สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ชำแหละร่างกม.ชุมนุมสาธารณะฉบับรัฐบาล ขัดรธน.-จำกัดสิทธิ

จาก โพสต์ทูเดย์

รุมชำแหละร่างกฎหมายชุมนุมสาธารณะ ฉบับรัฐบาลชี้เสี่ยงขัดรัฐธรรมนูญหลายข้อ จำกัดสิทธิประชาชนเกินเหตุ แถมโยนภาระให้ศาลทำงานมากเกินไป “สุริยะใส” แขวะเนื้อหาจำกัดยิบย่อย เหมือนให้นั่งพับเพียบชุมนุม

เมื่อวันที่  8 ก.ค. ที่ห้องคอนเวนชั่นฮอลล์   สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์  คณะกรรมการปฏิรูป กฎหมาย ร่วมกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.)  จัดเวทีรับฟังความคิดเห็น ร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.... (ฉบับรัฐบาล)ครั้งที่ 1/2553  

นายคณิต ณ นคร    ประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย  กล่าวปาฐกถานำว่า   การเปิดเวทีเพื่อรับฟังความคิดเห็นร่างพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.....เป็นการดำเนินการควบคู่กับการพิจารณาของของฝ่ายนิติบัญญัติ  เนื่องจากที่ผ่านมาประชาชนซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับกฎหมาย ฉบับนี้ ยังขาดการมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น 

ภาพ ประกอบข่าว

นายพรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย  คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ  กล่าวว่า  ร่างพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.....(ฉบับรัฐบาล)เป็นร่างที่เสนอโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เคยมีการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับกฎหมายฉบับนี้หลายครั้งแต่ยังไม่มีความ ชัดเจน มองว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ มีปัญหาสุ่มเสี่ยงขัดรัฐธรรมนูญ  เช่น ในมาตรา 14 ที่กำหนดให้มีการแจ้งการชุมนุมภายใน 72 ชั่วโมง หากไม่สามารถแจ้งได้ในเวลาที่กำหนด ให้ยื่นคำขอผ่อนผัน ซึ่งดูเป็นการขออนุญาตมากกว่าการแจ้ง เป็นการขออนุญาตที่ซ้อนรูป  ซึ่งขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 29  ที่ไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนเกินกว่าเหตุ  

นอกจากนี้ในมาตรา 13  กำหนดให้ศาลเป็นผู้มีคำสั่งห้ามการชุมนุม  แต่เป็นการขัดกับหลักการแบ่งแยกอำนาจ  โดยโยนภาระให้ศาลเข้าไปวินิจฉัยการสั่งห้ามการชุมนุม ทั้งที่อำนาจตรงนี้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารมากกว่า และให้คำสั่งศาลเป็นที่สุด เสมือนศาลทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองเอง   ควรให้เจ้าหน้าที่ของรัฐรายบุคคล หรือคณะบุคคลแทน 

นายพรสันต์  กล่าวว่า ร่างกฎหมายยังมีความไม่ชัดเจน อาทิ  มาตรา 5  การให้คำนิยามการชุมนุม ไม่ได้บอกจำนวนผู้เข้าร่วมการชุมนุม แต่ถ้าเป็นกฎหมายในต่างประเทศ เช่น อังกฤษ จะเขียนระบุว่าต้องมีตั้งแต่ 20 คนขึ้นไป  ส่วนมาตรา 8  ของร่างกฎหมายบอกว่า ห้ามกีดขวางทางเข้าออกสถานที่สำคัญ ซึ่งการพิจารณาว่าทางเข้าออกคืออะไร สามารถตีความได้กว้าง นอกจากนี้ในส่วนการเข้าสลายการชุมนุมก็ไม่ได้บอกรายละเอียด อย่างไรก็ตามเห็นว่าการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้อาจทับซ้อนกฎหมาย อื่นๆ ที่มีอยู่แล้ว และไม่สามารถควบคุมการประกาศภาวะฉุกเฉินที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายในภาวะฉุก เฉินได้     

นายสุริยะใส  กตะศิลา  เลขาธิการพรรคการเมืองใหม่   กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการออกกฎหมายฉบับนี้ ถ้าผ่านการพิจารณาออกมาเป็นกฎหมาย ก็คงบังคับใช้ไม่ได้ เพราะขัดกับธรรมชาติของการชุมนุม  การ แจ้งล่วงหน้า 72 ชั่วโมงทำได้ยาก เพราะผู้ชุมนุมที่หวังผลการเมืองระดับสูงจะไม่แจ้งล่วงหน้า เพราะรัฐบาลซึ่งเป็นคู่กรณีจะรับมือทัน มาตรานี้จะทำให้ประโยชน์และน้ำหนักการกดดันรัฐบาลหายไป จนกลายเป็นเหมือนการออกแบบ จัดฉาก    แต่ที่เป็นห่วงที่สุดคือ ร่างกฎหมายดังกล่าว เหมือนกับการนำการชุมนุมของกลุ่มเสื้อเหลืองและกลุ่มเสื้อแดงมาเป็นโมเดล ร่างกฎหมาย ซึ่งจะผิดทาง จะกลายเป็นการริดรอนสิทธิของประชาชนโดยไม่ตั้งใจ ไม่สอดคล้องเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง  

“ถ้าใช้โมเดลแบบนี้ ชาวบ้านที่เดือดร้อนเรื่องปากท้องต้องมาแจ้งก่อนชุมนุม จะต้องเหนื่อยมากกว่าเดิม การมีกฎหมายฉบับนี้ไม่มั่นใจว่าจะเป็นการอำนวย ความสะดวกและคุ้มครองบุคคลที่สาม ได้อย่างแท้จริง และจะกลายเป็นเครื่องมือใหม่ของเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งที่การชุมนุมของชาวบ้านเป็นการเป็นการหอบปัญหาจากชายขอบมาให้รัฐบาลได้ รับทราบ ตามระบอบประชาธิปไตย  อยากให้จำแนกการชุมนุม ให้ครอบคลุม  ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นกฎหมายห้ามการชุมนุม  กลายเป็นว่าการชุมนุมต้องนั่งพับเพียบ ทั้งที่ธรรมชาติการชุมนุมมีการแตกต่างหลากหลาย ขึ้นอยู่กับสถานการณ์  ”นาย สุริยะใส กล่าว

ด้าน พ.ต.ท.เฉลิมชัย วงษ์เจียม  พนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง กล่าวว่า  ร่างกฎหมายฉบับนี้ระบุว่าต้องไม่ กระทบความสะดวกบุคคลที่ 3  แต่การชุมนุมจะต้องชุมนุมบนถนน ในที่สาธารณะ  กระทบคนอื่นแน่  แต่ถ้ารัฐบาลทุกรัฐบาลเปิดใจกว้างรับฟังความเห็น และแก้ปัญหาตามข้อเรียกร้อง ก็ไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายฉบับนี้  ซึ่งในส่วนของหน้าที่ของตำรวจไม่ว่าแจ้งหรือไม่แจ้งการชุมนุม ตำรวจก็รู้ โดยเฉพาะตำรวจสันติบาลจะรู้ก่อน ดังนั้นเมื่อมีการชุมนุมตำรวจต้องไปอำนวยความสะดวก คุ้มครอง  เจรจา การใช้พื้นที่  

“ต่อไปอาจถึงขนาดออกระเบียบว่าผู้ชุมนุมต้องแต่งกายสีอะไร มีแต่เรื่องที่ห้ามผู้ชุมนุม  แต่ไม่ห้าม การใช้อำนาจของรัฐ เลย  เช่น  กฎหมายของประเทศ เกาหลี ห้ามไม่ให้รัฐหรือบุคคลอื่นเข้าไปข่มขู่คุกคามการชุมนุม ถ้าจะออกกฎหมายนี้รัฐต้องเปิดใจกว้างและอย่าจำกัดสิทธิผู้ชุมนุม  ผู้มีอำนาจอย่านำกฎหมายนี้ไปใช้เหมือน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะเป็นการห้ามชุมนุม มากกว่า อำนวยการชุมนุม” พนักงานสอบสวนสน.นางเลิ้ง กล่าว

Tags : ชำแหละ ร่างกม.ชุมนุมสาธารณะ ขัดรธน. จำกัดสิทธิ

view