สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ทบทวน Inflation Targeting แผนเหนือเมฆธปท.ต่อสู้กับคลัง

จาก โพสต์ทูเดย์

ความเห็นที่ไม่เคยตรงกันระหว่างผู้ทำนโยบายการคลังคือ กระทรวงการคลัง และผู้ที่ดำเนินนโยบายการเงิน คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทำให้เกิดประเด็นถกเถียงกันตลอดเวลาว่าใครถูกและใครผิด

โดย...ทีมข่าวการเงิน

 

ล่าสุด นโยบายการเงินตามเป้าหมายเงินเฟ้อ หรือระบบ Inflation Targeting ถูกจับมาเป็นเรื่องอีกครั้ง เพราะนโยบายดังกล่าว ธปท.ได้เริ่มนำมาใช้ตั้งแต่ปี 2543 จนถึงวันนี้ก็ครบ 10 ปีพอดี

ที่มาที่ไปของนโยบายนี้ก็เพราะต้องการให้ ธปท. มีความเป็นอิสระและความโปร่งใสในการกำหนดเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อและดำเนิน นโยบายทางการเงินผ่านกลไกต่างๆ ได้อย่างอิสระ โดยปราศจากแรงกดดันใดๆ ทั้งสิ้น โดยเฉพาะจากฝ่ายการเมือง เพื่อเป็นการสร้างความน่าเชื่อให้เกิดขึ้นภายใต้ความรับผิดชอบของ ธปท.

และตลอด 10 ปีที่ผ่านมา นโยบายนี้ก็ถูกกระทรวงการคลังวิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอดว่า ธปท.มองเรื่องเงินเฟ้อเป็นเป้าหมายในการทำนโยบายการเงิน หรือมองเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเป้าหมายกันแน่
ที่กระทรวงการคลังมอง เช่นนั้น นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ชี้แจงว่า การดำเนินนโยบายการเงินตามเป้าหมายเงินเฟ้อของ ธปท.นั้น บางครั้งก็ไม่เป็นไปตามที่กำหนด ตัวอย่างเช่นในปี 2552 อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานติดลบ หลุดกรอบเงินเฟ้อที่ ธปท.กำหนดเป้าเงินเฟ้อไว้ที่ 0-3.5% หากเป็นไปตามกรอบอัตราดอกเบี้ยก็จะต้องลดลง แต่ ธปท.ก็ยืนดอกเบี้ยไว้ โดยให้เหตุผลว่าเงินเฟ้อต่ำเพราะรัฐบาลใช้นโยบาย 7 มาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชน

แต่ในบางปีอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นมากจนเกินกรอบเงินเฟ้อที่กำหนด จากการกดดันของราคาน้ำมัน แต่ ธปท.ก็ไม่ได้ขึ้นดอกเบี้ยไปตามเงินเฟ้อ

ดังนั้น จึงเห็นว่านโยบายนี้มีปัญหาที่ใช้มานาน อาจจะต้องปรับปรุงแก้ไขในบางประเด็นเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ดี ทาง ธปท.ก็ยืนยันว่านโยบายที่ทำอยู่นั้นดีอยู่แล้ว และเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ธปท.จึงว่าจ้างที่ปรึกษาต่างชาติมาวิจัยว่าควรจะมีการทบทวนเพิ่มเติมแก้ไข นโยบายการเงินที่กำหนดเงินเฟ้อเป็นเป้าหมาย หรือเห็นว่าที่มีอยู่นั้นดีอยู่แล้วก็ให้รอผลการวิจัยจากคนกลางมายืนยัน และเพื่อให้ดียิ่งขึ้นจึงได้เชิญ กรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง มาให้ความเห็นและหารือกับที่ปรึกษาโดยตรงเลยก็จะได้เห็นปัญหาที่ชัดเจนขึ้น

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า การทบทวนนโยบายการเงินที่ใช้เงินเฟ้อเป็นเป้าหมายหลังจากใช้มาแล้ว 10 ปีนั้น ก็เป็นเรื่องที่เหมาะสม

หากมีการทบทวนนโยบายดังกล่าว จะมีผลต่ออัตราดอกเบี้ยนโยบายแน่นอน หากใช้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเป็นตัวตั้ง เพราะอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของไทยต่ำกว่าปกติ เนื่องจากไม่รวมราคาพลังงานและราคาอาหารสดเข้าไปคำนวณด้วย ฉะนั้นดอกเบี้ยนโยบายไม่ควรจะปรับขึ้นอีก

นายเศรษฐพุฒิ มองว่า นโยบายการเงินโดยใช้กรอบเงินเฟ้อเป็นเป้าหมายนั้น ธปท.เอาไปใช้ในการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนมากกว่าดูแลเงินเฟ้อ เพราะเมื่อค่าเงินบาทแข็งค่าก็จะทำให้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อไม่ให้เงินไหลเข้ามา มากจนเงินบาทแข็งค่าจนก่อปัญหาในระบบเศรษฐกิจ ทั้งที่เงินเฟ้อสูงเหมือนที่เกิดขึ้นเป็นช่วงๆ และหากเห็นว่าการขึ้นดอกเบี้ยจะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว ธปท.ก็จะไม่ขึ้นดอกเบี้ย

“ในทางปฏิบัติกับหลักการบางครั้งเหมือนว่า ธปท.ทำสวนทางกัน เช่น บางช่วงเวลาที่เงินเฟ้อเกือบหลุดเป้าหมาย โดยเงินเฟ้อเคยเกือบหล่น 0% ธปท.น่าจะลดดอกเบี้ย แต่ก็ไม่ได้ลด หรือบางครั้งที่เงินเฟ้อขึ้นไปเกือบ 3% แต่ ธปท.ก็ไม่ได้ขึ้นดอกเบี้ย” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว

นายสถิตย์ กล่าวว่า สิ่งที่ รมว.คลัง อยากให้ทบทวนนโยบายนี้ก็เพื่อให้นโยบายแม่นยำและถูกต้องในการดูแลเศรษฐกิจ สิ่งที่กระทรวงการคลังเห็นว่าต้องทบทวน คือ

1.ควรจะต้องมีการนำเอาราคาพลังงานและอาหารเข้ามาคำนวณเป็นสูตรเงินเฟ้อ เป้าหมายหรือไม่ เพราะตัวเลขนี้จะเป็นค่าครองชีพจริงที่ประชาชนประสบอยู่ ไม่ใช่ตัวเลขเงินเฟ้อพื้นฐานต่ำ แต่ชาวบ้านซื้อของแพง จึงควรหรือไม่ที่จะเปลี่ยนเอาเงินเฟ้อทั่วไปมาคำนวณเงินเฟ้อ

2.อัตราเงินเฟ้อที่ ธปท.กำหนดไว้ในช่วง 0.53% เหมาะสมหรือไม่ เพราะกรอบที่กว้างเกินไปทำให้มีช่องว่างในการขึ้นดอกเบี้ยมาก หากช่วงแคบลงก็จะทำให้ดอกเบี้ยนโยบายไม่ปรับขึ้นมาก

3.ธปท.จะใช้นโยบายการเงินโดยดูที่อัตราเงินเฟ้อหรืออัตราแลกเปลี่ยนดี กว่ากัน เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณา เพราะที่ผ่านมาเมื่อเงินบาทแข็งค่า ธปท.ก็จะคงดอกเบี้ย ไม่ได้ขึ้นดอกเบี้ยทั้งที่ความเป็นจริงควรจะต้องขึ้น เพราะโดนเอกชนกดดันว่าไม่ช่วยเหลือส่งออก และการส่งออกปัจจุบันคิดเป็นมูลค่า 70% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) หากจะมุ่งใช้นโยบายการเงินไปดูแลค่าเงินจะดีกว่าดูแลเงินเฟ้อหรือไม่

4.หากเทียบกับประเทศอื่นที่ใช้นโยบายนี้ ได้มีการปรับเปลี่ยนอะไรบ้างหรือไม่ บางประเทศก็มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงการคลังเข้ามาเป็นคณะกรรมการ นโยบายการเงิน (กนง.) ด้วย เพื่อให้การทำงานระหว่างคลังกับ ธปท.ประสานไปในทิศทางเดียวกัน

แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ธปท. ในเรื่องนโยบายการเงินโดยใช้กรอบเงินเฟ้อเป็นเป้าหมายนั้น คงจะได้รับการตอบสนองอย่างเฉยชาจาก ธปท. เพราะสิ่งที่ ธปท.ได้ดำเนินนโยบายมาตลอด 10 ปี ก็ยังไม่สามารถเห็นผลเสียที่ชัดเจนของนโยบายดังกล่าว

นอกจากนี้ นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธปท. ก็ได้ออกมากล่าวชัดๆ ว่า ในโอกาสที่ใช้การตั้งกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อมาครบ 10 ปี ก็เป็นโอกาสดีที่จะใช้ผู้เชี่ยวชาญมาช่วยประเมินว่าเหมาะสมหรือไม่ แต่ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนกรอบใหม่ตามที่ผู้ประเมินเสนอ แต่กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อในปัจจุบันเหมาะสมกับอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจอยู่ แล้ว

คาดว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเป้าหมายเงินเฟ้อใหม่ จากปัจจุบันที่ 0.5-3% เพราะเพิ่งเปลี่ยนจากเป้าหมายเดิมที่ 0-3.5% ให้แคบลงแล้วหลังจากใช้มาระยะหนึ่ง

อย่างไรก็ดี ผู้ว่าการ ธปท.ยังแทงกั๊กว่า การจะเปลี่ยนเป้าหมายเงินเฟ้อหรือไม่อยู่ที่ ธปท. และกระทรวงการคลังจะหารือกัน

แต่เรื่องนี้ผู้ว่าการหญิงธาริษาลอยตัวไม่ต้องรับผิดชอบไปหารือกับ กระทรวงการคลัง แต่จะเป็นผู้ว่าการ ธปท.คนใหม่ คือ นายประสารไตรรัตน์วรกุล

ก่อนหน้านี้ นายประสารที่ยังนั่งเก้าอี้กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ได้เคยให้ความเห็นต่อการที่ ธปท. ได้มีการเตรียมเสนอการปรับเปลี่ยนกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อมาเป็นการนำเงินเฟ้อ ทั่วไปมากำหนดกรอบนโยบายการเงิน จากเดิมที่นำเงินเฟ้อพื้นฐานว่ามีทั้งข้อดีและข้อเสีย โดยข้อดีคือเข้าใจได้ง่ายและเป็นที่รู้จักของประชาชนส่วนใหญ่

แต่ในทางกลับกัน การกำหนดนโยบายโดยใช้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ได้นำเอาราคาอาหารและพลังงานมารวมในการบริหารด้วยจึงมีความผันผวน ซึ่งแท้จริงแล้วในการบริหารดังกล่าวไม่ต้องการความผันผวนมาเป็นตัวแปร อย่างไรก็ตาม การดำเนินการดังกล่าวต้องมีการหารือร่วมกับภาครัฐต่อไป

สำหรับการคำนวณอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง ที่ ธปท.ได้นำเอาอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในแต่ละเดือนมาหักลบกับอัตราดอกเบี้ยของ ธนาคารนั้น ได้ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงติดลบเป็นสิ่งที่สร้างความกังขาให้กับ ธนาคารพาณิชย์เป็นอย่างมากว่าทำไมไม่นำเอาอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมาคำนวณแทน

อย่างไรก็ดี ปรากฏการณ์ที่กระทรวงการคลังพยายามให้ความเห็นเรื่องนโยบายการเงินโดยใช้ เงินเฟ้อเป็นเป้าหมาย ยังคงแสดงให้เห็นการแทรกแซงการทำงานของ ธปท.จากฝ่ายการเมือง โดยเฉพาะความต้องการที่จะใช้ดอกเบี้ยเป็นมือไม้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่เป็นการแทรกแซงอย่างไม่ให้ดูน่าเกลียด และ ธปท.ก็สู้ด้วยการเอาคนกลางเข้ามาเป็นคนดู เพื่อให้มีข้อมูลในการต่อสู้ว่านโยบายนี้ยังจำเป็นต้องมีต่อไปหรือไม่ หรือควรจะแก้ไขอย่างไร

จากนี้ไปก็ต้องรอดูผลการศึกษาของทีมงานต่างชาติที่ ธปท.ว่าจ้างมา และดูท่าทีของผู้ว่าการ ธปท.คนใหม่ ที่จะแข็งแกร่งในการต่อสู้กับการแทรกแซง ธปท. จากกระทรวงการคลังได้หรือไม่

Tags : Inflation Targeting แผนเหนือเมฆ ธปท. คลัง

view