สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

องค์การ อิสระ อิสระ ตรงไหน ? ตามนัยความเห็นกฤษฎีกาคณะที่ 7

จากประชาชาติธุรกิจ



ทำท่าว่า จะไปไม่รอดเสียแล้ว สำหรับร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระตามมาตรา 67(2) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.... เพื่อจัดตั้ง "องค์การอิสระ" ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญในการแก้ไขปัญหามาบตาพุด ให้เป็นไปตามมาตรา 67(2) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่บัญญัติไว้ว่า

"การดำเนิน โครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้าน คุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากร ธรรมชาติและสุขภาพ จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม (EIA) และสุขภาพ (HIA) ของประชาชนในชุมชน และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ก่อนรวมทั้งได้ให้องค์การอิสระ ซึ่งประกอบ ไปด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากร ธรรมชาติหรือด้านสุขภาพ ให้ความเห็นประกอบก่อนที่จะมีการดำเนินการดังกล่าว"

หลัง จากที่คณะรัฐมนตรี มีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระฯ ในวันที่ 12 มกราคม 2553 ตามที่คณะกรรมการแก้ไขปัญหาการปฏิบัติตามมาตรา 67(2) เป็น ผู้เสนอ และให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาทบทวน โดยมีเงื่อนไขให้ทำการ "รวมร่าง" กับร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม แห่งชาติ (ฉบับที่...) พ.ศ.... ก่อนหน้านี้ เนื่องจากร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับมีหลักการเพื่อกำหนดรายละเอียดในการดำเนินการสำหรับโครงการ/กิจกรรมที่ อาจก่อผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงเหมือนกัน

ผลการพิจารณาทบทวนของคณะ กรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 7) พบว่า ไม่สามารถนำหลักการของร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับมารวมกันได้ จากเหตุผลที่ว่า 1)ร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระฯ กำหนดให้มีองค์การอิสระขึ้นเพียง 1 องค์การ โดยคัดเลือกกรรมการกันเองจากผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ผู้แทนสถาบันอุดมศึกษา ในขณะที่ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม กำหนดให้มีองค์การอิสระได้หลายองค์การ ด้วยการเปิดโอกาสให้ผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม/สุขภาพ สถาบันอุดมศึกษามีสิทธิจดทะเบียนตั้งเป็น องค์การอิสระได้

2)ร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระฯ กำหนดให้มีการตั้ง สนง.คณะกรรมการองค์การอิสระ ขึ้นเป็นหน่วยงานของรัฐ ส่วนร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ให้ กระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำหน้าที่รับ จดทะเบียนองค์การอิสระ ซึ่งหมายความว่า องค์การอิสระอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ

3)ร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระฯ กำหนดให้พิจารณาให้ความเห็นประกอบโครงการให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน ถ้าพิจารณา ไม่เสร็จ ให้ถือว่า องค์การอิสระ เห็นด้วยกับรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมสุขภาพ (EIA/HIA) ของโครงการนั้น แต่ในร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพ สิ่งแวดล้อม กำหนดให้ องค์การอิสระ ให้ความเห็นประกอบโครงการให้แล้วเสร็จ ภายในเวลา 90 วัน ถ้าพิจารณาไม่เสร็จให้ถือว่าเห็นด้วย แต่ถ้าหากองค์การอิสระพิจารณาแล้ว ไม่เห็นด้วย หรือมีความเห็นแตกต่างไป ก็ให้เสนอความเห็นที่แตกต่างนั้นไปให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณาทบทวนอีก ครั้ง และให้ถือ ความเห็นของคณะกรรมการผู้ชำนาญการเป็นที่สุด

เมื่อ ไม่สามารถรวมร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับเข้าด้วยกันได้ คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 7) จึงมีความเห็นให้เปลี่ยนชื่อร่าง พ.ร.บ.ใหม่ เป็น ร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ พ.ศ.... แทน พร้อมกับเปลี่ยน ผู้รักษาการตาม พ.ร.บ. จาก ประธานกรรมการองค์การอิสระ เป็น นายกรัฐมนตรี เพื่อให้ฝ่ายบริหารเป็นผู้รักษาการกฎหมายฉบับนี้

พร้อม กับเสนอให้มีการแก้ไของค์ประกอบของกรรมการจากผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวด ล้อม-ทรัพยากร ธรรมชาติ-สุขภาพ ด้านละ 2 คนรวมเป็น 6 คน เปลี่ยนมาเป็น ผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมจำนวน 4 คน และด้านสุขภาพจำนวน 2 คน โดยให้ตัดผู้แทนด้านทรัพยากรธรรมชาติออกไป เนื่องจากมาตรา 67(2) ไม่ได้บัญญัติไว้

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 7) มีการตั้งข้อสังเกตถึง องค์การอิสระ ไว้ว่า 1)การตั้งองค์การอิสระ เพียง 1 องค์การ โดยกำหนดให้มีการดำเนินการในรูปของคณะกรรมการนั้น ไม่สอดคล้องกับมาตรา 67(2) ถือเป็นการ "จำกัด" สิทธิในการให้ความเห็นขององค์การอิสระอื่น ๆ ที่มีองค์ประกอบครบถ้วนตามมาตรา 67(2) ทางออกในเรื่องนี้จึงเสนอให้ องค์การอิสระต่าง ๆ ที่มีองค์ประกอบครบถ้วนตามมาตรา 67(2) มาขึ้นทะเบียน นั้นหมายถึง การมีองค์การอิสระหลายองค์การมาให้ความเห็นประกอบโครงการ/กิจกรรม

2)องค์การ อิสระควรเป็นองค์การเอกชน เพราะองค์การอิสระ หมายถึง องค์การที่เป็นอิสระจากรัฐ ไม่ใช่หน่วยงานของรัฐ ซึ่งจะส่งผลต่อความเป็นอิสระในการให้ความเห็นประกอบ และ 3)อำนาจหน้าที่ขององค์การอิสระในกรณีที่เป็นหน่วยงานของรัฐ จะก่อให้เกิดความซ้ำซ้อนกับอำนาจหน้าที่ขององค์การของรัฐเดิมที่มีอยู่แล้ว อาทิ คณะกรรมการผู้ชำนาญการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวด ล้อมแห่งชาติ ในการพิจารณาให้ความเห็นชอบรายงาน EIA/HIA โดยร่าง พ.ร.บ.กำหนดให้ องค์การอิสระ มีอำนาจหน้าที่เพิ่มเติม (ให้ความเห็นประกอบ แต่ไม่มีหน้าที่พิจารณายกเลิกโครงการ/กิจกรรม) จึงถือเป็นอำนาจที่เพิ่มเติมจากรัฐธรรมนูญ และซ้ำซ้อนกับอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานอื่นของรัฐที่เกี่ยวข้อง

สาระ สำคัญของ ร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระ

จากประชาชาติธุรกิจ


1) การจัดตั้งองค์การอิสระ (มาตรา 5-12) กำหนดให้มีองค์การอิสระขึ้นมาองค์การหนึ่ง โดยมีการทำงานในรูปของคณะกรรมการ ซึ่งมีที่มาจากผู้แทน องค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม/สุขภาพผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการศึกษา ด้านสิ่งแวดล้อม/ทรัพยากรธรรมชาติ/สุขภาพ จำนวน 13 คน มีประธานกรรมการ 1 คน กรรมการอีก 12 คน ที่เหลือมาจากบุคคล ที่ได้รับการเสนอชื่อและได้รับเลือกจากองค์กรเอกชน จำนวน 6 คน และจากสถาบันอุดมศึกษาอีก 6 คน คณะกรรมการข้างต้นจะถูกคัดเลือกจากคณะกรรมการจัดการการคัดเลือกกรรมการ องค์การอิสระ จำนวน 14 คน ตามกระบวนการและขั้นตอนในการคัดเลือกกรรมการองค์การอิสระ

2) อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการองค์การอิสระ (มาตรา 13 มาตรา 16 และมาตรา 18) มีหน้าที่ให้ความเห็นประกอบก่อนที่จะมีการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง รวมทั้งวางนโยบายและกำกับดูแลในกิจการของสำนักงานคณะกรรมการองค์การอิสระ, ส่งเสริมสนับสนุนประชาชน/ผู้มีส่วนได้เสีย/องค์การเอกชน/สถาบันอุดม ศึกษา/นิติบุคคล/ คณะบุคคลให้มีส่วนร่วมในกระบวนการให้ความเห็นของคณะกรรมการองค์การอิสระ

ส่ง เสริมให้มีการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม/ ทรัพยากรธรรมชาติ/สุขภาพ, เสนอแนะ ต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ในการกำหนดประเภทโครงการ/กิจกรรม ที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชน อย่างรุนแรง, แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ เพื่อให้ความเห็นประกอบต่อโครงการ/กิจกรรม, เชิญข้าราชการ/ พนักงาน/ลูกจ้างหน่วยงานรัฐ/องค์การอิสระ/องค์กรอื่นหรือบุคคลใดมาให้ข้อ เท็จจริงหรือแสดงความคิดเห็นหรือขอให้จัดส่งเอกสารที่เกี่ยวข้อง

3) การให้ความเห็นขององค์การอิสระ (หมวด 2 มาตรา 19-23) ให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจัดส่งรายงานการ วิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่ได้รับ ความเห็นชอบจาก คณะกรรมการผู้ชำนาญการตามกฎหมายว่าด้วยส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม แห่งชาติ พร้อมความเห็นของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ โดยคณะกรรมการองค์การอิสระจะต้องพิจารณาให้ความเห็น ประกอบการดำเนินโครงการ/กิจกรรม ให้แล้วเสร็จภายในเวลา 60 วัน นับจาก วันที่ สนง.คณะกรรมการองค์การอิสระ ได้รับรายงาน EIA หากคณะกรรมการองค์การอิสระไม่สามารถพิจารณา ให้ความเห็นประกอบได้ทันภายใน 60 วัน ให้ถือว่าองค์การอิสระได้ให้ความเห็นประกอบแล้ว

การให้ความ เห็นประกอบข้างต้นให้บันทึกความเห็นของกรรมการ เสียงข้างน้อยไว้ในบันทึก และเปิดโอกาสให้องค์การเอกชน-สถาบันอุดมศึกษา-นิติบุคคล และผู้แทนให้ความเห็นประกอบได้ด้วย เมื่อองค์การอิสระให้ความเห็นประกอบแล้ว ให้ สนง.คณะกรรมการองค์การอิสระส่งความเห็นไปให้แก่ เจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจตามกฎหมาย

4) สำนักงานคณะกรรมการองค์การอิสระ (หมวด 3 มาตรา 24-35) ให้ สนง.ขึ้นเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็น ส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินและ ไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ สนง.มีฐานะเป็นนิติบุคคลอยู่ภายใต้การกำกับของคณะกรรมการองค์การอิสระ มีเลขาธิการ เป็นผู้แทน สนง.

5) ความสัมพันธ์กับรัฐบาลและรัฐสภา (หมวด 4 มาตรา 35-36) ให้องค์การอิสระจัดทำรายงานผลการปฏิบัติหน้าที่ประจำปี เสนอต่อคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาภายใน 180 วัน นับจากวันสิ้นปีบัญชี

view