สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

The End of Brand Thailand ! ...พลิกฟื้นได้ถ้าทำจริง

จากประชาชาติธุรกิจ



เป้าหมาย ของคนไทยในขณะนี้ต่างมุ่งสู่ถนนสายปฏิรูป เพื่อพลิกฟื้นประเทศไทยหลายคน หลายมุมมองที่แตกต่าง แต่มีจุดหมายเดียวกันที่จะปฏิรูปประเทศไทย

ก่อน หน้านี้ "ประชาชาติธุรกิจ" ได้นำเสนอภารกิจที่ยังทำไม่เสร็จของ "ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์"อดีตรองนายกรัฐมนตรี ล่าสุดในงานครบรอบ 60 ปีหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ได้ปาฐกถาพิเศษในเรื่องการปฏิรูปประเทศไทย โดยเกริ่นนำถึงท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของ น.ส.พ.สยามรัฐในสมัยก่อนว่าท่านเป็นเสาหลักประชาธิปไตย ที่ปกปักรักษาประชาธิปไตยตลอดชีวิตของท่าน เมื่อสิ้นอาจารย์คึกฤทธิ์ การเมืองไทย เสมือนไร้เสาหลัก ขาดบุคคลที่สังคมไทยยอมรับ และรับฟังความคิดเห็นในทุกเรื่อง

ประชาธิปไตยไทย บ่อยครั้งจึงถูกบิดเบือน แอบอ้าง เพียงเพื่อประโยชน์ทางการเมือง ไม่ใช่เพื่อประโยชน์บ้านเมือง โดยไม่เกรงใจใคร ๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่มีใครออกมาท้วงติง ป้องปราม ด้วยคนที่มีน้ำหนักเพียงพอและการเมืองจะเกรงใจ

บ่อยครั้งที่ ประชาธิปไตยไทยได้พาประเทศชาติ จวนเจียนวิกฤตหลายครั้ง วิกฤตปี 2540 ถือว่าวิกฤตที่ร้ายแรงที่สุด แต่ผมคิดผิดถนัด ภาพเหตุการณ์พฤษภาคม 2553 ที่ไม่เคยคิดว่าจะเกิดขึ้นกับประเทศไทย ที่เป็นประเทศสงบสันติ รักใคร่ปรองดองกัน และแม้ความเสียหายทางเศรษฐกิจไม่เสียหายยับเยินให้เห็นในทันใด แต่ความเสียหายโดยรวม เป็นความเสียหายอย่างยิ่ง ทำลายคุณค่าที่สั่งสมมาในอดีตที่เป็นฐานรากสำคัญที่ฟูมฟักให้ประเทศนี้เติบ โตและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะในแง่ภาพลักษณ์ ในแง่ความเชื่อมั่นศรัทธา ความน่าเชื่อถือของประเทศ คุณค่าที่เราสะสมมาเป็นสิบ ๆ ปี ทำให้เราอยู่อย่างโดดเด่นเหนือชาติใดในภูมิภาคนี้

และอีกด้านหนึ่ง ประชาธิปไตยไทยเป็นการบ่มเพาะหน่ออ่อนที่เป็นเชื้อร้ายที่ซึมในสังคม และอาจจะกัดกร่อนบั่นทอนบ้านเมืองในอนาคต หากการดูแลเอาใจใส่ไม่ดีพอ โดยขาดเมตตาธรรม ขาดความยุติธรรมที่ดีพอ สิ่งเหล่านั้นน่าห่วงอย่างยิ่งสำหรับในอนาคตข้างหน้า

ผมมอง วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น (พฤษภาคม 2553) ว่าไม่ใช่แค่ผลแห่งความขัดแย้งทางการเมือง ผมคิดว่ามันเป็นผลพวงแห่งความล้มเหลวของขบวนการพัฒนาประเทศในหลายสิบปีที่ ผ่านมา ในทางเศรษฐกิจมันเป็นความล้มเหลวที่เราสร้างแต่การเจริญเติบโต สร้าง ความมั่งคั่ง ที่กระจุกตัว ละเลยการกระจาย จนเป็นการ ปลูกฝังความไม่เท่าเทียมกัน ความรู้สึกของคนส่วนหนึ่งที่รู้สึกว่าถูกละทิ้ง ปลูกฝังในส่วนลึกของจิตใจ จนง่ายอย่างยิ่งที่ถูกกระตุ้นให้ปะทุ และง่ายต่อการขยายผล

เป็นความล้มเหลวทางสังคมในการบ่มเพาะความคิด คุณธรรมและศีลธรรม ปลูกฝังจิตสำนึกที่รู้จักหน้าที่ ความรับผิดชอบต่อบ้านเมืองเหนือส่วนตน หาไม่แล้วภาพเหล่านั้นคงไม่ปรากฏแก่สายตาคนไทยและชาวโลก

เป็นความล้ม เหลวทางการเมืองที่เราไม่สามารถสร้างการเมืองที่สร้างสรรค์ พัฒนาประชาธิปไตยเพื่อการสร้างชาติ เรามี "การเมือง" ทอนกำลังที่บั่นทอนศักยภาพประเทศชาติ เราหลอกคนอื่น หลอกตัวเองว่าเราเป็นประชาธิปไตย ที่แท้เป็นแค่เปลือก และแอบใช้เปลือกในการสร้างประโยชน์เฉพาะส่วน

วันนี้รัฐบาลชูธง ปฏิรูปประเทศไทย ผมถือว่าเป็นสิ่งที่ดีที่ทุกคนจะต้องมีส่วนร่วม แต่ขอให้มีการปฏิรูปที่จริงจัง จริงใจ ไม่ใช่เพียงลมปากทางการเมืองที่พูดไปตามสถานการณ์ทางการเมือง ที่สำคัญต้องรู้ว่าปฏิรูปเพื่ออะไร ปฏิรูปอะไร ปฏิรูปอย่างไร โดยผู้นำและรัฐบาล ผู้อื่นหรือคณะกรรมการที่ตั้งนั้นเป็นแค่ระดมความคิดให้ แต่ไม่ใช่ผู้ขับเคลื่อน เพราะผู้ขับเคลื่อนต้องคณะ ผู้บริหารประเทศ หาไม่แล้วไม่มีประโยชน์ที่จะมีการบริหารประเทศ

"The End of Brand Thailand"

ดร.สมคิดกล่าวว่า น.ส.พ.นิวส์วีค ฉบับวันที่ 4 มิ.ย. 2553 ขึ้นปกประเทศไทย อ่านแล้วน้ำตาซึมว่าประเทศไทยทำประเทศไทยพังได้อย่างไร เนื้อหาจ่าหัวว่า "The End of Brand Thailand" จุดจบแบรนด์ของประเทศไทย เขาเริ่มต้นกล่าวเสียดายความสำเร็จทางเศรษฐกิจของประเทศไทย เป็นดินแดนสวรรค์ที่ทั่วโลกอิจฉา ไทยเปี่ยมด้วยศักยภาพทางเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพทางการเมือง ถูกมองว่าเป็นเสาหลักทางเศรษฐกิจและการเมืองในภูมิภาค แต่สิ่งเหล่านี้ ถูกบั่นทอน ถูกทำลายจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

แต่ส่วนใหญ่ในบทความ พูดถึงสิ่งที่เป็นที่มาของหัวข้อในวันนี้ เขาบอกว่าสิ่งที่ไทยผิดพลาดคือการละเลยปฏิรูปประเทศอย่างจริงจัง ประเทศไทยไม่เคยคิดจริงจังในการปฏิรูประบบการศึกษาล้าหลังไม่ทันโลก ประเทศไทยไม่เคยคิดที่จะปฏิรูปอุตสาหกรรมให้ได้มาตรฐาน เท่าเทียมโลก ไม่เคยคิดพัฒนายกระดับธุรกิจให้เข้มแข็งคิดเพียงแต่รับจ้างทำของ ป้อนสู่ต่างประเทศ อย่างดิบ ๆ การบริหารจัดการ การขับเคลื่อนประเทศไม่เคยคิดที่จะปฏิรูปเพื่อการกระจายอำนาจ ทุกอย่างรวมเข้าสู่ส่วนกลาง มีการทุจริต คอร์รัปชั่น

เขาตบท้ายว่าหน ทางที่จะ "ฟื้นคืนแบรนด์ไทยแลนด์" ดูแล้วช่างห่างไกลยิ่ง อ่านแล้ว เราอย่าไปโกรธเขา ต้องคิดให้ดี ๆ ว่าที่เขาเขียนแบบนี้ แสดงว่าอีกหลาย ๆ ฉบับคงมองใกล้เคียงกัน และที่เขามอง หลาย ๆ ส่วนเป็นความจริง เพราะเราไม่เคยสนใจ ไม่เคยมีแผนงานจริง ๆ ในการปฏิรูป มีเพียงลมปากที่พูดไปเรื่อย ๆ

ฉะนั้นถ้าเราจะปฏิรูปประเทศไทย สิ่งที่ต้องตอบคำถามคือการปฏิรูปครั้งนี้ไม่ใช่การปฏิรูปทั่วไปดังเช่นใน ภาวะปกติ แต่เป็นการปฏิรูปที่คนไทยต้องร่วมกัน เพื่อเรียกคืนคือ "ไทยแลนด์แบรนด์" คือความสุขสงบ ความรักใคร่สามัคคีปรองดอง การสร้างประเทศให้เป็นที่น่าเชื่อถือศรัทธา ปฏิรูปเพื่อการฟื้นคืนไทยแลนด์แบรนด์

ดร.สมคิดกล่าวต่อว่า "ผมอยากให้ดูตัวอย่างอินโดนีเซีย" ประเทศจะล้มละลาย มีหนี้สิน รกรุงรัง ทุกคนคิดว่าอินโดนีเซียจะฟื้นได้อย่างไร แต่วิกฤตมักสร้างโอกาส เขามีการปฏิรูปประเทศอย่างจริง ๆ ภายใน 10 ปี วันนี้เขากลับมามีเสถียรภาพทางการเมือง การทุจริตคอร์รัปชั่นถูกขจัดไปพอสมควร เศรษฐกิจดีขึ้น มีบทบาทในระดับการเมืองโลก ประธานาธิบดีบารัก โอบามา สหรัฐอเมริกา เตรียมแผนมาแวะที่อินโดนีเซีย เพราะสหรัฐอเมริกาต้องการชูบทบาทอินโดนีเซียเพื่อถ่วงดุลกับจีน

บท เรียนอินโดนีเซีย เราศึกษาได้ เป็นอุทาหรณ์ได้ สิ่งแรกที่เขาทำคือ ประธานาธิบดีลงมาปฏิรูปการเมืองด้วยตันเอง เขารู้ว่าอะไรคือปัญหา จะปฏิรูปอะไร อย่างไร เขาเลือกคนที่เก่ง ๆ มาร่วมในการปฏิรูปกับเขา นี่คือบทเรียนบทที่ 1 การปฏิรูปเป็นเรื่องใหญ่ ต้องใช้พลังมหาศาล

สมัย ก่อนวิกฤตปี 2540 ผมพยายามบอกว่าประเทศไทยต้องปฏิรูป แต่พออยู่ในภาครัฐเรารู้ว่ายาก หากไม่รวมพลังกันจริง ๆ จัง ๆ ภูเขาที่ตั้งไว้เขยื้อนไม่ได้หากไม่มีใครสนใจ ฉะนั้นถ้าผู้นำไม่ลงมาด้วยตนเอง คณะรัฐมนตรีไม่รู้ทิศทางว่าจะปฏิรูปอะไร

อย่า เกี่ยงดึงคนเก่งทำงาน

ประการที่สองที่เขาทำ เขาลงมือปฏิรูปการเมืองอย่างจริงจัง ร่วมมือกับยูเอ็นดีพี ยกหน่วยงานเลือกตั้งเพื่อขจัดทุจริตการเลือกตั้ง เขากระจายอำนาจอย่างจริงจัง อินโดนีเซียมีเกาะเป็นพันเกาะ กระจายจาก ศูนย์อำนาจเดิมไปยังท้องถิ่น ขจัดความไร้ประสิทธิภาพโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม ในการกำกับควบคุมการเลือกตั้ง นี่คือการปฏิรูปของเขา

มาดูประเทศไทย เทียบกับเขา เวลาที่เขาจะปฏิรูป เขาเลือกคนที่ดีที่สุด อย่าง ดร.ศรี มุลยานี อินทราวาตีมาเป็น รัฐมนตรีคลัง (เป็นรัฐมนตรีคลังหญิงนักปฏิรูปของอินโดนีเซีย วัย 47 ลาออกจากตำแหน่งไปเป็นกรรมการ ผู้จัดการธนาคารโลก ซึ่งประธานาธิบดีสุสีโล บัมบัง ยุทโธโยโนกล่าวว่า "เธอทำงานหนักทั้งด้านการวางนโยบายคลังและการปฏิรูปเศรษฐกิจ ยามเมื่อบ้านเมืองเผชิญกับวิกฤต ก็เป็นเธอที่ช่วยประคองเศรษฐกิจเอาไว้")

ประเทศ อื่นขวนขวายหาคนดีมาทำงานบริหารประเทศ ประธานาธิบดีลี กวน ยู กล่าวว่า เขานั้น ไม่สนใจว่ามาจากพรรคไหน ขอคุณภาพและทำเพื่อสิงคโปร์ แต่ประเทศไทยเราสร้างนวัตกรรม มีการสร้างระบบตัวแทนมาบริหารประเทศ แม้จะอยู่ในบริษัท บริษัทยังไปเลย แล้วประเทศจะเหลืออะไร ขณะที่ภาคประชาชนอ่อนแออย่างยิ่ง ได้แต่มองตาปริบ ๆ ได้แต่บ่น วิพากษ์วิจารณ์ แต่ไม่เคยคิดที่จะเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง ปกป้องประโยชน์ของบ้านเมืองได้เลย

ฉะนั้นคนจะมาปกป้องบ้านเมือง ต้องพยายามให้เกิดการตื่นตัวทางการเมืองในภาคประชาชน ต้องพยายามให้คนดี ๆ ที่มีความสามารถเข้าสู่การเมือง ไม่รังเกียจการเมือง กฎเกณฑ์ไม่ดีต้องเลิก คิด สิ่งใหม่ ๆ ขึ้นมา หากมีคนไม่ดี สิ่งดี ๆ ไม่มีทางเกิด

ประการที่สาม อินโดนีเซียปฏิรูปภาคเศรษฐกิจจริงจัง ในปี 2540 มีหนี้รุงรังเกิน 100% ต่อจีดีพี ดร.ศรี มุลยานี ตัดงบฯที่ไม่จำเป็น ทำการคลังเพื่อสังคม พัฒนาประเทศเขา วันนี้ฐานะการคลังเขาเข้มที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง มาดูที่ไทย การปฏิรูปเศรษฐกิจ ผมมองว่าหากต้องการฟื้นคืนแบรนด์ไทยแลนด์ การสร้างความเข้มแข็งจากภายในเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เมื่อก่อนอำนาจซื้อต่ำ มาตรการเติบโตหันไปพึ่งต่างประเทศ แต่ละเลยความเข้มแข็งในประเทศ โครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจโตแต่เปราะบาง พอมีวิกฤตก็กระทบทันที การสร้างความเข้มแข็งภายในต้องเกิด เพื่อสร้างดุลยภาพนอก-ใน

แต่การสร้างความเข้มแข็งคือการสร้างฐาน เจดีย์จากล่างสู่บน คนฐานรากรู้ปัญหา เขามีส่วนร่วม จึงจะแก้ได้ แต่ถึงจุดจุดหนึ่งแม้จะมีการสร้างเครือข่าย สร้างผู้นำชุมชน แต่จะมีเพดานของมันคือศักยภาพของผู้นำชุมชน พลังแห่งความสามารถ แม้ผู้นำชุมชนเหล่านี้มีเครือข่ายทั่วไป ประเทศหากมีความสามารถจำกัด การก้าวกระโดดก็จำกัด ทำได้ยากยิ่ง เพราะความรู้มีจำกัด รู้เรื่องชุมชน แต่ไม่รู้เรื่องเศรษฐกิจประเทศ ไม่รู้เท่าทันโลก ไม่รู้ว่ารัฐบาลจะทำอะไร โครงการต่าง ๆ ที่จะทำในอนาคต ไม่รู้ว่าอันไหนจะดีพอ อาจจะมีบางชุมชนที่ทำได้ ดังนั้นต้องมีงบประมาณยกระดับเขา ให้มีความรู้ในการบริหารโครงการ ความรู้ให้ทันโลก ความรู้ในการจัดการสมัยใหม่ ซึ่งจำเป็นมาก ๆ

นอกจากนี้การเชื่อมโยง กับสถาบันการศึกษา ปัญญาอยู่ที่มหาวิทยาลัย ทำอย่างไรมาเชื่อมโยงกับชุมชน ขณะที่ภาคเอกชนที่แข็งแกร่ง แต่ภาคเอกชนมองว่าเขาไม่ใช่ภาคประชาชน ทั้ง ๆ ที่เป็นภาคเดียวกัน การเสียภาษีเท่านั้นคือหน้าที่ของเขา จริง ๆ ไม่ใช่ เพราะการพัฒนาที่คุณได้รับการส่งเสริมการลงทุน เอามาเชื่อมโยงกับภาคประชาชน ชุมชน ในแง่ปัญญา เทคโนโลยี การลงทุนให้สังคม สาธารณสุข การศึกษา ทำไมทำไม่ได้ ผมพยายามเชิญหน่วยงานเอกชนมาคุยกัน ทำไมภาคเอกชนไม่รวมกลุ่มเกื้อกูลภาคประชาชน

ทั้งนี้เพราะจิตสำนึกมี ไม่เพียงพอ

การแก้ไขปัญหาความยากจน ต้องให้บริการแก่ภาคประชาชน การลงทุนในการศึกษา สาธารณสุข แต่ทั้งยุทธศาสตร์และงบประมาณมันอ่อนด้อยยิ่ง ทำให้การแก้ปัญหานี้คงยาก ดังนั้นถ้าไม่ปฏิรูปการคลังเพื่อหารายได้เพิ่ม คุมรายจ่าย คลังรู้ดีว่าจะปฏิรูปการคลังอย่างไร อยู่ที่ความกล้าที่ต้องตัดสินปฏิรูปเดี๋ยวนี้ ไม่งั้นจะไม่มีเงินมาดูแลคนยากจน จะเอาเงินที่ไหนมาลงทุนสิ่งเหล่านั้น รัฐสวัสดิการที่ฝันจะทำไม่มีทางทำได้

สร้างความสามารถแห่งอนาคต

นอก จากนี้ไทยต้องปฏิรูปในเรื่องความสามารถแห่งอนาคตของประเทศไทย เอเชียกำลังเติบโต นี่คือโอกาส ประเทศต่าง ๆ ไม่มีอาหาร ไทยเป็นประเทศเกษตร ขาดเพียงการต่อยอด สร้างมูลค่า แต่ไม่ใช่ต่อยอดด้วยความอุดมทางทรัพยากร แต่ต่อยอดทางปัญญา นวัตกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เราจะได้อย่างไร ไม่ใช่ส่งออกข้าวสูงสุด วันนี้เวียดนามนำหน้าไปแล้ว วันนี้การปฏิรูปเกษตร การแปรรูปอาหารต้องมาแล้ว การชลประทานต้องปฏิรูปแล้ว

ดร.สมคิดกล่าว ย้ำว่า ตรงไหนคือการปฏิรูปสิ่งเหล่านี้ เรื่องนวัตกรรมวางรากฐานหรือยัง จะสร้างสิ่งเหล่านี้จากไหน การศึกษาต้องมาก่อนเลย การเรียนคือการเรียนรู้ ไม่ใช่ท่องจำ ต้องทันโลก เข้าถึงแหล่งข้อมูล นโยบายไอซีทีคืออะไร...

เด็ก ไทยมีรากไหม ความเป็นไปของสังคมไหม ระบบการศึกษาต้องรู้จักการต่อราก รู้คุณธรรม รู้ประวัติศาสตร์ ปรัชญา 3 ข้อนี้ต้องถามว่าคุณภาพการศึกษาไทยมีหรือยัง หยุดพูดเรื่องเรียนฟรี ไม่มีประโยชน์ อยู่ที่ว่าคุณเรียนอะไร...วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นสิ่งสุดท้ายที่เมืองไทยสนใจ เมืองจีนประกาศแล้วว่าจะเป็นผู้นำในนวัตกรรม เขาจะลงทุนในเทคโนโลยีแห่งอนาคต

วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต้องลงถึง ประชาชนคุณมีการศึกษา มีเทคโนโลยี คุณจะมีนวัตกรรม มันเหมือนไข่กบ ถ้ามันเกิดก็จะมาเยอะแยะ มีบริษัท เกิดมาเป็นล้านบริษัท ฉะนั้นการวางผู้ประกอบการให้เกิดขึ้นต้องสร้างวางรากฐาน ปัจจุบันมี สสว. มีธนาคาร เอสเอ็มอี แต่ขับเคลื่อนไม่ได้ หากทำให้ถูกต้อง เอสเอ็มอีเกิด การขับเคลื่อนอยู่ที่ภาครัฐที่จะจัดการให้องค์กรเหล่านี้ขับเคลื่อนอย่างไร ใช้นวัตกรรมในการขับเคลื่อน

นั่นหมายถึงต้องเริ่มปฏิรูปข้าราชการ ขจัดทุจริตคอร์รัปชั่น ปฏิรูปกฎหมาย ต้องรื้อใหญ่

นี่คือการปฏิรูป เศรษฐกิจแห่งอนาคต

วันนี้เมืองไทยต้องการผู้นำอย่างรัฐบุรุษ ทำทุกอย่าง อุทิศทุกอย่างให้เกิดประโยชน์อย่างจริงจังเพื่อประเทศ ไม่คำนึงพวกพ้อง ทำด้วยความเมตตาธรรม คุณภาพ แต่ผมไม่เชื่อว่าเมืองไทยจะขาดผู้นำแบบนี้ ผมคิดว่าเมืองไทยมี ต้องค้นให้เจอ หากไม่มี อนาคตการฟื้นไทยแลนด์แบรนด์ไม่เกิด แต่ผมไม่เชื่อ เราทำได้ ที่สุดแล้วคนไทยจะหันกลับมา

"ที่ผมกล่าวมาเพื่อบอกว่า อดีตที่ผ่านมา ถึงวันนี้เราถึงจุดเสื่อม มองการเมือง การศึกษา มองไปรอบด้าน เราอ่อนแอจริง ๆ ต้องปฏิรูปประเทศไทยอย่างจริงจัง"

view