สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

หัวเรือใหญ่ข้าราชการไทย

จาก โพสต์ทูเดย์

สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ถือเป็นหน่วยงานอันทรงอิทธิพลที่สุดในฐานะมันสมองระบบราชการไทย บุคคลที่ได้เข้ามานั่งเลขาธิการ ย่อมเป็นที่คาดหวังจากสังคมไทย....

โดย...ทีมข่าวการเมือง

สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ถือเป็นหน่วยงานอันทรงอิทธิพลที่สุดในฐานะมันสมองระบบราชการไทย บุคคลที่ได้เข้ามานั่งเลขาธิการ ย่อมเป็นที่คาดหวังจากสังคมไทย ที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงระบบราชการไทยให้มีการพัฒนารุดหน้า หลุดพ้นจากคำปรามาสเดิมๆ เสียทีว่า ทำงานแบบ “เช้าชามเย็นชาม”

“นนทิกร กาญจนะจิตรา” ว่าที่เลขาธิการ ก.พ. คนใหม่ ได้ให้สัมภาษณ์ “โพสต์ทูเดย์” ถึงแนวทางการทำงาน รวมถึงการปฏิรูปข้าราชการ ในยุคที่เขากำลังจะเข้ามากุมบังเหียนให้หน่วยงานแห่งนี้

“นนทิกร” บอกว่า สิ้นเดือน ก.ย.นี้ จึงจะเข้ารับตำแหน่งเลขาธิการ ก.พ.เต็มยศ แต่แนวคิดและวิสัยทัศน์ ในฐานะว่าที่เลขาธิการ ก.พ. คนใหม่นั้น จะเน้นการปฏิรูประบบข้าราชการไทยให้เป็นไปตามพิมพ์เขียว หรือ พ.ร.บ.ปฏิรูประบบราชการ 2551 ที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการปฏิรูปเชิงโครงสร้างระบบราชการ

จุดเริ่มต้นในการปฏิรูประบบราชการไทย ที่ทาง ก.พ.กำลังดำเนินการอยู่ คือ เริ่มต้นด้วยการดึงดูดและรักษาคนดีคนเก่งให้อยู่ในระบบราชการไว้ให้นานๆ ที่สุด เพราะจากการสำรวจความคิดเห็นที่ทาง ก.พ.เคยดำเนินการสำรวจ พบว่าปัจจัยแรกที่จะดึงดูดคนรุ่นใหม่ที่เก่งให้เข้ามาทำงานในระบบราชการ คือ เงินเดือนค่าตอบแทนในอัตราสูง

ทั้งนี้ จากข้อมูลในรายละเอียดของผลการสำรวจพบว่า กลุ่มเด็กหรือคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดสติปัญญาดีเป็นเลิศและจบการศึกษาใน มหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ 5 อันดับแรกที่มีคะแนนสอบเข้าสูงสุด พบว่าเด็กกลุ่มนี้จะไม่เลือกเข้ารับข้าราชการ แต่จะเลือกเข้าทำงานกับบริษัทเอกชน สำหรับเหตุผลที่เด็กเหล่านี้ไม่เลือกเข้าทำงานรับราชการ เพราะค่าตอบแทนไม่สามารถเทียบเคียงกับบริษัทเอกชนได้ เพราะในบางสาขาอาชีพเอกชนเริ่มต้นเงินเดือนในอัตรา 1.52 หมื่นบาท ขณะที่ภาครัฐเริ่มต้นที่ 7,900 บาท แม้ว่าการทำงานในระยะยาวระบบราชการจะมั่นคงกว่าก็ตาม

อย่างไรก็ตาม การที่รัฐบาลใจกว้างออกมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุของข้าราชการพลเรือนสามัญ เพื่อการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุโดยมีผลในเดือน เม.ย. 2554 เพราะนี้คือกุญแจสำคัญเบื้องต้นในการนำไปสู่การปฏิรูประบบราชการไทย

นอกจากนี้ ยังมีความมั่นคงทางอาชีพ และความพึงพอใจหรือความรู้สึกถึงความสำคัญในการได้รับการยกย่อง หรือการได้ทำงานอย่างที่ชอบและรัก รวมถึงได้รับมอบหมายในงานที่ท้าทายอีกด้วย และโดยเฉพาะเรื่องความเป็นธรรมที่จะได้รับในการได้ก้าวหน้าทางการงาน ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะรักษาคนดีคนเก่งให้ทำงานในระบบราชการนานยิ่งๆ ขึ้น 

“ในอีก 5 ปีข้างหน้า ระบบราชการคงไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก แต่การดำเนินการในขณะนี้ถือเป็นการวางโครงสร้างหรือพิมพ์เขียว ตาม พ.ร.บ.ปฏิรูประบบราชการ พ.ศ. 2551 ซึ่งต้องใช้เวลาที่ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ เพราะเรื่องค่าตอบแทนเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้นในการปฏิรูปข้าราชการ” ว่าที่เลขาธิการ ก.พ.กล่าว

นอกจากเรื่องค่าตอบแทนแล้ว การเปลี่ยนโครงสร้าง บุคลากร ความคิด รวมถึงการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมในการทำงานถือเป็นสิ่งสำคัญ เพราะการปรับประสิทธิภาพในการทำงานไม่ใช่แค่ปรับเพิ่มเงินเดือนและค่าตอบแทน เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ต้องมีการปรับประสิทธิภาพการทำงานเพื่อตอบแทนประโยชน์ประเทศชาติและ ประชาชนด้วย

ดังนั้น ทาง ก.พ.พยายามดำเนินการอยู่คือ ระบบการประเมินผล และการสร้างความเข้มข้นในการเปลี่ยนวัฒนธรรมในการทำงานให้ยึดผลงานเป็นที่ ตั้งไม่ใช่ให้ยึดความสบายป็นที่ตั้ง นั้นคือหากเงินเดือนข้าราชการสูงเทียบเท่ากับบริษัทเอกชน ข้าราชการก็ต้องทำงานหนักด้วย

“ในยุคที่ผมทำงาน ผมอยากทำให้เกิดวินวิน คือข้าราชการต้องได้สิทธิประโยชน์สวัสดิการที่พึงได้ และข้าราชการต้องอุทิศตัวทำงานหนักให้กับประชาชน ซึ่งใน 45 ปีเท่าที่ผมยังทำงานอยู่ ผมอยากเห็นทุกฝ่ายได้ประโยชน์ คือประชาชนก็ได้ ข้าราชการเองก็ได้ประโยชน์ด้วย” นนทิกร กล่าวอย่างเชื่อมั่น

ขรก.ไม่มีเจ้านายเจ้าของถาวร

นับได้ว่า "นนทิกร" รับราชการมาตั้งแต่เรียนจบใหม่ก็เดินตรงเข้ามาทำงานราชการเลยทันทีถือเป็น ลูกหม้อสายพันธุ์แท้ๆ ของระบบ ก.พ. สำหรับสาเหตุที่เลือกรับราชการและสามารถทนแรงเสียดทานหรือสิ่งเย้ายวนกับ อัตราเงินเดือนสูงๆ ที่บริษัทเอกชนยื่นเสนอหลอกล่อมาได้หลายครั้ง ซึ่ง นนทิกรได้แบ่งปันเล่าถึงประสบการณ์ตรงนี้ให้ฟังว่า
        
 "สาเหตุ ที่ผมรักอาชีพข้าราชการ ส่วนหนึ่งเพราะครอบครัวของผมรับราชการทั้งครอบครัว แม้เคยมีบางช่วงเวลา ที่เกิดความรู้สึกอยากจะออกไปทำงานกับบริษัทเอกชนที่เสนออัตราเงินเดือนสูงๆ ให้ เพราะบางครั้งเกิดอารมณ์ความรู้สึกเบื่อๆ จึงมักตั้งคำถามกับตัวเองบ่อยครั้งว่า ทำไมเงินเดือนข้าราชการถึงน้อยนัก หรือมีบางเรื่องบางอย่างไม่เป็นไปตามที่ใจเราต้องการ"
         
ว่า ที่เลขาธิการ ก.พ. เล่าต่อว่าสมัยเมื่อหลายสิบปีก่อน ผมได้รับเงินเดือนอยู่ประมาณหมื่นกว่าบาท ในตำแหน่ง ซี 6 ขณะที่บริษัทเอกชนรายใหญ่แห่งหนึ่ง เสนอให้เงินเดือน 4 หมื่นกว่าบาท ให้ผมไปรับตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคลแต่พอเอาเข้าจริงใน วินาทีสุดท้ายที่ผมต้องตัดสินใจเลือกไปหรือไม่ไป ผมกลับปฏิเสธ
         
"ผม มานั่งคิดไตร่ตรองว่าที่ใหม่ (บริษัทเอกชน) ที่เราจะไปดีกว่าที่เก่า (ก.พ.) จริงรึเปล่า พอดีผมมีเพื่อนผมคนหนึ่งที่ทำงานตำแหน่งสูงในบริษัทเอกชน แนะนำให้ฟังว่าเป็นข้าราชการตามระบบไม่มีใครเป็นเจ้าของ เช่น เลขาฯ ก.พ.ปีนี้ ผมไม่ชอบอีกไม่นานเขาก็จะเกษียณไปเอง แต่ถ้าในระบบภาคเอกชนเจ้าของบริษัทไม่มีวันเกษียณแม้อยู่แล้วไม่ชอบใจก็ต้อง จำยอม เพราะเราเป็นลูกจ้าง แต่ระบบราชการเป็นของสาธารณะไม่มีใครเป็นเจ้านายหรือเจ้าของที่แท้จริง" นนทิกร กล่าว
         
"เมื่อถามถึงการเมืองกับระบบราชการที่ต้องทำ งานด้วยกัน" นนทิกร กล่าวว่าการแทรกแซงทางการเมืองย่อมเป็นของคู่กันด้วย ยิ่งในภาวะการเมืองสองขั้ว ที่มีความขัดแย้งอย่างรุนแรง ข้าราชการย่อมทำงานลำบาก
         
"ผมเป็นข้าราชการต้องเป็นข้า ราชการมืออาชีพ คือ ทำงานกับใครก็ต้องทำได้ โดยเห็นประโยชน์ของประเทศชาติเป็นที่ตั้งและไม่เชื่อว่าพรรคการเมืองจากขั้ว ใดเข้ามาเป็นรัฐบาล จะต้องเห็นแก่ประโยชน์ของประเทศชาติ ไม่เช่นนั้นอยู่ไม่ได้ ฉะนั้นในแง่ของข้าราชการจะต้องทำตามสิ่งที่ทางรัฐบาลได้แถลงต่อรัฐสภาไว้"
         
"นนทิ กร" กล่าวย้ำว่า ข้าราชการต้องทำตามกฎหมาย เพราะกฎหมายให้อำนาจหน้าที่อะไรไว้ก็ต้องทำตาม แต่ถ้าไปทำอะไรที่ผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ แต่ถ้ายึดหลักในจรรยาบรรณในวิชาชีพจะทำอะไรนอกลู่นอกทางไม่ได้ เช่น การจัดซื้อจัดจ้าง ถ้าทำตามระเบียบพัสดุเป็นตัวตั้งก็ไม่เกิดปัญหาใดๆ
         
อย่าง ไรก็ตาม สิ่งสำคัญหลังจากนี้ไปทาง ก.พ.จะเร่งผลักดันให้เกิดการแสดงออกทางความคิดความเห็นของข้าราชการให้มาก ขึ้น แต่ต้องอยู่ในกรอบของกฎหมายและสิทธิเสรีภาพเป็นหลัก โดยในอนาคตจะมีการส่งเสริมการรวมกลุ่มด้วยการจัดตั้งสหภาพข้าราชการถือเป็น การให้สิทธิเสรีภาพตามกรอบรัฐธรรมนูญ และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นได้

มุมสบายสไตล์'นนทิกร'

ในยามพักชาร์จแบตเตอรี่ชีวิตจากปัญหาอุปสรรค ทั้งชีวิตและการงานที่รุมเร้าหนักๆ ยิ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงต้องหนักแน่น "นนทิกร"บอกว่า ต้องพยายามทำใจให้ว่างและหากิจกรรมอย่างอื่นทำ เช่น ไปพบปะเพื่อนฝูงเล่นกีฬา หรืออยู่กับครอบครัว เพราะการทำจิตใจให้ว่างหรือละจากการนึกคิดถึงปัญหาซ้ำๆเดิมๆ และทำกิจกรรมหลากหลายแทนจะทำให้จิตใจดีขึ้น ในที่สุดก็จะหาทางแก้ไขปัญหานั้นได้เอง

สำหรับงานอดิเรกนั้นชอบอ่านหนังสือหนังสือของโกวเล้งที่ได้เขียนไว้เช่น เรื่องฤทธิ์มีดสั้น ซึ่งมีเนื้อหาสาระเกี่ยวกับมิตรภาพของความเป็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ที่ โกวเล้งสามารถถ่ายทอดมิตรภาพแห่งความเป็นเพื่อนออกมาได้ดีมาก
         
ขณะ ที่ยามมีเวลาว่างก็จะออกรอบตีกอล์ฟกับมิตรสหายคู่ใจหลายท่านทั้งในและนอกวง การข้าราชการด้วยกัน แต่ที่ดวลวงสวิงกันบ่อยเห็นจะเป็น สีมา สีมานันท์ อดีตเลขาธิการ ก.พ.ที่เป็นทั้งอาจารย์และผู้มีพระคุณ ที่ช่วยถ่ายทอดวิทยายุทธ์ให้ระหว่างออกรอบชนิดหลุมต่อหลุม ตลอดระยะเวลานับสิบๆ ปีที่ผ่าน
         
นอกจากนี้ คนที่ซี้ปึ้กที่สุดพร้อมใจแพ็กกระเป๋าไปเที่ยวถึงไหนถึงกัน เห็นจะเป็น อำพน กิตติอำพน ว่าที่เลขาธิการคณะรัฐมนตรี(ครม.) คนใหม่ หรือ ดร.กบ ที่สนิทสนมกันมากชนิดที่เดินสายตะลอนทัวร์เที่ยวป่าเขาลำเนาไพร หรือทะเลไปด้วยกันมานับสิบๆ ปีแล้วล่าสุดเพิ่งไปแอ่วเมืองเชียงใหม่ด้วยกันมา เปิดแชมเปญฉลองตำแหน่งใหม่ให้ ดร.กบ ก่อนที่ครม.จะประกาศชื่อ ดร.กบ เป็นเลขาธิการครม.สมใจ เมื่อต้นสัปดาห์ก่อน

สิงห์ขาว กับการเมือง 2 ขั้ว 2 ยุค

อาจกล่าวได้ว่า “นนทิกร” ผงาดขึ้นมาได้ในยุคที่กลุ่มสิงห์ขาวมีบทบาทสูงทางการเมืองอย่างมาก ในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะรุ่นพี่ที่ได้ดิบได้ดี คือ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ สิงห์ขาวแห่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่ง “นนทิกร” กล่าวออกตัวก่อนเลยว่าไม่ใช่เพราะเป็นสิงห์ขาวจึงได้เก้าอี้นี้ หรือ เพราะสนิทสนมกับ “สุเทพ”

เขาเล่าย้อนอดีตความสัมพันธ์รุ่นพี่รุ่นน้องสิงห์ขาวสมัยเรียนให้ฟังว่า จริงๆ เดิมเขาเป็นคนกรุงเทพฯ แต่สอบเอนทรานซ์ได้ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และครอบครัวก็คัดค้าน เพราะคุณพ่อกลัวว่าผมจะไปติดสาวหรือไปหลงระเริงแสงสีเสียงจนเรียนไม่จบ และคุณพ่ออยากให้เอนทรานซ์ใหม่เข้าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมากกว่า

แต่ด้วยบรรยากาศของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในยุค 2516 บรรยากาศเงียบสงบเพราะเป็นเมืองเล็กๆ จึงรู้สึกประทับใจมาก และจากเดิมที่เคยต้องอยู่ในกรอบของครอบครัว แต่เมื่อได้มาเรียนที่นี่ได้มีอิสระทำอะไรต่างๆ ได้เยอะแยะมากมายตามที่ใจชอบ และได้พบปะกับเพื่อนๆ ที่มาจากทั่วทุกจังหวัด ถือว่าได้โอกาสเปิดโลกทัศน์ใหม่ให้กว้างไปอีกแบบ ที่สำคัญได้ประสบการณ์ในการรู้จักและทำงานกับคนหลากหลาย จึงทำให้ผมไม่คิดเปลี่ยนใจไปจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

แต่ถ้าถามถึงรุ่นพี่สิงห์ขาวที่รู้จักและคุ้นเคยกันดี เช่น “สุเทพ” เป็นรุ่นพี่ที่เรียนจบก่อนในรุ่น 5 ในตอนที่ผมเข้าไปเรียน “สุเทพ”ก็เรียนจบไปแล้ว แต่สำหรับรุ่นพี่ท่านอื่นๆ ที่รู้จักกันดี เช่น นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ นายมานิต วัฒนเสน ปลัดกระทรวงมหาดไทย และนายพงศ์ศักติฐ์ เสมสันต์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในตอนนี้ทุกคนล้วนสนิทกันดี

ในยุคปี 2516 บรรยากาศทางการเมืองรุนแรงมาก โดยเฉพาะกิจกรรมทางการเมืองในมหาวิทยาลัยเข้มข้นมาก แม้ผมเองไม่ใช่เด็กฝ่ายการเมืองโดยตรง เพราะส่วนใหญ่เน้นไปทางทำกิจกรรมกีฬาและออกค่าย แต่จำได้แม่นว่าการเมืองสมัยนั้นกิจกรรมทางการเมืองที่ดังๆ เป็นความเคลื่อนไหวของนายจาตุรนต์ ฉายแสง ซึ่งเป็นเพื่อนนักศึกษารุ่นเดียวกัน ซึ่งขณะนั้นคุณจาตุรนต์เรียนในคณะแพทย์

“ในสมัยนั้นความขัดแย้งทางการเมืองสูงมาก เพราะมีการแบ่งแยกซ้ายและขวาชัดเจน ซึ่งตอนนั้นผมอยู่ตรงกลาง ไปทางไหนก็ถูกตำหนิทั้งจากฝ่ายซ้ายก็หาว่าเป็นฝ่ายขวา ฝ่ายขวาก็หาว่าผมเป็นฝ่ายซ้าย ซึ่งสมัยนั้นไม่ค่อยชอบทำกิจกรรมทางการเมืองสักเท่าไหร่ เพราะตอนนั้นมีการก่อความไม่สงบรุนแรงมาก เช่น วางระเบิดเกิดขึ้นเยอะ”

“ความขัดแย้งทางการเมืองในตอนนี้เป็นความแตกแยกทางความคิด ต่างกับบรรยากาศทางการเมืองในสมัย ปี 2516 หากจะถามว่าเหตุการณ์ในอดีตรุนแรงน้อยกว่าหรือไม่ คงไม่น้อยกว่า เพราะในตอนนี้ปัญหาทางการเมืองลึกมากกว่าในอดีต เพราะในอดีตยังมีการแยกฝ่ายซ้ายกับฝ่ายขวากันอย่างชัดเจน แต่ในสมัยนี้ไม่รู้ว่าความแตกแยกที่เกิดขึ้นอะไรทำให้แตกแยกกัน” นายนนทิกร กล่าว

Tags : หัวเรือใหญ่ ข้าราชการไทย

view