สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เวียดนามสะดุดตอซ้ำซาก เงินเฟ้อ ขาดดุล ลดค่าเงิน

จาก โพสต์ทูเดย์

เหลียวมองอัตราค่าเงินของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย แล้วคล้ายกำลังมองเห็นทางสองเส้น ซึ่งกำลังบอกบางอย่างถึงสถานการณ์ในเอเชีย

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศ

เหลียวมองอัตราค่าเงินของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย แล้วคล้ายกำลังมองเห็นทางสองเส้น ซึ่งกำลังบอกบางอย่างถึงสถานการณ์ในเอเชีย

ค่า เงินริงกิตของมาเลเซียขยับขึ้น 8% ในปีนี้เมื่อเทียบกับค่าเงินเหรียญสหรัฐ ค่าเงินบาทของไทยและค่าเงินรูเปียห์ของอินโดนีเซียแข็งตัวขยับขึ้น 5% ตั้งแต่ช่วงต้นปี

แต่สำหรับค่าเงินด่องของเวียดนาม ค่าเงินกลับเคลื่อนไปคนละทิศละทางกับประเทศอื่น

เวียดนามเรียกทั้งเสียงฮือฮา และบวกอาการงงๆ มึนๆ ให้กับนานาชาติ เมื่อประกาศปรับค่าเงินด่องรอบที่ 3 ภายในระยะไม่ถึง 1 ปีที่ผ่านมา

ลำพัง การเข้าแทรงแซงค่าเงิน ถือเป็นเรื่องผิดธรรมดาอยู่แล้ว แต่เวียดนามสร้างความไม่ธรรมดา ให้ดูเป็นเรื่องเกินจะคาดแบบซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ย้อนกลับไปดูเหตุการณ์อารมณ์เดียวกันนี้ เมื่อสองครั้งก่อน คือ ในช่วงเดือน พ.ย. 2552 ธนาคารกลางเวียดนามประกาศปรับลดค่าเงิน 5.4%

ในเดือน ก.พ. 2553 ปรับลดลงอีกครั้ง 3.4% และล่าสุดเมื่อวันพุธที่ 18 ส.ค. ที่ผ่านมา ก็ปรับลงอีก 2%

ทั้ง 3 ครั้งก็มีเหตุผลเดียวกัน คือ ควบคุมปริมาณการขาดดุลการค้า แก้ปัญหาเงินเฟ้อเรื้อรัง และอุดหนุนภาคการส่งออก

การ ปรับค่าเงินซ้ำๆ ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ด้วยเหตุผลและปัญหาเดิมๆ จึงไม่ต่างจากการเห็นวังวน หรือวัฏจักรของปัญหาที่ดิ้นไม่หลุด หนีไม่พ้น

นโยบายทางการเงินของธนาคารกลางเวียดนาม และทางรัฐบาลยังคงไม่สามารถก้าวข้ามฝ่าหรือหลุดพ้นกับดักเดิมๆ ไปได้

สิ่งที่ปรากฏชัดเจนก็คือ เวียดนามไม่สามารถหาจุดสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจ และความมั่นคงในภาพรวมของเศรษฐกิจมหภาค

ประเทศ ในภูมิภาคเอเชียส่วนมากก็ล้วนฝากฝังลมหายใจไว้กับภาคการส่งออกทั้งสิ้น แต่ถ้าเทียบกับขนาดของจีดีพีแล้วถือว่าเวียดนามพึ่งพาการส่งออกมากกว่า อินโดนีเซียหรือไทยเราถึงกว่า 2 เท่าตัว

ดังนั้น หากเปรียบดั่งพ่อค้าที่ต้องการขายของ เวียดนามก็ต้องการให้ค่าเงินอยู่ในระดับต่ำ เพื่อช่วยหนุนภาคการส่งออก ใช้กลยุทธ์ทางราคาที่ถูกกว่าตีตลาดคู่แข่ง

ในขณะเดียวกัน เวียดนามอาจจะก้าวขึ้นมาอยู่ในทำเนียบผู้ส่งสินค้าระดับโลกในหลายประเภท แต่ก็ปรากฏว่า เวียดนามขาดดุลการค้าจำนวนมหาศาลเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยขาดดุลเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่า นับตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา

เช่น เวียดนามส่งออกสินค้าประเภทวัตถุดิบไปยังจีน ขณะที่ต้องนำเข้าเครื่องจักรอุตสาหกรรมขนาดใหญ่จากตะวันตกเพื่อรองรับการ ขยายตัวทางอุตสาหกรรมในประเทศ

ครึ่งปีแรกของปี 2010 นี้ เวียดนามขาดดุลไปแล้วราว 7,400 ล้านเหรียญสหรัฐ

อีกปัจจัยสำคัญหนึ่ง คือปัญหาเงินเฟ้อที่เรื้อรังมานาน

เวียดนามมีตัวเลขส่งออกมหาศาล แต่ผู้ผลิตก็ต้องนำเข้ามโหฬาร จึงไม่พ้นอุ้มต้นทุนที่สูงไว้

ขณะที่ภาวะเงินเฟ้อก็ยิ่งซ้ำเติมให้คนในประเทศที่กำรายได้ก้อนปะติ๋ว แต่ต้องแบกรายจ่ายค่าครองชีพจนหลังแอ่น

ราย ได้ขั้นต่ำของพนักงานที่ทำงานในองค์กรหรือบริษัทที่รัฐถือครองอยู่ที่ 7.3 แสนด่องต่อเดือน (ราว 1,186 บาท) แต่ถ้าเป็นบริษัทต่างชาติจะมีรายได้ขั้นต่ำอยู่ที่ 1.04-1.34 ล้านด่องต่อเดือน (ราว 1,690-2,179 บาท) เท่านั้น

ขณะที่ราคาอาหารในเวียดนามนับวันยิ่งมีแนวโน้มปรับสูงขึ้น เช่น ราคาเนื้อหมูตกกิโลกรัมละ 6-7 หมื่นด่อง หรือประมาณ 97-113 บาท

ราคาไม่ต่างจากพี่ไทย แต่รายได้ขั้นต่ำยังห่างชั้นกันอยู่มาก..!

ปัญหา เงินเฟ้อของเวียดนามยังเป็นอุปสรรคต่อการเสริมสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน อีกด้วยการกระตุ้นผู้บริโภคภายในประเทศมากกว่าที่จะพึ่งพิงการส่งออก และเอื้อการส่งออกอย่างมหาศาลเช่นที่เป็นอยู่
นั่นจึงเป็นเหตุผลให้ เวียดนามถูกหั่นความน่าเชื่อถือ “ฟิทช์” ให้เหตุผลว่า เวียดนามอ่อนแอทั้งระบบการเงินภายนอก และระบบธนาคาร อีกทั้งต้องพึ่งพาเงินเหรียญสหรัฐสูง พ่วงด้วยนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่ไม่แน่ไม่นอน

เวียดนามกำลังอยู่ในช่วงขยายตัว จนกระทั่งมีเสียงสะท้อนว่า เวียดนามนี่เองที่จะเดินตามรอยเท้ามังกรจีน

แต่นั่นไม่ใช่เรื่องง่ายถ้าเวียดนามยังดิ้นไม่หลุดจากวังวนปัญหานี้

การ เร่งรัดให้เศรษฐกิจโตวันโตคืน เร่งดอกออกผลคงไม่ใช่วิธีการที่ดีนัก ดังนั้นจะเดินตามรอยเท้าจีนทั้งทีก็ต้องใจเย็น และงัดมาตรการสร้างความสมดุลให้ตัวเองได้ก่อน อย่าตื่นไปกับตัวเลขที่พองโตแบบติดจรวด จนลืมว่าฐานรากง่อนแง่นจะยืนอยู่บนโลกที่มีการแข่งขันสูงและดุเดือดได้หรือ

อย่าง ไรก็ตาม พี่ไทยในฐานะคู่แข่งก็ต้องระวังตัวเป็นเนืองๆ เพราะเวียดนามก็คือผู้แข่งที่พร้อมจะเบียดสินค้าไทยด้วยราคาเสมอ นั่นคือหนึ่งจุด

แต่ที่น่าสนใจกว่าก็คือ ไทยในฐานะประเทศที่พึ่งพิงการส่งออกเช่นกัน การลดค่าเงินด่องของเวียดนามถือว่าไม่ส่งผลดีนัก

แม้ ว่านักวิเคราะห์หลายรายจะเห็นว่าการลดค่าเงินด่องนั้นไม่อาจจะช่วยอะไรให้ เวียดนามมากนัก เพราะปริมาณการนำเข้าสินค้ายังมากอยู่ และปัญหาเงินเฟ้อยังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจ

แต่สุดท้าย เงินด่องที่ถูกลด ย่อมทำให้คู่แข่งการค้าในตลาดโลกหนาวๆ กันไม่น้อย

เวียดนามลดด่อง 3 รอบ ไทยก็หนาวมา 3 รอบ ติดเหมือนกัน...!

Tags : เวียดนาม สะดุดตอ ซ้ำซาก เงินเฟ้อ ขาดดุล ลดค่าเงิน

view