สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ถอดกลยุทธ์ ซิซซ์เล่อร์ หนีสงครามราคา

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ซิซซ์เล่อร์ หนีสงครามราคา ยกเครื่องเรื่องบริการ หล่อหลอมวัฒนธรรมใหม่ สร้างจิตสำนึกบริการให้พนักงาน หวังรักษาตลาดยั่งยืน
"ทำอย่างไรเมื่อลูกค้ามีเงินมากก็เลือกเรา มีเงินน้อย จำเป็นต้องเลือก ก็ยังเลือกเราอยู่" เป็นโจทย์สำคัญทางการตลาดสำหรับผู้ประกอบการยุคที่ลูกค้ามี "ทางเลือก" มากขึ้น และพร้อมจะเลือกในสิ่งที่ "ดีที่สุด" ยิ่งในธุรกิจร้านอาหารภัตตาคาร มีร้านใหม่ๆ แจ้งเกิดตลอดเวลา  ส่งผลการแข่งขันทั้งด้านสินค้าและราคาดำเนินไปอย่างเข้มข้น

"หากเราแข่งเรื่องราคาก็สู้กันไม่รู้จบ แต่หากแข่งเรื่องคุณภาพ มาตรฐาน ร้านก็ได้อิมเมจในระยะยาวและแข่งกันยาก" นงชนก สถานานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บัญญัติ อธิยุตกุล ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติงาน และวสันต์ สินพิทักษ์สกุล ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพย์กรบุคคล "ซิซซ์เล่อร์" ร้านอาหารประเภทสเต๊ก ซีฟู้ด และสลัด สไตล์ตะวันตก ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท เอส แอล อาร์ ที จำกัด ในเครือเดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ร่วมกันถ่ายทอดกลยุทธ์การบริหารจัดการร้านซิซซ์เล่อร์

คู่แข่ง!! ของซิซซ์เล่อร์ เป็น ร้านอาหารทั้งหมด ไม่ใช่เพียง "ร้านอาหารฝรั่ง" เพราะลูกค้าเข้าทั้งร้านสุกี้ ญี่ปุ่น ฯลฯ จากการเก็บข้อมูล พบว่า คนไทยรับประทานอาหารนอกบ้าน 7-8 ครั้งต่อสัปดาห์ (รวมทุกมื้อ) และใช้บริการเกิน 7 แบรนด์ โดยปัจจุบันจากข้อมูลพบด้วยว่า ลูกค้าเลือกเข้าร้านซิซซ์เล่อร์ 1.5 ครั้งต่อเดือน เป้าหมายขั้นต้นจากนี้..ต้องการขยับให้เป็น 2 ครั้งต่อเดือน

"ลูกค้าที่มาทานร้านเราไม่ได้อยู่ที่ราคาอย่างเดียว ต้องอร่อย ตรงเวลา ที่สำคัญเราจะทำอย่างไรให้โปรดักท์นั้นๆ ส่งต่อถึงลูกค้าได้ตามมาตรฐานซิซซ์เล่อร์ทั่วโลก และทำให้การทานอาหารมื้อนั้นของลูกค้าได้ครบหมดทุกอย่างภายใต้การบริการที่ ดีเยี่ยม" ผู้บริหารกล่าว

ซิซซ์เล่อร์จะไม่สามารถขับเคลื่อนทั้ง "โปรดักท์" และ "เซอร์วิส" ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หาก "พนักงาน" ไม่มีวัฒนธรรมเดียวกันที่จะเป็นเสมือน "หุ่นเชิด" ให้ซิซซ์เล่อร์ก้าวเดินไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง

อากัปกิริยาประเภท...หน้าหงิก เหมือนหุ่นยนต์ ไม่เติมน้ำ จะถูกหล่อหลอมใหม่ด้วยวัฒนธรรมซิซซ์เล่อร์ ผ่าน "เทรนนิ่ง เซ็นเตอร์" ย่านซอยทองหล่อ ซึ่งทำหน้าที่เป็นศูนย์บ่มเพาะ "ทักษะ" การบริการ จัดการร้าน ไปพร้อมๆ กัน โดยเฉพาะผู้รับบทบาท Make Master, Grill Master, Fry Master ที่ต้องมีความเชี่ยวชาญพิเศษในแต่ละหน้าที่ ซึ่งซิซซ์เล่อร์ ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก คือ กริลล์ สลัดบาร์ และบริการ

ยกตัวอย่าง Make Master หรือพนักงานเรียกอาหาร จะดูแลเรื่องอาหารทั้งหมด ทำอย่างไรให้ลูกค้าทั้งโต๊ะได้รับประทานอาหารโดยพร้อมเพรียงกัน ในขณะที่แต่ละคนสั่ง "สเต๊ก" ต่างกัน ซึ่งเนื้อสัตว์แต่ละประเภท ...เนื้อ หมู ไก่ ปลา กุ้ง เหล่านี้มีเวลาย่างไม่เท่ากัน 

โปรแกรมฝึกอบรมพัฒนาถูกปลุกให้มีชีวิตชีวาด้วย "การแข่งขัน" ในโปรแกรม "Grill Master"  ปีละ 2 ครั้ง เพื่อให้พนักงานเข้าใจมาตรฐานของซิซซ์เล่อร์และรักษามาตรฐานระดับโลก เป็นการแข่งขันระหว่างสาขา ทีมละ 4 คน ที่ร้านจะคัดเลือกพนักงานส่งแข่งขัน นอกจากนี้ยังมีการแข่งขันในโปรแกรม Service Master ซึ่งซิซซ์เล่อร์ประเทศไทยได้พัฒนาหลักสูตรและแนวทางการแข่งขันขึ้นเองรองรับ การเติบโตทางธุรกิจ 36 สาขาทั่วประเทศ

การแข่งขันเหล่านี้ ...ประหนึ่งเครื่องมือทำให้เด็กตื่นตัวตลอดเวลา มี "เงินรางวัล" จำนวนไม่น้อยเป็นแรงจูงใจ ผู้ชนะยังได้ปรับฐานเงินเดือนเพิ่มทันทีอีก 1,000 บาท ขยับตำแหน่งสู่ขั้น Management อีกด้วย เป็นการลดปัญหา Turn Over ของพนักงาน ซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่ของธุรกิจอาหารได้ด้วย

สิ่งที่ได้ตามมา  "มีค่า" ไม่น้อยไปกว่ากัน คือ  "เซอร์วิส" ของ ซิซซ์เล่อร์ จะถูกยกระดับ....เรียกว่าลูกค้าได้ประสบการณ์ในแบบโรงแรมกลับไป  ในทางการตลาด เมื่อธุรกิจมีเซอร์วิสที่ดี มาตรฐานสูง ลูกค้าก็กลับมาใหม่ เป็นการรักษาตลาดที่ยั่งยืน ดีกว่าวิ่งหาลูกค้าใหม่นั้น ยาก!!! ยิ่งกว่า

"ทำการตลาดอย่างไรก็ไม่มีประโยชน์หากพื้นฐานไม่ดี มาตรฐาน หรือฟู้ด อินโนเวชั่น เหล่านี้ ทำให้ต้นทุนการตลาดลดต่ำลง ไม่ต้องสนใจเรื่องของราคาในการแข่งขัน" ผู้บริหารซิซซ์เล่อร์ กล่าวต่อว่า ทรัพยากรบุคคลที่ผ่านการเทรนนิ่ง เพิ่มทักษะมาอย่างต่อเนื่อง จะทำให้ซิซซ์เล่อร์ ตอบโจทย์ลูกค้าได้ถึงขนาดที่ว่า...เข้ามานั่งแล้วไม่ต้องสั่ง!! เลยทีเดียว  ซึ่งจะได้สัมผัสประสบการณ์ใหม่ภายในปลายปีนี้ ...

Tags : ถอดกลยุทธ์ ซิซซ์เล่อร์ สงครามราคา

view