สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

CSR และ Social Entrepreneurship (3) ช่วยบรรเทาปัญหาสังคมได้อย่างไร

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ CSR Talk

โดย ดร.อัศวิน จินตกานนท์ กรรมการกิตติมศักดิ์มูลนิธิรักษ์ไทย ที่ปรึกษากลุ่มบริษัททีมและที่ปรึกษาอาวุโสมูลนิธิอนุรักษ์พลังงานแห่ง ประเทศไทย



ในตอนนี้ เราจะพูดถึงเรื่องที่กำลังเป็นสิ่งท้าทายและบทบาทของซีเอสอาร์ในการแก้ปัญหาความยากจน และทำความรู้จักกับ CRT

บทบาท CSR ในการแก้ไขปัญหาความยากจนและฐานะทางการเงินที่แตกต่างกันในสังคม

NGO หลายองค์กรมีเป้าหมายและความพยายามที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับชุมชนด้อยโอกาส โดยวิธีหลายวิธีด้วยกัน เช่น

"การ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้กับชุมชน เช่น น้ำดื่มที่สะอาดถูกอนามัย ส้วมที่ถูกสุขลักษณะ ไฟฟ้าเพื่อแสงสว่างและความปลอดภัยของสตรีและเด็ก และเพื่อการสื่อสาร ฟังวิทยุ ดูโทรทัศน์

"การพัฒนาการศึกษาให้เด็กในชุมชน ให้มีคุณภาพที่ดีขึ้น ช่วยเหลือเรื่องอาหาร กลางวันเพื่อให้เด็กนักเรียนมีสุขภาพที่ดี

"การ ปรับปรุงให้ความรู้ด้านสุขอนามัย การแนะนำให้บริโภคอาหารที่ดี รวมถึงปัญหาสุขภาพฟันของเด็ก ซึ่งเด็ก ๆ ในชุมชนด้อยโอกาสจะมีปัญหาเรื่องฟันอย่างมาก

"พัฒนาความรู้ผ่านการศึกษานอกโรงเรียนให้ประชากรรู้จักสิทธิหน้าที่ของตน รู้จักรักษาสิทธิของตนภายใต้ระบอบประชาธิปไตย

"รู้จักการป้องกันอันตรายจากโรคติดต่อ เช่น ไวรัสต่าง ๆ ตลอดจนป้องกันโรคเอดส์ (HIV/AIDS)

"การพัฒนาอาชีพที่ยั่งยืนโดยความ ร่วมมือของธุรกิจที่ช่วยสอนการตลาด การเงิน การควบคุมคุณภาพ การวางแผนการผลิต ฯลฯ

กิจกรรมทั้งหมดที่กล่าวมานี้ช่วยลด ช่องว่างระหว่างคนในสังคม และสร้างโอกาสให้ประชากรมีโอกาส สร้างฐานะที่ดีขึ้นได้

ขณะ ที่ธุรกิจที่มีนโยบายในการทำโครงการ CSR สามารถร่วมโครงการทั้งหมดนี้ได้ และในขณะเดียวกันช่วยแก้ปัญหาบรรเทาความยากจนและฐานะทางการเงินที่แตกต่าง กันในสังคมได้ด้วย โดยสรุปภาครัฐสามารถ

แก้ปัญหาโดยการออกมาตรการ ภาษีให้เกิดความเสมอภาคขึ้น ภาคเอกชน ธุรกิจ และ NGO ช่วยชุมชนโดยหาอาชีพที่ยั่งยืนให้ ช่วยพัฒนาการศึกษา ลดช่องว่าง และคนในชุมชนเมื่อได้รับความช่วยเหลือแล้วก็ต้องมีความรับผิดชอบ มีวินัยรู้จักใช้เงินและมีวินัยในการเก็บเงินเพื่อวันข้างหน้า

การมีความรับผิดชอบต่อสังคม

ของปัจเจกบุคคล

โดย ส่วนตัว ผมคิดว่าผู้ที่จะบริหารองค์กรให้มีบรรษัทภิบาลที่ดี (good corporate governance) มีความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ได้ น่าจะเป็นคนที่มีจริยธรรม มีความรับผิดชอบต่อสังคมเฉพาะบุคคล (individual social responsibility-ISR) ด้วย เนื่องจากบุคคลดังกล่าวต้องทำธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์สุจริต มีความรู้ความสามารถที่จะดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนได้ ควรมีนิสัยรักความโปร่งใส มีความเห็นอกเห็นใจคนที่มีความทุกข์ มีความอยากที่จะช่วยเหลือคนให้พ้นทุกข์ และต้องไม่เป็นคนที่เอาเปรียบสังคมเพื่อประโยชน์ของตนเอง

ลักษณะของ คนใจบุญมีความเต็มใจที่จะช่วยเหลือผู้ที่มีความเดือดร้อน ทำให้ผมคิดถึงภาพยนตร์เรื่อง The Blind Side ซึ่งแสดงนำโดย แซนดร้า บุลล็อก ซึ่งได้รับรางวัลตุ๊กตาทองในฐานะผู้แสดงฝ่ายหญิงยอดเยี่ยมประจำปี 2553 ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเรื่องของชายผิวดำที่เกิดและโตในย่านสลัม และไม่มีโอกาสได้รับการเอาใจใส่ในการเรียนหรือเข้าโรงเรียนที่ดี เนื่องจากเขาเกิดในย่านคนดำที่เป็นชุมชนด้อยโอกาสในสหรัฐอเมริกา

แต่ ด้วยความใจบุญของนางเอก และครอบครัวของเขา ชายผิวดำคนนี้จึงได้รับอุปการะและชุบเลี้ยงจนเขาสามารถเข้าโรงเรียนดี ๆ และในที่สุดได้รับทุนจากมหาวิทยาลัย โอกาสที่เขาได้รับจากครอบครัวทูฮี่ (Touhy) ทำให้เขาได้รับการฝึกเป็นนักฟุตบอลที่มหาวิทยาลัย Mississippi และในที่สุดได้กลายเป็นนักอเมริกันฟุตบอลอาชีพที่มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่ง ของทีม บัลติมอร์ เรฟเวนส์ (Baltimore Ravens)

เรื่องนี้แสดง ให้เห็นว่าการที่คนจะประสบความสำเร็จในชีวิต เขาจะต้องต่อสู้กับชีวิต จะต้องไม่วิ่งหนีปัญหา และสำคัญที่สุดจะต้องมีคนที่มีใจเอื้อเฟื้อและให้โอกาสเขา

ที่ผมนำ เรื่องนี้มาพูดก็เพราะคนที่มีแรงจูงใจที่จะดำเนินโครงการ CSR หรือ SE ต้องเป็นคนที่มีใจเอื้อเพื้อต่อผู้อื่น และจำเป็นต้องมีความรับผิดชอบต่อตนเองและผู้อื่น หรืออีกนัยหนึ่งต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมในลักษณะความรับผิดชอบระดับ ปัจเจกบุคคล (ISR) จึงจะมีความมานะและมีความสุขจากการดำเนินโครงการ CSR

แล้ว ทุกประเทศก็ต้องการคนที่มีใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ให้กับคนอื่น แต่เนื่องจากการแข่งขันในชีวิตที่รุนแรงขึ้นทุกวัน ทำให้คนกระด้างขึ้น มีความใจบุญ น้อยลง คิดถึงแต่ประโยชน์ส่วนตนโดยไม่คิดถึงผู้อื่น

การแก้ปัญหาสังคมในทัศนคติของ

Caux Round Table

Caux Round Table (CRT) เป็นเครือข่ายระหว่างประเทศของบุคคลสำคัญในแวดวงธุรกิจ ซึ่งส่งเสริมธรรมาภิบาลและความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจ องค์กรนี้ไม่แสวงหากำไรและมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองคอส์ (Caux) ในประเทศ สวิตเซอร์แลนด์

ในปี 2537 นักธุรกิจจัดทำร่าง "CRT Principles for Business" เป็นแนวทางปฏิบัติให้กับผู้นำนักธุรกิจ ที่ประชุม CRT เห็นว่า สังคมธุรกิจจะต้องมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมมากกว่าที่เป็น อยู่

"CSR เป็นเรื่องที่ทุกภาคในสังคมควรทำความเข้าใจว่าจะมีผลกระทบต่อแต่ละภาคส่วน ต่าง ๆ อย่างไร สำหรับภาคประชาสังคมหรือภาคองค์กรพัฒนาและองค์กรสาธารณประโยชน์ การเรียนรู้ทำความเข้าใจไม่เฉพาะเพียงแง่มุมในด้านการระดมทุน หรือการเพิ่มช่องทางของแหล่งทุนเท่านั้น แต่ความรับผิดชอบต่อสังคมนั้นหมายถึง การเพิ่มภาคีในการพัฒนาเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่ทำให้ชุมชนแต่ละชุมชนมีการ พัฒนาที่ยั่งยืน หรือการให้ความรู้แก่ภาคธุรกิจในด้านการพัฒนาสังคมและชุมชนที่รายล้อมภาค ธุรกิจอยู่

"การที่ภาคธุรกิจเริ่มตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งเป็นองค์ประกอบทุนทางสังคมที่สำคัญนั้น การตั้งรับของภาคสังคมควรทำความเข้าใจที่จะหาหนทางร่วมเดินทางการพัฒนาสังคม ตามบทบาทที่ตนเองเป็น ไม่ว่าจะเป็นการเสนอโอกาสสร้างมิติทางสังคมให้กับภาคธุรกิจ การสร้างความเข้าใจในเป้าหมายที่แท้จริงต่อสังคมของภาคธุรกิจ ผู้มีส่วนร่วมควรจะร่วมกันค้นหาทางเพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน และท้ายสุดควรมีการสร้างเครือข่ายการเรียนรู้เรื่องดังกล่าวในกลุ่มภาคประชา สังคมต่อไป"

ในสายตาของ CRT รัฐบาลมีหน้าที่รับผิดชอบที่จะร่วมมือกับธุรกิจทั้งในและนอกประเทศเพื่อ สร้างบรรยากาศแห่งการพัฒนา ประเทศที่ยากจนจะต้องสร้างสภาวะและบรรยากาศการลงทุนที่น่าสนใจให้แก่ธุรกิจ ที่จะช่วยเข้ามาพัฒนาประเทศ เมื่อเงื่อนไขเล่านี้ถูกสร้างขึ้น ธุรกิจเอกชนก็จะสนใจเข้าไปลงทุนในประเทศนั้น ๆ หลักการนี้จะทำให้ธุรกิจต่างประเทศสนใจที่จะมาลงทุน ทำให้เศรษฐกิจเจริญและสร้างรายได้ให้กับประชากรของประเทศ

CRT ไม่ได้สนใจแค่เฉพาะการดำเนินการของธุรกิจเท่านั้น แต่คำนึงถึงจุดมุ่งหวังและวัตถุประสงค์ของธุรกิจนั้น ๆ ด้วย แม้ว่าการสร้างบรรยากาศของความเป็นธรรมในสังคมไม่ใช่บทบาทของนักธุรกิจโดย ตรงก็ตาม แต่ CRT เชื่อว่าในการดำเนินการ สังคมธุรกิจจะต้องมีส่วนร่วมในการสร้างบรรยากาศแห่งความเป็นธรรมขึ้นมา โดยรัฐและธุรกิจจำเป็นที่จะต้องร่วมมือกันในการสร้างสังคมและโลกที่น่าอยู่ มีความเป็นธรรม และทั้งนี้ทั้งนั้น NGO และสังคมที่เข้มแข็งจะต้องมีส่วนร่วมที่สำคัญ

ส่วนคราวหน้ามาพูดกัน ต่อถึงบทบาทของผู้ประกอบการสังคม หรือ Social Entrepreneur (SE) ซึ่งกำลังเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงมากที่สุดสำหรับโมเดลการทำธุรกิจเพื่อแก้ ปัญหาสังคมในปัจจุบัน

Tags : CSR Social Entrepreneurship ช่วยบรรเทา ปัญหาสังคม

view