สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ถอดเขี้ยวเล็บ แก๊งทวงหนี้

ถอดเขี้ยวเล็บ แก๊งทวงหนี้

จาก โพสต์ทูเดย์

หลังดึงดันร่างกฎหมายการติดตามทวงถามหนี้อย่างเป็นธรรมยืดเยื้อมานานหลายปี

โดย....ทีมข่าวการเงิน

 

ล่าสุดการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 14 ก.ย. 2553 เคาะร่างกฎหมายติดตามทวงหนี้ที่เป็นธรรมออกมาอีกครั้ง

กฎหมายนี้ไม่ใช่ของใหม่ เพราะร่างกฎหมายฉบับที่ได้ผ่าน ครม.มาหลายครั้งแล้ว แต่ต้องตกสรรค์ เพราะมีอุบัติเหตุทางการเมือง

เนื้อหาสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.การติดตามทวงถามหนี้อย่างเป็นธรรม กำหนดให้ผู้ที่รับจ้างในการติดตามทวงถามหนี้ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมจะต้อง จดทะเบียนการประกอบธุรกิจ

ห้ามไม่ให้ผู้ติดตามหนี้ติดต่อผู้ใดที่ไม่ใช่ลูกหนี้เพื่อทวงถามหนี้ และจำกัดช่วงเวลาติดต่อไม่ว่าจะติดต่อทางโทรศัพท์ โทรสาร หรือบุคคล

รวมถึงห้ามกระทำในลักษณะที่เป็นการละเมิด และคุกคาม รวมถึงห้ามทวงถามหนี้ในลักษณะที่ไม่เป็นธรรม

โดยกฎหมายฉบับนี้กำหนดให้มีคณะกรรมการกำกับการติดตามทวงถามหนี้ มีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน มีอำนาจและหน้าที่ในการกำกับดูแลการติดตามทวงถามหนี้ของผู้ติดตามหนี้ ออกประกาศหรือคำสั่ง กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการปฏิบัติในการติดตามทวงถามหนี้ รับเรื่อง ร้องเรียน

ผู้ติดตามหนี้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.นี้ มีโทษอาญาปรับไม่เกินหนึ่งแสน จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ

ที่ผ่านมา แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีกฎหมายกำหนดครอบคลุมให้มีการติดตามหนี้ที่เป็นธรรม แต่คุมได้เฉพาะสถาบันการเงิน แต่ในความเป็นจริงแล้ว สถาบันการเงินใช้วิธีว่าจ้างบริษัทภายนอกที่ไม่ใช่สถาบันการเงินไปทวงหนี้ ซึ่งอยู่นอกเหนือกฎหมาย ธปท.จะคุมได้

ต้อตอปัญหาลูกหนี้จำนวนมากที่เป็นลูกค้าบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล ได้ไปกู้เงินจากสถาบันการเงินทั้งที่เป็นธนาคารและไม่ใช่ธนาคาร(นันแบงก์) เพื่อนำเงินมาลงทุนในธุรกิจขนาดเล็ก หรือใช้จ่ายในครอบครัว

แต่กลับประสบปัญหาเศรษฐกิจทำให้ธุรกิจไม่ประสบความสำเร็จ ทำให้เป็นหนี้เพิ่มขึ้น และมีการจัดการปัญหาหนี้สินในทางที่ผิดด้วยการไปกดเงินหรือกู้เงินจากบัตร เครดิตหรือสินเชื่อบุคคลเพิ่มเติมทำให้มีหนี้เพิ่มมากขึ้นจนไม่สามารถหาเงิน มาชำระได้อีก จึงมีความจำเป็นต้องหยุดชำระหนี้

แต่แทนที่สถาบันการเงินจะใช้วีธีการทวงหนี้ที่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือการฟ้องต่อศาลเพื่อให้ลูกหนี้ชำระหนี้ กลับใช้วิธีจ้างวานสำนักงานทวงหนี้ให้ทวงหนี้แทนโดยว่าจ้างให้เป็น “ค่าคอมมิชชัน” ตามยอดการทวงหนี้ได้ ปล่อยให้สำนักงานทวงหนี้เหล่านี้ใช้วิธีการที่ผิดกฎหมาย

ไม่ว่าจะเป็นการข่มขู่ทางโทรศัพท์ การประจานด้วยไปรษณียบัตร หรือโทร.แจ้งไปยังผู้จัดการบริษัทหรือพ่อแม่ที่อยู่ต่างจังหวัด

บางสำนักงานมีการทำเอกสารเลียนแบบหมายศาล เช่น การทำตราประทับสีแดง มีข้อความว่าอนุมัติฟ้อง หรือฟ้องด่วน และมีเนื้อหาในทำนองข่มขู่ว่าจะมีการดำเนินคดีอาญาจับกุมคุมขังลูกหนี้ หรือจะนำตำรวจไปจับ ทำให้ผู้ได้รับเอกสารเกิดความตกใจกลัว และต้องไปหากู้เงินจากแหล่งอื่นทั้งในระบบและนอกระบบมาชำระหนี้ขั้นต่ำให้ จนเกิดเป็นภาระหนี้สินพอกพูน

แม้ว่าพฤติกรรมดังกล่าวจะเข้าข่ายละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ความผิดฐานหมิ่นประมาทและดูหมิ่นซึ่งหน้า มีความผิดทางอาญา แต่ก็ไม่สามารถที่จะดำเนินการได้

โดยเมื่อปี 2550 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและลูกหนี้รวมตัวกันเข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนกอง ปราบปราม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อให้ดำเนินคดีกับสำนักงานทวงหนี้และสถาบันการเงินทั้งที่เป็นธนาคารและ ไม่ใช่ธนาคาร (นันแบงก์) ในฐานะเป็นผู้บงการ จากการตรวจสอบหลักฐานการแจ้งความพบว่า มีการทวงหนี้โหดในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการใช้วาจาหยาบคาย ข่มขู่ ประจาน หรือบางรายอาจหนักถึงขั้นการกรรโชกทรัพย์ หรือการปลอมแปลงหมายศาล

โดยมีสำนักงานทวงหนี้กว่า 40 ราย ที่รับจ้างทวงหนี้ให้สถาบันการเงินทั้งที่เป็นธนาคารและไม่ใช่ธนาคารหลาย แห่ง แต่เรื่องก็เงียบหายไม่สามารถที่จะดำเนินการตามคนผิดมาลงโทษได้

ดังนั้น การออกฎหมายการทวงหนี้ที่เป็นธรรมที่เฉพาะเจาะจง อาจจะกำราบพวกนี้ได้ ถ้าหากยังขาดหลักฐานพยานแล้วไม่ว่ากฎหมายฉบับไหนก็ยังไม่ศักดิ์สิทธิ์พอที่ จะคุ้มครองลูกหนี้

แต่อย่างน้อยอาจจะทำให้บริษัทติดตามหนี้ขยาดกลัว เพราะลูกหนี้เดี๋ยวนี้ฉลาดที่จะบันทึกเทปการสนทนา เพื่อที่ใช้เป็นข้อต่อรองหรือหลักฐาน ที่จะลากผู้ที่กระทำความผิดกฎหมายมาลงโทษ

ซึ่งไม่ใช่เจ้าหน้าที่จะได้รับโทษเท่านั้น บริษัทติดตามทวงหนี้และผู้บริหารก็จะต้องรับผิดชอบและอาจจะเสียภาพลักษณ์ และอาจเสียโอกาสทางธุรกิจที่ถูกทางการแบล็กลิสต์หรือริบใบอนุญาตการประกอบ ธุรกิจติดตามหนี้ได้

เพราะแต่ละปีเค้กธุรกิจการติดตามหนี้ก้อนมหาศาล ประกอบกับสถาบันการเงินแต่ละแห่งมีนโยบายที่จะไม่ทุ่มคนและทรัพยากรลงมา ติดตามหนี้เอง โดยโอนหนี้หรือขายหนี้ให้บริษัทติดตาม ทำให้ในช่วงที่ผ่านมามีบริษัทติดตามหนี้เกิดขึ้นจำนวนมากที่จะรับติดตามหนี้ โดยมีการแบ่งปันผลประโยชน์ 3040% ของยอดที่ตามหนี้ได้

ทั้งนี้ ในไตรมาส 2 ของปี 2553 ของธุรกิจบัตรเครดิต หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) มีทั้งสิ้น 4,590 ล้านบาท ยอดคงค้างสินเชื่อบัตรเครดิตมีจำนวน 1.87 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 4,080 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.23% ซึ่งนันแบงก์เพิ่มขึ้นมากที่สุด 2,270 ล้านบาท ธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้น 1,060 ล้านบาท และสาขาธนาคารต่างชาติ 746 ล้านบาท ขณะที่จำนวนบัญชีมีทั้งสิ้น 13.54 ล้านใบ

ส่วนสินเชื่อส่วนบุคคลมียอดเอ็นพีแอลทั้งสิ้น 6,300 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 24 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 0.38% มียอดคงค้างสินเชื่อมีทั้งสิ้น 2.22 แสนล้านบาทเพิ่มขึ้น 5,020 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.31% มีจำนวนบัญชีมีทั้งสิ้น 8.82 ล้านบัญชี

ในมุมมองด้านตัวแทน ลูกหนี้ นายชูชาติ บุญยงยศ ประธานชมรมหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่รัฐบาลพยายามผลักดันกฎหมายฉบับนี้ออกมา ซึ่งเหมือนเป็นการให้สิทธิมนุษยชน เพราะการเป็นหนี้ก็มีกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่จะกำกับดูแลให้คนเป็นหนี้ต้อง ใช้หนี้ แต่ที่ผ่านมาเจ้าหนี้ใช้ทุกวิถีทางที่ทั้งละเมิดสิทธิส่วนบุคคล กดดันและระรานทั้งตัวลูกหนี้ ครอบครัวเพื่อนร่วมงาน

รวมทั้งมีการฟ้องหัวหน้างาน สร้างความอับอายให้กับลูกหนี้ ที่จะต้องรีบหาเงินมาชำระหนี้

“พฤติกรรมการติดตามทวงหนี้ยังคงมีการทวงหนี้ที่กดดันและสร้างความอับอาย เพราะเจ้าหน้าที่ติดตามหนี้ไม่มีเงินเดือนแต่จะได้รับค่าคอมมิชชันประมาณ 30% ของยอดที่ติดตามหนี้ได้ ดังนั้นยอมทำทุกวิถีทางที่จะเรียกหนี้คืนโดยไม่มีมนุษยธรรม โดยเฉพาะกลุ่มติดตามหนี้ของนันแบงก์ ที่จะมีพฤติกรรมที่แย่มาก ส่วนเจ้าหน้าที่ติดตามสถาบันการเงินสุภาพมากกว่าเพราะมีกฎระเบียบแบงก์ชาติ ควบคุมอยู่” นายชูชาติ กล่าว

ด้านหัวอกผู้ประกอบธุรกิจการติดตามหนี้ นายประชา ชัยสุวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เชฎฐ์ คอลเลคชั่น แมนเนจเมนท์ ในฐานะประธานชมรมผู้ติดตามหนี้ที่เป็นธรรม กล่าวว่า เห็นด้วยกับทางการที่ออก พ.ร.บ.การทวงหนี้ที่เป็นธรรม บริษัทติดตามหนี้พร้อมที่จะปฏิบัติตาม ซึ่งในช่วงแรกอาจจะมีปัญหา เนื่องจากเท่าที่ทราบมีข้อกำหนดห้ามไม่ให้บริษัทใช้ชื่อที่บ่งบอกว่าเป็น บริษัทการติดตามหนี้ เช่น บริษัทที่มีชื่อว่าสำนักงานกฎหมาย เนื่องจากเกรงว่าจะทำให้ผู้รับส่งจดหมายได้รับความอับอายว่าเป็นจดหมายการ ติดตามทวงหนี้ ซึ่งหากกฎหมายฉบับนี้ออกมา คาดว่าจะมีบริษัทติดตามหนี้ที่จะต้องมีการเปลี่ยนชื่อกว่า 50%

รวมทั้งการขึ้นทะเบียนบริษัทติดตามทวงหนี้ ซึ่งบริษัทที่จัดตั้งมาก่อนหน้าสามารถที่จะขึ้นทะเบียนได้ทันที แต่บริษัทที่จัดตั้งใหม่จะมีการเข้มงวดมากขึ้น ซึ่งสามารถที่จะทำให้ควบคุมคุณภาพของบริษัทติดตามหนี้

“ปัจจุบันปัญหาการร้องเรียนการติดตามหนี้ที่ไม่สุภาพลดลงมาก แต่ที่เป็นข่าวข่มขู่ทำร้ายกันส่วนใหญ่จะเป็นการติดตามหนี้นอกระบบ อีกทั้งปัจจุบัน ธปท.มีการออกกฎระเบียบการติดตามทวงหนี้ที่อย่างเป็นธรรมอยู่แล้ว ประกอบสถาบันการเงินมีการเข้มงวดในการว่าจ้างบริษัทติดตามทวงหนี้ เพราะหากมีการทวงหนี้ที่ไม่สุภาพมีการข่มขู่ จะกระทบกับภาพลักษณ์ของสถาบันการเงินเอง” นายประชา ระบุ

ปัจจุบันคาดว่ามีบริษัทติดตามหนี้ไม่ต่ำกว่า 200 แห่ง แต่เป็นสมาชิกของชมรม 20 แห่ง ซึ่งมีส่วนแบ่งการติดตามหนี้ของสถาบันการเงินและนันแบงก์กว่า 80% และคาดว่าหลักกฎหมายการติดตามทวงหนี้ที่เป็นธรรมมีผลบังคับใช้จะทำให้มี บริษัทติดตามทวงหนี้สมัครเข้ามาเป็นสมาชิกมากขึ้น

การไม่เป็นหนี้เป็นลาภอันประเสริฐ เป็นหนี้ก็ต้องใช้ หากทุกคนรับผิดชอบสิ่งที่ตัวก่อขึ้น อยู่บนพื้นฐานบทบาทที่ไม่ก้าวล่วงกันจนเกินไป ทุกคนก็อยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีความสุข


ห้ามโทร.ทวงหนี้หลังสองทุ่ม ครม.ผ่านกฎหมายสกัดโหด

จาก โพสต์ทูเดย์

ครม.ไฟเขียวกฎเหล็กดัดหลังบริษัททวงหนี้ เชื่อปัญหาร้องเรียนลดลง

 

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การติดตามทวงถามหนี้อย่างเป็นธรรม พ.ศ. ... โดยห้ามไม่ให้มีการคุกคาม ใช้ความรุนแรง หรือก่อให้เกิดความรำคาญ พร้อมทั้งกำหนดเวลาในการโทรศัพท์ทวงหนี้ตั้งแต่เวลา 08.00-20.00 น. วันหยุดราชการไม่เกิน 18.00 น.

นอกจากนั้น ยังห้ามไม่ให้ติดต่อโดยทางไปรษณียบัตร และห้ามไม่ให้ใช้ภาษา สัญลักษณ์ หรือชื่อทางธุรกิจของผู้ติดตามหนี้บนซองจดหมายหรือหนังสือที่จะใช้ติดต่อสอบ ถาม ทำให้ผู้อื่นเข้าใจได้ว่าเป็นการมาทวงหนี้

นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง เปิดเผยว่า ครม.ยังอนุมัติตั้งสำนักงานจัดการทางการเงินภาคประชาชน เพื่อขับเคลื่อนนโยบายแก้ไขหนี้สินครบวงจร ทั้งหนี้นอกระบบ การฉ้อโกง การทวงถามหนี้และการเข้าถึงสินเชื่อของผู้มีรายได้น้อย หรือไมโครไฟแนนซ์

นายประชา ชัยสุวรรณ ประธานชมรมผู้ติดตามหนี้ที่เป็นธรรม เห็นด้วยกับการออก พ.ร.บ.ฉบับใหม่ แต่เชื่อว่าปัญหาการร้องเรียนการติดตามหนี้ที่ไม่สุภาพลดลงมาก ข่าวข่มขู่ทำร้ายกันส่วนใหญ่จะเป็นการติดตามหนี้นอกระบบหากรัฐบาลที่เข้มงวด ทำให้ประชาชนไม่สามารถกู้เงินกับสถาบันการเงินหรือกู้เงินในระบบได้ เท่ากับเป็นบีบบังคับให้ประชาชนหันไปกู้เงินนอกระบบอีก อีกทั้งปัจจุบัน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)มีการออกกฎระเบียนการติดตามทวงหนี้ที่อย่างเป็น ธรรมอยู่แล้ว ประกอบสถาบันการเงินมีการเข้มงวดในการว่าจ้างบริษัทติดตามทวงหนี้ มีการเพราะหากมีการทวงหนี้ที่ไม่สุภาพมีการข่มขู่ จะกระทบกับภาพลักษณ์ของสถาบันการเงินเอง

ขณะเดียวกันชมรมติดตามหนี้ที่เป็นธรรมมีการตรวจสอบควบคุมกันเอง หากได้รับการร้องเรียนจะดำเนินการตรวจสอบและมาตรการการลงโทษพนักงานที่มี ความพฤติที่ไม่เหมาะสม รวมทั้งบางบริาทจะมีการบันทึกการสนทนาเพื่อที่จะปรับปรุงแก้ไขการให้บริการ

ทั้งนี้ปัจจุบันคาดว่ามีบริษัทติดตามหนี้ไม่ต่ำกว่ 200 แห่ง แต่เป็นสมาชิกของ20 แห่ง ซึ่งมีส่วนแบ่งการติดตามหนี้ของสถาบันการเงินและนันแบงก์กว่า 80 % และคาดว่าหลักกฎหมายการติดตามทวงหนี้ที่เป็นธรรมมีผลบังคับใช้จะทำให้มี บริษัทติดตามทวงหนี้สมัครเข้ามาเป็นสมาชิกมากขึ้น

นายชูชาติ บุญยงยศ ประธานชมรมหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล กล่าวว่า รุ้สึกดีใจที่รัฐบาลพยาบาลที่ผลักดันกฎหมายฉบับนี้ออกมาซึ่งเหมือนเป็นการ ให้สิทธิมนุษยชน ซึ่งการเป้นหนี้มีกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่จะกำกับดูแลให้ให้คนเป็นหนี้ต้อง ใช้หนี้ แต่ที่ผ่านมาเจ้าหนี้ใช้ทุกวิธีทางที่มีพฤติกรรมละเมิดสิทธิส่วนบุคคล กดดัน และละลาน ทั้งตัวลูกหนี้ ครอบครัวเพื่อนร่วมงาน รวมทั้งมีการฟ้องหัวหน้างาน เพื่อที่จะสร้างความอับอายให้กับลูกหนี้

"พฤติกรรมการติดตามทวงหนี้ยังคงมีการทวงหนี้ที่กดดันและสร้างความอับอาย เพราะบุคคลติดตามหนี้ไม่มีเงินเดือนได้รับค่าคอมมิชชั่นประมาณ 30 % ดังนั้นยอมทำทุกวิธีทางที่จะเรียกหนี้คืนโดยไม่มีมนุษยธรรม โดยเฉพาะกลุ่มติดตามหนี้ของนันแบงก์ ที่จะมีพฤติกรรมที่แย่มาก ส่วนเจ้าหน้าที่ติดตามสถาบันการเงินสุภาพมากว่าเพราะมีกฎระเบียบแบงก์ชาติ ควบคุมอยู่" นายชูชาติกล่าว

นอกจากนี้ยังต้องการผลักดันเรื่องการคิดอัตราดอกเบี้ยเรียกร้องให้ธนาคาร แห่งประเทศไทย(ธปท.) ยกเลิกประกาศการคิดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อส่วนบุคคลที่กำหนด28 % ให้ไม่เกิน 15 % เนื่องจากผิดกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีบางธนาคารและที่พบมากนันแบงก์ที่มีการระบุว่าคิด ดอกเบี้ยต่ำ 0 % เพื่อหลอกล่อผู้บริโภค แต่แท้จริงมีการซ้อนค่าธรรมเนียมและค่าจัดการซึ่งสูงกว่า 28 % อีกทั้งยังพบว่ามีสถาบันการเงินบางแห่งได้คิดอัตราดอกเบี้ยตามเงินต้นคงที่ ไม่ลดต้นลดดอกเบี้ย หรือหลักการคิดดอกเบี้ยสินเชื่อทั่วไป ซึ่งทำให้ลูกหนี้ที่ไม่มีความรู้ ต้องแบกรับภาระดอกเบี้ยบางครั้งสูงขึ้น 60 % และคิดอัตราดอกเบี้ยเกินที่ธปท.กำหนดด้วย ซึ่งประเด็นนี้มีการฟ้องร้องต่อศาลและลูกหนี้ชนะหลายคดีแล้ว ดังนั้นธปท.ควรจะเข้ามาดูแลตรวจสอบการคิดอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรมของของ ธนาคารพาณิย์และสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์(นันแบงก์ )

Tags : ถอดเขี้ยวเล็บ แก๊งทวงหนี้

view