สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

นักร้อง ไม่ใช่ นักรบ

จาก โพสต์ทูเดย์

กก.สิทธิฯในทะเลแดง

ศ.อมรา พงศาพิชญ์

ถูกวิจารณ์หนักกับการทำงานของกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ต่อการตรวจสอบเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะช่วงการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดง ภายหลังปฏิบัติการกระชับพื้นที่ หรือ "ขอพื้นที่คืน" จนนำมาสู่การเสียชีวิตกว่า 90 คน และบาดเจ็บอีกนับพัน ไปจนถึงการไล่ปิดสื่อแดง การคงประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
         
ศ.อมรา พงศาพิชญ์  นักวิชาการ อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ผันตัวมาเป็นประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดใจชี้แจงถึงบ่นโจมตีสารพัดในความล่าช้าหรือข้อสงสัยถึงการเลือกข้าง ตลอดจนจุดยืนการทำงานในยุคหัวเลี้ยวหัวต่อของประเทศที่ "สิทธิ" กำลังจะเบ่งบาน ในสถานการณ์ที่ล่อแหลมต่อการล่วงละเมิด คุกคามสิทธิและเสรีภาพ
         
"ไม่นึกเลยว่ากรรมการ สิทธิฯ จะต้องมาทำเรื่องแบบนี้ แต่ก็คงไม่มีใครคิดว่าเหตุการณ์เดือนเมษาฯพฤษภาฯ มันจะเกิดในสังคมไทยได้ มันไปเร็วมากคนที่เป็นนักเคลื่อนไหวก็คาดหวังกรรมการสิทธิฯ คงจะต้องเคลื่อนไหว ต้องตามไปดู เขาคิดว่าใครมีเรื่องที่ไหน กรรมการสิทธิฯ ก็ต้องไปอยู่ที่นั่น ซึ่งอันนั้นไม่ใช่"
         
"ก่อน 10 เม.ย. (เหตุการณ์ปะทะที่สี่แยกคอกวัว)สิ่งที่กรรมการสิทธิฯ ทำไป ดูเหมือนจะไม่ถูกวิจารณ์เท่าไร แต่หลังจาก 10 เม.ย.แล้ว แรงมาก ต้องบอกตรงๆว่าเราก็งง แต่เราก็ออกแถลงการณ์ ประณามการใช้ความรุนแรงทุกฝ่าย และพยายามคลี่คลายสถานการณ์แต่ก็ถูกวิจารณ์ว่าช้า คนที่วิจารณ์ว่าเราช้าเป็นเพราะเขาคาดหวังว่าเราจะต้องออกไปลุยในพื้นที่ ซึ่งเราได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปอยู่ในพื้นที่เกิดเรื่อง เพียงแต่ไม่เป็นข่าว"
         
ประธานกรรมการสิทธิฯ อธิบายว่า การที่คณะกรรมการสิทธิฯ จะตอบสนองหรือวินิจฉัยว่าจะทำอะไรไม่ต้องการที่จะเป็นแบบที่ฝรั่งเรียกว่า "รีแอกชันนารี"คือมีอะไรเกิดขึ้นก็ออกมาโต้ทันที เพราะบางครั้งอาจไม่รอบคอบ หรือหากเทียบกับองค์กรสิทธิหรือเอ็นจีโอต่างชาติ ซึ่งเล่นบทวิจารณ์รัฐแรงในทุกประเทศอยู่แล้วก็เป็นคนละบทกับกรรมการสิทธิ ที่ดูเรื่องภายในประเทศ
         
"เคยมีคนบอกว่า หน้าที่กรรมการสิทธิฯ คือนักร้อง ไม่ใช่นักรบ มีหน้าที่ร้องอย่างเดียว ไม่ต้องไปรบราฆ่าฟันกับเขา ไม่ใช่หน้าที่เรา เราไม่ใช่หน่วยปฏิบัติ แต่เราต้องร้องโวยวาย ถ้าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนชัดเจน แต่เสียงวิจารณ์เราก็น้อมรับ เพราะอาจจะร้องน้อยเกินไป"
         
สำหรับเหตุการณ์พฤษภาอำมหิตนั้น ประธานคณะกรรมการสิทธิฯ เห็นว่า มีทั้งกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ทหาร กลุ่มเสื้อดำ องค์กรไม่ทราบฝ่ายที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับความรุนแรง กรรมการสิทธิฯ ก็ทำได้เพียงแต่ออกมาโวยว่าจะเป็นใคร อย่าใช้ความรุนแรง พอออกมาพูดเรื่องพ.ร.ก.ฉุกเฉิน โทรศัพท์ของกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับผู้ชุมนุมก็เข้ามาขรมเลยว่าพูดอย่างนั้น ได้อย่างไร
        
"แม้เราถูกต่อว่า ไม่ทำอะไร หรือทำน้อยไป ก็จะมีเสียงตำหนิกรรมการสิทธิเหมือนกันว่า นี่เป็นหน้าที่คุณหรือเปล่า ซึ่งก็มีคนคาดหวังให้กรรมการสิทธิเชียร์รัฐบาล คิดเหมือนรัฐบาลและออกมาปกป้องรัฐบาลด้วยซ้ำไป"
        
 ศ.อมรา ยอมรับว่า เสียงวิจารณ์กรรมการสิทธิฯ ว่าอยู่ข้างรัฐบาลมีตลอด แต่ช่วงหลังก็ถูกตำหนิว่าอยู่ฝั่งเสื้อแดง ซึ่งเป็นเรื่องน่าหนักใจในภาวะสังคมแตกแยกแต่กรรมการสิทธิฯ ก็ต้องทำตามหน้าที่
         
"เราอาจทำอะไรช้าไปบ้าง ก็เพราะคน 7 คนทำงานความเห็นก็แตกต่างกันบ้าง และใช้เวลาในการที่จะหลอมรวม หมายถึงว่าเกิดเรื่องขึ้นมาเราใช้เวลา 2-3 วัน กว่าจะมาเห็นตรงกัน เพราะว่าเรามาจากหลายแห่งแต่สุดท้ายก็มักจะมาในแนวเดียวกัน แต่ช่วงของการประเมินสถานการณ์ หาข้อสรุปก็ต้องดูใจกันนิดหน่อย"
         
ภายในกรรมการสิทธิฯ แบ่งเป็น "ขั้ว" หรือไม่ประธานกรรมการสิทธิฯ ชี้แจงว่า เป็นการถกเป็นเรื่องๆทั้งเรื่องวิธีการ บทบาทว่าเราควรทำอย่างไร บางคนคิดว่าต้องเหมือนกันหมด ซึ่งไม่จำเป็นต้องขนาดนั้น เพราะจะแข็งตัวเกินไป
        
 "การทำงานตรงนี้ต้องไม่แข็งตัว ต้องยอมให้ขยับเขยื้อนได้บ้าง ส่วนเรื่องแบ่งเป็นสีนั้น หลายคนรักษาความไม่มีสีได้พอสมควร และคงความหลากสีในตัวคนเดียว ไม่มีฮาร์ดคอร์ จึงทำงานกันได้"
         
ศ.อมรา ฉายภาพการทำงานของกรรมการสิทธิฯต่อเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นตั้งแต่ วันที่ 12 มี.ค.-19 พ.ค. ว่า ได้ตั้งอนุกรรมการ 3 ชุด และแบ่งประเด็นออกเป็น 10 ประเด็นชัดเจน แต่ละเรื่องก็จะต้องไปดูอย่างประเด็นแรก "การชุมนุม" มีกรรมการ 2 ชุด ชุดแรกเป็นชุดหาข้อเท็จจริงเก็บข้อมูลว่าเกิดอะไรขึ้น และอีกชุดหนึ่งจะเป็นชุดที่ดูเชิงแง่กฎหมายว่าละเมิดหรือไม่ใครผิดจริงๆ ไม่ได้สำคัญเท่าไร แต่เป้าหมายหลักจะดูเรื่องการละเมิดสิทธิ ซึ่งแทบทุกเรื่องล้วนมีการละเมิด เราก็ต้องดูว่าใครละเมิด เสื้อดำ ทหาร หรือ นปช.
         
"เราไม่ได้ต้องการจับผิดใคร แค่ดูว่าเป็นไปตามครรลองของกฎหมายหรือไม่ ละเมิดสิทธิหรือเปล่า ผิดกฎหมายหรือไม่ คือเป็นการหาคำอธิบายเกี่ยวกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี่คือวิธีการทำงาน คือเอาประเด็นมาหาข้อมูลเบื้องต้น ว่าอะไรเกิดขึ้น ใครสั่งใครทำแล้วมาตอบว่าเป็นการละเมิดหรือไม่โดยใคร"
         
10 ประเด็นที่ตั้งขึ้น เช่น เหตุการณ์ที่คอกวัว วัดปทุมวนาราม ระเบิดแยกศาลาแดง การเสียชีวิตของสื่อมวลชนคณะกรรมการจะเริ่มจากเรื่องง่ายๆ ก่อน โดยสัปดาห์หน้าจะเริ่มพิจารณาเรื่องเหตุการณ์ตรวจค้นที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ก็จะเชิญผู้เกี่ยวข้องมาสัมภาษณ์ได้คำตอบชุดหนึ่งก็ไปดูแง่กฎหมาย ส่วนเรื่องไหนยากก็อาจจะช้า เช่นเรื่องวัดปทุมวนาราม เพราะเมื่อมีรูปออกมา ฝ่ายหนึ่งบอกว่าชัดมาก ทหารยิง ทหารบอกไม่ใช่ ฝ่ายทหารก็จะบอกว่าคนอื่นยิง ระยะเวลาในการตรวจสอบเหตุการณ์ความรุนแรงครั้งนี้คาดว่าในช่วง 2-3 เดือนนี้ จะได้สัก 5 เรื่อง อีกครึ่งหนึ่งคงต้องทำงานหนักขึ้น แต่ไม่อยากให้ถึงปี
         
"เราไม่ได้จะจับผู้ร้าย เพราะฉะนั้นไม่ต้องไปถึงขั้นสุดท้าย แต่จะดูแลเรื่องการละเมิดเป็นหลัก และหวังว่าอาจจะให้ยกส่วนที่ไม่เสร็จ หรือเกือบเสร็จไปให้ชุดอื่นทำต่อ เช่นชุดของอาจารย์คณิต ณ นคร ถ้าต้องการทำต่อ"
         
สำหรับการทำงานชุดของอาจารย์ คณิตเห็นว่าคล้ายของแอฟริกาใต้ คือ ค้นหาความจริงให้ได้เพื่อให้สถานการณ์คลี่คลาย ซึ่งการถึงความจริงก็จะไปเจอกับปัญหาความจริงมากกว่า ความเชื่อ หรือการตีความ แต่สำหรับกรรมการสิทธิฯ จะดูเป็นเชิงปรัชญามากกว่า
         
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของกรรมการสิทธิฯ ถ้าทำให้เกิดการเยียวยาได้ก็จะส่งเสริมให้เกิดการเยียวยาทันที แปลว่าเรื่องไหนทำให้จบได้ก็พยายามทำให้จบ เรื่องบางเรื่องถ้าเผื่อว่าไม่มีคำตอบ หรือหาคำตอบได้ยากมาก เป็นเรื่องที่อยู่ในใจคนไปอีก ก็คงต้องหาวิธีคลี่คลายด้วยวิธีอื่น เช่น กระบวนการเชิงการเมือง
         
ประธานกรรมการสิทธิฯ เชื่อมั่นว่าเหตุการณ์ความรุนแรงครั้งนี้ สุดท้ายแล้วน่าจะมีความกระจ่างแจ้งเกิดขึ้นมากกว่ากรณีเหตุการณ์เดือนตุลาฯ พฤษภาทมิฬ เพราะสังคมเป็นฝ่ายกดดัน "เรียกร้อง" ไม่ใช่เพราะรัฐบาลอยากทำเอง
         
"งานนี้คงทำให้เรายกประเทศขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง การพัฒนาจิตใจ ความเป็นธรรมทางสังคม เสมอภาค สิทธิ คงก้าวหน้าขึ้นมาอีกก้าวกับความเข้าใจเรื่องสิทธิและความเป็นธรรม"

สังคมสีรุ้ง...ทางออกความขัดแย้ง

ในฐานะนักวิชาการกิจกรรมที่คลุกคลีในงานด้านภาคประชาสังคมมานาน และ ศ.อมรา มองปัญหาความแตกแยกที่เกิดขึ้นต้องใช้เวลาคลี่คลายอีกนับสิบปี โดยเน้นว่าต้องไม่ยึดติดกับความเคียดแค้น การหวังจะคลี่คลายภายใน 3-5 ปี นั้นไม่มีทาง
         
ศ.อมรา บอกว่า แม้แต่ในวงวิชาการ ขณะนี้ยังรู้สึกว่า ทุกอย่างกลับตาลปัตรไปหมดทั้งนักวิชาการกระแสหลัก กลุ่มหัวก้าวหน้า ทุกอย่างถูกนำมาผสมกัน คือมีกระแสหลักที่แดง มีหัวก้าวหน้าที่แดงและก็มีกระแสหลักที่เหลือง หัวก้าวหน้าที่เหลือง เพราะฉะนั้นจะแบ่งแบบเดิมๆ เป็นแค่เหลืองแดงไม่ได้ ต้องแบ่งลึกลงละเอียดกว่านี้
         
"คนที่เรียกตัวเอง ว่าเสื้อแดงฮาร์ดคอร์มีชุดหนึ่ง แต่ที่เหลือไม่ใช่ เสื้อแดงจึงมีหลายมิติ แต่เราเลิกดูเรื่องสีมาดูมิติต่างๆ ดูประเด็นต่างๆ ให้ออกมาในลักษณะแยกย่อย เราก็จะเห็นความแตกต่างหลากหลายมากขึ้น แทนที่จะแบ่งเป็นขั้ว ก็ต้องปรับจากขั้ว จากสองขั้วหรือสามขั้วมาเป็นสีรุ้ง ให้มันละเอียด แล้วใครจะอยู่ตรงไหนก็ได้ ...แบ่งหลายๆ สีให้เหมือนสีรุ้งอย่างน้อยเจ็ดสี และก็ไม่แข็งตัวด้วยเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาระหว่างสีได้ด้วย นี่คือทางออกของสังคม"
         
ศ.อมรา ยกตัวอย่างว่า มีคนมาถามว่าเป็นเหลืองหรือแดงสำหรับเธอบอกว่า ไม่ใช่ทั้งสองอย่าง แม้จะมีคนบางคนบอกว่าเหลือง แต่ก็แปลว่าไม่ได้รู้จักเธอจริง เพราะไม่ใช่เหลืองทุกมิติ บางมิติก็เป็นแดง คนถามก็งงเพราะคนนั้นมองแบบแยกขั้ว ซึ่งเราต้องไม่แบ่งอะไรแค่สอง ว่าเป็นเหลืองหรือแดง เชียร์หรือไม่เชียร์รัฐบาล ยุบสภาหรือไม่ยุบ แก้รัฐธรรมนูญหรือไม่แก้ ไม่ใช่ "ใช่"หรือ "ไม่ใช่"
         
ส่วน เรื่อง "นิรโทษกรรม"ที่หลายคนเห็นว่าอาจเป็นอีกหนึ่ง ทางออกให้สังคมแม้จะมีบางส่วนคัดค้านนั้น ศ.อมรา เห็นว่า ไม่ควรนิรโทษกรรมทุกคน แต่ต้องนิรโทษกรรมเฉพาะคนที่ไม่เกี่ยวข้องจริงๆ เช่น ประชาชนคนเล็กๆ ที่มาชุมนุม แต่ถ้านิรโทษกรรมให้ทุกคนหมด เช่น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แกนนำฮาร์ดคอร์ก็จะมีคนเถียงเรื่องนี้จึงต้องยึดกฎหมายและนิติรัฐ
        
 ศ.อมรา เล่าให้ฟังถึงบทเรียนจากกัมพูชาว่า หลังสงครามเขมรแดง ประเทศแตกแยกมาก แต่สุดท้ายก็ยังมาอยู่ด้วยกัน เอ็นจีโอคนหนึ่งบอกว่า เป็นเพราะ "อโหสิกรรม" ขณะที่ฝรั่งฟังไม่รู้เรื่อง ต้องเป็นคนพุทธถึงจะเข้าใจว่าอโหสิกรรมแปลว่าอะไร ต้องดูว่าเราอโหสิกรรมได้แค่ไหน มันมีบริบทของมันอยู่
         
"บ้าน เราก็เหมือนกัน อะไรที่อโหสิกรรมได้ก็อโหสิกรรม คือความผิดพลาด ขุ่นหมอง ที่มีกันอยู่เล็กๆ น้อยๆ ก็อภัยเลิกกันไปมันไม่ได้หมายถึง ฆ่ากันตาย หรือโทษใหญ่ๆ ที่มีความรุนแรงอโหสิกรรมใช้กับทั่วไปกว้างๆ แต่ถ้าเป็นความผิดชัดเจน จำเป็นต้องลงโทษก็ต้องทำ"
         
ใน อนาคตโอกาสที่จะเกิดความรุนแรงอีกครั้งมีหรือไม่นั้นประธานกรรมการสิทธิฯ มองว่า ขึ้นอยู่กับการเรียนรู้ บทเรียนของแต่ละฝ่าย อย่างฝ่ายรัฐบาลและทหารเขาต้องเรียนรู้ว่า เหตุการณ์เดือน เม.ย. 2552 เป็นอย่างไร ถ้ารัฐบาลบอกว่าได้ตั้งรับดีแล้ว แต่ก็ยังเกิดเหตุรุนแรงอยู่ แสดงว่า ฝ่ายรัฐบาลยังตั้งรับไม่พอ
         
คราวนี้มีบทเรียนเพิ่ม ขึ้น เขาก็ต้องไปเรียนรู้มากขึ้น เช่น ที่รัฐบาลดำเนินการต่อการชุมนุมพื้นที่ราชประสงค์ในช่วงนั้นใช้เวลานานมาก นี่ก็แสดงถึงการค่อยๆ เรียนรู้เหมือนกัน แม้จะมีการทดลองนู้นทดลองนี่ ประกาศว่าจะตัดน้ำตัดไฟ ไม่รู้จะประกาศทำไมเพราะประกาศแล้วก็มีคนออกมาต้าน ซึ่งไม่เป็นมืออาชีพสักเท่าไร
         
ขณะที่ฝั่งเสื้อแดงก็ต้อง เรียนรู้ เหมือนกับที่ "สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล" นักวิชาการ บอกว่า คลื่นสามระลอกของเสื้อแดงยังไม่ได้สรุปบทเรียนเพียงพอ เพราะในเชิงอุดมการณ์เหมือนกับว่าเหตุการณ์พาไป แล้วก็เขยิบไปโดยไม่ได้วางแผนอย่างดี ไม่ได้นำอุดมการณ์มาทำให้ชัดเจน

เขาไม่ได้ว่าเรา...

นั่งเก้าอี้ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมาได้ปีกว่าประจวบเหมาะ พอดีกับความแตกแยกในบ้านเมืองที่เดือดเข้าถึงจุดสุกงอมแบบที่ไม่มีใครคาดคิด มาก่อน ศ.อมรา พงศาพิชญ์รับว่าดอกไม้ที่เป็นกำลังใจให้ กรรมการสิทธิ ในการตรวจสอบคลี่คลายสถานการณ์นั้นมีมาก แต่ก้อนอิฐก็มีไม่น้อย เพราะหาว่าทำงานไม่ทันการณ์และเป็นสีเหลือง
         
"เราก็คิดว่าเขาไม่ได้ด่าเรา แต่เขาด่าองค์กรว่ากรรมการสิทธิ ทุกคน และเขาก็ไม่ได้เรียกชื่อเรา"ศ.อมรา หัวเราะ

ศ.อมรา เป็นนักวิชาการที่ได้รับการยอมรับทั้งในและต่างประเทศ จากผลงานมากมายในด้านรัฐศาสตร์ สังคมวิทยา และมานุษยวิทยา สิ่งที่เป็นเครื่องยืนยันได้คือ การได้รับแต่งตั้งให้เป็นศาสตราจารย์ครบเครื่องทั้งในสาขาวิชามานุษยวิทยา ศาสตราจารย์กิตติคุณ คณะรัฐศาสตร์ รวมถึงตำแหน่งศาสตราภิชาน ยังไม่นับงานบริหารในรั้วจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอีกมากมาย เช่น ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย คณบดีคณะรัฐศาสตร์ โดยตำแหน่งสุดท้ายก่อนที่จะได้รับเลือกเป็นประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน แห่งชาติ คือ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง
         
"ถามว่าชีวิตเปลี่ยนไหมมาอยู่ตรงนี้ ก็ไม่ได้เปลี่ยนนะ แต่ที่เปลี่ยนอาจจะเป็นที่ไม่ต้องเตรียมสอนเหมือนตอนอยู่สถาบันวิจัย เราก็มีเวลาคิดอะไรมากขึ้น
 "ตอนนี้เป้าหมายส่วนตัวไม่มีแล้ว มีแต่เป้าหมายเพื่อองค์กร อย่างงานกรรมการสิทธิฯ ที่ทำมาก็อยู่ในแนวสังคมวิทยา มนุษยวิทยา เป็นการทำงานกับชาวบ้านไม่ต่างจากที่เราเคยทำมา"
         
ปัจจุบัน ศ.อมรา อายุ 65 ปี เหลือวาระในตำแหน่งประธานกรรมการสิทธิฯ อีก 5 ปี กระนั้นถ้าหมุนย้อนเวลาสมัย ศ.อมรา เป็นอาจารย์ใหม่ๆคงบอกได้ว่า เป็นสาวไฟแรงที่เปี่ยมไปด้วยความมุ่งมั่น ลุยงานวิจัยในชนบทหลายพื้นที่ เสี่ยงภัยแค่ไหนก็ไม่กลัว เพราะอยากเห็นสังคมเติบโตเข้มแข็ง
         
"สมัย อยู่จุฬาฯ เป็นนักวิชาการแอกติวิสต์ มีกิจกรรม เพราะเราไม่ใช่เป็นครูอย่างเดียว ไปใต้ก็ไม่เห็นต้องกลัว อย่างเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ตอนไปอยู่ศูนย์สันติภาพฯ ได้เรียนรู้ถึงปัญหาของประเทศต่างๆ โดยเฉพาะเขมร ถือเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับประเทศไทย"
         
วันนี้ภาค ประชาชนเติบโตมากไหม?ศ.อมรา ตอบคำถามนี้ว่า ช่วงแรกภาคประชาสังคมในไทยเน้นด้านสงเคราะห์หรือการพัฒนารวมถึงเรื่องปัญหา ปากท้อง ความเป็นอยู่ที่ดี แต่หลังๆ มานี้ ภาคประชาชนมีพลัง เป็นกลุ่มที่สนใจการเมืองสูงมาก เน้นด้านสิทธิเกือบหมด
         
คำ ถามที่ว่า ภาคประชาชนที่ก่อตัวเป็นขบวนการทางการเมืองสีแดงและสีเหลืองดีหรือไม่ศ.อมรา ให้ข้อคิดว่า มันเป็นความเปลี่ยนแปลงที่จำเป็น เพราะถ้าไปเน้นพัฒนาแบบเดิมๆ ก็เป็นเรื่องโอท็อป ขายสินค้า
         
"มิติ ด้านสิทธิได้โผล่ขึ้นมาตามธรรมชาติในช่วงหลังโลกเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์ มีการเอาเปรียบกันสูงมาก จากนั้นมาเราก็เริ่มพัฒนามีเสื้อเหลืองช่วงดังกล่าวความขัดแย้งของเราค่อยๆ โตขึ้น แต่บางคนก็เป็นห่วงว่า ไทยเราจะเหมือนศรีลังกาเข้าไปทุกวัน แต่เรามองว่ายังไม่ใช่ เพราะศรีลังกาแรงกว่านี้ ที่นั่นเป็นเรื่องของเชื้อชาติทหารกับผู้ก่อการ แต่ของเราไม่ใช่ทหารกับผู้ก่อการ ยังเป็นเหลืองแดงอยู่"
         
ศ.อมรา กล่าวทิ้งท้ายว่า การเมืองไทยวันนี้น้ำหนักกำลังเทไปที่ชนบทและคนจน ซึ่งเทรนด์ต่างประเทศไม่ว่ายุโรป อเมริกา ก็เป็นแนวนี้เมืองก็เป็นเมืองหลวง แต่ชีวิตในสังคมชนบทต้องเท่าเทียมกัน
         
"ของเราที่ อ้างว่าสู้เพื่ออุดมการณ์ ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าอุดมการณ์แปลว่าอะไรกันแน่"ศ.อมรา พูดเป็นปริศนาท่ามกลางการต่อสู้ที่ซับซ้อนในเมืองไทยขณะนี้

Tags : นักร้อง นักรบ

view