สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สมคิด สิงสง:เสนอยุติพรรคการเมืองชั่วคราว-ส.ส.จากสัดส่วนอาชีพ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

โดย : สมคิด สิงสง


เจ้าตำนานเพลง "คนกับควาย"เสนอเอาคนผิดมาลงโทษ-ยุติบทบาทพรรคการเมืองชั่วคราว-ส.ส.มาจาก สัดส่วนอาชีพ-นายกฯ รมต.มาจากเลือกตั้งและจากสัดส่วนอาชีพ"
ประสบการณ์ประเทศไทย "บทเรียนและบางข้อเสนอจากซับแดง"

กล่าว นำ

ช่วงเดือนพฤษภาคมปีนี้ (๒๕๕๓) มีปรากฏการณ์ใหม่เกิดขึ้นในประเทศไทยของเรา คือเกิดสถานการณ์สงครามกลางเมือง มีการวางเพลิงสถานที่ราชการและสถานประกอบการภาคเอกชน หลังผู้นำการชุมนุมทางการเมืองเข้ามอบตัวต่อสู้คดีที่ทางราชการแจ้งข้อกล่าว หา การวางเพลิงดังกล่าวสร้างความเสียหายในภาพรวมนับแสนล้านบาท

การวางเพลิงในที่นี้ สำนวนภาษาลาวภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยเรียกว่า "การจูดบ้านเผาเมือง" หรือ "จูดบ้านเผาเฮือน"

การจูดบ้านเผาเมืองมิได้เพิ่งเกิดมี ขึ้นในยุคสมัยนี้ หากแต่เคยปรากฏขึ้นแล้วในหน้าประวัติศาสตร์ยุคที่ผ่านมา เช่น กรณีพม่าเผากรุงศรีอยุธยา ปล้นสะดมทรัพย์สินเงินทอง สิ่งมีค่า กวาดต้อนผู้คนผู้ทรงภูมิปัญญา ช่างฝีมือ เป็นต้น นำไปเป็นประโยชน์แก่บ้านเมืองของเขา หรือการจูดบ้านเผาเมืองที่นครหลวงเวียงจันทน์ในยุคต้นรัตนโกสินทร์ จนราชอาณาจักรทั้ง ๓ ของลาวตกเป็นหัวเมืองขึ้นของสยาม เป็นต้น

การจูดบ้านเผาเมืองในประวัติศาสตร์เป็นการกระทำของชาติข้าศึกต่อ บ้านเมืองอื่น แต่สถานการณ์ในช่วงเดือนพฤษภาคมปีนี้ เป็นการกระทำของคนในชาติที่กระทำต่อบ้านเมืองของตนเอง หรือเป็นการจูดบ้าน เผาเมืองหรือเผาเรือนตนเอง

จึงมีคำถามว่า การจูดบ้านเผาเมืองครั้งนี้ ทำเพื่ออะไร? ใครได้ประโยชน์? ใครเสียประโยชน์?

การ เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.๒๔๗๕

๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๕ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ประวัติศาสตร์จารึกว่าเป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิ ราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

เรื่องนี้มีรายละเอียดที่ต้องขยายความ เล็กน้อย กล่าวคือหลังจากคณะราษฎร์ได้ทำการยึดอำนาจการปกครองเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ และกราบบังคมทูลขอให้เป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงเห็นแก่ความสงบเรียบร้อยของอาณา ประชาราษฎร์ ไม่ประสงค์ให้เสียเลือดเนื้อและความเสียหายแก่บ้านเมือง และเนื่องจากพระองค์ก็ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็น ระบอบประชาธิปไตยอยู่แล้ว จึงไม่ทรงขัดความปรารถนาของคณะราษฎร์ และได้พระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวรเมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และคณะราษฎร์จะมีพระราชประสงค์และจุดมุ่งหมายอย่างเดียวกัน แต่พระองค์ก็ไม่ทรงเห็นชอบด้วยกับหลักการและการกระทำของคณะราษฎร์ทั้งหมด โดยเฉพาะการออกกฎหมายป้องกันและรักษารัฐธรรมนูญ การตั้งศาลพิเศษตามกฎหมายดังกล่าว และการแต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่สอง ซึ่งทรงเห็นว่าเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

ประกอบกับทรงมีปัญหาด้านสุขภาพเกี่ยว กับสายพระเนตรเสื่อมทรุดลงเรื่อย จึงมีพระราชวินิจฉัยเด็ดขาดที่จะเสด็จต่างประเทศเพื่อผ่าตัดพระเนตร และตัดสินพระราชหฤทัยสละราชสมบัติในที่สุดเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๗ และประทับอยู่ที่ตำบลเวอร์จิเนียวอเตอร์ อันเป็นเขตชนบทชานกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ จนเสด็จสวรรคตด้วยพระหทัยวายโดยปัจจุบัน เมื่อวันที่วันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๔๘๔ โดยที่ไม่มีโอกาสได้เสด็จนิวัตกลับราชอาณาจักรไทยอีกเลย

มีการถวายพระเพลิงศพหลังจากสวรรคตได้ ๔ วัน ณ ฌาปณสถานโกลด์เดอร์สกรีน เหนือกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ นับเป็นงานพระบรมศพที่เรียบง่ายที่สุดนับแต่มีชาติไทยมา ไม่มีพระเมรุมาศ ไม่มีเสียงประโคมย่ำยาม ไม่มีแม้แต่พระสงฆ์สวดพระอภิธรรม สิริพระชนมายุได้ ๔๗ พรรษาเศษ อยู่ในสิริราชสมบัติเพียง ๙ ปี

ก่อนเสด็จสวรรคต ทรงมีพระราชหัตถเลขาประกาศสละราชสมบัติเมื่อวันที่ ๒ มีนาคม ๒๔๗๗ มีใจความสำคัญที่คนไทยควรจดจำไว้เป็นนิรันดร์...

"ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอัน เป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใดคณะใดโดยเฉพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร.."

(สำเนาภาพพระราชหัตถเลขาปรากฏตามท้ายบท ความนี้)

บทบาท ภาคพรรคการเมืองไทย

          นับแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.๒๔๗๕ เป็นต้นมา ถึงปีนี้นับได้ ๗๘ ปี มีพรรคการเมืองแจ้งจดทะเบียน และดำเนินงานทางการเมืองมาอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าจะไม่ราบรื่นตลอดระยะเวลาประวัติศาสตร์ แต่ในที่สุดก็เข้าสู่กระบวนการที่พรรคการเมืองมีบทบาทในการบริหารกิจการบ้าน เมืองเสมอมา กระทั่งถึงปัจจุบันนี้
          มาถึงวันนี้ ปีที่ ๗๘ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่พระเจ้าอยู่หัว ร.๗ ทรงสละราชสมบัติ พรรคการเมืองได้สร้างคุณูปการใดบ้างให้แก่ประเทศชาติของเรา?

          มีใครเห็นต่างไปจากนี้บ้างไหมถ้าเราจะสรุปว่า ตลอดระยะเวลา ๗๘ ปีที่ผ่านมา พรรคการเมืองยังไม่ได้ทำหน้าที่สถาบันทางการเมืองของประชาชน เป็นได้เพียงกลุ่มผลประโยชน์ที่เข้ามาเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ไปจากการบริหาร จัดการบ้านเมือง นับแต่กินตามน้ำไปจนถึงการวางแผนโกงกินบ้านเมือง จนพลิกฐานะเป็นอภิมหาเศรษฐีในชั่วระยะเวลาที่มีอำนาจบริหารบ้านเมือง

        ครอบงำระบบบริหารราชการ ทำให้ข้าราชการกลายเป็นเครื่องมือแสวงหาผลประโยชน์ของฝ่ายการเมือง แต่งตั้งโยกย้ายคนที่ไว้เนื้อเชื่อใจได้มานั่งในตำแหน่งที่สามารถกอบโกยผล ประโยชน์ไปจากการบริหารจัดการงบประมาณแผ่นดิน หาไม่แล้วต้องจ่ายมาก่อน ๓-๑๐ ล้านบาทเพื่อแลกตำแหน่งผู้บริหารระดับกลาง-สูงในระบบราชการ

บทบาท ของภาคประชาชน

          ระยะประวัติศาสตร์ ๗๘ ปีนับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.๒๔๗๕ ถึงแม้ว่าการบริหารจัดการบ้านเมืองจะตกอยู่ในมือของนักการเมือง แต่ปรากฏว่ามีบางช่วงบางตอนที่ถูกทหารยึดอำนาจ แต่ในที่สุดอำนาจการบริหารจัดการบ้านเมืองก็กลับคืนสู่มือนักการเมือง โดยทหารตำรวจบางนายต้องออกจากระบบราชการประจำมาเป็นนักการเมือง เพื่อแสดงบทบาทในฐานะนักการเมืองอย่างแท้จริง

          ในช่วงระยะที่ผ่านมา มีบทบาทของภาคประชาชนออกมาขับเคลื่อนไหวทางการเมืองหลายครั้ง เช่นกรณีคัดค้านการเลือกตั้ง พ.ศ.๒๕๐๐ กรณีเรียกร้องรัฐธรรมนูญจนบานปลายเป็นการขับไล่ ๓ เผด็จการทรราช เมื่อ ๑๔-๑๖ ตุลาคม ๒๕๑๖ กรณี ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ กรณีพฤษภาคม ๒๕๓๕ และ พฤษภาคม ๒๕๕๓ เป็นต้น

          สถานการณ์เหล่านั้น ไม่จำเป็นต้องนำรายละเอียดมากล่าวซ้ำ เชื่อว่าประชาชนไทยรับรู้มาแล้วอย่างชัดเจน

อนาคตประเทศไทย เรามีข้อเสนอดังต่อไปนี้

๑. เรายืนยันตามข้อเสนอระหว่างวันเสาร์-อาทิตย์ที่ ๑๐-๑๑ เมษายน ๒๕๕๓

     ๑.๑ การยุบสภา แม้จะกำหนดไว้ว่าเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี แต่ก็มิใช่เรื่องของนายกฯ จะใช้อำนาจโดยพลการ หรือไปเจรจาตกลงกับคนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด รัฐบาลต้องถามประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งก่อน

     ๑.๒ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ว่ามีข้อสรุปแล้วว่าจะแก้ไขใน ๖ ประเด็นนั้น (เราจะไม่ลงรายละเอียด เพราะถือว่าเป็นที่รับทราบทั่วไปแล้ว) ก็ล้วนแต่เป็นประเด็นที่สนองผลประโยชน์ของนักการเมือง ไม่มีเรื่องใดที่ เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของประชาชน ที่อ้างว่าหากแก้รัฐธรรมนูญ ๖ ประเด็นนี้แล้วจะทำให้เกิดความสมานฉันท์ ก็เป็นเพียงความสมานฉันท์ของนักการเมือง ประชาชนได้อะไรบ้างจาก ๖ ประเด็นที่นักการเมืองต้องการแก้ไข

    ทั้งประเด็นการยุบสภาและการแก้ไขรัฐธรรมนูญล้วนแต่เป็นปัญหาการแสวงอำนาจของ นักการเมืองนำไปสู่การเรียกร้อง ความขัดแย้ง จนถึงขั้นเอามวลชนมาต่อรอง ยั่วยุให้เกิดความรุนแรง  สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจสังคมและความสงบสุขของสังคมประเทศโดยรวม

   ในฐานะเกษตรกร คณะผู้ร่วมหารือเสนอว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องนำไปสู่การสร้างประชาธิปไตย อย่างแท้จริง สร้างอำนาจให้แก่คนส่วนใหญ่อย่างแท้จริง ซึ่งทำได้โดย

      ๑) การเลือกตั้ง ส.ส. ต้องมาจากสัดส่วนสาขาอาชีพ ให้เกษตรกรเลือกผู้แทนเกษตรกร ข้าราชการเลือกผู้แทนข้าราชการ พ่อค้าเลือกผู้แทนพ่อค้า ฯลฯ

      ๒) นายกรัฐมนตรี มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

      ๓) รัฐมนตรีมาจากการคัดเลือกของ ส.ส. แต่ละกลุ่มสาขาอาชีพ

     ๔) รัฐมนตรีในกระทรวงที่ไม่มีกลุ่มสาขาอาชีพ เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีเป็นผู้คัดเลือก

๒. เพื่อฟื้นฟูประเทศ เราขอเสนอให้ยุติบทบาทของพรรคการเมืองไว้ชั่วคราว และดำเนินการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลประชาชนตามข้อ ๑.๒ และให้รัฐบาลประชาชนและสภาผู้แทนประชาชน ทำการปฏิรูประบบและโครงสร้างการเมืองการปกครองเสียใหม่ ให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา ๔ ปี

๓. เพื่อสร้างบรรทัดฐานที่ดีงามให้กับสังคมไทย ต้องนำผู้ทำผิดกฎหมายในช่วงเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๓ และก่อนหน้านั้นมาลงโทษตามกฎหมายที่มีอยู่ มิให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่คนทั่วไป โดยเฉพาะนักการเมืองและข้าราชการที่สนับสนุนการก่อการร้ายทั้งโดยตรงและโดย อ้อม ทำรัฐไทยให้เป็นนิติรัฐอย่างแท้จริง

---------

หมายเหตุ : จาก สมคิด สิงสง และคณะผู้เริ่มการก่อตั้งมูลนิธิคนกับควาย www.somkhitsin.net

view