สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ปริญญาเฟ้อ-คนล้นงาน สะท้อนคุณภาพการผลิตแม่พิมพ์

จาก โพสต์ทูเดย์

ปัจจุบันมีนักศึกษาระดับปริญญาตรีตกงานเป็นจำนวนมากสังเกตเห็น ปรากฎการณ์ดังกล่าวได้ในช่วงฤดูสอบแข่งขันรับราชการต่างๆ แต่ละปีจะมีคนตกงานเดินเตะฝุ่นปีละหลายหมื่นคน...

โดย...ปริญญา ชูเลขา

ปัญหาการศึกษาไทยไม่ได้อยู่ที่เด็กไทยขาดโอกาสเข้าถึงระบบการศึกษา แต่กลับเกิดจากคุณภาพการผลิตคนและจิตสำนึกของสถาบันการศึกษาในการผลิตคนที่ มีคุณภาพตอบสนองสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง เช่นประเด็นมหาวิทยาลัยผลิตบัณฑิตออกสู่ตลาดแรงงานปีละหลายแสนคน แต่นักศึกษาจบใหม่กลับอยู่ในสภาพตกงานหางานทำไม่ได้  ในขณะที่ภาคอุปทานแรงงานกลับประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานฝีมือชั้นสูงอย่างหนัก ทั้งยังนำไปสู่ปัญหาใหม่ คือ เกิดการแย่งงานทำกันเองระหว่างผู้จบการศึกษาปริญญาตรีกับผู้จบการศึกษาระดับ ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง หรือ ปวส.ด้วย    

 

ภาพประกอบข่าว

จากมุมมองของนักการศึกษา ภาวิช  ทองโรจน์ อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ผู้คร่ำหวอดในแวดวงการศึกษาสะท้อนปัญหาดังกล่าวให้ฟังว่า ยอมรับว่าปัจจุบันมีนักศึกษาระดับปริญญาตรีตกงานเป็นจำนวนมากสังเกตเห็นปราก ฎการณ์ดังกล่าวได้ในช่วงฤดูสอบแข่งขันรับราชการต่างๆ เช่น การสอบเข้าบรรจุเป็นพนักงานองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) มีนักศึกษาจบปริญญาตรีเข้ามาสมัครหลายหมื่นคน  ขณะที่มีตำแหน่งรองรับมีเพียง 200 ตำแหน่ง หรือแม้แต่นิสิตนักศึกษาที่จบคณะคุรุศาสตร์หรือคณะศึกษาศาสตร์ปีละ 1.2 หมื่นคน แต่มีตำแหน่งครูรองรับปีละ 3 - 4 พันคนเท่านั้น ดังนั้นแต่ละปีจะมีคนตกงานเดินเตะฝุ่นปีละหลายหมื่นคน

ทั้งนี้ปัญหาดังกล่าวถือเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งต้องใช้พลังความตั้งใจอย่างสูงจากฝ่ายรัฐบาลกลาง ที่ต้องเข้าไปแก้ไขปัญหา ไล่มาตั้งแต่ตัวสถาบันการศึกษาเองที่สร้างอุปสงค์และอุปทานกำลังแรงงานเทียม ขึ้นมาโดยไม่รู้ร้อนรู้หนาวว่า ความต้องการกำลังแรงงานที่แท้จริงต้องการกำลังแรงงานสาขาใดบ้าง ซึ่งปัญหานี้สั่งสมมานานจนกลายเป็นปัญหาปริญญาเฟ้อ 

กล่าวคือสถาบันการศึกษาทั้งในระดับมหาวิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัยราชภัฎ 40 แห่งทั่งประเทศต่างเปิดหลักสูตรการเรียนการสอนที่เปิดง่าย จบเร็ว เน้นหารายได้ให้แก่สถาบันเป็นหลัก  มิได้คำนึงว่ากำลังแรงงานที่ผลิตออกมานั้นจะสนองตอบต่อภาคอุปทานแรงงานได้ หรือไม่ 

“เดี๋ยวนี้มหาวิทยาลัยหลายแห่งทั้งภาครัฐและเอกชน คิดอยู่อย่างเดียวว่าจะทำอย่างไรจะได้เงินเพิ่ม ก็พยายามเปิดสาขาวิชาเพิ่มในวิชาที่จบง่ายๆ ทั้งในระดับปริญญาโทและเอก ถือเป็นการหลอกเด็กเข้ามาเรียน แต่ก็ทำได้เพียงแค่ชะลอการตกงานของเด็กออกไป 4 ปีเท่านั้น” นายภาวิช กล่าว

อย่างไรก็ตามการเปิดสาขาวิชาควรตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานเป็นหลัก อาทิเช่น วิทยาศาสตร์ ยานยนตร์ ปิโตรเคมี อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น แต่หากในต่างประเทศทางรัฐบาลกลางจะออกนโยบายบังคับและกำหนดให้ทางสถาบันการ ศึกษาเปิดการเรียนการสอนวิชาดังกล่าว รวมถึงจำกัดปริมาณแรงงานบางสาขาวิชาที่ควรจะออกสู่ตลาดแรงงานในจำนวนที่ เหมาะสม เช่น แพทย์ พยาบาล บัญชี เป็นต้น

นายภาวิช กล่าวว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในตอนนี้ยังสร้างปัญหาการแย่งงานทำกันเอง ระหว่างผู้ที่จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีที่ถือว่ามีความรู้ความสามารถและ ศักดิ์ศรีสูงกว่ากลับไปแย่งงานทำผู้ที่จบ ปวส.หรือปวช. ซึ่งปัญหาดังกล่าวคงจะไปโทษตัวเด็กไม่ได้

ทั้งนี้เพราะปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ทางรัฐบาลกลางต้อง เข้าไปแก้ไขอย่างเร่งด่วน อาทิเช่น ปัญหาการผลิตครูกับอัตราค่าตอบแทนที่เหมาะสม , ปัญหาวุฒิปริญญาตรี โทและเอกบางสาขามีมากเกินไปต่อความต้องการ , ค่านิยมการศึกษาในสาขาวิชาจบง่ายๆ , การสร้างอุปสงค์และอุปทานเทียมของสถาบันการศึกษาในระดับปริญญาโทและเอก เป็นต้น

นอกจากนี้แนวทางในการแก้ไขปัญหาได้ คือการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ 2 ภายในปี 2561 มีการปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ โดยเน้น คือ 1. คุณภาพและมาตรฐานการศึกษาและเรียนรู้ของคนไทย โอกาสทางการศึกษาและเรียนรู้ เพื่อพัฒนาผู้เรียน สถานศึกษาแหล่งเรียนรู้ สภาพแวดล้อม หลักสูตรและเนื้อหา พัฒนาวิชาชีพครูให้เป็นวิชาชีพที่มีคุณค่า สามารถดึงดูดคนเก่งดีและมีใจรักมาเป็นครูคณาจารย์ได้อย่างยั่งยืน ภายใต้ระบบบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ

2. เพิ่มโอกาสการศึกษาและเรียนรู้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ เพื่อให้ประชาชนทุกคน ทุกเพศ  ทุกวัยมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาและเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต และ 3. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนของสังคม ในการบริหารและจัดการศึกษา โดยเพิ่มบทบาทของผู้ที่อยู่ภายนอกระบบการศึกษาด้วย  โดยเฉพาะการมุ่งเน้นในระดับมหาวิทยาลัยที่เป็นจุดสุดท้ายในการพัฒนาคนสู่ ตลาดแรงงาน ดังนั้นทำให้สถาบันการศึกษาจึงเป็นที่คาดหวังอย่างสูง 

นอกจากความหวังในการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ 2 แล้วทางรัฐบาลกลางต้องเร่งผลิตและสร้างครูพันธุ์ใหม่ที่มีจิตสำนึกเป็น บุคลากรที่ใฝ่เรียนรู้ มีความตั้งใจจริงที่จะเป็นแม่พิมพ์ของชาติให้กับเด็กและเยาวชนไทยในอนาคตใน การผลิตคนดีคนเก่ง ภายใน 10 ปีข้างหน้า เพื่อเข้าไปทดแทนครูประถมที่มีอยู่ทั่วประเทศราว 2 แสนคน ที่กำลังเกษียณอายุราชการจากทั้งหมด 4 แสนคนด้วย

ทั้งหมดเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาระยะยาว แต่ในระยะสั้นทางสถาบันการศึกษาต้องตื่นและรู้ร้อนรู้หนาวถึงการเปลี่ยนแปลง สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองในการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพตอบสนองความต้องการตลาดแรงงาน 

Tags : ปริญญาเฟ้อ คนล้นงาน สะท้อนคุณภาพการผลิต แม่พิมพ์

view