สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ศรีราชา เจริญพานิช ไล่บี้ นอมินีต่างชาติ แก้กฎหมาย สกัด ต่างด้าว ซิกแซก กว้านซื้อที่ดิน

 

จากประชาชาติธุรกิจ

ศรีราชา เจริญพานิช ผู้ตรวจการแผ่นดิน อดีตอาจารย์สอนกฎหมาย เปิดไอเดียแก้ปัญหาต่างชาติ กว้านซื้อที่ดิน หวั่น เปิดเสรี เปิดประตูให้ต่างชาติ เชิดนอมินี ตั้งบริษัทครอบครองที่ดิน เลี่ยงกฎหมาย ลั่นเกาะภูเก็ต สมุย ถูกซื้อไปหมดแล้ว ต่อไปไร่นาจะไม่เหลือให้ลูกหลาน

ประชาชาติธุรกิจ ออนไลน์ สัมภาษณ์ ผู้ตรวจการแผ่นดิน มานำเสนอดังนี้  

 

@ รูปแบบที่ต่างชาติเข้ามาถือครองและทำธุรกิจค้าที่ดิน เป็นอย่างไร
สมุย ภูเก็ต พัทยา ก็ไม่เบา เพราะพวกนี้  เวลานี้เขาใช้มีหลายรูปแบบ คือ 1. แต่งงานกับคนไทยปลอมๆ  หรือจะแต่งจริงก็ได้ แต่ถ้าแต่งจริง เวลาซื้อต้องซื้อในนามภรรยา  แต่ปัญหาที่จะเจอก็คือ สมมุติภรรยาเสียชีวิต มรดกครึ่งหนึ่งตกไปเป็นของต่างชาติ ตรงนั้นมีผลได้ก็คือบังคับขาย แต่พวกนี้จะมีวิธีเลี่ยงก็คือ  ตั้งเป็นรูปบริษัทให้ฝรั่งถือหุ้นกับอีกแบบหนึ่งก็คือ ตั้งมาแล้ว ให้เช่า  คล้ายๆ เป็นทรัพย์สินรวมของบริษัท  และรูปแบบอื่นๆ  

 

@ แต่กรณีให้ผู้หญิงไทยก็ไม่ง่าย เพราะกฏหมายที่ดิน ค่อนข้างเข้มงวด
ก็ไม่ง่ายครับ แต่เวลานี้ไม่ใช่แค่นี้นะ มันจะไปทางภาคอีสาน อย่างฝรั่งที่มาทำนา ซึ่งตามหลักแล้วเขามาทำนาก็ดีเหมือนกัน  เพียงแต่ว่าสิ่งเหล่านี้ถ้าเราไม่ควบคุม  เดิมประมวลกฏหมายที่ดินหรือระเบียบที่กระทรวงมหาดไทยออกจะต้อง ผ่านขั้นตอน แล้วดูว่าความเหมาะสมมีหรือ มีความสุจริตใจที่จะมาทำหรือเปล่า แล้วก็มีการจัดระบบ รวมทั้งโควตาที่ให้เขาถือ  ควรจะมากน้อยเท่าไหร่
ถ้าเป็นอย่างนี้ที่ดินก็ยังอยู่กับคนไทย  แต่ถ้าเมื่อไหร่เราปล่อย แล้วไม่มีการเชื่อมโยงข้อมูลถึงกัน ก็จะไปเหมือนที่เกาะสมุย  เพราะฝรั่งอำนาจเงินซื้อเขาเยอะ โดยเฉพาะกลุ่มที่มาจากตะวันออกกลาง    ฉะนั้น จึงไม่แปลกที่พวกฝรั่งจึงอยากมีเมืองไทยเป็นบ้านหลังที่สอง  เพราะค่าใช้จ่ายที่เมืองไทยถูกกว่า  

 

@ แล้วจุดเหมาะสมในการจัดการเรื่องนี้ควรเป็นอย่างไร
ผมเห็นว่า เวลานี้เราปล่อยลึกเกินไปแล้ว  นอกเสียจากว่ากฏหมายที่เราจะออกสามารถย้อนหลังได้  เพราะถ้าเป็นอาญาอาจไม่เป็นธรรม แต่ถ้าเป็นเรื่องที่เขาทุจริตแล้วหลีกเลี่ยงกฏหมาย  เราก็อาจจะใช้กฏหมายตัวนี้เรียกคืนย้อนหลังได้  แต่ไม่ใช่เป็นโทษอาญา  เป็นโทษการบังคับตามปกติ แต่ถ้าเขาเข้ามาถูกระเบียบ  ก็คงต้องปล่อยไป แต่เราจะจัดการกรณีที่ไม่ถูกกฏหมาย
แต่ไม่ใช่แค่เรื่องที่ดินอย่างเดียว   มันมีเรื่องของหุ้นด้วย  การถือหุ้นแทนกัน ไขว้กัน หรือการตั้งบริษัทที่จะมาทำกิจการอะไรก็ตาม แล้วมีการหลบเลี่ยงภาษี  เช่น หุ้น บริษัทไทย  เขาอ้างว่าตั้งเป็นบริษัทคนไทย 49: 51 หรือ 45: 55 แต่ 55 ที่เขาบอกว่าเป็นไทย มันมีการแอบไปถือหุ้นฝรั่งอีก 25 ก็ไม่ใช่ 55 แล้ว    พอทำอย่างนี้โดยถือหุ้นหลอก  ก็จะได้สิทธิประโยชน์ในฐานะบริษัทไทย ทำอะไรก็ได้  

 

@ ตรงนี้ ต้องไปแก้ที่พ.ร.บ. ประกอบธุรกิจคนต่างด้าวหรือเปล่า 
ใช่ครับ แล้วใส่รายละเอียดเข้าไป ที่จริงมันมี เพียงแต่เราจะไปเจาะเข้าไปดูมันยาก มันต้องมีเบาะแส ยิ่งไปกว่านั้น แม้กระทั่งในตลาดหุ้นก็ตาม  การถือไขว้แทนกันมันก็เยอะแยะไปหมด  ซึ่งต้องสำรวจอีกเยอะ  

 

@ แล้วเป็นหน้าที่ใครที่จะเข้าไปเจาะตรงนี้
ใครก็ตาม ที่กำกับงานส่วนนั้น ไม่ว่าจะเป็น กระทรวง ทบวง กรม เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่โดยตรง หรือรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงที่ดูแลกฏหมายฉบับนั้นอยู่   

 

@ แต่มีการตั้งคำถามว่า เป็นการทำลายเงินลงทุนที่มาจากต่างชาติหรือเปล่า 
 ปัญหาก็คือ คุณจะแลกกับเงินลงทุนหรือจะขายประเทศ หรือจะยอมรับส่วนที่เราเสียเปรียบต่างชาติ หรือกรณีที่เขาจะมาเอาประโยชน์จากเรามากๆ  คุณจะเอายังไง
 จริงๆ ผมเชื่อว่า ประเทศเราไม่ต้องพึ่งพาใครก็สามารถอยู่ได้  แต่คนที่พึ่งพาขณะนี้ คือคนที่ทำธุรกิจ   ที่วิ่งเข้ามาสู่สายการเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ ฉะนั้นเขาจึงเอาเศรษฐกิจของเราไปพึ่งพากับต่างประเทศ  ต้องการเพียงส่งออก ขายสินค้าต่างๆ  เพื่อเอากำไรมาสู่ใคร สู่ประเทศส่วนหนึ่ง แต่สู่เขาเป็นหลัก  สู่กลุ่มทุนใหญ่เป็นหลัก
 ฉะนั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเลือกอะไร  ถ้าเราเชื่อว่าเราจะไปในทิศทางทางเศรษฐกิจแบบเสรี  ก็เป็นรูปแบบหนึ่งของธุรกิจ   แต่ถ้าเป็นผม ผมไม่แคร์  ผมอยากจะอยู่อย่างไม่พึ่งพาคนอื่น หรือพึ่งพาให้น้อยที่สุด  ซึ่งผมเชื่อว่าทำได้ 
   ถ้าเรายังอยากให้ประเทศเรามีบ้าน   มีป่า มีทุ่งนาเขียวขจี   อย่างที่เราเคยเห็น   ก็มีอย่างเดียวคือ เราต้องไม่พยายามเปิดประเทศให้กว้างจนเกินไป  อย่างเวลาจะตั้งโรงงานสักโรงหนึ่ง  ก็ไปซื้อที่นา โรงงานก็ไปโผล่  เราไม่มีกฏหมายควบคุมที่ดีพอ  หรือควบคุมแต่เจ้าหน้าที่รัฐก็ปล่อยปละละเลย เมื่อได้รับสินบน
  เมืองไทยเวลานี้ ซื้อได้ด้วยเงินกับอำนาจ  ฉะนั้น คนจึงแสวงหาเงินกับอำนาจ  แต่ไม่เคยมีการแสวงหาความชอบธรรม ความถูกต้อง   

 

@ บทบาทตรงนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินทำอะไรได้บ้าง
  ผมคิดจะเริ่มทำอยู่  แต่เราจะรบกับคนเป็นล้านคน ในขณะที่เรามีกำลังอัตราเพียง 180 คงเหลือบ่ากว่าแรง  แต่ก็พยายามที่จะเพิ่มอัตรากำลังขึ้น   แต่สำนักงบประมาณก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรา  ให้มาแบบเสียไม่ได้  ซึ่งผมกำลังจะขอให้กลุ่มองค์กรอิสระด้วยกัน  ขอเป็นเงิน เป็นจำนวนเปอร์เซ็นต์ของงบประมาณ เพื่อไม่ให้ฝ่ายบริหารมาบีบ แล้วเราทำงานไม่ได้
             ทุกวันนี้ องค์กรอิสระทั้งหลายที่เป็นระบบตรวจสอบทั้งหมด ได้เงินคิดรวมกัน  .59  %  ของงบประมาณทั้งประเทศ  ฉะนั้น เราอยากจะขอเพิ่มสัก 1-1.2 %  สักเท่าตัว โดยจะพยายามผลักดันผ่านวุฒิสภา หรือผ่านคณะกรรมการ   อยากจะทำให้ได้ในปี 2555   เพื่อให้ระบบตรวจสอบเข้มแข็งขึ้น ไม่เช่นนั้น  ฝ่ายรัฐบาลก็อาจะแกล้งได้ ผมไม่อยากให้คุณตรวจสอบผม ไม่ให้เงินงบประมาณซะอย่าง  ก็กลายเป็นองค์กรง่อย  ทำอะไรก็ไม่ได้เหมือนอย่างทุกวันนี้ 
      

 

@ ส่วนหนึ่งที่เป็นง่อย เพราะได้งบประมาณน้อยจนไม่สามารถทำอะไรได้ในเชิงรุก อย่างนั้นหรือเปล่า
  ก็จัดการได้ระดับหนึ่ง  ก็ทำได้เท่าที่ทำ   อย่าง ปี 2554 เราได้งบฯ 190 กว่าล้าน   ปี 2553 ได้ 155  ล้าน  เมื่อปีใหม่เราก็พยายามทำงบประมาณเสนอไป  430 กว่าล้าน  แต่ได้มา 2 ล้านต้นๆ เจองบฯ ไทยเข้มแข็ง ตัดไป  5 %  ซึ่งงบไทยเข้มแข็งผมเชื่อว่าเป็นงบฯหาเสียง  พอๆ กับรัฐบาลก่อน
   ก็ถูกของเขาล่ะ หาเสียง  ซึ่งเวลาใช้ผมก็เคยทักท้วงแล้วว่า มันจะตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ  อาจจะไม่ถึงประชาชนจริงๆเท่าไหร่ ฉะนั้น บทบาทตรวจสอบก็ต้องเข้มขึ้น 
  ตอนนี้ ผมพยายามเปลี่ยนบทบาทใหม่ คือ เลือกเรื่องสำคัญมาทำก่อน   เพราะทำแบบเข้าคิวก็ช้า ซึ่งผมเคยเปรียบว่า  รถที่จะส่งไปซ่อม เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง  ชั่วโมงเดียวเสร็จ แต่คุณต้องไปรอยกเครื่องใหม่ ไหวเหรอ  มันก็ต้องแบ่งสาย พวกที่ซ่อมหนักก็ไปอยู่กลุ่มหนึ่ง   พวกซ่อมเบาก็ต้องไปอยู่อีกกลุ่มหนึ่ง  ซึ่งผมพยายามใช้คอนเซ็ปนี้มาจับ

view