สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

6 ข้อผิดพลาดในการสร้างเครือข่าย (1)

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ HR Conner

โดย อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา apiwut@riverorchid.com



วัน ก่อนผมได้รับโทรศัพท์จากน้องคนหนึ่งที่เคยทำงานร่วมกัน เขาโทร.มาเพื่อแจ้งให้ทราบว่า ตอนนี้เขาว่างงาน และกำลังอยู่ในระหว่างการหางานใหม่ ซึ่งเหตุผลหลักที่โทร.มา จริง ๆ แล้วคือเพื่อขอคำแนะนำในการหางานใหม่ เขาเล่าว่า เขาพยายามหางานทางหนังสือพิมพ์ก็แล้ว อินเทอร์เน็ตก็แล้ว ก็ยังไม่มีใครโทร.มาเรียกไปสัมภาษณ์สักองค์กร เขาควรจะทำอย่างไรดี

สำหรับ ผมแล้ว ผมมองว่าการที่เราต้องการอะไรบางอย่าง สิ่งที่ต้องทำเป็นอย่างแรกคือ การพยายามพึ่งพาตัวของเราเองก่อน และหากยังหาหรือทำไม่ได้จริง ๆ หลังจากที่พยายามแล้ว สิ่งที่อยากแนะนำต่อไป คือ การใช้เครือข่าย หรือ network ให้เป็นประโยชน์

คุณรู้หรือไม่ว่า การสร้างเครือข่ายที่ดีเป็นสิ่งที่ทำได้ยากมาก แต่ก็ถือว่าเป็นทักษะที่สำคัญอย่างยิ่งทักษะหนึ่ง ที่ทุก ๆ คนจำเป็นต้องฝึกฝนให้มีเพิ่มขึ้น เพราะเครือข่ายเหล่านี้จะช่วยเกื้อหนุนคุณในช่วงเวลาที่คุณกำลังไปได้ดี และจะกลายเป็นปัจจัยสำคัญเพื่อความอยู่รอดของคุณในยามฉุกเฉิน

ผมมี ข้อคิดเกี่ยวกับความผิดพลาดในการสร้างเครือข่ายของคนเรา รวมถึงแนวทางในการหลีกเลี่ยงความผิดพลาดเหล่านั้นมาเล่าสู่กันฟัง

1.คิด ว่าตัวเองไม่รู้จักใครสักคน

ต้องยอมรับว่า ตอนนี้เราอยู่ในยุคของการสร้างเครือข่าย ไม่ว่าจะเป็นเครือข่ายในเรื่องของระบบต่าง ๆ หรือเครือข่ายในเรื่องของคน ถ้าคุณคิดว่าคุณไม่ค่อยรู้จักคน มากนัก ลองใช้เวลาสัก 10 นาที ในการเขียนชื่อคนที่คุณรู้จัก (และเขาก็รู้จักคุณด้วย) ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมงาน เพื่อนในสมัยเรียน ลูกค้า หรือแม้แต่ญาติพี่น้อง แล้วคุณจะแปลกใจในจำนวนชื่อที่คุณเขียนออกมา

ผมมีลูกค้าอยู่คนหนึ่ง เขาชอบบ่นอยู่เสมอว่า ไม่ค่อยมีเพื่อน หรือมีเครือข่าย ไม่มากนัก ผมเลยให้เขาลองเขียนรายชื่อ คนเหล่านั้นออกมา ปรากฏว่าเวลาผ่านไป 1 ชั่วโมง เขายังไม่มีทีท่าว่าจะเขียนเสร็จ ดังนั้นจงอย่าประเมินตนเองต่ำจนเกินไป

พูดจริง ๆ แล้ว ด้วยเครือข่ายระบบอินเทอร์เน็ตที่ครอบคลุม

เกือบทั่วโลก ทำให้เราสามารถสร้างเครือข่ายออนไลน์ได้อย่างง่ายดาย ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเครือข่ายผ่านทาง Facebook, LinkedIn, หรือ Twitter และด้วยเครือข่ายพวกนี้ บางครั้งคุณอาจจะแปลกใจที่ได้เจอกับเพื่อน ๆ ที่ไม่ได้เจอกันมานานเป็นสิบปีก็ได้

2.ไม่รู้ว่าจะนำเสนอตนเองอย่าง ไรดี

แน่นอนว่าอาจจะยากสำหรับคนที่ยังไม่มีงานทำ หรือกำลังหางานอยู่ ที่จะนำเสนอตนเองกับคนอื่น ๆ เพราะปกติเวลาที่เราแนะนำตัวเองนั้น โดยส่วนมากมักเริ่มจากการแนะนำว่า ชื่ออะไร และทำงานอยู่ที่ไหน ซึ่งถ้าคุณยังอยู่ในระหว่างการหางาน คุณอาจจะรู้สึกกระอักกระอ่วนในการแนะนำตนเอง

คำแนะนำของผมคือ จงบอกไปตามความเป็นจริงว่าคุณกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนงาน จากนั้นอาจจะคุยถึงงานเก่าที่เคยทำมา อย่าคุยอย่างโอ้อวด แต่จงคุย หรือเล่าเรื่องเพื่อให้คู่สนทนาเห็นถึงทักษะที่คุณมี และสิ่งที่คุณสนใจ

สำหรับ การโทรศัพท์ไปคุยนั้น ควรจะเรียบเรียงเรื่องราวไว้ให้ดีก่อนว่า จะคุยเรื่องอะไรบ้าง และต้องการการตอบรับอะไรจากปลายทาง (เช่น เป็นการโทร.ไปเพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติม หรือเป็นการโทร.ไปเพื่อขอชื่อคนอื่น ในการติดต่อต่อไป เป็นต้น) แน่นอนว่าในบางครั้งสิ่งที่เราขอไป ปลายทางอาจไม่สามารถทำให้ หรือหาให้ได้ ดังนั้นจงรักษามารยาท ถ้าหากเขาให้คุณได้แค่ไอเดีย หรือความคิดเห็น

การโทร.ไปเพื่อของาน ใหม่แบบตรง ๆ อาจเป็นอะไรที่ไม่เหมาะสมเท่าไรนัก ดีไม่ดีคุณอาจจะเสียเพื่อนหรือเครือข่ายของคุณเลยก็ได้

3.ไม่รู้ตัว ว่ากำลังยกตนข่มท่านอยู่

การที่จะสร้างเครือข่ายให้ดีนั้นจำเป็นต้อง ขายตัวของเราเองให้ได้ ซึ่งปกติเป็นอะไรที่ทำได้ค่อนข้างยาก หลาย ๆ ครั้งเวลาเราคุยกัน หรือเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ให้คนอื่นฟัง เพื่อให้เขาเห็นถึงทักษะความสามารถของเรานั้น เราอาจลืมตัว และพูดจนดูเหมือนเป็นการโอ้อวดตัวเองมากเกินไป ดังนั้นสิ่งสำคัญสำหรับการเล่าเรื่องราวต่าง ๆ คือจะทำอย่างไรให้การพูดคุยของตัวเราไม่เหมือนเป็นการยกตนข่มท่าน หรือเป็นเหมือนพนักงานขายของมากจนเกินไป

หนึ่งในวิธีการที่หลาย ๆ คนนิยมใช้กันคือการเล่าเรื่องโดยใช้แนวทางที่เรียกกันว่า STAR โดย S-T-A-R เป็นตัวย่อของวิธีการเล่าเรื่อง โดย

S หมายถึง Situation หรือสถานการณ์

T หมายถึง Task หรืองานหรือสิ่งที่ควรต้องทำ

A หมายถึง Action หรือสิ่งที่เราได้ทำลงไปจริง

R หมายถึง Result หรือผลลัพธ์ที่ออกมา

ยกตัวอย่างวิธีการเล่าเรื่องแบบ STAR เช่น

S (สถานการณ์) - มีอยู่ช่วงหนึ่งในระหว่างที่ทำงานในองค์กรเก่า จำนวนของลูกค้าที่เข้ามาติดต่อลดลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งส่งผลให้รายได้ที่เคยเข้ามาอย่างสม่ำเสมอจากลูกค้ากลุ่มนี้ลดลง

T (สิ่งที่ควรต้องทำ) - ผมต้องหาสาเหตุและทำการพัฒนาพนักงานในฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์ รวมทั้งพยายามพัฒนาสินค้าตัวใหม่ ๆ ออกมา

A (สิ่งที่ได้ทำจริง) - ผมสามารถหาสาเหตุจนพบว่าการที่ลูกค้าไม่กลับมาเป็นเพราะการดูแลเอาใจใส่ของ ฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์ไม่ดีพอ จึงได้เข้าไปกำกับดูแล แก้ปัญหาในส่วนของความขัดแย้งภายใน ทีมงาน และสร้างความสัมพันธ์ระหว่าง พนักงานในทีมและระหว่างทีมให้ดีขึ้น

R (ผลลัพธ์) - ซึ่งเมื่อภายในเป็นปกติก็ส่งผลให้สิ่งที่แสดงออกไปสู่ภายนอก หรือไปสู่ลูกค้ามีการพัฒนาที่ดีขึ้นไปด้วย จำนวนลูกค้าเริ่มเพิ่มขึ้น รายได้ขององค์กรก็เพิ่มขึ้น ลูกค้าก็มีความสุขมากขึ้น

การเล่าเรื่อง แบบ STAR ที่ดี ไม่ควรใช้เวลาในการเล่าเรื่องนานเกินไป แต่ที่สำคัญคือการใส่รายละเอียดเท่าที่จำเป็นเพื่อให้ผู้ฟังรู้สึกประทับใจ ในตัวคุณ และในขณะเดียวกันก็ไม่ทำให้เขารู้สึกหมั่นไส้จนเกินไป

ฉะนั้น ในครั้งหน้าผมขอมาเล่าต่อใน ส่วนที่เหลืออีก 3 ข้อของความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในระหว่างการสร้างและใช้เครือข่ายของ เรา

Tags : ข้อผิดพลาด การสร้างเครือข่าย

view