สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สธ.ระดมความคิดปลดชนวนปัญหาเรื้อรัง

จาก โพสต์ทูเดย์

สธ.ระดมความคิดปลดชนวนปัญหาเรื้อรัง นับ 1 แก้ปัญหาขาดแคลนบุคลากร

โดย ธนวัฒน์ เพ็ชรล่อเหลียน

พลันที่พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 มีผลบังคับใช้ ด้วยมุ่งหวังให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขมากยิ่งขึ้น นั้น กลับทำให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะผู้รับสนองนโยบายต้องเผชิญกับปัญหาใหญ่ โดยเฉพาะเรื่องจำนวนบุคลากรที่สวนทางกับภาระงาน และค่าตอบแทนที่ผกผันกับมาตรฐานการให้บริการ

ปมปัญหาเรื้อรังและทางออก ถูกสะท้อนผ่านเวทีการประชุม “การแยกข้าราชการและบุคลากรของกระทรวงสาธารณสุขออกจาก กพ.” ภายใต้การขับเคลื่อนของแพทยสภา        

นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ กรรมการแพทยสภา เปิดเผยว่า ที่ประชุมปฏิรูปประเทศไทยด้านสาธารณสุขมีข้อสรุปตรงกันคือ เห็นด้วยที่จะให้ข้าราชการด้านสาธารณสุขแยกออกจากกพ. เพราะจะทำให้ประสิทธิภาพในการจัดสรรกำลังคนเพิ่มขึ้น โดยปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้คือขาดแคลนบุคลากรทุกแขนง สืบเนื่องมาจากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ให้จำกัดและลดจำนวนข้าราชการในระบบลง ทั้งๆ ที่นโยบายด้านสธ.กลับมีมากขึ้น

“ตอนนี้ผู้ที่ทำงานในรูปแบบของลูกจ้างมีกว่า 30,000 ตำแหน่ง และใน 5 ปีที่จะถึงนี้มีแพทย์ซึ่งทำสัญญาชดใช้ทุนจะจบอีกกว่า 10,000 คน แต่คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.) กลับบรรจุได้เพียง 1,000 ตำแหน่งเท่านั้น จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ออกจากระบบเดิม”

 

ภาพ ประกอบข่าว

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเสนอให้แยกเงินเดือนบุคลากรทางการแพทย์ ออกจากค่าเหมาจ่ายรายหัวที่กำหนดไว้ตามพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ เนื่องจากขนาดของโรงพยาบาลและประชากรผู้ใช้บริการของแต่ละพื้นที่มีความแตก ต่างกัน ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ทั้งเงินเดือนเจ้าหน้าที่และการบริการประชาชน

สำหรับการขั้นตอนดำเนินการ จะเสนอข้อสรุปดังกล่าวให้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.สธ. และสำนักปลัด พร้อมกันนี้จะรวบรวมรายชื่อประชาชนอย่างน้อย 10,000 รายชื่อ เพื่อเสนอ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการสาธารณสุขและบุคลากรสาธารณสุข ตามกรอบรัฐธรรมนูญปี 2550

ล่าสุด จากการเปิดเผยของ พญ.อรพรรณ เมธาดิลกกุล ประธานคณะอนุกรรมการเพื่อยกร่างพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฯ ทำให้ทราบว่าตั้งแต่วันที่ 17 มิ.ย. ถึงขณะนี้ มีผู้เข้าชื่อแล้วกว่า 1.2 หมื่นคน แสดงให้เห็นว่าข้าราชการต่างให้การสนับสนุน

นพ.เสรี หงษ์หยก รองปลัดสธ. ในฐานะประธานคณะกรรมการศึกษาข้อดีข้อเสียของแนวทางการดำเนินการ เล่าว่า ปัญหานี้เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน จากสถิติพบว่าตั้งแต่มี พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีผู้ป่วยนอกเพิ่มขึ้น 30% ผู้ป่วยใน 28-29% สภาพการขาดแคลนบุคลากรที่มีอยู่แล้วแต่เดิม ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น

ด้วยภาระกิจที่มากขึ้น เป็นเหตุให้ระบบการจัดกำลังไม่สอดคล้องกับงานและค่าตอบแทน อย่างไรก็ตามเมื่อได้รับเสียงสะท้อนก็ดำเนินการตั้งคณะกรรมการที่ประกอบด้วย 1.สายอาชีพในกระทรวงสาธารณสุข อาทิ ผู้แทนกรมที่เกี่ยวข้อง ชมรมต่างๆ สาธารณสุขอำเภอ 2.ผู้มีประสบการณ์ซึ่งออกจากราชการไปแล้วมาร่วม

3.ตัวแทนจากคณะกรรมการ อาทิ คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.) คณะกรรมการเงินเดือนแห่งชาติ (กงช.) คณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น (ก.ถ.) คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.)

ส่วนวิธีการดำเนินงาน จะพิจารณาประเด็นปัญหาเรื่องตำแหน่งข้าราชการและนักเรียนทุนทางการแพทย์ ปัญหาการเกษียณ ปัญหาค่าตอบแทน โดยจะเอาองค์ความรู้ทั้งหมดมาตั้ง แล้วให้ผู้มีประสบการณ์อธิบายถึงปัญหาและผลกระทบที่ได้สัมผัสมา จากนั้นจะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและวิเคราะห์ปัญหาในรูปแบบของคณะกรรมการ

“เราจะเอานำกรอบของมติครม.เรื่องการจำกัดบุคลากรมาพิจารณาร่วม แล้วจึงหาทางออกร่วมกัน ทั้งนี้คาดว่าจะเริ่มประชุมนัดแรกในเดือนกรกฎาคม”นพ.เสรีระบุ

view