สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ประเวศ -ประยงค์ สนทนาธรรม แม่วัว หมอตำแย และสังคมไทย

 

จากประชาชาติธุรกิจ

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา   หมอประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส  และ ลุงประยงค์ รณรงค์ ปราชญ์ชาวบ้าน   โคจรมาพบกันกลางกรุงเทพ
ลุงยงค์  เดินทางมาจาก ตำบลไม้เรียง อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช    เอ่ยว่า ผมปีนี้ อายุ 73 ปีแล้ว  ไม่ค่อยอยากเดินทางไกลแล้ว อยากอยู่บ้าน

  " หลายปีทีผ่านมา ผมเดินทางบ่อยมาก  เพื่อไปบอกเล่าประสบการณ์ของผม แต่ช่วงหลังผมเริ่มปฎิเสธบ้างแล้ว อยากอยู่บ้าน" ลุงยงค์ กล่าว

 หมอประเวศ   รีบสวนกลับว่า   " ภริยาผมเตือนว่า ปีหน้า ผมอายุ 80 ปีแล้ว ควรให้ใช้ชีวิตสบายๆ ได้แล้ว   ผมก็บอกภริยาไปว่า ยุคนี้เขาพยายามใช้คนแก่ให้มากขึ้น" (ฮา)


จากนั้นวงสนทนา ระหว่าง ราษฎรอาวุโส วัย 79 ปี กับ ปราชญ์ชาวบ้านวัย 73 ปีก็เปิดฉากขึ้น อย่างสนุกสนาน และเป็นกันเอง

  "นักข่าว "รีบกด เครื่องบันทึก เอ็มพี 3 เพื่อถ่ายทอด บนสนทนาระหว่าง 2 กูรูใหญ่  ที่เต็มไปด้วยแง่มุมมองและวิธีคิดที่เก็บเกี่ยวประสบการณ์มาอย่างยาวนาน
 
ลุงประยงค์  :  ทุกวันนี้ เขาคิดว่าผมจะเป็นส่วนหนึ่งที่เขาจะต้องปรึกษาหารือ แต่ผมก็รู้สึกว่า อายุขนาดนี้แล้ว ให้ผม สมบุกสมบันเหมือนแต่ก่อนคงไม่ได้  

หมอประเวศ  :   แต่ก็ยังน้อยกว่าผมนะ  ลุงยงค์อายุแค่  73 แต่ผม 79 แล้ว (หัวเราะ)   เชื่อมั๊ยครับ เมื่อวันก่อน   ผมต้องตื่นก่อนตี 4  ต้องบินไปบรรยายที่ข่อนแก่น เพราะเครื่องบินออก 6 โมง 5 นาที ที่สุวรรณภูมิ  สงสัยชาติก่อนผมทำกรรมไว้เยอะ   ชาตินี้เลยถูกใช้งานหนัก  (หัวเราะ) 

 ลุงประยงค์  :       ผมถูกเชิญไปพูด ผมก็เล่าได้เพียงประสบการณ์ของผมเท่านั้น  

หมอประเวศ :       นี่ๆ  ผมมีเรื่องเล่าให้ฟังระหว่างไปขอนแก่น   ก็มีพยาบาลคนหนึ่ง เขาทำไร่  เลี้ยงวัวด้วย  ทีนี้  อาทิตย์ที่แล้วฝนตกหนัก วัวของเขาตัวหนึ่งก็หายไป วัวตัวนี้ มันชื่อ"เกรท"  เขาก็ส่องไฟตามหา ปรากฏว่าวัวตัวนี้กำลังคลอดลูกอยู่ใต้ต้นไม้   เขาเป็นพยาบาล ก็คิดเหมือนคนว่าเจ้าลูกวัวมันจะหนาว  เพราะฝนตกหนัก ก็ไปอุ้มลูกวัวออกมา  ปรากฏว่า แม่วัวไล่ขวิดเข้าให้   เขาก็ล้มไปที่พื้น แม่วัวก็ยิ่งตะกุยเขาเข้าไปใต้ท้องมันอีก  จากนั้น เขาก็หลุดเข้าไปอยู่ใต้ท้องแม่วัวออกมาไม่ได้  เขาจะออก วัวก็ตะกุยไม่ให้ออก ตั้งแต่ 3 ทุ่ม จนถึง ตี 4  เขาก็ให้ดูว่าแม่วัวเหยียบเขาจนตัวเขียว  ก็นึกว่าเขาไม่รอดแล้ว    พอตี 4 เขาสังเกตท่าทางแม่วัวมันจะเหนื่อย  เพราะมันเพิ่งคลอดลูก  เขาก็อาศัยจังหวะวิ่งหนีออกจากใต้ท้องวัว  แต่มันก็วิ่งไล่ตามอีก  เขาก็ปีนขึ้นต้นไม้ (หัวเราะ) วัวมันก็เดินวนอยู่ใต้ต้นไม้ สุดท้ายมา ก็ต้องมารักษาตัวอยู่โรงพยาบาล บอบช้ำมาก  ที่เล่าให้ฟัง ก็เป็นตัวอย่างว่า เขาคิดแบบคน  ถ้าเด็กเกิดมา อุณหภูมิมันต่ำ เดี๋ยวไม่สบาย แต่ลืมนึกไปว่ามันเป็นสัตว์   

ลุงประยงค์ :   คือคิดแบบคนแต่ไม่เข้าใจสัตว์   เพราะสัตว์ทุกชนิด  พอคลอดลูกอ่อนมันจะหวงลูก  ส่วนใหญ่แล้ว แม่วัวอย่างนี้ เขาของมันยังไม่แหลมคม  ขวิดคนไม่ตายหรอก  

หมอประเวศ :  ผมก็บอกว่า ถ้าหายดีแล้ว ก็กลับไปคืนดีกับมันสิ  พยาบาลบอกว่า ไม่กล้าค่ะ เพราะไม่รู้จะมันหายโกรธ หรือยัง  (หัวเราะ)  

ลุงประยงค์  :   จริงๆ แล้ว กรณีอย่างที่คุณหมอเล่า มีบ่อยนะครับ  เพราะแม่วัวลูกอ่อน ส่วนใหญ่แล้วถ้าเป็นวัวพื้นเมือง  มันจะไปหาที่สุ่มรกๆ   เพื่อคลอดลูก แต่เดี๋ยวนี้ เจ้าของวัวเก่งขึ้น   เขารู้ว่าวัวจะคลอดเมื่อไหร่   เขาสามารถนับได้ ตั้งแต่วันผสมพันธุ์แล้วเขาก็เตรียมการ สร้างสิ่งแวดล้อมอย่างดี ให้วัวเกิดในที่ที่ดี แต่ไม่ต้อง เป็นห่วงมัน  

หมอประเวศ :  มันไม่ต้องการหมอตำแย (หัวเราะ)    

นักข่าว       :    อาจารย์หมอประเวศครับ แล้วการปฏิรูปประเทศไทย  ต้องการหมอตำแย หรือ เปล่า  

หมอประเวศ  :    ก็คงต้องให้เวลา  แล้วก็ทำเรื่องดี ทำสิ่งดีๆ แล้วเรื่องดีๆ  มันจะช่วยเยียวยา  

ลุงประยงค์  : ผมคิดว่า  ต่างฝ่ายต่างได้บทเรียนกันมา  ถึงแม้ยังรู้สึกเกลียดชังกันอยู่  แต่ก็น่าจะมีประสบการณ์   

หมอประเวศ  :  ผมคิดว่า การเกลียดชังกัน เป็นเพียงส่วนเดียว(นะ)  แต่คนส่วนใหญ่ไม่   ฉะนั้น เราก็ต้องเริ่มจากคนส่วนใหญ่  ในการทำเรื่องดีๆ มันก็จะสร้างพื้นที่ของสันติวิธีให้ขยายออกไป  แล้วก็จะค่อยลดพื้นที่ที่มันขัดแย้งกัน  แล้วบางทีก็อาจจะมาร่วมกันทำเรื่องดีๆ   ผมพูดมานานเป็น 10 ปีว่า การเมืองนำไม่สำเร็จ เพราะการเมืองนำ คนจะต่อต้าน   ต้องสังคมนำแล้วการเมืองตาม อย่างนี้สบาย แต่ถ้ารัฐบาลนำ ไม่สำเร็จ  

นักข่าว   :    พลังสังคมที่อาจารย์คาดหวัง จะปฎิรูปประเทศไทย ได้จริงๆ หรือ  

หมอประเวศ  :  ก็น่าจะได้ เพราะตอนนี้คนตื่นตัวเยอะมาก  หลังจากวิกฤตเรามีเวทีปฏิรูปต่างๆ มากมายเยอะแยะไปหมด  แต่ก็ต้องจัดการเรื่องความรู้ เรื่องประเด็นให้มันชัด  เพราะถ้ารวมตัวกันมาก แต่ประเด็นไม่ชัด ก็ไม่รู้จะเคลื่อนยังไง  ฉะนั้นต้องมาคุยกัน สังเคราะห์ประเด็นให้ดี  

ลุงประยงค์  :   ผมมีประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องสภาชุมชนผู้นำ(ครับ)    ซึ่งเป็นเรื่องดีมากเลย แต่ก่อน เราไม่เคยคิดว่าเรื่องนี้จะเป็นเครื่องมือที่ดี ที่จะทำให้แก้ปัญหาเรื่องความขัดแย้งของคนได้   แต่ระยะหลังเกิดการเลือกตั้งอบต.  เลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านขึ้นมา ซึ่งเลือกตั้งทุกครั้งก็มีปัญหาทุกที  ความขัดแย้งก็เกิดขึ้น  

หมอประเวศ  :   สภาผู้นำชุมชนระดับหมู่บ้าน  หรือระดับตำบลก็แล้วแต่   ที่ตำบลไม้เรียงของลุงยงค์เป็นระดับตำบล   ซึ่งวันที่ผมไปบรรยายที่ขอนแก่น  ก็บอกว่า ที่ไม้เรียงมี 10 หมู่บ้าน ผู้นำแต่ละหมู่บ้าน 5 คน  ก็มี 50 คน ทีนี้สภาผู้นำชุมชน  ก็สำรวจข้อมูลชุมชน ว่ามีคนเท่าไหร่ ยากจนกี่คน    มีที่ทำกินมั๊ย      นี่คือการทำวิจัย  ขั้นตอนเป็นอย่างนี้ ก็คือ สำรวจ ซึ่งการสำรวจก็คือวิจัยนั่นเอง   ถ้ามานั่งพูดไม่สำรวจข้อมูลชุมชน  ไม่สำเร็จครับ    เมื่อสำรวจแล้ว ก็ไปทำแผนชุมชน บางทีก็เรียกแผนแม่บท  ซึ่งคนระดับบนถ้าไม่ลงมาดูจะไม่เข้าใจ  เพราะขนาดมหาวิทยาลัยยังไม่เข้าใจเลย   ซึ่งจริงๆ นี่แหละคือกระบวนการประชาธิปไตย   

ลุงประยงค์    :    ผู้สำรวจนั่นแหละ ที่มาเป็นสมาชิกสภาผู้นำชุมชน  แล้วดึงผลตรงนี้มาร่วมกันวิเคราะห์   หมอประเวศ :  เมื่อทำแผนชุมชนแล้วยังไม่พอ ก็ไปให้ประชาชนดู อาจจะเรียกว่า  สภาประชาชน ให้ประชาชนทำประชาพิจารณ์  ก็เป็นประชาธิปไตยโดยตรง  แล้วพอชุมชนทั้งหมดเขารับรองว่ามันเป็นแผนชุมชนของเขา  เขาก็จะขับเคลื่อนกันทั้งหมด ถ้าเป็นแผนสภาพัฒน์ ฯ  เขาก็ขับเคลื่อนไม่ได้ เขาไม่เข้าใจ   แต่ในชุมชนเขาร่วมทำ เขาก็ขับเคลื่อนไป ทุกอย่างก็จะเริ่มดีขึ้นไปเรื่อยๆ  เศรษฐกิจก็ดีขึ้น สังคมก็ดีขึ้น  สิ่งแวดล้อมก็ดีขึ้น แล้วแผนนี้ก็จะเป็นแผน  พัฒนาอย่างบูรณาการ  ไม่ใช่เรื่องใดเรื่องเดียว   ที่ผมจับได้ มี 8  เรื่องเข้ามาเชื่อมกันอย่างบูรณาการ   คือ 1. เศรษฐกิจ แก้ความยากจน  2 จิตใจ ก็ดีขึ้น ความรุนแรงลดลง
3. สังคม ครอบครัวเข้มแข็งขึ้น สังคมมารวมตัวกัน  4. วัฒนธรรม   คิดถึงภูมิปัญญา  สมมติลูกซื้อขนมกิน นี่ไม่ใช่วัฒนธรรมแล้ว  แต่ถ้าตั้งคำถามว่า เราทำขนมให้ลูกกินได้มั๊ย   นี่คือกลับไปหาวัฒนธรรม   พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย เคยทำอะไรให้เรากิน เยอะแยะ เราก็มาทำให้ลูกกิน  เหลือก็นำมาขายได้อีก  นี่คือ หันกลับไปหาวัฒนธรรม    ลุงประยงค์ :  ทำให้เรารู้รายจ่ายในครอบครัวว่าใน 1 ปี  เรามีรายจ่ายในครอบครัวอย่างไรบ้าง  ตัวเลขตรงนี้ ที่บอกว่า หาเงินไม่พอจ่าย ก็ ไปดูสิว่าเรามีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง  

หมอประเวศ :  อย่างบางตำบล พอไปรวมตัวเลขมา  ซื้อน้ำปลา 7 แสนบาทต่อปี แต่ถ้าทำเอง 1 แสนบาท ก็ได้กำไรมา 6 แสน ค่าขนมเท่าไหร่  ค่าเครื่องดื่มเท่าไหร่ ตัวอย่างที่ตำบลเขาคราม  25 ล้าน / ปี ตำบลเดียว พอเห็นตัวเลขก็ตกใจ  ไม่นับอื่นๆ อีก    ต่อมา เรื่องที่ 5. คือ สิ่งแวดล้อม 6. สุขภาพ  7. การศึกษา 8. ประชาธิปไตย   ผมคิดว่า  8  เรื่องนี้ต้องบูรณาการกัน ถ้าแยกเรื่องทำจะไม่สำเร็จ   แล้วเวลามันเกิดขึ้น  อย่างกับสวรรค์บนดิน   

นักข่าว  :  แต่ก็ไม่ง่ายที่จะหาผู้นำ ที่มีความสามารถอย่างลุงยงค์  หรือ หมอประเวศ    

หมอประเวศ :  ผมว่าข้างบนน่ะ หายาก (หัวเราะ) เพราะผู้นำข้างล่างเขาเป็นผู้นำธรรมชาติ   มีเยอะครับ  

ลุงประยงค์ :  สำหรับผม ผมใช้วิธีหาอย่างนี้ครับ  คือ สมมุติว่าผมอยู่ในหมู่ที่ 9  ผมไปหาคนที่รู้จักกันในหมู่ที่ 1 ก็ไปนั่งคุยกับเขาว่า หมู่บ้านนี้นะ  คนในหมู่บ้าน เขามีปัญหาขึ้นมา เขาไปปรึกษาใคร  แล้วใครบ้างในหมู่บ้านนี้ ที่พูดแล้วชาวบ้านเชื่อถือ   นั่นก็คือผู้นำที่เราได้มาโดยธรรมชาติ   

หมอประเวศ :  แล้วก็เป็นคนดี เป็นคนเก่งด้วย ซึ่งฐานข้างล่างมีเยอะ  ไม่ต้องห่วงครับ ข้างบนซิ หายาก (หัวเราะ)   จบบทสนทนา หมอประเวศ รีบเดินทางไปประชุมต่อ ส่วนลุงยงค์ เตรียมเดินทางกลับบ้าน .

view