สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ว่าด้วยเรื่อง ขยะ

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ สังคมอยู่ได้ เราอยู่ได้

โดย พงษ์ทิพย์ เทศะภู pongtip.thesaphu@unilever.com




ภาพชาย หญิงและเด็ก ๆ หลายสิบคนในเสื้อผ้าเก่า คร่ำคร่า โพกผ้าปิดหน้าปิดตา ในมือมีท่อนไม้ยาว ๆ ไว้คุ้ยเขี่ย "กองขยะ" สูงท่วมหัว เมื่อได้สิ่งของที่ต้องการ เช่น ขวดแก้ว พลาสติก กระดาษ กระป๋อง อะลูมิเนียม ก็จะหยิบของเหล่านั้น (ด้วยมือที่ไม่ใส่ถุงมือ) ใส่ลงในกระชุข้างตัวเพื่อนำไปจำหน่ายให้พ่อค้าเพื่อส่งต่อโรงงานที่จะนำ "ขยะ" เหล่านั้นไปสู่การ "รีไซเคิล" กลับมาสู่การนำมาใช้ในวงจรชีวิตมนุษย์อีกรอบ

หากว่า "ขยะ" คือทรัพยากรที่วางไว้ ผิดที่ คนที่หากินกับกองขยะเหล่านี้ก็คือ ผู้ที่นำทรัพยากรขยะที่วางอย่างผิดที่บนกองขยะที่ไม่ฝังกลบที่มีอยู่กว่า ร้อยละ 80 จากแหล่งกำจัดขยะทั่วประเทศกลับมาสู่ที่ที่ถูกต้องของมัน

ธนาคาร โลกประเมินไว้ว่า มีประชากรโลก 1% ในประเทศกำลังพัฒนามีรายได้เพื่อการยังชีพจากการเก็บขยะ หากเป็น ดังนั้น ประเทศไทยก็น่าจะมีคนที่ทำมาหากินกับการเก็บขยะยังชีพไม่น้อยกว่า 600,000 คน น่าจะขอบคุณทั้ง 600,000 คนนี้ที่ทำให้สังคมไทยได้อยู่สบาย ๆ จากการที่เขาช่วยแบกภาระจัดการกับปัญหา สิ่งแวดล้อม "ขยะ" ซึ่งเกิดจากการบริโภคและความเป็นอยู่ที่ไร้ระเบียบและปราศจากการจัดการปัญหา ขยะอย่างยั่งยืนจากหน่วยงานใด ๆ

แรงงานที่น่าเห็นใจเหล่านี้จะมีราย ได้ไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับจำนวนขยะที่หาได้ (แต่ก็น่าจะพอเพียงกับการประทังชีวิตไป วัน ๆ หรืออาจจะมากขึ้นตามจำนวนขยะที่เพิ่มขึ้นทุกวัน) หากแต่สิ่งที่แน่นอนที่สุด ของชีวิตคนเหล่านี้คือ สภาพความเป็นอยู่ที่ย่ำแย่รอบ ๆ กองขยะ ความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพ จากเชื้อโรคทุกประเภทในกองขยะ ทั้งโรคติดเชื้อ โรคติดต่อ ยาฆ่าแมลง อากาศ และน้ำที่ดื่มและใช้รอบ ๆ กองขยะ และดำรงชีวิตแบบที่เรียกว่าไร้ซึ่งระบบรัฐสวัสดิการทั้งปวง (ระบบประชานิยมก็ยังเข้าไม่ถึงด้วย)

ปัญหาคุณภาพชีวิตของคน 600,000 คนที่กล่าวมา เป็นส่วนเสี้ยวที่เกิดจากปัญหาการจัดการขยะของประเทศไทย จากการสำรวจของสถาบันส่งเสริมการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมไทย ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมพบว่า จากจำนวน 300 ตัวอย่างของผู้บริหารระดับสูงของ อปท. ให้ความเห็นว่า ปัญหาขยะเป็นปัญหาอันดับแรกที่ อปท.ต้องพบเจอ และยังหาทางออก ที่ win- win หรือแบบเบ็ดเสร็จแก่ทุกภาคส่วนไม่ได้

แต่เป็นที่น่าแปลกใจว่าทั้ง ๆ ที่นโยบายการบริหารและจัดการขยะในชุมชนของ ภาครัฐ ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 ได้กำหนดให้มี การจัดการขยะในรูปแบบของการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด มุ่งเน้น ให้มีการจัดการให้ครบวงจร แต่ทำไมเรา ถึงยังเห็นกองขยะเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะเป็น การเทขยะบนกองกลางแจ้งแบบไม่มีการ ฝังกลบกว่าร้อยละ 80 ของการจัดการขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ และมีเพียงร้อยละ 1.3 เท่านั้นที่มีการ ฝังกลบขยะแบบถูกหลักสุขาภิบาลก็ไม่น่าสงสัยว่าทำไมเราถึงได้เห็นภาพการต่อ ต้านการเกิดบ่อขยะใหม่ ๆ อยู่เนือง ๆ หรือปัญหาระดับชาติ เช่น มาบตาพุด เพราะตราบใดที่ผู้ปฏิบัติยังไม่สามารถแปรนโยบายมาเป็นรูปธรรมได้ ปัญหาก็ยังคงอยู่ต่อไป และขยายตัวขึ้นเรื่อย ๆ ตามการเติบโตของชุมชน

ปัญหา ขยะเป็นปัญหาที่เชื่อมโยงกับ เรื่องสิ่งแวดล้อม เป็นปัญหาที่มีเรื่องของความรู้ ความเข้าใจ การมีส่วนร่วม และทัศนคติ เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องและ เป็นปัญหาที่ไม่สามารถจัดการได้โดยคนคนเดียว หน่วยงานเดียว หรือบริษัทเดียว

หากเราจะตั้งธงไว้ว่าอยากให้เมือง ไทยเป็นประเทศที่มีการจัดการกับทรัพยากรขยะแบบมีประสิทธิภาพ และได้ผลสูงสุดสู่การจัดการขยะฐานศูนย์ เราอาจจะต้องเริ่มต้นด้วยการสร้างทัศนคติให้คนไทยตั้งแต่เด็ก ๆ เข้าใจว่าขยะมีค่าสำหรับทุกคน (ไม่เฉพาะคนเพียง 600,000 คน หรือเฉพาะแม่บ้าน คนงานทำความสะอาดบ้านเท่านั้น) ทำอย่างไรจะให้ชุมชนมีการ คัดแยกขยะแห้ง เช่น พลาสติก แก้ว กระดาษ กระป๋องอะลูมิเนียม กล่องนม เพื่อการนำมาใช้ใหม่ มีความเข้าใจและนำไปปฏิบัติอย่างแพร่หลายในเรื่องการจัดการขยะสดมาเป็นปุ๋ย อินทรีย์ มีการนำเทคโนโลยีมาแปรรูปขยะสู่น้ำมัน หรือพลังงานรูปแบบอื่น ๆ ผู้ผลิตที่ต้องมีนวัตกรรมในการสร้างความยั่งยืนทางด้านสิ่งแวดล้อม เช่น เปลี่ยนรูปแบบของชนิดพลาสติกมาเป็นชนิดที่รีไซเคิลได้ อีกทั้งปฏิบัติตามกฎระเบียบเรื่องการทิ้งขยะจากโรงงานอย่างเคร่งครัด หรือแม้กระทั่งการนำทรัพยากรมาสู่แหล่งผลิต เช่น แบตเตอรี่ของโทรศัพท์มือถือ ประการสำคัญเลิกใช้การจัดการเทขยะลงในที่แจ้งจนเป็นกองภูเขาที่ไม่มีใครหรือ ชุมชน ใด ๆ อยากเข้าใกล้ หรือให้มาอยู่ในวิถีของชุมชน

ไม่ต้องห่วง ว่าชาย หญิงและเด็ก ๆ 600,000 คน ที่มีชีวิตอยู่รอบกองขยะจะไม่มีที่ทำกินหากกองขยะค่อย ๆ หายไป เมื่อถึงเวลานั้น คนเหล่านั้นคงถูกดึงมาสู่ระบบสวัสดิการของรัฐได้ 600,000 คนเป็นจำนวนไม่น้อย หากใครอยากเพิ่มฐานเสียงกรุณาใส่ใจเรื่องการจัดการขยะ เชื่อเลยว่าคะแนนนิยมมาลิ่ว

หมายเหตุ - ข้อมูลอ้างอิงบางส่วนจากสถาบันโลกร้อนศึกษา ประเทศไทย (มูลนิธินภามิตร)

Tags : ว่าด้วยเรื่อง ขยะ

view