สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ทางหลีกเลี่ยงกับดักหลักเศรษฐกิจ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
คอลัมนิสต์ประจำคอลัมน์ "บ้านเขาเมืองเรา"
โดย : ดร.ไสว บุญมา


วิธีหลีกเลี่ยง กับดักมีอยู่อย่างครบถ้วนในแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง แต่รัฐบาลไทยดูจะไม่สนใจที่จะวางแนวนโยบายให้อยู่ในกรอบของแนวคิดนี้
ผู้ติดตามความคืบหน้าด้านการแก้ปัญหาเศรษฐกิจทั้งในระดับโลกและใน เมืองไทยจำนวนไม่น้อย คงรู้สึกงงๆ กันอยู่บ้าง เนื่องจากนักเศรษฐศาสตร์ดูจะตกลงกันไม่ได้ว่าควรจะทำอะไรต่อไป ในการประชุมกลุ่ม-20 ของบรรดาประเทศก้าวหน้าในแคนาดาเมื่อปลายเดือนมิถุนายน ฝ่ายอเมริกาต้องการให้ใช้นโยบายจำพวกกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป เพื่อให้แน่ใจว่าเศรษฐกิจที่มีทีท่าว่ากำลังฟื้นตัวจะไม่หยุดชะงัก หรือถดถอยซ้ำสอง  ฝ่ายสหภาพยุโรปไม่เห็นด้วยเพราะการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไปหมายถึงการเพิ่มหนี้ ให้แก่รัฐบาล เนื่องจากรัฐบาลของประเทศต่างๆ มีหนี้มากอยู่แล้ว การก่อหนี้เพิ่มขึ้นจะสร้างปัญหาที่หนักหนาสาหัสยิ่งขึ้นในอนาคต
 

หลังจากนั้น พอล ครุกแมน นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังชั้นรางวัลโนเบล ซึ่งเขียนคอลัมน์ประจำในหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ ก็ออกมาเน้นย้ำว่า การหยุดกระตุ้นเศรษฐกิจไม่เพียงแต่จะนำไปสู่ความถดถอยซ้ำสองเท่านั้น หากจะเป็นการก่อให้เกิดปัญหาหนักหนาสาหัสถึงขนาดทำให้สังคมร้าวฉานไปอีกนาน อีกด้วย การพูดเช่นนั้นจะเป็นการเขียนเสือให้วัวกลัวหรือไม่ หรือจะเป็นการแสดงความเชื่อมั่นในแนวคิดของตนเองก็ยากที่ผู้อื่นจะเดาได้  แต่ที่แน่ๆ ก็คือ ผู้ต่อต้านแนวคิดนั้นที่ไม่มีรางวัลโนเบลเป็นตัวชี้วัดความโด่งดังก็ยังไม่ มีทีท่าว่าจะคล้อยตามแนวคิดของเขา
 

ดูเหมือนว่าชาวอเมริกันซึ่งเป็นหัวจักรใหญ่ทั้งในด้านการทำให้เศรษฐกิจ ขยายตัวสูงก่อนการถดถอยครั้งล่าสุด และในด้านการทำให้มันถดถอยจะเห็นด้วยกับ พอล ครุกแมน เนื่องจากพวกเขาเริ่มออกมาใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาจจำกันได้ว่าย้อนไปเมื่อหลายปีก่อน การใช้จ่ายของชาวอเมริกันทั้งเพื่อการบริโภคแบบเมามันและเพื่อการซื้อ บ้านราคาแพงกระตุ้นให้เศรษฐกิจทั่วโลกขยายตัว เนื่องจากการบริโภคและการซื้อบ้านเช่นนั้นนำไปสู่การสร้างหนี้แบบล้นพ้นตัว เมื่อชาวอเมริกันหาเงินมาชำระหนี้ไม่ทัน เศรษฐกิจโลกก็ถดถอย แม้ตอนนี้พวกเขาจะออกมาใช้จ่ายเพิ่มขึ้นบ้าง แต่ก็ยังไม่พอที่จะทำให้การว่างงานในอเมริกาลดลง พอล ครุกแมน จึงต้องการให้รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นให้พวกเขาใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอีก ส่วนนักเศรษฐศาสตร์จำนวนหนึ่งซึ่งไม่เห็นด้วยกับเขาต่างชี้ไปที่ประเทศจีน ว่า รัฐบาลจีนจะต้องออกมาตรการกระตุ้นให้ชาวจีนลดระดับการออมทรัพย์ลงพร้อมกับ ใช้จ่ายให้มากขึ้นเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโลก
 

แม้ว่าสองแนวคิดนี้ดูจะมีความแตกต่างกัน แต่ถ้ามองให้ลึกลงไปจะเห็นว่าทั้งคู่มีฐานอยู่ที่การใช้จ่ายเพื่อให้การ บริโภคเพิ่มขึ้น ข้อบกพร่องของสองแนวคิดนี้คือ การมีความขัดกันอยู่ในตัว ทั้งในส่วนที่มองเห็นได้ง่ายและในส่วนที่มองไม่ค่อยเห็น ส่วนที่มองเห็นได้ง่ายได้แก่การบริโภคแบบเมามัน โดยเฉพาะของชาวอเมริกันซึ่งเกิดขึ้นได้ด้วยการสร้างหนี้อันเป็นปัจจัยที่ทำ ให้เศรษฐกิจถดถอยอย่างร้ายแรง ฉะนั้น การกระตุ้นให้เกิดการบริโภคเพิ่มขึ้นจึงเป็นมาตรการชนิดข้าวสารกรอกหม้อ หรือขอไปที เพราะอีกไม่นานปัญหาเดิมก็จะกลับมาอีก  ฝรั่งเปรียบการกระทำเช่นนี้ว่าเป็นเสมือนขี้เหล้าที่ตื่นขึ้นในตอนเช้าแล้ว ทำให้ตนสร่างเมาด้วยการดื่มเหล้าเพิ่มเข้าไปอีก ส่วนที่มองไม่ค่อยเห็นและเป็นประเด็นสำคัญยิ่งก็คือ การบริโภคต้องใช้ทรัพยากรของโลกจึงจะเกิดขึ้นได้  การบริโภคโดยไม่จำเป็นก็คล้ายการจุดไฟเผาบ้านเพื่อหาความสนุกสนานชั่วคราว ซึ่งชาวโลกไม่ควรทำเด็ดขาด  สองแนวคิดนี้จึงมีลักษณะเป็นกับดักของหลักเศรษฐกิจที่ชาวโลกใช้กันอยู่ใน ปัจจุบันที่ไม่ควรนำมาใช้เป็นฐานของการบริหารเศรษฐกิจอีกต่อไปแล้ว 
 

วิธีหลีกเลี่ยงกับดักมีอยู่อย่างครบถ้วนในแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง แต่รัฐบาลไทยดูจะไม่สนใจที่จะวางแนวนโยบายให้อยู่ในกรอบของแนวคิดนี้  ตรงกันข้ามกลับพยายามเพิ่มความชั่วร้ายให้กับดัก ซึ่งจะทำให้ปัญหาหนักหนาสาหัสยิ่งขึ้นในอนาคต นั่นคือ การกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านการใช้นโยบายประชานิยมอย่างเข้มข้น ไม่ว่าจะเป็นการแจกสินค้าและบริการในรูปของการให้เปล่า หรือในรูปของการให้เงินสนับสนุนต่างๆ ซึ่งต่อไปจะไม่มีงบประมาณมาเกื้อหนุนอย่างเพียงพอส่งผลให้ต้องก่อหนี้เพิ่ม ขึ้นแบบไม่มีที่สิ้นสุดจนถึงจุดหนึ่งประเทศก็จะล้มละลายเช่นหลายประเทศในละ ตินอเมริกาในอดีตและกรีซในปัจจุบัน
 

อนึ่ง แนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงนั้นครอบคลุมและลุ่มลึกมาก ในช่วงเวลากว่าสิบปีหลังจากวันที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานให้แก่ชาวไทยในวันที่ 4 ธันวาคม 2540 จึงมีผู้พยายามนำไปประยุกต์ใช้ในกิจการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง แต่การกระทำเช่นนี้บางทีก็มีข้อเสียโดยเฉพาะในด้านการตีขลุมว่าเป็นเศรษฐกิจ พอเพียง แต่เนื้อแท้กลับไม่มีอะไรที่อยู่ในกรอบของแนวคิดอันประเสริฐยิ่งนี้ เช่น หนังสือเรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียง : พื้นฐานสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” ของอดีตเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งน้อมนำพระราชดำรัสมาปะหน้าแล้วตีขลุมว่าเป็นหลักเศรษฐกิจพอเพียง  แต่ข้างในกลับไม่มีอะไรที่เกี่ยวกับเรื่องนี้เลย  ด้วยเหตุเดียวกัน รัฐบาลคณะต่างๆ ตั้งแต่ปี 2540 ก็มักนำแนวคิดมาอ้างทั้งที่โดยพฤติกรรมมิได้ทำอะไรให้อยู่ในกรอบของแนวคิด อย่างจริงจัง


 เนื่องจากตอนนี้จะมีการ ปฏิรูปประเทศ และเราก็รู้ว่าเศรษฐกิจกระแสหลักมีกับดักรออยู่ ผมจึงเสนอให้คณะกรรมการปฏิรูปพิจารณาแนวนโยบายซึ่งจะนำเมืองไทยไปสู่การ พัฒนาแบบยั่งยืนในกรอบของแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงดังที่ได้เสนอไว้ใน หนังสือ ชื่อ “ทางข้ามเหว : แนวคิดสำหรับแก้วิกฤติไทย” ที่มอบให้แก่ประธานคณะกรรมการปฏิรูป นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีบางท่านแล้ว หากว่าคณะปฏิรูปและสมัชชาปฏิรูปยังไม่แน่ใจว่ากรอบของแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจ พอเพียงเป็นอย่างไร ผมขอแนะนำให้อ่านหนังสืออีกเล่มหนึ่ง ซึ่งบริษัทโอเรกอนอะลูมิเนียม (www.oregon.co.th) จัดพิมพ์เผยแพร่เป็นอภินันทนาการเพื่อร่วมสร้างสังคมสันติสุข ชื่อ “สู่ความเป็นอยู่แบบยั่งยืน” 

Tags : ทางหลีกเลี่ยง ดักหลักเศรษฐกิจ

view