สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

กรีนพิซเตือนน้ำในเจ้าพระยา กำลังเสียถาวรจากปนเปื้อนสารเคมี

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

โดย : วริศ พันธุ์โอสถ


กรีนพีซสำรวจพบ โรงงานจำนวนมากปล่อยสารเคมีอันตรายลงเจ้าพระยาตอนล่าง เรียกร้องรัฐบาลเข้ามาดูแล หวั่นสูญเสียถาวร
นายพลาย ภิรมย์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านสารพิษ กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่าจากการตรวจสภาพคลองซึ่งเชื่อมกับแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างพบว่าน้ำใน คลองปนเปื้อนสารเคมีอันตรายอย่างหนัก การสำรวจมีขึ้นเมื่อช่วงเดือนก.พ. - มี.ค. พ.ศ. 2553 ครอบคลุมสามคลองได้แก่ คลองสำโรง คลองบางนางเกร็ง และคลองบางปลากด คลองทั้งสามมีโรงงานเรียงรายตลอดคลองและมีการปล่อยสารเคมีอยู่ตลอด

นายพลายกล่าวว่าจากการที่กรีนพีซได้ศึกษาลุ่มเม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างๆ ได้เห็นปัญหาที่ชาวบ้านต้องเผชิญจากโรงงานอุตสาหกรรมจึงทำการศึกษาเจาะลึก ด้วยการสุ่มตรวจน้ำและตะกอนดินในคลองที่มีโรงงานอยู่หนาแน่นและเชื่อมกับแม่ น้ำเจ้าพระยา โรงงานที่สำรวจจะเน้นโรงงานฟอกย้อมคือโรงงานสามชัยพิมพ์ผ้าและโรงงานฟอกผ้า นำบุญเพราะจะเห็นปล่อยสารเคมีลงน้ำอยู่ตลอดเวลา

ตัวอย่างน้ำและตะกอนดินที่เก็บมาถูกส่งไปตรวจวิเคราะห์หาสารพิษและโลหะ หนักที่ห้องปฏิบัติการและวิจัยของกรีนพีซสากลที่ประเทศอังกฤษ

นายพลายกล่าวว่าการสุ่มตรวจครั้งนี้มีเพื่อชี้ให้เห็นปัญหาและเสนอ มาตรการหรือเครื่องมือให้รัฐในการแก้ไขปัญหา

“นี่เป็นเพียงแค่สามในหลายสิบหลายร้อย คลองทั้งสามมีโรงงานเป็นพันๆ” นายพลายกล่าวและว่า “เจ้าพระยาตอนบนนี่น้ำจะดี แล้วค่อยๆ แย่ลง พอเข้าสมุทรปราการก็เสื่อมโทรมมาก

นายพลายกล่าวว่าจากการสัมภาษณ์ชาวบ้านที่อยู่แถวคลอง ชาวบ้านต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าฟ้องไปก็ไม่ได้อะไร จนสุดท้ายชาวบ้านก็ค่อยๆ ย้ายออก หรืออยู่ต่อไปอย่างทุกข์ทรมาน น้ำที่แต่ก่อนเคยใช้ทั้งอุปโภคบริโภค ทำอาชีพหาปลา ตอนนี้กลายเป็นสีแดง ดำ เขียว เหลือง

นายพลายกล่าวว่าเวลาในแม่น้ำเจ้าพระยาน้ำขึ้นโรงงานเหล่านี้จะบอกให้เปิด ประตูน้ำเพื่อปล่อยสารเคมีเหล่านี้ลงแม่น้ำไป และจากการสอบถามชาวบ้านโรงงานจะปล่อยน้ำเสียเวลากลางคืนโดยน้ำจะสกปรกกว่า เวลากลางวัน หรือเวลาฝนตกก็จะมีการปล่อยน้ำเสียเยอะเช่นกัน

“ตอนไปตรวจสอบนั่งเรือเล็ก ตลอดทางจะเป็นคลอง สีดำ เหลือง เขียว แดง” นายพลายกล่าว

ในรายงาน “การตรวจสอบสารเคมีอันตรายในน้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรมฟอกย้อมสองแห่งและ การปนเปื้อนของสารเคมีในคลองบริเวณใหล้เคียงงซึ่งเชื่อมต่อกับแม่น้ำเจ้า พระยาตอนล่าง ประเทศไทย พ.ศ. 2553” ซึ่งจัดทำขึ้นโดยกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่าน้ำทิ้งจากโรงงานสามชัยพิมพ์ผ้ามีสารพิษที่สำคัญ ได้แก่ โนนิลฟีนอล (Nonyl phenols) ซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อการทำงานของฮอร์โมนในสิ่งมีชีวิต นอกจากนี้ยังพบ 2 – เนฟทาลีนาทมีนซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ และพบการปนเปื้อนของทองแดง โครเมียม และสังกะสี

การเก็บตัวอย่างน้ำและดินตะกอนจากคลองสำโรงช่วงที่ไม่ไกลจากแม่น้ำเจ้า พระยานัก พบว่าน้ำคลองมีสารพิษโนนิลฟีนอลและไตรไอโซบิวทิลฟอสเฟต (Tibp) เหมือนที่พบจากท่อน้ำทิ้งของโรงงาน พบปริมาณโลหะรวมของทองแดง แมงกานีส ตะกั่ว นิเกล และสังกะสีมากกว่ามาตรฐานคุณภาพแหล่งน้ำผิวดินที่ประเทศไทยกำหนดไว้ 3 - 8 เท่า ส่วนดินตะกอนมีโลหะในปริมาณสูงโดยเฉพาะสังกะสีที่มีสูงกว่าค่าพื้นฐาน 30 เท่า ส่วนใหญ่เป็นตะกอนลอย

คลองบางเกร็งพบว่ามีนิเกิลซึ่งเป็นสารที่ไม่ค่อยพบในธรรมชาติละลายอยู่ใน น้ำ นายพลายกล่าวว่าปลาที่มาจากแม่น้ำเจ้าพระยาเมื่อเจอน้ำที่ไหลมาจากคลองบาง นางเกร็งจะลอยตาย ผิวของดินตะกอนในคลองยังมีลักษณะมันๆ เหมือนมีน้ำมันเคลือบอยู่

คลองปลากดยังไม่มีสารพิษร้ายแรงในปริมาณผิดปกติ แต่เนื่องจากคลองบางปลากดไม่มีประตูน้ำกั้นระหว่างคลองกับแม่น้ำเจ้าพระยา จึงอาจทำให้สารเคมีที่โรงงานปล่อยเจือจางไป

“โนนิลฟีนอล จะสะสมในสิ่งมีชีวิต เมือปลาเล็กได้รับโนนิลฟีนอล พอปลาใหญ่กินปลาเล็กก็จะรับไป และพอมนุษย์กินปลาใหญ่ก็จะได้รับไปเช่นกัน” นายพลายกล่าว

คลองทั้งสามมีสารพิษสูงเกินไปที่จะใช้ ทำให้คลองเสียถาวร ถึงแม้จะนำไปบำบัดก็จะยังไม่สะอาดอยู่ดี ใช้ได้เพียงด้านคมนาคมเท่านั้น

“คลองข้างหลังโรงงานเคมีเราไม่ค่อยเห็น คลองเสียใช้การไม่ได้ กลิ่นจะมึน เรือก็ไม่ใช้เพราะเหม็นมาก”นายพลายกล่าวว่า

นายพลายกล่าวว่าสารพิษที่ไหลมากับน้ำจะมาตกตะกอนอยู่ในดิน ดังนั้นการกำหนดปริมาณการปล่อยจึงไม่มีความหมายอยู่ดีเพราะสุดท้ายตะกอนจะ สะสมมากขึ้นเรื่อยๆ ปัญหานี้จึงต้องป้องกันไว้ก่อน

กรีนพีซมีข้อเสนอเร่งด่วนต่อภาครัฐในการแก้ปัญหาคือ 1) นำการศึกษานี้ไปทำต่ออย่างละเอียดและให้ครอบคลุมกว่านี้ รวมถึงทำการสำรวจส่วนอื่นๆ ของประเทศด้วย 2) รวบรวมจัดทำบัญชีสารอันตรายที่ควรเลิกใช้ กระบวนการลดการใช้อาจค่อยๆ เปลี่ยนไปใช้สารที่ปลอดภัยมากขึ้นและเลิกใช้ในท้ายที่สุด

ผลการศึกษานี้นายพลายกล่าวว่าจะนำไปร้องเรียนต่อสามหน่วยงานได้แก่ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมควบคุมมลพิษ และผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ ให้กรมควบคุมมลพิษและกรมโรงงานอุตสาหกรรมทำ การปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้ท้ายที่สุดโรงงานต่างๆ พัฒนาสู่โรงงานที่มีมลพิษเป็นศูนย์ (ไม่ปล่อยมลพิษเลย) และให้ผู้ว่าฯ ทำให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายควบคุมโรงงานอย่างเข้มงวด ห้ามการใช้คลองเป็นแหล่งรองรับน้ำทิ้งจากโรงงาน และให้มีการฟื้นฟูให้คลองและแม่น้ำกลับมาสู่สภาพเดิม

สิ่งหนึ่งที่กรีนพีซเรียกร้องคือการจัดให้มีทำเนียบการปลดปล่อยและ เคลื่อนย้ายมลพิษหรือพีอาร์ทีอาร์ (PRTR) ซึ่งเป็นระบบจัดการสิ่งแวดล้อมโดยใช้หลักการให้แต่ละโรงงานต้องรายงานข้อมูล การใช้และปล่อยสารเคมีอันตรายสู่สิ่งแวดล้อม ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูล โรงงานที่ปล่อยมลพิษมากจะเกิดความละอายใจ ทำให้เกิดแรงกดดันให้ลดการปล่อยมลพิษลง ฝั่งภาครัฐก็สามารถรู้ได้ว่ามาตรการต่างๆ ของรัฐช่วยลดการปล่อยมลพิษลงหรือไม่เท่าไร

“ในสหัรฐอเมริกา มีการใช้กฎหมายนี้มาตั้งแต่ปี 1980 ยุโรปก็ใช้มาหลายสิบปีแล้ว ในเอเชียก็มีประเทศญี่ปุ่นเกาหลีที่ใช้ได้ผลมาก ข้อสังเกตก็คือไทยเป็นฐานผลิตให้กับบริษัทจากประเทศพวกนั้น” นายพลายกล่าวและว่า “ถ้าเราเอากฎหมายมาบังคับใช้ บริษัทจะต้องยอมรับ เพราะประเทศอื่นก็ใช้”

นายพลายกล่าวว่าทางกรมควบคุมมลพิษเคยบอกว่าจะนำเรื่องนี้เข้า แผนให้เร็วที่สุด แต่ตอนหลังก็ไปให้สัมภาษณ์ว่าคงต้องใช้เวลา 3 - 5 ปี  4 - 5 ปีต่อมาก็ยังบอกว่าต้องอีก 3 - 5 ปีเหมือนเดิม

ทางกรีนพีซจะให้เวลาปราะมาณสองอาทิตย์เพื่อดูท่าทีของหน่วยงานที่จะร้อง เรียน แล้วจะติดตามผลักดัน

“เราอยากผลักดันรัฐให้แก้ไขปัญหามากกว่า ไม่ใช่เป็นการถล่มโรงงาน ซึ่งเป็นจุดยืนของกรีนพีซมาตลอด” นายพลายกล่าวและว่า “มันไม่ใช่แค่สองโรงงานนี้แต่เป็นทุกโรงงาน”

นายพลายกล่าวว่าโรงงานมีทั้งที่มีเส้นใหญ่เละไม่มีเส้น แต่ภาครัฐก็มักจะเข้าข้างโรงงานตลอดโดยอ้างข้อกฎหมาย เป็นกฎหมายที่ไม่ได้เอื้อให้เกิดความสุขในชุมชนหรือเอื้อต่อสภาพแวดล้อม

“บางจุดที่ไม่มีชาวบ้านอยู่ คนป่วยอาจเป็นคนที่อยู่ในโรงงานด้วยซ้ำ ชุมชนที่อยู่ก็อาจได้รับสารพิษทั้งทางน้ำและอากาศ สัมภาษณ์เขา เขาก็บอกว่าสุขภาพย่ำแย่มาตลอด ผื่นคันนี่เป็นเรื่องปกติของคนที่สัมผัสน้ำ” นายพลายกล่าว
นายพลายกล่าวอีกว่าด้านสุขภาพจิตก็เป็นปัญหาเพราะในชุมชน มีกลุ่มผู้สูงอายุอยู่มาก


กรีนพีซระบุ เจ้าพระยาปนเปื้อนสารเคมีอันตรายอื้อ

จาก โพสต์ทูเดย์

13 กรกฎาคม 2553 เวลา 15:29 น.

 กรีนพีซเปิดเผยรายงาน พบสารพิษปริมาณสูงในคลองที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำเจ้าพระยา เหตุมาตรการควบคุมและตรวจสอบของภาครัฐหละหลวม

องค์กรรณรงค์อิสระ กรีนพีซ เปิดเผย รายงานล่าสุดเรื่อง “การตรวจสอบสารเคมีอันตรายในน้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรมฟอกย้อมและการปน เปื้อนของสารเคมีในคลองบริเวณใกล้เคียงซึ่งเชื่อมต่อกับแม่น้ำเจ้าพระยาตอน ล่าง ประเทศไทย พ.ศ. 2553” พบว่า ตัวอย่างน้ำทิ้งจากโรงงานฟอกย้อม ปนเปื้อนไปด้วยสารเคมีอันตรายหลายชนิด เช่น พบสารโนนิลฟีนอล (Nonyl phenols) ซึ่งเป็นสารที่คงทนในสิ่งแวดล้อม มีคุณสมบัติรบกวนการทำงานของฮอร์โมนในสิ่งมีชีวิต และสาร 2-เนฟทาลีนาทมีน หรือ 2-เนฟทิลเอมีน (2-Naphthalenamine หรือ 2 naphthylamine) ซึ่งเป็นสารที่ได้จากการสลายตัวของสีย้อมผ้าบางชนิด เป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ ในน้ำทิ้งที่ปล่อยจากโรงงานสามชัยพิมพ์ผ้า และพบสารไตร-ไอโซ-บิวทิลฟอสเฟต (tri-iso-butyl phosphate; TiBP) ซึ่งเป็นสารพิษที่ใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ ในน้ำทิ้งจากโรงงานฟอกและย้อม

นายพลาย ภิรมย์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านสารพิษ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าว ผลสำรวจที่ออกมาเป็นอีกหนึ่งของสัญญาณเตือนถึงอันตรายที่แฝงอยู่ในมลพิษ อุตสาหกรรม เมื่อสารพิษเหล่านี้ถูกปล่อยออกมาแล้ว เป็นเรื่องยากที่จะตรวจสอบและที่สำคัญคือยากที่จะกำจัดสารเคมีเหล่านี้ให้ หมดไปจากแหล่งน้ำ ซึ่งบางชนิดก็เป็นสารพิษที่ส่งผลกระทบต่อมนุษย์

ตัวอย่างน้ำที่เก็บจากคลองสำโรง พบสารโนนิลฟีนอลและไตร-ไอโซ-บิวทิลฟอสเฟต (TiBP) รวมถึงโลหะหนักอย่างทองแดง ตะกั่ว แมงกานีส นิกเกิล และสังกะสี มีค่าเกินมาตรฐานแหล่งน้ำผิวดินของไทยประมาณ 3-8 เท่า และตัวอย่างตะกอนดินพบปนเปื้อนโครเมียม ทองแดง นิกเกิล ตะกั่ว และสังกะสีในระดับสูง โดยสังกะสีมีค่าสูงกว่าค่าความเข้มข้นพื้นฐานมากถึง 30 เท่า  และยังพบทองแดงและนิกเกิลสูงกว่าค่ามาตรฐานน้ำผิวดินของไทยถึง 2 เท่า

“หลายประเทศได้มีการควบคุมการใช้และการปล่อยสารโนนิลฟีนอลและ 2-เนฟทาลีนาทมีน ซึ่งมีความเป็นพิษและยากที่จะกำจัดออกจากสิ่งแวดล้อมตัวอย่างที่กล่าวมา บ่งชี้ถึงปัญหาโดยรวมของน้ำทิ้งอุตสาหกรรมที่ล้วนปล่อยลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา หรือคลองที่เชื่อมต่อ ซึ่งต้องแก้ไขโดยด่วน นอกจากนี้ ยังแสดงให้เห็นว่ากรมโรงงานอุตสาหกรรมและกรมควบคุมมลพิษไม่สามารถปกป้อง แหล่งน้ำของเราจากการปนเปื้อนสารพิษได้ ยังไม่ครอบคลุมและไม่สามารถควบคุมการใช้และปลดปล่อยสารพิษสู่สิ่งแวดล้อมได้ อย่างเพียงพอ” นายพลายกล่าว

Tags : กรีนพิซ เจ้าพระยา เสียถาวร ปนเปื้อนสารเคมี

view