สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เปิด แผนที่ไลเคน ตัวชี้วัดลมหายใจคนเมือง

จากประชาชาติธุรกิจ



แม้ผลของ การรณรงค์เพื่อลดมลพิษทางอากาศในช่วงตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการรณรงค์ให้ใช้รถจักรยานยนต์ 4 จังหวะแทนรถจักรยานยนต์ 2 จังหวะ เพราะมีการปล่อยฝุ่นละอองน้อยกว่า, การบังคับใช้อุปกรณ์กำจัดมลพิษจากท่อไอเสียรถยนต์, การลดปริมาณสารตะกั่วในน้ำมัน ฯลฯ จะทำให้ประเทศไทยมีคุณภาพอากาศที่ดีขึ้น

แต่อีกด้านหนึ่งยังพบ ข้อมูลที่น่าตกใจ ว่าคนภาคกลางมากกว่าครึ่งเป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ ซึ่งหากคิดเป็นค่าเสียหายในการหยุดพักงานและค่ารักษารวมถึง ค่าจัดการฌาปนกิจจะสูญเสียเงินถึง 6 พันล้านบาทต่อปี ไม่นับรวมความ เสียหายทางเศรษฐกิจ

"ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์" เลขาธิการมูลนิธิโลกสีเขียว กล่าวว่า ถึงสภาพอากาศในเขตเมืองของไทยจะดีขึ้นและมีค่าไม่เกินมาตรฐานของสหรัฐ อเมริกา แต่ยังมีบางพื้นที่ที่เกินมาตรฐานไปมากพอสมควร นั่นแสดงว่าคนในพื้นที่นั้นอาจได้รับผลเสียทางสุขภาพจากมลพิษทางอากาศ

"ปัญหา รถคับคั่ง เป็นวิกฤต และถูกพูดถึงมานาน ถ้าให้แก้ปัญหาอย่างที่เราถนัด จะต้องหาวิธีรีเฟรชเพื่อกระตุ้นเตือนให้สังคมมองเห็นและสร้างความตระหนักถึง คุณภาพอากาศในเมืองที่อาศัยอยู่ เพราะมีความเกี่ยวข้องกับสุขภาพของเราโดยตรง"

"โครงการนักสืบสายลม" จึงเกิดขึ้นใน ปี 2551 จากความร่วมมือของ 3 หน่วยงาน ได้แก่ มูลนิธิโลกสีเขียว, สำนักงานสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดยใช้ "ไลเคน" สิ่งมีชีวิตกึ่งรากึ่งสาหร่ายเป็นตัวชี้วัดคุณภาพอากาศ ซึ่งเป็นการนำองค์ความรู้จากงานวิจัยของหน่วยวิจัยไลเคน ภาควิชาชีววิทยา มหาวิทยาลัยรามคำแหงและภาควิชาชีววิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นฐานความรู้เพื่อพัฒนากระบวนการสร้างความตระหนักแก่ประชาชนพร้อมกับสร้าง ฐานข้อมูลไลเคนในเมืองเพิ่มเติมด้วย

แม้ผู้สนับสนุนอย่างบริษัท ปตท. อาจถูกตั้งคำถามในความร่วมมือครั้งนี้ เนื่องจากเป็นผู้ผลิตสินค้าประเภทพลังงานที่มีผลกระทบต่อสภาพอากาศโดยตรง ซึ่งหากมองในแง่ดีการที่บริษัทรับทราบข้อมูลดังกล่าวจะมีผลต่อการพัฒนาปรับ ปรุงผลิตภัณฑ์ที่เคยใช้ได้ผลในช่วงที่มีการผลิตน้ำมันไร้สารตะกั่วและหันไป พัฒนาพลังงานที่สะอาดมากขึ้น

"ประเสริฐ สลิลอำไพ" ผู้จัดการฝ่ายกิจการเพื่อสังคม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในฐานะที่ ปตท.เป็นบริษัทพลังงาน ซึ่งแน่นอนว่าสินค้าของเราได้สร้างผลกระทบต่อคุณภาพอากาศ ดังนั้นหากมีความร่วมมือใดที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมก็ยินดีร่วม โดยครั้งนี้ทาง ปตท.ได้ส่งกลุ่มพนักงานอาสาเข้าร่วมโครงการ ในชื่อ "กลุ่มพลังไทยใจอาสา" ด้วย

"การจะช่วยดูแลสภาพอากาศ เริ่มต้นต้องรู้ก่อนว่าเรากำลังเผชิญกับอะไร ในแผนที่ไลเคนสำรวจมานี้จะบอกได้ว่าพื้นที่ไหนวิกฤต และนำไปสู่การหาสาเหตุที่มา จนถึงวิธีที่จะทำให้คุณภาพอากาศบริเวณนั้นดีขึ้นได้ สิ่งเหล่านี้จึงเป็นกุญแจที่ไขประตูเปิดไปสู่การแก้ปัญหาในระดับที่ใหญ่ขึ้น เพราะทุกชีวิตล้วนต้องมีการพึ่งพาอาศัยกันและกัน จึงอยากเชิญชวนให้องค์กรต่าง ๆ ช่วยสนับสนุนโครงการเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคนเมืองต่อไป" ประเสริฐกล่าว

ด้าน การดำเนินงานในช่วงระยะเวลา 18 เดือน อาสาสมัครแกนนำนักสืบสายลม ที่ประกอบไปด้วยพนักงานบริษัทจากภาครัฐและเอกชน แม่บ้าน ได้ช่วยอบรมน้อง ๆ นักเรียนจากโรงเรียนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 51 แห่ง ที่เข้าร่วมกระบวนการกว่า 300 คน ซึ่งพวกเขาและคุณครูจะเป็นกำลังสำคัญที่ช่วยเสริมศักยภาพในการกระจายพื้นที่ สำรวจให้ขยายวงกว้างออกไป

ผลจากการสำรวจสังคมไลเคนในพื้นที่ทั่ว กรุงเทพฯและบริเวณใกล้เคียงทั้งหมด 214 จุด ในช่วงเดือนกันยายน 2552 ถึงพฤษภาคม 2553 พบว่าพื้นที่ประมาณครึ่งหนึ่งของกรุงเทพฯมีคุณภาพอากาศที่ "แย่" ถึง "แย่มาก" และมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบทางลบต่อสุขภาพของประชาชน ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ใจกลางเมือง ทั้งทางฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรี หรือบริเวณใกล้ถนนสายหลักที่มีการจราจรรถยนต์คับคั่ง และพื้นที่ชานเมืองที่มีโรงงานจำนวนมาก

นอกจากนี้ จุดที่พบคุณภาพอากาศ "แย่" ยังกระจายประปรายเป็นหย่อม ๆ ตามลักษณะกิจกรรมในท้องถิ่น เช่น บริเวณสนามบิน บริเวณที่เผาขยะและ เผาศพกันมาก ๆ หรือพื้นที่ติดคลองน้ำเสีย

อย่างไรก็ตาม ยังคงพบพื้นที่ที่มีคุณภาพอากาศ "พอใช้" จนถึง "ดีพอใช้" ได้ไม่น้อยในกรุงเทพฯ ตามพื้นที่เกษตรและสวนผลไม้ ชุมชนริมคลองที่ถนนเข้าไม่ถึง เช่น ในเขตคลองสามวา เขตหนองจอก และเขตลาดกระบัง บริเวณที่โดดเด่นอีกส่วนหนึ่ง ได้แก่ เขตตลิ่งชัน เขตทวีวัฒนา ไปจนถึงพื้นที่ติดกับพุทธมณฑล ในจังหวัดนครปฐม

จุดที่ พบคุณภาพอากาศ "พอใช้" ในบริเวณกลางกรุง ได้แก่ พื้นที่สวนสาธารณะขนาดใหญ่ เช่น สวนลุมพินี สวนสัตว์ดุสิต และสวนหลวง ร.9 ส่วนพื้นที่สีเขียวบริเวณกระเพาะหมู-บางกระเจ้า พบอากาศคุณภาพ "พอใช้" แต่สภาพไลเคนไม่ดีเท่ากรุงเทพฯ ฟากตะวันออกเฉียงเหนือและฟากตะวันตก ซึ่งน่าจะมีสาเหตุจากตำแหน่งที่ตั้งติดกับเขตอุตสาหกรรม

ข้อมูลทั้ง หมดได้ถูกจัดแผนที่ "มองคุณภาพอากาศกรุงเทพฯ ผ่านไลเคน 2010" ซึ่งเป็นแผนที่คุณภาพอากาศที่ใช้วิธีการสำรวจทางชีวภาพสำหรับประชาชน ที่เข้าใจง่ายและยังสามารถประยุกต์ใช้เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรการเรียนการส อน ที่มีคุณค่าในโรงเรียนเพื่อสร้างจิตสำนึกให้เยาวชนและขยายผลไปถึงชุมชนได้ อีกด้วย

view