สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เวทีปฏิรูปใต้แนะชะลอแผนพัฒนาพื้นที่

จาก โพสต์ทูเดย์

อยากให้ภาครัฐเอาภาคประชาชนเป็นทัพหน้า ไม่ใช่เอาทหารเข้ามาอย่างเดียว เพราะการทำงานของภาคประชาชนอยู่บนฐานความเป็นจริงและเคารพซึ่งกันและกัน

โดย...วิทยา ปะระมะ

เปิดเวทีปฎิรูปภาคใต้ ชาวบ้านแนะชะลอแผนพัฒนาภาคใต้ ชี้ทำลายวิถีวัฒนธรรม-สิ่งแวดล้อม หลายจังหวัดติงโครงการขนาดใหญ่ของรัฐสร้างความแตกแยกให้ชุมชน เสนอตัดเงินเดือนส.ส.ลงครึ่งหนึ่งและตั้งสภาประชาชนเป็นสภาที่ 3

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันที่ 15 ก.ค. 2553 ที่มหาวิทยาลัยทักษิณ จ.พัทลุง ได้มีการจัดเวที “คนใต้กับแผนปฎิรูปแผ่นดิน” โดยมีผู้แทน เครือข่ายชาวบ้านจาก 14 จังหวัดภาคใต้ นักวิชาการ กรรมการสมัชชาปฏิรูปและผู้ที่เกี่ยวข้องกว่า 200 คนเข้าร่วม

นายไมตรี จงไกรจักร ผู้แทนเครือข่ายปฎิรูปสังคมและการเมือง(คปสม.)กล่าวว่าเครือข่ายต่างๆในภาค ใต้ได้ทำงานกันมานานแต่เมื่อเกิดสถานการณ์ทางการเมืองจึงมีการพูดถึงเรื่อง ปฎิรูปประเทศไทยและมีการจัดตั้งคณะกรรมการปฎิรูปและสมัชชาปฎิรูปขึ้นมา ซึ่งการเคลื่อนไหวครั้งนี้จะสรุปประเด็นต่างๆว่าคนใต้คิดอย่างไร อยากให้ปฏิรูปในเรื่องใดและหลังจากได้ข้อสรุปแล้วจะได้เสนอให้จัดสมัชชาคน ใต้เพื่อยกระดับจากคน 200 คนเป็นคน 5,000 คนในครั้งหน้า

ผู้แทนจากชุมชนศรัทธาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้กล่าวว่า ในระดับใหญ่ของการแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีการละเลยมิติเรื่องของศาสนาและชาติพันธุ์ซึ่งเมื่อ หยิบยกขึ้นมาทีไรก็มักถูกหวาดระแวง ทั้งๆที่ฐานที่มั่นของคนในพื้นที่คือทั้งสองเรื่องนี้

“เราอยากให้ภาครัฐเอาภาคประชาชนเป็นทัพหน้า ไม่ใช่เอาทหารเข้ามาอย่างเดียว เพราะการทำงานของภาคประชาชนอยู่บนฐานความเป็นจริงและเคารพซึ่งกันและกัน ดังนั้นควรส่งเสริมให้จัดระบบชุมชนหมู่บ้านใหม่โดยใช้หลักศาสนาเป็นร่มเงา ใหญ่ ผมคิดว่าถ้าทำอย่างนี้จะไม่ทำให้เกิดความแตกแยกเพิ่มขึ้น” ผู้แทนชุมชนศรัทธา กล่าว

ผู้แทนชาวบ้านจากพังงา กล่าวว่าที่อำเภอคุระบุรีและตะกั่วป่ามีปัญหาเรื่องที่ทำกินเพราะอุทยาน ประกาศทับที่ทำกินชาวบ้านและปัญหาเรื่องชาติพันธุ์คือชาวเลถูกนายทุนบุกรุก ที่ดินแม้แต่ที่ฝังศพของบรรพบุรุษ ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคม นอกจากนี้ยังเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเสนอว่าประเทศไทยควรมี 3 สภา คือเพิ่มสภาประชาชนเข้าไปด้วยเพราะทุกวันนี้ประชาธิปไตยในระบบส.ส.ล้มเหลว มาก ไม่สามารถแก้ไขปัญหาของชาวบ้านในท้องที่ได้นี้ได้

ผู้แทนเครือข่ายขอคืนสัญชาติกล่าวว่า อยากให้ช่วยกันผลักดันพ.ร.บ.คืนสัญชาติโดยด่วน เพราะตอนนี้อยู่ในสภาลำดับที่ 52 แต่ชาวบ้านกำลังเผชิญปัญหาอย่างหนัก แม้แต่เดินทางออกนอกพื้นที่ก็ยังทำไม่ได้ และไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ขณะที่การรักษาพยาบาลแม้มีนโยบายบอกว่ารักษาได้ แต่ตอนนี้ได้รับคำตอบจากหลายพื้นที่ว่างบประมาณไม่พอ เช่นเดียวกับการทำใบขับขี่ คนที่อยู่ต่างประเทศได้หมดแล้ว แต่พวกตนที่อยู่ในประเทศกลับยังทำไม่ได้

ขณะที่ผู้แทนสภาองค์ชุมชนจังหวัดชุมพร กล่าวว่า ควรมีการพิจารณาเรื่องโครงการขนาดใหญ่ของรัฐเพราะโครงการเหล่านี้สร้างความ แตกแยกในชุมชน ซึ่งคนชุมพรเสนอให้ระงับและชะลอโครงการขนาดใหญ่ไว้ก่อน และให้ภาคประชาชนร่วมกันทำวิจัย หากเห็นว่าเกิดประโยชน์ก็ทำต่อแต่หากมีปัญหาก็ต้องระงับ

ที่สำคัญต้องไม่ให้นักการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องกับโครงการเหล่านี้ และรัฐต้องให้การสนับสนุนการทำวิจัยโดยมีชาวบ้านเป็นแกนหลักจริงๆ และขณะนี้เจ้าหน้าที่รัฐบาลบางกลุ่มเข้าข้างนายทุน ดังนั้นควรหยุดวิธีการเช่นนี้ ทั้งเรื่องการเช่าที่ดินหรือพื้นที่สัมปทาน โดยต้องมีการจัดสรรที่ดินอย่างเป็นธรรม

ผู้แทนเครือข่ายเกษตรทางเลือกกล่าวว่า ปัญหาเกษตรกรคือไม่มีปัจจัยการผลิตและการรุกคืบของทุน รวมถึงการเปิดเขตการค้าเสรี อยากให้รัฐบาลประกาศให้เรื่องความมั่นคงของเกษตรกรเป็นวาระแห่งชาติ โดยศึกษาวิจัยเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านให้อยู่ต่อไป และยุติการทำสัญญาเสรีต่างๆที่ทำให้เกษตรกรเสียเปรียบ โดยรัฐต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมและเข้าถึงข้อมูล และควรมีองค์กรอิสระเข้ามาดูแลชีวิตของเกษตรกรโดยรัฐอุดหนุนงบประมาณร้อยละ 1 ของงบแผ่นดิน

ผู้แทนภาคประชาสังคมสตูลกล่าวว่ารัฐควรให้ภาคประชาสังคมจัดการตัวเอง โดยหยุดโครงการขนาดใหญ่โดยเฉพาะท่าเรือน้ำลึกปากบาราที่มีการเวนคืนที่ดิน ไร่ละไม่กี่บาท ชาวบ้านไม่เคยได้รับรู้ข้อมูลเลยและควรมีการปฎิรูปการศึกษาควบคู่ไปด้วย

ผู้แทนสภาองค์กรชุมชนพัทลุง กล่าวว่าชาวบ้านเข้าไม่ถึงแผนพัฒนาจังหวัด แผนการพัฒนาต่างๆอยากให้ผ่านสภาองค์กรชุมชนตำบลก่อน และด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมนั้นต้องส่งเสริมให้ประชาชนจัดการกันเอง

“ทุกสิ่งที่เลวร้ายเกิดจากส.ส.ออกกฎหมาย เช่น การออกเอกสารสิทธิในป่าเสื่อมโทรม พอจะออกกฎหมายก็ให้ลูกน้องตัวเองไปถางป่า ตอนนี้ทุกคนต่างมีหนี้สาธารณะกันคนละเกือบ 7 หมื่นบาท ควรปรับเงินเดือนส.ส.จาก 2 แสนให้เหลือ 1 แสนบาทก็พอ และลดผู้ช่วยส.ส.ลงด้วย” ผู้แทนสภาองค์กรชุมชน กล่าว

นอกจากนี้ในที่ประชุมยังมีข้อเสนอไม่เอาอุตสาหกรรมปิโตเคมีมาไว้ภาคใต้ โดยพิธีการได้สอบถามผู้เข้าร่วมประชุมว่าเห็นด้วยหรือไม่ ปรากฏว่าทั้งห้องประชุมต่างยกมือและเห็นว่าแผนพัฒนาภาคได้ควรระงับไว้ก่อน และให้ชาวบ้านจัดการตัวเอง เนื่องจากพื้นที่ภาคใต้พัฒนามาจากฐานภาคเกษตรกรรมไม่ใช่ภาคอุตสาหกรรม


Tags : เวทีปฏิรูปใต้ แผนพัฒนาพื้นที่

view