สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

กฎโลก กรีนโลจิสติกส์ บีบ ธุรกิจต้องรื้อระบบบริหารจัดการรับมือ

จากประชาชาติธุรกิจ

สภาวะ โลกร้อนและอากาศแปรปรวนหนักเกิดขึ้นในทุกภูมิภาคของโลก เริ่มมีความถี่และสร้างความเสียหายค่อนข้างรุนแรง หลายประเทศเริ่มตระหนักและออกกฎหมายเพื่อช่วยลดผลกระทบมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งในระยะไม่กี่ปีข้างหน้านี้ ภาคเอกชนในประเทศกำลังพัฒนาที่ผลิตสินค้าหรือธุรกิจบริการจะไม่สามารถหลีก เลี่ยงการปฏิบัติเพื่อลดผลกระทบการปล่อยของเสียและมลพิษที่ทำให้เกิดก๊าซ เรือนกระจกได้ เมื่อเร็ว ๆ นี้ กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สภาผู้ส่งออก) จึงจัดสัมมนา "สาระน่ารู้เกี่ยวกับกรีนโลจิสติกส์สำหรับภาคธุรกิจ" ขึ้น ณ โรงแรมเซ็นจูรี่ ปาร์ค โดยมีรายละเอียดดังนี้

สายการเดินเรือเดินหน้า

ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก


โดย นายชัยวัฒน์ มั่นเจริญ รอง ผู้อำนวยการ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) องค์การที่ทำหน้าที่วิเคราะห์กลั่นกรองและทำความสะอาด (Clean Development Mechanism : CDM) ติดตามประเมินผลโครงการที่ได้รับคำรับรอง รวมทั้งเป็นศูนย์กลางข้อมูลการดำเนินงาน ให้การสนับสนุนการดำเนินงาน และให้การสนับสนุนด้านก๊าซเรือนกระจก กล่าวว่า อบก.เราบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกและดูแลการซื้อขายก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้ ผู้ที่ทำกิจการพลังงานทดแทน ลดของเสีย สามารถนำเครดิตไปขายให้ประเทศที่พัฒนาได้ ในหัวข้อทิศทางการพัฒนา ที่จะพูดมีอยู่ 3 ประเด็นหลัก คือ

1.ทำไมต้องเขียว โลจิสติกส์ทำไมต้องเขียว

2.เขียวแล้ว เขียวในระดับไหน

3.พัฒนาเขียวแล้ว เราจะได้รับประโยชน์อะไร ?

ใน หัวข้อทำไมต้องเขียว ขอกล่าวเฉพาะกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับที่ อบก.ดูแลรับผิดชอบ คือการวางยุทธศาสตร์วางแผนพัฒนาประเทศไทยด้านพลังงาน เพื่อลดต้นทุนและสิ่งแวดล้อม ซึ่งตนขอพูดเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ดูแลอยู่ว่า ในเรื่องของกฎหมายระหว่างประเทศที่กำลังเจรจาอยู่ในปัจจุบัน และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ มีความสำคัญอย่างไร

ขณะนี้ สหภาพยุโรป (อียู) ได้ออกกฎให้สายการบินที่บินเข้าอียูต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ตาม ข้อกำหนดที่มีอยู่ ฉะนั้น การบินไทยจะบินเข้าอียูไม่ได้ หากไม่ทำตามข้อกำหนดการลดก๊าซเรือนกระจก ฉะนั้น การบินไทยต้องปรับตัว วัสดุในคาร์โก้ก็ต้องเบาขึ้น ผู้ใช้บริการต้องเสียค่าใช้จ่ายค่าระวางบรรทุกสินค้าเพิ่มขึ้น เพราะน้ำหนักต้องตรงตามกำหนด ซึ่งขณะนี้มีการใช้ไบโอฟินผสมในเครื่องบิน




สำหรับ การขนส่งทางเรือ ตัวแทนสมาคมเรือจากทุกประเทศทั่วโลกกำลังเจรจากันในการลดการปล่อยก๊าซ เรือนกระจกว่าจะลดได้เท่าใด ฉะนั้น Life Cycle Assessment (LCA) ของสินค้าเกิน ประสิทธิภาพเรือไม่ดี ก็ส่งเข้าไม่ได้ ในระดับประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนา กำลังบังคับปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ต้องได้เงินสนับสนุนการลด ต่อไปต้องทำบัญชีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะคลุมไปถึงบริษัทใหญ่ ๆ อาคารสำนักงานด้วย ต่อไปต้องมาหารือกัน ในไลน์ผลิตก็ต้องดูว่า ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้ปล่อยก๊าซ เรือนกระจกเท่าไหร่ เช่น การผลิตปูนซีเมนต์ จะมีการติดฉลากลดคาร์บอนว่าต้องลดได้มากกว่า 10% เมื่อเทียบกับ ปี 2545 เป็นต้น

ตนบอกได้เลยว่า หลังปี 2555-2558 ไทยและประเทศกำลังพัฒนามีพันธะว่าจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่าไหร่ ฉะนั้น ไทยก็ต้องมาดูว่า อุตสาหกรรมภาคใดปล่อยก๊าซมากที่สุด เพื่อจัดการลด ส่วนเรื่องคาร์บอนเครดิต ผู้ทำกิจกรรมที่ลดได้ ตั้งแต่ต้นจนจบ สามารถมาขึ้นทะเบียนกับ อบก.ได้ ว่าเป็นโครงการพัฒนาอันยั่งยืน สามารถนำไปขายผ่านองค์กรกลางที่เยอรมนีได้ เงินที่ได้มาก็เอาไปลงทุนต่อ แต่บางอย่างจะไม่ได้คาร์บอนเครดิต คือ หากมีต้นทุนต่ำต้องรับผิดชอบเอง เพราะเป็นภาระที่ต้องทำกัน ยกเว้นกลุ่มที่ลงทุนมากเพราะลดยาก

ขนส่งทางบกยกระดับมาตรฐาน

คุณภาพบริการขนส่ง-สวล.


นาง สาวรัตนา อิทธิอมร หัวหน้ากลุ่มพัฒนาและส่งเสริมการขนส่งสินค้า กรมการขนส่งทางบก กล่าวถึงเรื่อง กรีนโลจิสติกส์ว่า เอกชนที่ผ่านมาตรฐานการขนส่งจากกรมการขนส่งทางบก จะได้รับสติกเกอร์ตราสัญลักษณ์ติดรถให้ ซึ่งมีมาตรฐานคุณภาพบริการ มาตรฐานความปลอดภัย และมาตรฐานสิ่งแวดล้อม โดยทั่วไปเราให้ความสำคัญมาตรฐานทั้ง 3 ตัว แต่ในต่างประเทศจะให้ความสำคัญในมาตรฐานความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม เพราะเชื่อว่า 2 ตัวนี้ดีขึ้นแล้ว คุณภาพบริการก็จะดีขึ้นมาเอง

สำหรับ ไทย จะให้ความสำคัญกับมาตรฐานความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม ขั้นต้น ผู้ประกอบการของไทยจะเป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก จะมีการแทรกเรื่องสิ่งแวดล้อมเข้าไปในคุณภาพบริการ โดยข้อกำหนดของกรมทั้งหมด 44 ข้อ เป็นข้อกำหนดบังคับ 24 ข้อ โดยแยกออกเป็น 5 ด้าน แต่จะไม่ขอลงรายละเอียด เช่น ข้อแรก ด้านองค์กร ต้องมีผู้รับผิดชอบด้านไหนบ้างในองค์กร อาทิ นโยบายด้านการกำจัดของเสีย แบตเตอรี่ ยาง น้ำมัน ต้องทำให้ถูกสุขลักษณะ แต่ยังไม่ถึงขั้นได้รับใบอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม

ข้อสอง ด้านปฏิบัติการขนส่ง จะมีการกำหนดตัวชี้วัด KPI หรือผลการปฏิบัติการ

ข้อ สาม ด้านพนักงาน จะเน้นพนักงานขับรถ ต้องมีการบำรุงดูแลรักษาหรือตรวจสภาพรถเบื้องต้น การป้องกันอุบัติเหตุ การตรวจยาเสพติด เป็นต้น

ทางด้านมาตรฐานคุณภาพบริการขนส่งขั้นก้าว หน้า ซึ่งกำลังพัฒนา ปัจจุบันมีบริษัทขอใบรับรองการขนส่งจากกรมการขนส่งทางบกหลายราย ผ่านการรับรองไปแล้ว 10 บริษัท วันที่ 15 กันยายนศกนี้ จะมีการสัมมนาและมอบโล่ให้กับ 20 บริษัทแรก ซึ่งกรมกำลังพัฒนาการขนส่งของไทยให้ได้มาตรฐานอาเซียนในหลายกลุ่มสินค้ากับ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดมาตรฐานความปลอดภัยในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมแช่เย็นแช่แข็ง กลุ่มวัสดุก่อสร้างและอุตสาหกรรมหนัก กลุ่มสินค้าเบ็ดเตล็ด และกลุ่มการขนส่งระหว่างประเทศ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาอยู่

มาตรฐานความก้าวหน้าทางด้าน สิ่งแวดล้อม กำลังขยับขึ้นไปคือ ต้องมีศักยภาพเพิ่มมากขึ้นในด้านสิ่งแวดล้อม ยังไม่มีการกำหนดว่าจะเริ่มเมื่อใด แต่ทางปฏิบัติขอให้มีการริเริ่มไปเรื่อย ๆ เช่น การใช้เชื้อเพลิงที่ไม่ติดลบต่อสิ่งแวดล้อม ไม่จำเป็นต้องเป็น NGV อย่างเดียว แต่ต้องมีเปอร์เซ็นต์เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จำนวนคันเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ หรือการเพิ่มเป้าหมายในการ ลดวิ่งรถเที่ยวเปล่า (back hual) การเพิ่มประสิทธิภาพบรรทุกเพื่อสิ่งแวดล้อม

ทางกรมมีคู่ มือ 2 เล่ม เพื่อช่วยในการปฏิบัติ ซึ่งหลายบริษัทอาจบอกมาว่าไม่เคยมีระบบเลยจะทำอย่างไร ซึ่งจะมีตัวอย่างเอกสารและระบบการปฏิบัติงาน แบบฟอร์มสำรวจที่ท่านสามารถดาวน์โหลด ได้เลย เช่น ใบสมัครงาน การตรวจสอบ พนักงาน ระบบการปฏิบัติงานในการสำรวจงานให้

นอกจากนี้ โครงการของกรมยังมีแผนสนับสนุนการขนส่ง เช่น ต้นทุนวิศวกรรม ต้นทุนการเงิน ต้นทุนการเสียโอกาส ท่านสามารถคำนวณได้ทางออนไลน์ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการรับรู้ว่า เรามีต้นทุนด้านนี้แอบแฝงอยู่

ขณะเดียวกัน กรมยังมีโครงการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับการลดวิ่งรถเที่ยวเปล่า ทางกรมมีการเอาข้อมูลจากผู้ประกอบการที่ผ่านมารับรองขึ้นทะเบียนมาไว้ในเว็บ ไซต์ "thai truck center" สามารถมาเสิร์ชได้ จะมีชื่อปรากฎอยู่ ผู้ว่าจ้างสามารถเข้าไปดูได้เลย เรื่องนี้กรมทำขึ้นมาเพื่อรับมือกับการเปิดเสรีการค้าและบริการอาเซียนเป็น หลัก

ทางด้านสิ่งแวดล้อม รถที่ใช้พลังงานทางเลือก รถบรรทุกที่ใช้ NGV 100% กรมลดภาษีป้ายรายปีให้ครึ่งหนึ่ง ถ้า NGV ผสมดีเซล ลดให้ 1 ใน 4 กฎหมายรับรองแล้ว มีการปฏิบัติจริงแล้ว

เอกชนต้องปรับการบริหารจัดการ

นาย เตชะ บุญยะชัย รองประธานสภา ผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรีนโลจิสติกส์ว่า มีเครื่องมือใกล้ตัว ที่สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างมีนัยสำคัญ ทำได้ง่ายและเกิดผลเร็ว คือ การประยุกต์กิจกรรมการบริหารจัดการโลจิสจิสติกส์ โดยให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและพลังงาน ควบคู่ไปกับการเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างประสิทธิผล จึงเป็นที่มาของคำว่า "กรีนโลจิสติกส์" หรือการบริหารจัดการ โลจิสติกส์อย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

กิจกรรม 5 ด้านที่ประกอบกันเป็นกิจกรรมโลจิสติกส์ คือ การบริการลูกค้า การจัดการสินค้าคงคลัง การจัดการอุปทาน การจัดการขนส่ง และการจัดการคลังสินค้า ล้วนแล้วแต่มีของเสียและมลพิษเกิดขึ้นในกระบวนการเหล่านี้ ซึ่งหากเราพิจารณาดี ๆ แล้วจะเห็นว่า หากลดของเสียหรือมลพิษที่เกิดขึ้นหรือนำของเสียมาใช้ประโยชน์ ก็เป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มประสิทธิภาพ และลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ได้เป็นอย่างดี แต่สิ่งเหล่านี้ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง

เรื่องกิจกรรม โลจิสติกส์และกรีนโลจิสติกส์ที่นำมาใช้ในองค์กร ตนขอ ยกตัวอย่างกรณีศึกษาของห้างวอล-มาร์ตของสหรัฐอเมริกา เขามีการประกวดและมีการให้คะแนนแก่ซัพพลายเออร์ ผลปรากฏว่า ค่าย HP ได้คะแนนสูงสุด กล่องที่ใส่หมึกพิมพ์สามารถเอาไปใช้ต่อได้ และตอนนี้ขยายวงออกไปในหลายผลิตภัณฑ์

สิ่งที่ยากที่สุดคือ จะเอาหลักการกรีน มาใช้ในองค์กรของคุณ คือต้องปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการ ขั้นตอนแรก ต้องหยิบปัญหาในองค์กรมาดูแล้วทำโครงการการดำเนินงานตามแผนเพื่อให้ องค์กรกระฉับกระเฉงอยู่เสมอ และมีตัวชี้วัดผลการดำเนินโครงการด้วย

Tags : กฎโลก กรีนโลจิสติกส์ ธุรกิจต้องรื้อ ระบบบริหารจัดการ

view