สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

วิถีญี่ปุ่น (จบ)

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
โดย : แจ็ค มินทร์ อิงค์ธเนศ jack@svoa.co.th


ปัจจุบัน คงไม่มีใครปฏิเสธความยิ่งใหญ่ของ "เกาหลี" ที่แผ่อิทธิพลไปหลายธุรกิจ ทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้า โทรศัพท์มือถือ รถยนต์ ฯลฯ
และแบรนด์ของเกาหลีเหล่านั้น เช่น ซัมซุง แอลจี ฮุนได ก็เติบโตสู่การเป็นแบรนด์ระดับโลกไปแล้วเช่นกัน

พื้นฐานของความสำเร็จของเกาหลีใต้ มีหลายประเด็นที่น่าสนใจ โดยเฉพาะการส่งเสริมวัฒนธรรมของตัวเองผ่านอุตสาหกรรมบันเทิงแล้วค่อยๆ แอบแฝงเอาสินค้าต่างๆ เข้าไป เพื่อสร้าง "ความเชื่อ" ให้กลุ่มเป้าหมาย คือ คนรุ่นใหม่ในประเทศต่างๆ

หลังประสบความสำเร็จจาก "แดจังกึม" เราก็เริ่มคุ้นเคยกับเกาหลี และมีภาพยนตร์ซีรีส์จากเกาหลีติดตามออกมาอีกมากมาย ทั้งเริ่มเห็นโทรศัพท์ ทีวี เครื่องเสียง รถยนต์ และเครื่องสำอางเกาหลีปรากฏอยู่ในซีรีส์ และเริ่มเชื่อในสินค้าเหล่านั้นทีละน้อยๆ โดยไม่รู้ตัว

หลายท่านอาจรู้สึกทึ่งกับกลยุทธ์ดังกล่าว แต่นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะช่วงทศวรรษ 70 ที่ยุคนั้นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ต่างประเทศที่นิยมกันในบ้านเรา นอกจากสหรัฐอเมริกาแล้วก็มีแต่เพียง "ญี่ปุ่น" เท่านั้นที่โดดเด่น โดยเฉพาะเรื่อง "โอชิน" ที่ได้รับความนิยมมาก เพราะมีเนื้อเรื่องที่กินใจ ได้เห็นถึงความยากลำบากหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ถือเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมที่ญี่ปุ่นถ่ายทอดให้แก่ผู้ชม และได้แฝงมุมมองต่อสินค้าจากญี่ปุ่นเช่นเดียวกัน

จากการสนทนากับนักธุรกิจญี่ปุ่นว่าทำไมทุกวันนี้ญี่ปุ่นถึงแพ้เกาหลี ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วระบบเศรษฐกิจของญี่ปุ่นมีขนาดใหญ่กว่าเกาหลีมาก ก็ได้คำตอบว่าญี่ปุ่นไม่ได้เห็นเกาหลีเป็นคู่แข่ง แต่เกาหลีต่างหาก ที่เอาญี่ปุ่นเป็นตัวอย่างและยึดถือเป็นคู่แข่ง

คนญี่ปุ่นจะมองว่าคู่แข่งของญี่ปุ่น ก็คือ ญี่ปุ่นเอง ซึ่งประสบการณ์ในการเดินทางไปญี่ปุ่นครั้งล่าสุดก็ดูจะเป็นเช่นนั้นจริงๆ เพราะตลอดการเดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ของญี่ปุ่น ก็รู้สึกทันทีว่า ญี่ปุ่นกำลังมีมิติของการเปลี่ยนแปลง และญี่ปุ่นก็น่าจะมีโอกาสพลิกฟื้นตัวเองกลับมาอีกครั้ง โดยการเข้าใจตัวตนของตนเองมากขึ้นกว่าปัจจุบัน จากการพูดคุยได้ข้อสรุป ดังนี้ คือ

1. ญี่ปุ่นในอดีตเป็นสังคมที่ปิด เพราะญี่ปุ่นเป็นประเทศที่รักชาติมาก แต่ความรักชาติบางครั้งกลายเป็นการปิดกั้น แต่ปัจจุบันการเปิดสังคม ให้เป็นสังคมแบบเปิดเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และจะเป็นวิธีหนึ่งที่จะทำให้ญี่ปุ่นพลิกฟื้นกลับมาได้

2. คนญี่ปุ่นในอดีตเป็นพวกอนุรักษนิยม ไม่กล้าทดลองใหม่ ไม่กล้าทำใหม่ ไม่กล้าบุกเบิก เราจึงเห็นนวัตกรรมในอดีตที่เกิดขึ้นมาจากประเทศสหรัฐอเมริกา หรือกลุ่มประเทศตะวันตกมาโดยตลอด แต่ญี่ปุ่นเก่งเรื่องการทำตามอย่างและประยุกต์ แต่ญี่ปุ่นตระหนักดีว่าถ้ากลัวล้มเหลวและไม่กล้าเปลี่ยนแปลงสุดท้ายจะไม่มี โอกาสก้าวไปข้างหน้า ขณะที่ความกล้าทดลองสิ่งใหม่ๆ และไม่กลัวความล้มเหลวต่างหาก จะเป็นเมล็ดพันธุ์ของความสำเร็จได้ในอนาคต

ญี่ปุ่นยังมีปัญหาใหญ่มากที่จะต้องเอาชนะ เช่น โครงสร้างประชากรที่ไม่สมดุล เพราะวันนี้ ญี่ปุ่นมีประชากรวัยสูงอายุเป็นสัดส่วนที่สูงมาก จากอดีตคนวัยทำงาน 1 คน ต้องเสียภาษีเลี้ยงดูคนสูงอายุในสัดส่วน 30% แต่ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 50%

ความท้าทายของญี่ปุ่นไม่ใช่ปัจจัยจากภายนอก แต่เกือบทั้งหมดล้วนเป็นปัจจัยภายใน ซึ่งถ้าญี่ปุ่นกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง และเปิดตัว โดยต้องไม่กลัวความล้มเหลว ก็มีโอกาสที่เราจะเห็นลูกพระอาทิตย์ผงาดขึ้นบนเวทีโลกได้อีกครั้ง

Tags : วิถีญี่ปุ่น

view