สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

บีพีบนทางแพร่งของวิกฤต ถึงเวลาของซีอีโอเลือดใหม่

จาก โพสต์ทูเดย์

ภายหลังจากมีข่าวแพลมออกมาว่า โทนี เฮย์เวิร์ด จะสละเก้าอี้ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร (ซีอีโอ) ของบริษัท บริติช ปิโตรเลียม หรือบีพี แต่ยังสงวนท่าทีไม่ยอมปริปากบอกว่า ใครจะก้าวขึ้นมาแทนตำแหน่งของ เฮย์เวิร์ด ท่ามกลางกระแสการคาดเดาที่ค่อนข้างจะตรงกันว่า ผู้ที่จะมากุมตำแหน่งซีอีโอคนใหม่อาจเป็น โรเบิร์ต หรือบ็อบ ดัดลีย์ ซึ่งคร่ำหวอดในอุตสาหกรรมมานานกว่า 30 ปี และเพิ่งได้รับการแต่งตั้งให้อยู่ในคณะกรรมาการบริหารเมื่อปีที่แล้ว

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศ

สาเหตุที่พอจะเข้าใจได้ว่า ทำไมบีพีจึงพยายามไม่เปิดเผยการเปลี่ยนแปลงในคณะกรรมการบริหารมากนัก ก็เพราะความเปราะบางของสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นความพยายามควบคุมปัญหาน้ำมันรั่วไหลในอ่าวเม็กซิโกที่เพิ่ง ประสบความสำเร็จ หรือจะเป็นเพราะกำหนดการประกาศผลประกอบการของบริษัทช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้

ด้วยเหตุผลดังกล่าว บีพี จึงรอจังหวะที่นิ่งที่สุดก่อนที่จะประกาศความเปลี่ยนแปลง ไม่แล้วราคาหุ้นที่บอบช้ำอยู่แล้วจะยิ่งสาหัสลงไปอีก จากที่ในขณะนี้ราคาหุ้นของบีพีดิ่งลงไปแล้วถึง 5 หมื่นล้านปอนด์ หากปรากฏว่า โทนี เฮย์เวิร์ด จะก้าวลงจากตำแหน่งพร้อมกับเงินบำนาญถึง 10.84 ล้านปอนด์ จะเกิดปฏิกิริยาด้านลบอย่างรุนแรงติดตามมาอย่างแน่นอน

อีกหนึ่งเหตุผลสำคัญก็คือ ตำแหน่งซีอีโอของบีพีกลายเป็นตำแหน่งร้อนรุ่มที่สุดไปเสียแล้ว เพราะไม่เพียงเจ้าของเก้าอี้คนใหม่จะถูกโจมตีจากทุกสารทิศ เนื่องจากความหละหลวมของซีอีโอคนก่อนในการรับมือกับวิกฤตน้ำมันรั่วแต่ซีอี โอคนใหม่ยังจะต้องแบกรับภาระการประคับประคองบริษัทที่กำลังหมิ่นเหม่กับภาวะ ล้มละลายอีกต่อหนึ่ง

ด้วยเหตุนี้การเลือกจังหวะเวลาที่จะประกาศความเปลี่ยนแปลงภายในจึงมีความ สำคัญอย่างยิ่งยวดสำหรับบีพี

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนในตลาดและสื่อมักมีจมูกมดที่สามารถล้วงข้อมูลที่ลับที่สุดมาได้เสมอ แม้บีพีจะยืนยันก่อนหน้านี้ว่า ยังไม่ตัดสินใจใดๆ เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงฝ่ายบริหาร หรือกระทั่งอนุมัติการลาออกของ โทนี เฮย์เวิร์ด

แต่ตลาดและสื่อได้ตัดสินใจแทนไปแล้วว่า โรเบิร์ต ดัดลีย์ อาจเป็นซีอีโอคนต่อไปของบีพี

การที่หลายฝ่ายกะเก็งไว้ว่า โรเบิร์ต ดัดลีย์ จะเป็นซีอีโอคนใหม่ ก็เพราะคุณสมบัติ “พิเศษ” ของดัดลีย์ที่ โทนี เฮย์เวิร์ด ไม่มี และเป็นคุณสมบัติที่จะช่วยกอบกู้ความสัมพันธ์ระหว่างบีพี และรัฐบาลสหรัฐที่กำลังสั่นคลอนถึงขีดสุด


คุณสมบัติพิเศษที่ว่านี้คือ ดัดลีย์เป็นชาวอเมริกัน

นักวิเคราะห์ชี้ว่า ฐานะพลเมืองสหรัฐของดัดลีย์จะมีส่วนช่วยให้การประสานงานกับรัฐบาลสหรัฐง่าย ขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสามารถของดัดลีย์ในการรับมือกับความโกรธเกรี้ยวของ สมาชิกสภาคองเกรส ที่ไม่พอใจกับการแก้ปัญหาที่ล่าช้าของซีอีโอสัญชาติอังกฤษอย่างโทนี เฮย์เวิร์ด เป็นอย่างมาก

ความไม่พอใจที่รุนแรงที่สุดมาจากถ้อยคำที่ไม่เหมาะสมของ เฮย์เวิร์ด ที่หลุดปากออกมาว่า  “ผมต้องการชีวิตของผมคืนมา” ซึ่งกระทบกระเทือนจิตใจของประชาชนในพื้นที่ที่ต้องแปดเปื้อนจากคราบน้ำมัน เป็นอย่างมาก เพราะสะท้อนว่า เฮย์เวิร์ด ไม่ได้คิดถึงหัวอกของเหยื่อจากความเลินเล่อของบีพี

ที่สำคัญก็คือ ดัดลีย์ เติบโตในรัฐมิสซิสซิปปี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากคราบน้ำมันที่รั่วไหลจาก แท่นขุดเจาะของบีพีในอ่าวเม็กซิโก คุณสมบัตินี้น่าจะช่วยให้ ดัดลีย์ เข้าถึงประชาชนในพื้นที่ได้ง่ายขึ้น อย่างน้อยอาจช่วยในกระบวนการเจรจาจ่ายค่าเสียหายมูลค่ามหาศาลให้ผู้ที่ได้ รับผลกระทบ ซึ่งอาจจะเป็นมูลเหตุให้บีพีต้องกระเป๋าแฟบจนถึงขั้นล้มละลาย


ดัดลีย์ ยังมีภาษีที่ดีกว่าในฐานะที่เป็นหน้าหน่วยงานรับมือวิกฤตน้ำมันรั่วโดยตรง และที่ผ่านมาสามารถสะสางปัญหาได้อย่างกระตือรือร้น จนได้รับการกล่าวขวัญว่าเป็นนักแก้ปัญหาระดับมือพระกาฬ การเลือกสรรผู้ที่รับมือกับวิกฤตน้ำมันรั่วโดยตรงมานั่งเก้าอี้ซีอีโอ จึงเป็นเรื่องที่เหมาะสมอย่างยิ่งในทัศนะของหลายๆ คน

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ โทนี เฮย์เวิร์ด ยังไม่ละเก้าอี้ซีอีโอ และโอกาสที่ โรเบิร์ต ดัดลีย์ จะก้าวขึ้นมารับตำแหน่งซีอีโอยังไม่ชัดเจน สถานะของบีพีก็จะยิ่งสั่นคลอน เพราะขณะนี้บีพีได้ก้าวไปสู่อีกขั้นตอนของวิกฤตน้ำมันรั่วแล้ว นั่นคือกระบวนสะสางทั้งหลายทั้งปวง ตั้งแต่การทำความสะอาดคราบน้ำมัน การชดเชยค่าเสียหาย การดำเนินคดีในชั้นศาล และการเริ่มต้นกระบวนจัดการใหม่ไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นซ้ำรอย

ก่อนหน้านี้ หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียล ไทมส์ รายงานว่า มีโอกาสที่ เฮย์เวิร์ด จะรั้งอยู่ในตำแหน่งอีก 2 เดือน เพื่อให้บีพีสามารถหาทางออกได้อย่างมั่นคงเสียก่อน

แต่ท้ายที่สุดแล้ว โทนี เฮย์เวิร์ด อาจเป็นอุปสรรคสำคัญที่ขัดขวางไม่ให้บีพีพบทางออกที่มีประสิทธิภาพที่สุดใน การแก้ปัญหาที่พ่วงมากับวิกฤตน้ำมันรั่ว ดังที่เจ้าตัวแสดงท่าทียั่วโทสะรัฐบาลและประชาชนสหรัฐอยู่เสมอมา ยังไม่นับความไร้ประสิทธิภาพของผู้บริหารบีพีรายนี้ในการรักษาความปลอดภัยใน การดำเนินงาน

นักวิเคราะห์เห็นตรงกันว่า สิ่งที่บีพีต้องการในตอนนี้มากที่สุดคือผู้บริหารคนใหม่ และพนักงานสายเลือดใหม่ที่ใส่ใจต่อกระบวนการรักษาความปลอดภัยมากกว่าเดิม เพื่อมิให้บีพี ประสบกับความผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำเล่าในสหรัฐ ตั้งแต่อุบัติเหตุที่โรงงานกลั่นน้ำมันในรัฐเทกซัส จนมาถึงที่เหตุการณ์ท่อส่งน้ำมันรั่วทำนองเดียวกันที่รัฐอแลสกา และ (เกือบ) ตกม้าตายในวิกฤตที่อ่าวเม็กซิโก

โทนี เฮย์เวิร์ด รับตำแหน่งซีอีโอ เมื่อปี 2550 ภายหลังจากที่ภาพลักษณ์ของบีพีต้องสั่นคลอนอย่างหนักจากอุบัติเหตุที่รัฐ เทกซัสและอแลสกา ครั้งนั้น เฮย์เวิร์ด รับตำแหน่งด้วยความคาดหวังจากหลายฝ่ายว่าจะสามารถยกเครื่องมาตรการความ ปลอดภัยของบีพีให้น่าเชื่อถือยิ่งขึ้น ทว่า วิกฤตในวันนี้เป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่า เฮย์เวิร์ด ไม่สามารถทำให้ความหวังนั้นเป็นจริงได้ มิหนำซ้ำยังทำลายภาพลักษณ์ของบีพีที่หลงเหลืออยู่จนแทบป่นปี้

เช่นเดียวกับสถานการณ์บีพีเคยเผชิญก่อนหน้าที่ เฮย์เวิร์ด จะก้าวขึ้นมาบนตำแหน่งซีอีโอ

ในวันนี้อาจถึงเวลาแล้วที่บีพีจะต้องสรรหาผู้บริหารคนใหม่ ที่สามารถคาดหวังได้มากกว่าและมีความสามารถมากกว่า ในวันที่ต้องเผชิญกับวิกฤตที่ร้ายแรงยิ่งกว่าคราใด

Tags : บีพี บนทางแพร่ง วิกฤต ถึงเวลา ซีอีโอเลือดใหม่

view