สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ถึงคราว การศึกษานักวิชาการต้องปฏิรูป

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

โดย : ธงชัย สันติวงษ์


ท่ามกลางมหกรรม งานสารพัดปฏิรูป รวมทั้งปฏิรูปสื่อ ของรัฐบาลนายกฯ อภิสิทธิ์ เพื่อการปรองดองและสร้างไทยเข้มแข็งนั้น มีคนไม่น้อยที่ไม่เห็นด้วย
เพราะไม่เชื่อในวิธีการว่าจะได้ผล และเสียเวลาเปล่า ตามสไตล์บริหารในรัฐบาลจากฝีมือเด็กใหม่ไร้ประสบการณ์
 

โดยหลักการแล้ว ส่วนมากจะถือว่า “กลยุทธ์” หรือ การวางและปรับทิศทางประเทศ [Strategic Direction] ว่าจะเดินไปทางไหนบ้าง แต่ว่า ที่สำคัญยิ่งคือ “โครงสร้างหรือระบบ” [Structure / System] ที่จัดไว้ดี มีประสิทธิภาพและเป็นระเบียบหรือมีกติกาที่ดีจะสำคัญกว่า แต่สุดท้ายใครๆ ต่างยอมรับกันว่าสำคัญที่สุด คือ เรื่อง “คุณภาพคน” ก็คือ “การศึกษา” โดยเฉพาะตัวนักวิชาการ รวมถึงผู้บริหารด้วย ถึงวันนี้ต้องยอมรับว่าการศึกษา คือ สิ่งสำคัญสุดยอดที่ต้องมีการปฏิรูปมากที่สุด และน่าเป็นห่วงที่งานนี้กลับเงียบไป โดยดำเนินไปอย่างวังเวง ไร้ความหวัง
 

น่าตกใจที่ได้เห็นข่าวเล็กๆ ว่า ไม่นานต่อจากนี้จะเห็น ม.รัฐ และ ม.เอกชน สิบกว่าแห่งต้องปิดตัวโครงการบัณฑิตศึกษาของตนเอง เพราะ ไม่มีผู้เรียนและเกิดปัญหาขาดทุน
 

ปัญหานี้ไม่ได้จำกัดอยู่แต่กลุ่มสถาบันเปิดใหม่ที่ไม่พร้อมเท่านั้น แม้แต่มหาวิทยาลัยรัฐดังๆ หลายแห่งที่เคยรอคัดเลือกคนเรียนอย่างสบายนั้น ถึงตอนนี้ต่างก็ประสบปัญหาผู้เรียนลดลง คุณภาพตกต่ำ เพราะถูกแข่งขันมาก รวมถึงการละลายลงของตัวเองอันเนื่องมาจากการเปิดโครงการมากเกินไป โดยไม่พร้อม ขาดผู้สอนที่มีประสบการณ์กับอาจารย์เด็กเส้นที่ขาดคุณภาพ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ ผู้เรียนที่ต้องลงทุนแพงต่างรู้ดี เพราะอนาคตข้างหน้าคือ การต้องแข่งจริงในด้านคุณภาพ
 

ทั้งนี้ปัญหาสาเหตุหลักเกิดจากการขยายในเชิงปริมาณเร็วและมีโครงการมากจน เกิดปัญหา “เบี้ยหัวแตก” และเริ่ม “กินตัว” ประสิทธิภาพตกลงด้วยการฉีกตัวเองกระจายไปวิ่งรอกสอนมากๆ จนขาดการพัฒนาความรู้ เป็นผู้สอนที่ทำชั่วโมงวิ่งรอก สอนแต่เรื่องเดิมๆ จนไม่ต่างกับนักร้อง
 

การเสื่อมทรุดที่ว่านี้ จะไม่เห็นกันในระยะแรก แต่เมื่อนานไปปรากฏออกมาทางแก้จะยากยิ่ง เพียงการทบทวนหลักสูตร เลือกหาผู้สอนใหม่ด้วย หรือเอาใจใส่ต่อคุณภาพการดำเนินงานมากขึ้นด้วย ปัญหาก็ไม่หมดไป
 

เพราะ การสร้างคุณภาพและชื่อเสียงนั้นต้องมีการลงทุนลงแรงจริงจัง โดยใช้ทุนและเวลานานมาก โดยเฉพาะการถ่ายถอดประสบการณ์เชื่อมโยงกับการปฏิบัติ จะสำคัญและทำได้ยากมาก สิ่งเหล่านี้จะสำคัญมากเนื่องจากจะเป็นของจริงที่ผู้เรียนจะเอาไปเป็นอาวุธ สู้การแข่งขัน หางาน หรือ พิสูจน์การทำงานให้ปรากฏ
 

ในช่วงโค้งนี้เอง โครงการทั้งหลายที่เปิดมากเป็น “ดอกเห็ด” กำลังจะถูกพิสูจน์อย่างไม่มีการปรานีใดๆ จากลูกค้าและสังคม เพราะ ความจริงย่อมซ่อนเร้นไม่ได้กับปิดไม่มิด โดยต่างจะมีการบอกกันจากปากต่อปากเรื่อยไป 
 

ในความคิดผม จุดอ่อนสำคัญสุดนั้น ได้สั่งสมมานานและอยู่ที่ปัจจัยสำคัญดังนี้ คือ
 

ก) เกิดจากการไม่เข้าใจและบริหารผิดทาง โดยคิดว่า สามารถหารายได้จากการอาศัยที่ชื่อเสียงเก่าของสถาบันกับการใช้สื่อโฆษณา เพื่อช่วยเพิ่มปริมาณบัณฑิต อันถือเป็นการใช้ “กลยุทธ์ด้านการตลาด” ของโครงการ เข้าช่วยนั่นเอง
 

ข) ที่ต่อเนื่องกันคือ การขาดผู้นำนักบริหารที่ชำนาญการประยุกต์บริหาร โดยไม่เข้าใจวิธีการเพิ่มคุณภาพ ซึ่งการจะควบคุมคุณภาพได้ ต้องมีการรวมอำนาจวิชาการให้เข้มไว้ ไม่ใช่การเข้าใจผิดคิดว่าการสร้างคุณภาพคือ การกระจายอำนาจ ให้มีการเปิดโครงการและดำเนินการอย่างคล่องตัว ดังเช่น ที่ผมเคยถาม ม.รัฐชั้นนำ ทราบว่า คณะฯ วิชาของเขา มีโครงการที่เปิดพร้อมกันมากถึง 11 และ 14 โปรแกรม ซึ่งจะทำให้ผู้สอนกลายเป็นนักร้องโดยปริยายและต้องหาคนสอนที่ขาดแก่นแท้เข้า มาสอนแทน นั่นคือ หากต้องการเพิ่มคุณภาพมากขึ้น ก็ยิ่งต้องควบคุมกระบวนการผลิตให้เข้มข้นมากขึ้น หรือ พูดง่ายๆ ก็คือ การ Built in Control ในกระบวนการเรียนการสอน ไม่ใช่ทำตรงข้ามกัน โดยเร่งเพิ่มการโตในทางปริมาณกับการกระจายอำนาจ
 

ปัญหานี้คือต้นเหตุสำคัญของการผิดพลาด โดยข้อผิดพลาดอันเกิดจากการ “กระจายอำนาจ” มากเกินไป เป็นสำคัญ
 

ค) ปัญหาโครงสร้างสถาบันกับโครงสร้างและตัวบุคคลผู้บริหาร ปัญหานี้เริ่มตั้งแต่ระดับสูงของกระทรวงศึกษาที่เทอะทะ ไม่อาจให้ทิศทางนโยบายแก่สถาบัน กับการขาดบุคลากรที่มีคุณภาพ ซึ่งปัญหานี้มีในทุกระดับ ตั้งแต่สภามหาวิทยาลัยที่กรรมการขาดคนที่มีคุณภาพ บางคนเป็นกรรมการนานถึงกว่ายี่สิบปีก็มี ทำให้เป็นอุปสรรคทั้งขึ้นและล่องคือ ช่วยคิดพัฒนาก็ไม่เป็น จะคิดควบคุมก็ทำไม่ถูกคุมไม่ได้ ทำให้การดำเนินการกระจัดกระจายจนขาดแก่นสารและทิศทางที่จะใช้นำทาง
 

สำคัญที่สุดคือ ปัญหาคุณภาพตัวผู้บริหาร ระดับต่างๆ ที่อ่อนแอ อันเป็นปัญหาที่ต่อเนื่องมาจากการใช้วิธีการเลือกตั้งผู้บริหาร กับการมีเกมการเมืองในระหว่างนักวิชาการ กับ การแก่งแย่งหาประโยชน์ระหว่างกันของนักวิชาการ รวมไปถึงการไปเชื่อมโยงและถูกหลอมละลายโดยคนนอกและนักธุรกิจที่เข้ามาแสวงหา ประโยชน์ รวมไปถึงการกระจายอำนาจ ทั้งทางบริหารและวิชาการ ที่มากเกินพอดี ก่อให้เกิดช่องว่างด้านประสิทธิภาพและคุณภาพ รวมถึงวัฒนธรรมประเพณีทางวิชาการที่หายไป
 

ทั้งนี้ไม่เว้น ระบบกับกระบวนการบริหาร ที่มีการประเมินและจัดอันดับที่ไม่อาจสะท้อนให้มีการปรับตัวสู่คุณภาพ
 

ปัญหาทั้งหมดนี้เพิ่งจะมีการกล่าวกันออกมา โดย ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ได้แนะ “สภา-ผู้บริหาร” ให้ผู้บริหารทั้งหลาย ตั้งแต่อธิการ คณบดี หัวหน้าภาค หัวหน้าสาขาวิชา ให้ทุ่มเทบริหารให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดีขึ้น ไม่ควรปล่อยให้สูญเปล่า โดยเฉพาะการแนะนำให้ต้องทบทวนเรื่องการกระจายอำนาจว่า มีอะไรบ้างที่ต้องกระจายความรับผิดชอบให้มหาวิทยาลัย และอะไรบ้างที่กระจายอำนาจไม่ได้ (คน ชัด ลึก หน้า 11 วันที่ 21 กรกฎาคม 2553)
 

ซึ่งจริงๆ แล้ว เนื้อหาสิ่งที่ต้องทบทวนแก้ไข อะไร ด้านไหนบ้าง ท่านองคมนตรีจะทราบดี ด้วยเพราะเคยอยู่ในวงการศึกษามาก่อน ดังนี้ประโยชน์จะได้ต้องนำเอาคำแนะของท่านไปคิดต่อให้รอบด้าน เปิดใจกว้างและลงมือแก้ไข ซึ่งใครจริงใจกับตัวเองก่อน จะเริ่มแก้ไขได้ แต่ที่ชะล่าใจ ไม่ยอมรับความจริงนั้น ไม่ช้าไม่นานสถาบันนั้นๆ จะกลายเป็นสภาพที่ไม่ต่างกับ “คนแก่ที่ถูกปล่อยทิ้งให้ลงเดินบนทางด่วน”

Tags : ถึงคราว การศึกษ นักวิชาการ ต้องปฏิรูป

view