สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

บทเรียนความขัดแย้งทั่วโลก อดัม คาเฮน ร่วมหาทางออกให้ลูกหลานไทย

จาก โพสต์ทูเดย์

เรากำลังเผชิญและต่อสู้กับปัญหาที่ซับซ้อนมากขึ้น เป็นปัญหาใหม่ที่เกิดจากคนเล็กๆ ในสังคมที่ไม่มีเสียงมาก่อน ซึ่งเป็นปัญหาที่ยุ่งยากขึ้น มีพลวัตสูงขึ้น มีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา....

โดย...พิเชษฐ์ ชูรักษ์

เหตุการณ์ความขัดแย้งเกิดขึ้นอยู่ทั่วโลก ไม่ได้รับการยกเว้นแม้ประเทศไทย ที่รู้จักกันในนาม “สยามเมืองยิ้ม” เป็นความขัดแย้งที่มีพลวัตมาเป็นลำดับ  และสังคมไทยก็เพิ่งผ่านพ้นโศกนาฏกรรมทางการเมืองมาสดๆ ร้อนๆ เมื่อช่วงเดือน เม.ย.- พ.ค. ปี 2553 ด้วยเพราะความเห็นต่าง คิดต่าง และอุดมการณ์ทางการเมืองแตกต่างกัน จึงติดอาวุธฆ่าแกงกันกลางเมือง

อีกทั้งประเทศไทยยังคงเผชิญความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้  ซึ่งกล่าวได้ว่าไม่ได้แตกต่างจากพื้นที่ความรุนแรงที่เกิดขึ้นอยู่ในแทบทุก มุมโลก

อดัม คาเฮน

กลุ่มบุคคลคณะเล็กๆ เลิกตั้งคำถาม เมื่อไหร่ปัญหาความขัดแย้งในบ้านเราจะจบเสียที? -- แต่ได้ยื่นมือออกมาร่วมแสวงหาทางออก ด้วยการเชิญ อดัม คาเฮน นักสร้างกระบวนการแก้ปัญหาความขัดแย้งระดับโลก มาร่วมสัมมนาในหัวข้อ “เราจะส่งมอบประเทศไทยแบบไหนให้ลูกหลาน” ในวันที่ 16 ส.ค. 2553 เวลา 14:00 – 16:30 น. ณ อาคารพฤกษชาติพระทรงชัย สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ

คาเฮนจะถอดบทเรียนการแก้ปัญหาความขัดแย้งจากทั่วโลก ที่เขามีโอกาสไปมีส่วนร่วม

อาทิ แอฟริกาใต้ คาเฮนเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยสร้างความปรองดองให้กับชาวแอฟริกาใต้ในการ เปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมประชาธิปไตย ภายหลังการสิ้นสุดของยุคแบ่งแยกสีผิว

ไปเข้าร่วมสร้างกระบวนการคลี่คลายปัญหาที่โคลัมเบีย  ประเทศที่เผชิญความขัดแย้งระหว่างทหาร กลุ่มผู้ค้ายาเสพติด กองโจรฝ่ายซ้ายและกองกำลังรักษารักษาความมั่นคงฝ่ายขวา  ความขัดแย้งในแคว้นบาสก์ ประเทศสเปน  สงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในกัวเตมาลา  ปัญหาช่วงวิกฤตเศรษฐกิจในอาร์เจนติน่า ฯลฯ

อดัม คาเฮน ให้สัมภาษณ์พิเศษ “โพสต์ทูเดย์” ในช่วงเวลาสั้นๆ ขณะเขาว่างเว้นจากการแลกเปลี่ยนพูดคุยกับผู้คนจากหลายกลุ่มในสังคมไทย

เนื้อหาต่อไปนี้เป็นบทเรียนคร่าวๆ ที่อดัมสรุปใจความสภาพความขัดแย้งที่ผ่านมา รวมถึงความเป็นไปๆได้ที่ตัวเขาจะสร้างกระบวนการส่งมอบประเทศไทยให้ลูกหลาน

-ภาพรวมความขัดแย้งทั่วโลกในรอบ 10 ปีมานี้มีความแตกต่างกันอย่างไร

ผมคิดว่าปัญหาการจับกุมผู้อพยพในประเทศอังกฤษ มันทำให้มีเสียงของเล็กๆ คนเหล่านี้ขึ้นในสังคม จากที่ไม่เคยได้ยิน ซึ่งเป็นเทรนด์แรกที่มีเสียงของคนเล็กๆ เกิดขึ้นในสังคมโลก เป็นการลดอำนาจของกลุ่มมีบรรดาศักดิ์ในสังคม ซึ่งเรียกว่าเป็นการปฏิวัติประชาธิปไตย ขณะเดียวกันผมก็เห็นว่าความเป็นประชาธิปไตยทำให้เกิดความขัดแย้งเพิ่มขึ้น เช่นกัน แต่มันก็แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวของระบบชนชั้นหรือผู้มีบรรดาศักดิ์ใน สังคม

เทรนด์ต่อมา เรากำลังเผชิญและต่อสู้กับปัญหาที่ซับซ้อนมากขึ้น เป็นปัญหาใหม่ที่เกิดจากคนเล็กๆ ในสังคมที่ไม่มีเสียงมาก่อน ซึ่งเป็นปัญหาที่ยุ่งยากขึ้น มีพลวัตสูงขึ้น มีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทำให้เห็นว่า ปัญหาที่ยุ่งยากขึ้น ไม่สามารถใช้วิธีการเดิมๆ ในการแก้ไขได้อีกต่อไป หรือไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ

-ความขัดแย้งระหว่างปัญหาทางการเมือง ปัญหาชนชั้นและการก่อการร้าย ปัญหาใดมีแนวโน้มเกิดขึ้นมากกว่ากัน

ผมก็ไม่ทราบว่าปัญหาไหนจะมีมากกว่ากัน แต่มันเกี่ยวเนื่องกันทั้ง  3 ปัญหา ผมจะเพิ่มให้ก็คือปัญหาสิ่งแวดล้อมกำลังเป็นวิกฤตโลก แต่ไม่ค่อยมีคนพูดถึงมากนัก  ซึ่งปัญหาที่ว่ามานี้ไม่สามารถใช้วิธีการเดิมๆ ในการแก้ไขได้อีกต่อไป โดยเฉพาะการแก้เป็นชิ้น ๆ แก้จากบนลงล่าง แต่วิธีใหม่ ต้องแก้เป็นระบบ สร้างการมีส่วนร่วมและใช้วิธีการที่สร้างสรรค์ ด้วยการเชิญทุกภาคที่เป็นผู้มีส่วนได้เสียเข้ามาร่วมแก้

 

-คุณสรุปชัดๆ ได้ไหมว่าปัญหาการก่อการร้ายกับความขัดแย้งทางการเมืองอันไหนมีแนวโน้ม มากกว่ากัน

ใช่…ปัญหาก่อการร้ายอาจมีความรุนแรงมากกว่า แต่ผมคิดว่า ปัญหาทางการเมืองก็ทำลายศักยภาพของคนที่จะต่อสู้และมีส่วนร่วมในสังคมได้มาก เช่นกัน ประเด็นก็คือเราจะทำให้ตัวเองแข็งแรงพอในการแก้ปัญหาความขัดแย้งนั้นหรือ เปล่า โดยเฉพาะการสร้างการมีส่วนร่วม เหมือนที่เรากำลังทำอยู่ในประเทศไทยในขณะนี้ และจะแก้อย่างไรให้เป็นไปโดยวิธีการสันติวิธี

“ทั้งปัญหาการเมือง ปัญหาสังคม มันสะท้อนว่าคนเราอ่อนแอในการอยู่กับปัญหาหรือเป็นการหลีกเลี่ยงปัญหานั่น เอง ซึ่งจะทำให้การแก้ปัญหายิ่งยากเข้าไปอีก ถ้าเป็นปัญหาเชิงการเมือง ผมคิดว่าควรกังวลเรื่องการเคลื่อนตัวขององค์กรทางการเมือง เช่น ปัญหาการคอร์รัปชัน และอื่นๆ”

-คุณคิดว่านักการเมืองส่วนใหญ่คือตัวปัญหาหรือเปล่า

นักการเมืองส่วนใหญ่มักอ้างว่ามีการคุกคามจากภายนอก เพื่อปกปิดความอ่อนแอภายใน ผมคิดว่านักการเมืองในบางประเทศก็ดี คือ ไม่หนีปัญหา พร้อมที่จะแก้ปัญหา เพราะเขามีอำนาจ แต่มันขึ้นอยู่กับการใช้อำนาจนั้นอย่างไร

-ทำไมคุณคิดว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ได้รับการกล่าวถึงมากนัก

ก็มีการกล่าวถึง เช่นที่ไปทะเลาะกันที่โคเปนเฮเก้น แต่แก้ไม่ได้ เพราะมันแก้ยาก เหมือนกับการแก้ปัญหาอื่นๆ ที่มีความขัดแย้งเชิงผลประโยชน์ ซึ่งในพ็อกเก็ตบุ้คเล่มใหม่ของผมเรื่อง Power & Love (พลังรัก พลังอำนาจ-เปิดตัวฉบับแปลภาษาไทยโดยอดัม คาเฮน วันที่ 16 ส.ค. 2553 เวลา 13:00 – 14:00 น. ห้องพอหทัยพิกุล อาคารพฤกษชาติพระทรงชัย สถาบันวิชาการป้องกันประเทศวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร) ก็บอกไว้ว่า ผลประโยชน์ส่วนตนจะมีมากกว่าผลประโยชน์ของส่วนรวม “ซึ่งมันจะแก้ได้ก็ต่อเมื่อมีพลังอำนาจและพลังความรัก”

-ก่อนเดินทางมาคุณรับรู้ปัญหาความขัดแย้งในเมืองไทยมากน้อยแค่ ไหน

ผมรู้ไม่มาก ไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญ ก็แค่อ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์  ปัญหาลึกๆ ไม่รู้มาก แต่ต้องเข้าใจผมว่า ผมไม่ใช่นักแก้ปัญหา ผมมาถอดบทเรียนที่ผมไปประสบมาจากหลายประเทศทั่วโลกให้คุณฟัง และจะหาทางสร้างกระบวนการในการแก้ปัญหาในเมืองไทยมากกว่า

“เรื่องเมืองไทยผมแสดงความเห็นไม่ได้มาก แต่ธรรมชาติของปัญหาทั่วโลกจะคล้ายๆ กัน หรือมีสิ่งที่เหมือนๆ กันอยู่ มันเหมือนการจัดแฟชั่นโชว์ที่ฝรั่งเศส มีทั้งเหมือนและต่างกันกับที่อื่นๆ ปัญหาในเมืองไทยอาจไม่เหมือนใคร แต่ก็มีเหมือนที่อื่นๆ มี จริงๆ ปัญหาทุกที่มีจุดเหมือนและจุดต่าง

ในหนังสือเล่มใหม่ของผม พยายามสรุปในสิ่งที่ประสบความสำเร็จ สิ่งที่ดี ที่ผมพบมาในรอบ 20 ปี ผมได้ประสบการณ์การเรียนรู้จากความล้มเหลวและความสำเร็จ แม้ผมจะได้เรียนรู้จากความล้มเหลวมากกว่า ผมจึงถอดประสบการณ์มาเป็นบทเรียน ทั้งที่สำเร็จและไม่สำเร็จออกมา”

ความสำเร็จและความล้มเหลวที่คละเคล้ากันไปตามที่เล่ามา ครั้งหนึ่งทำให้อดัม คาเฮน มองเห็นถึงสาเหตุที่ทำให้ปัญหาถึงทางตัน และวิธีการที่ทำให้ทุกฝ่ายหันหน้ามาหาทางออกร่วมกันอย่างได้ผล โดยปราศจากความรุนแรง

ระยะเวลาหนึ่งสัปดาห์ที่คาเฮนได้ร่วมแลกเปลี่ยน เรียนรู้ปัญหาความขัดแย้งของสังคมไทย ผ่านนักคิด นักวิชาการ กลุ่มคนสีเขียว สีเหลือง สีแดง ฯลฯ และอาจต้องใช้เวลาอีกระยะในการค้นหากระบวนการ อันจะเป็นเครื่องมือสำหรับการส่งมอบประเทศไทยให้ลูกหลานในอนาคตต่อไป

********************************

ประวัติ อดัม คาเฮน

อดัม คาเฮน เป็นหุ้นส่วนของบริษัท Reos Partners ซึ่งเชี่ยวชาญด้านกระบวนการประสานงานเพื่อแก้ปัญหาสังคม และเป็นสมาชิกของสถาบัน Institute for Science, Innovation and Society เป็นส่วนหนึ่งของ Said Business School แห่งมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด

คาเฮน ยังเป็นผู้จัด ผู้ออกแบบ และผู้ประสานงานชั้นนำของกระบวนการต่างๆ ร่วมกับผู้นำในภาคธุรกิจ ภาครัฐ และภาคประชาสังคม เพื่อแสวงหาทางออกให้กับความท้าทายที่หนักหน่วงที่สุดที่สังคมต้องเผชิญ ผ่านการทำงานในโครงการเหล่านี้กว่า 50 ประเทศทั่วโลก มีโอกาสพบปะกับผู้นำจากหลากหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารธุรกิจและนักการเมือง ผู้นำกองทัพและผู้นำกองกำลังติดอาวุธ ข้าราชการและสมาชิกสภาพแรงงาน นักเคลื่อนไหวเพื่อสังคม ไปจนถึงนักบวช และศิลปิน

ปี 2004 เขียนพ็อกเกตบุ้คชื่อ Solving Tough Problems หรือ วิธีสร้างปาฏิหาริย์เมื่อสถานการณ์ถึงทางตัน

ในช่วงต้นทศวรรษที่ 90 เป็นหัวหน้าแผนกวางแผนล่วงหน้าด้านสังคม การเมืองเศรษฐกิจ และเทคโนโลยี ของบริษัท รอยัล ดัทช์ เชล ในกรุงลอนดอน ก่อนหน้านี้เคยเป็นนักวิจัยและวางแผนเชิงยุทธศาสตร์ให้บริษัท Pacific Gas and Electric Company ในซานฟรานซิสโก รวมถึงองค์กรเพื่อการพัฒนาและความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (OECD) ในกรุงปารีส

ในปี 1991 และ 1992 อดัม เป็นผู้ประสานงานในโครงการ Mont Fleur Scenario Project ให้แอฟริกาใต้ จากนั้นเข้าร่วมกระบวนการแก้ปัญหาความขัดแย้งในอีกหลายประเทศทั่วโลก

อดัม คาเฮน จบการศึกษาเกียรตินิยมอันดับ 1 ด้านฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลับแมคกิล ในนครมอลทรีออล ประเทศแคนาดา และปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์พลังงานและทรัพยากรจากมหาวิทยาลัยแห่งแคลิ ฟอร์เนีย (เบิร์กเลย์) และปริญญาโทด้านพฤติกรรมศาสตร์ประยุกต์จากมหาวิทยาลัยแบสไทร์ ในนครซีแอทเติล

นอกจากนี้ ยังศึกษาด้านกระบวนการเจรจาจากฮาร์วาร์ด ลอว์ สกูล อดัมสมรสกับโดโรธี คาเฮน และพำนักพร้อมกับครอบครัวอยู่ที่นครเคปทาวน์ แอฟริกาใต้ และมอนทรีออล ในแคนาดา

********************************

กำหนดการงานสัมมนา “เราจะส่งมอบประเทศไทยแบบไหนให้ลูกหลาน” ถอด บทเรียนการแก้ปัญหาความขัดแย้งแอฟริกาใต้, โคลัมเบียและที่อื่นๆ โดย อดัม คาเฮน และ สตีฟ แอ๊ดคินสัน วันที่ 16 ส.ค. 2553 เวลา 14:00 – 16:30 น. ณ อาคารพฤกษชาติพระทรงชัย สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ ถนนวิภาวดีรังสิต วันที่ 17 ส.ค. 2553 เวลา 9:30 – 11:30 น. Focus Group การขับเคลื่อนการส่งมอบประเทศไทยให้ลูกหลาน (เฉพาะผู้รับเชิญ) ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย


อาดัม คาเฮน แนะคนไทยร่วมถอดสลักความรุนแรง

จาก โพสต์ทูเดย์

ไม่ใช่แค่ปัญหาเสื้อเหลือง เสื้อแดง เพราะมีความซับซ้อนมากกว่านั้นและมีความลึกซึ้ง ไม่ใช่ปัญหาที่จะแก้ด้วยนักวิชาการหรือภาครัฐ แต่ต้องสร้างการมีส่วนร่วม....

โดย....ธนวัฒน์ เพ็ชรล่อเหลียน

เมื่อเวลา 14.00น. ที่สถาบันวิชาการป้องประเทศ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร มีการจัดงานเสวนาในหัวข้อ “เราจะส่งมอบประเทศไทยแบบไหนให้ลูกหลาน”  โดยนายอาดัม คาเฮน นักสร้างกระบวนการแก้ปัญหาความขัดแย้งระดับโลกด้วยวิธีการสันติวิธี มีผู้เข้าร่วมประมาณ 200 คน

อาดัม คาเฮน ได้ถอดบทเรียนวิกฤตความขัดแย้งระดับโลก และเสนอยุทธศาสตร์ “ห้องปฏิบัติการเพื่อการเปลี่ยนแปลง” เพื่อแก้ปัญหาให้กับสังคมไทย โดยระบุว่า ต้องระดมความเห็นจากทุกฝ่าย ผ่านการจำลองสถานการณ์อนาคต พร้อมแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ ไม่ต้องเร่งรีบ เน้น “การสานเสวนา” พูดด้วยความเข้าใจ ฟังด้วยความลึกซึ้ง ชู 2 ปัจจัยมูลเหตุ ผนึก “อำนาจ – ความรัก” เพื่อถอดชนวนการแตกหัก  

อาดัม คาเฮน เปิดเผยว่า ตลอดการทำงาน 20 ปี เพื่อถอดบทเรียนความขัดแย้งจากสถานการณ์ต่างๆ นั้น ได้พยายามหาคำตอบง่ายๆ จากคำถามหนึ่ง คือเราจะแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนและมีความขัดแย้งที่สุดด้วยวิธีที่สันติได้ อย่างไร ซึ่งจากประสบการณ์ที่ผ่านมามีการลองผิดถูกมาเป็นจำนวนมาก และได้พบกระบวนการเรียนรู้ต่างๆ โดยสิ่งสำคัญที่ได้เรียนรู้คือ การทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์ แล้วคะเนสถานการณ์อนาคตต่อไปว่าหลังจากนี้อาจจะเกิดอะไรขึ้นได้อีกบ้าง ด้วยวิธีที่เรียกว่าห้องปฏิบัติการเพื่อการเปลี่ยนแปลง

อาดัม กล่าวว่า ได้เริ่มทำงานในบริษัทเชลล์ ซึ่งเป็นบริษัทผลิตน้ำมันรายใหญ่ โดยขณะที่ร่วมทำงานนั้นเกิดปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ซึ่งกระทบต่อตลาดน้ำมันโดยตรง ทางบริษัทจึงกลับมาคิดว่าควรทำอะไรบางอย่างเพื่อตีความสถานการณ์และแก้ปัญหา อย่างสมเหตุสมผล ทั้งนี้ท้ายที่สุดแล้วได้ค้นพบว่าเราต้องตอบคำถามที่เจาะจงในเรื่องราวต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยมีเกณฑ์และความเกี่ยวโยงอย่างท้าทายและแจ่มชัด

อา ดัมกล่าวภายในงานสัมมนา

นายอาดัม กล่าวว่า จากนั้นได้เข้ามาแก้ปัญหาในแอฟริกาใต้ โดยประยุกต์จากแผนงานของเชลล์ ซึ่งสถานการณ์ในขณะนั้นมีความวุ่นวาย เกิดการจราจล กระทั่งคนในแอฟริกาใต้ตระหนักและกังวล ทั้งนี้การแก้ปัญหาในขณะนั้นมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมา ประกอบด้วยทุกภาคส่วนในสังคม อาทิ นักวิชาการ ภาคประชาชน ภาคธุรกิจ นักการเมืองทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ซึ่งทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นผิวขาวหรือผิวดำก็มาร่วมกันแก้ปัญหาผ่าน กระบวนการจำลองสถานการณ์ในอนาคต

อดัม กล่าวว่า ขณะนั้นมีการตั้งคำถามกันว่าอะไรอาจจะเกิดขึ้นมาได้บ้าง และจะจบประเด็นพิพาทตรงนี้ได้หรือไม่อย่างไร โดยในตอนนั้นมีการสรุปผลว่า หากเป็นรัฐบาลผิวขาวก็จะเป็นสถานการณ์นกกระจอกเทศ คือรัฐบาบาลจะมุดหัวลงไปในทราย ไม่ยอมฟังอะไร แต่สุดท้ายแล้วก็จะต้องโงหัวขึ้นมาและพบกับปัญหาในที่สุด

แต่หากเป็นรัฐบาลผิวดำ ก็จะกระทบต่อคนผิวขาว กระทบต่ออำนาจและเศรษฐกิจ ซึ่งหากพิจารณาโดยสภาพการณ์แล้วก็จะกลายเป็นเป็ดป่วย เป็ดที่ไม่พร้อม ขาหักปีกหัก ซึ่งจะเหมือนอิคะเริส  เทพปกรณัมของกรีก ที่เอาปีกมาจากนกนางนวล แล้วติดปีกด้วยขี้ผึ้ง เมื่อโดนแสงอาทิตย์ก็หลุดลงมา ไม่ประสบผลสำเร็จในที่สุด

“หากกระบวนการเปลี่ยนผ่านเร็วเกินไปก็จะไม่ได้ผล ถามว่าถ้ามีรัฐบาลแล้วจะยั่งยืนหรือไม่ เพราะตอนนี้รัฐบาลไม่สามารถจัดการสถานการณ์ได้ และถ้าเอาเงินของคนรวยไปให้คนจน เอาเงินผิวขาวไปให้ผิวดำ ก็แก้ปัญหาไม่ยั่งยืน สุดท้ายทุกอย่างก็จะพังทลายพินาศยับเยิน” อดัม กล่าว

อดัม กล่าวว่า การแก้ปัญหาของเมลสัน แมนดาลา มีทั้งคนคาดการณ์ว่าสำเร็จและผิดพลาด แต่สุดท้ายแล้วจะเห็นว่าความสำเร็จที่เกิดขึ้น เริ่มมาจากการบินช้าๆ อย่างมีกระบวนการ เป็นการบรรลุผลช้าๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งแม้ว่าคณะทำงานต่างๆ จะมีความขัดแย้งไม่ลงรอยกัน แต่ก็สามารถร่วมทำงานในเชิงสร้างสรรค์กันได้

“มีการพูดเล่นๆ ในตอนนั้นว่า แอฟริกามีทางเลือกสำหรับแก้ปัญหา 2 ทาง 1.เชิงปฏิบัติ คือให้ทุกคนคุกเข่าอ้อนวอนให้เทวทูตมาช่วยแก้ปัญหา 2.เชิงปาฏิหาริย์ คือต้องหาทางเดินไปร่วมกัน ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วคือการทำงานในเชิงปาฏิหาริย์”นายอดัมกล่าว

อดัม กล่าวว่า หลักการแก้ปัญหานั้น เมื่อพูดถึงปัญหาที่ซับซ้อน จำเป็นต้องแก้ไขเชิงพลวัต คือแม้ว่าเหตุผลจะกระจัดกระจายแต่สุดท้ายก็ยังเชื่อมโยงกันอยู่ ดังนั้นต้องค่อยๆ แก้ทีละอย่าง มองการแก้ปัญหาเป็นรายประเด็น แต่ใช้วิธีการแก้เป็นองค์รวม ส่วนความซับซ้อนเชิงสังคมที่เกิดความแตกต่างระหว่างบุคคลและสถานการณ์ ต้องเข้าใจว่าไม่สามารถใช้กำลังมาแก้ไขได้ ต้องนำผู้ที่มีส่วนได้เสียเข้ามาด้วยการใช้กระบวนการการมีส่วนร่วม

ทั้งนี้ สถานการณ์ที่ไม่ซับซ้อนมากสามารถใช้ประสบการณ์จากอดีตมาศึกษาได้ แต่หากมีความซับซ้อนมาก จำเป็นต้องเรียนรู้ไปเรื่อยๆ ต้องสร้างกระบวนการเรียนรู้ใหม่ๆ ตลอดเวลา รวมทั้งต้องร่วมมือกันอย่างเป็นระบบ เพราะไม่มีใครสามารถแก้ไขปัญหาด้วยตัวคนเดียวได้

นอกจากนี้ ได้มีโอกาสได้เข้าไปร่วมแก้ปัญหาในประเทศกัวเตมาลา ซึ่งมีสถานการณ์ความขัดแย้ง สงครามกลางเมือง ซึ่งหลังจากสถานการณ์สิ้นสุดลง หลายฝ่ายมีการพูดคุยกันว่าจะบูรณประเทศอย่างไร ซึ่งขณะนั้นมีการดึงทุกภาคส่วน ทั้ง ฝ่ายนักการเมือง ประชาชน นักวิชาการ ทหาร เข้ามาร่วมห้องปฏิบัติการเชิงสังคม มีการแบ่งกลุ่มย่อยเพื่อดำเนินกิจกรมและแลกเปลี่ยนความรู้กัน

อดัม กล่าวว่า สิ่งจำเป็นในการแก้ปัญหาคือต้องหยั่งยานหรือรับรู้เชิงลึกซึ้ง โดยเฉพาะกระบวนการฟังและการพูด ทั้งนี้หากเปลี่ยนวิธีการฟังก็จะสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตและผลการทำงานได้ ทั้งนี้การพูดอาจจะแบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือการพูดลักษณะดึงข้อมูลออกมาพูดซ้ำๆ ซึ่งก็จะไม่มีอะไรใหม่ และการอภิปราย ที่พัฒนาขึ้น แต่ก็เป็นการพูดในสิ่งที่ตัวเองอยากพูดเท่านั้น และก็จะไม่ได้สร้างสรรค์สิ่งใหม่เช่นกัน

“สองวิธีนี้เป็นเพียงการผลิตซ้ำในสิ่งที่รู้อยู่แล้ว และจะได้สัจพจน์เดิมๆ ดังนั้นต้องปรับขึ้นไปอีกขั้นหนึ่งคือการสานเสวนา ซึ่งไม่ใช่แค่บอกว่าตัวเองคิดอะไรอยู่ แต่ต้องพยายามอธิบายให้คนฟังเข้าใจว่า ทำไมถึงคิดแบบนี้ ความคิดเหล่านี้มาจากไหน ส่วนการฟังก็ต้องใส่ใจที่จะฟังในทุกรายละเอียด ไม่ใช่ฟังเพื่อตัดสินว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย แต่ต้องพยายามสร้างความเข้าใจว่าทำไมถึงคิดแบบนั้น”

“ที่สำคัญคือจำเป็นต้องสร้างผัสสะร่วมให้เกิดขึ้น เพราะเมื่อทุกฝ่ายเข้าใจร่วมกันก็จะรับรู้การเปลี่ยนแปลง เข้าใจโลก เป็นส่วนหนึ่งของโลก ซึ่งทำให้เปิดจิตเปิดใจเปิดโอกาสในการทำงานร่วมกันได้ แม้การสานเสวนาจะมีการพัฒนาขึ้น แต่ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทั้งหมด ตัวอย่างเช่นในกัวเตมารายังมีเอ็นจีโอที่ประกาศว่าจะไม่เข้าร่วมสานเสวนาอีก แล้ว เนื่องจากรัฐบาลพยายามกดดันให้ยุติการชุมนุมประท้วง นั่นเป็นเหตุให้จำเป็นต้องกลับมาคิดว่ายังมีอะไรผิดพลาดหรือนอกเหนือการสาน เสวนาเพื่อยุติปัญหา”

 นักแก้ปัญหาความขัดแย้ง กล่าวว่า สิ่งที่พบคือปัจจัยมูลฐานสำหรับแก้ปัญหาต้องมี 2 ประการคือ 1.ด้านจิตใจ หรือ Love ซึ่งเป็นสิ่งช่วยเชื่อมประสานรอยร้าวได้ดีที่สุด 2.พลังขับเคลื่อน หรือ Power ที่เป็นพลังขับเคลื่อนสรรพชีวิตให้บรรลุผลสูงสุดได้ โดยทั้งสองส่วนต้องผลึกเข้ากัน ขาดส่วนใดส่วนหนึ่งไม่ได้

“ความสันติและการรับมือกับประเด็นความซับซ้อนในสังคม จะเกิดขึ้นได้จากการบวนการแก้ไขอย่างเป็นระบบ การมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย การเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง การสานเสวนา การสร้างผัสะร่วม และการผนึกความรักและอำนาจเข้าร่วมกัน”นายอดัมกล่าว

อดัม กล่าวถึงปัญหาความขัดแย้งในประเทศไทยว่า เพิ่งมาถึงประเทศไทยเพียงสี่วัน และคิดว่าไม่ใช่เวลาเพียงพอจะเข้าใจสถานการณ์ในเมืองไทยอย่างชัดแจ้ง คงไม่เหมาะที่จะวิเคราะห์หรือให้คำแนะนำทั้งหมด แต่จากประสบการณ์จากที่อื่นๆ ได้ตั้งข้อสังเกตและคาดว่าสถานการณ์ของประเทศไทยมีความซับซ้อนในหลายๆ ด้าน และเพิ่มพูนขึ้นมา

คาเฮน กล่าวว่า ไม่ใช่แค่ปัญหาเสื้อเหลือง เสื้อแดง เพราะมีความซับซ้อนมากกว่านั้นและมีความลึกซึ้ง ไม่ใช่ปัญหาที่จะแก้ด้วยนักวิชาการหรือภาครัฐ แต่ต้องสร้างการมีส่วนร่วม ต้องใช้ทั้งความรักและอำนาจ เพราะต้องไม่ลืมว่าท่ามกลางความขัดแย้งมีความโกรธ การแย่งอำนาจกัน เมื่อมีการแบ่งขั้วกันชัดเจนต้องหาว่าสิ่งใดดีที่สุดที่จะนำมาใช้แก้ปัญหา

“ซึ่งไม่ใช่ทั้งการใช้อำนาจหรือการปราบปราม แต่ต้องใช้ความรักและวิธีการที่สร้างสรรค์ เพื่อให้เกิดความสมานฉันท์และสร้างพลังร่วมกัน เชื่อว่าวิธีการนี้จะช่วยบรรเทาปัญหาได้ไม่น้อย เมื่อสร้างความตระหนักและทำให้เกิดเอกภาพ โดยการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ก็จะได้ทางออกที่คนไทยตัดสินใจร่วมกัน”

การสร้างแบบจำลองต้องใช้เวลาที่เหมาะสม แต่ไม่ได้หมายความว่าการใช้แบบจำลองจะเป็นทางออกที่วิเศษ เพราะสถานการณ์ที่ซับซ้อนและมีการแบ่งขั้วกันนั้นไม่ง่ายที่จะใช้วิธีการนี้ ในการแก้ปัญหาให้สำเร็จได้ จากประสบการณ์ของผมในการแก้ปัญหาที่แอฟริกาผมคิดว่าอาจมี 10 วิธีหรือมากถึง 100 วิธี แต่ต้องใช้แบบคู่ขนานกันไป ไม่ใช่หวังพึ่งวิธีการเดียว เหมือนการมองช้างตัวเดียวกัน ถ้าร่วมกันมองทุกด้านก็จะเห็นช้างทั้งตัว เงื่อนไขที่สำคัญคือต่อไปนี้เราจะคุยกันอย่างไรและจะจริงใจต่อกันมากน้อยแค่ ไหน” อดัม ระบุ

สุดท้ายอดัมสรุปผลการสัมมนาครั้งนี้ไว้ ดังนี้

1.ทราบว่าพื้นฐานที่คิดว่าจะรู้สึกในช่วงการสนทนาเบื้องต้น คุณค่าหรือค่านิยมในการพิจารณาประเด็นต่างๆ เป็นเรื่องที่ดี ทราบถึงจุดเชื่อมโยงต่างๆ ได้คุยกับคนที่ไม่เคยได้คุยเลย ถือเป็นประสบการณ์ที่ดีมากในการสานเสวนา ซึ่งถือเป็นจุดประสานระหว่างความรักและพลังการขับเคลื่อน

2.สิ่งต่างๆ ไม่มีสูตรสำเร็จในการแก้ปัญหา จึงจำเป็นต้องศึกษาให้ละเอียดว่าการแก้ปัญหาใดสำเร็จหรือล้มเหลว และต้องสร้างการมีส่วนร่วม

3.การขยับพัฒนาการจนถึงขั้นสานเสวนา เป็นสิ่งที่เรียบง่าย แต่ไม่ง่าย ปริภูมิหรือทิศต่างๆ เป็นสิ่งสำคัญในการแก้ปัญหาด้วย จะสร้างปริภูมิอย่างไร หรือสร้างสมรรถนะอย่างไร

4.ถ้ามีคนไม่อยากคุยจะทำอย่างไร จำเป็นต้องหาวิธีการกระตุ้นให้คนพูดคุยมากกันขึ้น อย่างประเทศโคลัมเบีย ซึ่งมีกองโจรผิดกฎหมายมาก แต่ต้องให้เขาได้รับรู้ จึงได้มีการถ่ายทอดสด และมีการเปิดสายให้พูดคุย มีกองโจรโทรศัพท์เข้ามาถามว่าต้องหยุดยิงปืนด้วยหรือไม่ หากมีการร่วมสานเสวนา เราตอบไปว่า ไม่มีข้อตกลงเบื้องต้นใดๆ เพียงแต่ต้องการเข้ามาพูดคุยกัน ไม่ต้องหยุดยิงก็ได้

5.การแก้ปัญหาความซับซ้อนอย่างเป็นระบบ หากบอกว่าสิ่งนี้ถูก นอกเหนือจากนี้ผิด นั้นเป็นประเด็นที่สำคัญ ต้องดึงและมองหลากหลายส่วน ทั้งมุมรากหญ้าด้วย ต้องมองให้เห็นช้างทั้งตัวพร้อมๆ กัน ไม่ใช่มองส่วนใดส่วนหนึ่งเท่านั้น นอกจากนี้สื่อมวลชนยังช่วยผลักดันด้วย

6.ไม่เห็นด้วยเต็มที่กับประเด็นว่าต้องเสียสละผลประโยชน์ส่วนตัว เพราะประโยชน์ส่วนบุคคลไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่เราต้องทำงานด้วยอำนาจและความรัก ดังนั้นเอกภาพที่ไม่เคารพเรื่องผลประโยชน์ส่วนบุคคลก็ไม่สมบูรณ์นัก

7.ต้องใช้เวลา เพราะไม่มีสิ่งวิเศษใดที่จะพัฒนาได้ทันที นั่นถือเป็นกระบวนการที่ใช้เวลาอย่างน้อยๆ หลายเดือน อนาคตของประเทศไทยไม่ได้สร้างด้วยฝรั่ง 2 คน แต่มาจากที่ทุกคนที่จะคงเห็นคำตอบจากตัวของท่านเอง

สำหรับองค์การร่วมจัดสัมมนาครั้งนี้ ประกอบด้วย สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิดอกไม้และนกกระดาษเพื่อสันติภาพ สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ (สรอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สถานีโทรทัศน์ทีวีไทย สมาคมวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร บริษัทไทยประกันชีวิต คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์


ผู้เชี่ยวชาญชี้แก้ขัดแย้งต้องดึงทุกฝ่ายมีส่วนร่วม

Tags : บทเรียน ความขัดแย้ง ทั่วโลก อดัม คาเฮน หาทางออก ลูกหลานไทย

view