สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

รัฐสวัสดิการประชาธิปัตย์แผนสลายประชานิยมแม้ว

จาก โพสต์ทูเดย์

การหวังจะซื้อใจ “ชาวบ้าน” ด้วยสารพัดโครงการที่อัดฉีดไปถึงทุกกลุ่มในสังคม จึงเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงว่าอาจจะซ้ำรอยสิ่งที่ประชาธิปัตย์เคยคัดค้าน

โดย...ทีมข่าวการเมือง

เริ่มเดินหน้าชุดนโยบายซื้อใจรากหญ้าอย่างต่อเนื่อง กับล่าสุดการต่ออายุ 6 มาตรการ บรรเทาความเดือดร้อนช่วยเหลือค่าครองชีพชาวบ้านต่อไปอีก 6 เดือน พร้อมส่งสัญญาณดัน “รถไฟฟรี-รถเมล์ฟรี” เป็นมาตรการถาวร

ทว่ากลับกลายเป็นที่วิตกกับการเร่งโหม “โครงการประชานิยม” เดินตามรอยความสำเร็จที่พรรคไทยรักไทยแบบไม่เหลือฟอร์มเดิมที่ประชาธิปัตย์ เคยออกมาตั้งป้อมค้านหัวชนฝาสมัยเป็นฝ่ายค้าน แม้จะพยายามเลี่ยงบาลีว่าไม่ใช่ “ประชานิยม”

อีกด้านยังถูกโจมตีว่าเป็นเพียงแค่การเร่งหาเสียง “ตุนคะแนน” ไว้ล่วงหน้า สำหรับการเลือกตั้งครั้งที่กำลังจะมาถึงในเร็วๆ นี้ แต่สุ่มเสี่ยงกับการสร้างภาระการคลังให้กับประเทศต่อไปในระยะยาว และอาจถึงขั้นทำลายกลไกเศรษฐกิจที่มีตัวอย่างให้เห็นในหลายประเทศ

ลำพังแค่ 6 มาตรการ น้ำฟรี ไฟฟ้าฟรีรถเมล์ฟรี รถไฟฟรี ตรึงราคาก๊าซ และค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) ที่ต่ออายุออกไป 6 เดือน กับงบประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ดูจะเป็นเหตุเป็นผลกับประโยชน์ที่ชาวบ้านจะได้รับในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ

ทว่า การเสพติดความช่วยเหลือตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทำให้ยากต่อการ “ยกเลิก” แม้วิกฤตเศรษฐกิจจะคลี่คลายไปได้ระดับหนึ่ง แต่กลับไม่อาจมีพรรคการเมืองไหนกล้าพอที่จะตัดใจยกเลิก เมื่อรู้ว่าย่อมสะเทือนถึงคะแนนนิยมของพรรค

นั่นจึงนำมาสู่การดันมาตรการช่วยเหลือเหล่านี้เป็นเรื่อง “ถาวร” และขนานนามให้เป็น “รัฐสวัสดิการ” ซึ่งนอกจากจะเพื่อความแตกต่างกับสิ่งที่รัฐบาลไทยรักไทยทำมาในอดีตแล้ว ยังเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่พรรคประชาธิปัตย์พยายามสร้างเป็นจุดขาย

ตั้งแต่โครงการเรียนฟรี 15 ปี ที่แม้จะไม่ได้หวือหวาแต่ก็สามารถผลักดันจนสำเร็จ มาจนถึงการสานต่อ “รักษาฟรี” จากรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ มาจนถึงเงินอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่ประชาธิปัตย์ผลักดันจนสำเร็จ

ล่าสุดกับความพยายามลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ทั้งนโยบายปฏิรูปที่ดินทำกินเพื่อลดช่องว่าง การถือครองที่ดินผ่านกลไกกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และกองทุนธนาคารที่ดิน ท่ามกลางความคาดหวังปนไม่เชื่อน้ำยาว่ารัฐบาลจะแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ จริง

ปฏิเสธไม่ได้ว่าผ่านพ้นช่วงวิกฤตการเมืองมาได้แบบหืดจับ “รัฐบาล” สูญเสียต้นทุนไปหลายเรื่อง ทั้งจากการสลายการชุมนุมจนมีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บจำนวนมาก การจะอยู่ในตำแหน่งต่อไป และการกลับเข้ามาอีกครั้งในการเลือกตั้งครั้งหน้า ดูจะไม่ใช่เรื่องง่ายดาย
แม้ จะออกแรงพยายามอย่างหนัก แต่ “กระแสทักษิณ” ยังไม่จางหาย ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาวิเคราะห์แล้วส่วนสำคัญหนีไม่พ้นสารพัดโครงการประชา นิยมโดนใจ ที่ส่งตรงไปถึงชาวบ้านอย่างไม่เคยมีรัฐบาลไหนทำมาก่อน

ประชาธิปัตย์เองแม้จะเคยออกมาต่อต้านโครงการเหล่านี้ แต่เมื่อกลับมาเป็นรัฐบาลยังจำใจต้องเดินหน้าโครงการเหล่านี้ต่อไปแบบไม่ กล้ายกเลิก ทำได้เพียงแค่แต่งหน้าทาปากเปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนรายละเอียดโครงการเล็กน้อย

เห็นได้ชัดในช่วงนี้กับการที่รัฐบาลประชาธิปัตย์อาศัยจังหวะช่วงหลัง มรสุมการเมือง ผลักดันออกมาอย่างต่อเนื่อง หวังสร้างผลงาน สร้างคะแนนซื้อใจในหลายกลุ่มในสังคม และหวังให้ประชาชนลืมเลือนผลงานประชานิยมของทักษิณ

ล่าสุดกับการเตรียมขึ้นเงินเดือนข้าราชการ 5% ในปี 2554 กับงบประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ที่จะผูกพันต่อเนื่องจากนี้ไปเรื่อยๆ
นอกจากนี้ ยังเตรียมจัดสรรโบนัสข้าราชการประจำปี 2552 ในเดือน ต.ค.นี้ ที่จะมีข้าราชการกว่า 2 ล้านคน ได้โบนัสเฉลี่ย 4,000-5,000 บาท ต่อคน รวมงบประมาณทั้งสิ้น 1,000 ล้านบาท

ยังไม่รวมกับโครงการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ตามมาด้วยการแก้ไขปัญหาหนี้สินประชาชน จัดตั้งธนาคารเพื่อคนจน หรือไมโครไฟแนนซ์ ซึ่งมีประชาชนกว่า 1.5 ล้านคน ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ

ตามมาด้วยโครงการแก้ปัญหาหนี้สินของเกษตรกร กับการลดหนี้ครึ่งหนึ่ง พร้อมยืดระยะเวลาการชำระหนี้ออกไปอีก 15 ปี ไปจนถึงการอัดเม็ดเงิน 200-300 ล้านบาท ช่วยชาวนาที่ประสบปัญหาภัยแล้ง

สารพัดโครงการ ลด แลก แจก แถม ที่รัฐบาลออกมาในช่วงนี้ จึงไม่ใช่แค่การต่อยอดประชานิยมจากรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ แต่เป็นการผนึกกำลังระหว่าง “ประชานิยม” และ “รัฐสวัสดิการ” ให้เห็นว่าสิ่งที่เคยได้จากรัฐบาลทักษิณก็สามารถได้จากรัฐบาลนี้และได้ มากกว่า

แน่นอนว่าการต้องคอยแก้ปัญหาการเมืองความขัดแย้งช่วงที่ผ่านมา ทำให้สารพัดโครงการที่จะเป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจและแก้ปัญหาปากท้องช่วงที่ ผ่านมาไม่สามารถคืบหน้า ดังนั้นหลังคลื่นลมสงบรัฐบาลจึงเร่งออกนโยบายซื้อใจอย่างเต็มสูบ

ยิ่งในช่วงที่หลายฝ่ายเริ่มช่วงชิงจังหวะสร้างผลงานสร้างคะแนนนิยมในช่วง ที่การเลือกตั้งครั้งหน้าจะมาถึงเร็วแค่ไหน

ปัญหาสำคัญ คือการเดินหน้าโครงการต่างๆ เหล่านี้ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก ที่จะมีผลผูกพันต่อเนื่องระยะยาวที่รัฐบาลต้องแบกรับ และหลายโครงการถูกมองว่าจะเป็นการแทรกแซงกลไกเศรษฐกิจจนผิดเพี้ยนและเกิด ปัญหาในภายหลัง

การหวังจะซื้อใจ “ชาวบ้าน” ด้วยสารพัดโครงการที่อัดฉีดไปถึงทุกกลุ่มในสังคม จึงเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงว่าอาจจะซ้ำรอยสิ่งที่ประชาธิปัตย์เคยพร่ำบ่น คัดค้านในหลายๆ นโยบายประชานิยมเมื่อสมัยเป็นฝ่ายค้านเสียเอง

view