สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

การปฏิรูป...ต้องเริ่มที่ตัวเอง

จาก โพสต์ทูเดย์

การที่จะรอให้คณะกรรมการชุดต่างๆ เสนอแนะการปฏิรูปการบริหารของรัฐบาลนั้นอาจช้าเกินไป รัฐบาลต้องเริ่มตรวจสอบและปฏิรูปตนเองก่อน

โดย...พล.อ.อ.วีรวิท คงศักดิ์ อดีตรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด

Thales นักปราชญ์ชาวกรีกได้กล่าวไว้เมื่อ 2,000 ปีก่อนว่า

“สิ่งที่ยากที่สุดในชีวิตมนุษย์เรา คือ การมองเห็นความบกพร่องของตนเอง จึงเสนอแนะให้ทุกคนที่ชอบมองเห็นความผิดของผู้อื่น นำความผิดผู้อื่นมาตรวจสอบพฤติกรรมของตนเอง และแก้ไขสิ่งนั้นก่อนที่จะตำหนิผู้อื่น|เท่านี้ก็จะทำให้โลกอยู่ร่วมกันด้วย สันติสุข”

“ซุนหวู” นักปราชญ์ชาวจีนก็กล่าวในลักษณะคล้ายกันว่า

“หากท่านรู้ว่าท่านและผู้ใต้บังคับบัญชาของท่านมีขีดความสามารถในเรื่อง ใดและไม่มีขีดความสามารถในเรื่องใด รบร้อยครั้ง ท่านชนะร้อยครั้ง หากท่านรู้ขีดความสามารถของท่านเอง แต่ไม่รู้ขีดความสามารถของผู้ใต้บังคับบัญชา ท่านรบชนะหนึ่งครั้ง แพ้หนึ่งครั้ง แต่หากท่านไม่รู้ทั้งขีดความสามารถของท่านเองและผู้ใต้บังคับบัญชา รบกี่ครั้งท่านก็จะปราชัยทุกครั้งไป”

สำหรับประเทศไทยของเรา เมื่อมีการจัดสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 3 เมื่อปี 2551 ผู้เข้าร่วมประชุมได้กำหนดปฏิญญาคุณธรรมซึ่งเป็นพันธสัญญาร่วมกันเพื่อนำไป สู่การปฏิบัติว่า

“เราทุกคนจะตั้งใจพัฒนาตนเอง โดยการสำรวจระดับคุณธรรมในตนเอง กำหนดวิธีการพัฒนาตนเอง มุ่งมั่นที่จะปรับเปลี่ยน และพัฒนาตนเองให้เป็นคนดี มีวินัย เป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัว ของชุมชน และของประเทศชาติ”

จากแนวคิดที่นำเสนอมาอาจสรุปได้ว่า “การปฏิรูป” ซึ่งพจนานุกรมให้ความหมายว่า “การปรับปรุงให้สมควร” ไปสู่ความปรองดองที่รัฐบาลกำลังทำอยู่ในขณะนี้ “ต้อง” เริ่มต้นที่ “ตัวเอง” โดยคนไทยทุกคนสำรวจตัวเองว่า การกระทำใดๆ ที่เคยปฏิบัติมาแล้ว ถ้ามีส่วนทำให้เกิดข้อขัดแย้งในชาติ “ต้องหยุด” กระทำทันที

แม้กระทั่งการวิพากษ์ วิจารณ์ การเสนอข่าวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งที่รู้จริงและฟังเขาเล่ามา ก็ควรจะระงับเสียบ้าง เพราะการกล่าวหากันไปมา เท็จบ้าง จริงบ้าง จะยิ่งทำให้เกิดข้อขัดแย้งแบ่งฝ่ายมากขึ้น

ถ้าคิดว่า สิ่งที่ตนรู้จะเป็นประโยชน์ในการแสวงหาข้อเท็จจริง ก็สมควรเสนอข้อมูลให้คณะกรรมการที่รัฐบาลตั้งขึ้นจะดีกว่าเสนอข่าวผ่านสื่อ เพื่อประโยชน์ของตนเอง แต่บ้านเมืองเสียหาย

สื่อมวลชนเองก็ไม่ควรยอมให้ตกเป็นเครื่องมือของคนที่ต้องการใช้ประโยชน์ จากการทำสงครามข้อมูลข่าวสารเพื่อประโยชน์ของตนเอง ด้วยการเสนอข่าวใดๆ ที่อาจจะทำให้เกิดข้อขัดแย้งหรือความเข้าใจผิด

สำหรับเกณฑ์ว่า สิ่งใดควรทำ สิ่งใดไม่ควรทำ น่าจะยึดถือปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 28 อย่างเคร่งครัด กล่าวคือ

“บุคคลย่อมอ้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือใช้สิทธิและเสรีภาพของตนได้เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล อื่น ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน”

ถ้าทุกคนช่วยกันทำตามที่กล่าวมานี้ สภาพเหตุการณ์ความขัดแย้งและการใช้ความรุนแรง ทั้งกาย วาจา ใจ และการกระทำอย่างที่เคยเกิดขึ้น ก็จะบรรเทาเบาบางลง และก้าวไปสู่การปรองดองได้โดยง่าย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งชนชั้นปกครอง (Elite) ที่มีสิทธิให้ความเห็นสื่อประเภทต่างๆ และมีอิทธิพลต่อความคิดของคนในชาติ ต้องระมัดระวังมากกว่าผู้อื่น โดยจะพูดจาอะไร “ต้องคิดก่อนพูด”

ในส่วนของรัฐบาล เมื่อทบทวนปรากฏการณ์ที่ผ่านมาคงต้องยอมรับว่า กลไกการบริหารประเทศที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน “มีปัญหา” เพราะการบริหารของรัฐบาลที่ผ่านมา 3 ชุด ตั้งแต่รัฐบาลคุณสมัคร รัฐบาลคุณสมชาย และรัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ ได้เกิดข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ว่า ไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์ความขัดแย้งของชนในชาติได้ ทั้งสามชุด

อาจเป็นเพราะรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ให้สิทธิประชาชนไว้มาก ประชาชนจึงมีความคาดหวังในสิ่งที่ต้องการมาก ในขณะที่กลไกของรัฐปรับตัวช้าไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ตาม ที่คาดหวัง ทำให้เกิดเงื่อนไข ซึ่งตรงตามหลักการก่อการร้ายที่เขียนไว้ว่า

“สภาวะที่เป็นอยู่ ไม่สอดคล้องกับสภาวะที่ต้องการจะเป็น”

เมื่อมีคนกลุ่มหนึ่งหยิบเรื่องนี้มาเป็นเงื่อนไขในการก่อความไม่สงบ จึงเกิดความรุนแรงได้ง่าย

ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลควรกระทำ คือ ปฏิรูประบบบริหารงานภาครัฐให้สามารถตอบโจทย์ที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้ใน มาตรา 78 “แนวนโยบายด้านการบริหารราชการแผ่นดิน”ดังนี้

“รัฐต้องดำเนินการตามแนวนโยบายด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ดังต่อไปนี้

(1) บริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปเพื่อการพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ และความมั่นคงของประเทศอย่างยั่งยืน โดยต้องส่งเสริมการดำเนินการตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติในภาพรวมเป็นสำคัญ

(2) จัดระบบการบริหารราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ให้มีขอบเขต อำนาจหน้าที่ และความรับผิดชอบที่ชัดเจนเหมาะสมแก่การพัฒนาประเทศ และสนับสนุนให้จังหวัดมีแผนและงบประมาณเพื่อพัฒนาจังหวัด เพื่อประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่

(3) กระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพึ่งตนเองและตัดสินใจในกิจการของ ท้องถิ่นได้เอง ส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการดำเนินการตามแนวนโยบาย พื้นฐานแห่งรัฐ พัฒนาเศรษฐกิจของท้องถิ่นและระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศในท้องถิ่น ให้ทั่วถึงและเท่าเทียมกันทั่วประเทศ รวมทั้งพัฒนาจังหวัดที่มีความพร้อมให้เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ โดยคำนึงถึงเจตนารมณ์ของประชาชนในจังหวัดนั้น

(4) พัฒนาระบบงานภาครัฐ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพ คุณธรรม และจริยธรรมของเจ้าหน้าที่รัฐควบคู่ไปกับการปรับปรุงรูปแบบและวิธีการทำงาน เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และส่งเสริมให้หน่วยงานของรัฐใช้หลักการกิจการบ้านเมืองที่ดีเป็นแนวทางใน การปฏิบัติราชการ

(5) จัดระบบงานราชการและงานของรัฐอย่างอื่น เพื่อให้การจัดทำและการให้บริการสาธารณะเป็นไปอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และตรวจสอบได้ โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน

(6) ดำเนินการให้หน่วยงานทางกฎหมายที่มีหน้าที่ให้ความเห็นเกี่ยวกับการดำเนิน งานของรัฐตามกฎหมายและตรวจสอบการตรากฎหมายของรัฐ ดำเนินการอย่างเป็นอิสระ เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปตามหลักนิติธรรม

(7) จัดให้มีแผนพัฒนาการเมือง รวมทั้งจัดให้มีสภาพัฒนาการเมืองที่มีความเป็นอิสระ เพื่อติดตามสอดส่องให้มีการปฏิบัติตามแผนดังกล่าวอย่างเคร่งครัด

(8) ดำเนินการให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐได้รับสิทธิประโยชน์อย่างเหมาะ สม”

ในข้อเท็จจริงสาระที่บัญญัติไว้นี้ นำมาจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 มาตรา 75 มาตรา 76 มาตรา 77 และมาตรา 78 เพียงแต่เขียนใหม่ให้ชัดเจนเป็น 8 ข้อ และเพิ่มเติมแนวทางการปฏิบัติ ได้แก่ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี และการพัฒนาระบบราชการ

เมื่อรัฐบาลชุดปัจจุบันเข้ารับหน้าที่ ได้เขียนแผนบริหารราชการแผ่นดิน ระบุหลักสำคัญ 4 ประการ โดยประการที่สี่ คือ พัฒนาประชาธิปไตยและระบบการเมืองให้มีความมั่นคง มีการปฏิบัติตามกฎหมาย และบังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอภาค เป็นธรรม และเป็นที่ยอมรับของสากล

แต่ถ้าประเมินกันในมิติของผลสัมฤทธิ์แล้ว รัฐบาลคงต้องยอมรับว่า หนึ่งปีครึ่งที่รัฐบาลบริหารประเทศมา ยังไม่สามารถพัฒนาระบบการบริหารประเทศให้เป็นไปตามที่รัฐบาลตั้งใจไว้ ผลงานของรัฐบาลจึงไม่มีความแตกต่างจากรัฐบาลชุดก่อนๆ โดยไม่สามารถแก้ไขปัญหาของบ้านเมืองได้เช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ เพราะรัฐบาลทุกชุดที่ผ่านมา “ไม่กล้า” กวดขันการปฏิบัติของส่วนราชการต่างๆ ให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 ซึ่งมีแนวทางการปฏิบัติที่จะตอบโจทย์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 78 ได้ทุกข้อ
นอกจากนั้น ยังไม่พยายามกวดขันปราบปรามมิให้เกิดการทุจริตและประพฤติมิชอบอย่างจริงจัง จนทำให้มีเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการคอร์รัปชันตลอดเวลา ทั้งในระดับรัฐมนตรีที่กำหนดนโยบายและข้าราชการประจำในฐานะผู้ปฏิบัติ โดยที่ไม่สามารถหาตัวผู้กระทำผิดเอามาลงโทษได้

ทั้งหมดนี้เกิดจากการที่รัฐบาลละเลยการน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเข้า มาเป็นหลักในการบริหารราชการแผ่นดิน จึงทำให้ข้าราชการขาดจิตสำนึกในการปฏิบัติตนตามรอยเบื้องพระยุคลบาทในเรื่อง คุณธรรมความดี เช่น การรักชาติ รักแผ่นดิน ความซื่อตรง ความซื่อสัตย์สุจริต ความรับผิดชอบต่อหน้าที่

ดังนั้น การที่จะรอให้คณะกรรมการชุดต่างๆ เสนอแนะการปฏิรูปการบริหารของรัฐบาลนั้นอาจช้าเกินไป รัฐบาลต้องเริ่มตรวจสอบและปฏิรูปตนเองก่อน จะได้เป็นแบบอย่างของผู้อื่นในการปฏิรูปประเทศด้วย

Tags : การปฏิรูป เริ่มที่ตัวเอง

view