สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ลางร้ายของหัวหน้า

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
พอใจ พุกกะคุปต์  ถอดรหัส ธุรกิจ


องค์กรจะก้าวไกล จะไม่ขยับ หรือจะย่อยยับ ผู้นำมีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง
วิถีแห่งการนำของท่าน ไม่ว่าจะใช่วิธีนั่งนิ่งๆ หรือวิ่งทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย หรือเฉื่อยๆ เรื่อยๆ มาเรียงๆ ล้วนมีอิทธิพลยิ่งใหญ่ต่อความเป็นไปในองค์กร

งานของผู้นำไม่เคยง่าย โดยเฉพาะในยามนี้ที่สถานการณ์รอบข้าง ทั้งในและนอกองค์กรไม่เคยอยู่เฉยๆ ลองท่านละเลยดูแลองค์กรเพียงแม้ชั่วครู่  มีสิทธิ์ดูไม่จืด

ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้งานของผู้นำยากขึ้นเป็นเท่าทวีคูณ คือการที่ท่าน “ขาดข้อมูล” ในการบริหารองค์กร
อาจารย์ Robert Sutton แห่งสแตนฟอร์ด มหาวิทยาลัยชื่อดังของสหรัฐอเมริกา ได้วิจัยลึกซึ้งเรื่องพฤติกรรมของผู้นำ และฟันธงว่า ปัจจัยสำคัญ 3 ข้อ ที่ทำให้ท่านหัวหน้าขาดข้อมูลที่แท้จริง ตรงประเด็นเอาไว้บริหารองค์กร แถมข้อมูลที่ท่านคิดว่ามีมากมาย ก็อาจบิดเบี้ยว ทำให้เลี้ยวหลง คือ

1. ผู้นำมักประเมินความสามารถตนเองสูงกว่าความเป็นจริง
หัวหน้าก็เป็นมนุษย์ปุถุชนคน ธรรมดาทั่วไป ที่มักเห็นตัวเองเก่งและดีกว่าที่เป็นความจริง
เราทุกคนมี อคติ ติตนยาก เข้าตำรา “ความผิดคนอื่นดูยิ่งใหญ่เท่าขุนเขา ความชั่วเราดูดั่งเส้นผม”

อาจารย์ Sutton ทดลองศึกษาและสอบถามผู้ขับขี่รถยนต์โดยให้ประเมินทักษะตนเองในการขับรถ ปรากฏกว่า 90% ของผู้ที่ถูกสอบถามมีความเห็นว่า ตัวเองมีทักษะในการขับรถที่ “ดีกว่าคนส่วนใหญ่”! ทั้งนี้ เจ้า 90% ก็แทบจะเป็นทั้งหมดของคน “ส่วนใหญ่” ดังนั้น ไม่ใครก็ใครเกือบครึ่งใน 90% ประเมินตัวเองสูงไป

โหดร้ายและอันตรายยิ่งไปกว่านั้น คือผลการวิจัยของคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยคอร์แนล ที่ระบุว่า

คนที่เห็นว่าตัวเองสุดเจ๋ง เบ่งว่าเก่งกว่าใครๆ ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่กลับมีความสามารถไปในทางตรงกันข้าม  กล่าวคือ “บื้อ” กว่าคนทั่วไป !

นอกจากนั้น ท่านผู้อ่านเคยมองรอบตัวทั้งที่บ้านและที่ทำงาน  แล้วฉุกคิดไหมว่า  เราคุ้นเคยมากกับการเห็นโลกที่ “ไม่มีเรา”! เพราะจากสายตาผู้มอง เราเห็นแต่คนอื่นนั่ง เดิน วิ่ง รอบตัวเรา ผู้มอง ย่อมไม่เห็นตัวเองอยู่ในภาพ

ดังนั้น  หัวหน้าส่วนใหญ่ต้องใช้สายตาแหลม คมของคนรอบข้างเป็นตัวช่วยให้ข้อมูลเกี่ยวกับตัวเราเพื่อจะได้ส่องสะท้อน เห็นทั้งจุดเจ๋ง จุดเจ็บของตัวเราเองได้อย่างถ่องแท้ จะได้ไม่หลงตัวหลงตนจนประมาท

2. หัวหน้าส่วนใหญ่ใส่ใจลูกน้องน้อย เกินไป ลูกน้องส่วนใหญ่มักใส่ใจเฝ้าสังเกตอารมณ์ผู้นำ ว่า ขม หวาน ประมาณไหน ท่านจะนิ่วหน้า ตาขมึง หรือยิ้มใส แต่ละอากัปกิริยาไม่เคยคลาดสายตาลูกน้อง เพราะเขาตั้งใจดูแลประคับประคองไม่ให้กระฉอกแต่ประการใด ส่งผลให้เขามีข้อมูลเรื่องหัวหน้ามากมายกว่าที่หัวหน้ามีข้อมูลเรื่องเขา

หัวหน้าจำนวนไม่น้อย มักไม่ใคร่มีใจหรือมีเวลาดูแลลูกทีมอย่างละเอียดลึกซึ้งเท่าที่ลูกน้องคอย จ้องเอาใจใส่หัวหน้า เพราะท่านอาจมีลูกน้องมากมายจนเอาใจไม่หวาดไม่ไหว

นอกจากนั้น ธรรมชาติของคน มักใส่ใจรายละเอียดของผู้ที่มีอิทธิพลสามารถให้คุณให้โทษตัวเองได้ หัวหน้าท่านก็มีหัวหน้าอีกที ที่ท่านต้องสวมบทบาทลูกน้อง คอยจ้องเอาใจ เวลาจึงไม่ค่อยเหลือเผื่อมาถึงลูกน้องในไส้เท่าไรนัก

หากหัวหน้าต้องการรับรู้ถึงความเป็น ไปในองค์กร ต้องเริ่มเพิ่มการเอาใจใส่ดูแลลูกทีม เพราะปัญหาของลูกน้อง หากไม่ได้รับการแก้ อาจแย่ทั้งทีม เพราะลูกน้องก็เหมือนคนทั่วไป คับที่อยู่ได้ แต่คับใจไม่อยากอยู่  แม้ทนอยู่ ก็ไม่อยากทุ่มเททำ เอาแต่ดำน้ำไปพลางๆ

3. หัวหน้าถูกกลุ้มรุมด้วยข่าวดี จนไม่มีโอกาสเห็นข่าวร้ายที่ต้องรีบแก้ไข ทั้งนี้เป็นเพราะลูกน้องและคนรายรอบหัวหน้าส่วนใหญ่ไม่มีใครอยากเจ็บ ตัว หากนำเรื่องร้ายๆ ไปรายงาน กลัวหัวหน้าด่าว่า หาเรื่อง หรือเคืองเอาง่ายๆ หากเป็นไปได้ท่านทั้งหลายจึงหมักๆ เรื่องร้ายไว้ หวังใจว่ามันอาจจะหายไปเอง หรือแม้ต้องเล่าปัญหาให้หัวหน้าฟัง ก็ใช้จินตนาการแต่งเติมเสริมเล่า จนปัญหาดูบางเบาเท่าที่จะทำได้

หัวหน้าจำนวนไม่น้อย จึงขาดข้อมูลที่คมชัดและทันท่วงทีที่จะแก้ปัญหา
 วิธีแก้คือต้องหมั่น คอยสร้างบรรยากาศให้คนกล้าพูด กล้าเสนอ เผลอดุใครเมื่อเขากล้าแย้งเรา ก็ต้องหาโอกาสขอโทษ บอกลูกน้องว่าอย่าถือโกรธผม ชมเขาว่า ขอให้กล้าเสนอมุมที่ต่างต่อไป

ท่านหัวหน้าท่านใดที่เริ่มเห็นลาง ร้ายมาลับๆ ล่อๆ เช่น เราเริ่มคิดว่าทำไหมหนอเราจึงเก่งโดดเด่นกว่าคนอื่นเช่นนี้ หรือ เราเริ่มเอาใจออกห่างลูกน้อง ลืมสอดส่องดูแลสารทุกข์สุกดิบ หรือ เราได้แต่ข่าวแสนดีไม่มีที่ติจากลูกน้องรอบตัว   

กรุณาเริ่มกังวลว่าปัญหาใหญ่กำลังตามมา ต้องหาวิธีปัดเป่าโดยด่วนค่ะ

Tags : ลางร้าย หัวหน้า

view