สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ข้อวิจารณ์ต่อนิติเศรษฐศาสตร์ ว่าด้วยการป้องปรามอาชญากรรม

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ มองซ้ายมองขวา

โดย ปกป้อง จันวิทย์



คอลัมน์ นี้ได้เขียนถึงองค์ความรู้เกี่ยวกับนิติเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการป้องปราม อาชญากรรมมาแล้วหลายตอน ตอนปิดท้ายนี้จะขอนำเสนอข้อวิจารณ์ต่อนิติ เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการป้องปรามอาชญากรรม โดยแยกออกเป็นข้อวิจารณ์ในระดับวิธีวิทยา (Methodology) และ ข้อวิจารณ์ในระดับปฏิบัติดังนี้

ข้อวิจารณ์ในระดับวิธีวิทยา

(1) การใช้โลกทัศน์และระบบเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์มาอธิบายโลกของกฎหมายมิอาจให้ภาพ ที่สมบูรณ์ครบถ้วนของกฎหมาย ซึ่งมีความซับซ้อนสัมพันธ์กับมิติอื่น ๆ ศาสตร์อื่น ๆ และปัจจัยอื่น ๆ นอกเหนือจากเศรษฐศาสตร์มากมาย ระเบียบวิธีศึกษานิติเศรษฐศาสตร์มักละเลยมิติอื่น ๆ และปัจจัยอื่น ๆ เช่น การเมือง วัฒนธรรม จริยธรรม ในการวิเคราะห์

(2) นิติเศรษฐศาสตร์ให้ความสำคัญต่อปัจจัยเชิงสถาบันที่แวดล้อมกฎหมาย น้อยเกินไป เช่น บริบททางสังคม การเมือง วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ของกฎหมาย ซึ่งมีความแตกต่างกันออกไปตามแต่ละสังคม

(3) ระเบียบวิธีศึกษานิติเศรษฐศาสตร์มีลักษณะเป็นกลไกแข็งกระด้าง ลดรูปความจริงจนง่ายเกินไป และมีข้อสมมติที่อาจไม่สอดคล้องกับโลกแห่งความจริง เช่น คนมีเหตุมีผลทางเศรษฐศาสตร์อย่างสมบูรณ์ เป็นต้น

(4) นิติเศรษฐศาสตร์อธิบายกลไกการตัดสินใจในการประกอบอาชญากรรมโดยใช้แบบจำลอง ว่าด้วยการเลือกอย่างมีเหตุมีผล (Rational Choice Model) โดยมองว่าอาชญากรรมเกิดจากการตัดสินใจส่วนตัวของอาชญากรที่ตอบสนองต่อสิ่ง จูงใจ โดยละเลยแง่มุมทางสังคม (Social Aspects) เช่น แรงกดดันจากโครงสร้างสังคม การจัดองค์กรและความสัมพันธ์ทางสังคม และแง่มุมทางจิตวิทยา (Psychological Aspects) โดยเฉพาะแรงผลักดันในการประกอบพฤติกรรมที่ไปไกลกว่าความเป็นสัตว์ เศรษฐกิจที่มีเหตุมีผลแบบเศรษฐศาสตร์ เช่น ความเกลียดชัง ความบ้า เป็นต้น

(5) นักกฎหมายจำนวนหนึ่งปฏิเสธความคิดที่ว่าเบื้องหลังของกฎหมายคือระบบการใช้ เหตุผลหรือตรรกะทางเศรษฐศาสตร์ นิติเศรษฐศาสตร์ให้ความสำคัญแต่เหตุผลทางเศรษฐศาสตร์เป็นหลัก จนกระทั่งมองข้ามเหตุผลทางกฎหมาย ซึ่งมีรากฐานเชิงจริยศาสตร์และมิติเชิงศีลธรรม อีกทั้งให้คุณค่ากับมิติด้านความยุติธรรมน้อยเกินไป ทั้งนี้ กฎหมายมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขความอยุติธรรมในสังคม เช่นนี้แล้วความยุติธรรมเป็นเป้าหมายหลักที่ต้องธำรงไว้ ความยุติธรรมเป็นสิ่งที่มิอาจประเมินค่าได้ และไม่ใช่เรื่องของการวัดความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ดังนั้น จึงไม่ควรใช้ระบบเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์มาประเมินคุณค่าของความยุติธรรม

(6) กรอบการวิเคราะห์ของนิติเศรษฐศาสตร์ไม่ให้ความสำคัญต่อมิติเชิงศีลธรรม จนถูกมองว่าเป็นเครื่องมือที่ ปราศจากศีลธรรมในศึกษาวิเคราะห์และ เสนอนโยบายทางกฎหมาย (Amoral Guide to Legal Policy) เช่น มองว่า "การข่มขืน" มีสถานะเป็นการล่วงละเมิดการแลกเปลี่ยนในตลาดความสัมพันธ์ทางเพศ เหมือนดังเช่น "การลักทรัพย์" มีสถานะเป็นการล่วงละเมิดการแลกเปลี่ยนในตลาดสินค้าและบริการ เป็นต้น

(7) นิติเศรษฐศาสตร์มีอคติด้านบวก ต่อระบบทุนนิยมตลาดเสรี ในด้านหนึ่ง วิชาการนิติเศรษฐศาสตร์เป็นผลผลิตของระบบทุนนิยมตลาดเสรีเช่นเดียวกับ วิชาการเศรษฐศาสตร์ ในอีกด้านหนึ่ง นิติเศรษฐศาสตร์มีหน้าที่เชิงอุดมการณ์เพื่อสร้างความชอบธรรมและค้ำยันระบบ ทุนนิยมตลาดเสรี และปกป้องหลักการสำคัญของระบบทุนนิยมตลาดเสรี เช่น การปกป้องกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล การสนับสนุนกลไกกำกับเศรษฐกิจแบบตลาด

(8) "สวัสดิการสังคม" ตามนิยามของนิติเศรษฐศาสตร์มีความหมายแคบ คำนึงถึงเพียงความพึงพอใจของคนเป็นสำคัญ ซึ่งการกระทำบางอย่างอาจให้ความพึงพอใจแก่ผู้กระทำสูง แต่กลับเกิดโทษต่อผู้กระทำเอง และส่งผลกระทบทางลบต่อสังคมด้วย เช่น การดื่มสุรา

(9) นิติเศรษฐศาสตร์ให้ความสำคัญกับกระบวนการบังคับใช้กฎหมายโดยรัฐ เป็นหลัก เสมือนหนึ่งภาครัฐเป็นผู้ผูกขาดในการบังคับใช้กฎหมาย โดยให้ความสำคัญกับสถาบันอื่นน้อยเกินไป เช่น กติกากำกับเศรษฐกิจแบบ "ชุมชน" ที่ใช้ "ค่านิยมส่วนรวม" (Norm) หรือ "กลไกการลงโทษทางสังคม" (Social Sanction) เป็นเครื่องมือในการกับพฤติกรรมของสมาชิกในชุมชน

ข้อวิจารณ์ในระดับปฏิบัติ

(1) งานวิชาการด้านนิติเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ผลิตขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งวิเคราะห์ข้อมูลของประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก และอยู่ภายใต้ระบบกฎหมายของสหรัฐอเมริกา การนำผลลัพธ์ของการศึกษามาใช้เป็นข้อเสนอเชิงนโยบายในประเทศอื่น จึงต้องทำด้วยความระมัดระวัง

(2) ข้อมูลที่ใช้ในการวิจัยเชิงประจักษ์มีคุณภาพต่ำ ขาดการจัดเก็บข้อมูลที่จำเป็น ไม่มีการจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบและถ้วนทั่ว หาข้อมูลที่สอดคล้องกับแบบจำลองเชิงทฤษฎีได้ยากลำบาก นอกจากนั้น ข้อมูลของกิจกรรมแลกเปลี่ยนโดยสมัครใจที่ผิดกฎหมาย เช่น การค้ายาเสพติด การซื้อขายบริการทางเพศแบบผิดกฎหมาย ยังหาได้ยาก และไม่เป็นที่เปิดเผย

(3) การศึกษาวิจัยเชิงประจักษ์โดยใช้เครื่องมือทางสถิติบ่อยครั้งมีปัญหาใน เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเหตุและผล และการกำหนดเหตุกำหนดผล เช่น หากเราเห็นตัวเลขจำนวนการประกอบอาชญากรรมมากขึ้น พร้อมกับจำนวนนักโทษในคุกมากขึ้น เราอาจจะด่วนสรุปได้ว่า โทษจำคุกไม่มีผลในการช่วยป้องปรามอาชญากรรม เพราะถึงแม้จะจับคนผิดเข้าคุกมากขึ้น ก็ยังไม่สามารถลดจำนวนอาชญากรรมได้ ทั้งที่หากมองอีกมุมหนึ่ง เราอาจจะมองได้ว่า เพราะอัตราการประกอบอาชญากรรมในสังคมสูงมากต่างหาก จึงต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังมากขึ้น โดยเพิ่มความน่าจะเป็นในการจับกุมผู้กระทำความผิดมาลงโทษ จำนวนนักโทษในคุกจึงเพิ่มจำนวนมากขึ้น

Tags : ข้อวิจารณ์ นิติเศรษฐศาสตร์ ว่าด้วยการป้องปรามอาชญากรรม

view