สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เลี้ยงลูกให้ดี ต้องตีจริงหรือ ?

จากประชาชาติธุรกิจ





"รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี" คำพังเพยโบราณที่พ่อแม่หรือผู้ใหญ่หลายคนยังใช้อยู่ในการดูแลเด็ก

ไม่ เพียงบ้านเราเท่านั้น แต่ในต่างประเทศเองก็มีคำกล่าวทำนองเดียวกันนี้คือ "ถ้าเก็บไม้เรียว ก็จะทำให้เด็กเสียคน" (Spare the rod, spoil the child) ตามความเข้าใจกันโดยทั่วไปที่ว่าการตีลูกเป็นเรื่องจำเป็น หากไม่ตีอาจเสียคนเพราะถูกตาม ใจจนเคยตัว ไม่รู้ขอบเขต ฯลฯ

จากงาน เขียนเรื่อง "รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี" ผศ.ดร.สมบัติ ตาปัญญา ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีประเด็นที่น่าสนใจจากการศึกษางานวิจัยเกี่ยวกับการเลี้ยงดูลูกด้วยการตี

เผยเด็กที่ถูกพ่อแม่ตี

มีพฤติกรรมก้าวร้าว

นัก วิจัยพบว่า การที่พ่อแม่ใช้ความรุนแรงต่อเด็กทำให้เป็นแบบอย่างของพฤติกรรมก้าวร้าว รุนแรงที่เด็กรับเอาไปทำต่อด้วย เช่น งานวิจัยStrassberg et al., 1994 ที่ศึกษาจากเด็กวัยอนุบาล 273 คน โดยให้แม่ตอบแบบสอบ ถามว่าใช้วิธีการลงโทษลูกแบบไหน ได้ผลออกมาว่ามีเพียงร้อยละ 6 ที่ไม่เคยตีลูก แต่มีถึงร้อยละ 68 ที่ใช้การตี และร้อยละ 26 ที่ใช้วิธีลงโทษที่รุนแรง เช่น ทุบตีด้วยกำปั้นและสิ่งของอื่นๆ

หลัง จากนั้น 6 เดือน ผู้วิจัยจึงตามไปสังเกต พฤติกรรมของเด็กเหล่านี้ที่โรงเรียน และบันทึกพฤติกรรมที่ก้าวร้าวต่อเพื่อน เช่น การรังแกเพื่อน หรือโมโหและทุบตีเด็กคนอื่นๆ โดยคิดคะแนนให้เป็นพฤติกรรมก้าวร้าวต่อชั่วโมง พบว่าเด็กที่พ่อแม่ไม่ตีจะมีพฤติกรรมก้าวร้าวน้อยที่สุด (2.2 ครั้งต่อชั่วโมง) เด็กที่ถูกพ่อแม่ตีจะมีพฤติกรรมก้าวร้าวมากกว่าเด็กที่ไม่ถูกตี (มีพฤติกรรมก้าวร้าว 4.3 ครั้งต่อชั่วโมง) และเด็กที่ถูกพ่อแม่ลงโทษอย่างรุนแรงที่สุดในกลุ่ม ก็จะมีพฤติกรรมก้าวร้าวสูงกว่ากลุ่มอื่นๆ มากที่สุด (8.25 ครั้งต่อชั่วโมง) หลักฐานจากการวิจัยครั้งนี้ทำให้เห็นได้ชัดว่าการใช้ความรุนแรงต่อเด็กมีผล ทำให้เด็กกลายเป็นคนก้าวร้าวอย่างแน่นอน



เมื่อ ประมาณ 3 ปี ผศ.ดร.สมบัติร่วมทำวิจัยกับนักจิตวิทยาจากจีน อินเดีย อิตาลี เคนยา ฟิลิป ปินส์และสหรัฐอเมริกา (Lansford et al., 2005) โดยการเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 336 ครอบครัว (ในจำนวนนี้เป็นข้อมูลจากคนไทย 60 ครอบครัว) ได้ข้อสรุปทำนองเดียวกันนี้ คือ ยิ่งเด็กถูกลงโทษรุนแรงมากเท่าไหร่ เด็กจะมีความวิตกกังวลและมีพฤติกรรมก้าวร้าวสูงขึ้น



ผู้ใหญ่ที่เคยถูกลงโทษ

ซึมเศร้าติดเหล้าคิดฆ่าตัว

งาน วิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่สนับสนุนข้อสรุปนี้ (Strauss & Kantor, 1994) เป็นการเก็บข้อมูลจาก 6,002 ครอบครัว เพื่อศึกษาว่าการถูกลงโทษด้วยความรุนแรงมีผลต่อชีวิตในภายหลังอย่างไรบ้าง พบว่าในกลุ่มตัวอย่างนี้มีมากถึงร้อยละ 50 ที่เคยถูกลงโทษทางร่างกายในช่วงวัยรุ่น โดยผู้ชาย ร้อยละ 58 ถูกลงโทษมากกว่าผู้หญิง ร้อยละ 44

คนที่เคยถูกลงโทษเหล่านี้ผู้วิจัย พบว่าจะมีอาการซึมเศร้า มีพฤติกรรมพยายามฆ่าตัวตาย ติดสุรา ทารุณกรรมลูกของตนเอง และทุบตีหรือทำร้ายคู่สมรสของตนเอง (โดยเฉพาะผู้ชาย) สูงกว่ากลุ่มที่ไม่เคยถูกลงโทษด้วยความรุนแรง แสดงให้เห็นว่าการถูกลงโทษด้วยความรุนแรงมีผลเสียที่ร้ายแรงไปจนถึงวัย ผู้ใหญ่ และทำให้มีการใช้ความรุนแรงสืบทอดกันต่อไปเรื่อยๆ ผู้วิจัยเรื่องนี้ถึงกับมีคำแนะนำว่า หากเราต้องการจะกำจัดปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ชุมชน และสังคม เราจะต้องเริ่มด้วยการหยุดใช้ความรุนแรงต่อเด็กให้ได้เสียก่อน



ลงโทษบ่อยได้ผลน้อย

เหตุเด็ก "ดื้อไม้เรียว
"

จาก ข้อสรุปเหล่านี้ คงพอเห็นได้ชัดว่าการลงโทษลูกด้วยการเฆี่ยนตีนั้นมีผลเสียร้ายแรงทั้งในระยะ สั้นและระยะยาว แต่ถึงกระนั้น พ่อแม่จำนวนมากก็ยังชอบที่จะตีลูกอยู่ เพราะการตีนั้นทำให้ลูกหยุดพฤติกรรมที่พ่อแม่ไม่ชอบทันที (อาจจะด้วยความกลัวหรือตกใจที่ถูกตี) จึงทำให้พ่อแม่สรุปเอาว่าการตีนั้น "ได้ผล"



แต่สิ่งหนึ่งที่พ่อแม่ไม่ค่อยตระหนักกันคือ การลงโทษเด็กด้วยความรุนแรงยิ่งทำบ่อยๆ ก็จะได้ผลน้อยลงเรื่อยๆ เพราะเด็กจะ "ดื้อไม้เรียว" เหมือนเชื้อโรคดื้อยาปฏิชีวนะเพราะพัฒนาภูมิต้านทานต่อยาขึ้น เมื่อการตีอย่างเดิมไม่ได้ผล พ่อแม่ก็จะเพิ่มความรุนแรงของการลงโทษมากขึ้นเรื่อยๆ (เช่นเดียวกันกับที่หมอต้องใช้ยาที่แรงขึ้นเรื่อยๆ เพื่อปราบโรคที่ดื้อยา) จนในที่สุดเข้าขั้นทารุณกรรม คือ ทำให้เด็กบาดเจ็บ พิการ หรือเสียชีวิตได้ ยิ่งไปกว่านั้นบาดแผลที่เกิดขึ้นในใจเด็กยังมีผลต่อชีวิตไปอีกยาวนาน ทำลายความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพ่อแม่กับเด็ก สร้างความหวาดกลัว ห่างเหิน เกลียดชัง และทำให้เด็กรับเอาทัศนคติที่ชอบแก้ปัญหาด้วยความรุนแรงไปใช้กับคนรุ่นต่อไป อีกอย่างไม่มีที่สิ้นสุด



สร้างวินัย เชิงบวก

ส่งผลเด็กอีคิวสูง

ในทางตรงข้าม การวิจัยชิ้นหนึ่งที่ทำในประเทศไทย จากคณะจิตวิทยา จุฬา ลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี 2545 จากกลุ่มตัวอย่างเด็กวัยรุ่นในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และปีที่ 6 จำนวน 1,316 คนจาก 5 ภูมิภาคของประเทศไทย (สุภาพรรณและชุมพร 2002) ได้ข้อสรุปว่า เด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูด้วยการเอาใจใส่ ยอมรับ เข้าใจ อบอุ่นเป็นมิตร ตอบสนองต่อเด็ก มีการสื่อสารสองทางที่ชัดเจน เคารพในศักดิ์ศรีของกันและกัน มีการคาดหวัง มีแนวทางและการสนับสนุนที่ชัดเจนให้พัฒนาพฤติกรรมที่พึงปรารถนา จะช่วยให้เด็กมีความฉลาดทางอารมณ์ (อีคิว) สูง มีการปรับตัวดีกว่า มีการแก้ปัญหาในชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าเด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูแบบ อื่นๆ (เช่น ควบคุมเข้มงวด ตามใจ หรือละเลยทอดทิ้งไม่เอาใจใส่) ผู้วิจัยยังอ้างถึงการวิจัยอื่นๆ ในต่างประเทศที่ให้ข้อสรุปทำนองเดียวกันนี้อีกด้วย

วิธีการอบรม เลี้ยงดูเด็กดังกล่าวนี้ปัจจุบันนิยมเรียกกันว่าเป็นการสร้างเสริม "วินัยเชิงบวก" คือ การให้ความเอาใจใส่ใกล้ชิดกับเด็ก ให้ความอบอุ่น เข้าใจ ให้เกียรติ เคารพในศักดิ์ศรีของเด็ก แต่ในขณะเดียวกันก็มีขอบเขต มีความคาดหวังในทางที่ดีต่อเด็ก เมื่อเด็กทำผิดหรือมีพฤติกรรมที่ไม่น่าพอใจก็ไม่ใช้การลงโทษ แต่จะถือเป็นโอกาสในการเรียนรู้จากความผิดพลาด ช่วยให้เด็กรับผิดชอบการกระทำของตนเอง


แนะ"จับ ถูก" กล่าวชม

อย่ากลัว "เด็กเหลิง"

ขณะเดียวกันก็สอน วิธีการแก้ไขในสิ่งที่ทำผิดไปโดยไม่ตำหนิ ดูถูกเหยียดหยาม หรือแสดงความโกรธเคือง ไม่เน้นที่การจับผิด จ้ำจี้จ้ำไช แต่จะ "จับถูก" คือคอยสังเกตว่าเด็กทำอะไรดีบ้างแล้วให้คำชม แสดงอาการชื่นชม หรือให้รางวัลทุกครั้ง จนกระทั่งเด็กเกิดการเรียนรู้ว่าเมื่อทำสิ่งที่ดีก็จะได้รับแต่สิ่งที่ดีๆ จากผู้ใหญ่ เด็กจะพยายามทำดีมากขึ้นเรื่อยๆ ต่างจากวิธีการที่เรามักคุ้นเคยกัน คือไม่ค่อยให้ความสนใจเมื่อเด็กทำดี (ถือว่าเป็นหน้าที่ของเด็กอยู่แล้ว) หรือเมื่อเด็กทำดีก็เฉยๆ ไม่แสดงความชื่นชม (กลัวว่าจะทำให้ได้ใจหรือ "เหลิง") แต่กลับเน้นที่การควบคุม กำกับ และตำหนิลงโทษเมื่อทำผิดเป็นส่วนใหญ่

จาก หลักฐานต่างๆ ดังที่กล่าวมานี้ คงพอจะสรุปได้ว่าเราไม่ควรอบรมสั่งสอนเด็กด้วยความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นด้วยทางวาจาหรือทางร่างกาย และคงจะต้องปรับปรุงคำกล่าวโบราณที่ปลูกฝังความคิดผิดๆ เสียใหม่ ให้ทันสมัยและถูกต้องตามความเป็นจริง คือเปลี่ยนให้เป็น "รักวัวให้ผูก รักลูกต้องเลิกตี" น่าจะดีกว่าแน่นอน   ..............   ที่มา : ข่าวสดรายวัน วันที่ 09 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 20 ฉบับที่ 7162

Tags : เลี้ยงลูกให้ดี ต้องตี

view