชียเพิ่มจากร้อยละ 16.4 เป็นร้อยละ 21.7 และสัดส่วนการส่งออกเพิ่มจาก ร้อยละ 18 เป็นร้อยละ 23

เหตุ ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้เอเชียมีบทบาทมากขึ้น คือจำนวน ประชากรมาก ซึ่งมิใช่เป็นความอ่อนแออีกต่อไป ประชากรจำนวนมากได้แสดงศักยภาพด้านที่เป็นโอกาสแห่งความเข้มแข็งขึ้นแล้ว

ประเด็น นี้มีผลต่อประเทศในกลุ่ม AEC ด้วย ฐานข้อมูล พ.ศ. 2552 ประเทศไทยประชากร 67 ล้านคน เป็นร้อยละ 0.9 ของประชากรโลก ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) 266.4 พันล้านดอลลาร์ หรือร้อยละ 0.46 ของ GDP โลก เมื่อ 10 ประเทศอาเซียนรวมกันประชากรเพิ่มเป็น 581.2 ล้านคน หรือร้อยละ 8.6 ของประชากรโลก GDP รวม 1,460.2 พันล้านดอลลาร์ หรือร้อยละ 2.6 ของ GDP โลก

เมื่อขยายพันธมิตรเพิ่มอีก 3 ประเทศ หรือ ASEAN+3 มีประชากรรวม 2,091 ล้านคน หรือร้อยละ 30.8 ของประชากรโลก GDP เท่ากับ 12,066.8 พันล้านดอลลาร์ หรือร้อยละ 21.1 ของ GDP โลก เมื่อเพิ่มพันธมิตรรวมเป็น 6 ประเทศ ASEAN+6 รวมประชากร 3,296 ล้านคน หรือร้อยละ 48.5 ของประชากรโลก GDP เพิ่มเป็น 15,091.2 พันล้านดอลลาร์ หรือร้อยละ 26.3 ของ GDP โลก

ปัจจัย พื้นฐานเหล่านี้มีความหมายต่อประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งหมด

จังหวะก้าว ของ AEC


การพัฒนาสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนกำหนดจุดมุ่งหมายไว้ ว่า ต้องการเป็นตลาดเดียวและฐานการผลิต (single market and production base) โดยเร่งรัดให้มีการเคลื่อนย้ายเสรี 5 ประการ ได้แก่ สินค้า (goods) เงินทุน (capital) แรงงานฝีมือ (skilled labour) การลงทุน (investment) และธุรกิจบริการ (services)

การเคลื่อนย้ายสินค้าโดยเสรีด้วยการ บริหารจัดการด้านภาษีนำเข้าระหว่างประเทศอาเซียนและพันธมิตรเหลือ 0 เปอร์เซ็นต์ หรืออย่างมากสุดไม่เกิน 5% จังหวะก้าวต่อไปคือการตกลงมาตรฐานอุตสาหกรรมและมาตรฐานอื่น ๆ ให้เหมือนกันเป็นหนึ่งเดียว

การเคลื่อนย้ายเงินทุนมีงานรูปธรรม เช่น แก้ไขปรับปรุงระเบียบปฏิบัติที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ เพื่อสร้างความคล่องตัวแก่การไหลเวียนของเงินทุน capital flow เรื่องนี้เป็นวาระเร่งด่วนของการประชุมร่วมกันของรัฐมนตรีคลังอาเซียนที่ กำหนดจัดขึ้นมาเร็ว ๆ นี้ โดยกำหนดจุดประสงค์ร่วมกันไว้ คือ รองรับการเสริมสร้างความแข็งแกร่งในการพัฒนาและรวมตัวของตลาดทุนในอาเซียน

การ เคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือได้เสรี ปัจจุบันได้ลงนามในข้อตกลง MRA (ASEAN Framework Agreement on Mutual Recognition Arrangement) 4 ฉบับ คือ วิศวกรรม พยาบาล สถาปนิก และการสำรวจ ที่อยู่ระหว่างการจัดทำและลงนาม MRA คือ นักกฎหมาย บัญชี แพทย์ ทันตแพทย์ (สาขาอื่นเริ่มทำ MRA ปี 2555 ให้แล้วเสร็จปี 2558) กำหนดข้อยกเว้นวีซ่าสำหรับ short term visits และจัดทำ ASEAN Business Card งานต่อเนื่องคือการอำนวยความสะดวกอื่น ๆ ด้านการเคลื่อนย้าย skilled labors รวมถึงการพัฒนาหลักสูตรและมาตรฐานด้านแรงงานมีฝีมือร่วมกัน

การเปิด เสรีด้านการลงทุนที่ตกลงร่วมกันแล้ว คือ ส่งเสริมการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน, ธุรกิจ SMEs, และกลุ่ม CLMV หรือกัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม ประเทศสมาชิกต้องคุ้มครองการลงทุนทุกสาขารวมกิจการบริการ ในประเด็นการเคลื่อนย้ายเงินเสรี, ได้รับชดเชยจากรัฐ, สิทธิในการฟ้องร้องรัฐ การอำนวยความสะดวกและความร่วมมือนั้นต้องเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้อง มีนโยบายระหว่างรัฐที่ชัดเจน มีกฎระเบียบต่าง ๆ ที่ไม่กีดกัน และต้องเปิดเสรีภายใต้หลัก National treatment หรือหลักปฎิบัติ เยี่ยงชาติ หมายถึงการปฏิบัติต่อผลิตภัณฑ์นำเข้าไม่ด้อยไปกว่าการปฏิบัติต่อผลิตภัณฑ์ ภายในประเทศ

การเปิดเสรีด้านบริการ โดยอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติถือหุ้นในธุรกิจบริการในสัดส่วนที่มากกว่าร้อย ละ 50 มีข้อกำหนดตามประเภทอุตสาหกรรม คือการลงทุนด้านคอมพิวเตอร์/โทรคมนาคม, สุขภาพ, ท่องเที่ยว และการขนส่งทางอาหาร นักลงทุนต่างชาติถือหุ้นได้ร้อยละ 70 (สัดส่วนสูงสุดตามข้อตกลงร่วมกัน) ตั้งแต่ พ.ศ. 2553 เป็นต้นไป

ส่วน การลงทุนสาขาโลจิสติกส์ถือหุ้นได้ร้อยละ 51 ใน พ.ศ. 2553 และเพิ่มเป็นร้อยละ 70 ใน พ.ศ. 2556 เป็นต้นไป สาขาอื่น ๆ ที่มิได้ระบุ (หมายถึงครบหมดทุกสาขา) ถือหุ้นได้ร้อยละ 51 ใน พ.ศ. 2553 และเพิ่มเป็นร้อยละ 70 ใน พ.ศ. 2558

การเคลื่อนย้ายเสรีทั้ง 5 ประการดังกล่าวเปิดโอกาสให้ธุรกิจไทยไปต่างประเทศ และเช่นกันต้องเผชิญกับคู่แข่งจากต่างประเทศที่เคลื่อนเข้าไทยมากขึ้น มองในแง่มุมการพัฒนาบุคลากรขององค์กรธุรกิจ กระทั่งขยายขอบเขตเป็นบุคลากรของประเทศ สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปดังกล่าว เป็นการเร่งเร้าให้งานพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ต้องทุ่มเทกันอย่างสุดกำลัง ผู้บริหารระดับสูงสุดขององค์กรต้องใส่ใจเรื่องนี้อย่างจริงจัง

คนทำ งานยุคประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนไม่อาจเหมือนเดิมได้อีกต่อไป

view