สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เปิดใจ จิราธิวัฒน์ เสียศูนย์..เซ็นทรัลเวิลด์ถูกเผา

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

หลังห้างฯเซนวอด ไปกับเปลวเพลิงพร้อมกับการปิดให้บริการเซ็นทรัลเวิลด์นานเกือบสองเดือน วันนี้คนตระกูล "จิราธิวัฒน์" เปิดใจว่าอยู่ภาวะ"เสียศูนย์"
แม้เหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง ที่นำไปการเผาอาคารหลายแห่งในกรุงเทพฯ จะจบลงไปแล้ว แต่ภาพที่ยังหลอนคนในตระกูล "จิราธิวัฒน์" ไม่หาย นั่นคือ การเผาศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2553 หลังกลุ่มผู้ชุมนุมส่วนหนึ่ง ไม่พอใจที่แกนนำ นปช.บางคนที่เข้ามอบตัว

ส่งผลให้ห้างสรรพสินค้าเซนถูกเพลิงลุกไหม้ต่อเนื่องหลายชั่วโมง ค่อยๆ ทรุดตัวลงมาจนวอดไปทั้งอาคาร นำไปสู่การปิดให้บริการของศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์นานเกือบสองเดือนแล้ว แม้จะเริ่มเปิดให้บริการห้างสรรพสินค้าอิเซตันเมื่อปลายเดือน มิ.ย. 2553 ก็ตาม

ที่ผ่านมาคนในตระกูลนี้เก็บตัวเงียบไม่ยอมพูดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อาจเป็นเพราะยังทำใจไม่ได้ แต่มาถึงวันนี้พร้อมแล้วที่จะ “เปิดใจ” ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับศูนย์การค้าขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ในอาเซียน

สุทธิธรรม จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหารบริษัทกลุ่มเซ็นทรัล จำกัด ผู้บริหารซึ่งดูแลภาพรวมธุรกิจของกลุ่มเซ็นทรัล ที่ปีหนึ่งๆ มีรายได้รวมกันกว่าแสนล้านบาท โดยในปี 2552 กลุ่มเซ็นทรัลมียอดขายรวมทั้งสิ้น 1.1 แสนล้านบาท

กับคำถามจี้ใจที่ว่า...ทำไมถึงต้องเป็นเซ็นทรัลเวิลด์ ???  “สุทธิธรรม” บอกว่า...

“ถ้าจะพูดติดตลกหน่อยก็คือ ของเราเท่ที่สุด ดีที่สุด ดังที่สุด ถ้าไปเผาตึกอื่นไม่ดัง เหมือนตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ที่นิวยอร์ก ถ้าจะเผาก็ต้องเผาที่นั่น แม้เซ็นทรัลเวิลด์จะเปลี่ยนชื่อจากเวิลด์เทรด หลบชื่อนี้ไปแล้วก็ยังหนีไม่พ้น

ผมเป็นคนเปลี่ยนชื่อ ตั้งแต่วันแรกพี่วิรุฬ (เตชะไพบูลย์ ผู้ดำเนินกิจการศูนย์การค้าเวิลด์เทรด เซ็นเตอร์ เดิม) ให้ผมไปพบ กว่าจะคุยกันจบก็ปีครึ่ง ในใจผมแต่แรกก็ไม่เอาชื่อเวิลด์เทรดฯอยู่แล้ว เพราะชื่อนี้ผมไม่ชอบ” สุทธิธรรมเล่า แม้เขาจะจะเป็นคนไม่เชื่อเรื่องโชคลาง สักนิด ก็ตาม

“คนก็บอกว่าเป็นอาถรรพ์หรือเปล่า เป็นเรื่องโชคลางไหม ผมไม่ได้คิดอะไรมากในเรื่องนั้นอยู่แล้ว ไม่คิดว่าเขามาเผาเพราะชื่อเวิลด์เทรดฯ แต่เพราะที่นี่เป็นเหมือ นแลนด์มาร์ก เคาท์ดาวน์ก็ต้องใช้ที่นี่ คนรู้จักทั่วโลก มีคนพูดต่างๆ นานา ว่า เป็นวังเพชรบูรณ์เดิมหรือเปล่า ผมก็เฉยๆ จริงๆ ผมอ่านข้ามหมดเลย ผมไม่ได้ลบหลู่ แต่ผมไม่ได้เชื่อเรื่องพวกนี้” สุทธิธรรม ย้ำ

เขายังเห็นว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือว่ายังไม่หนักที่สุดที่เคยเจอ เมื่อเทียบกับเหตุการณ์ไฟไหม้ศูนย์การค้าเซ็นทรัลชิดลม เมื่อปลายปี 2538 ซึ่งตอนนั้นต้องถือว่า "หนักที่สุด" แล้ว

ทว่า เหตุการณ์นี้ถือว่า “ตื่นเต้นที่สุด”

“ที่บอกว่าตื่นเต้นที่สุด เพราะไม่รู้ว่าพอเกิดขึ้นแล้วจะเกิดอะไรต่อ ไม่รู้ว่าใครเผา ถ้ารู้ว่าใครเผาก็ไม่รู้อีกว่าใครสั่งเผาอีก อย่างเซ็นทรัลชิดลมไฟไหม้เราก็รู้ว่าไหม้เพราะอะไร ไหม้หมดเลยต้องปิดร้านไปเป็นปีเสียหายมาก แต่โอเคก็ได้เงินประกันมาพอสมควรถึงแม้จะไม่คุ้ม กับธุรกิจที่ต้องหยุดชะงัก ต้องเริ่มใหม่”

สำหรับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สุทธิธรรม ให้คำจำกัดความว่า ทำให้กลุ่มเซ็นทรัล “เสียศูนย์” ไม่ต่างกับรถยนต์ที่ต้องมาตั้งศูนย์กันใหม่

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบ่นเสียดาย “รายได้” ที่หายไปโผล่ที่คู่แข่งจากการปิดกิจการเกือบสองเดือน ไม่นับการปิดๆ เปิดๆ ให้บริการซึ่งตอนนั้นยอดขายก็หายไปกว่า 50% เนื่องจากในบรรดาศูนย์การค้าทั้ง 15 แห่งของเซ็นทรัล เซ็นทรัลเวิลด์ขายดีที่สุด

“ถือว่าเราเสียศูนย์ เราไม่ได้ค้าขายก็กระทบเรื่องมาร์เก็ตติง ทำให้คู่แข่งมีผลพลอยได้จากเซ็นทรัลเวิลด์ที่กำลังโต โดยเฉพาะศูนย์การค้าใหม่ๆ ที่ได้ประโยชน์ไปเต็มๆ ไม่ต้องโฆษณา หรือพารากอน และเกสร ก็ได้อานิสงส์”

ส่วนการประเมินความเสียหายจากเหตุการณ์เพลิงไหม้ และความเสียหายจากธุรกิจที่หยุดชะงัก (Business Interruption) นั้น สุทธิธรรม บอกว่า จนถึงวันนี้บริษัทประกันยังอยู่ระหว่างการสำรวจความเสียหายร่วมกับผลสรุปของ ทางตำรวจ

อย่างไรก็ตาม วงเงินประกันที่ทางบริษัทเซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN ทำไว้ ประกอบด้วย การประกันภัยคุ้มครองภัยก่อการร้าย การจลาจล และการกระทำที่เป็นเจตนาร้ายที่ทำไว้ในวงเงิน 3,500 ล้านบาท และการประกันภัยในส่วนของชอปปิงพลาซา ในลักษณะ Industrial all risk ที่ทำไว้ในวงเงิน 13,000 ล้านบาทนั้น

เขาเห็นว่า วงเงินประกันที่ทำไว้ยังไงก็ “ไม่ครอบคลุม” ความเสียหายที่เกิดขึ้น

“ยังไงก็ไม่มีทาง Cover เพราะทำประกันไว้น้อยมาก คร่าวๆ เรารู้อยู่แล้วว่าไม่พอ”

เขายังยอมรับว่า การปิดให้บริการศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ รวมถึงการเปิดๆ ปิดๆ ในช่วงเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงที่สี่แยกราชประสงค์ ทำให้ยอดขายรวมของกลุ่มเซ็นทรัลในปี 2553 พลาดเป้า จากที่เคยตั้งเป้ายอดขายรวมไว้ที่ 1.18 แสนล้านบาท

ทว่าเขายังมองโลกในแง่ดีว่ารายได้จะพลาดเป้าไม่เกิน 2% ของรายได้รวม หรือไม่เกิน 2,360 ล้านบาท เนื่องจากมีรายได้ส่วนหนึ่งที่เพิ่มขึ้นจากการที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัล ลาดพร้าวที่เลื่อนการปิดปรับปรุงออกไป

เขายังระบุว่า CPN มีรายได้จากค่าเช่าเซ็นทรัลเวิลด์ไม่ถึง 20% ของรายได้ โดยในปี 2552 CPN มีรายได้ 16,164.47 ล้านบาท หรือ ไม่เกิน 3,232 ล้านบาท อีกทั้งยังไม่ได้ส่งผลกระทบเต็มปี เนื่องจากเซ็นทรัลเวิลด์ไม่ได้ปิดให้บริการทั้งปี “สุทธิธรรม” ระบุ

ร่วมถึงจะไม่ส่งผลกระทบต่อกระแสเงินสด (Cash Flow) ที่เขาระบุว่า หนี้สินต่อทุน (D/E) ของกลุ่มเซ็นทรัลยังไงก็จะสูงไม่เกินสูงเกิน 1

สุทธิธรรม ยังหวังว่า หลังจากห้างสรรพสินค้าอิเซตันเปิดให้บริการอีกครั้งเมื่อปลายเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา จะตามมาด้วยการเปิดให้บริการของเซ็นทรัลเวิลด์ราวเดือน ก.ย. 2553 เพื่อให้ทันกับการจัดงานเคาท์ดาวน์ ฟื้นเซ็นทรัลเวิลด์ให้กลับมาอยู่ในความนิยมอีกครั้ง ส่วนห้างสรรพสินค้าเซนจะเปิดให้บริการได้อีกครั้งในเดือน ส.ค.- ก.ย. 2554 

ดังนั้นจากผลกระทบที่เกิดขึ้น ในมุมมองของสุทธิธรรมจึงเห็นว่า ไม่เข้าตำราเด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว

โดยเขายืนยันว่า กลุ่มเซ็นทรัลจะยังคงเดินหน้าตามแผนลงทุนในปี 2553 ที่ตั้งไว้ที่ 16,000 ล้านบาท แม้ว่างบในจำนวนนี้ส่วนหนึ่งจะจัดไว้เพื่อปรับโฉมศูนย์การค้าเซ็นทรัล ลาดพร้าว ก็ตาม

“เราก็ต้องคุยกันในบอร์ดว่า เราเสียหายแค่นี้ เงินหายไปเท่าไหร่ เมื่อดูแล้วก็คิดว่าเป็นตัวเลขที่ไม่ได้มากนัก เมื่อเทียบกับตัวเลขของทั้งกลุ่ม ขณะที่เซนจัดเป็นพื้นที่ที่เป็นการเซ้งระยะยาว จึงไม่กระทบต่อการรับรู้รายได้ของCPN เห็นง่ายๆ หลังเหตุการณ์รุนแรงหุ้นตกวันสองวันก็กลับมาเหมือนเดิม เพราะนักลงทุนมองว่าไม่ได้กระทบระยะยาว”

อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่ปรับงบการลงทุน แต่สุทธิธรรม ยอมรับว่า จากนี้ไปกลุ่มเซ็นทรัลจะต้องปรับกลยุทธ์ลงทุน โดยหันมา “เพิ่มน้ำหนัก” ในเรื่องของความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ให้มากขึ้น สอดรับกับแผนของกลุ่มฯที่ต้องการขยายการลงทุนไปในต่างจังหวัดมากขึ้น

"การไปต่างจังหวัดหรือขยายสาขาในกรุงเทพฯ จะต้องคำนึงถึงเรื่อง CSR เพื่อช่วยรัฐอีกที เพราะรัฐบาลยังทำไปไม่ถึง หลายอย่าง โดยเฉพาะการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของคนในสังคม คนในหมู่บ้านเล็กๆ ยังมีความเป็นอยู่ไม่ทัดเทียมกับคนที่อยู่ในเมืองหรืออำเภอที่ใหญ่กว่า คุณภาพชีวิตก็ต่างกัน

เราจะทำเป็นโครงการนำร่องในบางหมู่บ้านที่จะต้องช่วยพัฒนาให้เขามีความ เป็นอยู่ คุณภาพชีวิตดีขึ้น หากเป็นโครงการที่ดีภาครัฐก็จะได้นำไปต่อยอด" สุทธิธรรม ระบุ แต่ยังอุบงบด้าน CSR ว่าจะทุ่มลงไปมากน้อยแค่ไหน

โดยเขาปฏิเสธว่า การเพิ่มน้ำหนักด้าน CSR ไม่เกี่ยวข้องกับความกังวลว่า ใคร? จะมาเผาอีกรอบ

“ถามว่าเรากลัวเสื้อแดงไหม เราไม่กลัว มีความเสี่ยงเดียวกับเสื้อแดงคือหากรัฐบาลยังคุยไม่รู้เรื่อง เขาก็ถือโอกาสหา แพะรับบาป เราไม่ได้เกี่ยวกับเสื้อแดงเลย เรากับเสื้อแดงก็รักกันดี เรากับเสื้อเหลืองก็รักกันได้ เราไม่มีสีเสื้อ” เขาว่าอย่างนั้น

พลิกดูแผนลงทุนของกลุ่มธุรกิจค้าปลีก (CRC) พบว่า ในช่วง 1-2 ปีนี้ มีแผนจะขยายศูนย์การค้าไปยังเชียงราย ตามมาด้วยพิษณุโลก เชียงใหม่ และลำปาง

เขายังอยากจะถึงบรรดาบริษัทขนาดใหญ่ในเมืองไทยว่า ควรจะหันไปให้ความสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำของคนในสังคม โจทย์คือการทำอย่างไรให้ความเจริญทัดเทียมกัน ไม่รวยกระจุก จนกระจาย

นอกจากนี้ ในแง่ของการรักษาความปลอดภัย “สุทธิธรรม” บอกว่าต่อจากนี้ไป จะประมาทไม่ได้ เนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่า “เหตุการณ์ อย่างนี้ไม่มีใครมาช่วยคุณ” โดยเฉพาะระบบรักษาความปลอดภัยของเซ็นทรัลเวิลด์

“ตอนนี้เราได้ตั้งหน่วยงานด้านรักษาความปลอดภัยขึ้นมาใหม่ ให้มีศูนย์บัญชาการอยู่ที่เซ็นทรัลชิดลม โดยมอบหมายให้มีคนดูแลเฉพาะ เป็น Head ระดับฝ่ายเพื่อ manage ทั้งหมด รายงานตรงกับผู้บริหาร”

เขายังเข้าใจเปรียบเปรยท่าทีของรัฐในการแก้ไขปัญหาเพลิงไหม้ที่เซ็นทรัล เวิลด์ที่ช่วงที่ผ่านมาว่า

“เหมือนเราจ่ายภาษีให้รัฐบาลไปซื้อปืน แต่เขาไม่ซื้อปืนมาใช้กับเรา เรากลับถูกคนเอาปืนมายิง เพราะเราไม่มีไลเซ่นใช้ปืน ถ้ารัฐบาลไม่ทำ ต่อไปเราก็ต้องมีปืนแทนรัฐบาล” นั่นหมายถึง การเพิ่มดีกรีของระบบรักษาความปลอดภัย

ขณะที่แผนการรุกการลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะในจีนยังคงเดินหน้า แต่ไม่ได้เร่งมากขึ้นเพราะอยากหนีไปลงทุนนอกประเทศ “สุทธิธรรม” บอก
 
“ไม่ น่าจะไปมากขึ้น เพราะเงินมีน้อยลง ก็คงจะเหมือนเดิม คือที่จีน มีหลายที่เราลงนามสัญญาไว้แล้ว ที่จะเปิดปีหน้าก็ที่เซิ่นหยาง นอกจากนี้คาดว่า CRC จะได้ลงนามสัญญาแน่ๆ ในปีนี้ก็อีก 6-7 แห่ง

ในส่วนของ CPN แม้ตอนนี้ยังไม่มีข่าวดี แต่ก็ศึกษาไปแล้ว 3-4 ศูนย์ หนึ่งในนั้นได้ลงนาม Letter of Intent ไปแล้ว ซึ่งยังไม่รู้ว่าถึงสิ้นปีซีพีเอ็นจะได้ลงนามกี่ศูนย์”

เขายังประเมินผลกระทบใน 5 กลุ่มธุรกิจของกลุ่มเซ็นทรัล ได้แก่ กลุ่มธุรกิจค้าปลีก (CRC) กลุ่มธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (CPN) กลุ่มธุรกิจค้าส่ง (CMG)  กลุ่มธุรกิจอาหาร (CRG) และกลุ่มธุรกิจโรงแรม (CHR) ว่า กลุ่มธุรกิจที่น่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุดน่าจะเป็นกลุ่มธุรกิจโรงแรม เพราะจนถึงปัจจุบันท่องท่องเที่ยวต่างชาติยังคงบางตา

“กระทบอยู่แล้วมีเรื่องอย่างนี้ อยู่ๆ มีการเผา เดินขบวน ที่เห็นชัดๆ อย่างธุรกิจจัดประชุมมีเยอะมาก แต่ตอนนี้หายไปเยอะ ผู้จัดไม่กล้าจัด เพราะเขากลัวขาดทุน ถ้าจัดไปแล้วคนไม่มา”

สุทธิธรรมยังบอกว่า ในช่วง 6 เดือนที่เหลืออยู่ สิ่งที่กลุ่มเซ็นทรัล จะต้องเร่งดำเนินการคือ การทำมาร์เก็ตติ้ง โดยได้ตั้งงบไว้สูงถึง 300 ล้านบาท เพื่อหวังดึงลูกค้าเก่าที่แปรใจให้กลับมา โดยจะอัดแคมเปญหนักๆ ในช่วงปลายปี

"ต้องรุกด้านมาร์เก็ตติงมากขึ้น แคมเปญแรงๆ มีอยู่แล้ว โดยเฉพาะงานเคาท์ดาวน์ปลายปี เราจะโฆษณาไปตอนนี้ไม่มีประโยชน์เพราะตึกยังไม่เปิด ผมว่าเซ็นทรัลเวิลด์ดังอยู่แล้ว location ดีอยู่แล้ว ศูนย์เราได้รางวัลระดับโลก (ได้รับรางวัล Best of the Best จากสมาคมศูนย์การค้าโลก) เชื่อว่าพอเราเปิดมาคงดีกว่าเดิม ไม่แย่กว่าเดิมอยู่แล้ว และต้องได้รับความนิยมไม่น้อยกว่าเดิม" เขาตั้งความหวัง

ส่วนกรณีที่กลุ่มเซ็นทรัลขอต่อสัญญาเช่าที่ดินและทรัพย์สินของการรถไฟ แห่งประเทศไทย (รฟท.) บริเวณสามเหลี่ยมพหลโยธิน (เซ็นทรัล ลาดพร้าว) ออกไปอีก 2 ปี ไปจนถึงปี 2573 นั้น สุทธิธรรมชี้แจงว่าเป็นคนละเรื่อง (เดียวกัน) กับการที่เซ็นทรัลเวิลด์ถูกเผา

เนื่องจากเหตุผลที่แท้จริงเป็นเพราะกลุ่มเซ็นทรัลต้องจ่ายค่าเช่าใหม่ให้ กับ ร.ฟ.ท.ขณะที่ไม่สามารถไปเพิ่มค่าเช่ากับร้านค้าได้ เนื่องจากเซ็นทรัลเวิลด์ยังไม่ได้ปิดปรับปรุง ซึ่งเป็นผลจากเหตุเพลิงไหม้ที่เซ็นทรัลเวิลด์

"ที่ต้องขอต่อสัญญาเพราะเราจ่ายค่าเช่าใหม่ให้กับรถไฟฯไปแล้ว แต่เราไม่ได้รับค่าเช่าใหม่จากร้านค้าเพราะเราไม่ได้ปิดเพื่อ Renovate ถ้าเกิดเซ็นทรัล ลาดพร้าวปิด เซ็นทรัลเวิลด์ก็ปิด ก็ขาดที่ช้อป เราก็ต้องเปิดลาดพร้าวต่อ ทั้งๆ ที่ไม่อยากเปิดเท่าไหร่ แต่ต้องเปิดเพื่อให้เซ็นทรัลไม่หายไปหมด เราก็บอกทางรถไฟฯไปว่า เนื่องจากเราปิดปรับปรุงช้าไปเป็นปี ก็ควรจะต่อสัญญาให้เราอีกปีหรือสองปี แต่ไม่ใช่ไม่จ่ายค่าเช่านะเราจ่ายด้วย"

เขายังระบุว่า ลึกๆ แล้ว การที่เซ็นทรัล ลาดพร้าวไม่ได้ปิดปรับปรุง รัฐควรจะมีส่วนรับผิดชอบ จากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองที่เกิดขึ้น

"ถ้าเผื่อรัฐบาลเห็นใจ และถ้ามองลึกๆ ก็เป็นความผิดของรัฐบาลที่ทำให้เกิดเรื่องพวกนี้ขึ้น ไม่สามารถจบได้สวย แล้วก็ที่เราเช่าก็เป็นของรัฐ รัฐก็ควรจะช่วย"

กลุ่มเซ็นทรัล คงต้องลุ้นกันต่อไปว่า ท้ายที่สุด รัฐจะตัดสินใจอย่างไรในเรื่องนี้

@เบื้องหลังเหตุการณ์ที่ "ตื่นเต้นที่สุด"

สุทธิ ธรรมเล่าว่า วันแรกที่กลุ่มคนเสื้อแดงเคลื่อนขบวนมาชุมนุมประท้วงที่สี่แยกราชประสงค์ เป็นวันแรกเช่นกัน ที่ผู้บริหารกลุ่มเซ็นทรัล ไหวตัวไปตั้งศูนย์บัญชาการ หรือ "วอร์รูม" นอกพื้นที่ที่เขาไม่ขอเปิดเผยสถานที่ แต่จากการสอบถามคนในวงการค้าปลีก ระบุว่า พื้นที่บริเวณเซ็นทรัล ลาดพร้าว น่าจะเป็นชัยภูมิที่เหมาะสมที่สุดแล้วที่จะตั้งเป็นศูนย์บัญชาการ เพราะอยู่ใจกลางเมือง และห่างจากจุดที่มีการชุมนุมพอสมควร

"เรามีวอร์รูมตั้งแต่เดินขบวน บอกไม่ได้เป็นความลับ วอร์รูมจะมีเจ้าหน้าที่ประจำ 24 ชั่วโมง มีผู้บริหารระดับหนึ่งประจำอยู่เพื่อประเมินสถานการณ์ก่อนรายงานตรงถึงผู้ บริหารระดับสูงได้ทุกเมื่อ เช่น เหตุการณ์แบบนี้จะเปิดหรือปิดห้าง กี่โมง วอร์รูมเราจะมี Message ถึงเราตลอดทุกสิบนาที หรือทุกครึ่งชั่วโมง แล้วแต่ความเคลื่อนไหว" สุทธิธรรม เล่าและว่า ตอนที่เกิดเหตุการณ์บอร์ดชุดเล็ก ชุดใหญ่ เรียกประชุมด่วนกันหมด

เขายังบอกว่า รู้สึกตกใจเมื่อกลุ่มผู้ชุมนุมย้ายมาชุมนุมที่สี่แยกราชประสงค์ ยิ่งเมื่อการชุมนุมเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ผู้ประกอบการศูนย์การค้าขนาดใหญ่ละแวกนั้นเริ่มนั่งไม่ติด ต้องนัดรวมตัวเพื่อพูดคุยกันเป็นระยะ อาทิ สยามเซ็นเตอร์ (ชฎาทิพ จูตระกูล) สยามพารากอน (ศุภลักษณ์ อัมพุช)  และ เกสร (ชาย ศรีวิกรม์) เป็นต้น

"คุณแป๋ม (ชฎาทิพ) อยากให้ผมไปประชุมที่สยาม ผมก็บอกว่า ไม่มีใครอยากไป เสี่ยง ใกล้ไป ก็บอกว่าประชุมที่ลาดพร้าวดีที่สุด ก็ประชุมกันหลายครั้งหลายครา ประชุมว่าเราต้องทำอะไรเหมือนๆ กัน และพอเลิกชุมนุมแล้วจะเป็นอย่างไร ต้องช่วยพนักงาน ช่วยผู้ที่เกิดปัญหาอย่างไร

เราไม่เคยคิดว่าจะมีการเผา เพียงคิดกลัวว่าจะมีคนบุกเข้าไปขโมยของ บางคนก็คิดว่า เดี๋ยวจะเลิกๆ ชุมนุม แล้ว เราเตรียมตัวกวาดถนน กวาดบ้าน ก็ไม่เลิกอีกแล้ว"

สุทธิธรรม ยังเล่าถึง วินาทีที่เห็นห้างสรรพสินค้าเซนถูกเผาว่า..

"สะเทือนใจ ทุกคนยืนน้ำตาปริบ ร้องไห้ไปหลายคน ก็เห็นแล้วตกใจ จริงๆ เป็นเหตุสุดวิสัย ทำใจว่าเราต้องสู้ต่อไป เสียหายจุดนี้ไม่เท่ากับเสียหายทั้งกลุ่ม แต่ก็ไม่ใช่จิ๊บจ๊อย ก็พอสมควร แต่พอถอยหลังแล้วต้องกลับมาสู้ต่อ เราสูญเสียลูกค้าให้คนอื่นไป เราเรียกกลับมาอย่างไร"

เขายังระบุว่า รู้สึกเสียใจกับประเทศไทยว่าทำไมจึงเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ พลเมืองไทยมีน้อยกว่าเวียดนาม แต่ทำไมยังมีปัญหาเรื่องการบริหารคน

"ที่ผมเสียใจมากจริงๆ ก็เรื่องประเทศไทยว่า ผมอยู่มาขนาดนี้ มีความสุขขนาดนี้ ประเทศไทยมาเป็นอย่างนี้ แล้วรุ่นน้องรุ่นลูกผมน่าสงสารเขา ประเทศเราเสียชื่อเสียงไปทั่วโลก ทำให้คนอื่นมองเราไม่ค่อยดี รอยยิ้มหายไปไหน มาสู้กัน ทำไมไม่ปรองดอง สามัคคี"

สุทธิธรรมยังเห็นว่า สิ่งที่ท้าทายในปีนี้ ไม่ใช่เรื่องของเศรษฐกิจ แต่เป็นเรื่องของ เสถียรภาพทางการเมือง

"เศรษฐกิจไทยไปได้ มีเรื่องการเมืองไม่มีเสถียรภาพ แต่ก็มีข่าวดีเรื่องเงินหยวนแข็งค่า มีการชุมนุมประท้วงที่จีน ทำให้คนรู้ว่า ทุกประเทศก็มีความเสี่ยงอยู่ ไปจีนก็ไม่ใช่ว่าดีตลอด ทำให้นักลงทุนกลับมามองอาเซียนมากขึ้น ทำให้เราเขย่งๆ เดิน โผล่หัวในน้ำได้บ้าง  มีปัจจัยการเมืองเป็นปัจจัยเดียวที่ทำให้สะดุดไปสะดุดมา อุตสาหกรรมที่กระทบมากที่สุดคือท่องเที่ยว ซึ่งกระทบต่อมายังธุรกิจค้าปลีก"

Tags : เปิดใจ จิราธิวัฒน์ เสียศูนย์ เซ็นทรัลเวิลด์ ถูกเผา

view