สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

พลังดนตรีเยาวชนไทยในเวทีโลก‏

จากประชาชาติธุรกิจ

เยาวชนไทยวงดนตรีเอื้อมอารีย์ (The Aum-Aree Ensemble) เตรียมโชว์ศักยภาพด้านดนตรี สร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทยบนเวทีโลกอีกครั้ง โดยเป็นหนึ่งในวงดนตรีจากทั่วโลกที่เข้าร่วมแสดงดนตรีในงานประชุมดนตรีระดับ โลกครั้งที่ 29 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1- 6 สิงหาคมนี้ ณ นครปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นอีกเวทีหนึ่งที่จะเปิดโอกาสให้โลกได้รู้จักเพลงไทย และดนตรีไทย โดยอาศัยพลังความพากเพียรพยายามและความสามารถทางดนตรีของเด็กไทยอย่างแท้ จริง   

ประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้นเมื่องานแสดงผลงานทางด้านดนตรีในงานประชุมดนตรี ระดับโลก ครั้งที่ 28 ที่เมืองโบโลนญ่าประเทศอิตาลี 2 ปีต่อมาการจัดงานประชุมดนตรีระดับโลก ครั้งที่ 29 (29th World Conference of The International Society for Music Education, ISME 2010) เกิดขึ้นอีกครั้ง ซึ่งปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่1- 6 สิงหาคม 2553 ณ นครปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน  

พันตรีประทีป สุพรรณโรจน์ ผู้อำนวยเพลงในครั้งนี้กล่าวว่า การแสดงครั้งนี้เป็นเวทีของนักดนตรีที่สนใจเรื่องการศึกษาดนตรีอย่างแท้จริง จัดโดยสมาคมเพื่อการศึกษาดนตรีนานาชาติ (International Society for Music Education, ISME) มีการจัดงานทุก 2 ปีเวียนไปตามประเทศต่างๆ  ปีนี้เป็นปีที่ 2 ที่เราเข้าร่วมเราอยากโชว์ผลงานให้ชาวต่างชาติได้เห็นฝีมือเด็กไทยบ้าง โดยวงของเรามีจุดเด่นตรงเพลงไทยที่เป็นไทยเดิมนำมาเรียบเรียงในสไตล์สากล และใช้ฮาร์โมนี่ของดนตรีตะวันตก เราได้ส่งตัวอย่าง (Demo) ไปให้สมาคมฯ หลังจากนั้นก็ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมเป็น 1 ใน 300 วง จากกว่า 3,000 วงทั่วโลก ซึ่งปีที่แล้วเราส่งในนามวง Dr.Sax Chamber Orchestra ครั้งที่สองนี้เราส่งผลงานไปอีก เป็นวงรุ่นน้องใช้ชื่อวงดนตรีเอื้อมอารีย์ (The Aum-Aree Ensemble) ถือเป็นคลื่นลูกใหม่ที่เราสร้างกันขึ้นมา ครั้งนี้จะมีการแสดงของจะเข้ ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีไทยประเภทเครื่องสาย ที่นอกจากจะบรรเลงเดี่ยวในสไตล์ของตัวเอง ยังมีอีกรูปแบบคือการบรรเลงร่วมกับวงออเคสตร้าในลักษณะคอนแชร์โต้ (บรรเลงเดี่ยวจะเข้โดยวงออร์เคสตร้ารองรับ) ถือเป็นการยกระดับดนตรีไทยให้ไปสู่สากล และนักดนตรีไทยในฐานะนักดนตรีโซโล่ ในอนาคตอยากให้คนทั่วโลกพูดถึงดนตรีไทย ซึ่งถือว่าเป็นศิลปะชั้นยอดที่บรรพบุรุษของเราได้สร้างสิ่งเหล่านี้ไว้ให้ เหมือนเป็นสมบัติตกทอดไว้ให้ลูกหลานแล้วเราจะทำอย่างไรกับสิ่งที่บรรพบุรุษ ให้มา นั่นคือหน้าที่ของเราที่จะนำความรู้วิทยาการทางดนตรีจากชาติตะวันตกเข้ามา รับใช้เพลงไทยและทำให้นานาชาติเข้าใจความเป็นดนตรีไทยของเรามากขึ้น สำหรับเด็กทุกคนผมว่านี่เป็นโอกาสที่ดีที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิต เพราะโอกาสแบบนี้ไม่ได้มีเข้ามาง่ายๆ เด็กทุกคนคือต้นกล้าสำคัญในการทำนุบำรุงและอนุรักษ์ความเป็นไทย เด็กๆ เหล่านี้จะสามารถสานต่อแก่นแท้ของคนไทยให้ไปสู่สายตาของชาวโลก วันหนึ่งเมื่อพวกเขาเติบโตขึ้นเขาจะกลับมานึกถึงวันที่เขาได้เรียนรู้และ สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ
 
อรนาถ จันทรโอภากร  สาว น้อยที่เริ่มเล่นดนตรีไทยตอน ป.2 จากการชักชวนในกลุ่มเพื่อนๆ และเริ่มเล่นจะเข้ตั้งแต่อายุ 10 ขวบ พอได้มาเล่นจะเข้แล้วรู้สึกว่าเราเล่นเครื่องดนตรีชิ้นนี้ได้ดีกว่าเครื่อง อื่นที่เคยเล่นมา และรู้สึกว่าเหมาะกับเรามากที่สุดเหมือนคนที่รู้จักกันมาก่อน จึงเล่นมาเรื่อยๆ ถึงตอนนี้ 12 ปีแล้วค่ะ”
 
นางสาว อรนาถ จันทรโอภากร นักศึกษารางวัลพระราชทาน ระดับการศึกษาวิชาชีพ ประจำปีการศึกษา 2551 นักเดี่ยวจะเข้ของวงกล่าวว่า รู้สึกยินดีมากที่จะได้บรรเลงอีก โดยในครั้งนี้จะบรรเลงเพลงเดี่ยวจะเข้กับเครื่องประกอบจังหวะไทยในเพลง สุรินทราหู ซึ่งเป็นทางเพลงของอาจารย์สหรัฐ จันทร์เฉลิม โดยเป็นเพลงที่เคยใช้ประกวดมาก่อนและได้รับรางวัลผู้บรรเลงยอดเยี่ยมเหรี ญทอง อีกรายการหนึ่งคือการบรรเลงเดี่ยวจะเข้ร่วมกับวงออร์เคสตร้าในเพลงลาวแพนลำ เพลิน ตอนนี้ซ้อมกับวงทุกสัปดาห์และกำลังจะเพิ่มจำนวนวันแต่ละสัปดาห์ในการซ้อม แต่ส่วนตัวก็ซ้อมที่บ้านเองอยู่แล้ว ตอนนี้ทำงานและเรียนปริญญาโท (LLM, English Program คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) ด้วยก็ต้องแบ่งเวลาให้ดี   “ณ วันนี้ ถ้าไม่มีดนตรีเราจะเป็นคนแบบที่เป็นอยู่นี้ไหม การเล่นดนตรีทำให้เรารู้สึกว่าเราเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์มากขึ้น ดนตรีทำให้เรามีโอกาสได้ทำและได้คิดอะไรหลายอย่าง รู้สึกว่าชีวิตมีความหมายมากกว่าการตื่น-กิน-ทำงาน-นอน” ในฐานะรุ่นพี่เธอให้คำแนะนำกับรุ่นน้องที่อาจจะตื่นเต้นมากรู้สึกกดดันเวลา ที่จะแสดงว่า สิ่งที่จะช่วยได้ก็คือเราต้องซ้อมให้ดีมากๆ มากพอจนรู้สึกว่าพอใจมากที่สุด เมื่อพอใจในแบบนั้นได้ มันจะช่วยให้เราลดความกังวลลงได้เพราะในเรื่องของดนตรี การซ้อมคือสิ่งสำคัญที่สุดและต้องซ้อมอย่างมีสติในทุกตัวโน้ต ปรับแก้ในส่วนที่ควรต้องแก้ไข ต้องรู้ว่าตรงไหนควรต้องใส่ใจระลึกถึงเป็นพิเศษ  

ปุญญวีร์ มโนมัยพิบูลย์ “ครั้งนี้ผมเปลี่ยน จากผู้ตามมาเป็นผู้นำในกลุ่มเครื่องดนตรีเชลโล่ ทำให้ผมต้องซ้อมหนักมากขึ้น มีความรับผิดชอบมากกว่าตอนที่ไปอิตาลี ต้องเป็นที่พึ่งให้น้องๆ ต้องสอนเทคนิคที่ได้รับจากวง Dr.Sax ว่าเล่นยังไงถึงจะดี”   นายปุญญวีร์ มโนมัยพิบูลย์ (เจ) นักศึกษาชั้นปีที่ 1 ภาควิชาคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หนึ่งในสมาชิกจากวง Dr.Sax ผู้เข้าร่วมแสดงทั้งสองครั้งกล่าวว่าผมเล่นเชลโล่ทั้ง 2 รอบเลยครับ ตอนนี้ก็มาซ้อมกับวงทุกสัปดาห์และซ้อมด้วยตนเองที่บ้าน โดยแก้ไขในจุดที่เราไม่มั่นใจจริงๆ เจาะเฉพาะจุดให้มันออกมาดีที่สุด เพื่อให้มั่นใจในเพลงที่เล่น พยายามพัฒนาเทคนิคพิเศษและสอนให้กับน้องๆ ซึ่งส่วนใหญ่ผมก็ได้จากรุ่นพี่ครับ สำหรับน้องและเพื่อนทุกคนที่ได้ไปโชว์ครั้งนี้ขอให้ไปสนุกกับมันและขอให้ เก็บเกี่ยวประสบการณ์ในครั้งนี้ไว้ให้มากที่สุด เพราะมันอาจจะเป็นครั้งสุดท้ายของเราที่ได้ไปต่างประเทศและได้ไปเล่นระดับ โลกอย่างนี้  

ชนิษฐา จ่ายเจริญ “รู้สึกว่าเล่นดนตรีแล้วชอบ เราสามารถใช้ชีวิตอยู่กับดนตรีได้ตลอดทั้งวัน ไม่มีเบื่อเลย ตอนแรกครอบครัวไม่ค่อยสนับสนุน เพราะอยากให้เป็นหมอ เหมือนค่านิยมว่าเป็นหมอแล้วเป็นที่ยอมรับของคนในสังคม สุดท้ายพ่อแม่เห็นว่าเราทำได้ เราได้ทำในสิ่งที่เราชอบและสามารถทำได้ดีเลยได้รับการสนับสนุน”   นางสาวชนิษฐา จ่ายเจริญ (แคท) สาวน้อยไวโอลินผู้ทำหน้าที่หัวหน้าวง อายุ 18 ปี นักเรียนชั้นม.6 วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ตนเองเริ่มเล่นดนตรีครั้งแรกตอนอายุ 11 ปี เล่นไวโอลินและเคยเล่นขลุ่ยรีคอร์ดเดอร์แต่ชอบไวโอลินมากกว่าก็เล่นมา เรื่อยๆ จนมาสอบเข้ามาที่นี่และบ่มเพาะฝีมือตนเองประมาณ 6 ปี จนเลื่อนขั้นมาเรื่อยๆ และได้เข้าร่วมกับวงดนตรีเอื้อมอารีย์และได้ไปโชว์ในครั้งนี้   ′แคท′ ยังได้กล่าวถึงความรู้สึกของตนเองหลังได้เข้าร่วมวงว่าดนตรีช่วยพัฒนาตนเอง ได้จริงๆ อย่างน้อยเราก็ภูมิใจที่ความพยายามของเราทำให้เรามาถึงตรงนี้ ในอนาคตใฝ่ฝันไว้ว่าอยากเป็นนักโซโล่ต่อไป อยากสอนคนอื่น และทำงานในวงออร์เคสตร้าค่ะ    

ธนาภรณ์ เสถียรวารี  “ตอน เด็กๆ เห็นคุณปู่เล่นไวโอลิน ทำให้เราซึมซับและหลงเสน่ห์เสียงของไวโอลินไปโดยไม่รู้ตัว”   นางสาวธนาภรณ์ เสถียรวารี หรือ “แป้ง” ทำหน้าที่หัวหน้ากลุ่มไวโอลินแนวที่สองและผู้ช่วยหัวหน้าวงอายุ 18 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 1 วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ครั้งนี้ นอกจากเล่นดนตรีในวง หนูได้มีโอกาสแสดงเดี่ยวเป็นหนึ่งในสามคอนเสิร์ตเช่นเดียวกับแคท หนูเริ่มเรียนไวโอลินตั้งแต่การปูพื้นฐานตอนอยู่ ป.3 หนูรู้สึกว่าเสียงไวโอลินมีเสน่ห์ เล่นได้หลายอารมณ์มีทั้งเสียงสูงเสียงนุ่ม   ตอนนี้พยายามหาเวลาซ้อมให้มากขึ้น ซ้อมตรงจุดที่มีปัญหาและพยายามแก้ไขว่าเราจะทำออกมาให้ดีที่สุดได้ยังไง และเราทุกคนมั่นใจว่าเราจะต้องทำออกมาได้ดีแน่นอนคะ ในอนาคตอยากเป็นอาจารย์สอนดนตรีและขอบคุณผู้ใหญ่ทุกท่านที่ให้การสนับสนุน เป็นอย่างดี สำหรับเพื่อนๆ ทุกคนนี่คือโอกาสที่จะพิสูจน์ตนเองและพวกเราต้องทำให้ดีที่สุด หลังการแสดงผลงานครั้งนี้ทุกคนคงได้รับประสบการณ์หลายอย่าง ได้เจอกับนักดนตรีจากทั่วโลกและเหมือนเป็นการเปิดโลกให้ตนเองด้วยถือเป็น โอกาสที่ดีค่ะ แป้งกล่าวทิ้งท้าย   นับเป็นเวทีแห่งโอกาสและความภาคภูมิใจของกลุ่มเยาวชนในวงดนตรีเอื้อมอารีย์ ที่จะทำให้ทั่วโลกได้รู้จักเพลงไทย   ยกระดับเพลงไทยสู่สากล ด้วยพลังความสามารถทางดนตรีของเยาวชนไทย  

view