สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ตื่นเถิดตำรวจไทย

จาก โพสต์ทูเดย์

เริ่มต้นตำรวจเองควรจะเปิดใจให้กว้าง โดยที่น่าจะมีการเปิดเวทีให้ประชาชนได้ให้ข้อแนะนำเพื่อปรับปรุงกิจการตำรวจ อย่างเปิดเผย พร้อมกับการซักถามกันอย่างเปิดอก...

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

อังคารที่ 10 ส.ค.ที่ผ่านมา มีข่าวเกี่ยวกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่สำคัญอยู่ 2 เรื่อง หนึ่ง คือ การแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่ได้คนใหม่แล้วคือ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี สอง คือ กฎเกณฑ์ใหม่ในการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจ

การแต่งตั้ง ผบ.ตร. ก็เป็นไปตามคาด หลังจากที่ยืดเยื้อกันข้ามปีเพราะตกลงกันไม่ได้ในหลายระดับ แต่เมื่อ “กล่อมเกลา” กันได้ก็สำเร็จเรียบร้อยโรงเรียนอภิสิทธิ์ในเวลาเพียง 15 นาที แม้จะง่ายดายขนาดนี้ก็ไม่วายที่จะมีข่าวตามมาว่า งานนี้ยังไม่ราบรื่นหรอก คุณวิเชียรอาจจะ “มีอันเป็นไป” ได้ทุกเมื่อ ในบรรยากาศทางการเมืองที่ร้อนแรง ทั้งในระดับพื้นที่และระดับพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะการเลือกตั้งใหญ่ที่น่าจะต้องมีอย่างแน่นอนภายในปีหน้า

อย่างไรก็ตาม ก็เป็นที่คาดหวังว่า ถ้าคุณ วิเชียรฉลาดหรือมีดีพอก็อาจจะพาตัวรอดพ้นจาก “สหบาทา” ในทางการเมืองทั้งหลายเหล่านั้นได้ อย่างที่เซียนฟุตบอลบางคนบอกว่า ต้องทำตัวให้เป็นเหมือน “ลูกฟุตบอลจาบูลานี” อันสามารถลื่นไหลมีอำนาจเหนือฝ่าเท้าของเหล่าเทพในสนามฟุตบอลนั้นได้ เช่นเดียวกัน ตำรวจที่ดีก็ต้องไม่อยู่ใต้อาณัติของนักการเมืองฉันนั้น

ในการประชุมคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงในการแต่งตั้งโยกย้ายนายตำรวจ ตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อันเนื่องมาจากมีข้อร้องเรียนจากนายตำรวจที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจำนวนมาก ในหลายๆ กองบัญชาการ โดยได้ประชุมครั้งแรกในวันที่ 11 ก.พ. 2553 แต่ประชุมไปได้ 5 ครั้งก็ต้องชะงักไว้ เพราะติดการประกาศภาวะฉุกเฉินซึ่งต้องใช้ตำรวจไปช่วยป้องกันสถานการณ์ (แต่แล้วก็แค่ไปทำฟาร์มมะเขือเทศ) จนมาประชุมได้อีกครั้งเมื่อปลายเดือน พ.ค. และประชุมกันมาทุกสัปดาห์ จนสามารถ “ปิดบัญชี” ไปได้ทุกกองบัญชาการที่มีเรื่องร้องเรียนมา เมื่อวันที่ 10 ส.ค.ที่ผ่านมาเช่นกัน

ก่อนอื่นต้องขอเล่าถึงปัญหาของการแต่งตั้งโยกย้ายนายตำรวจในปีนี้ที่ “เกิดเรื่อง” ค่อนข้างมากกว่าทุกปี ซึ่งเริ่มจากปัญหาในการแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติตัวจริงที่ตั้งไม่ ได้เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งส่งผลกระทบสำคัญใน 2 เรื่อง เรื่องแรก คือ ความระส่ำระสายของการแต่งตั้ง|ผู้บังคับบัญชาตำรวจในระดับรองๆ ลงมา โดยเฉพาะในระดับกองบังคับการและกองกำกับการ ที่ตามกฎหมายของตำรวจที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน (พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ 2547) ได้ “กระจาย” อำนาจในการแต่งตั้งไปยังกองบัญชาการทั้งหลายนั้นแล้ว

แต่ความเป็นจริงก็ยัง “กระจุก” อยู่แบบเดิม เพราะยังมี “ผู้มีอำนาจ” ส่ง “ใบสั่ง” มาให้พิจารณาและบังคับให้ตั้งให้ได้อยู่เช่นเคย และอีกเรื่องหนึ่งก็คือ แต่เดิมใบสั่งที่ส่งผ่าน ผบ.ตร.มา ค่อนข้าง “ศักดิ์สิทธิ์” เพราะความที่เป็นของจริงจากตัวจริง แต่นี่เมื่อเป็นแค่ “รักษาการ” จึงไม่ค่อยมีการเกรงอกเกรงใจกันและมีการ “พลิกโผ” กันจำนวนมาก รวมทั้งโผ (ที่ตำรวจเขาเรียกกันว่า “ตั๋ว”) ที่มาจากแหล่งแปลกๆ ที่ปลิวว่อนมากเป็นพิเศษ จึงทำให้มีการร้องเรียนกันมาก อย่างที่คณะกรรมการตรวจสอบฯ ได้รับมาดำเนินการดังกล่าว

“ความกล้าหาญ” ของตำรวจในปีนี้นับว่าเป็นเรื่องประหลาดที่น่าชื่นชม (แม้จะเป็นการปกป้องประโยชน์ส่วนตนแบบที่ตำรวจส่วนใหญ่ชอบกระทำก็ตามที) โดยที่ผู้ร้องเรียนส่วนใหญ่กล้าที่จะเปิดเผยตนเอง แต่ก็มีอยู่มากที่ไม่ระบุชื่ออย่างที่เราเรียกว่า “บัตรสนเท่ห์” ทว่าบัตรสนเท่ห์เหล่านี้กลับมีรายละเอียดที่น่าสนใจ ซึ่งเมื่อนำไปสอบเทียบกับการให้ปากคำของผู้บังคับบัญชาที่คณะกรรมการเรียน เชิญมา ก็ทำให้ได้ “ลาดเลา” ของการทุจริตที่น่าตื่นเต้น

ข้อมูลจากการสอบสวนผู้บัญชาการและคณะที่มาให้ปากคำกำลังอยู่ในระหว่างการ จัดทำเป็นรายงานที่ละเอียดเพื่อให้รัฐบาลได้นำไปแก้ไขต่อไป อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการได้ส่งข้อสรุปในเบื้องต้นไปให้นายกรัฐมนตรีแล้ว และข้อเสนอของคณะกรรมการท้ายรายงานสรุปฉบับนี้ก็ได้ปรากฏเป็นข่าวในการ ประชุม ก.ต.ช. เมื่อวันที่ 10 ส.ค.นั้นด้วยเช่นกัน

ข้อเสนอแนะของคณะกรรมการมีอยู่ 4 ข้อ 1 คือ ให้เพิ่มสัดส่วนการแต่งตั้งตามอาวุโสเป็น 33% จากเดิม 25% เพื่อลดการใช้ “ดุลพินิจ” ให้น้อยลง 2 คือ ให้มีการจัดทำรายชื่อและลำดับอาวุโสของนายตำรวจทุกระดับให้ชัดเจน ก่อนที่จะมีการพิจารณาแต่งตั้ง 3 คือ จะต้องให้มีช่องทางในการท้วงติงหรือร้องเรียน รวมทั้งการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารให้นายตำรวจที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกนายได้ ตรวจสอบ และ 4 ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดทั้งสามข้อข้างต้น จะต้องถูกสอบสวนทางวินัยหรือได้รับโทษทัณฑ์ตามสมควร

ตามข่าวที่ท่านโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติแถลงดูจะมีความชัดเจนเพียง 3 ข้อ แต่ข้อสุดท้ายไม่เห็นปรากฏในข่าว ซึ่งอาจจะตีความได้ว่าไม่ได้มีการพิจารณา หรือถ้ามีการพิจารณาก็อาจจะหลงลืม หรือบางทีก็อาจจะเป็นยุทธศาสตร์ที่ต้องอุบไว้ เพื่อไม่ให้ “ไก่ตื่น”

ย้อนกลับไปที่การแต่งตั้ง พล.ต.อ.วิเชียร เป็น ผบ.ตร.อีกครั้ง ท่านผู้นี้ก็เป็นความหวังของวงการตำรวจและของประเทศอีกด้วย โดยเฉพาะในส่วนของรัฐบาลที่ได้ตั้งคณะกรรมการระบบงานตำรวจขึ้นมาก่อนหน้านี้ ที่หวังว่าคุณวิเชียรจะได้มาร่วมมือในการปฏิรูปองค์กรตำรวจอย่าง “จริงจังและจริงใจ” ส่วนหนึ่งก็เพื่อสร้างชื่อให้กับคุณวิเชียรนั้นด้วย

ผู้เขียนในฐานะกรรมการคนหนึ่งในคณะกรรมการปฏิรูประบบงานตำรวจชุดนี้ กำลังจะเตรียมข้อเสนอไว้ให้คุณวิเชียรพิจารณาอยู่ 3 เรื่อง คือ 1 การยกระดับมาตรฐานทางคุณธรรมและจริยธรรมของตำรวจ (ให้มีปรากฏบ้าง) 2 การเอาใจใส่ในการพัฒนาความเป็นวิชาชีพของตำรวจโดยเริ่มจากการบังคับใช้ กฎหมายอย่างเคร่งครัด (เพราะปัจจุบันตำรวจกำลังจะมีอาชีพเป็น “เกษตรกร” กันเสียหมด ไม่ใช่แค่ฟาร์มมะเขือเทศ แต่คือการ “เอาหูไปนาเอาตาไปไร่”) และ 3 การนำเทคโนโลยีมาช่วยเสริมและทดแทนงานบางอย่างของตำรวจให้มีประสิทธิภาพ

เริ่มต้นตำรวจเองควรจะเปิดใจให้กว้าง โดยที่น่าจะมีการเปิดเวทีให้ประชาชนได้ให้ข้อแนะนำเพื่อปรับปรุงกิจการตำรวจ อย่างเปิดเผย พร้อมกับการซักถามกันอย่างเปิดอก อย่างผู้เขียนก็อยากถามว่า ทำไมตำรวจจึงชอบขี่มอเตอร์ไซค์ในเลนทางด่วนบนถนนวิภาวดี (เพราะผู้เขียนอยู่บนถนนเส้นนี้) ทำไมตำรวจจึงชอบหันหลังให้คนขับรถที่ปาดแซงและจอดไม่เป็นที่เป็นทาง (โดยเฉพาะผู้ปกครองโรงเรียนหอวังที่ผู้เขียนก็มีลูกอยู่ที่นั่น) และทำไมในซอยแจ้งวัฒนะ 5 จึงไม่กล้าจัดการกับตลาดนัด (ทุกวัน) ที่ใช้ถนนเป็นที่ขายของ (ที่โพสต์ทูเดย์หน้า 4 ก็เคยบอกไปแล้ว ซึ่งผู้เขียนต้องผ่านอยู่เป็นประจำ และมีคนยุว่าถ้าตำรวจยังไม่จัดการให้ไปฟ้องศาลปกครอง) ฯลฯ

Tags : ตื่นเถิดตำรวจไทย

view