สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ดร.สมบัติ ประธานแก้ไขรัฐธรรมนูญ... เราไม่ได้สนว่าใครจะได้ประโยชน์

จากประชาชาติธุรกิจ

ดร. อมร จันทรสมบูรณ์ กูรูใหญ่กฎหมายมหาชน    กล่าวไว้ว่า  หลังเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535  ประเทศไทยมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ 2  ครั้ง ในปี พ.ศ.  2540 และปี 2550   ซึ่งจะพบว่า ผู้ที่อาสาเข้ามา "ปฏิรูปประเทศ" ให้คนไทยในขณะนี้  พ.ศ.   2553  ไม่ว่าจะเป็น นักการเมืองนายทุนที่มาจากการเลือกตั้งก็ดี หรือชนชั้นนำ - Elite ที่ไม่ใช่นักการเมืองก็ดี ก็ดูเหมือนว่า ล้วนเป็น " บุคคลเดิม ๆ" ที่ได้สร้างระบบนี้ให้คนไทย และรักษาระบบนี้ไว้ เป็นเวลา  17 ปีมาแล้วนั่นเอง
      ถ้าหาก “ชนชั้นนำ”ของประเทศไทย  อันประกอบด้วย  นักการเมือง , นักกฎหมายและนักวิชาการ  ,  Elite ที่ไม่ใช่นักการเมือง ยังอยู่ในสภาพเช่นนี้  ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่ ประเทศไทยจะปฏิรูปประเทศ และทำความปรองดองให้เกิดขึ้นได้ 
     แต่ นักรัฐศาสตร์ ชื่อ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์  อธิการบดี สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์  ในฐานะ"ประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมาย"  ไม่คิดเช่นนั้น เขาเชื่อว่า  การแก้ไขปรับปรุง รัฐธรรมนูญปี 2550 บางมาตรา   ยังดีกว่า ไม่ทำอะไรเสียเลย 
       "เราไม่สามารถจะไปกำหนดให้ตรงใจใครได้ แต่เราคิดว่าหลักการที่ควรจะเป็น มันเป็นอย่างไร และอนาคตมันควรจะเป็นอย่างไร"
      ปลายสิงหาคม ที่ผ่านมา  ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์  ให้สัมภาษณ์  "ประชาชาติธุรกิจ" ดังนี้
เค้าโครงการแก้ไข รธน.ของคณะกรรมการเริ่มออกมาแล้ว
  เริ่มตั้งแต่ประเด็นแรก มาตรา 190 ว่าด้วยการทำหนังสือสัญญากับต่างประเทศ ซึ่งทางคณะกรรมการสมานฉันท์เห็นควรจะแก้ไข โดยเพิ่มคำว่าประเภทและกรอบการเจรจาเข้าไป ทำให้มีความชัดเจนมากขึ้น เพราะข้อความเดิมทำให้การปฏิบัติเป็นไปได้ยาก ก็เลยกำหนดว่าให้เป็นไปตามที่กฎหมายลูกกำหนด เพื่อให้กำหนดเรื่องเข้าสู่สภาได้ชัดเจน ว่าเรื่องอะไรที่ต้องเข้า เรื่องอะไรไม่ต้องเข้าสภา
 ขณะนี้ทุกเรื่องรัฐบาลไม่กล้าหมดเลย เพราะกลัวจะโดนฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องนี้เชื่อว่าทุกพรรคการเมืองจะเห็นด้วยหมด เพราะพรรคไหนมาเป็นรัฐบาลก็มีปัญหาเหมือนกันหมด 
   เรื่องที่มาของ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ ส.ส.เขต
  มาตรา 93-98 ว่าด้วยที่มาของ ส.ส. เราคิดว่าจำนวน 500 ก็น่าจะเหมาะแล้ว แต่ก็มีความเห็นว่า ถ้าไปลด ส.ส.เขตน้อยลง ส.ส.ก็จะไม่ยอม เราก็ปรับจาก 1 ใน 5 มาเป็น 1 ใน 4 ก็คือ 125 คน เป็น ส.ส. บัญชีรายชื่อ   ส่วน ส.ส. จากการเลือกตั้ง ก็เป็น 375 ลดไป 25 คน เขาอาจจะพอรับได้ แล้วก็ 25 คนที่ลดไม่ตัดทิ้ง เอาไปเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ ก็เชื่อว่า ส.ส.น่าจะพอรับได้ หลักการตรงนี้จะทำให้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ คือไม่ใช่นักเลือกตั้ง เป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ มีทักษะการบริหารการจัดการ จะเป็นองค์ประกอบทำให้พรรคมีความสมบูรณ์มากขึ้น เราก็มองตรงนี้ จึงตัดสินใจเอาเขตประเทศ ไม่แบ่งเขตเป็นภาค
เรื่องเขตเลือกตั้ง เขตใหญ่-เขตเล็ก
  ที่ถกเถียงกันมากว่า ส.ส.เขต จะแบ่งเป็นเขตใหญ่หรือเขตเล็ก หลักการสำคัญทั่วโลกที่เราไปดู คือหลัก 1 man 1 vote การเลือกผู้แทน ต้องคำนึงถึงความเท่าเทียมกันของประชาชน จึงแก้เป็นเขตเดียว เบอร์เดียว เพราะฉะนั้น ถ้าจะไปเอาหลักเรื่องของการซื้อขายเสียง ไม่ว่าเขตเล็กหรือเขตใหญ่ ในประเทศไทยซื้อทั้งสิ้น หลักเขตเดียว คนเดียวนี้ เป็นหลักสากล และจะสอดคล้องกับแนวโน้มของการเลือกตั้งของโลก และการให้มีการจัดการเลือกตั้งอย่างรวดเร็ว เช่น ภายใน 30 วัน ทำให้เขตใหญ่เลือกตั้งเร็วไม่ได้ ยิ่งเขตใหญ่ ก็ยิ่งใช้เงินเยอะ เพราะพื้นที่มันกว้าง
 เรื่อง ส.ว.และที่มา จะเลือกตั้ง หรือสรรหา
  มาตรา 111-121 ที่ประชุมเห็นว่ารูปแบบผสมแบบ 2550 ก็ไม่ขัดต่อหลักการเลือกตั้งส่วนหนึ่ง สรรหาส่วนหนึ่ง ส่วนจำนวนยัง 150 เหมือนเดิม ยังมีคนให้ข้อมูลว่า ส.ว.ที่มาจากการสรรหา ทำงานแข็งขันกว่า ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้ง คณะกรรมการก็เห็นด้วย อยากให้คง ส.ว.ที่มาจากการสรรหาต่อไป แต่มีข้อวิพากษ์ มีความเห็นว่าเป็นจุดอ่อนของ ส.ว.สรรหา ก็คือคณะกรรมการสรรหา 7 คน มาทำหน้าที่แทนประชาชนทั้งประเทศ เราก็เลยกำหนดว่า กรรมการน่าจะมาจากที่ประชุมใหญ่ ศาลฎีกาให้เลือกกันเอง 5 คน ให้ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง องค์กรอิสระ มาจากองค์กรละ 1 คน แล้วมีองค์กรวิชาชีพตามกฎหมาย เช่น แพทยสภา, สภาพยาบาล, เภสัชสภา, สภาสถาปนิก, สภาทนายความ แห่งละ 1 คน มีศาสตราจารย์ เลือกกันเองมา 10 คน คาดว่าจะมีประมาณ 40 กว่าคน 
  ประเด็นที่ว่าด้วยการทำหน้าที่ของ ส.ส.ในฝ่ายบริหาร
  มาตรา 265-266 เราก็เห็นว่าไม่แก้ ตามที่คณะกรรมการสมานฉันท์เสนอว่าให้ ส.ส.มาทำหน้าที่เลขานุการรัฐมนตรีและที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีได้ ทางกรรมการพิจารณากันแล้วเห็นว่า การทำงานน่าจะยึดหลักแบ่งแยกอำนาจ ระหว่างนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหาร เพราะดูจากการทำงานของ ส.ส.ในปัจจุบัน ก็มีปัญหาข้อบกพร่องในสภาเยอะ ประชุมในสภา ก็ทำสภาล่ม มาตรา 266 ที่บอกว่า ถ้าให้ ส.ส.ไปติดตามงานจากหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐได้ มันจะมีข้อกำหนดว่า ห้าม ส.ส.ไปแทรกแซงการทำงานของรัฐ เราก็เห็นด้วย แต่ยกเว้นว่า เรื่องที่มีประชาชนเดือดร้อนและมาร้องเรียน ให้ ส.ส.สามารถนำเรื่องบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร แจ้งหน่วยงานที่รับผิดชอบของรัฐให้ดำเนินการได้ 
  มาตราที่ว่าด้วยการยุบพรรค จะแก้อย่างไร
  มาตรา 237 เราเข้าใจเจตนารมณ์ที่อยากจะให้เป็นการป้องปรามว่า พรรคต้องระวัง ถ้ามีการซื้อเสียง คุณจะถูกยุบ แต่ปรากฏว่า พอเอามาใช้ นึกว่าคนจะกลัว แต่คนไม่กลัว หลายพรรคจึงถูกยุบไปหมด ขณะนี้พรรคสำคัญ ๆ กำลังจะจ่อคิว โดนยุบไปหมดเลย แล้วถามว่า ยุบแล้ว มีการเปลี่ยนแปลงอะไรที่ดีขึ้นบ้าง คำตอบ คือไม่มี เพราะพรรคนั้น ก็รวมตัวกันตั้งนอมินีใหม่ ตั้งชื่อใหม่ เราก็มีชื่อพรรคการเมืองที่ประหลาด ๆ เยอะแยะไปหมดเลย การยุบพรรคบ่อย ๆ เป็นอุปสรรคขัดขวางต่อกระบวนการพัฒนาทางการเมืองของระบอบประชาธิปไตย จึงให้ลงโทษเฉพาะตัวคนที่ทำผิด ถ้าผู้สมัครกระทำผิด ก็ให้ถอนสิทธิผู้สมัคร 5 ปี ถ้ากรรมการบริหารกระทำการ หรือมีส่วนรู้เห็นในการซื้อสิทธิ์ขายเสียง ให้ลงโทษกรรมการบริหาร โดยตัดสิทธิ์ 10 ปี ถ้าหัวหน้าพรรคการเมืองที่กระทำการหรือมีส่วนรู้เห็นในการกระทำการซื้อ สิทธิ์ขายเสียงในการเลือกตั้งเพื่อให้ได้รับชัยชนะ ให้ตัดสิทธิ์ 15 ปี  
  ต้องออกจากการเมืองไปเลย
  ใช่...ต้องให้เป็นอย่างนั้น แต่พรรคยังอยู่ แล้วเอาตัวคนออกไป ถ้าคิดไม่ดี ต้องเลิกเล่นการเมือง  เราเน้นตัวบุคคลที่ทำผิด แต่รักษาพรรคไว้ ไม่งั้น คนไม่กี่คนทำผิด แต่มีสมาชิกเป็นล้าน ต้องถูกยุบสลายพรรคไปด้วย
   กระบวนการหลังจากแก้ไขเสร็จแล้ว
  ทั้ง 6 ประเด็นเป็นข้อสรุปเบื้องต้น ในวันที่ 3 กันยายน จะมากรองกันทั้งหมดอีกทีหนึ่ง เสร็จแล้ว เราจะเอาไปส่งให้สำนักงานสถิติแห่งชาติ สำรวจความเห็นจากประชาชนทั่วประเทศ ว่ามีความเห็นอย่างไร ต้นเดือนตุลาคม ได้รับผลกลับมา เราก็จะเอามาประมวลใหม่ แล้วเสนอรัฐบาลเลย เรารีบทำ อีกส่วนหนึ่ง เป็นเรื่องการเสริมสร้างความเข้มแข็งของการเมืองระบอบประชาธิปไตย เราก็จะเสนอภาพรวมระยะยาว ว่าควรจะแก้อย่างไร เสนอไว้เป็นแนวทางให้คนในสังคมถกเถียงกัน
เนื้อหาระยะยาวที่จะเสนอเป็นแนว จะครอบคลุมเรื่องอะไรบ้าง
  เราเห็นว่ารูปแบบขั้วอำนาจหรือระบบรัฐสภาที่ใช้อยู่นี้อ่อนแอ ไม่มีเสถียรภาพ ถ้ารัฐบาลมีเสถียรภาพมากแบบคุณทักษิณ ก็กลายเป็นเผด็จการ พอไม่มีเสถียรภาพแบบคุณอภิสิทธิ์ ก็มีการป่วนเมืองอยู่ตลอดเวลา การทำงานในสภา ก็มีการป่วนตลอดเวลา หาความสงบร่มเย็นไม่ได้เลย
  นักการเมือง ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลการแก้รัฐธรรมนูญโดยตรง เขาจะมีส่วนร่วมอย่างไร
  เขาก็ให้ความเห็นมา หรือโทรศัพท์เข้ามาก็ได้ คือคณะกรรมการสมานฉันท์ ก็เป็นผลผลิตของพรรคการเมืองอยู่แล้ว ฉะนั้น จะบอกว่าเราไม่ฟังนักการเมืองไม่ได้ 
   นักการเมืองจะรู้สึกว่าบทลงโทษพุ่งไปที่เขาเป็นหลัก
  ก็ต้องแลกกัน คุณจะให้ยุบพรรค หรือคุณจะให้ลงโทษคน ถ้าคุณบอกว่าพรรคก็ไม่ให้ยุบ คนก็ได้รับการลงโทษเบา แล้วใครเขาจะเอา คุณก็อย่าทำผิดสิ คุณบอกโทษมันแรง คุณก็อย่าทำผิดสิ ก็ไม่มีโทษแล้ว กลัวอะไรใช่ไหม โทษเบา มันจูงใจให้คุณทำผิดใช่ไหม 
     เมื่อก่อนแค่ตัดสิทธิ์ แต่ต่อไปเหมือนประหารชีวิตทางการเมืองไปเลย 15 ปี
  ก็ต้องประหารชีวิต (ทางการเมือง) ไปเลย อย่าเอาไว้ คนที่เป็นหัวหน้าพรรค และคิดโกงชาติ โกงแบบนี้ อย่างน้อยพรรคก็อยู่ เราจะให้โอกาสคนโกงทำไม เราไม่ควรให้โอกาสนักการเมืองที่ไม่ดี ครั้งเดียวก็เกินพอแล้ว สำหรับนักการเมืองที่ไม่ดี เรารู้ว่าขี้โกง แล้วจะให้เป็นหัวหน้าอีกเหรอ หาคนดีกว่านี้เป็นหัวหน้าไม่ได้แล้วเหรอ
 มีคนวิพากษ์วิจารณ์ว่าร่างทรงอำมาตย์มาออกแบบรัฐธรรมนูญ
 ก็ฟังเขาได้ ใครเขาจะพูดอะไร ก็ต้องฟัง เพราะคนพูดได้ร้อยแปดพันเก้า คุณเป็นคนดี เขาก็ด่าว่าดีเกินไป เรื่องธรรมดาในสังคมแบบนี้ แต่สำหรับผม ถ้าคนวิจารณ์เป็นคน มีต้นทุนทางสังคม เราต้องคิดเยอะ ว่าพลาดไปได้ยังไง แต่ถ้าคนไม่มีต้นทุนทางสังคมมาวิจารณ์ เราก็ถือเป็นเสียงนกเสียงกา ไปใส่ใจมากไม่ได้ คนบางคน ผีเจาะปากมาพูด ฟังมากไม่ได้ ต้องรู้จักคนพูด ว่าควรให้น้ำหนักไหม คือคนชั่วเนี่ย กล้าพูดมากกว่าคนดี และคนร้ายจะกล้าพูดเยอะ คนดี บางทีเขาก็ไม่ค่อยพูดอะไร คนที่ไม่ดี โอ้โห พูดเสียงดังตลอด 
 ถ้ามีการกดดันนายกฯ ว่ากรรมการชุดนี้เสนอไม่สอดคล้องกับ ปชป.
  ถ้าสรุปมาแล้วตรงกับ ปชป.หมด พรรคตรงข้าม ปชป. ก็ต้องบอกว่าเราเป็นลูกไล่ หาว่าพรรค ปชป.ตั้งมา ก็ทำงานให้ ปชป. เป็นการด่าเราโดยไม่ใช้สมอง แต่พอเราทำมาไม่ตรงกับ ปชป. ไปตรงกับเขา เขาได้ประโยชน์ แล้วเขาพูดว่าไงตอนนี้ (หัวเราะ) ไม่ใช่เราไม่รู้ คิดว่าเราโง่เหรอ ถึงไม่ฟังเสียงใครว่า เขาคิดอะไร แต่พอพูดอย่างนี้ มีคนบอกว่า เราไปเข้าข้างพรรคฝ่ายค้าน พวกเสื้อแดงสิ เราก็ไม่ใช่เสื้อแดง (หัวเราะ) เราไม่ได้สนว่าใครจะได้ประโยชน์ เราคิดประโยชน์สำคัญของประเทศ เรื่องยุบพรรค ก็อาจจะมีบางกลุ่มไม่ชอบ เช่น กลุ่มพันธมิตร ไม่อยากให้แก้ เพราะเขาจะชอบให้ยุบพรรค แต่เราก็ไม่ใช่พวกเขา เราไม่ได้ต้องการให้ใครต้องมาชอบเรา เราเป็นนักวิชาการผู้ใหญ่ แต่ละคน ไม่ใช่ว่าใครไปครอบงำเขาได้ แต่ละคนไม่ธรรมดา เขามีเหตุมีผลทั้งนั้น เพราะคำถามของแต่ละท่าน คือให้ทำงานครั้งนี้ คืออิสระไหม ถ้าไม่อิสระ เขาไม่ทำ 
คณะกรรมการต้องทำงานท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างหลาย สี หลายคนก็บอกว่าเปลืองตัว แต่ก็บอกว่า เราก็อายุปูนนี้ จะไม่ทำอะไรเพื่อชาติกันบ้างเลยเหรอ จะรักษาเนื้อรักษาตัวไปทำไมกัน
     จะทันใช้เลือกตั้งคราวหน้าเลยไหม
 ถ้ารัฐบาลเขาทำก็ทัน แก้แบบนี้แก้ง่าย ถ้ารัฐบาลเสนอเข้าสภา แล้วคนในสภาเห็นด้วย ก็ใช้เวลาสัก 2 เดือนก็จบ เพราะเวลาแก้ เขาแก้เป็นวาระ เป็นฉบับ ฉบับละเรื่อง ฉบับละมาตรา ว่าเป็นเรื่อง ๆ ไม่ปนกัน ถ้าเรื่องไหนเห็นด้วยก็ผ่าน ถ้าไม่เห็นด้วยก็ตก ก็จะผ่านเป็นเรื่อง ๆ ไป 
 ถ้าภาวะการเมืองอยู่ในโหมดปกติ คิดว่าการเลือกตั้งคราวหน้าจะได้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่อาจารย์แก้ไข
  จริง ๆ ผมไม่อยากเห็นการยุบพรรคที่ทำกันอยู่ ผมว่าเลอะเทอะไป ไม่เป็นประโยชน์กับประเทศ ถึงผมจะไม่ชอบคุณทักษิณ ก็ไม่ได้หมายความว่า ผมเห็นด้วยกับการไปยุบพรรคไทยรักไทยนะ หลักการก็คือหลักการ ว่าพรรคไม่ควรโดนยุบแบบนี้ ส่วนเรื่องคน ถ้าทำไม่ดี ก็ต้องลงโทษ

Tags : ดร.สมบัติ ประธานแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ได้สน ใครจะได้ประโยชน์

view