สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

โฉนดชุมชน-ภาษีที่ดินเกมกระจายรายได้

จาก โพสต์ทูเดย์

ถ้ารัฐบาลทำไม่ได้จริง โฉนดชุมชนและภาษีที่ดินก็จะถูกมองเป็นแค่ “เกม” หนึ่งที่รัฐบาลพยายามแก้ปัญหาทางการเมือง เพื่อความอยู่รอด

โดย...ทีมข่าวการเงิน

โจทย์หนึ่งที่รัฐบาลกำลังตามแก้คือการกระจายการถือครองที่ดิน เพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคม

เมื่อทุกกระแสสังคมตีความแล้วว่า เหตุการณ์ชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงที่ลุกลามบานปลายเป็นปัญหาเรื่องความยากจน

แม้เรื่อง “ที่ดินทำกิน” จะถูกซุกอยู่ใต้พรมมานาน แต่ก็ไม่เห็นว่ารัฐบาลไหนจะเปิดฉากแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม

เมื่อข้อมูลที่ไปถึงมือรัฐบาล สะท้อนว่า ชาวไร่ชาวนาในประเทศเกษตรกรรมอย่างไทย กลับไม่มีผืนดินทำกินเป็นของตัวเอง มีคนไทยแค่ 10% ของคนทั้งประเทศ เป็นผู้ถือครองที่ดินขนาดใหญ่มากกว่า 100 ไร่

ถ้าเป็นนักการเมือง นักธุรกิจ หรือผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นก็เรียกได้ว่าเป็น “แลนด์ ลอร์ด ออฟ สยาม”

ส่วนคนอีก 90% หรือ 55.8 ล้านคน เป็นผู้ถือครองที่ดินน้อยกว่าหรือเท่ากับ 1 ไร่เท่านั้น

การนำที่ดินแค่ 1 ไร่ ไปเพาะปลูกข้าวหรือผลไม้ ก็แทบจะไม่ได้อะไรเป็นกอบเป็นกำ

ข้อมูลในมือรัฐบาลยังพบว่าเกษตรกรไม่มีที่ดินทำกินคิดเป็น 42.36% ของครัวเรือนภาคเกษตรทั้งหมด

ขณะที่ปัญหาที่ดินของคนจนในเมืองก็หนักหนาสาหัสไม่แพ้กัน

เมื่อรัฐบาลพบว่าชุมชนแออัดทั่วประเทศ 6,334 ชุมชน มีปัญหาเดือดร้อนในการอยู่อาศัยอย่างน้อย 728,639 ครัวเรือน หรือประมาณ 2.9 ล้านคน

เท่ากับว่างานนี้รัฐบาลกำลังเผชิญกับงานช้าง เพราะการแก้ปัญหาที่ดินเกี่ยวข้องกับคนนับล้านๆ เหมือนกับการ เขยื้อนภูเขาไฟหลายลูกพร้อมๆ กัน

ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เคยเปิดฉากโหมโรงเรื่องที่ดินด้วยการอนุมัติเงินชดเชยการทำประโยชน์ในที่ดิน แก่ยายไฮ ขันจันทา และคณะที่ได้รับการเวนคืน อย่างไม่เป็นธรรม จากการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยละห้า ต.นาตาล จ.อุบลราชธานี ตั้งแต่เมื่อ 30 ปีก่อน

นายอภิสิทธิ์ลงทุนนั่งเฮลิคอปเตอร์บินไปจ่ายเงินถึงมือยายไฮเป็นเงิน 4.9 ล้านบาท เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2552

แต่หลังจากนั้น “ชุดของนโยบาย” เรื่องที่ดินทำกินก็เงียบหายไป กระทั่งเกิดปัญหาทางการเมือง ทำให้รัฐบาลอภิสิทธิ์หันมาเร่งรัดนโยบายโฉนดชุมชนอีกครั้ง

เมื่อ “วอร์รูม” ของรัฐบาลที่ควบคุมโดย นายถาวร เสนเนียม รมช.มหาดไทย ในช่วงสถานการณ์เสื้อแดงยึดราชประสงค์ ได้ส่งสายสืบเข้าไปแฝงตัวในม็อบเพื่อสอบถามความเดือดร้อนที่ซ่อนอยู่

เป็นความพยายามพลิกเกมด้วยการ “แยกปลาจากน้ำ”

หมายถึงการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ ไม่ใช่เหมารวมว่าม็อบคือคนที่รัก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และถูกจ้างมา

เป็นการใส่ตะแกรงร่อนปัญหาให้ละเอียดมากขึ้น เพื่อแก้ได้อย่างตรงจุดและต้องทำต่อเนื่อง

หลังเหตุการณ์สงบลงรัฐบาลก็เดินเครื่อง โดยให้ คุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นมือเชื่อมต่อโครงข่ายองค์กรชุมนุมทั่วประเทศได้อย่างสอดคล้อง เป็นแม่เหล็กดูดความร่วมมือเข้ามา

ส่วนนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ถอยฉากจากการดูแลกรมประชาสัมพันธ์ ก็ฉีกตัวเองออกไปเป็นตัวเดินเกมทางด้านกฎหมายตามถนัด

โดยโมเดลโฉนดชุมชนที่รัฐบาลวางเอาไว้ คือการนำที่ดินสาธารณประโยชน์ ที่ดินภาครัฐ ที่ดินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือที่ดินที่มีข้อพิพาทเรื่องการพิสูจน์สิทธิ มาหาทางออกร่วมกันกับชาวบ้าน

โดยอาจมีการออก “หนังสืออนุญาตให้ชุมชนร่วมกันบริหารจัดการการครอบครองและใช้ประโยชน์ใน ที่ดินของรัฐเพื่อความมั่นคงในการอยู่อาศัย” ให้แก่ชุมชน

เมื่อชุมชนได้รับสิทธิแล้ว ก็ต้องมีหน้าที่ดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ป่าไม้เอาไว้ไม่ให้ถูกรุกรานทำลาย ควบคู่กันไป

โฉนดชุมชนจึงเป็นโมเดลแรกของการแก้ปัญหาในการยังชีพของเกษตรกรไทย ที่ฝังรากลึกจนขุดเท่าไหร่ก็ไม่สิ้นสุด

เงื่อนไขในการออกโฉนดชุมชน คือให้ทุกคนสามารถเป็นเจ้าของร่วมกัน สามารถใช้เป็นมรดกตกทอดถึงลูกหลาน แต่ห้ามทำการขายที่ดินแก่บุคคลภายนอกชุมชน

สมาชิกทุกคนต้องใช้ประโยชน์ในที่ดินอย่างต่อเนื่องไม่ปล่อยให้ทิ้งร้าง ว่างเปล่า และทำการขายเปลี่ยนมือที่ดินให้แก่คนในกลุ่มได้โดย ต้องผ่านคณะกรรมการพิจารณา

เป้าหมายของรัฐบาลไม่เพียงแต่จะต้องการ “ปักหมุด” ให้ที่ดินอยู่ในการครอบครองของชุมนุมต่อไปแล้ว ยังเปิดโอกาสให้ใช้เป็นเอกสารในการจำนอง กู้ยืมเงิน เพื่อใช้ประโยชน์ในทางเกษตรและครัวเรือน

แต่การนำไปกู้ต้องเปิดกองทุนของชุมนุมเอง เพื่อป้องกันการถูกยึดที่ดินจากสถาบันการเงิน หรือเจ้าหนี้นอกระบบ

โดยนายกรัฐมนตรีรับปากว่าจะเดินเครื่องโฉนดชุมชนก่อน 30 พื้นที่ ภายใน 2-3 เดือนนี้

โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกับประชาชนในพื้นที่ พิจารณาว่ามีที่ดินส่วนใดเหลือพอจะมาจัดเป็นโฉนดชุมชนบ้าง

รัฐบาลจะตั้ง สำนักงานโฉนดชุมชนในวันที่ 5 ก.ค.นี้ เพื่อให้เข้ามาดำเนินการจัดสรรที่ดินตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ผ่านงบประมาณ 167 ล้านบาท

ขณะที่ “อีกขาหนึ่ง” ของรัฐบาล คือปั๊มโมเดลการเก็บภาษีที่ดิน เพื่อสร้างความเป็นธรรมระหว่างคนรวยกับคนจน โดยให้นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง เป็นคนเดินเครื่อง

ถือเป็นการเปิดแนวรุกสองแนวภายในเวลาที่จำกัดจำเขี่ย!!!

ถ้านโยบายออกโฉนดชุมชน หวังผลทางการเมืองกับชาวบ้านกลุ่มรากหญ้าที่ได้รับความเดือดร้อน

นโยบายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หวังผลกับกลุ่มเอ็นจีโอและเครือข่ายภาคประชาชน ที่เป็นหัวหอกของกลุ่มเสื้อแดงในต่างจังหวัด โดยเฉพาะที่ จ.เชียงใหม่ ศูนย์กลางอาณาจักรของคนเสื้อแดง

ขณะนี้ภาษีที่ดินอยู่ในขั้นตอนของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา เนื้อหาของกฎหมาย

คาดว่าภาษีที่เก็บจากที่ดินทั่วไปที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ รวมถึงกลุ่มแลนด์ลอร์ด จะอยู่ที่ 0.5% ของราคาประเมิน ส่วนที่อยู่อาศัยก็ประมาณ 0.1%

ขณะที่ภาคเกษตรกรรมรายย่อยจะได้รับการยกเว้น เพราะเกรงปัญหาทางการเมือง

นโยบายโฉนดชุมชนน่าจะไหลลื่นด้วยตัวเอง เพราะงานนี้ชาวบ้านได้ประโยชน์เต็มๆ ไม่น่าห่วง

แต่ที่รัฐบาลกังวลลึกๆ คือเรื่องภาษีที่ดิน หากอธิบายไม่ดีมีหวังถูกพรรคเพื่อไทยหรือคนเสื้อแดงนำไปตีปี๊บว่าเป็นการ เก็บภาษีคนจน
หากกฎหมายภาษีที่ดินผ่าน รัฐบาลจะได้สองต่อ คือมีรายได้เข้าหลวง 2.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะทำให้รัฐบาลกลางลดภาระในการส่งรายได้ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เหมือนทุกวันนี้

ขณะเดียวกัน นายกรณ์ยังจะกันเงิน 2% ของรายได้หรือประมาณ 500 ล้านบาท ในการตั้ง “ธนาคารที่ดิน” เอาไว้รับซื้อที่ดินที่ผู้ถูกเก็บภาษีไม่อยากแบกรับภาระไว้ มากระจายการถือครองให้คนยากคนจนอีกทอด

งานนี้รัฐบาลอภิสิทธิ์เอาจริงกับปัญหาเรื่องที่ดิน ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนการปรองดองแห่งชาติ

แต่รัฐบาลต้องออกแรงมากกว่าครั้งใดๆ เพราะไม่มีมือไม้ สส.ในภาคเหนือและอีสานอย่างเพียงพอ กลายเป็นจุดอ่อนให้ฝ่ายตรงข้ามขยายผลและขยายแผลทางการเมืองได้ตลอด

ถ้าทำจริง ก็จะได้ใจคนรากหญ้า แต่ต้องใช้เวลาในการอธิบาย

สุดท้ายทำไม่ได้ โฉนดชุมชนและภาษีที่ดินก็จะถูกมองเป็นแค่ “เกม” หนึ่งที่รัฐบาลพยายามแก้ปัญหาทางการเมือง เพื่อความอยู่รอด

view