สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

100 ปี สำมะโนประชากร วันที่โลกเปลี่ยนเร็ว

จากประชาชาติธุรกิจ

กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ  มีกำหนดจะจัดทำโครงการสำมะโนประชากรและเคหะ พ.ศ.2553 เป็นครั้งที่ 11 และเป็นวาระครบรอบ 100 ปีของการจัดทำสำมะโนประชากรของประเทศไทย  โดยเริ่มเก็บข้อมูลในเดือนกันยายน 2553 
 เมื่อวันที่ 2 กรกฏาคม 2553 ที่ผ่านมา สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้เปิดประชุมมอบนโยบายและเปิดตัวโครงการสำมะโนประชากรและเคหะ พ.ศ.2553 โดยมีนายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ณ โรงแรมรามา การ์เด้นส์ ถนนวิภาวดี โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด บุคลากรจากหน่วยงานราชการ ภาคเอกชน เข้าร่วมงาน
 นายอภิสิทธิ  เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การจัดทำสำมะโนประชากรและการเคหะ เป็นเรื่องที่มีความสำคัญและเป็นประโยชน์ต่อประเทศ และต่อประชาชนอย่างมาก เพราะการพัฒนาประเทศที่ดี จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีฐานข้อมูลที่แม่นยำ ครอบคลุมมากที่สุดเท่าที่จะทำได้  ซึ่งการจัดทำสำมะโนครั้งนี้ไม่เพียงแต่ทำให้เห็นภาพลักษณ์หรือข้อมูลเกี่ยว กับประชากรที่จะใช้ในการกำหนดนโยบาย วางแผน ไม่ว่าจะด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ระดับประเทศ ระดับจังหวัด หรือในระดับท้องถิ่นเท่านั้นแต่ยังเป็นข้อมูลที่มีคุณภาพในการที่จะจัดทำ โครงสร้างพื้นฐาน บริการสาธารณะที่จะเอื้ออำนวยประโยชน์สุขให้กับประชาชนได้อย่างมีเป้าหมาย
นอกจากนั้นในภาคเอกชนก็จะสามารถใช้ข้อมูลในการตัดสินใจในทางธุรกิจ การค้า การบริหารกิจการได้อีกด้วย
โดยการทำสำมะโนประชากรแบบสมัยใหม่ของ ประเทศไทยนั้นเริ่มต้นครั้งแรกในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าพระเจ้าอยู่ หัวรัชกาลที่ 5 ซึ่งขณะนั้นดำเนินการใน 17 มณฑลเขตบริหาร ในปี พ.ศ.2454 พบว่าประเทศไทยมีประชากรอยู่ 8,131,247 คน ส่วนครั้งล่าสุด ในการสำรวจข้อมูลครั้งที่ 10 ในรัชกาลปัจจุบันพ.ศ.2543 พบว่าประเทศไทยมีประชากรรวมทั้งสิ้น 60,916,441 คน
 การจัดทำสำมะโนครั้งนี้ ถือว่าทำในโอกาสที่เป็นมงคล ครบวาระ 100 ปีของการทำสำมะโนประชากร ซึ่งเป็นพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ริ เริ่มทำสำมะโนประชากรขึ้น และในรัชสมัยปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระหฤทัยและทรงตระหนักในความสำคัญของเรื่อง การจัดทำสำมะโนประชากรเป็นอย่างยิ่ง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า โปรดกระหม่อม พระราชทานพระบรมราชโอกาสให้เจ้าหน้าที่สำนักงานสถิติได้เข้าเฝ้าเพื่อกราบ บังคมทูลสัมภาษณ์ในการจัดทำสถิติ และการจัดทำสำมะโนถึง 2 ครั้ง คือ ปี 2533 และปี 2543  
 เพราะฉะนั้นการดำเนินโครงการสำมะโนประชากร และเคหะในครั้งนี้ นอกเหนือจากเป็นการทำสำมะโนตามวาระทุก 10 ปี ยังเป็นโอกาสที่พี่น้องประชาชนชาวไทยจะได้น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และร่วมแรง ร่วมใจสืบสานงานสำมะโนประชากรให้บรรลุพระราชประสงค์   รัฐบาลเองก็ได้ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องของข้อมูลที่มีความแม่นยำในทาง นโยบาย และโดยส่วนตัวถือว่าขณะนี้ข้อมูลที่เกี่ยวกับประชากรจะมีความสำคัญมากยิ่ง ขึ้น  เพื่อประเมินและวางแผนที่ถูกต้องแม่นยำ
 ที่กล่าวเช่นนี้เพราะจะเห็นได้ว่าในยุคปัจจุบันประชาชนทุกคนล้วนแล้ว แต่มีความคาดหวัง ในบริการสาธารณะที่ครอบคลุมทั่วถึง รวมไปถึงสังคมไทยก็ให้ความยอมรับในเรื่องของสิทธิขั้นพื้นฐานและสวัสดิการ ของประชากรทุกคน
 นายอภิสิทธิ กล่าวต่อไปว่า คำว่าประชากรในที่นี้ ไม่ใช่เฉพาะประชาชนไทย แต่ระยะหลังเราก็ยอมรับหลักการในการที่จะให้สิทธิและสวัสดิการแก่ประชากรที่ ไม่ใช่คนไทยแต่มาอาศัอยู่ในประเทศไทยด้วย ฉะนั้นแม้ว่าหน่วยงานกระทรวง ทบวง กรม ต่างๆ จะมีการจัดทำสถิติอยู่ตลอดเวลา เช่น กระทรวงพาณิชย์ทำสถิติเกี่ยวกับการค้า การส่งออก การนำเข้า กระทรวงเกษตรก็ต้องมีการจัดทำสถิติทางด้านเกษตรกรรม การเลี้ยงสัตว์ หรือกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณะสุข มีนโยบายสำคัญในการจัดการบริการสาธารณะ บริการสังคมให้ ก็ต้องมีการสำรวจตลอดเวลา
 แต่ว่าการสำรวจแต่ละครั้ง โดยเฉพาะการสำรวจเพื่อรองรับการปฏิบัติตามนโยบายในแต่ละโอกาสก็มีปัญหาอยู่ เสมอ เช่น ข้อจำกัดในเรื่องของเวลา หรือเมื่อรัฐบาลตัดสินใจดำเนินการทำโครงการประกันรายได้เกษตรกร ก็ต้องมีการจัดทำทะเบียนเกษตรกรในเรื่องของการเพาะปลูกพืชพรรณต่างๆที่จะ เข้ามาสู่โครงการประกันรายได้ หรือเมื่อรัฐบาลมีนโยบายเรื่องของผู้สูงอายุ คนพิการ ก็จะต้องจัดให้มีการขึ้นทะเบียน แต่ว่าช่วงเวลาที่มีการจัดทำสถิติหรือมีการเก็บตัวเลข หรือมีการสำรวจในลักษณะนั้นก็จะมีจุดอ่อนอยู่มาก นอกเหนือจากข้อจำกัดในเรื่องของเวลาแล้วยังมีอีก 2 ประการ
 ประการแรกคือ แรงจูงใจในช่วงที่ไปสอบถามข้อมูล อาจจะมีส่วนทำให้ข้อมูลนั้นมีการบิดเบือนได้ เพราะเวลามีการไปสอบทานมักจะพบว่า เอาเข้าจริงตัวเลขไม่ได้สูงหรือไม่ได้ต่ำอย่างที่มีรายงานเข้ามา ซึ่งก็จะอาจจะเป็นปัญหาของเจ้าหน้าที่หรือ อาจจะเป็นปัญหาของผู้ตอบหรือผู้ให้ข้อมูล ซึ่งอาจจะมีแรงจูงใจเป็นการเฉพาะ
 ประการที่สอง คือ หลายนโยบายในปัจจุบันที่ต้องอาศัยการให้พี่น้องประชาชนที่เกี่ยวข้องมาแสดง ตัว หรือมาขึ้นทะเบียน ก็จะมีข้อจำกัด ที่ชัดเจนที่สุด คือ กรณีของผู้สูงอายุและคนพิการ ซึ่งอาจจะไม่ได้รับการอำนวยความสะดวกในการที่จะมาแสดงตนหรือมาขึ้นทะเบียน แล้วมีผลทำให้เสียสิทธิไปเป็นต้น
 ซึ่งสิ่งเหล่านี้การจัดทำสำมะโนประชากร จะเป็นฐานข้อมูลที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการที่รัฐบาลจะสามารถนำไปใช้ ในการประเมิน วางแผนสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับประเทศ เช่น ถ้าเราเชื่อว่าผู้สูงอายุโดยนับผู้มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป จะต้องมีสิทธิขั้นพื้นฐาน บางประการ เราก็ควรจะมีความชัดเจนว่า ในแต่ละปี หรือในแต่ละขณะ ผู้ที่จะมีสิทธินั้นควรจะเป็นเท่าไหร่ ถ้ามีสถิติที่มีความแม่นยำ เราก็อาจจะสามารถทำให้นโยบายของเราไม่ต้องพึ่งพาการมาขึ้นทะเบียนแสดงตนใน ทุกปี ๆ หรือ 6 เดือนครั้ง ซึ่งที่ผ่านมาก็พบว่ามีปัญหาอยู่ตลอดเวลาทั้งในเรื่องของความแม่นยำและ เรื่องของครอบคลุม ความทั่วถึงด้วย ฯลฯ
 แม้กระทั่งในเรื่องของนโยบายที่เกี่ยวข้องกับทางด้านการศึกษาก็เช่น เดียวกัน หากรู้ว่าประชากรที่เข้าสู่วัยของการเข้ารับการศึกษาในความจริงเป็นเท่าไหร่ เราก็ควรที่จะสามารถสร้างและพยากรณ์ได้ล่วงหน้า ซึ่งก็รวมไปถึงการวางแผนในเรื่องของกำลังคนที่เข้าสู่ระบบแรงงาน เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจด้วย เพราะฉะนั้นตรงนี้ก็เป็นพื้นฐานสำคัญที่เราจะต้องใช้ประโยชน์มากขึ้น นอกจากนั้นขณะนี้เราก็ต้องยอมรับด้วยว่าโครงสร้างของประชากรกำลังเปลี่ยน แปลงอย่างรวดเร็ว และจะมีผลสำคัญต่อการวางแผนและดำเนินนโยบายด้านต่างๆ
 ปัจจัยที่สำคัญมาก 2 ปัจจัยคือ คือ โครงสร้างของประชากร ซึ่งกำลังปรับเปลี่ยนสังคมของเราเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งถ้าหากว่าตรงนี้เราสามารถที่จะมีฐานข้อมูล เพื่อที่จะประมาณได้ดีพอสมควรก็จะทำให้การกำหนดนโยบาย แนวทางไม่ว่าจะป็นเรื่องของสวัสดิการทางการเงินการคลัง เป็นไปได้อย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
 ปัจจัยที่สองที่ คิดว่ามีความสำคัญมากในขณะนี้คือ กรณีของแรงงานต่างด้าวและประชากรแฝงซึ่งถูกมองว่าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและ มีผลอย่างมากต่อบริการสาธารณะต่างๆ ผมเชื่อว่าในการจัดทำสำมะโนครั้งนี้จะพบว่าเมื่อเรานับคนที่อาศัยอยู่ใน ประเทศไทยแล้ว ยอดที่ออกมาน่าจะสูงกว่าการใช้ฐานเดิมแล้วมีการรายงานค่าประมาณมาจากตัวเลข เมื่อ 10 ปีที่แล้วค่อนข้างมาก
 ตรงนี้จะเป็นข้อมูลสำคัญที่จะทำให้เราเข้าใจสภาพที่แท้จริงของโครง สร้างประชากรในปัจจุบัน ซึ่งจะมีผลอย่างมากต่อการกำหนดแนวทาง การทำงานของรัฐบาลในด้านต่างๆ
 ด้วยเหตุผลนี้รัฐบาลชุดปัจจุบันจึงได้ย้ำมาตั้งแต่ต้นปี ซึ่งทราบว่าปีนี้จะเป็นปีที่จะจัดทำสำมะโนประชากรและเคหะ โดยขอให้สำนักงานสถิติและกระทรวงเทคโนฯ ให้ความสำคัญกับงานด้านนี้อย่างเต็มที่ รัฐบาลได้ให้งบประมาณสนับสนุน 876.8 ล้านบาท เพื่อดำเนินการและได้ขอให้กระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ที่คิดว่าจะได้ประโยชน์จากการทำสำมะโนในครั้งนี้ให้ความร่วมมือ แล้วมีการบูรณาการหลายสิ่งหลายอย่างที่เป็นความต้องการเพื่อให้สำนักงาน สถิติได้สามารถใช้โอกาสนี้ 10 ปีครั้งให้เกิดประโยชน์สูงที่สุด
 การทำงานนี้ได้เกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก เท่าที่ทราบจะมีการจ้างงาน 70,000 คน ซึ่งจะต้องออกไปทำงานในพื้นที่ ซึ่งก็หมายความว่าจะต้องมีการอบรม ทำความเข้าใจกับบุคลากรดังกล่าวเพื่อให้การทำงานในครั้งนี้บรรลุวัตถุ ประสงค์
 พร้อมๆ กันนั้นก็ต้องขอย้ำว่า ทุกคนที่มาร่วมประชุมในครั้งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านที่มาในพื้นที่ต่างๆ ผู้ว่าราชการจังหวัด  บุคลากรในท้องถิ่นจะมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้งานนี้เป็นไปอย่างราบรื่น ชี้แจงประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชน ให้พี่น้องประชาชนเห็นประโยชน์ของสำมะโนประชากรและเคหะ แล้วให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำ เพราะว่าลำพังแต่สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงหรือบุคลากรที่ออกไปทำงานในพื้นที่คงไม่สามารถทำงานนี้ได้ประสบความ สำเร็จได้อย่างราบรื่นได้ หากขาดความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนและบุคลากรในพื้นที่
 ปัจจุบันมีการคาดการณ์ว่าการทำงานในภาคสนามจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือนกว่า หลังจากนั้นจะมีการประมวลผล ประมาณการณ์ว่า 3 เดือนจะได้ในแง่ของยอดสถิติ ส่วนประมวลแบบสอบถามต่าง ๆ ก็อาจจะใช้เวลาอีก 6 เดือนหรือมากกว่านั้น
  "ผมอยากย้ำว่า สิ่งที่เราต้องการมากที่สุด คือความแม่นยำหรือความถูกต้อง  แน่นอนว่าถ้าเราสามารถดำเนินการในกรอบเวลาที่สั้นกว่านั้นได้ก็เป็นเรื่อง ที่ดี แต่ก็ไม่ควรทำถ้าหากมีทำมีผลกระทบต่อความแม่นยำ หรือความถูกต้องของฐานข้อมูลที่ถูกนำไปใช้ในระยะเวลายาวนานถึง 10 ปี และอยากที่ย้ำว่าการตัดสินใจเชิงนโยบาย การกำหนดยุทธศาสตร์ในการพัฒนา จะต้องมีพื้นฐานจากข้อมูลที่ดี ที่แม่นยำ เพราะฉะนั้นสิ่งนี้ถือว่ามีความสำคัญไม่เพียงเฉพาะตัวเลขที่จะออกมาในอีกไม่ กี่เดือนข้างหน้า แต่หมายถึงพื้นฐานของการตัดสินใจ การวางแผน การกำหนดนโยบายซึ่งนำไปสู่เรื่องของคุณภาพของบริการสาธารณะที่ประชาชนทุกคน ควรจะได้รับจากรัฐบาล"นายกรัฐมนตรีทิ้งท้าย
 ด้าน นาย จุติ  ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวว่า กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ มีกำหนดจะจัดทำโครงการสำมะโนประชากรและเคหะ พ.ศ. 2553 ขึ้นเป็นครั้งที่ 11 และเป็นวาระครบรอบ 100 ปี ของการทำสำมะโนประชากรของประเทศไทย
ซึ่งวันนี้ต้องยอมรับว่าข้อมูลทางสถิตินั้นมีความสำคัญมากไม่เพียงแต่ เป็นเครื่องมือที่ชี้ถึงความสำเร็จและความล้มเหลวในการทำงานเท่านั้นแต่ ข้อมูลเชิงสถิตินั้นเป็นเครื่องมือในการวางแผน การกำหนดยุทธศาสตร์ การจัดสรรทรัพยากรอย่างจำกัดให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งในการสำรวจสำมะโนประชากรในครั้งนี้นอกจากจะทำให้ประเทศไทยได้ฐานข้อมูล ที่สำคัญแล้ว ยังเป็นการกระจายโอกาส กระจายรายได้อีกทางหนึ่ง เพราะจะมีการจ้างงานถึง 72,000 อัตรา
 โดยการประชุมครั้งนี้สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ ดังนี้ 1. เพื่อเทิดพระเกียรติสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย และร่วมน้อมรำลึก 100 ปี วันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติ โดยรัฐบาลให้ความสำคัญต่อการฉลองครบรอบ 100 ปี ของการทำสำมะโนประชากรของประเทศไทย
 2.เพื่อให้ท่านนายกรัฐมนตรีได้มีโอกาสมอบนโยบายที่ท่านให้ความสำคัญ เป็นอย่างยิ่งในการบูรณาการความร่วมมือในการใช้ทรัพยากรและองค์ความรู้ของ หน่วยงานภาครัฐทั้งในระดับประเทศ จังหวัด และระดับท้องถิ่น ในการจัดทำโครงการสำมะโนประชากรและเคหะ พ.ศ.2553
 3.สร้างความเข้าใจกับผู้บริหารและผู้ที่เกี่ยวข้องในส่วนกลางในระดับ จังหวัด และท้องถิ่นซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายการบริหารในระดับต่างๆ
4. เปิดตัวโครงการสำมะโนประชากรและเคหะ พ.ศ. 2553 เพื่อจุดประกายและสร้างการรับรู้ของสังคมผ่านสื่อต่างๆ
 และ 5. การสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนและการขับเคลื่อน ให้ข้อคิดเห็นต่อการจัดทำโครงการสำมะโนประชากรและเคหะ ปีนี้รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนมีความรู้ ได้มีความเข้าใจและเห็นประโยชน์ของการทำสำมะโนประชากรและเคหะ พ.ศ.2553 และให้ความร่วมมือให้ข้อมูลที่เป็นจริง
 ด้านนางจีราวรรณ  บุญเพิ่ม ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวเสริมว่า จากการเก็บข้อมูลในช่วงที่ผ่านมาพบว่า ฐานข้อมูลประชาชนมีการเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการเพิ่มของจำนวนประชากรในการเก็บข้อมูลครั้งที่ผ่านมาลดลงไปอย่าง มาก ซึ่งในการเก็บข้อมูลครั้งนี้ก็เชื่อว่าฐานข้อมูลประชากรจะเปลี่ยนแปลงไปอีก เพราะอย่างที่รับรู้กันว่าประชากรของไทยเข้าสู่วัยสูงอายุกันมากขึ้น วันนี้ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชนต้องเตรียมในเรื่องของการวางแผนประชากร
 ถ้ามีข้อมูลที่ชัดเจนว่าประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นในขณะที่แรงงานมีจำนวน น้อยลง รัฐบาลจะรับมืออย่างไร จะมีการเปลี่ยนทัศนคติของคนหนุ่มสาวให้มีบุตรมากขึ้นเหมือนในสิงคโปร์หรือ เปล่า สิ่งเหล่านี้ต้องวางนโยบายล่วงหน้า เพราะทุกอย่างต้องใช้เวลา
 นางจีราวรรณ กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาการทำสำมะ โนประชากรและเคหะจะทำทุก 10 ปี แต่เนื่องจากวันนี้โลกเปลี่ยนเร็วนายกรัฐมนตรีจึงให้นโยบายให้ลองไปพิจารณา ว่าในอนาคตจะทำทุก 5 ปีได้หรือไม่ซึ่งก็ต้องกลับไปศึกษารูปแบบที่กระชับและง่ายในต่างประเทศว่า เขาทำกันอย่างไรแล้วจะนำมาประยุกต์ใช้กับประเทศไทยอย่างไร เพื่อทำให้ประเทศไทยมีฐานข้อมูลที่แม่นยำถูกต้องและสอดคล้องกับสถานการณ์ ปัจจุบันมากยิ่งขึ้น

view