สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เรื่อง ดี ๆ ที่ไม่มีใครสนใจ

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ สามัญสำนึก

โดย ทวี มีเงิน



ขณะที่คณะ กรรมการปฏิรูปประเทศไทยกำลังเดินหน้าทำโรดแมปกำหนดทิศทางประเทศครั้งใหญ่ ก็มีหน่วยงานเล็ก ๆ ที่หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่าสังกัดกระทรวงไหน กำลังทำงานใหญ่ในขณะนี้ เช่นกัน

หน่วยงานที่ว่าคือ "สำนักงานสถิติแห่งชาติ" กำลังสำรวจสำมะโนประชากรและเคหะ ที่ต้องมีการสำรวจก็เพื่อ "เช็กกำลังคน" ของประเทศมีมากน้อยแค่ไหน เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

รัฐบาลจะได้ใช้ข้อมูลสถิติจัดทำแผนยุทธศาสตร์ ประเทศ ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมในทุก ๆ ด้าน ทั้งในระดับชาติลงมาจนถึงระดับท้องถิ่น และลงไปถึงระดับชุมชนกันเลยทีเดียว

อัน ที่จริงไม่เฉพาะรัฐบาลเท่านั้นที่ใช้ประโยชน์ ภาคเอกชนก็นำข้อมูลที่ได้นี้เอาไปใช้ประโยชน์ในการวางแผนทางธุรกิจหรือการ ตลาดได้เป็นอย่างดี

จากการสำรวจเมื่อ 10 ปีที่แล้ว พบว่า 1 ใน 4 ของประชากรเป็นผู้สูงอายุ และคนเกิดน้อยลง เริ่มมีช่องว่าง คนแก่มากขึ้น แต่คนหนุ่มคนสาวน้อยลง

เชื่อว่าผลการสำรวจครั้งนี้ช่องว่างระหว่าง คนสูงอายุกับคนในวัยทำงานก็จะยิ่งถ่างมากขึ้น เพราะคนเกิดในยุคที่เรียกกว่า "เบบี้บูม" กำลังเข้าสู่วัยเกษียณ

สำหรับยุค "เบบี้บูม" เป็นช่วงของคนที่เกิดหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึงกึ่งพุทธกาล คนในช่วงนี้เกิดกันมาก เพราะระหว่างสงครามโลกคนไม่ค่อยได้แต่งงาน คนแต่งงานก็ไม่พร้อมจะมีลูก พอสงครามสงบก็เลยเร่งสร้างผลิตกันเต็มที่ คนจึงเกิดในยุคนี้มาก

ตอนนี้ถึงวัยเด็กยุค "เบบี้บูม" เขาสูงวัย สูงอายุ ทยอยเกษียณกันไม่น้อย อนาคตจะกลายเป็นปัญหา เฉพาะอย่างยิ่งบุคลากรในหน่วยงานราชการจะขาดแคลน

ที่ได้รับผลกระทบ มากคือ การศึกษา เพราะครูที่เกิดในยุคเบบี้บูมเริ่มทยอยกันเกษียณทุกปี และจะหนักหน่วงที่สุดในอีกภายใน 10 ปีนี้

ในเชิงนโยบายแล้ว รัฐบาลต้องเตรียมรับมือปัญหาที่ตามมา บุคลากรของรัฐจะขาดแคลน ที่เห็นกันชัด ๆ คือ "อาชีพครู" เพราะหากครูเกษียณอายุราชการพร้อม ๆ กันย่อมส่งผลกระทบต่อระบบการศึกษาอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

รัฐ ต้องเตรียมรับมือ จะยอมยืดเวลาเกษียณอายุราชการ 65 ปี แทน 60 ปี ในปัจจุบันหรือไม่

หากผลสำรวจออกมายืนยันว่า อัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรมีแนวโน้มลดลง รัฐบาลจะทำอย่างไร จะมีสิ่งจูงใจเหมือนประเทศสิงคโปร์ที่รัฐบาลพยายามหาสิ่งจูงใจให้คนหนุ่มคน สาวหันมาแต่งงานเร็วขึ้น เพื่อเพิ่มจำนวนประชากรของประเทศ

ยิ่งใน ธุรกิจหากได้ข้อมูลเอามาใช้ประโยชน์ก็เท่ากับว่า "รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งก็ชนะร้อยครั้ง" รู้ว่าทิศทางธุรกิจควรไปทางไหน การตลาดควรทำอย่างไร กลุ่มเป้าหมายอยู่ที่ใด

การทำสำมะโนประชากรและ เคหะของประเทศไทยเริ่มครั้งแรกในรัชกาลที่ 5 หรือ 100 ปีมาแล้ว ครั้งนั้นประเทศไทยมีประชากรทั้งประเทศ 8 ล้านกว่าคนเท่านั้น แต่ในการสำรวจล่าสุดเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ประชากรของประเทศไทยมีทั้งหมดกว่า 60 ล้านคน

อย่างไรก็ตามการสำรวจแต่ละครั้งก็พบอุปสรรคมากมาย ไม่ได้รับความร่วมมือ เฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนที่มีฐานะ คนมีการศึกษา คนกลุ่มนี้มีความเป็นส่วนตัวสูง การมานั่งตอบแบบสอบถามเป็นการเสียเวลา

เจ้า หน้าที่เล่าให้ฟังว่า เมื่อ 10 ปีที่แล้ว เคยไปสำรวจในย่านธุรกิจแห่งหนึ่งใจกลางกรุงเทพฯ นอกจากไม่ได้รับ ความร่วมมือแล้ว แถมยังถูกด่า ปารองเท้าใส่ หลบกันแทบไม่ทัน

คราวนี้ ทางสำนักงานสถิติฯจึงคิดหาวิธีการที่สะดวกสบายมากขึ้น มีทั้งสัมภาษณ์ การตอบข้อมูลแล้วส่งกลับ ตอบทางโทรศัพท์ และตอบทางอินเทอร์เน็ต

การ เอาอินเทอร์เน็ตมาใช้ถือว่าก้าวหน้ามาก ขนาดประเทศญี่ปุ่นซึ่งใช้อินเทอร์เน็ตในการตอบแบบสอบถามเฉพาะกรุงโตเกียว เท่านั้น

รัฐบาลจะวางแผนกำหนดทิศทางประเทศไม่ได้ ถ้าข้อมูลไม่ถูกต้อง หากอยากเห็นประเทศก้าวไปในทิศทางที่ถูกต้อง จะต้องช่วยกันกรอกแบบสอบถามกันหน่อย 10 ปี ท่านจะมีส่วนร่วมครั้งหนึ่งเท่านั้น จะพลาดโอกาสสำคัญได้อย่างไร

Tags : เรื่องดี ๆ ไม่มีใครสนใจ

view